เราจะถือเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งได้อย่างไร


🌷 เราจะถือเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งได้อย่างไร

วันพฤหัสที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๕ ตรงกับ วันพระ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู 

วันพระนี้ อาตมาภาพมีความตั้งใจจะพูดเรื่อง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อันเป็นที่พึ่งที่อาศัย เป็นสรณะที่แท้จริง ไม่ใช่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่เป็นสมมุติ ที่เป็นเพียงรูปธรรมอยู่ในทุกวันนี้  ต่อจากที่ได้พูดถึงคุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ ที่มีรจนาไว้ในหนังสือบุพพสิกขาวรรณนา ซึ่งเป็นปริยัติธรรม เพื่อน้อมนำมาสู่การปฏิบัติธรรม ให้เข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่เป็นที่พึ่งที่อาศัยอันแท้จริง ซึ่งจัดเป็นธรรมแท้ หรือหัวใจพระพุทธศาสนานั่นเอง

เมื่อได้ฟังบุพพสิกขาวรรณนาที่อาตมาภาพคัดย่อมานั้น เราก็รู้ถึงคุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ ตามแบบฉบับที่คัดสรรไว้ เพื่อสั่งสอนพระที่บวชเข้ามาใหม่ ใช้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นสยามภาษา ซึ่งค่อนข้างจะละเอียดตามสมควร ส่วนปัจจุบันนี้ก็มีการลดหย่อนผ่อนลงไปบ้างตามสมควรแก่กาลเวลาที่ล่วงเลยไป แต่ก็ยังมีอีกด้านหนึ่งซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก ต่อกุลบุตรที่บวชเข้ามาเพื่อหวังความหลุดพ้น ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการพรรณนาถึงพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ นั่นคือคุณค่าที่แท้จริงของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ 

ในปัจจุบัน จะมีพระภิกษุสงฆ์สักกี่รูปกันที่รู้ว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่แท้จริงนั้น เป็นเรื่องของการปฏิบัติธรรมเพื่อชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์หมดจดขาวรอบ นี่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ที่อุบัติขึ้นมาในโลก (สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทธานสาสนํ) 

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นั้น เป็นเรื่องเดียวกัน รอยเดียวกัน (จิตบริสุทธิ์) ต่างกันแต่สมมุติบัญญัติเท่านั้น ที่เหมือนกันโดยความหมายนั้น เป็นเรื่องของวิราคจิต วิราคธรรม หรือที่นิพพานอันเป็นที่สุดแห่งทุกข์นั่นเอง เป็นธรรมที่แยกแล้ว คือจิตที่แยกจากอารมณ์ราคะ โทสะ โมหะ (จิตที่สะอาดบริสุทธิ์) เราเรียกการสิ้นไปแห่งราคะ โทสะ โมหะ ว่าที่สุดแห่งพรหมจรรย์ คำว่า กำจัดราคะ กำจัดโทสะ กำจัดโมหะนั้น  หมายถึงนิพพานธาตุ ฉะนั้น นิพพานธาตุจึงได้ชื่อว่าธรรมอันเป็นที่สิ้นอาสวะ (อาสวักขยะ) ยังมีคำถามอีกว่า อะไรคืออมตะ อะไรคือทางให้ถึงอมตะ ความสิ้นไปแห่งราคะ โทสะ โมหะ เรียกว่าอมตะ อริยมรรคมีองค์ ๘ คือทางอันนำไปสู่อมตะ

มนุษย์เป็นอันมากแล ถูกภัยคุกคามแล้ว ย่อมถึงภูเขา ป่า อาราม และรุกขเจดีย์ ว่า เป็นที่พึ่ง ที่พึ่งนั้นแลไม่เกษม ที่พึ่งนั้นไม่อุดม เพราะบุคคลอาศัยที่พึ่งนั้น ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้

ส่วนผู้ใดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่ง ย่อมเห็นอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความก้าวล่วงทุกข์ และอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ อันให้ถึงความสงบระงับดับทุกข์ด้วยปัญญาอันชอบ ที่พึ่งนั้นแลเป็นที่พึ่งอันเกษม ที่พึ่งนั้นอุดม เพราะบุคคลอาศัยที่พึ่งนั้น ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้

