ปรับพฤติกรรมเด็กยากจริงหรือ!


ปรับพฤติกรรมเด็กยากจริงหรือ!
อ.พญ.จริยา ทะรักษา

กุมารแพทย์และจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
เด็กวัย 2 - 5 ขวบ เป็นวัยเตาะแตะที่จอมป่วนไม่มากก็น้อย ผู้เป็นพ่อแม่หรือผู้ปกครองจะมีวิธีรับมือกับเจ้าตัวน้อยอย่างไร ติดตามอ่านเลยค่ะ
โดยทั่วไปธรรมชาติของเด็กวัยนี้ยังพูดสื่อสารได้ไม่ดีนัก เด็กจะชอบสำรวจสิ่งแวดล้อม ชอบทำตามหรือเลียนแบบผู้ใหญ่ แม้จะห้ามอย่างไรก็ไม่ฟัง จนดูเหมือนดื้อต่อต้าน นอกจากนี้ยังคิดว่าของทุกอย่างเป็นของตัวเอง หวงของเล่น ไม่รู้จักแบ่งปันสิ่งของ และอารมณ์ก็แปรปรวนง่าย ถ้าไม่ได้อะไรดั่งใจก็อาจจะร้องอาละวาดได้ ผู้เลี้ยงดูเด็กจึงควรมีความเข้าใจพัฒนาการและปัจจัยต่างๆ ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมเด็ก ซึ่งจะช่วยให้การปรับพฤติกรรมเด็กประสบผลสำเร็จด้วยดี
1. พัฒนาการตามวัย เมื่อเด็กเติบโตเข้าสู่ขวบปีที่สอง เด็กจะเริ่มพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง ต้องการความเป็นอิสระมากขึ้น ไม่ชอบให้ใครมาบังคับ และอาจมีลักษณะดื้อ ต่อต้านมากขึ้น สังเกตจากพฤติกรรมบางอย่าง เช่น การกิน การนอน การร้องอาละวาด เอาแต่ใจตนเอง เป็นต้น ผู้เลี้ยงดูจึงต้องเข้าใจพัฒนาการของเด็กวัยนี้และไม่ควรคาดหวังกับเด็กมากเกินไป ควรมีความยืดหยุ่น เลือกใช้วิธีการปรับพฤติกรรมที่เหมาะสม เพื่อให้เด็กสามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างสมบูรณ์
2. พื้นฐานอารมณ์ เด็กแต่ละคนจะมีนิสัยหรือพื้นฐานอารมณ์ที่แตกต่างกันไป บางคนเรียบร้อยแต่บางคนกลับค่อนข้างซุกซน เป็นต้น หากพ่อแม่คาดหวังว่าลูกควรจะเรียบร้อย แต่ลูกไม่ได้มีพื้นฐานอารมณ์เป็นดั่งที่คาดหวัง พ่อแม่อาจจะมองว่าลูกซนมากผิดปกติและเกิดความหงุดหงิดกับพฤติกรรมของลูก ทำให้เกิดปัญหาการเลี้ยงดูตามมาได้ ซึ่งพื้นฐานทางอารมณ์นี้เป็นสิ่งที่ติดตัวเด็กมาตั้งแต่เกิด จึงจำเป็นที่ผู้เลี้ยงดูต้องเข้าใจและปรับทัศนคติต่อเด็กและการเลี้ยงดูให้เหมาะสมด้วย
3. สิ่งแวดล้อม ผู้เลี้ยงดูเด็กจำเป็นต้องสำรวจสิ่งแวดล้อมด้วยว่ามีอะไรที่เป็นตัวกระตุ้นหรือส่งผลต่อพฤติกรรมเด็กหรือไม่ เช่น ในสถานที่เลี้ยงเด็กซึ่งแออัด มีเด็กมากเกินไป หรือมีของเล่นน้อยไม่เพียงพอสำหรับเด็กทุกคน ทำให้เด็กมีโอกาสทะเลาะแย่งของเล่นกันได้บ่อยๆ และเด็กอาจถูกมองว่าเป็นเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าวไป
4. ความสามารถในการเรียนรู้ เด็กทุกคนมีศักยภาพในการเรียนรู้ แม้ว่าในขณะนี้เด็กอาจจะยังไม่เข้าใจหรือไม่สามารถปฏิบัติตามที่ผู้ใหญ่สอนได้ทุกอย่างก็ตาม หากเราหมั่นสอนเด็กอย่างสม่ำเสมอ เด็กก็จะค่อยๆ เรียนรู้และสามารถปฏิบัติตามได้ในที่สุด ดังนั้น ผู้ใหญ่จึงไม่ควรบังคับ ต่อว่า หรือเร่งรัดเด็กมากเกินไป
5. ปัญหาทางอารมณ์จิตใจ เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างไม่เหมาะสม ปล่อยปละละเลย ขาดความรัก ความอบอุ่น อาจแยกตัวไม่สนใจใคร หรือก้าวร้าว แย่งของเล่น ทำร้ายผู้อื่นเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ ในเด็กกลุ่มนี้นอกจากจะปรับพฤติกรรมแล้ว จำเป็นที่จะต้องแก้ไขสาเหตุคือ การให้ความรักและปรับวิธีการเลี้ยงดูเด็กให้เหมาะสมด้วย ในเด็กบางรายอาจมีปัญหาซน สมาธิสั้น ซึ่งอาจเกิดจากโรคสมาธิสั้นและส่งผลให้เด็กมีปัญหาการเรียนหรือพฤติกรรมตามมา ดังนั้นพ่อแม่จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้การรักษาและช่วยเหลือเด็กอย่างเหมาะสมต่อไป นอกจากนี้ความเจ็บป่วยหรือไม่สบายของเด็กต่างๆ ก็สามารถส่งผลต่อปัญหาพฤติกรรมได้เช่นกัน
วิธีการปรับพฤติกรรมเด็ก
1. ปรับสิ่งแวดล้อม ผู้เลี้ยงดูควรปรับสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยสำหรับเด็ก เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น และจะได้ไม่ต้องเหนื่อยในการห้ามปรามหรือพูดสั่งเด็กบ่อยๆ ว่า “ไม่” “ทำไม่ได้” “อย่านะ” และยังป้องกันการเกิดอารมณ์เสียต่อกัน เช่น การเก็บยา สารเคมี เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องแก้ว ของมีคมต่าง ๆ ให้พ้นมือเด็ก เนื่องจากเด็กวัยนี้ชอบปีนป่ายสำรวจสิ่งของอยู่แล้ว หรือจัดสถานที่เล่นให้ปลอดภัยสำหรับเด็ก เอาของเล่น หรือสิ่งของที่อาจก่อให้เกิดอันตรายออกไป เป็นต้น
2. จัดกิจวัตรประจำวันให้สม่ำเสมอ เช่น จัดตารางการกิน การนอนให้เป็นเวลา เพื่อช่วยให้เด็กปรับตัวได้ง่ายขึ้น ร่วมมือมากขึ้นในการทำกิจวัตรต่างๆ
3. เบี่ยงเบนความสนใจ เป็นวิธีที่ได้ผลดีในเด็กเล็ก เพราะเด็กยังมีความสนใจ หรือสมาธิค่อนข้างสั้น จึงสามารถใช้วิธีเบี่ยงเบนให้เด็กหันไปสนใจอย่างอื่นแทน เพื่อหยุดพฤติกรรมที่ไม่ต้องการได้ เช่น หากเด็กกำลังเล่นของที่แตกหัก ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้ อาจชวนให้เด็กเล่นอย่างอื่นแทน หรือหากเด็กกำลังจะเข้าไปกวนพี่ซึ่งกำลังทำการบ้านอยู่ อาจชวนให้เด็กมาอ่านหนังสือกับแม่แทน เป็นต้น
4. ชี้แนะ โดยการบอกหรือสอนให้เด็กรู้ว่าอะไรทำได้หรือทำไม่ได้ และหาทางออกให้เด็กรู้ด้วยว่าควรทำอย่างไรแทน เช่น หากเด็กกำลังขีดเขียนเล่นบนหนังสือ ผู้ใหญ่ควรรีบเอาหนังสือออก และบอกเด็กว่า “เขียนบนหนังสือไม่ได้” แล้วหากระดาษหรือสมุดวาดเขียนให้เด็กเขียนหรือวาดรูปแทน เป็นต้น
