อนัตตา ไม่ใช่ตัวตน 🌷 อนัตตา ไม่ใช่ตัวตน วันศุกร์ที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๕ ตรงกับวันพระ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู เจริญสุข สวัสดี พระนี้มาว่ากันเรื่องขมที่ขมปี๋สำหรับสาธุชนคนพุทธศาสนา ที่เป็นนักปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนารุ่นใหม่ทั่วๆ ไป เมื่อใดก็ตามที่มีการพูดคุยถกธรรมกันขึ้นในหัวข้อเรื่อง "อัตตาและอนัตตา" แล้วล่ะก็ เหล่านักปฏิบัติธรรมกรรมฐานทั้งหลายที่เป็นพุทธแท้ พุทธกึ่งๆ หรือพวกลูกครึ่งพราหมณ์ ก็มักมีความเห็นที่ขัดแย้งกันอย่างกว้างขวาง ตามมติความเชื่อที่ตนเองได้รับรู้จากแหล่งความรู้ที่ตนเองได้รับและเชื่อถืออยู่ ไม่ยอมลดละกัน ไม่ยอมลงรอยกันตามธรรมที่สมควรแก่ธรรม ทั้งที่มีหลักธรรมอันควรอ้างอิงที่สมควรแก่ธรรมของพระบรมศาสดา โดยการน้อมนำเอาพระธรรมคำสั่งสอนหลักๆ เหล่านั้น มาเพียรปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนา จนเข้าถึงหลักธรรมที่แท้จริง รู้เห็นตามความเป็นจริงได้ การที่เราได้เรียนรู้ ศึกษา รับฟังมาจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่ตนเองเคารพนับถืออยู่ สืบเนื่องจากมีความเชื่อมั่นศรัทธาอย่างหมดหัวใจที่มีอยู่ก่อนแล้ว จนทำให้ขาดวิจารณญาณที่ดี ในการพิจารณาธรรมที่เคย ได้ยิน ได้ฟัง ได้ศึกษาแล้ว โดยมีการปักธงคือความเชื่อของตนลงไป โดยขาดการพิจารณาด้วยความแยบคาย ซึ่งมีหลักกาลามสูตรที่พระบรมศาสดาได้วางไว้ดีแล้ว เพื่อนำมาตรวจสอบ สอบสวน เปรียบเทียบ เทียบเคียงกับธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงตรัสไว้ดีแล้วว่า สิ่งที่รู้มานั้น สามารถลงกันได้ดีหรือไม่ โดยไม่มีความขัดแย้งกันกับพระพุทธพจน์ที่เป็นหลัก ภูมิรู้ภูมิธรรมที่ตนมีอยู่นั้นเป็นเรื่องเดียวกันรอยเดียวกันกับพระพุทธพจน์หรือไม่ ดังในมหาประเทศ ๔ ที่พระองค์ทรงว่าไว้ ๑. หากมีภิกษุกล่าวว่า ข้าพเจ้าได้สดับรับมาเฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาค ว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์ (คำสั่งสอนของพระศาสดา) ๒. หากมีภิกษุกล่าวว่า ในอาวาสชื่อโน้น มีสงฆ์อยู่พร้อมด้วยพระเถระ พร้อมด้วยปาโมกข์ ข้าพเจ้าได้สดับรับมาเฉพาะหน้าสงฆ์นั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์ ๓. หากมีภิกษุกล่าวว่า ในอาวาสชื่อโน้น มีภิกษุผู้เป็นพระเถระอยู่จำนวนมาก เป็นพหูสูต ถึงอาคม (คือชำนาญในพุทธพจน์ทั้ง ๕ นิกาย) ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ข้าพเจ้าได้สดับรับมาเฉพาะหน้าพระเถระเหล่านั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์ ๔. หากมีภิกษุกล่าวว่า ในอาวาสชื่อโน้น มีภิกษุผู้เป็นพระเถระอยู่รูปหนึ่ง เป็นพหูสูต ถึงอาคม ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ข้าพเจ้าได้สดับรับมาเฉพาะหน้าพระเถระรูปนั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุสาสน์ เธอทั้งหลาย ยังไม่พึงชื่นชม ยังไม่พึงคัดค้านคำกล่าวของภิกษุนั้น พึงเรียนบทและพยัญชนะ (ทั้งข้อความและถ้อยคำ) เหล่านั้นให้ดีแล้ว