bloggang.com mainmenu search


Sean Parnell ร่วมกับ John R. Bruning เขียน
นพดล เวชสวัสดิ์  แปล สำนักพิมพ์ มติชน


"วีรบุรุษมีชีวิต...ไร้ชื่อเสียง ไร้ผู้หลั่งน้ำตาให้ ดับสูญในรัตติกาลยาวนาน 
เนื่องเพราะพวกท่านไร้ผู้ใส่ใจจดบนทึก"  - ควินตุล ฮาราอิอุส ฟลักคุส (ฮอเรส)


"หมวดเอาต์ลอว์"  หมวดทหารราบสหรัฐฯ สุดแกร่ง
ได้รับคำสั่งให้กวาดล้างข้าศึกเครือข่ายผู้ก่อการร้ายในอัฟกานิสถาน
สมรภูมิอันตรายที่สุดในโลก ข้าศึกเชี่ยวชาญพื้นที่และการยุทธ์
พวกเขาต้องรบเปิดเผย เผชิญหน้าทุกสิ่งที่ศัตรูจะโปรยปรายมาให้
อดทนท้าความตายเพื่อให้ภารกิจลุล่วง และเหนืออื่นใดเพื่อรักษาชีวิต
ของพี่น้องทหารในหมวด กอดคอกันฟันฝ่าอันตรายทุกชนิดไม่คิดทิ้งพวกพ้อง
นี่คือวีรกรรมของเหล่าทหารกล้าที่น้อยครั้งจะได้รับการกล่าวถึง หรือจารึกไว้

---

การเป็นทหารราบในกองทัพอันทันสมัยเกรียงไกรของสหรัฐฯ ในวันนี้
อาจฟังไม่เท่หรือเกรงขามเท่ากับหน่วยรบพิเศษหรือหน่วยอื่นๆ
แต่ หมวดเถื่อน เพื่อนตาย จะทำให้เราเห็นว่า ทหารราบสหรัฐฯ 
คือกองกำลังรบสำคัญ เป็นด่านหน้าสุดที่ต้องรบเปิดเผย 
รองรับทุกอย่างที่ข้าศึกจะประเคนเพื่อให้ยุทธศาสตร์โดยรวมดำเนินต่อไป
นี่คือวีกรรมของคนตัวเล็กๆ ที่ยากจะเห็นและน้อยครั้งจะได้รับการกล่าวถึง



รูปหมู่ของหมวดเอาต์ลอว์ ถ่ายไว้ในเดือนแรกที่เข้าประจำการฐานเบอร์เมลในอัฟกานิสถาน
Cr.Picture ://www.army.mil


ก่อนหน้านั้น.. ชายหนุ่มคนหนึ่งยังท่องราตรีแสนสุข วุ่นวายอยู่กับงานปาร์ตี้ ดื่มหัวราน้ำ หมกมุ่นอยู่กับลอร์ดออฟเดอะริง และ แฮรี่ พอตเตอร์  เล่นเบสในวงร็อก ใช้ชีวิตไร้กังวลของนักศึกษา งานหลักหนักหนาสาหัสมีเพียงแค่เข้าเรียนในชั้นและเขียนรายงานส่งอาจารย์ 

คืนหนึ่งเขาดวดเหล้าเมาปลิ้น ก่อนโซเซเข้านอนตอนเที่ยงคืน  ตื่นขึ้นมาในวันรุ่งขึ้นท่ามกลางกระป๋องเบียร์กระจ่ายเกลื่อนพื้นห้อง เปิดทีวี เห็นภาพตึกเวิลด์เทรดถล่มทลายลงมาต่อสายตา 