มีพระพุทธพจน์ตรัสไว้ว่า "โยจ พุทฺธญฺจ ธมฺมญฺจ สงฺฆญฺจ สรณํ คตา, จตฺตาริ อริยสจฺจานิ สมฺมปฺปญฺญาย ปสฺสติ  แปลว่า ผู้ใดจะถือเอา พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้า เป็นที่พึ่งได้นั้น ผู้นั้นจะต้องเห็นอริยสัจ ๔ ด้วยปัญญาอันชอบ ดังนี้"

ทั้งนี้หมายความว่า ผู้นั้นจะต้องลงมือศึกษาและปฏิบัติตามอริยสัจ ๔ คือ ขัดเกลาจิตใจของตนเอง ให้เลิกยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ต่างๆ ได้อย่างสิ้นเชิงนั่นเอง จิตของผู้นั้นก็ย่อมบริสุทธิ์ เช่นเดียวกับ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไปด้วยในที่สุด จึงสิ้นทุกข์ หมดกังวลจากเรื่องราวต่างๆ ตามพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้วย

เราพอจะมองเห็นและรู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ได้ดีขึ้นว่า พระรัตนตรัยเป็นเรื่องของจิตบริสุทธิ์ ที่ไม่ยึดถือเอาวัตถุหรืออารมณ์ใดๆ ในโลกอย่างสิ้นเชิง จึงเป็นเรื่องของนามธรรม ไม่ใช่เรื่องของรูปธรรมที่อาจลูบคลำ ถูกต้อง หรือแลเห็นได้ ดังที่หลายคนเข้าใจกันอยู่ว่าอยู่ภายนอกตัวเองในปัจจุบันนี้ ผู้ที่มีจิตบริสุทธิ์แล้ว จึงจะนับว่าเป็นพระรัตนตรัย 

ส่วนบุคคลที่มีศีล ๕ บริสุทธิ์ รู้กายที่ถูกต้อง ไม่หลงยึดถือเอาขันธ์ ๕ มาเป็นตน มารู้จักตนอันแท้จริง มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งที่อาศัย ที่พึ่งอื่นนอกจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่มีอีกแล้ว (สีลลัพพัตตปรามาส) ดังมีมาในราชสูตร สาวัตถี ฯ พระพุทธองค์ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า 

“พระเจ้าจักรพรรดิถึงได้เป็นเจ้าครอบครองทวีปทั้ง ๔ และเมื่อสวรรคตแล้ว ก็ไปเกิดในสุคติ โลกสวรรค์ คือเป็นเทวดาชั้นดาวดึงส์ ท้าวเธอก็ยังไม่พ้นจากนรกกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน ภูมิแห่งเปรต และอบาย ทุคติ วินิบาต 

ส่วนอริยสาวกชั้นโสดาบัน เดินบิณฑบาตเลี้ยงชีพ ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เธอพ้นจากนรกกำเนิด สัตว์เดรัจฉาน ภูมิแห่งเปรต และอบาย ทุคติ วินิบาต 

ธรรม ๔ ประการนั้น คือ
๑. มีความเลื่อมใสมั่นคงในพระพุทธเจ้า
๒. มีความเลื่อมใสมั่นคงในพระธรรม
๓. มีความเลื่อมใสมั่นคงในพระสงฆ์
๔. มีอริยกันตศีล (ศีล ๕ บริสุทธิ์) ที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท วิญญูชนสรรเสริญ (วิญญุปปะสัตถา) ไม่ถูกถือมั่น เป็นไปเพื่อสมาธิ”

วันหนึ่ง พระอานนท์ไปสนทนาธรรมกับพระสารีบุตร เรียนถามว่า คนเช่นไร พระพุทธองค์ทรงเรียกว่า โสดาบัน คำตอบของพระสารีบุตรชี้ไปที่ธรรม ๔ ประการของพระโสดาบัน 