พึงสอบดูในพระสูตรเทียบดูในพระวินัย ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น สอบลงในพระสูตรก็ไม่ได้ เทียบเข้าในพระวินัยก็ไม่ได้ พึงสันนิษฐานว่า นี้มิใช่ดำรัสของพระผู้มีพระภาคแน่นอน แสดงว่าสงฆ์นั้น พระเถระเหล่านั้น พระเถระรูปนั้น ถือและทรงจำมาผิด พึงทิ้งเสีย แต่ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น สอบลงในพระสูตรก็ได้ เทียบเข้าในพระวินัยก็ได้ พึงสันนิษฐานว่า นี้เป็นพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแน่แท้ ภิกษุเหล่านี้ ทรงจำรับมาด้วยดี อย่างในมหาประเทศ ๔ นี้ พระพุทธองค์ก็ทรงเน้นย้ำให้เห็นว่า อย่าเพิ่งปลงใจเชื่ออะไรง่ายๆ โดยขาดความรอบคอบ ทั้งที่ตนเองก็ยังไม่ได้ลงมือสมาทาน น้อมนำเอาธรรมเหล่านั้นมาประพฤติปฏิบัติอย่างจริงจังเลย ดังมีปรากฏในอนัตตลักขณสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรชั้นต้นๆ ในครั้งพุทธกาล ที่พระองค์ทรงตรัสสั่งสอนเรื่อง "อนัตตา" เป็นพระสูตรที่พระพุทธองค์ได้ทรงเทศนาสั่งสอนให้พระอาจารย์ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ซึ่งขณะนั้นเป็นอริยบุคคลเพียงแค่ชั้นพระโสดาบันเท่านั้น ต่อเมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาบทนี้จบลง ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ พร้อมกันทีเดียว ๕ รูป ทำให้เกิดพระอรหันต์ขึ้นในโลก ๖ รูป รวมพระพุทธองค์เข้าไปด้วย อนัตตลักขณสูตร ทรงแสดงให้พระอาจารย์ปัญจวัคคีย์ ได้เห็นชัดลงไปในขันธ์ ๕ อันมี รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่านั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา (อนัตตา) จึงเปรียบเสมือนยาขมที่กลืนไม่เข้าคลายไม่ออกของนักปฏิบัติธรรมรุ่นใหม่ๆ ที่มีความเข้าใจความหมายของคำๆ นี้ ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง เช่น เข้าใจว่า อนัตตาแปลว่าไม่มีตัวตน ไม่มีอยู่จริง หรือบางท่านใช้คำว่า โน อัตตา โน ที่แปลว่า ไม่ ในภาษาอังกฤษ และพระพุทธองค์ทรงล้วนสอนแต่เรื่องอนัตตา ธรรมทั้งหลายทั้งปวงล้วนเป็นอนัตตา (สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา) เป็นต้น เป็นความเข้าใจผิดที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง อย่างไม่น่าให้อภัยเลย เพราะอนัตตาที่มีมาในอนัตตลักขณสูตรนั้น ก็ชัดเจนในตัวว่า ไม่ใช่ตัวตน และพระพุทธองค์เองก็ยังตรัสสอนเรื่องอัตตา (ตัวตน) ไว้สำหรับตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียง ทั้งที่เป็นรูปธรรมและที่เป็นนามธรรม ทั้งที่มีมาในพระสูตรอย่างมากมายหลายที่หลายแห่งด้วยกัน หากพิจารณาพระสูตรที่มีปรากฏอยู่นั้น จะเห็นได้ว่า คำว่า "อนัตตา" แปลว่า "ไม่ใช่ตัวตน" ซึ่งมีความหมายแตกต่างเป็นคนละเรื่องราวกับคำว่า "ไม่มีตัวตน" ซึ่งหมายถึง สิ่งที่เรากำลังกล่าวถึงไม่มีอยู่จริง ไม่เคยปรากฏให้รู้ให้เห็น ไม่มีเจ้าของ ภาษาชาวบ้านที่เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การสมมุติกันขึ้นมาเองจากจินตนาการ หรือที่เรียกว่าติต่างมันขึ้นมาเอง เอาไว้เพื่อพูดคุยกันเท่านั้น ซึ่งไม่มีตัวตนอยู่จริง ตัวอย่างเช่น