อานาปานสติ ทำให้สติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์


🌷 อานาปานสติ ทำให้สติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์  

วันศุกร์ ๑ เมษายน ๒๕๖๕ ตรงกับวันพระแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู

เจริญสุข สวัสดี ในปัจจุบันนี้ วงปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาในพุทธศาสนานั้น มีรูปแบบที่แตกต่างและแตกแขนงกันออกไปอย่างมากมายนับไม่ถ้วน ต่างก็นิยมยกย่องเทิดทูนแต่ในวงกรรมฐานของตนเท่านั้น และไม่ค่อยจะยอมรับฟังความคิดเห็นของพวกที่เห็นต่างซะด้วย ถึงกับมีการพยายามกดอีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยหรือเห็นต่างไปจากที่ตนรู้ ให้ต่ำต้อยด้อยค่าลงไป ทั้งที่เป็นชาวพุทธเช่นกัน โดยการแบ่งแยกเหล่านี้ ได้เกิดขึ้นมานานมากแล้ว ตั้งแต่ครั้งที่พระพุทธองค์ทรงปรินิพพานไปได้ไม่นานนัก 

ขึ้นชื่อว่าปุถุชนคนหนาไปด้วยกิเลสแล้ว เมื่อคิดที่จะทำอะไร ก็เป็นไปเพื่อเรียกร้องให้คนมานับถือ เพื่อลาภ เพื่อสักการะ และคำยกย่องสรรเสริญ เป็นอานิสงส์ หวังผลว่าได้เป็นคณาจารย์ใหญ่ หวังผลเพื่อให้คนรู้จักอย่างนั้นอย่างนี้ จึงพยายามคิดค้นหาอุบายอันแยบคาย เพื่อให้บุคคลที่สนใจเข้าถึงธรรมที่ตนรู้และที่ตนเชื่อและศรัทธาอยู่ ในรูปแบบที่เป็นการให้กำลังใจกันเสียมากกว่า เพื่อให้เกิดความเชื่อความศรัทธาและใฝ่ใจในธรรมที่เป็นกุศล ในทานที่ให้ ในศีลที่ต้องรักษา และการภาวนาในรูปแบบที่ตนอุปโลกน์ขึ้นมาตามมติของตนเอง แม้ธรรมเหล่านั้นจะไม่ได้เป็นไปพื่อความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ หรือเพื่อนิพพานก็ตาม 

เพื่อป้องกันความสับสน พระพุทธองค์ทรงวางหลักไว้ก่อนปรินิพพาน ดังนี้  “โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต  โส โว มมจฺจเยน สตฺถา แปลว่า ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยใด ที่เราได้แสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาแทนเรา ปกครองท่านแทน เมื่อเราได้ล่วงลับไปแล้ว” 

ใช่ในขณะนั้นตอนนั้น มีเพียงแค่พระสูตรและพระวินัย แต่ปัจจุบันนี้ได้มีการเพิ่มเติมเสริมแต่งขึ้นมาอีกมากมายจนกลายเป็นพระไตรปิฎก อันมี พระสูตร พระวินัย และพระอภิธรรม หรือธรรมอันยิ่งได้เกิดขึ้น ทำให้เกิดการแบ่งแยก ยิ่งปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ เมื่อการแบ่งแยกกันมากขึ้น ย่อมเป็นธรรมดาที่มีการถกเถียงก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว 

ในที่นี้จะไม่ขอกล่าวถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นมากมายในวงกรรมฐาน สู้เรามาตามรอยกรรมฐานของพระพุทธองค์ที่นำพระองค์ไปสู่การตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐสุดในสามโลก จะได้ประโยชน์มากกว่า 

พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสสั่งสอนภิกษุทั้งหลาย โดยการแสดงให้เห็นด้วยการกำใบไม้ไว้ในกำมือ แล้วตรัสถามกับภิกษุทั้งหลายว่า ใบไม้ในกำมือเรา เมื่อเทียบกับใบไม้ในป่าแล้ว อันไหนมีมากกว่ากัน ภิกษุทั้งหลายตอบว่า ในป่าพระเจ้าข้า 