หลังเกิดหตุวินาศกรรม 9/11 เขาตัดสินใจเป็นทหาร

จากคนล่องลอยไร้สาระ ที่สร่างเมาในเช้าวันนั้น พบแล้ว..ภารกิจแห่งชีวิต ที่ไม่มีแม้แต่ใจจะเฝ้ารอ แต่ต้องการทำมันตอนนั้น เดี๋ยวนั้น  ทว่าพ่อของเขาไม่เห็นด้วยที่ลูกชายจะเรียนไม่จบแล้วออกไปเป็นทหารเกณฑ์ หลังจากทะเลาะกันหนักจนก้าวล้ำเส้นความเหมาะควร  เขายอมตกลงตามคำขอของพ่อ และทำเรื่องย้ายไปเรียนที่มหาวิทยาลัยดูเคน  เพื่อเข้าโครงการโรงเรียนนายทหาร  เข้าฝึกในหลักสูตรเรนเจอร์ของกองพัน "คาตาเมานต์" กองพันที่ 2 กรมทหารราบที่ 87 กองพลทหารภูเขาที่ 10 กองพันทหารราบชื่อดังแห่งสมรภูมิอิตาลีในสงครามโลกครั้งที่ 2  จนสำเร็จการศึกษาประดับยศร้อยตรี  และต่อมาได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บังคับหมวดเอาต์ลอว์สังกัดกองร้อยแบล็กฮอว์กของกรมทหารราบ 2-87

"ร้อยโทฌอน พาร์เนลล์" 

อายุเพียง 24 ปี เพิ่งเป็นผู้บังคับหมวดเอาต์ลอว์มาเพียง 8 เดือน เขาต้องนำทหารในหมวดออกสู่สนามรบ ต้องรับผิดชอบต่อทหารทุกนาย และทุกการตัดสินใจที่จะนำมาซึ่งผลลัพธ์อันมองไม่เห็นเสมอ 

ธรรมชาติของการรบที่นั่น  ตามแนวขอบชายแดนอัฟกานิสถานที่ติดกับปากีสถาน  บังคับให้นายทหารผู้บังคับหมวดต้องทำหน้าที่เป็นทั้งจารชน นายหน้าค้าอำนาจ และนักการทูตทำงานร่วมกับผู้นำท้องถิ่นอัฟกัน  จากนักศึกษาหนุ่มวัยแผลงคะนอง  กลับกลายเป็นตัวแทนของประเทศในแดนเถื่อนที่ทำความเข้าใจยังไม่ได้

"ผมได้รับความรู้ใหม่มากมายในระยะเวลาแสนสั้น .. ได้ความรู้ว่าผมไม่รู้อะไรเลย"  

หมวดเอาต์ลอว์  ได้รับคำสั่งให้ตั้งจุดตรวจการณ์และลาดตระเวนพื้นที่การรบซึ่งเป็นละแวกฐานปฏิบัติการส่วนหน้าของขบวนการก่อการร้าย บริเวณขอบชายแดนถือเป็นพื้นที่ปลอดภัยของข้าศึก ที่จะใช้กลับไปรับเสบียง อาวุธ ฝึกกำลังพลในปากีสถาน   และเมื่อเล็ดลอดผ่านข้ามพรมแดนเข้ามาในเขตอัฟกานิสถานได้  อุโมงถ้ำบนภูเขาตามแนวชายแดนแถบนี้จะเป็นฐานที่มั่นในการโจมตีกองกำลังท้องถิ่น  ฐานหรือหน่วยรบของกำลังนานาชาติ เคลื่อนกำลังเข้าสู่ดินแดนตอนกลางผ่าน "เส้นทางหนู" มุ่งหน้าตรงไปยังกรุงคาบูล โจมตี.. หลังจากนั้นก็จะหลบข้ามพรมแดนกลับไปปากีสถานเพื่อเริ่ม "วัฏจักร" ใหม่อีกรอบ

กองกำลังสัมพันธมิตรจึงต้องส่งทหารออกไปลาดตระเวนพื้นที่โดยรอบ เพื่อตัดเส้นทางการลำเลียงเสบียงและป้องกันกองกำลังติดอาวุธไม่ให้เคลื่อนเข้ามาในอัฟกานิสถาน และหมวดเอาต์ลอว์ เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจที่ต้องปฏิบัติการเสี่ยงตายอยู่แนวหน้า

อดีตนักศึกษาหนุ่มหน้ามน คนเลือกอยู่เลือกกิน  จึงต้องมาพบเจอกับอะไรหลายสิ่งที่คนเป็นทหารเลือกไม่ได้ ความร้อน ความสกปรกอุจาดตาไร้สุขอนามัย อาหารท้องถิ่นต้องกินตามธรรมเนียมมิตรภาพเกินรับไหว  ความไม่สะดวกสบายทั้งหลายแหล่ในการออกลาดตระเวนครั้งละหลายวันและจำนวนครั้งก็ถี่  แต่ทั้งหมดก็คงเทียบกันไม่ได้กับความสาหัสของภารกิจ

