bloggang.com mainmenu search
๒๓๓๐ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ประสูติ
๒๓๕๑ คุณชายช่วงเกิด จากเจ้าพระยาพระคลัง(ดิศ)

๒๓๖๗ -พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าขึ้นครองราชย์
-โปรดเกล้าฯ ส่งกองทัพไปช่วยอังกฤษรบพม่า
-เฮนรี่ เบอร์นี่ เข้ามาติดต่อการค้าขาย(หันตรี)

๒๓๖๘ - โรเบิร์ต ฮันเตอร์ (หันแตร)เข้ามาค้าขาย หลังจากหันตรีเข้ามาทำสัญญาพระราชไมตรี ในต้นรัชกาลที่ ๓ (หันตรีเข้ามา พ.ศ.๒๓๖๗ หันแตรเข้ามา พ.ศ.๒๓๖๘) หันแตรเป็นอังกฤษเชื้อสายสก๊อต เดิมเป็นพ่อค้ามาตั้งห้างอยู่ที่สิงคโปร์ก่อน เมื่อเข้ามาบางกอกนั้น เป็นขณะที่ไทยกำลังบาดหมางอยู่กับเจ้าอนุวงศ์ เมืองเวียงจันทน์หันแตรได้ทูลเกล้าฯ ถวายปืนคาบศิลา ๑,๐๐๐ กระบอก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงโปรดพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น ‘หลวงอาวุธวิเศษประเทศพาณิช’ เมื่อหันแตรขอตั้งห้างค้าขายในกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้หันแตรเช่าที่ดินของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ แต่ครั้งยังเป็นเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) สร้างอาคารขึ้นเป็นทั้งที่พักและสำนักงาน โรงเก็บสินค้า พวกพ่อค้าต่างชาติพากันเรียกว่า โรงสินค้าอังกฤษ (The Britsh Faetory) ส่วนคนไทยสมัยนั้นเรียกกันว่า ‘ห้างหันแตร’
๒๓๖๙ เจ้าอนุวงศ์เป็นกบฏ โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรฯ เป็นแม่ทัพใหญ่ยกไปปราบ กำเนิดวีรกรรมท้าวสุรนารี (คุณหญิงโม) และโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสุภาวดี (สิงห์) แม่ทัพหน้าเป็นเจ้าพระราชสุภาวดี ว่าที่สมุหนายก
๒๓๗๐ เริ่มสร้างพระสมุทรเจดีย์
๒๓๗๑ -ร้อยเอกเจมส์โลว์ จัดพิมพ์หนังสือภาษาไทยเป็นครั้งแรก
-มิชชันนารีอเมริกันเดินทางมาเผยแพร่ศาสนาในเมืองไทย
-เจ้าพระยาอภัยภูธร สิ้นกลางเดินทัพ ถอยศพกลับมาเผาที่พระนคร เกิดฟ้าผ่ากลางเมรุ
- เริ่มต้นสร้างวัดประยุรวงศาราม เจ้าพระยาพระคลังลงมือสร้าง พระราชทานกองเทียนจากห้องเล็ก มาทำเป็นเขาในวัด
๒๓๗๒ -เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) จับเจ้าอนุวงศ์ จัดส่งลงมากรุงเทพฯ ได้โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็น เจ้าพระยาบดินทร์เดชา ที่สมุหนายก
-กำเนิดสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย
๒๓๗๕ -ประธานาธิบดีแจคสัน แห่งสหรัฐอเมริกา ส่งเอ็ดมันต์ โรเบิร์ต เข้ามาขอเจริญพระราชไมตรีทำการค้ากับไทย
- กบฏทางตอนใต้ ตนกูมะสัง ทะเลาะกันระหว่างเจ้าพระยานครกับเจ้าพระยาสงขลา “...เป็นข้าแล้วก็รักอยู่ด้วยกันหมดนั่นแหละ...”
- พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงพระเมตตาห่วงใยจมื่นไวยวรนารถ ของพระองค์มาก เพราะในระยะนั้น ท่านกำลังเป็นหนุ่มคะนองว่ากันว่ารูปงามมีฝีปากสักวาคมคายเป็น สมาชิก ผู้หนึ่งของสโมสรสักวาที่แพคุณพุ่ม (บุษบาท่าเรือ) พวกมิชชันนารี กล่าวถึงท่านว่า ท่าทางคมขำ เฉียบแหลมพูดจาไพเราะ
เมื่อเกิดเรื่องพระสุริยภักดิ์ (คุณชายสนิท บุตรชายใหญ่สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย) กับเจ้าจอมอิ่ม (ลูกสาวพระยามหาเทพ ปาน) เป็นเหตุให้พระสุริยภักดีต้องพระราชอาญาประหาร อายุพระสุริยภักดีแก่กว่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เพียง ๔ ปี (พระสุริยภักดีต้องโทษประหาร อายุเพียง ๒๗ ปี)
๒๓๗๖ ญวนเกิดกบฏ โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์) เป็นแม่ทัพใหญ่ผู้สำเร็จราชการไปรบกับญวน
-เวลานั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาเป็นสมุหนายก (ที่จักรี) เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ว่าที่สมุหพระกลาโหม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงมีพระบรมราชโองการให้ท่านทั้งสองยกทัพไปตีเขมรและญวน เจ้าพระยาบดินทรเดชา เป็นแม่ทัพบก เจ้าพระยาพระคลังเป็นแม่ทัพเรือ (เวลานั้นนักองจันทร์เจ้าแผ่นดินเขมรเข้าข้างญวน ส่วนน้องชายคือนักองอิ่ม นักองด้วง เข้าข้างไทย)
- บั่นคอพวกญวน ๘๐ ศพ
๒๓๗๘ - ๑๘ กรกฎาคม ๒๓๗๘ หมอบรัดเลย์ มาถึงประเทศไทยกับคณะมิชชันนารี พร้อมกับภรรยา คนแรก
- (๑๓ มกราคม ๒๓๗๙ แต่เป็นปีนักษัตรโบราณ เขาจึงถือว่าเป็นปี ๒๓๗๘) ฉลองวัดประยุรวงศาราม ทำระเบิดไฟพะเนียง ฉลองวัด จนคนแขนขาด ต้องตามหมอบรัดเล มาทำการผ่าตัด ตัดแขนคนที่โดนไฟพะเนียงตรงนั้น
.๒๓๗๙ เริ่มปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามครั้งใหญ่ โปรดให้สร้างพระเจดีย์ พระพุทธไสยาสน์พร้อมทั้งพระวิหารเป็นที่ประดิษฐาน และอาคารอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังโปรดให้จารึกวิชาการต่างๆ ลงในแผ่นศิลาเป็นอันมาก ประดับไว้รอบเสาระเบียง และที่ศาลารายหลายหมวดหมู่ อาทิ หมวดตำรายา หมวดวรรณคดีไทย หมวดสุภาษิต หมวดพระพุทธศาสนา ให้เป็นวิทยาทานแก่บุคคลทั่วไป กล่าวกันว่าเป็นพระอารามที่รวบรวมสรรพตำราไว้หลายแขนง เสมือนหนึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย
๒๓๘๐ -หมอบรัดเลย์ คิดตัวพิมพ์อักษรไทยขึ้นใหม่