นี่เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นเท่านั้นเองว่า ธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนนั้น เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เพื่อความหน่าย คลายกำหนัด เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อความสงบ เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน มีเพียงกำมือเดียว อันมีพระสูตรชั้นต้นๆ และโพธิปักขิยธรรรม ๓๗ ส่วนความรู้อีกมากมายที่พระพุทธองค์ทรงรู้นอกเหนือจากนั้น ไม่ได้เป็นไปเพื่อความดับทุกข์เลย 

พระพุทธองค์ทรงประกาศตนว่า ทรงได้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง จนได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ด้วยข้อธรรมที่นำไปสู่การตรัสรู้ คือ อริยสัจ ๔ อันมี นี่ทุกข์ นี่เหตุให้ทุกข์เกิด นี่ความดับทุกข์ นี่ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ข้อใหญ่ใจความมาตกอยู่ที่ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ อันมีชื่อเรียกว่า อัฏฐังคิโก มัคโค อริยมรรคมีองค์ ๘ หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา 

ทรงเน้นย้ำเรื่องสมาธิอันมีอยู่ในอริยมรรค ข้อที่ ๘ คือ สัมมาสมาธิ ทำไมต้องเน้นย้ำเรื่องนี้ เพราะขณะเวลานั้น มีการปฏิบัติสมาธิกันเกิดขึ้นอยู่ก่อนที่พระองค์จะทรงตรัสรู้ และเป็นสมาธิที่นิยมกันมากในยุคสมัยนั้น แต่เป็นไปเพียงเพื่อทำให้จิตสงบตั้งมั่นได้เช่นกัน แต่ก็ยังหวั่นไหวไปกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดอันละเอียดที่เป็นเหตุให้เกิดฌานนั้นๆ มีการยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ฌานอันละเอียดนั้นอย่างเหนียวแน่น เพราะเกรงกลัวไปว่าอารมณ์ฌานเหล่านั้นจะจืดจางลงไปได้ (เสื่อม) เป็นเพียงแค่โลกียปัญญา 

ถึงแม้จะเป็นเพียงแค่โลกียปัญญา สำหรับบุคคลผู้มีสามารถเข้าถึงฌานอันละเอียดเหล่านั้นได้ ก็เกิดประโยชน์ในทางโลกได้เช่นกัน เพราะมีความสามารถในการแสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้  ทำให้ผงธุลีในตาน้อยลงได้ คือมีกิเลสเบาบางลงได้ กิเลสที่เบาบางลงนั้น เกิดจากความสามารถในการเพิกเฉยต่ออารมณ์กิเลสอย่างหยาบได้อย่างรวดเร็ว (ถิรสัญญา) แต่ก็ไปติดในอารมณ์กิเลสอันละเอียดที่เป็นสมาบัติที่ตนเองได้สร้างขึ้นอย่างเหนียวแน่น ปล่อยวางอารมณ์ออกไปจากจิตของตนไม่เป็นนั่นเอง  ซึ่งต่างไปจากสัมมาสมาธิ 

มีพระบาลีธรรมบทในสมาธิสูตร ดังนี้ “สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด ผู้ที่มีจิตตั้งมั่น(ไม่หวั่นไหว) ดีแล้ว ยอมรู้เห็นตามความเป็นจริง (วิปัสสนาหรือปัญญา) ดังนี้” 

สืบเนื่องมาจาก หมวดสมาธิ ในองค์อริยมรรค อันมี สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ จิตรวมลงเป็นสมาธิ มีจิตสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวได้โดยลำพังตนเอง เป็นการปล่อยวางอารมณ์ออกไปจากจิตของตน ตามระดับฌานแต่ละชั้นที่จิตของตนเข้าถึง จนจิตเป็น อุเปกฺขาสติปาริสุทฺธึ คือ จิตบริสุทธิ์วางเฉยอยู่ได้ในฌานที่ ๔  อารมณ์ที่ใช้ในองค์กรรมฐานภาวนา คือ อารมณ์ในสัมมาสติ 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสติเป็นไฉน? 
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ 
ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆ อยู่ 
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย 
ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาเนืองๆ อยู่ 
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย 
ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตเนืองๆ อยู่ 
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย 
ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมเนืองๆ อยู่ 
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย 
นี้เรียกว่า สัมมาสติ