"เราเป็นทหารราบ รับมือให้ได้"

"ลาดตระเวนไม่มีหยุดพักถึงระดับสติแตก   ปรากฏตัวสม่ำเสมอเพื่ออำพรางว่ามีจำนวนทหารอันน้อยนิด"

"ความกลัวของผู้กองกดข่มความสามารถในการตัดสินใจเชิงยุทธวิธี การรู้ว่าจังหวะใดควรเข้าปะทะข้าศึกหรือถอยกลับเพื่อปกป้องชีวิตพลเรือน เป็นไม้กางเขนที่ผู้บังคับการทุกนายต้องแบกไว้บนบ่าในสนามรบ ความเบี่ยงเบนจากสมดุลละเอียดอ่อนแม้เพียงน้อยนิดก็ถือเป็นภัยพิบัติสำหรับผู้นำทัพหน้าใหม่" 

"สนามรบตบตีอารมณ์ไปสุดขั้วอย่างหาอื่นใดเปรียบได้ วินาทีหนึ่งท้อแท้สิ้นหวัง วินาทีถัดมาสุขสมอิ่มสุข"

แม้จะถูกฝึกมาหนักหนา แต่เมื่อเท้าแตะลงแผ่นดินอัฟกานิสถาน ไม่มีสิ่งใดเคยฝึกมาที่จะเรียกว่า "พร้อม" เมื่อต้องเจอกับการสู้รบของจริง  ครั้งแล้ว ครั้งเล่า ที่ถูกส่งออกไปลาดตระเวนและรบปะทะกับข้าศึกราวกับเป็น "หมวดต้องคำสาป"

ความตาย ความทุกข์ยากในสนามรบที่ต้องกระเสือกกระสนเอาชีวิตรอดท่ามกลางห่ากระสุน และรับมือกับแผนโจมตีเป็นเลิศของข้าศึกกร้านสงครามในบ้านเกิดอันเคยคุ้น-เชี่ยวชาญการใช้พื้นที่และกลยุทธ์  อีกทั้งความต่างชาติต่างวัฒนธรรมยังเป็นทั้งอุปสรรคอำพรางศัตรู และเป็นม่านขวางกั้นระหว่างทหารกับชาวบ้านในพื้นที่

เจ็บปวด กับความรู้สึกที่ว่า นี่เป็นการปฏิวัติอัฟกานิสถาน ไม่ใช่สงครามของพวกเรา-อเมริกา 

ขมขื่นยิ่งกว่า คือความรู้สึกที่ว่า ทหารอัฟกัน ชาวอัฟกัน ไม่ได้ทุ่มเทสุดชีวิต เพื่อความเป็นไท เพื่อความเป็นอิสรภาพของพวกเขาเอง ในขณะที่พวกเราทหารอเมริกันได้ทำอย่างล้ำเกินกว่าในการอุทิศทุ่มเท

หนังสือเล่มนี้จึงมีแต่การประเมินค่าว่านักรบหนุ่มต้องเผชิญเรื่องใดบ้างในสมรภูมิ ไม่มีกล่าวถึงวาระทางการเมืองหรือความเห็นต่อนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถาน  และอย่างหลังนี้เองเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้รู้สึกชอบหนังสือเล่มนี้ เพราะอ่านด้วยความสบายใจ ไม่ต้องถูกชักนำให้ซูฮกอเมริกา ไม่ต้องกล่าวหาผู้ก่อการร้าย  แต่แอคชั่นมันส์บรมอยู่กับเรื่องราวในจำกัดกรอบ ทหาร ฐานปฏิบัติการส่วนหน้า จุดตรวจการณ์ เส้นทางลาดตระเวน ข้าศึก และ การสู้รบดุเดือดในสมรภูมิ - พื้นที่สังหาร