-โปรดเกล้าฯ ให้หมอหลวงไปหัดปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษกับหมอบรัดเลย์ และสอนวิธีฉีดวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคเป็นสำคัญ
- ทำกลองวินิจฉัยเภรี
๒๓๘๒ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้โรงพิมพ์หมอบรัดเลย์พิมพ์ประกาศห้ามสูบฝิ่น จำนวน 9,000 ฉบับ นับเป็นสิ่งตีพิมพ์เอกสารทางราชการฉบับแรกในประวัติศาสตร์สยาม และถือเป็นหมายสำคัญว่ายุคแห่งการคัดด้วยลายมือกำลังจะหมดไป เป็นการเริ่มต้นยุคสมัยแห่งการพิมพ์สยาม
๒๓๘๔ ในที่สุดพัฒนาการของการพิมพ์ในสยามก็มาถึงจุดสำคัญที่สุดคือ หมอบรัดเลย์และคณะสามารถหล่อตัวพิมพ์ภาษาไทยขึ้นสำเร็จเป็นครั้งแรกในปี 2384 ตัวพิมพ์ชุดนี้หมอบรัดเลย์ยังได้ทำขึ้นอีกเพื่อทูลเกล้าฯถวายเจ้าฟ้ามงกุฎ สำหรับใช้ที่โรงพิมพ์วัดบวรนิเวศวิหาร
๒๓๘๕ -หมอบรัดเลย์ พิมพ์ปฏิทินภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรก
- นายหันแตรผู้นี้แต่แรกก็ดีอยู่ ทว่าต่อมานานเข้าเกิดความกำเริบโอหังด้วยประการต่างๆ เช่น นำฝิ่นเข้ามาขายให้คนจีน เป็นการขัดต่อสนธิสัญญา ที่หันตรี (เฮนรี่เบอร์นี่) ทำไว้กับไทย ข้อที่ว่า “พ่อค้าห้ามนำฝิ่น ซึ่งถือเป็นของต้องห้ามเข้ามาในพระราชอาณาเขตของสยาม”
ครั้งหนึ่ง กัปตันเรือชาวอังกฤษผู้หนึ่ง ถือปืนเข้าไปยิงนกพิราบในวัด พระภิกษุในวัดจึงห้าม เพราะเขตวัดไทยนั้นเป็นเขตอภัยทาน การฆ่าสัตว์ตัดชีวิตก็ถือว่าเป็นบาป ทำให้เกิดทะเลาะทุ่มเถียงกันขึ้น พระภิกษุไทยเกิดโทสะ จึงพากันเข้าแย่งปืนแล้วช่วยกันตีจนบอบช้ำ นายหันแตรกับหมอบรัดเลย์อยู่แถวนั้นเห็นเหตุการณ์เข้าจึงวิ่งไปช่วยเหลือฝรั่ง
หันแตรนั้นโกรธมาก ให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) นำเรื่องขึ้นกราบทูลพระเจ้าแผ่นดิน ให้นำเจ้าอาวาสมาประหารชีวิต และต้องขับไล่พระภิกษุออกจากวัดนี้ให้หมด มิฉะนั้นจะนำเรือของเขาแล่นขึ้นมายิงวัด และจะเลยไปยิงพระบรมมหาราชวังด้วย
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดฯให้เจ้าฟ้ามงกุฎ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ) ซึ่งขณะนั้นทรงผนวชอยู่ เป็นผู้ทรงสอบสวนและตัดสินความผิดของพระภิกษุ
สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงตัดสินให้ทำโทษเจ้าอาวาสและพระภิกษุลูกวัด โดยให้นั่งสมาธิกลางแดดครึ่งวัน และให้ทำงานปัดกวาด เป็นการประจาน และห้ามแตะต้องฝรั่งอีก ไม่ว่าฝรั่งจะเข้าไปทำความผิดอันใดในเขตวัด ซึ่งเป็นค่าตัดสินที่หันแตรไม่พอใจอย่างยิ่ง แต่ก็เป็นอันเลิกรากันไป