5. ไม่สนใจหรือเพิกเฉย ใช้เพื่อหยุดพฤติกรรมที่ไม่ต้องการ โดยที่พฤติกรรมนั้นต้องไม่เป็นอันตรายต่อตัวเด็กเอง ต่อผู้อื่นหรือสิ่งของ เช่น เมื่อเด็กร้องไห้อาละวาดอยู่ที่พื้นเพราะไม่ได้ดั่งใจ ไม่ควรตามใจเด็ก ควร ปล่อยให้เด็กร้องไปเรื่อยๆ และทำเป็นไม่สนใจ แต่อยู่ในสายตาว่าเด็กปลอดภัยดี สักพักเด็กจะหยุดร้องไปเอง เมื่อเด็กหยุดร้องแล้วถึงจะเข้าไปหาเด็ก พูดคุยถึงวิธีแก้ปัญหาหรือชวนทำกิจกรรมอื่นต่อไป แต่ไม่ใช่เข้าไปโอ๋หรือต่อรองกับเด็ก
6. การให้ได้รับผลตามธรรมชาติและการให้รับผิดชอบผลของการกระทำ จะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองต่อไป เช่น หากเด็กไม่ยอมกินข้าว ก็ต้องปล่อยให้เด็กรู้จักความรู้สึกหิว เด็กจะได้ยอมกินอาหารมื้อต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม หากพฤติกรรมใดที่ก่อให้เกิดผลตามธรรมชาติที่รุนแรง ก็ไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้น ต้องหยุดพฤติกรรมนั้นทันที เช่น หากเด็กจะปีนป่ายที่สูงแล้วอาจตกลงมาศีรษะแตกหรือขาหัก เป็นต้น
7. การเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับเด็ก อย่างที่กล่าวแล้วข้างต้น เด็กวัยนี้ชอบเลียนแบบพฤติกรรมผู้ใหญ่อยู่แล้ว การที่ผู้ใหญ่หรือคนในบ้านแสดงพฤติกรรมที่ดีอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าเด็กอาจจะยังไม่เข้าใจเหตุผลของการกระทำทั้งหมดก็ตาม แต่เด็กจะค่อยๆ เรียนรู้และซึมซับว่าการที่ผู้ใหญ่ทำพฤติกรรมดังกล่าวนั้น เป็นสิ่งที่สมควรทำตามและเป็นที่ยอมรับ เช่น การที่ผู้ใหญ่เล่นกับสัตว์เลี้ยงที่บ้านอย่างนุ่มนวล การพูดคุยในบ้านด้วยถ้อยคำที่สุภาพ การเข้านอนหรือทานอาหารเป็นเวลา เป็นต้น
8. การแยกให้อยู่ตามลำพังชั่วคราว (Time out) ใช้ได้ผลดีในเด็กอายุประมาณ 2-10 ปี เมื่อเด็กทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม ให้เด็กแยกออกมาอยู่ตามลำพังชั่วคราวเพื่อสงบอารมณ์ โดยมีวิธีการดังนี้
- เตือนบอกล่วงหน้าว่าจะให้เด็กทำอะไร เช่น “ลูกต้องหยุดขว้างของเล่นเดี๋ยวนี้ แล้วไปนั่งที่เก้าอี้นั่น”
- หากเด็กไม่ยอมไปนั่งเอง ให้จูงมือหรืออุ้มเด็กไปนั่งที่เก้าอี้หรือจุดสงบที่เตรียมไว้ ในเด็กเล็กๆ อาจจะให้เด็กนั่งที่จุดเดิมก็ได้ แต่ควรเอาสิ่งของอื่นๆ หรือของเล่นออกไปจากบริเวณนั้นด้วย
- กำหนดเวลาให้เด็กรู้ว่าต้องนั่งสงบนานเท่าไร โดยทั่วไปจะให้นั่งเป็นเวลานานเท่ากับอายุของเด็กเป็นปี แต่ไม่ควรเกิน 10 นาที เช่น เด็กอายุ 3 ปี ให้นั่งนาน 3 นาที เป็นต้น เนื่องจากในเด็กเล็กอาจยังไม่เข้าใจเรื่องเวลา ควรหานาฬิกาใหญ่ๆ มาตั้งใกล้ๆ และชี้ให้เด็กดูเข็มนาฬิกาแทนว่าต้องนั่งนานเท่าใด
- ระหว่างให้เด็กนั่งสงบ ไม่ควรให้ความสนใจหรือพูดโต้ตอบกับเด็ก ไม่ควรให้เด็กนั่งอยู่ในบริเวณที่มีของเล่น โทรทัศน์ หรือสิ่งเพลิดเพลินอื่นๆ และไม่ควรขังเด็กในห้องน้ำหรือห้องมืดต่างๆ ด้วย
- เมื่อหมดเวลาแล้ว ควรให้ความสนใจกับเด็กทันที พูดคุยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น สอนให้เด็กรู้ว่าคราวหน้าควรปฏิบัติอย่างไรแทน ไม่ควรใส่อารมณ์หรือพูดยั่วยุให้เด็กโมโหต่อ
9. การให้แรงเสริมทางบวก คือการให้คำชมเชยผ่านทางคำพูดหรือการแสดงออกทางสีหน้า ท่าทาง เช่น การโอบกอด ลูบศีรษะ การชมเด็กควรทำด้วยความจริงใจและเจาะจงกับพฤติกรรมที่เด็กทำด้วย เด็กจะได้รู้ว่าผู้ใหญ่ให้ความสนใจกับเรื่องอะไร เด็กจะเรียนรู้และพยายามทำพฤติกรรมนั้นต่อ ระมัดระวังการพูดเสียดสีหรือเปรียบเทียบเด็กกับผู้อื่นในขณะที่ชมเด็กด้วย
• ตัวอย่างคำชมที่ถูกต้อง เช่น
“ลูกโอ๋เก่งมากเลยที่เล่นเสร็จแล้วเก็บของเข้ากล่องได้เรียบร้อย แม่ภูมิใจในตัวหนูมาก”
“บอยยอดเยี่ยมมาก วันนี้กินข้าวเองหมดจานเลย”
• ตัวอย่างคำชมที่ไม่เหมาะสม เช่น
“ลูกเก่งมากที่กินข้าวหมดจาน แต่วันหลังกินอย่าให้หกเลอะเทอะอย่างนี้นะ”
“บีเขียนหนังสือสวยขึ้นเยอะเลย หัดเขียนให้สวยๆ นะจะได้เก่งเหมือนพี่เอ”
10. การลงโทษ (Punishment) โดยทั่วไปไม่ควรใช้การลงโทษเป็นวิธีแรกหรือบ่อยๆ เพราะจะทำให้เด็กไม่เข้าใจ เสียความสัมพันธ์ต่อกันได้ ควรเลือกใช้วิธีลงโทษเมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่รุนแรง ซึ่งจำเป็นต้องหยุดพฤติกรรมนั้นทันที หรืออาจเคยใช้วิธีอื่นๆ แล้วไม่ได้ผล การลงโทษอย่างรุนแรงบ่อยๆ โดยไม่มีเหตุผล นอกจากจะไม่ช่วยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อพัฒนาการทางบุคลิกภาพและจิตใจของเด็กด้วย การลงโทษไม่จำเป็นต้องเป็นการดุว่า ตำหนิ หรือ การตีเสมอไป อาจใช้วิธีอื่นๆ แทนได้ เช่น การตัดสิทธิหรือรางวัล การจำกัดหรือกักบริเวณ การให้ออกกำลังกายเพิ่ม เป็นต้น
โดยสรุปการปรับพฤติกรรมเด็กให้ได้ผลนั้น นอกจากจะต้องเข้าใจพัฒนาการตามวัยของเด็กแล้ว ผู้เลี้ยงดูจะต้องให้ความรัก ความเมตตาต่อเด็ก ปฏิบัติต่อเด็กอย่างสม่ำเสมอด้วยท่าทีที่หนักแน่นจริงจัง รู้วิธีการสื่อสารกับเด็กอย่างถูกต้อง และที่สำคัญ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคนในบ้านแก้ปัญหาพฤติกรรมเด็กให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ถึงตรงนี้ อย่าเพิ่งถอนใจ ยากหรือไม่อยู่ที่ก้าวแรกของการเริ่ม ลองดูนะคะ หมอเอาใจช่วยค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก
//www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=705