อ่านแล้ว ความรู้สึกหนึ่งโดยสัตย์จริงคือ สงสารข้าศึกของทหารอเมริกัน ที่ด้อยกว่าแต่ว่าสุดห้าวเป้ง มิเคยเข็ดขยาดกลัวความตายหรือย่นระย่อที่จะเข้าโจมตี  ความศรัทธา-ภารกิจแห่งชีวิตใด ที่ทำให้ยังต่อสู้อยู่บนหนทางที่ยากจะชนะ หรือถ้าเชื่อว่าจะชนะ ไปเอาความเชื่อนั้นมาจากไหนกัน เคยอ่าน SEAL Target Geronimo ก็พอจะเข้าใจความเป็นมาอยู่บ้าง แต่ถึงอย่างนั้นก็อดสงสัยไม่ได้ ในเมื่ออเมริกานั้นเพียบพร้อมด้วยอาวุธยุทธโธปกรณ์ที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีสูงเว่อร์ซะขนาดนั้น  ต่อให้ข้าศึกกเก่งกาจเกรียงไกรขนาดไหน ฉลาดเล่ห์เจ้าแผนการณ์สักเท่าใด แล้วยังไงล่ะ??  ถ้าไม่มีปืนใหญ่ ไม่มีรถหุ้มเกราะฮัมวี่ ไม่มีเครื่องบินไอพ่น แบล็กฮอล์ก พรีเดเตอร์โดรน ธันเดอร์โบลต์  อะแพซี  เจแดม แลนเซอร์ ฯลฯ

สงสารข้าศึก และขอนับถือในความกล้าต่อกร ..
เพราะถ้าเทียบความได้เปรียบทางอาวุธแล้ว สงครามนี้ไม่ความยุติธรรมกันเห็นๆ 


สัญลักษณ์ "กะโหลกเขียว" ถูกวาดติดฝาประตูรถฮัมวี่ทุกคันของหมวดเอาต์ลอว์
 เหมือนเป็นการประกาศศักดานักรบ เพื่อสร้างความหวาดหวั่นให้แก่ข้าศึก 
(และเกิดผลเช่นนั้นจริงในเวลาต่อมา)

โดยธรรมชาติของสงครามต้องมีดราม่าเป็นชะตาของทหารอเมริกัน  ในท่ามกลางผู้คนที่โกหกราวกับเป็นวัฒนธรรม ไม่อาจไว้วางใจใครได้ ไม่ว่าชาวถิ่น ผู้นำท้องถิ่น หรือแม้แต่ ตชด.อัฟกัน ที่ทำงานร่วมกัน   .. พวกเขาไม่ฝักใฝ่ฝ่ายข้าศึก  แต่ก็ไม่ได้มีใจให้อเมริกาเช่นกัน  ไม่ใช่พวกเขา แต่ก็ไม่ใช่พวกเรา  ชาวถิ่นอัฟกันยินดีที่ทหารอเมริกันทำการต่อสู้เพื่อคุ้มครอง มอบความช่วยเหลือแจกจ่าย ทั้งอาหาร เวชภัณฑ์ แต่ถึงอย่างนั้น. ความตายของทหารอเมริกันก็ไม่ใช่เรื่องของพวกเขา และพร้อมจะเพิกเฉย-แต่รอดู

ทว่านั่นก็ไม่ได้หมายความว่าชาวอัฟกันทุกคนเป็นแบบนั้น ในความทรยศ มีความภักดี  ในความโหดร้าย มีมิตรภาพดีงาม  