ตัวการ์ตูน สัตว์ต่างๆ ในเทพนิยายที่บุคคลจินตนาการขึ้นมา ซึ่งแตกต่างไปจากความหมายของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ฝ่ายปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ที่เวลาท่านเทศนาสั่งสอนชาวบ้าน คำว่า "ไม่มีตัวตน" ของท่านนั้น ท่านหมายเอาสิ่งที่กำลังพูดถึงนั้นมีอยู่จริง แต่ไม่มีรูปร่างปรากฏให้จับต้องได้เท่านั้น แต่สามารถรับรู้และเข้าใจได้ว่าสิ่งนั้นมีอยู่จริงๆ ในเมื่อที่มีอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ ก็แสดงว่าสิ่งที่ใช่ต้องมีอยู่ ซึ่งเป็นหลักของทวินิยม อนัตตาธรรมนั้น จึงเป็นธรรมของพระอริยเจ้าโดยเฉพาะ อนัตตาเป็นความรู้ความเห็นของอริยชน คนสามัญทั่วไปไม่รู้จัก เพราะพระอริยเจ้าท่านรู้จักอัตตาที่แท้จริง ส่วนสามัญชนคนทั่วไปไม่รู้จักอัตตา เที่ยวยึดมั่นถือมั่นจับเอาผิดๆ ไม่ถูกต้องอัตตาซักที ครั้นได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องว่า ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา (จิต) ขันธ์ ๕ ไม่เป็นเรา (จิต) ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตัวตนของเรา (อนัตตา) คนมีปัญญาบารมีก็สามารถคลำหาอัตตาได้ถูกต้อง แต่สำหรับคนเขลาเบาปัญญากิเลสหยาบบาปหนา กลับบอกว่าอัตตาตัวตนไม่มีไปเสีย ฝ่ายที่ยังมีความเชื่อเรื่อง “ไม่มีตัวตน” ในสายปริยัติจำนวนมากนั้น หมายเอาสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่มีอยู่จริง (สพฺเพ ธมฺมา อนัตตา) เช่น การกระทำมีอยู่ ผู้กระทำไม่มี ทางเดินมีอยู่ ผู้เดินไม่มี เช่น มรรคมีองค์ ๘ นั้นก็สักแต่ว่าเป็นทางเดิน แต่ไม่มีผู้เดิน นิพพานนั้นก็สักแต่ว่านิพพาน แต่ผู้เข้าถึงนิพพานไม่มี แต่เมื่อถูกถามว่า ตอนที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา แปลว่า จิตของเราสิ้นการปรุงแต่ง บรรลุพระนิพพานเพราะสิ้นตัณหา” พระพุทธองค์รู้ใช่ไหมว่า ทรงเข้าถึงพระนิพพานแล้ว มีคำถามไป แต่ไม่ได้ยินคำตอบ มีแต่ความเงียบกริบ ได้แต่คอแข็ง สรุปง่ายๆ ก็คือ อะไรๆ ก็ไม่มี อะไรๆ ก็ไม่ใช่ ที่ใช่ก็ไม่มี ที่มีก็ไม่ใช่ ไม่มีอะไรทั้งนั้น ความจริงแล้วคำสอนว่า “ไม่มีตัวตน” ดังที่กล่าวมานั้น เป็นคำสอนของพวกปริพาชกฝ่ายนัตถิกทิฐิ เป็นพวกนอกพุทธศาสนา แปลกแต่จริง พวกที่มีความเชื่อดังกล่าวนั้น กลับมีความเชื่ออีกอย่างว่า กฏแห่งกรรมมีอยู่จริง ทำดีได้รับผลดี ทำชั่วได้รับผลชั่ว เมื่อคนเราตกตายลงไปแล้ว ต้องมีอะไรสักอย่างที่เคลื่อนออกไป (จุติ) เพื่อไปชดใช้กรรมดีกรรมชั่วที่ตนทำไว้นั้น การกระทำมีอยู่ แต่กลับเชื่อว่าผู้กระทำไม่มี มักกล่าวอ้างบิดเบือนเถลไถลว่าเป็นแต่เพียง "สมมุติบัญญัติ" ทั้งที่นิยามของคำว่า "สมมุติบัญญัติ” นั้นชัดเจนโดยไม่ต้องตีความใดๆ การจะสมมุติอะไรขึ้นมาได้นั้น สิ่งนั้นต้องมีอยู่จริง เช่น กระจกรูปทรงกระบอกก้นปิด บัญญัติเรียกว่า "แก้ว" แล้วบัญญัติซ้อนลงไปเป็น "สมมุติบัญญัติ" ว่า นั่นแก้วกาแฟ แก้วน้ำ เป็นต้น โดยความเป็นจริงแล้ว อะไรที่เราได้สมมุติบัญญัติสิ่งนั้นขึ้นมา เมื่อเราถอนคำสมมุติบัญญัติของสิ่งนั้นทิ้งไป ก็ใช่ว่าสิ่งที่เราสมมุติบัญญัติขึ้นมานั้น