Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2552
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
18 สิงหาคม 2552
 
All Blogs
 
ความหมายของชื่อ “อุ้มผาง” ที่ไม่ใช่ของทางการ

ประชา แม่จัน, pracha_meachun@yahoo.com, อุ้มผางเบื้องหลังธรรมชาติ

ที่มาของชื่อ “อุ้มผาง” ของราชการกล่าวว่ามาจากคำว่า “อุ้มผะ” ที่เป็นคำเรียกกระบอกไม้ไผ่สำหรับเก็บเอกสารเดินทางในภาษาปกากะญอ แล้วกร่อนมาเป็นคำว่า “อุ้มผาง” ในขณะที่ ชาวปกากะญอหลายคนบอกว่ามาจากคำว่า “อูกึผะ” แปลว่า ไฟจะไหม้ไปทั่ว โดยได้อธิบายความหมายว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็ต้องเกิดและขยายไปทั่วไป

ชาวปกากะญอและโพล่วบอกว่าพวกเขาได้อาศัยอยู่ที่นี่มาช้านาน มีตำนานเล่าว่าบ้านไล่ตังคุที่เป็นศูนย์กลางของผู้นับถือ “เพอเจะ” (ฤาษี) ตั้งขึ้นในวันเดียวกับวันตั้งเมืองกรุงเทพฯ ดังนั้นพวกเขาต้องอาศัยมานานกว่า 200 ปี

ตำนานที่น่าสนใจของพื้นที่คือ เคยเป็นเส้นทางถอยของกษัตริย์มอญลงมาทางใต้โดยการเดินผ่านบ้านเปิ่งเคลิ่ง มาตามห้วยกูเปอตีจนบรรจบแม่น้ำแม่จัน แล้วตามแม่น้ำไปถึงสบแม่น้ำแม่จัน (ปัจจุบันคือบ้านแม่จันทะ) จึงเดินตัดข้ามเขาก่องก๊องข้ามไปยังสังขละบุรี ในช่วงนี้พระอุปราชมอญได้สิ้นพระชนม์บนยอดเขานี้ บนเขามีต้นชงโคขนาดใหญ่หลายต้นและเป็นจุดชมวิวที่มองเห็นบริเวณสบแม่จันกับแม่กลอง

ลุงเนเต๊อะ ชาวโพล่ว บ้านกรูโบ อธิบายคำว่า “แม่จัน” มาจากภาษามอญ “แม๋จัน” เมะ แปลว่า วังน้ำ จัน แปลว่า แปด และ “แม่กลอง” มาจากภาษามอญเช่นกัน “แม๋กอง” กอง แปลว่า ร้อย ดังนั้นคำว่า “กองจัน” แปลว่า ร้อยแปด และ “รูตกองจัน“ หมายถึง พระพุทธรูป 108 องค์

ในตำบลแม่จันมีชื่อภาษามอญอยู่หลายแห่ง เช่น เปิ่งเคลิ่งมาจากเปิงเกลิง กรูโบมาจากเกริงบอ (เป็นชื่อหวายชนิดหนึ่ง) ร่องรอยเหล่านี้ทำให้ประวัติศาสตร์ของพื้นที่มีความน่าสนใจมากขึ้น

ในอดีตก่อนที่ถนนสายแม่สอด-อุ้มผางสร้างเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2530 ชาวปกากะญอและพื้นที่แถบนี้อาจจะนับเป็นส่วนหนึ่งของพม่า ถ้าหากพิจารณาถึงความสัมพันธ์กับศูนย์อำนาจ ชาวปกากะญอติดต่อค้าขายกับชาวปกากะญอในพม่า พวกเขาไปซื้อเกลือ ข้าวของเครื่องใช้ และนำวัวควายไปขายที่ “เจด่ง” ในเขตพม่าด้วยเส้นทางผ่านบ้านเปิ่งเคลิ่ง พวกเขารู้จักหมู่บ้านในเขตพม่ามากกว่าหมู่บ้านเขตไทยของพื้นที่อื่น เช่น พบพระ หรือแม่สอด

ตามความสัมพันธ์นี้ทำให้ที่มาของชื่ออุ้มผางตามคำอธิบายของทางการไทยน่าจะมีข้อจำกัด เนื่องจากพวกเขาแถบจะไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงเขตไทย การจัดหาสิ่งของเครื่องใช้มาจากแหล่งในพม่าที่เดินไปง่ายและปลอดภัยมากกว่า

ประชา แม่จัน ผู้เขียน "อุ้มผางเบื้องหลังธรรมชาติ", จุลภาค, 2551



Create Date : 18 สิงหาคม 2552
Last Update : 18 สิงหาคม 2552 20:14:24 น. 2 comments
Counter : 1077 Pageviews.

 
แวะมาอ่านค่า เป็นคนตากแท้ๆ แต่ไม่รู้เรื่องนี้เลยนะเนี่ย

แถมไม่เคยไปอีกต่างหาก เพราะเมารถ เฮ้ออออออออออ


โดย: โยเกิตมะนาว วันที่: 18 สิงหาคม 2552 เวลา:21:46:08 น.  

 
เข้ามาก็ได้ความรู้เลย สิ่งละอันพันละน้อย ขอบคุณครับ


โดย: น้ำ-ฟ้า-ป่า-เขา วันที่: 18 สิงหาคม 2552 เวลา:22:09:49 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

wideteam
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add wideteam's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.