และครั้งหนึ่ง พระสารีบุตรเข้าเฝ้า พระพุทธองค์ทรงถามท่านว่า อะไรคือ โสดาปัตติยังคะ พระสารีบุตรกราบทูลว่า โสดาปัตติยังคะ (องค์คุณของโสดาบัน) คือ
๑. สัปปุริสสังเสวะ (การคบสัตบุรุษ)
๒. สัทธัมมัสสวนะ  (ฟังคำสั่งสอน)
๓. โยนิโสมนสิการ (ใส่ใจพิจารณาเป็นอย่างดี)
๔. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ (ปฎิบัติที่ถูกที่ควร)

ตรัสถามอีกว่า กระแสธรรม (โสโต) ได้แก่อะไร พระสารีบุตรทูลตอบว่า กระแสธรรม หมายถึง อริยมรรค ๘ ทรงตรัสถามอีกว่า โสดาบัน ผู้ถึงกระแสธรรมคือคนเช่นไร พระสารีบุตรทูลตอบว่า ผู้ประกอบด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ เรียกว่า โสดาบัน พระพุทธเจ้าสาธุการในคำตอบทุกข้อของพระสารีบุตร 

สัตบุรุษ หมายถึง คนสงบ คนดี คนมีศีล ที่ประกอบสัปปุริสธรรม 
เมื่อบุคคลเป็นเช่นนั้นแล้ว 
เขามีความเห็นอันใด ความเห็นอันนั้นย่อมเป็นสัมมาทิฏฐิ 
มีความดำริอันใด ความดำริอันนั้นย่อมเป็นสัมมาสังกัปปะ
มีความเพียรอันใด ความเพียรอันนั้นย่อมเป็นสัมมาวายามะ 
มีความระลึกอันใด ความระลึกอันนั้นย่อมเป็นสัมมาสติ
มีความตั้งมั่นของจิตอันใด ความตั้งมั่นของจิตอันนั้นย่อมเป็นสัมมาสมาธิ
ส่วนกายกรรม วจีกรรม อาชีวะของเขาย่อมหมดจดดีเป็นเบื้องต้นอยู่แล้ว
อย่างนี้แหละ เขาได้ชื่อว่า เจริญบริบูรณ์ด้วยมรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐ (อริยอัฏฐังคิกมรรค)

🌻 พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จะยังคงอยู่กับเราตลอดไป ตราบเท่าที่ยังมีการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนา (สัมมาสมาธิ)

หลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ๒ เดือน ได้ทรงแสดงปฐมเทศนา เรื่องธัมมจักกัปปวัตนสูตร ทรงประกาศพระธรรมที่ทรงตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เองเป็นครั้งแรก โปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสี

ท่านโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม รู้ว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา"  (ยํ กิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมนฺติ) โดยสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเปล่งพระพุทธวาจาให้เป็นที่ประจักษ์ว่า "อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ" หรือคือ "โกณทัญญะได้รู้แล้วหนอ"

วันนั้นเป็นวันที่พระรัตนตรัยครบองค์ ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และพระสงฆ์องค์แรกที่เกิดขึ้น คือ ท่านโกณฑัญญะ

พระธรรมที่ทรงแสดงในวันนั้น พระพุทธองค์ได้ทรงประกาศไว้อย่างชัดเจนว่า "ปุพฺเพ อนนุสฺสุเตสุ ธมฺเมสุ" แปลว่า "ธรรมที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้มานั้น พระพุทธองค์ทรงไม่เคยได้ยินได้ฟังจากที่ไหนมาก่อน" แต่ทุกวันนี้กลับนำเอาไปผสมปนเปกับศาสนาพราหมณ์ จนดูคล้ายกับว่าต่อยอดมาจากศาสนาพราหมณ์ยังไงยังงั้น ทั้งที่พระองค์ทรงประกาศอย่างเต็มภาคภูมิว่า ธรรมที่เราตรัสรู้นั้น เราไม่เคยได้ยินได้ฟังจากที่ไหนมาก่อนเลย 

แต่เมื่อได้มีการรจนาเพิ่มเติมเสริมแต่งเข้ามาในภายหลัง จนกระทั่งดูเหมือนว่าพระพุทธองค์ได้ทรงต่อยอดการตรัสรู้ชองพระองค์มาจากพราหมณ์ อันมีรูปฌานและอรูปฌาน ทั้งที่โดยความเป็นจริงแล้ว พระพุทธองค์ได้ทรงปฏิเสธฌานของพราหมณ์เหล่านั้นมาตั้งแต่ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่เลย ด้วยคำว่า "ธรรมเหล่านี้ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้และเพื่อนิพพาน เป็นไปเพียงเพื่อเข้าถึงรูปฌานและอรูปฌานสมาบัติเท่านั้น" ย่อมเป็นการชัดเจนแล้วสำหรับผู้ที่ศึกษาใหม่ 