จะต้องหายไปด้วยกับคำสมมุติบัญญัติเหล่านั้น จึงจะถูกต้องตามความเป็นจริง เมื่อมีสมมุติบัญญัติ คำว่า "อนัตตา" พระองค์ทรงต้องมีบัญญัติของคู่กัน คือ "อัตตา" ซึ่งเป็นทวินิยม (ของคู่กัน) ทวินิยมนั้นเป็นที่นิยมยอมรับของคนทั่วไป เมื่อมีดีก็ต้องมีชั่ว มีขาวก็ต้องมีดำ มีสูงมีต่ำ มีรวยมีจน ฯลฯ และคำว่าอัตตานั้น ก็ยังมีปรากฏอยู่มากมายในพระสูตร อีกทั้งมีนัยยะที่แตกต่างกันไปตามแต่บริบทนั้นๆ เช่น การยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ว่าเป็นตน เป็นของๆ ตน (อัตตา) แม้แต่การยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์รูปฌานและอรูปฌานอันละเอียดนั้น ก็จัดเป็นอัตตานุทิฏฐิ แต่ในบริบทที่หมายถึงจิตได้รับการอบรมฝึกฝนจนบริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย นั่นก็ได้ชื่อว่าตน อันเป็นที่พึ่งที่อาศัยเช่นกัน ดังพระบาลีว่า “อตฺตา นาม จิตฺตํ สกโลวา อตฺตภาโว แปลว่า จิตนี้แหละได้ชื่อว่าเป็นอัตตา แต่ว่าได้ยึดเอาสกลกายนี้ เป็นอัตภาพไปด้วย” พอสรุปได้ว่า จิตที่ได้ชื่อว่าตนนั้น ต้องเป็นจิตที่หมั่นประกอบความเพียร ในการฝึกฝนอบรมด้วยภาวนานุโยค จนจิตได้รับความบริสุทธิ์หลุดพ้น เป็นที่พึ่งที่อาศัยได้ มีสติ มีสัมปชัญญะ แต่จิตของปุถุชนนั้น ด้วยมีราคะ โทสะ โมหะ ครอบงำอยู่ จึงได้หลงยึดเอารูป ซึ่งเป็นอารมณ์ และนาม อาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์นั้น คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มาเป็นตนเข้าไปด้วย รูปนาม ขันธ์ ๕ นั้น เป็นอนัตตา เรามาพิจารณาขอบเขตของคำว่า "อนัตตา" กัน เมื่อจิตมีการยึดมั่นถือมั่นเอา (สมมุติบัญญัตินั้น) รูปร่างกายที่มีอวัยวะภายในครบสมบูรณ์ มีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด รัก ชอบ ชัง เหตุเพราะมีจิตเข้ามายึดครองร่างกายนี้ อีกทั้งยังยึดเอาอารมณ์ทั้งหลายว่าเป็นของๆ ตนคือจิตนั่นเอง หรือเรียกว่าจิตยึดเอารูป - นาม (ขันธ์ ๕) ว่าเป็นของๆ ตน เมื่อตรวจสอบกับพระพุทธพจน์ที่พระองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้วในอนัตตลักขณสูตร ว่า "รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน (อนัตตา)" ก็คือไม่ใช่จิตที่ยึดครองอยู่นั้น เพราะจิตที่ยึดครองอยู่นั้น ซัดส่าย วุ่นวาย หวั่นไหวไปกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้น เราย่อมเอาจิตสังขารเหล่านั้นมาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้ (อนัตตา) โดยมีพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสรับรองไว้ชัดๆ ในหลายพระสูตร ในบางพระสูตรพระพุทธองค์กล่าวโทษ ภิกษุที่เห็นว่าจิตเป็นวิญญาณ (ขันธ์) เป็นพวกโมฆบุรุษ เช่น ในมหาตัณหาสังขยสูตร ความว่า "พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรสาติ ได้ยินว่า เธอมีทิฏฐิอันลามกเห็นปานนี้เกิดขึ้นว่า เราย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไปไม่ใช่อื่น ดังนี้ จริงหรือ? สาติภิกษุ (เกิดความเห็นผิด) ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้แหละ ย่อมท่องเที่ยว แล่นไป ไม่ใช่อื่น