๒๓๘๗ -ต่อมาในวันที่ 4 กรกฎาคม 2387 หมอบรัดเลย์ก็ได้ออกหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของสยามขึ้นในชื่อว่า หนังสือจดหมายเหตุ บางกอกรีคอเดอ กิจการโรงพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ได้พิมพ์หนังสือออกมาจำนวนมาก โดยเฉพาะในระยะหลังเมื่อหมอบรัดเลย์ได้รับพระราชทานที่ดินให้เช่าบริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ งานพิมพ์ส่วนใหญ่ไม่จำกัดวงเฉพาะงานทางด้านศาสนาอีกต่อไปแต่ได้พิมพ์หนังสือหลากหลายประเภท ทั้งนิยาย ประวัติศาสตร์ กฎหมาย วรรณคดี เพื่อจำหน่ายแก่บุคคลที่สนใจทั่วไป

- หันแตร นำเรือกลไฟ หรือเรือกำปั่นไฟ เป็นเรือที่ใช้เครื่องจักรพลังไอน้ำในการขับเคลื่อน แทนการใช้ใบและแรงลม เรือกลไฟลำแรกที่เข้ามาแล่นอวดโฉมให้ชาวสยามในบางกอกได้ตื่นตาตื่นใจกันว่า "เหล็กลอยน้ำได้" นั้น คือเรือกลไฟชื่อ "เอ็กสเปรส" (Express) ภายใต้การบัญชาการของกัปตันปีเตอร์ บราวน์ (Peter Brown) ข้อมูลเรื่องวันที่ที่เรือลำนี้มาถึงเมืองบางกอกนั้น ไม่ค่อยตรงกันนัก แต่ที่แน่ๆ คืออยู่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หนังสือ Siam Then (หรือพากย์ไทยว่า "สยามแต่ปางก่อน") บอกว่าเรือมาถึงในวันที่ ๑๑ มกราคม ค.ศ. ๑๘๔๔ (พ.ศ. ๒๓๘๗)
ส่วนนางลูเซีย ฮันต์ เฮเมนเวย์ (Lucia Hunt Hemenway) ภรรยาของบาทหลวงอาสา เฮเมนเวย์ (Asa Hemenway) เขียนไว้ในบันทึกของเธอ ลงวันที่ ๙ มกราคม ปีเดียวกัน โดยพาดพิงถึงเรื่องนี้ แต่ไม่เล่ารายละเอียดอื่นใดว่า "เรือกลไฟลำหนึ่งจากอังกฤษมาถึงแล้ว เรือกลไฟลำนี้เข้ามาถึงแม่น้ำ เป็นลำแรกที่มาถึงที่นี่ เจ้าของคาดว่าพระเจ้าแผ่นดินจะซื้อไว้ แต่ก็ยังไม่แน่นอนนักว่าพระองค์จะทรงซื้อ" นางไม่ได้บอกว่าเจ้าของคือใคร แต่เดี๋ยวผมจะบอกให้ทราบ
เรือชื่อเอ็กสเปรสที่แล่นออกจากเมืองท่าลิเวอร์พูล ในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๔๓ (พ.ศ. ๒๓๘๖) และมาถึงสิงคโปร์เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ผมคิดว่าน่าจะเป็นเรือลำเดียวกัน นอกจากนี้แล้วก็พบจดหมายข่าวของมิชชันนารีในสยาม ที่ลงเรื่องเกี่ยวกับเรือลำนี้ไว้ในส่วนที่เป็นปัจฉิมลิขิต จดหมายข่าวดังกล่าวเป็นฉบับประจำวันที่ ๑๑ มกราคม ค.ศ. ๑๘๔๔ (พ.