 

Create Date : 20 มกราคม 2552    
Last Update : 21 กุมภาพันธ์ 2552 21:10:53 น.
Counter : 1049 Pageviews.  

เมื่อลูกไปโรงเรียน

เมื่อลูกไปโรงเรียน
ศ.พญ.วันเพ็ญ บุญประกอบ

ถาม : เด็กควรจะไป ร.ร. ครั้งแรกเมื่ออายุเท่าไร
ตอบ : โดยปกติเด็กจะพร้อมที่จะจากบ้านไปเป็นตัวของตัวเองคืออายุประมาณ 3 - 3 ขวบครึ่ง ซึ่งเด็กจะพูดรู้เรื่องช่วยตัวเองได้ และอยู่ตามลำพังได้ โดยที่เด็กเกิดความรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ได้หายไปไหน เดี๋ยวก็ได้พบกัน ความสามารถของเด็กก็จะอยู่ในช่วงนี้

ถาม : เด็กผู้หญิง และเด็กผู้ช่วยเมื่อวัย 3 ขวบ จะมีอะไรแตกต่างกันหรือไม่
ตอบ : มีข้อแตกต่างกันมาก ในลักษณะของเด็กแต่ละคน โดยส่วนมากเด็กจะไม่เหมือนกัน เช่น เด็กผู้หญิง จะพร้อมที่จะไปโรงเรียนในวัย 2-3 ขวบ เป็นต้น บางคน 3 ขวบครึ่งก็ยังงอแงอยู่ โดยเฉลี่ย 3 - 3 ขวบ ครึ่ง

ถาม : ผู้ปกครองควรจะร่วมมือกับทางโรงเรียนอย่างไรเพื่อให้เด็กอยากไปโรงเรียน
ตอบ :ในกรณีอย่างนี้ควรตระเตรียมเด็ก ในช่วงแรกควรให้มีการเตรียมตัวก่อน ควรจะให้เด็กรู้หรือห่างเรา บ้างไม่ใช่ทำให้เด็กทุกอย่าง ฝึกให้เด็กช่วยเหลืองตนเอง ฝึกให้เด็กหัดทานข้าวเอง อาบน้ำเอง ทำความสะอาดตนเอง หรือเล่นอยู่ตามลำพัง ปล่อยให้เขามีเวลาอยู่ด้วยตนเองตามลำพัง และฝึกการ นอนเป็นหลักโดยเฉพาะที่โรงเรียนเด็กต้องนอนให้เป็นเวลา ผู้ปกครองควรศึกษาระบบในโรงเรียนเสียหน่อย เพื่อมาจัดระบบที่บ้านและให้เด็กรู้จักปฏิบัติตนเอง และถ้าจะให้เด็กไปโรงเรียนควรให้เด็กไปรู้จักหรือคุ้นเคยสถานที่ที่จะไป ให้เด็กรู้จักคุณครู และให้เด็กรู้สึกเคยชิน ทำให้เด็กไม่รู้สึกแปลกกับสถานที่ และพูดถึงโรงเรียนในลักษณะที่ดีอยู่เสมอ