ดังนี้ จริง พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรสาติ วิญญาณนั้นเป็นอย่างไร? สาติภิกษุทูลว่า สภาวะที่พูดได้ รับรู้ได้ ย่อมเสวยวิบากของกรรมทั้งหลาย ทั้งส่วนดี ทั้งส่วนชั่วในที่นั้นๆ นั่นเป็นวิญญาณ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรโมฆบุรุษ เธอรู้ธรรมอย่างนี้ที่เราแสดงแก่ใครเล่า ดูกรโมฆบุรุษ วิญญาณอาศัยปัจจัยประชุมกันเกิดขึ้น เรากล่าวแล้วโดยปริยายเป็นอเนกมิใช่หรือ ความเกิดแห่งวิญญาณ เว้นจากปัจจัย มิได้มี ภิกษุชื่อสาติ ก็นั่งก้มหน้า คอตก หมดปฏิภาณ เก้อเขินถอนใจ ดูกรโมฆบุรุษ ก็เมื่อเป็นดังนั้น เธอกล่าวตู่เราด้วยขุดตนเสียด้วย จะประสพบาปมิใช่บุญมากด้วย เพราะทิฏฐิที่ตนถือชั่วแล้ว ดูกรโมฆบุรุษ ก็ความเห็นนั้นของเธอ จักเป็นไปเพื่อโทษ ไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน" สาเหตุสำคัญที่ทำให้พระสาติคิดไปเช่นนั้น เพราะความเข้าใจผิดของตนเองว่า จิตคือวิญญาณขันธ์ นั่นเอง และยังมีกลุ่มบุคคลอีกมากที่เข้าใจไปเช่นนั้น เหมือนกัน เมื่อรู้จักฝั่งนั้นแล้วลองหันมารู้จักคำว่า "อัตตา" ที่มีความหมายตรงข้ามกับคำว่า "อนัตตา" ในรูปแบบนามธรรมที่ไม่มีรูปร่างให้จับต้องได้ เราเคยได้พบเจอกันบ่อยๆ แต่ถูกบดบังด้วยอนัตตาธรรม ธรรมที่ไม่ใช่ตน จนมองข้ามเรื่องนี้ไป เรามักได้ยิน ได้ฟังเสมอๆ เมื่อผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านสั่งสอนลูกหลานของตนที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านวัยเป็นผู้ใหญ่ "เมื่อไหร่เอ็งจึงจะเป็นตัวเป็นตน" เสียที เมื่อได้ยินได้ฟังปุ๊บ เรารู้ได้ทันทีว่า ท่านกำลังบอกให้ลูกหลานของท่านให้รู้จักฝึกฝนอบรมควบคุมจิตใจของตนเองให้อยู่ในคุณธรรมอันดีงาม เพื่อให้รู้จักความสงบตั้งมั่นที่ต้องรับผิดชอบดูแลตนเองและคนรอบข้าง เป็นที่พึ่งที่อาศัยไว้ใจได้ นี่เป็นเพียง "อัตตา" ระดับชาวบ้าน ส่วน "อัตตา" ที่เป็นนามธาตุในพระสูตรอันเป็นที่พึ่งที่อาศัยได้นั้น คือ จิตผู้รู้ชั้นพุทโธ ซึ่งบริสุทธิ์หมดจด ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เข้ามากระทบ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสกับพระอานนท์ซึ่งเป็นพระอริยะชั้นโสดาบัน ว่า "ตสฺมา ตีหานนฺท อตฺตทีปา วิหรถ อตฺตสรณา อนญฺญสรณา ธมฺมทีปา วิหรถ ธมฺมสรณา อนญฺญสรณา ด้วยเหตุนี้แหละอานนท์ เธอจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง เธอจงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง" ทั้งนี้แสดงว่า พระองค์ทรงสอนเรื่อง "ตัวตน" ถ้าไม่มีตัวตนจริงๆ ดังที่สอนกันอยู่ในปัจจุบันนี้แล้ว พระองค์ย่อมนำมาตรัสสอนพระอานนท์ไม่ได้เลย พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธ รูปนาม (อารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์) ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ควรยึดถือสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นอัตตาตัวตนที่เที่ยงตรงคงที่ ถ้าหากปล่อยวางเสียได้ จิตก็จะบรรลุเข้าสู่สภาพธรรมที่ปลอดโปร่ง เป็นอิสระ เป็นที่พึ่งที่อาศัยอันเที่ยงตรงคงที่ (อกุปปธรรม) อย่างแท้จริง ในอัตตทีปสูตรนี้ พระพุทธองค์ประทานพระโอวาทแก่พระภิกษุว่า ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ จงเป็นผู้มีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ อยู่เถิด ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายจะมีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะอยู่ ต้องพิจารณาโดยแยบคายว่า โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส มีกำเนิดมาอย่างไร เกิดมาจากอะไร? ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับ มิได้เรียนรู้ มิได้เห็นพระอริยเจ้า มิได้รับคำแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมพิจารณาเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นตน เห็นตนมีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เห็นตนในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ครั้นแล้ว รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ของเขานั้นแปรปรวนไป เป็นอย่างอื่นไป โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ย่อมเกิดขึ้นแก่เขา เพราะเหตุที่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แปรปรวนและเป็นอื่นไป ตรัสต่อไปว่า ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุรู้ว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นของไม่เที่ยง มีแปรปรวนไป มีความจางหาย มีความดับ เห็นตามความเป็นจริงด้วยสัมมาปัญญาว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อก่อน และรูป เวทนา สัญญา สังขารวิญญาณทุกชนิดในเวลานี้ ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีอันต้องแปรปรวนไป เมื่อเห็นอย่างนี้ ย่อมโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสได้ เมื่อละโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เป็นต้นได้ ก็ไม่หวาดหวั่น เมื่อไม่หวาดหวั่นใจ ย่อมอยู่เป็นสุข ภิกษุผู้มีปกติอยู่เป็นสุข เรียกได้ว่า ตทังคนิพพานแล้ว มีพระบาลีในปัณฑิตวัคคแห่งพระธรรมบทกล่าวไว้ ดังนี้คือ "ปริโยทเปยฺย อตฺตานํ จิตฺตกฺกิเลเสหิ ปณฺฑิโต บัณฑิตพึงชำระตนคือจิต ให้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลส" แสดงว่า จิตที่บริสุทธิ์นี้ คือ ตน ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกมาสอนพระอานนท์และภิกษุทั้งหลาย ดังกล่าวแล้วข้างต้นนี้ ดังนั้นคำสอนที่ว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีอยู่จริงจึงย่อมขัดแย้งกับพุทธพจน์ข้อนี้อย่างไม่มีปัญหา ยังมีบาลีพระธรรมบทรับรองเรื่อง อัตตา ตัวตน ไว้ดังนี้ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ โกหิ นาโถ ปโร สิยา อตฺตนา หิ สุทนฺเตน นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ ตนแลเป็นที่พึ่งของตน บุคคลอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้ ก็บุคคลมีตนฝึกฝนดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งอันบุคคลอื่นได้โดยยาก จากบาลีพระธรรมบท เราจะเห็นว่ามีบุคคล คือ มีเรา มีเขา มีเธอ มีฉัน ฯลฯ และแถมมีตนเข้ามาอีกด้วย