ยังมีคำกล่าวของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ คือ หลวงปู่แหวน สุจิณโณ ซึ่งเราชาวพุทธเชื่อว่าท่านเข้าถึงคุณธรรมขั้นสูงสุดแล้ว ดังนี้ “สติปัฏฐาน ๔ สติมีเพียงตัวเดียว นอกนั้นท่านจัดไปตามอาการของเวทนา ของจิต ของธรรม แต่ทั้ง ๔ มารวมอยู่จุดเดียว คือ เมื่อสติกำหนดรู้กายแล้ว นอกนั้นคือ เวทนา จิต และธรรมก็รู้ไปด้วยกันเพราะมีอาการอย่างเดียวกัน” 

จากอารมณ์ในสัมมาสติจะเห็นว่ามีการพิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม การเริ่มต้นนั้นควรเริ่มต้นกันที่ฐานกายในกายก่อนเป็นลำดับแรกก่อน คือ อานาปานสติ ซึ่งก็เป็นการพิจารณากายในกายเป็นภายในของบรรพะแรกเช่นกัน 

ทำไมต้องฝึกฝนอบรมอานาปานสติก่อน มีพระพุทธพจน์ดังนี้ 

เมื่อภิกษุเจริญให้มากกระทำให้มาก ซึ่งอริยมรรคมีองค์ ๘ สติปัฏฐาน ๔ ก็เจริญบริบรูณ์ได้ สัมมัปปธาน๔ ก็เจริญบริบรูณ์ได้ อิทธิบาท ๔ ก็เจริญบริบรูณ์ได้ อินทรีย์ ๕ ก็เจริญบริบรูณ์ได้ พละ ๕ ก็เจริญบริบรูณ์ได้ โพชฌงค์ ๗ ก็เจริญบริบรูณ์ได้ เหมือนเกิดลมหลายชนิดในอากาศ 

ในองค์อริยมรรคมี สัมมาสมาธิ เป็นใหญ่เป็นประธานขององค์มรรค ในวงภาวนากรรมฐานแล้ว อริยมรรคเป็นทางที่ลัดที่สุดและตรงที่สุดอีกด้วย ยิ่งกว่ากรรมฐานองค์อื่นๆ ทุกกองที่มีอยู่ในโลก

เมื่อกล่าวถึง อริยมรรคมีองค์ ๘ ทางเดินไปสู่ความเป็นอริยะ คือ 
สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ จัดอยู่ในหมวดปัญญา 
สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ จัดอยู่ในหมวดศีล 
สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ จัดอยู่ในหมวดสมาธิ 
นี้เป็นเครื่องรองรับจิตแล้ว 

ใน ศีล สมาธิ ปัญญา มีองค์สมาธิ เป็นตัวกลาง ในการร้อยรัดเอาศีลและปัญญาเข้าไว้ด้วยกัน จนเกิดมรรคสมังคีได้ ถ้าไม่ทำความเข้าใจให้กระจ่าง มักจะถูกมองข้ามจากพวกนักตำรานิยมที่ติดหนึบอยู่กับวิปัสสนา (นึก) ของตน เพราะเป็นความรู้จากความนึกคิด ไม่ใช่ความรู้ที่รู้ขึ้นมาโดยไม่ต้องคิด (ภาวนา) มันต่างกันเป็นคนละเรื่อง ความรู้จากความนึกคิดขึ้นมาได้นั้นเกิดจากสัญญา ส่วนความรู้ที่เกิดขึ้นมาเองโดยไม่ต้องคิดนั้นมันปัญญาล้วนๆ อย่างท่านพระอาจารย์หลวงปู่ดูลย์ อตุโล กล่าวไว้ว่า คิดๆ เท่าไหร่ก็ไม่รู้ ต่อเมื่อหยุดคิดถึงจะรู้ แต่ก็ต้องอาศัยความคิด (รู้อยู่ที่รู้)