ถาม : ควรปฏิบัติอย่างไรเมื่อลูกไม่ยอมไปโรงเรียนเมื่อเด็กเกิดพฤติกรรมต่อต้าน
ตอบ : พฤติกรรมนี้เกิดขึ้นได้ ซึ่งเด็กบางคนเกิดความกระตือรือร้นในตอนแรกไม่กี่วันก็ไม่อยากไปเสียแล้ว ปฏิกิริยาทั้งหลายที่ผู้ปกครองควรเข้าใจ ผู้ปกครองต้องคำนึงว่าเด็กต้องไปเผชิญกับสิ่งแปลกไม่คุ้นเคย ไม่ว่าสถานที่ เพื่อน คุณครู ควรให้เวลาในการปรับตัวของเด็ก และบรรยากาศไม่เหมือนที่บ้าน ต้องปฏิบัติตัวเป็นระเบียบ ต้องรู้จักแบ่งปันกับเพื่อน ๆ ซึ่งทำให้เกิดอารมณ์อ่อนไหว กลัว กว่าเด็กจะปรับตัวได้อาจใช้เวลา 2 - 3 อาทิตย์ ถ้าเด็กร้องไม่ยอมไปโรงเรียนคุณพ่อ, คุณแม่ไม่ควรใจอ่อนให้นึกเสียว่าการไปโรงเรียนเป็นเรื่องดี ไม่ควรดุดันกับเด็กหรือข่มขู่ลูก ทำให้เด็กเกิดอาการกลัว ผู้ปกครองต้องใจเย็น

ถาม : ถ้าเราไปสัญญากับลูกเอาไว้ คุณพ่อคุณแม่ควรรักษาสัญญาหรือไม่
ตอบ : เวลาให้สัญญาควรรักษาสัญญาอย่างแม่นยำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้เด็กเกิดความเชื่อถือ เกิดความมั่นใจเวลาที่ลูกไปโรงเรียน ควรไปรับลูกโดยเร็ว อย่าทิ้งไว้เย็นเป็นอันขาด ตอนเช้าควรจะไปรับ-ส่งเอง

ขอบคุณข้อมูลจาก
//www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=62




 

Create Date : 20 มกราคม 2552    
Last Update : 20 มกราคม 2552 12:49:13 น.
Counter : 491 Pageviews.  

เลี้ยงลูกอย่างไรให้มี EQ ดี

เลี้ยงลูกอย่างไรให้มี EQ ดี


ผศ.นพ.ชาตรี วิฑูรชาติ
กุมารแพทย์และจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น




มีการศึกษามานานเกี่ยวกับ EQ ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี คศ.1920 เมื่อ Edward L.Thorndike ตั้งศัพท์ว่า “ Social intelligence” หมายถึง ความสามารถเข้าใจผู้อื่น และสามารถเกี่ยวข้องสัมพันธ์ด้วยได้อย่างเหมาะสม แต่ยังไม่ได้รับความสนใจนักจนเมื่อปี คศ.1973 Daniel Goleman จากภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด เขียนบทความชี้ว่า ระดับคะแนนจากการสอบระดับเชาว์ปัญญาของนักเรียน ไม่ได้ประกันถึงความสำเร็จในอาชีพในอนาคต ซึ่งนับจากปี คศ. 1980 เป็นต้นมา จึงมีผู้สนใจและศึกษาเกี่ยวกับบทบาทของอารมณ์ที่มีต่อสติปัญญา ความสร้างสรรค์ และพัฒนาการของบุคลิกภาพอย่างแพร่หลาย



เรื่องของเชาว์อารมณ์นี้ มีผู้ให้คำนิยามไว้หลายความหมาย อาทิ
Peter Salovey และ John D.Mayer (คศ.1990) เชาว์อารมณ์ คือ ความสามารถของบุคคลในการที่จะไหวเท่าทันในความคิด ความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น สามารถกำกับควบคุม และจำแนกแยกแยะข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการชี้นำความคิด และการกระทำของตนเอง


Goleman (คศ.1998) เชาว์อารมณ์ คือ ความสามารถในการตระหนักรู้ถึงความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น เพื่อสร้างแรงจูงใจในตัวเอง บริหารจัดการอารมณ์ต่าง ๆ ของตนเองและอารมณ์ที่เกิดจากความสัมพันธ์ต่าง ๆ ได้


ทำไม EQ จึงมีความสำคัญ และประโยชน์ต่อบุคคลในหลายแง่มุม ทั้งในชีวิตการงาน ครอบครัว และส่วนตัว มีหลายเรื่องครับ


1.บุคลิกภาพ EQ ช่วยส่งเสริมให้มีบุคลิกภาพที่ดี เป็นที่รักของบุคคลรอบข้าง และเป็นที่ยอมรับของสังคม เนื่องจากสามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้อย่างเหมาะสม มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ดี เข้าใจความรู้สึก ความต้องการของผู้อื่น


2. การสื่อสารกับผู้อื่น สามารถแสดงความรู้สึก อารมณ์ของตนได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมตามกาละเทศะ


3. การทำงาน ช่วยในการทำงานมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีความคิดสร้างสรรค์ มีแรงจูงใจ มีความพยายาม และได้รับความร่วมมือจากผู้ร่วมงานที่เกี่ยวข้อง


4. การให้บริการ ด้วยการรับฟังและเข้าใจความต้องการของลูกค้า จึงตอบสนองได้อย่างถูกต้องเหมาะสม


5. การบริหารจัดการ ช่วยเสริมความเป็นผู้นำ รู้จักใช้คน และครองใจคนได้


6. เข้าใจชีวิตของตนเองและผู้อื่น ผู้ที่เข้าใจตนเอง มีความอดทน ควบคุมตนเองได้ และเข้าใจ เห็นอกเห็นใจผู้อื่นเป็น ย่อมจะเป็นที่รักของบุคคลทั้งหลาย ส่งผลให้ทั้งชีวิตการงานและครอบครัวอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข


บ่อยครั้ง มีพ่อแม่มาถามผมว่า IQ กับ EQ มันไม่ใช่เรื่องเดียวกันหรือ .... ไม่ใช่ครับ เพื่อความเข้าใจ ผมจะอธิบายและเปรียบเทียบให้เห็นกัน


เชาว์ปัญญา หรือ IQ (Intelligence quotient) เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บุคคลประสบความสำเร็จในการเรียน( study success) และมีโอกาสได้รับเลือกให้เข้าทำงาน(get select)แต่การที่จะประสบความสำเร็จในวิชาชีพ(career success) หรือความสำเร็จในชีวิต(life success) นั้นจะขึ้นกับ เชาว์อารมณ์ หรือ EQ ( Emotional Quotient ) มากกว่า