ศ. ๒๓๘๗) เล่าเรื่องเรือลำนี้ไว้อย่างค่อนข้างน่าสนใจ และสนับสนุนเนื้อหาในหนังสือ Siam Then เกี่ยวกับวันที่เรือมาถึง ตอนท้ายของปัจฉิมลิขิตนี้ มีข้อความที่อ่านแล้วอดขำในความช่างแขวะของบาทหลวงฝรั่งที่เขียนเรื่องนี้ไม่ได้ การแขวะศาสนาพุทธโดยมิชชันนารีฝรั่งในครั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกหูแต่อย่างใด และเป็นเรื่องทำนองขี้แพ้ชวนตีเสียมาก
"เหตุการณ์แปลกใหม่อย่างยิ่งสำหรับประเทศสยามเพิ่งเกิดขึ้น ประมาณ ๙ โมงเช้าวันนี้ เรือกลไฟของอังกฤษชื่อ เอ็กสเปรส โดยกัปตัน พี บราวน์ เดินทางขึ้นแม่น้ำมา ความใหญ่โตโอฬารของเรือสร้างความโกลาหลให้แก่เรือลำเล็กลำน้อยในแม่น้ำนี้อย่างมาก ส่วนพละกำลังของเรือก็ทำให้ชาวบ้านนับพันพากันแตกตื่น บางกอกไม่เคยเห็นภาพเช่นนี้มาก่อน พระเจ้ากรุงสยามทรงเป็นราวปักษีน้อยในกรงทอง๑ เราเกรงว่าพระองค์ยังไม่ทรงเห็นสิ่งมหัศจรรย์นี้ แม้ว่าเรือได้แล่นผ่านหน้าพระบรมมหาราชวัง และเลี้ยวกลับหลังอวดตัวเสร็จแล้ว บรรดาเชื้อพระวงศ์ ขุนนางและข้าราชการของรัฐบาล ต่างรู้สึกทึ่งกันทั่วหน้า และกล่าวกันว่า "เรือลำนี้เป็นที่สุดของหัวใจของพวกเขา" อันเป็นการแสดงออกที่มีความหมายเหมือนกับที่ราชินีแห่งชีบาทรงรู้สึก เมื่อพระนางทรงเห็นชัยชนะของโซโลมอน และว่ากันว่า "ไม่มีจิตวิญญาณอื่นใดเหลืออยู่ในพระวรกายของนางแล้ว" พระคลัง๒ ทรงกล่าวว่า เรือลำนี้เป็นฝีมือของทวยเทพ หาใช่มนุษย์ไม่ เป็นที่หวังกันอย่างที่สุดว่า พระมหากษัตริย์จะทรงแหวกม่านประเพณีหลวงเพื่อการนี้สักครั้ง และเสด็จไปบนเรือเพื่อทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง เรือเอ็กสเปรสได้รับการซ่อมแซมและนำมาสู่สยาม ตามพระราชปรารภของพระองค์ที่มีพระราชประสงค์ที่จะซื้อเรือเช่นนี้ แต่เรือลำนี้ก็ก้าวหน้าเกินกว่าสติปัญญาและทักษะของชาวสยามเหลือเกิน จึงมีโอกาสเสี่ยงที่พระองค์อาจทรงเบี่ยงบ่ายหลีกเลี่ยงจากข้อตกลงที่ได้ไตร่ตรองไว้ก่อนหน้านี้ เหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด พระองค์ทรงอุทิศตนเพื่อพระราชกรณียกิจในการสร้างและตกแต่งวัดวาอาราม และอาจทรงเห็นว่าเรือลำนี้มีราคาแพงเกินไป สู้เอาไปบำรุงพระเจ้าที่ไร้ความหมายของพระองค์ไม่ได้ เราเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าของเราจะทรงใช้เหตุการณ์นี้เพื่อแผ้วถางทางให้พระองค์เข้าสู่จิตใจของผู้คนเหล่านี้ แต่ก็ไม่มีสิ่งใดที่สร้างขึ้นจากสติปัญญาและอำนาจของมนุษย์ที่จะเปลี่ยนวิญญาณของผู้คนเหล่านี้ให้หันเข้าหาพระคริสต์ได้ เว้นแต่พระวรสารเท่านั้น"