อย่างไรจึงเรียกว่ารู้อยู่ที่รู้ การปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนานั้น เราต้องมานึกถึงอารมณ์องค์ภาวนาควบคู่ไปกับลมหายใจเข้า - ออกด้วย เช่น พุทโธ สัมมาอรหัง ฯลฯ อยู่ ในขณะที่บำเพ็ญเพียรอารมณ์องค์ภาวนา (ถูกรู้) ต้องอาศัยจิตผู้รู้ (นึกคิด) ระลึกรู้อยู่ที่อารมณ์กรรมฐานภาวนาที่ถูกรู้ เมื่อรู้อยู่ที่รู้ เพียรประคองจิตของตนให้รู้อยู่ที่รู้อย่างตั้งมั่น อย่าได้เผลอไผล (ขาดสติ) ปล่อยให้จิตหลุดออกจากอารมณ์กรรมฐาน (ถูกรู้) ไปรู้อยู่ที่เรื่องราวต่างๆ หรืออารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เข้ามาปรุงแต่ง ทำให้จิตซัดส่ายวุ่นวายไปตามเรื่องราวอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้นได้ ซึ่งบางครั้งมากบ้างน้อยบ้าง ขึ้นอยู่กับบุคคลผู้ปฏิบัติธรรมกรรมฐานนั้นๆ ว่ามีความตั้งใจมั่นคงขนาดไหน ในแต่ละครั้งของการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา 

การที่จะปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาได้หรือไม่ได้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับจิตใจของผู้ปฏิบัติธรรมเองว่า มีความเพียรพยายามมากน้อยขนาดไหน ในการที่จะประคองจิตของตนให้คอยระลึกรู้ อยู่ที่อารมณ์องค์กรรมฐานได้อย่างต่อเนื่องเนืองๆ ไม่ขาดสาย จิตของตนก็จะรวมลงเป็นสมาธิ เมื่อจิตตั้งมั่นรวมลงเป็นสมาธิแล้ว ขณะนั้นอารมณ์ขององค์ภาวนาที่ใช้เป็นเครื่องล่อก็จะดับไปเช่นกัน เหลือแต่ลมหายใจเข้า - ออก ที่ละเอียดประณีตอยู่ ต้องคอยสังเกตให้ดีโดยแยบคาย ถ้าขาดความรอบคอบแล้วจะจับลมละเอียดตรงนี้ไม่ได้เลย ตรงนี้ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับผู้ที่ปฏิบัติธรรมกรรมฐานทั้งที่ยังใหม่อยู่และ หรือฝึกมาบ้างแล้ว เป็นธรรมดา

สำหรับพวกนักวิปัสสนา (นึก) ทั้งหลาย ส่วนใหญ่แล้วมักให้ความสำคัญไปที่ มหาสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม โดยเฉพาะในหมวดจิตตานุปัสสนา (ดูจิต) และหมวดธรรมเป็นพิเศษ เพราะเข้าใจไปเองว่าเหมาะสมกับพวกที่มีปัญญา แต่มีเวลาน้อย คือ พวกทิฏฐิจริต หรือพวกวิปัสสนายานิก นั่นเอง ความคิดในเรื่องเหล่านี้ที่เกิดมีขึ้นมานั้น สืบเนื่องมาจากบุคคลเหล่านั้นยังไม่สามารถเข้าถึง อขฺฌตฺตํ สมยํ จิตฺตํ (จิตตัวใน) ได้ ย่อมต้องเชื่อไปตามตำราที่มีการรจนาขึ้นมาในภายหลัง ที่ระบุชัดเจนเลยว่า หมวดกายและหมวดเวทนานั้น เหมาะสำหรับพวกตัณหาจริต ซึ่งมีปัญญาไม่มาก แต่มีเวลามาก เป็นพวกสมถะยานิก 

ส่วนบุคคลผู้ได้ลงมือปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาจนเข้าถึงจิตตัวในได้แล้ว ย่อมรู้ดีว่า ปุถุชนคนหนาด้วยกิเลสทุกผู้ทุกคน ล้วนมีตัณหาและทิฏฐิทั้งนั้น เพราะทั้งสองสิ่งเป็นของคู่กัน เมื่อมีความทะยานอยาก (ตัณหา) ย่อมทำให้เกิดความเห็น (ทิฏฐิ) ผิดไปจากความเป็นจริงได้ หรือคนมีทิฏฐิ (ความเห็น) ผิดไปจากความเป็นจริง ย่อมต้องมีตัณหา (ความทะยานอยาก) ขึ้น เช่นกัน

ในมหาสติปัฏฐานสูตร พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทรงหมายเอาภิกษุทั้งหมดที่ฟังพระพุทธองค์ทรงเทศน์สั่งสอนในเรื่องสติปัฏฐาน ๔ อยู่ในขณะนั้น ไม่ได้ทรงแยกว่าพวกวิปัสสนายานิกหรือพวกสมถะยานิกเลย มีพระบาลีดังนี้ 

เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค สตฺตานํ วิสุทฺธิยา โสกปริเทวานํ สมติกฺกมาย ทุกฺขโทมนสฺสานํ  อตฺถงฺคมาย ญายสฺส อธิคมาย นิพฺพานสฺส สจฺฉิกิริยาย ยทิทํ จตฺตาโร สติปฏฺฐานา แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางอันเอก เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หมดจดของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อความก้าวล่วง ซึ่งความโศก และความร่ำไรรำพัน เพื่อความดับไปแห่งทุกข์และโทมนัส (ความเสียใจ ทุกข์ใจ) เพื่อบรรลุธรรมที่ควรรู้ (ธรรมที่ถูก คือ อริยมรรค) เพื่อกระทำพระนิพพานให้แจ้ง ทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ (ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสติ มี ๔ อย่าง) 

จากพระบาลีนั้น สติปัฏฐาน ๔ ก็คือ ฐานที่ตั้งของสติอย่างต่อเนื่องมี ๔ ฐาน เป็นทางไปอันเอก ภาษาชาวบ้านว่า ทางนี้ทางเดียวเท่านั้น ดังที่ได้กล่าวข้างต้นว่า ต้องเริ่มต้นที่ฐานกาย ก็จะกระเทือนไปถึงฐานเวทนา ฐานจิต และฐานธรรมเช่นกัน

มีพระพุทธพจน์ในสติปัฏฐาน ๔ เกี่ยวกับอานาปานสติ ดังนี้ 

ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกนี้ เป็นกายชนิดหนึ่งในจำพวกกายทั้งหลาย ฉะนั้น ในเวลานั้นภิกษุจึงชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกาย 

ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า การใส่ใจ (มนสิการ) ในลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เป็นอย่างดีเช่นนี้ เป็นเวทนาชนิดหนึ่ง ในจำพวกเวทนาทั้งหลาย 

ภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวว่า มีอานาปานสติสำหรับคนที่มีสติเลอะเลือน ไม่มีสัมปชัญญะ ฉะนั้น ในเวลานั้น ภิกษุจึงชื่อว่า เพ่งพิจารณาจิตในจิต 

ภิกษุทั้งหลาย เราจักกำหนดเพ่งพิจารณาความไม่เที่ยง ในลมหายใจเข้า ในลมหายใจออก ก็รู้ชัดถึงความไม่เที่ยง เราจักกำหนดเพ่งพิจารณาคลายความกำหนัดในลมหายใจเข้า ในลมหายใจออก ก็รู้ชัดว่าถึงคลายความกำหนัด เราจักกำหนดเพ่งพิจารณาความสละคืนกิเลส ในลมหายใจเข้า ในลมหายใจออก ก็รู้ชัดว่าถึงความสละคืนกิเลส เมื่อนั้นภิกษุชื่อว่าพิจารณาธรรมในธรรม 

เพราะอานาปานสตินั้น เมื่อเจริญให้มาก กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังให้สติปัฏฐาน ๔ นี้บริบูรณ์ โดยมีพระพุทธพจน์รับรองไว้อย่างชัดเจนว่า การจะทำให้มหาสติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์ขึ้นมาได้นั้น จะต้องเจริญให้มากและประกอบอยู่เนืองๆ ในอานาปานสติบรรพะให้ยิ่งๆ ขึ้น จนชำนิชำนาญอย่างคล่องแคล่ว มีพระบาลีธรรมบท ดังนี้