ทุกวันนี้ยังมีบุคคลเป็นจำนวนมาก ที่ยังไม่รู้และยังเข้าใจผิดอีกเป็นจำนวนมาก เมื่อกล่าวถึงการเพียรเพ่งฌานเท่านั้นแหละ จะกลายพันธุ์ไปเป็นของพวกฤาษี ชีไพรเลยทันที ทั้งๆ ที่มีพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสกับพระอานนท์รับรองว่า "ดูก่อนอานนท์ นั่นโคนไม้ นั่นเรือนวาง (ว่างเปล่าจากเรือน) พวกเธอทั้งหลาย จงเพ่งฌาน อย่าได้ประมาท อย่าได้เป็นผู้เดือดร้อนในภายหลัง นี้เป็นคำสั่งสอนของเราสำหรับเธอทั้งหลาย"

🌻 พระรัตนตรัย (แก้วมณีอันมีค่า ๓ ดวง)

ชาวพุทธทั้งหลาย ต่างยอมรับนับถือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งสูงสุดในพระพุทธศาสนา ดังมีบทสวดระลึกถึงว่า

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าถือเอาพระธรรมเป็นที่พึ่ง
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าถือเอาพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง

ดังนั้น จึงได้ตั้งสมัญญาถวาย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไว้ รวมเรียกว่า พระรัตนตรัย (แก้วมณีอันมีค่า ๓ ดวง)

พระรัตนตรัยตั้งอยู่ที่ไหน? ถ้าไปถามคนที่นับถือพระพุทธศาสนาทั่วๆ ไปดูแล้ว เราจะเห็นว่าหลายคนตอบ ดังนี้คือ พระพุทธก็อยู่ในโบสถ์ พระธรรมก็อยู่ในตู้ และพระสงฆ์ก็นั่งสวดมนต์อยู่ในวัดต่างๆ ตรงกัน

กล่าวให้ชัดที่สุด พระพุทธ ก็คือ พระพุทธรูป  พระธรรม ก็คือ ตัวอักษรที่จารึกธรรมะซึ่งเก็บอยู่ในตู และพระสงฆ์ ก็คือ ผู้ที่นุ่งเหลือง ห่มเหลืองที่บวชเข้ามาอยู่ในวัดนั่นเอง

รวมความแล้ว คนที่นับถือพระพุทธศาสนาส่วนมาก พากันเข้าใจว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นวัตถุและอยู่ภายนอกตัวเอง ไม่ได้อยู่ภายในตัวเองเลย

ถ้าเข้าใจว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นวัตถุและอยู่นอกตัวเองเช่นนี้แล้ว เราก็ย่อมถือเอาเป็นที่พึ่งไม่ได้จริงๆ คือ ได้แต่สวดระลึกลมๆ แล้งๆ ว่าเป็นที่พึ่งเท่านั้นเอง หรือกล่าวให้ชัดเจนได้ว่าไม่รู้จัก พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่แท้จริง ก็ได้

พระพุทธองค์ได้ทรงประกาศตนเองว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง เป็นการแสดงให้เห็นว่า ฌานในพระพุทธศาสนาหรือสัมมาสมาธิที่ทรงตรัสสั่งสอนสาวกทั้งหลายไว้ในอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ไม่ใช่เป็นการต่อยอดความรู้จากรูปฌานหรืออรูปฌาน ซึ่งเป็นฌานสมาบัติที่มีปรากฏอยู่ ก่อนที่พระพุทธองค์จะทรงอุบัติขึ้นมาเสียอีก 

ฉะนั้น ฌานในสัมมาสมาธิ จึงไม่ใช่สมาธิแบบทั่วๆ ไป และฌานในสัมมาสมาธินั้น ก็ไม่ใช่ฌานสมาบัติของพราหมณ์อีกเช่นกัน สัมมาสมาธิเป็นฌานในอริยมรรค 