ทำให้เกิดความสับสนได้ง่าย เช่น บอกว่า เธอจงฝึกฝนตน ฉันจะฝึกตน เขาจะฝึกตน ให้เป็นที่พึ่ง ที่อาศัยได้ คงไม่ใช่ตนที่เป็นรูปร่างกายอย่างแน่นอน เพราะการที่บุคคลมีรูปร่างกายที่แข็งแรง แต่ขาดสติปัญญา ขาดทักษะในการปล่อยวางอารมณ์ไม่มีสัมปชัญญะเสียแล้ว บุคคลเช่นเธอ ฉัน เขา ที่ว่ามานี้ จะเป็นที่พึ่ง ที่อาศัยได้ล่ะหรือ ย่อมไว้วางใจไม่ได้อย่างนอน ต่อเมื่อหมั่นประกอบความเพียรฝึกฝนอบรมจิตของตนด้วยภาวนานุโยค จนกระทั่งจิตของตนนั้น สงบ มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้ จิตของตนย่อมเป็นที่พึ่งแห่งตน ไม่อิงบุคคลอื่นแถมยังสามารถเกื้อกูลบุคคลอื่นได้อีกด้วย เราย่อมได้ชื่อว่ามีจิตที่ฝึกฝนดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งที่อาศัยที่บุคคลอื่นได้โดยยากอย่างแท้จริง ฝ่ายที่เข้าใจไปในทางตรงข้ามกับอริยสาวก ดังมีในพระพุทธพจน์ "มหาปุณณมสูตร" ความว่า "ลำดับนั้นแล มีภิกษุรูปหนึ่ง เกิดความปริวิตกแห่งใจขึ้นอย่างนี้ว่า จำเริญละ เท่าที่ว่ามานี้ เป็นอันว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา (ไม่ใช่ตน) กรรมที่อนัตตา (ไม่ใช่ตน) ทำแล้ว จักถูกตนได้อย่างไร (เพราะไม่ใช่ตนทำ) ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกแห่งใจของภิกษุรูปนั้น ด้วยพระหฤทัย จึงรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่โมฆบุรุษบางคนในธรรมวินัยนี้ ไม่รู้ แล้วตกอยู่ในอวิชชา ใจมีตัณหาเป็นใหญ่ พึงสำคัญคำสั่งสอนของศาสดาอย่างสะเพร่า ด้วยความปริวิตกว่า จำเริญละ เท่าที่ว่ามานี้ เป็นอันว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา กรรมที่อนัตตาทำแล้ว จักถูกตนได้อย่างไร" สาเหตุสำคัญที่ทำให้โมฆบุรุษคิดไปอย่างนั้น เพราะความเข้าใจผิดของตนเองว่า จิตคือวิญญาณ นั่นเอง เมื่อเข้าใจว่า จิตคือวิญญาณแล้ว ก็พลอยเข้าใจไปว่า กรรมดีกรรมชั่วที่ทำไปไม่มีที่จะบันทึกลงตรงไหน เนื่องจากขันธ์ ๕ นั้น ไม่ใช่ตนเพราะเป็นอนัตตา เกิดๆ ดับๆ อยู่ตลอดเวลา กรรมดี กรรมชั่วที่ตนได้กระทำไปแล้ว ก็ไม่อาจให้ผลกับตนได้ เพราะไม่ใช่ตน (อนัตตา) ในเมื่อไม่มีที่ๆ ให้กรรมดี กรรมชั่วที่ทำไปแล้วนั้นบันทึกลงได้ จึงได้พูดโดยสะเพร่าด้วยความเข้าใจผิดไปเองว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา (คือไม่ใช่ตน) แล้วกรรมที่อนัตตา (ไม่ใช่ตน) ทำ จักถูกตนได้อย่างไร ใช่หรือไม่? เพราะเป็นความเข้าใจผิดของภิกษุรูปนั้นเองว่า จิตคือวิญญาณ เมื่อวิญญาณเป็นอนัตตาธรรม ไม่ใช่ตน แล้วกรรมที่ไม่ใช่ตน (อนัตตา) ทำ ก็ไม่อาจถูกตนได้สิ นี่คือโมฆบุรุษ สำหรับข้อที่ว่า "สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา" นั้น เป็นการอ้างแบบเฉไฉไม่ยอมรับความจริง พยายามแสร้งมองไม่เห็นบริบทรอบข้าง โดยที่ไม่เคยดูบริบทก่อนหน้านั้นให้ดีเสียก่อน ทุกครั้งที่พระพุทธองค์ทรงตรัสถึงคำว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา นั้น บริบทก่อนหน้ามักจะต้องกล่าวถึง รูป - นาม (ขันธ์ ๕) ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายเหล่านั้นล้วนเป็นอนัตตา กระทั่งมีการละไว้ในฐานที่เข้าใจ แต่กลับถูกมองข้ามไปเสีย เราต้องไม่ลืมว่า ธรรมฝ่ายโลกุตตรธรรม ที่เที่ยงตรงคงที่ต่อพระนิพพานนั้น มีอยู่จริง เช่น อมตธรรม อกุปปธรรม วิราคธรรม ฯลฯ ธรรมดังกล่าวทั้งหลายเหล่านี้ล้วนเป็นที่พึ่งที่อาศัยได้ ซึ่งตรงข้ามกับ "สัพเพ ธัมมา อนัตตา" ดังที่กล่าวอ้างไว้ โดยมีพระพุทธพจน์ตรัสรองรับไว้ ในฉันทสูตรที่ ๓ ดังนี้ "ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเป็นอนัตตา เธอทั้งหลายพึงละความพอใจในสิ่งนั้นเสีย" เป็นอันชัดเจนในตัวแล้วว่า ธรรมอันเป็นอนัตตานั้น เราควรละเสีย เพราะเมื่อเราไปยึดมั่นถือมั่นเข้าแล้ว ย่อมเป็นทุกข์ มันเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง มีการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เหตุทำให้เข้าถึง "อนัตตาธรรม" ได้นั้น ควรเดินไปตามรอยทางเดินที่นำไปสู่ความเป็นอริยเจ้า คือ "อริยมรรคมีองค์ ๘" อันมีสัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ก็คือทางไปสู่พรหมจรรย์ และที่สุดแห่งพรหมจรรย์ก็คือความสิ้นไปแห่งราคะ โทสะ โมหะ ซึ่งในมหาจัตตารีสกสูตร พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ประกอบแล้วด้วยองค์ ๗ เหล่านี้แล เรียกว่า สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุบ้าง มีองค์ประกอบบ้าง" องค์ประกอบดังกล่าวมี สัมมาทิฐิเป็นใหญ่เป็นประธาน แม้สัมมาทิฐิที่เป็นอริยะเป็นใหญ่เป็นประธานอยู่นั้น ย่อมต้องมีสัมมาวายามะ สัมมาสติ เป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย จึงทำให้เกิดสัมมาวิมุตติ สัมมาญาณได้ ทำให้จิตมีพลังรู้เห็นตามความเป็นจริงว่า นี่ทุกข์ นี่เหตุให้ทุกข์ นี่ความดับทุกข์ นี่ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ และรู้ว่าสิ่งไหนใช่ สิ่งไหนไม่ใช่ "รูป - นาม (ขันธ์ ๕) ไม่ใช่ตนคือจิต จิตไม่ใช่รูป - นาม (ขันธ์ ๕)" สรุปสุดท้าย กล่าวตามข้อเท็จจริง พระพุทธองค์มิได้ทรงสอนให้ถอนคำบัญญัติทิ้ง หรือทรงสอนให้ทำลายสิ่งที่รองรับคำบัญญัติ ให้มลายหายสูญไปด้วยแต่ประการใดเลย เนื่องจากทุกข์โทษทั้งหลาย มิได้เกิดจากการใช้คำบัญญัติ แต่เกิดจากการเข้าไปยึดถือสิ่งรองรับคำบัญญัติ ด้วยความเข้าใจผิด ว่ามีแก่นสารสาระเป็นอัตตา (ตัวตน) ต่างหาก พระองค์ทรงสอนให้ถอนความยึดมั่นถือมั่น สิ่งที่รองรับคำบัญญัติ ด้วยความเข้าใจผิดไปนั้นเสีย เมื่อถอนความยึดมั่นถือมั่นสิ่งที่รองรับคำบัญญัติเสียแล้ว ก็ย่อมหลุดพ้นจากวัตถุหรืออารมณ์ที่รองรับคำบัญญัติทั้งหลายได้อย่างสิ้นเชิง จิตก็ย่อมผ่องแผ้วบริสุทธิ์ ไม่หลงไปพลอยเกิดพลอยตายกับสิ่งที่รองรับคำบัญญัตินั้นด้วย จิตจึงเป็นที่พึ่งที่อาศัยได้อย่างแท้จริง เอวัง. พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท เทศนาธรรม วันพระ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๕ |
ในความฝันของใครสักคน
Rss Feed Smember ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?] หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์ Group Blog All Blog
|
||
Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved. |