อานาปานสติ ภิกฺขเว ภาวิตา พหุลีกตา,  มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา 
อานาปานสติ ภิกฺขเว ภาวิตา พหุลีกตา, จตฺตาโร สติปฏฺฐาเน ปริปุเรนฺติ
จตฺตาโร สติปฏฺฐานา ภาวิตา พหุลีกตา, สตฺต โพชฺฌงฺเค ปริปุเรนฺติ
สตฺต โพชฺฌงคา ภาวิตา พหุลีกตา, วิชฺชา วิมุตฺตึ ปริปุเรนฺติ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติอันบุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว  
ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ 
อานาปานสตินี้ ถ้าทำให้เกิดขึ้น ทำให้บ่อยๆ แล้ว 
ย่อมได้ชื่อว่า ทำสติปัฏฐานสี่ให้บริบูรณ์
สติปัฏฐานสี่นี้ ถ้าทำให้เกิดขึ้น ทำให้บ่อยๆ แล้ว 
ย่อมได้ชื่อว่า ทำโพชฌงค์เจ็ดให้บริบูรณ์
โพชฌงค์เจ็ดนี้ ถ้าทำให้เกิดขึ้น ทำให้บ่อยๆ แล้ว 
ย่อมได้ชื่อว่า ทำวิชชา จิตหลุดพ้นทุกข์ให้บริบูรณ์ ดังนี้

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราก็ต้องสืบสวนทวนความลงไปว่า เรื่องอานาปานสตินั้น พระพุทธองค์ได้ทรงมีพระพุทธพจน์กล่าวไว้ที่ไหนบ้าง 

เมื่อก่อนตรัสรู้ ทรงเจริญอานาปานสติโดยมาก 
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ตัวเราในสมัยก่อนจะตรัสรู้ยังเป็นโพธิสัตว์ ผู้ยังไม่ได้ตรัสรู้ ก็อยู่ด้วยวิหารธรรม (ธรรมเป็นเครื่องอยู่) นี้โดยมาก เมื่อเราอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้โดยมาก กายของเราก็ไม่ลำบาก ตาของเราก็ไม่ลำบาก และจิตของเราก็พ้นจากอาสวะ (กิเลสที่ดองสันดาน) ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุพึงหวังว่า กายของเราไม่พึงลำบาก ตาของเราไม่พึงลำบาก จิตของเราพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน เธอก็พึงทำไว้ในใจซึ่งสมาธิ อันมีสติกำหนดรู้ลมหายใจเข้า กำหนดรู้ลมหายใจออก เป็นอารมณ์นี้ให้ดี 

เมื่อตรัสรู้แล้ว  ก็ทรงอยู่ด้วยอานาปานสติโดยมาก 
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้านักบวชเจ้าลัทธิอื่น พึงถามอย่างนี้ว่า พระสมณะโคดมอยู่จำพรรษาด้วยวิหารธรรมอะไรโดยมาก ท่านทั้งหลายพึงตอบว่า พระผู้มีพระภาคอยู่จำพรรษาด้วยสมาธิ มีสติกำหนดรู้ลมหายใจเข้า กำหนดรู้ลมหายใจออกเป็นอารมณ์ (อานาปานสติ) โดยมาก 

พระพุทธองค์ตรัสว่า ถ้าจะกล่าวให้ถูกต้องถึงอานาปานสติสมาธิโดยชอบ ก็กล่าวว่า อริยวิหารบ้าง พรหมวิหารบ้าง ตถาคตวิหารบ้าง 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่าใด ยังเป็นเสขะ (ผู้ยังต้องศึกษา) ยังมิได้บรรลุอรหัตผล เมื่อปรารถนาธรรมอันยอดเยี่ยม อันปลอดโปรง จากโยคะ (เครื่องผูกมัด) อยู่ สมาธิที่มีสติกำหนดรู้ลมหายใจเข้า กำหนดรู้ลมหายใจออกเป็นอารมณ์ อันภิกษุเหล่านั้นเจริญให้มากกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะ (กิเลสดองในสันดาน) 

พระอรหันต์เจริญอานาปานสติทำไม 
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่าใดที่เป็นพระอรหันต์ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีสิ่งควรทำอันใดทำเสร็จแล้ว มีภาระอันวางแล้ว มีประโยชน์ส่วนตนอันได้บรรลุแล้ว สิ้นกิเลสเป็นเหตุมัดไว้ในภพแล้ว พ้นเพราะรู้โดยชอบ อานาปานสติ อันภิกษุเหล่านั้น เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และเพื่อสติสัมปชัญญะ 