ความสำเร็จในด้าน
ปัจจัยที่มีบทบาทมากกว่า

การแก้ปัญหาเฉพาะทาง IQ

การเรียน
IQ

การงาน
IQ + EQ

การปรับตัว
EQ

การครองตน
EQ

การชีวิตครอบครัว
EQ




สำหรับแนวทางการพัฒนา EQ นั้น ล้วนมาจากการเลี้ยงดูร่วมกับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เด็ก ด้วยวิธีการดังนี้
1. ส่งเสริมพัฒนาการด้านจิตสังคม (Psychosocial development) ตาม Psychosocial developmental theory ของ Erik Erikson กล่าวว่าพ่อแม่สามารถส่งเสริมพัฒนาการด้านจิตสังคมแก่ลูกน้อย ด้วยการพัฒนาการด้านต่างๆ ตามช่วงลำดับอายุดังนี้


1.1แรกเกิดถึง 1 ปี สร้างความไว้วางใจพื้นฐาน (Basic trust) โดยพ่อแม่ให้การดูแลอย่างใกล้ชิด สม่ำเสมอ ไวในการรับรู้ และตอบสนองความต้องการของเด็กอย่างถูกต้อง จะทำให้เกิดการยอมรับตนเอง (self-acceptance)และความไว้วางใจในสังคมแวดล้อม (social trust)
1.2อายุ 1 - 2 ปี สร้างความสามารถควบคุมตนเอง ( Self-Control) โดยฝึกหัดการควบคุมร่างกายในการกิน นอน และขับถ่ายอย่างเหมาะสม ไม่เข้มงวดเกินไป ให้เด็กมีโอกาสเล่นและสำรวจสิ่งแวดล้อมโดยพ่อแม่คอยดูแลป้องกันอันตรายอยู่ใกล้ เด็กจะเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง (autonomy) เกิดขึ้น
1.3อายุ 3 - 5 ปี พัฒนาความคิดริเริ่ม( initiative) ส่งเสริมให้มีโอกาสเล่นสมมติ เล่นแบบใช้ จินตนาการ เปิดโอกาสให้เด็กแสดงความคิดเห็น และรับฟัง สนใจ และตอบคำถามที่เด็กถาม
1.4อายุ 6 -12 ปี พัฒนาความขยันหมั่นเพียรในการทำงาน (industry) ให้โอกาส และส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ และฝึกฝนในการกระทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง ทั้งรับผิดชอบตัวเองในกิจวัตรประจำวัน การเรียน และมีส่วนร่วมรับผิดชอบในงานส่วนรวมในบ้าน


2. ฝึกให้มีระเบียบวินัย (discipline) โดยกำหนด “กฏเกณฑ์ในบ้าน” (house’s rule) ที่ชัดเจนเช่นเดียวกับตารางกิจวัตรประจำวัน หน้าที่รับผิดชอบในเรื่องส่วนตัว และส่วนรวมในบ้าน กิริยามารยาท ให้ขอบเขตที่ชัดเจนว่า อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ซึ่งรายละเอียดของ house’s rule ของแต่ละครอบครัวจะแตกต่างกันตามสภาพทางสังคม ความเป็นอยู่ของครอบครัวนั้น ๆ ข้อกำหนดสำหรับสมาชิกแต่ละคนในครอบครัวก็แตกต่างกันไปตามอายุ เพศ ฯลฯ ซึ่งพ่อแม่จะเป็นผู้กำหนดโดยรับฟังความคิดเห็นของลูกประกอบ และสื่อให้ทุกคนรู้ข้อตกลงอย่างชัดเจน


การฝึกระเบียบวินัย จะได้ผลต่อเมื่อผู้ใหญ่ในบ้านเห็นความสำคัญ ร่วมมือกันไม่ขัดแย้งกัน ฝึกสม่ำเสมอต่อเนื่อง ด้วยท่าทีที่จริงจังแต่นุ่มนวล หลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์รุนแรง และให้แรงเสริม (reinforcement) ต่อพฤติกรรมที่ดีโดยการแสดงความชื่นชม โดยคำพูด หรือโดยกิริยาเช่น ยิ้ม โอบกอด เป็นต้น เด็กที่มีระเบียบวินัยจะมีความอดทน สามารถรอคอย ควบคุมและจัดการกับอารมณ์ได้ดี


3. ฝึกให้รู้จักแก้ปัญหา ( Problem solving skills) โดยเปิดโอกาสและส่งเสริมให้ลูกคิด ลองแก้ปัญหาด้วยตนเอง และให้คำปรึกษาตามที่เด็กต้องการหรือเข้าช่วยเหลือเมื่อสิ่งนั้นยากเกินความสามารถของลูกเท่านั้น


4. ฝึกทักษะทางอารมณ์ (Emotional coaching) การช่วยให้เด็กมีการพัฒนาเชาว์อารมณ์นั้นผู้ดูแลโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ่อแม่ ครู อาจารย์ ก็ต้องใช้เชาว์อารมณ์กับเด็กๆ ด้วย ต้องสามารถตระหนักรู้อารมณ์ของเด็กๆ สามารถที่จะเห็นอกเห็นใจเขา ช่วยปลอบโยน ระงับอารมณ์ และจัดการกับอารมณ์เหล่านั้นนั่นล่ะ เรื่องใหญ่สำหรับผู้เป็นพ่อแม่

ซึ่งต้องฝึกทักษะทางอารมณ์ดังต่อไปนี้


1. เข้าใจในอารมณ์ความรู้สึกของลูก (Empathy) เป็นพื้นฐานสำคัญของการฝึกทักษะทางอารมณ์ พ่อแม่ต้องตระหนักในความสำคัญ และไวในการรับรู้ภาวะอารมณ์ของลูก เข้าใจและยอมรับอารมณ์ที่เกิดขึ้นของลูก ไม่ดูถูก ล้อเลียน หรือตำหนิติเตียน ที่ลูกแสดงอารมณ์ต่างๆ ออกมา เช่น “แม่เข้าใจ ลูกคงเสียใจมากที่เพื่อนไม่เข้าใจความหวังดีของลูก”


2. สอนทักษะทางอารมณ์ในขณะที่ลูกกำลังเกิดอารมณ์นั้นๆ อยู่ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ด้านบวกหรือลบและเป็นโอกาสที่จะได้ใกล้ชิด ลูกจะเข้าใจได้ดีถ้าสอนขณะที่อารมณ์นั้นๆ ยังคงอยู่


3. รับฟังและยอมรับความรู้สึกของลูกที่เกิดขึ้น ให้ลูกรู้ว่าไม่ผิดที่เขาจะรู้สึกเช่นนั้น และสะท้อนคำพูดความรู้สึกของเขา เช่น “เข้าใจที่ลูกบอกว่าลูกผิดหวังที่คุณพ่อผิดสัญญา ลูกคงเสียใจและน้อยใจ”