เหนือข้อความข้างต้น มีข้อความ ๒ ประโยคที่เขียนด้วยมือ ใจความว่า "พระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นผู้สั่งเรือลำนี้แต่พระองค์ทรงปฏิเสธที่จะรับซื้อไว้ เรือจะไปสิงคโปร์พรุ่งนี้"
ต่อมาก็มีเรื่องซื้อเรือรบ หันแตรรับว่าจะนำเรือรบมาขายให้ไทย ทว่าพอนำเข้ามาจริง เป็นเรือเก่าขึ้นสนิม ราคาถึง ๑,๒๐๐ ชั่ง ไทยก็ไม่ซื้อ ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๓ บันทึกไว้ว่า “เจ้าพนักงานไม่ซื้อ หันแตรพูดหยาบช้าว่าในหลวงรับสั่ง ถ้าเจ้าพนักงานไม่ซื้อจะเอาเรือไปผูกไว้หน้าตำหนักน้ำ ทรงทราบก็ขัดเคืองให้ไล่หันแตรไปเสีย ไม่ให้อยู่ในบ้านเมือง หันแตรออกไป จึงพูดอวดว่า จะออกไปฟ้องต่อคอเวอนเมนต์อังกฤษ จะให้กำปั่นรบเข้ามาชำระความ”
หันแตรทำจริงๆ แล่นเรือหรือกำปั่นรบออกไปเมืองกัลกัตตา ขอให้อุปราชอังกฤษที่นั่นสั่งเรือรบเข้ามาตีเมืองบางกอก แต่ไม่สำเร็จ แม้เจ้าเมืองอังกฤษที่สิงคโปร์เมืองใหม่ ก็ตัดสินว่าไทยไม่ได้ผิดอะไร หันแตรจึงนำเรือรบไปขายให้ญวน แล้วกลับเข้ามาเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็โดนขับไล่ออกไปอีก
ผู้ที่นำเรือเอ็กสเปรสเข้ามา ไม่ใช่ใครอื่นที่ไหน แต่คือ "โรเบิร์ต ฮันเตอร์" หรือนายหันแตรนั่นเอง เรือลำนี้เข้ามาพร้อมปืนอีก ๒๐๐ กระบอก ตามใบสั่งซื้อของรัฐบาลสยาม เพื่อใช้ป้องกันประเทศจากโคชินไชนา ความที่เรือและปืนมาถึงช้ากว่ากำหนด รัฐบาลสยามไม่ต้องการตกที่นั่งลำบากหากต้องรบพุ่งกับประเทศเพื่อนบ้านจริง จึงตกลงซื้อปืนใหญ่จำนวนมากกว่า ๑๐๐ กระบอกไว้ก่อน เพื่อความอุ่นใจและเป็นการกันไว้ดีกว่าแก้ ไม่ได้ซื้อจากใครอื่นที่ไหนนอกจากนายฮันเตอร์อีกเหมือนกัน เมื่อเรือและปืนมาถึงในเดือนมกราคม วิกฤตการณ์ที่มีต่อโคชินไชนาได้ลดความรุนแรงลง แต่นายฮันเตอร์ก็ยืนกรานให้รัฐบาลจ่ายค่าปืน ๒๐๐ กระบอกนั้นตามข้อตกลงแต่แรก ความบาดหมางระหว่างพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวกับนายฮันเตอร์ ซึ่งมีอยู่บ้างแล้ว จึงพุ่งพรวดขึ้น และมิได้จบลงเพียงเท่านั้น พระองค์ทรงเห็นว่าราคาค่าเรือ ๕๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐ ที่ตกลงกันไว้นั้น สูงเกินไปสำหรับเรือเก่าที่สนิมกินแล้ว นายฮันเตอร์รู้สึกโกรธเกรี้ยวจนถึงกับขู่ว่าจะยิงลูกระเบิดถล่มพระราชวัง