เจริญธรรมอย่างเดียว ชื่อว่าเจริญธรรมอย่างอื่นอีกมาก 
ดูก่อนอานนท์ ธรรมอย่างหนึ่ง คือ อานาปานสติ (สมาธิ ซึ่งมีสติกำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์) อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมทำสติปัฏฐาน (การตั้งสติที่ฐาน) ๔ อย่างให้บริบูรณ์ สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมทำโพชฌงค์ (องค์ประกอบแห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้) ๗ อย่างให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมทำวิชชา (ความรู้) วิมุติ (ความหลุดพ้น) ให้บริบูรณ์ ย่อมเป็นไปเพื่อละสังโยชน์ เพื่อถอนอนุสัย เพื่อกำหนดรู้สังสารวัฏ เพื่อสิ้นอาสวะ 

พระพุทธองค์ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย สาระสำคัญ คือ กุศลธรรมทุกอย่าง ไม่มีอะไรเกินความไม่ประมาท ภิกษุผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมหวังได้ว่าจักเจริญอริยมรรค ๘ 

ความเป็นเลิศของความไม่ประมาทนั้น ทรงเปรียบกับความเป็นเลิศของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นเลิศกว่าสัตว์ทั้งปวง 

พระพุทธองค์ทรงอุปมาว่า ผู้เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ มีแต่บ่ายหน้าสู่นิพพาน เหมือนแม่น้ำใหญ่ ๕ สาย คือ คงคา ยมนา อจิรวดี สรภู มหินที ที่ไหลไปทางทิศปราจีน และไหลสู่มหาสมุทร 

พระพุทธองค์กล่าวถึงผู้เจริญอริมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งลงสู่อมตะ บ่ายหน้าสู่อมตะ มีอมตะเป็นปลายทาง ผู้ไม่ประมาทย่อมเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งมุ่งกำจัดราคะ โทสะ โมหะ เป็นเป้าหมาย 

ในอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นทั้งสมถะและวิปัสสนา เมื่อบุคคลรู้เห็นตามความเป็นจริงในอายตนะภายใน อายตนะภายนอก อาศัยวิญญาณ อาศัยผัสสะ และเวทนา อุปาทานขันธ์ ๕ ก็ไม่เจริญพอกพูน ความกระวนกระวายร้อนรุ่มทางกายทางใจก็ไม่มี เขายอมเสวยแต่สุขทางกายและทางใจ

ปฐมบทพื้นฐาน (สติปัฏฐาน ๔) ในบรรพะแรกที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในมหาสติปัฏฐาน ๔ นั้น คือ เริ่มต้นที่อานาปานสติบรรพะ หรือพิจารณากายในกายกายอยู่อย่างไรเล่า

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่ที่ว่างจากเรือนก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า 

เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวงหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวงหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารหายใจเข้า

จากที่ยกมานี้ พอสรุปได้ว่า การปฏิบัติอานาปานสตินั้น เป็นพื้นฐานสำคัญของสัมมาสมาธิ ที่มีอยู่ในอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเทียบเคียงได้กับพระพุทธพจน์ที่มีมาในมหาจัตตารีสักกสูตร ความว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีธรรมรองรับ (สอุปนิสัง) มีองค์ประกอบ (สัปปริขารัง) ธรรมรองรับและองค์ประกอบของสัมมาสมาธิ ๗ อย่าง คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ เป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ประกอบแล้วด้วยองค์ ๗ เหล่านี้แล เรียกว่า สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุบ้าง มีองค์ประกอบบ้าง ฯ

สรุป เมื่อกล่าวถึงอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็เป็นการกล่าวถึงสติปัฏฐาน ๔ และอริยสัจ ๔ ไปในตัวด้วยเช่นกัน เพราะเป็นเรื่องเดียวกัน เชื่อมโยงถึงกัน คือ เป็นการฝึกฝนอบรมจิตของตน เพื่อให้หลุดพ้นจากอุปธิทั้งหลาย

ขณะที่กำลังเพียรปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาอานาปานสติ (สัมมาสมาธิ) อยู่นั้น องค์ธรรมสำคัญที่มาประกอบด้วย คือ สัมมาวายามะ สัมมาสติ จิตจึงรวมลงเป็นสมาธิ สงบตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว จิตย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริงว่า เมื่อ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณปรวนแปรไป จิตของเราหาปรวนแปรกระสับกระส่ายตามไปด้วยไม่ เอวัง.

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรม วันพระ ๑ เมษายน ๒๕๖๕




Create Date : 02 เมษายน 2565
Last Update : 2 เมษายน 2565 14:55:41 น.
Counter : 665 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์