4. ช่วยลูกหาชื่อที่ใช้เรียกอารมณ์ที่เขากำลังมีอยู่ รวมทั้งช่วยเขาหาคำอธิบายเกี่ยวกับอารมณ์นั้นๆ ให้รู้จักอารมณ์ของเขาให้ชัดเจน เช่น “ลูกกำลังรู้สึกโกรธ เพราะน้องมาทำของหนูเสีย เวลาใครมาทำให้ของที่รักเสียหาย เราก็รู้สึกโกรธ ไม่พอใจ และอยากจะโต้ตอบเขาบ้าง”


5. กำหนดขอบเขตพฤติกรรมที่จะแสดงออกในอารมณ์นั้น ๆ ให้ลูกเข้าใจว่าอารมณ์ ความรู้สึกทุกชนิดเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แต่พฤติกรรมที่จะแสดงออกขณะนั้น ๆ มีขอบเขตจำกัด


ที่สำคัญ พ่อแม่ต้องเสียสละเวลาให้ลูก มีความอดทนสูง ใจเย็น ไม่ปิดกั้นการแสดงอารมณ์ด้านลบของลูก แต่ใช้เป็นโอกาสในการแนะนำพฤติกรรมที่เหมาะสม แล้วลูกของท่านจะเป็นผู้มี EQ ดีในอนาคต เชื่อเถอะครับ


ขอบคุณข้อมูลจาก
//www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=684




 

Create Date : 20 มกราคม 2552    
Last Update : 20 มกราคม 2552 12:46:29 น.
Counter : 527 Pageviews.  

เรียนรู้ด้วยการเล่น

เรียนรู้ด้วยการเล่น
อ.นพ.ชาตรี วิฑูรชาติ
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์


การเล่นของเด็ก ดูเหมือนเป็นเรื่องเล่นๆ แต่ความจริงแล้วเป็นเรื่องที่สำคัญและมีคุณค่ามหาศาล ไม่ว่าจะเล่นด้วยวิธีใด ก็เป็นการส่งเสริมพัฒนาการเด็กทั้งสิ้น
สำหรับเด็กแล้ว พัฒนาการของเด็กจะผ่านการเล่นเป็นสื่อกลาง ตั้งแต่การพัฒนาสติปัญญา ภาษาการสื่อสารของกล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่และสังคมจริยธรรม
• กล้ามเนื้อมัดเล็ก หมายถึง การใช้มือ การหยิบจับ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการที่เด็กจะพัฒนาการ การเขียน การทำงานในชีวิตประจำวัน และการช่วยเหลือตัวเอง
• กล้ามเนื้อมัดใหญ่ คือ กล้ามเนื้อแขนขา การทรงตัว ทำให้เด็กสุขภาพดี แข็งแรง คล่องแคล่ว ทะมัดทะแมงเล่นกีฬาได้ดี
• ด้านสังคมและจริยธรรม การที่เด็กเล่นเป็นกลุ่ม จะเรียนรู้การปรับตัวอยู่กับผู้อื่น พอใจที่จะอยู่ร่วมกับสังคมและมีกิจกรรมร่วมกัน รวมทั้งเรียนรู้ว่าทำอย่างไรให้เป็นที่ ยอมรับของคนอื่น(การเล่นของเด็กโตก็จะมีกติกาเกิดขึ้น นั้นก็คือ พื้นฐานที่เด็กจะได้พัฒนาในด้านของการที่จะเติบโตขึ้นมาอยู่ในกฎระเบียบของครอบครัว โรงเรียน และสังคมได้)
• ด้านภาษา ในการเล่นหลาย ๆ อย่าง เด็กจะต้องมีการพูดจา สื่อสาร มีการตอบโต้ โดยเฉพาะการเล่นบางอย่างจะต้องใช้การพูดในการเล่น เช่น การเล่นเป็นหมอ พยาบาล พ่อแม่ลูก เป็นการพัฒนาทางด้านภาษาอย่างดี

ในแต่ละวัย แน่นอนว่าจะมีการเล่นที่แตกต่างกัน เนื่องจากความพร้อมทางร่างกายและระดับพัฒนาการของสมองต่างกัน ซึ่งมีความสำคัญมากถ้าพ่อแม่เข้าใจว่าในแต่ละวัยเหมาะที่จะเล่นอะไร พ่อแม่จะได้ช่วยสนับสนุนส่งเสริมได้อย่างถูกต้อง
จริง ๆ แล้วเด็กนั้นชอบเล่นตั้งแต่แรกเกิด อย่าคิดว่าเด็กเล็ก ๆ จะเล่นอะไรไม่เป็น เราจะเห็นว่า ปัจจุบันนี้จะมีของเล่นสำหรับเด็กตั้งแต่วัยขวบปีแรกซึ่งยังเดินไม่ได้ ของเล่นวัยนี้ควรจะมีสีสันสดใส ของที่เคลื่อนไหวได้มีเสียงดัง หยิบได้เขย่าได้ กลิ้งได้ ของเล่นวัยนี้จะทำให้เด็กได้พัฒนาในด้านของการใช้มือ การมองตามความเคลื่อนไหว สีสันสดใสจะทำให้มองตาม เป็นการฝึกกล้ามเนื้อมัดย่อย
การเล่นของเด็กช่วงขวบปีแรก มักเป็นการเล่นคนเดียว เด็กที่โตขึ้นคือประมาณ 2-3 ขวบ เด็กจะเริ่มเล่นรวมกลุ่ม เมื่อเด็กเห็นคนอื่นเล่น ก็จะสนใจและเดินเข้ามาเล่นด้วย แต่เวลาเล่นกลับเล่นคนเดียว ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กัน ของเล่นเด็กวัยนี้จะเป็นของเล่นที่เริ่มใช้กล้ามเนื้อมัดย่อยและมัดใหญ่เข้ามาบ้าง เช่น การขีดเขียนของเล่น ตอก เรียง เตะ ขว้างเกิดขึ้นบ้าง สามารถที่จะเรียงบล็อก สามารถต่อภาพจิ๊กซอร์ได้บ้าง เล่นตุ๊กตาได้ เมื่อเด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไป ก็จะเริ่มเล่นเป็นกลุ่ม แบบมีปฏิสัมพันธ์กัน วัยนี้จะชอบเล่นซุกซนวิ่ง ปีนป่าย กระโดดในที่กว้าง เช่น วิ่งเล่น ไล่จับ ไปวิ่งเล่น ไปขี่จักรยานเล่นเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น เมื่ออายุ 6 ขวบขึ้นไปจะเพิ่มการเล่นแบบเกมซึ่งมีกติกาจะเริ่มเข้ามา เช่น หมากฮอส เกมเศรษฐี งูไต่บันได ซึ่งเด็กวัยนี้จะเริ่มเข้าใจกติกาการเล่นได้บ้างแล้ว เด็กจะเริ่มสนใจกีฬามากขึ้นเช่น ปิงปอง, แบดมินตัน, ฟุตบอล การเล่นวัยนี้จะช่วยพัฒนาในเรื่องของการเข้าสังคมได้มาก แน่นอน พ่อแม่จะมีบทบาทสำคัญที่ช่วยส่งเสริมลูกน้อยในด้านพัฒนาการ แต่ก่อนอื่นต้องเข้าใจ และเห็นความสำคัญก่อนว่า การเล่นนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญต่อพัฒนาการของเด็ก และมีประโยชน์ต่อพัฒนาการสมองเด็กมาก เพราะปัจจุบันหลายครอบครัวมักเน้นไปที่เรื่องของการเรียนอย่างเดียว ทำให้เด็กไม่ได้เล่นอย่างเหมาะสม ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยเหลือลูกน้อยได้โดย