สองสามวันต่อมา นายฮันเตอร์ขออนุญาตยิงสลุตเพื่อฉลองวันเกิดของกัปตันบราวน์ แต่รัฐบาลปฏิเสธด้วยเกรงว่าอาจเป็นอุบายที่นายฮันเตอร์ใช้เพื่อยิงลูกระเบิดตามคำขู่ นอกจากนี้ยังให้เจ้าฟ้าพระองค์หนึ่งเชิญให้นายฮันเตอร์และกัปตันบราวน์เข้าวังเพื่อสะสางเงินในบัญชี เมื่อทั้งคู่ไปถึงพระบรมมหาราชวัง ก็ได้รับคำแจ้งว่า ทั้งสองอยู่ในฐานะนักโทษจนกว่าจะส่งมอบดินปืนที่มีอยู่ในความครอบครองทั้งหมดให้รัฐบาลเสียก่อน หลังจากถูกกักขังตั้งแต่เจ็ดโมงเช้าถึงห้าโมงเย็นโดยไม่มีวี่แววว่าจะได้รับการปลดปล่อย นายฮันเตอร์ และ กัปตันบราวน์จึงยอมจำนนตามคำเรียกร้อง
เรื่องนี้คงทำให้นายฮันเตอร์เป็นเดือดเป็นแค้นจนถึงกับออกปากขู่อีกว่าจะขายเรือดังกล่าวให้แก่รัฐบาลของโคชินไชนา ถ้อยคำเช่นนี้นี่เองที่เป็นเหตุให้นายฮันเตอร์ถูกเนรเทศออกจากประเทศ เขาต้องมอบธุรกิจที่มีอยู่ในสยามให้ผู้ช่วยของตนจัดการแทน และเดินทางไปเลียแผลที่สิงคโปร์...ด้วยเรือกลไฟที่ชื่อ "เอ็กสเปรส" นั่นเอง
บันทึกประจำวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๔๔ (พ.ศ. ๒๓๘๗) ของนางเฮเมนเวย์ มีสาระอย่างเดียวเท่านั้นและยืนยันการเดินทางของนายฮันเตอร์ไปสิงคโปร์ ดังนี้ "เรือกลไฟลำนั้นจากไปแล้ว โดยนำคุณบิวเอล (Buel) กับภรรยา และคุณฮันเตอร์ไปด้วย ฉันหวังให้พวกเขาเดินทางโดยสวัสดิภาพและถึงสิงคโปร์อย่างปลอดภัย"
อย่างไรก็ตามนายฮันเตอร์ก็ได้เดินทางกลับมาสยามอีก บันทึกของนางเฮเมนเวย์ประจำวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๔๔ (พ.ศ. ๒๓๘๗) มีใจความประโยคหนึ่งว่า "ฮันเตอร์กลับมาจากสิงคโปร์" การกลับมาครั้งนี้ (ข้อมูลบางแหล่งบอกว่ากลับเข้ามามากกว่า ๑ ครั้ง) คงเป็นการกลับมาเพื่อขนสัมภาระหรือจัดการธุรกิจต่างๆ ของตนให้เสร็จเรียบร้อยก่อนจากไปอย่างถาวร เพราะนายฮันเตอร์ไม่ได้ย่างเท้าลงสู่แผ่นดินสยามอีกตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต ทั้งๆ ที่ใจปรารถนา
๒๓๘๘ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพสิ้นพระชนม์ ด้วยโรคตรีสันฑฆาต
๒๓๘๙ -ญวนขอหย่าทัพกับเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์)
-โปรดเกล้าฯ ให้สร้างโลหะปราสาทวัดราชนัดดา