เมื่อบุคคลเจริญมรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐอยู่อย่างนี้ ชื่อว่ามีสติปัฏฐาน ๔  สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ ครบถ้วนบริบูรณ์ เท่ากับว่าเขามีธรรมทั้ง ๒ อย่าง คือ สมถะและวิปัสสนาเคียงคู่กันไป (ยุคนัทธา) ชื่อว่า
ได้กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง 
ได้ละธรรมที่ควรละด้วยปัญญาอันยิ่ง 
ได้เจริญธรรมที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง 
ได้ทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง (อภิญญา) 

ธรรมที่ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง คือ อุปาทานขันธ์ ๕ 
ธรรมที่ควรละด้วยปัญญาอันยิ่ง คือ อวิชชาและภวตัณหา 
ธรรมที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง คือ สัมมาสมาธิ (สมถะและวิปัสสนา) 
ธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง คือ วิชชาและวิมุตติ 

แต่ก็ยังมีอาจารย์บางท่านที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงการปฏิบัติธรรม ท่านได้ยัดเอาสัมมาสมาธิผนวกเข้ากับสมาธิในรูปฌานและอรูปฌาน ท่านบอกว่าถ้าเข้าสมาธิไม่ลึกมากนั้นเป็นเพียงรูปฌาน ถ้าเข้าสมาธิได้ลึกมากก็เป็นอรูปฌาน ตอนเข้าสมาธิอยู่นั้นเราสามารถนิ่งได้เพราะอยู่ในสมาธิ  แต่เมื่อออกจากสมาธิแล้ว จิตก็ไม่อาจนิ่งได้อีก แบบนี้ไม่สามารถกำจัดอวิชชา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก ท่านก็อธิบายวิธีนิ่งที่ไม่ต้องหลับตาเข้าสมาธิ ฟังดูแล้วน่าจะมาจากสัญญาไม่ใช่ปัญญา 

โดยข้อเท็จจริงแล้ว บุคคลใดก็ตามที่มีจิตนิ่ง (สงบ) ได้นั้น จิตของตนย่อมต้องมีความสงบตั้งมั่น (สมาธิ) เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว จึงจะนิ่งได้ในขณะลืมตา เพราะเป็นขั้นที่สองของการปฏิบัติธรรมในสติปัฏฐาน ๔ คือ พิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม เป็นภายนอกบ้าง เป็นขั้นของวิปัสสนา เพราะรู้เห็นตามความเป็นจริง จึงนิ่งได้ เพราะมีบาทฐานมาจากการปฏิบัติธรรมสัมมาสมาธิ (อานาปานสติ) จากการที่ได้ฝึกฝนจนชำนาญในขั้นตอนแรก คือ การพิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม เป็นภายในบ้าง จึงทำให้นิ่ง (หยุด) เป็น ย่อมเกิดจากผลที่ได้จากการหลับตา ขณะนั้นจิตรู้ชัดว่า ที่นี่ประณีตหนอ ที่นี่สงบหนอ (เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ) กับรู้ชัดว่า ที่นั่นวุ่นวายหนอ ที่นั่นขัดข้องหนอ จึงเลือกที่จะนิ่ง (หยุด) เมื่อกระทบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เข้ามาขณะลืมตาเห็น มีพระบาลีดังนี้

"อุเปกฺขา สติ สงฺสุทฺธํ ธมฺมตกฺก ปุเรชวํ อญฺญาวิโมกฺขํ สํ พฺรูมิ อวิชฺชายปฺปเภทนํ แปลว่า เมื่อมีความวางเฉย สติบริสุทธิ์ดีแล้ว จงตรึกธรรม (อารมณ์) ที่มีมาเฉพาะหน้า เรากล่าวว่านั่นแหละเป็นเครื่องทําลายอวิชชา"

เมื่อกล่าวถึงเนื้อธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงในวันนั้น คือ อริยสัจ ๔ หรืออริยมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง ทำให้ท่านพระอาจารย์อัญญาโกณฑัญญะ เกิดดวงตาเห็นธรรม เปล่งวาจาว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งปวงล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา" เพราะท่านพระอาจารย์อัญญาโกณฑัญญะในขณะนั้น ได้กำหนดรู้เห็นตามความเป็นจริง ถึงเรื่องในโลกล้วนเป็นทุกข์ จึงควรที่จะละเหตุแห่งทุกข์นั้นเสีย ด้วยการปฏิบัติฌานในพระพุทธศาสนา (สัมมาสมาธิ) 

เมื่อนำมาพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นได้ว่า หัวข้อธรรมที่ท่านพระอาจารย์อัญญาโกณฑัญญะ ได้กล่าวมานั้น เป็นเรื่องของสัตว์ (จิต) ที่ติดข้องในอารมณ์ด้วยความยึดมั่นถือมั่นในโลกทั้งสิ้น หรือก็คือ จิตที่ติดข้องอยู่ในอารมณ์นั่นเอง

ตรงตามที่พระบรมศาสดาทรงพยากรณ์ไว้ว่า "โลกคือหมู่สัตว์ อันอวิชชาคือความไม่รู้แจ้งตามความเป็นจริงปิดบังไว้ จึงหลงงมงายอยู่ในความมืด เพราะความทะยานอยาก (ตัณหา) มีประการต่างๆ" นั่นเอง

ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ข้อธรรมที่ว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา" นั้น หมายความเกี่ยวเนื่องกับ จิตที่ติดข้องยึดมั่นถือมั่นอยู่ในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายนั่นเอง

แต่กลับมีพวกอิ๊กคิวที่ชอบตีความไปตามจริตที่ติดความมักง่ายๆ สบายๆ ลัดสั้น ไหลตามกิเลสว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นนั้น" ให้รู้ก็พอ ไม่ต้อง ไม่ตั้ง ไม่พยายาม อย่าไปบังคับ เพราะบังคับมันไม่ได้ เมื่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นทั้งปวงเดี๋ยวๆ มันก็ดับของมันไปเองเป็นธรรมดา ปล่อยไปตามยถากรรมนั่นเอง ซึ่งเป็นเรื่องของปุถุชนคนทั่วไป ที่ได้มีการฝึกฝนให้จิตคุ้นชินกับเรื่องที่เกิดขึ้นนั้น โดยใช้วิธีเฉย (โง่) จัดว่าเป็นเรื่องที่ดีกว่าบุคคลอีกจำนวนมากที่เมื่อเกิดเรื่องขึ้น มักมีการสนองตอบต่ออารมณ์เหล่านั้น ล้วนเป็นการเก็บกักอารมณ์ในรูปของธรรมารมณ์ที่ถูกเก็บไว้ในใจ ทำให้พระธรรมบทของท่านพระอาจารย์อัญญาโกณฑัญญะนี้เสียหายไปด้วย

คำกล่าวที่ว่า "เป็นธรรมดานั้น" ล้วนกล่าวถึงเรื่องของโลกที่เกิดมีขึ้น โลกก็คือหมู่สัตว์อันอารมณ์ครอบงำอยู่ ล้วนเกิดขึ้นและดับไปจากโลก ส่วนจิตที่ต้องการหลุดพ้นจากโลกนั้น เมื่อติดข้องในอารมณ์ ควรที่จะต้องละ ต้องสละคืนกลับความยึดมั่นถือมั่นเรื่องในโลกออกไปให้หมดสิ้น เป็นธรรมดา เมื่อสละคืนความยึดติดได้ ย่อมพ้นโลก เหนือโลกเป็นโลกุตรธรรม

เมื่อรู้แล้ว ละเรื่องที่รู้ไม่เป็น ได้แต่ดูเฉยๆ ก็คือความไม่รู้นั่นเอง ว่าควรละเรื่องที่รู้ ก็คือไม่รู้จักสมุทัย เพราะเป็นธรรมดาอยู่เองของสัตว์โลก (จิต) ผู้ติดข้องยึดถืออยู่ในอารมณ์ทั้งหลาย รู้แล้วไม่ยึดติดอยู่ในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้นเป็นไม่มี

ส่วนพระอริยเจ้าทั้งหลาย เมื่อท่านรู้ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดาของโลก รู้แล้วละเรื่องที่รู้นั้น เมื่อละเป็นก็ย่อมเย็นได้ สิ่งนั้นทั้งปวงย่อมดับไปเองเป็นธรรมดา