1. สร้างทัศนคติที่เหมาะสม พ่อแม่มีส่วนชักจูงและเป็นแบบอย่างให้เด็กเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเล่นกีฬา พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างปลูกฝัง ให้เด็กดูและเห็นว่า การออกกำลังกายและเล่นกีฬาเป็นประโยชน์ ซึ่งเด็กจะได้ร่วมกิจกรรมมากขึ้น และที่สำคัญมากก็คือ การที่พ่อแม่ร่วมเล่นกับเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 5 - 6 ปี จะช่วยให้เด็กเล่นได้อย่างสร้างสรรค์และได้ประโยชน์เต็มที่ มีจินตนาการ มีพัฒนาการอย่างถูกต้อง นอกจากที่เด็กจะได้รับความสนุกสนาน การชี้แนะจากพ่อแม่ และความผูกพัน ใกล้ชิด มีการเรียนรู้ซึ่งกันและกันเกิดขึ้นในระหว่างนั้น
2. จัดเวลา กิจวัตรประจำวันให้เหมาะสม ให้มีโอกาสได้เล่นสม่ำเสมอทุกวัน
3. เตรียมอุปกรณ์ สนับสนุน เช่น ของเล่น อุปกรณ์กีฬา รวมทั้งหาสถานที่เหมาะสมที่ต้องใช้ในการเล่น
ตรงกันข้ามกับเด็กที่ไม่ได้เล่นหรืออยู่กับผู้ใหญ่ที่ไม่ชอบเล่นกับเด็กหรือสุขภาพไม่ดี เล่นไม่ไหว เด็กไม่รู้จะเล่นกับใคร จะมีผลกระทบในด้านของบุคลิกลักษณะคือ อาจเป็นเด็กไม่ร่าเริงแจ่มใส ทักษะทางสังคมน้อย ปรับตัวไม่ดี ไม่ทะมัดทะแมงคล่องแคล่วว่องไว ความตื่นตัวสนใจสิ่งแวดล้อมน้อย รวมทั้งส่งผลถึงการพัฒนาการทางสติปัญญาไม่เต็มที่ด้วย
ยิ่งในปัจจุบันนี้มีการเล่นที่ไม่เหมาะสม หรือไม่ได้ประโยชน์มากมาย ซึ่งอาจทำให้เด็กติดเช่น เล่นวิดีโอเกม คอมพิวเตอร์เกมจะส่งผลเสียต่อเด็ก ซึ่งใช้เวลามากมายทำให้เด็กไม่ได้ออกกำลังกาย และอาจมีความก้าวร้าวและกระตุ้นทางเพศแฝงเข้ามาด้วย พ่อแม่จึงต้องให้ความสำคัญ และให้เวลาเกี่ยวกับการเล่นของลูกน้อยให้เล่นเหมาะสมตามวัยและเพียงพอทุกวัน.


ขอบคุณข้อมูลจาก
//www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=64




 

Create Date : 20 มกราคม 2552    
Last Update : 20 มกราคม 2552 12:47:50 น.
Counter : 455 Pageviews.  

สอนให้เด็กโตขึ้นเป็นคนอารมณ์ดีมีเหตุผล

เราจะสอนให้เด็กโตขึ้นเป็นคนอารมณ์ดีมีเหตุผลได้อย่างไร?
อ.นพ. กวี สุวรรณกิจ
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์


ปัจจุบันโลกเราเจริญก้าวหน้าไปมาก ทำให้เด็กสามารถเรียนรู้สิ่งที่ควรรู้และไม่ควรรู้ได้เร็วขึ้น การปล่อยให้เด็กพัฒนาตัวเองโดยขาดการดูแลอย่างใกล้ชิด อาจเป็นเหตุให้เด็กได้รับข้อมูลผิดๆ ทำให้ฝังใจ ตั้งแต่เล็ก และติดเป็นนิสัยที่ไม่ดี อารมณ์เสีย กลายเป็นคนที่ไม่มีเหตุผลไปได้

พัฒนาการของเด็กขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ที่สำคัญคือสิ่งแวดล้อมและการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ว่าถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ มีเวลาพอที่จะให้กับลูก หรือไม่ ทัศนคติของพ่อแม่ที่มีต่อลูกก็เป็นพื้นฐานที่สำคัญ ซึ่งทัศนคติอันนี้จะแปรปรวนไปได้ตามสภาพอารมณ์ของพ่อแม่ การอบรมสั่งสอนเด็กเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญ ต้องค่อยเป็นค่อยไปและสม่ำเสมอต่อเนื่อง เด็กจะเรียนรู้ได้จากประสบการณ์ของตนเอง จากการสังเกตเลียนแบบสิ่งแวดล้อม และจากการอบรมสั่งสอนของพ่อแม่ ผู้ใหญ่จึงไม่ควรละเลยที่จะอบรมเด็ก เพราะเด็กเรียนรู้ได้ง่ายมาก ผู้ใหญ่ทุกคนมีส่วนทำให้เด็กเลียนแบบและเป็นตัวอย่างแก่เด็กทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าอยากให้เด็กพูดจาเพราะ มีมารยาทดี ต้องให้เขาอยู่ในสิ่งแวดล้อมเช่นนั้น คือ ผู้ใหญ่ต้องพูดเพราะ มีมารยาทดีด้วย ถ้าผู้ใหญ่เป็นคนเกรี้ยวกราด ขี้โมโห ด่าทอกัน เด็กก็จะเอาอย่าง การห้ามเด็กไม่ให้ทำจะไม่ได้ผล ถ้าเขาเห็นพฤติกรรมที่ถูกห้ามเป็นประจำ พฤติกรรมของเด็กก็เหมือนกับกระจกสะท้อนภาพของผู้ใหญ่รอบข้างเขานั่นเอง