๒๓๙๐ พระราชกิจจานุกิจของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้ตอนหนึ่งว่า "และได้ทรงร่วมกับ Rev. J.H. Chandler สร้างเรือขับเคลื่อนด้วยเครื่องจักรไอน้ำ ที่ต่อมาเรียกว่า "เรือกลไฟ" หรือ "เรือไฟ" เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยได้ทรงทดลองแล่นในแม่น้ำเจ้าพระยา" เรื่องนี้ดูเหมือนสอดคล้องกันดีกับเรื่องเกี่ยวกับพระราชกิจจานุกิจของพระองค์ที่ปรากฏในเว็บไซต์ของโรงเรียนช่างฝีมือทหาร ที่ว่า "ปี พ.ศ. ๒๓๙๐ (ค.ศ. ๑๘๔๗) ทรงสร้างเรือกลไฟขึ้นเป็นลำแรกของประเทศไทย จนกระทั่งหนังสือพิมพ์ต่างประเทศที่มีชื่อเสียงชั้นนำของโลกชื่อว่า "The New York Tribune"๓ ได้นำเรื่องราวเกี่ยวกับพระปรีชาสามารถของพระองค์ไปลงพิมพ์เป็นการสดุดี" (แต่ยังใช้การไม่ได้ มีการทำต่อจนถึงสมัยของรัชกาลที่ ๔ จึงได้ขึ้นรวงาเป็นเรือรบของไทยโดยสมบูรณ์)

เรือกลไฟลำแรกที่กล่าวถึงนี้ เป็นเรือแบบมีล้อใบพัดน้ำด้านข้าง ขนาดประมาณ ๒๐ กว่าฟุต จึงจัดว่าเป็นเรือต้นแบบมากกว่าที่จะเป็นเรือซึ่งนำมาใช้งานอย่างจริงจัง ระยะเวลาที่ใช้ในการสร้างนั้นนานกว่าเนื้อหาในเว็บไซต์ของโรงเรียนช่างฝีมือทหาร ซึ่งอ่านดูแล้วเหมือนกับว่าทรงเริ่มสร้างและสร้างเสร็จในปีนั้น ที่จริงแล้วหากนับจากวันที่เริ่มต้นสั่งซื้อเครื่องยนต์และอื่นๆ ก็อาจกล่าวได้ว่าทรงใช้เวลาถึง ๔ ปีกว่าจะเสร็จ
๒๓๙๑ -ญวนขอเจริญพระราชไมตรีดังเดิม กองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) กลับกรุงเทพฯ
- ปราบอั้งยี่ ครั้งที่สอง เจ้าพระยาคลังเล่นตรุษเดือนสี่ เล่นสงกรานต์เดือนห้า กับเจ้าพระยาบดินทร์


๒๓๙๓ ความประพฤติก้าวร้าวโอหังของหันแตรนั้น เป็นเหตุให้เมื่อ เซอร์ เจมส์ บรูค เข้ามาขอแก้ไขทำหนังสือสัญญาใหม่ ใน พ.ศ.๒๓๙๓ ในรัชกาลที่ ๓ นั้นเอง ฝ่ายไทยได้นำความประพฤติของหันแตรอ้างต่อฝ่ายอังกฤษ ขอยกเลิกสัญญาข้อ (๒) ที่ฝ่ายอังกฤษเสนอมา (ฮันเตอร์)
ในภายหลังจึงเป็นที่ทราบกันว่า นายฮันเตอร์มิได้ขู่ด้วยปากเท่านั้น เขาได้ขายเรือ "เอ็กสเปรส" และปืนทั้งหมดให้แก่รัฐบาลของโคชินไชนาไปจริง ในราคาที่เขาเรียกร้องจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสียด้วย
เมื่อนายฮันเตอร์จากไป ความหวังที่จะมีเรือกลไฟไว้ใช้ในสยามก็จางหายไปด้วย
แต่เรือ "เอ็กสเปรส" ก็เป็นแรงดลใจให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในขณะนั้นทรงดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ทรงสร้างเรือกลไฟขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศ
Create Date :01 พฤษภาคม 2550 Last Update :6 ธันวาคม 2551 7:08:26 น. Counter : Pageviews. Comments :0