ไม่ใช่อย่างที่พยายามสั่งสอนเพื่อครอบงำความคิดให้เชื่อตามๆ กันไปว่า "เมื่อราคะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้น ให้รู้ ไม่ต้องทำอะไร ให้รู้เฉยๆ (เฉยโง่) เดี๋ยวมันก็ดับของมันไปเอง" 

การรู้แบบนี้ก็เปรียบเสมือนว่าไม่รู้จักอารมณ์ เพราะละสิ่งที่รู้ขณะนั้นไม่เป็น ปล่อยให้ราคะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ตามยถากรรมดีๆ นี่เอง นานวันไปก็กลับกลายเป็นถิรสัญญา คุ้นชินกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้น 

เมื่อคุ้นชินกับอารมณ์ราคะ โทสะ โมหะ ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปได้เร็วขึ้น ไม่ใช่จากการฝึกฝนอบรมจิต ให้รู้จักปล่อยวาง (ละ) อารมณ์เหล่านั้น แต่เป็นเพราะสัญญาที่จดจำธรรมารมณ์ (ถิรสัญญา) ดังกล่าวไว้ได้อย่างแม่นยำนั่นเอง ประกอบกับว่า เมื่อจดจำธรรมารมณ์ดังกล่าวที่ว่ามานี้ได้อย่างยาวนาน ทำให้ธรรมารมณ์ดังกล่าวนั้น จืดจางไปจากความรู้สึกนึกคิดของตนได้ ด้วยเกิดจากการเปลี่ยนอารมณ์ที่จดจำได้อย่างแม่นยำของตนจนคุ้นชิน ไม่ใช่เกิด - ดับไปเองด้วยการปล่อย แต่ดับไปเองด้วยการเปลี่ยน

โดยไม่ได้นำมาพิจารณาอย่างถ่องแท้ว่า ธรรมารมณ์ในส่วนที่ประทับใจหรือที่เกิดขึ้นมาใหม่นั้น ก็ยังเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเป็นธรรมดา ด้วยความยึดมั่นถือมั่นในธรรมารมณ์เหล่านั้น แบบปุถุชนคนหนาด้วยกิเลสทั่วๆ ไป วนเวียนเป็นวัฏฏะ ไม่รู้จักจบสิ้น ธรรมารมณ์เก่าดับไป ธรรมารมณ์ใหม่เกิดขึ้นๆๆ ตลอดไป

เนื่องจากไม่ฝึกฝนอบรมจิตด้วยการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนา จึงทำให้ไม่เกิดปัญญา (ทางธรรม) ไม่รู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริงว่า

ทุกข์ ควรต้องกำหนดรู้ และต้องรู้จักเหตุแห่งทุกข์ที่กำหนดรู้นั้นด้วย เมื่อกำหนดรู้แล้ว ควรต้องฝึกละเหตุให้เป็น จิตจึงจะเย็นได้ (ดับ) จะละสิ่งที่รู้ให้เป็นจึงจะเย็นได้นั้น ต้องเดินตามทางอริยมรรคมีองค์ ๘ เท่านั้น ที่มีสัมมาสมาธิเป็นประธานในองค์มรรคนั่นเอง 

บุคคลใดปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ อันมีสัมมาสมาธิเป็นบาทฐานดีแล้ว ย่อมสร้างพลังจิตให้มีขึ้นเกิดขึ้น ในการปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายออกไปได้ ดังนั้นจึงสามารถสกัดกั้นความปราดเปรียวของกายทิพย์หรือนามกายให้อ่อนกำลังลงได้ ทุกข์ที่กำหนดรู้นั้น ก็จะบรรเทาเบาบางลงไป จนกระทั่งถึงที่สุดทุกข์ได้นั่นเอง เมื่อปฏิบัติได้ตามนี้  พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่บริบูรณ์จะยังคงอยู่กับเราตลอดไป เอวัง.

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรม วันพระ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๕


 



Create Date : 18 มีนาคม 2565
Last Update : 18 มีนาคม 2565 16:12:20 น.
Counter : 755 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์