การอบรมสั่งสอนเด็กจะมีประสิทธิภาพได้ พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูจะต้องมีความรัก ให้ความอบอุ่นแก่เด็ก เด็กจึงจะเชื่อฟัง ถ้าบ้านใดครอบครัวใดพ่อแม่เป็นแบบฉบับที่ดี บ้านมีระเบียบ ผู้คนในบ้านปฏิบัติตนดีถูกต้อง การอบรมเด็กก็ไม่มีปัญหามาก การเข้มงวดกวดขันเด็กมากเกินไป การขัดใจเด็กอยู่เสมอ จะทำให้เด็กมีอารมณ์ร้าย ตึงเครียด ยั่วยุให้เด็กบางคนต่อต้านผู้ใหญ่ และทำให้เด็กบางคนมีความหวาดกลัว วิตกกังวล ขาดความมั่นใจ ไม่มีความคิดริเริ่ม แต่ในทำนองเดียวกัน ถ้าเราปล่อยเด็กมากเกินไปจนไม่มีขอบเขต ไม่อบรมสั่งสอน ตามใจทุกอย่าง หรือไม่เอาใจใส่ จะเป็นอย่างไรก็ช่าง เด็กจะเติบโตขึ้นอย่างไม่มีระเบียบ ไม่มีเหตุผล กลายเป็นเด็กที่เอาแต่ใจตนและก้าวร้าวได้

การเข้าใจความคิดจิตใจและพฤติกรรมของเด็กในวัยต่างๆ จะช่วยให้ผู้ที่เป็นพ่อแม่หรือพี่เลี้ยงจะได้ระมัดระวังและปฏิบัติสอดคล้องกับธรรมชาติของเด็ก
- เด็กในวัยทารกเป็นวัยที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เพื่อปรับตัวเอง ความสัมพันธ์และการสัมผัสด้วยความรักจากพ่อแม่พี่เลี้ยงจะทำให้เด็กเกิดความไว้วางใจ เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่เป็นรากฐานของการพัฒนาอารมณ์และสังคมของเด็กต่อไป
- เด็กในวัยเริ่มเดินเตาะแตะ เด็กวัยนี้จะเริ่มทำอะไรตามความต้องการของตัวเอง เด็กจะดื้อเพื่อเป็นการแสดงความเป็นตัวของตัวเอง ผู้ใหญ่จึงควรจะอ่อนตาม ดูแลด้วยความเอาใจใส่ใกล้ชิด จะหัดอะไรก็ให้ค่อยเป็นค่อยไป อย่าบังคับข่มขู่ หรือไปฝืนความรู้สึกเด็กจนเกินไป และไม่ควรมีการลงโทษใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเด็กยังไม่รู้จัก การเรียนรู้ทุกอย่างเป็นไปโดยอัตโนมัติและเลียนแบบ ผู้ใหญ่ควรตามใจและผ่อนปรนบ้าง การหัดเด็กมากเกินไป เมื่อเด็กยังไม่พร้อม เช่น หัดนั่งโถและบังคับให้ถ่าย จะเป็นอันตรายต่อการพัฒนาต่อไป ควรสังเกตอาการของเด็ก เมื่อเห็นลักษณะเด็กที่ทำท่าจะถ่ายอุจจาระ จึงให้เขานั่ง ควรเลี้ยงดูเด็กให้มีความเป็นตัวของตัวเอง เด็กกำลังหัดเดินย่อมมีการหกล้ม เราก็จัดที่ให้กว้างให้เขาเดินไปมาเองได้ หลีกเลี่ยงการวางของต่างๆที่เกะกะทางเดินของเขาเท่านั้น
- เมื่อเด็กโตขึ้นจะสามารถสื่อภาษากับผู้อื่นได้ เด็กเริ่มสังคมนอกบ้าน นอกจากนี้ยังมีความสนใจเกี่ยวกับอวัยวะเพศของตน เริ่มมีความเข้าใจเกี่ยวกับศีลธรรม แต่ยังไม่มีเหตุผล ชอบสร้างจินตนาการต่างๆ จึงควรสร้างให้เด็กมีความรับผิดชอบและเริ่มมีการเข้าสังคมกับผู้อื่นได้ เมื่อเด็กมีการพัฒนาการทางสติปัญญาอย่างรวดเร็ว เป็นช่วงเหมาะที่จะหัดจะเรียนทุกอย่าง ถ้าผู้ใหญ่พยายามฟังและเข้าใจก่อน อธิบายให้เขาฟังบ้าง และปฏิบัติตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดีที่เขาจะเลียนแบบได้ เด็กในวัยนี้จะมีสังคมนอกบ้านมากขึ้น โดยเฉพาะจะมีความสัมพันธ์กับเพื่อน พร้อมกันนั้นก็จะต้องการการยอมรับ และการมีส่วนร่วมในสังคม และต้องการประสบความสำเร็จ

ผู้ที่เป็นพ่อแม่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสังเกต และระมัดระวังในการอบรมเลี้ยงดูลูกของตน ไม่ใช้ทัศนคติที่รักมาก ตามใจมาก วิตกกังวลมาก โกรธรุนแรงมาก ใช้วาจาหยาบคาย เจ้าระเบียบอย่างมากผิดปกติกับลูก พยายามสร้างบรรยากาศให้ครอบครัวมีความสุข ให้ความรักความอบอุ่นและอบรมเลี้ยงดูลูกอย่างถูกต้อง ไม่ขัดขวางการพัฒนาของเด็ก ต้องช่วยให้การพัฒนาการดำเนินไปอย่างสมบูรณ์ทั้งทางกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และ สติปัญญา เพื่อให้เด็กได้พัฒนาอย่างดีที่สุดเท่าที่เขาจะสามารถพัฒนาได้ โตขึ้นจะได้เป็นเด็กที่มีอารมณ์ดี มีเหตุผล อันเป็นยอดปรารถนาของพ่อแม่ทุกคน

ขอบคุณข้อมูลจาก
//www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=63




 

Create Date : 20 มกราคม 2552    
Last Update : 20 มกราคม 2552 12:42:56 น.
Counter : 708 Pageviews.  

1  2  
 
 

ยอดหญิงนักชิม
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]


ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




คุณแม่ลูกหนึ่ง..ที่อยากรวบรวมเนื้อหาสาระและไม่สาระเอาไว้อ่านยามเหงาๆ อิอิ
[Add ยอดหญิงนักชิม's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com