A valley in eastern Afghanistan.
Cr.Picture ://www.army.mil

สนุกแบบยิงกันสนั่น  แม้จะมีตะขิดตะขวงใจอยู่นิดกับการที่ ฌอน พาร์เนลล์ เป็นผู้เล่าเรื่องโดยที่ตัวเขาเองเป็นเหมือนตัวเอก-ผู้บังคับการหมวดเอาท์ลอว์  การเป็นผู้นำ การออกคำสั่งที่ต้องชั่งใจระหว่างสามัญสำนึกคนปกติ สัญชาตญาณรักตัวกลัวตาย รักเพื่อนพ้อง ลูกน้องทหาร การแบกความรับผิดชอบต่อชีวิตพวกเขา  ผลงานการได้รับคำชื่นชม หรือการตำหนิติเตียนในมุมมองของคนอื่น (ที่ฌอนไม่ยอมรับ) เมื่อบวกกับการบรรยายความรู้สึกนึกคิดที่สำนวน "พระเอก" ไปหน่อยสำหรับเรา   มันจึงไม่เหมือนอ่าน "สารคดีสงคราม" แต่เหมือนอ่าน "นิยายดรามาแอคชั่น" ที่มีเรื่องราวน่าสนใจอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ความรักความผูกพันในครอบครัว ที่ติดตามเป็นเกราะคุ้มใจในสนามรบให้กล้าหาญชาญศึกเพื่อรอดชีวิตกลับไปหาคนที่รอคอยอยู่ข้างหลัง ณ แผ่นดินเกิดอันไกลโพ้น    เรื่องของล่ามอัฟกัน อับดุล ยูเซฟ  การเมืองในฐานปฏิบัติการส่วนหน้า  บุคลิกภาพของคนและผลของการฝึกเป็นเครื่องคัดกรองคน  คนที่ได้รับการยอมรับนับถือ  คนที่ถูกกีดกันเป็นคนนอก แบ่งก๊กเหล่าที่ก่อให้เกิดความเครียด   ความบาดหมางระหว่างหมวดทหาร  ก่อเกิดเป็นความระแวงไม่ไว้วางใจเมื่อต้องเข้าสู่สนามรบ  ที่ทำให้ผู้เขียนแอบค่อนขอดหนังสืออีกเล่ม ไม่ใคร่แน่ใจนัก 'เพื่อนตายสหายศึก' เหรอ?   ไม่มีทาง!

ถ้าหากฌอนเห็นว่าสงครามคือเครื่องคัดกรอง แบ่งคน .. เรากลับมีความคิดว่าสถานการณ์สงครามของกองร้อยอีซีใน เพื่อนตายสหายศึก (Band of brothers) นั้นแตกต่าง เพราะเป็นเครื่องหล่อหลอม ..จำเป็นต้องมีกันเกินกว่าจะแบ่งแยก 

แต่การที่ฌอนได้มี "ครอบครัวใหม่" เป็นผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันในสนามรบ ที่เสียสละเพื่อความอยู่รอดท่ามกลางความเป็นความตายทุกขณะจิตในเขตพื้นที่สังหาร  ความไว้วางใจที่ยึดโยงทหารหมวดเอาต์ลอว์ไว้ด้วยกัน ร่วมยืนหยัดต่อสู้กับอันตรายที่ถาโถมเข้าใส่ "หมูอเมริกัน" ในวงล้อม ข้าศึกดาหน้าวิ่งเข้าหา หากเป็นทหารรุ่นคุณปู่คุณตาในสงครามโลกครั้งที่สอง คงจะต้องถึงเวลาออกคำสั่งอย่างห้าวหาญ "ติดดาบปลายปืน"   แต่ทำอย่างไรในตอนนี้ที่อาวุธของพวกเขาไม่มีดาบปลายปืน? 

ความรักในเพื่อนพ้องจะก่อให้เกิดการดิ้นรนทำทุกวิถีทางเพื่อให้ทุกคนได้รอดชีวิต 

"เราต้องหาหมอนั่นให้เจอและเก็บมันเสีย พลซุ่มยิงเป็นตัวคูณอำนาจการยิง 
 พลซุ่มยิงมือดีตรึงทหารทั้งกองร้อยไม่ให้โงหัวได้" 

"เราต้องการการยิงข่ม ทหารทุกนาย ปืนทุกกระบอกเข้าแนวยิง"

"ตอนนี้ผมอยากอยู่เพื่อพี่น้อง"

"ไสหัวไปให้พ้น ไปดูแลการ์วินก่อน" 
(ก็แค่บาดเจ็บ ตราบใดที่ยังไม่ตาย เราต้องการคนยิงปืนทุกกระบอก)

"ไม่มีทหารคนใดปฏิเสธหน้าที่ แม้ภาวะการณ์เลวร้ายยากจะทานทน 
เราไม่เสียสิ่งเดียวที่สำคัญที่สุด เราไม่เสียศรัทธาที่มีต่อกัน"

ความโกลาหลในสนามรบ แม้บางครั้งไม่ทันได้ออกคำสั่ง แต่เพื่อนพ้องวิ่งตามหลังมา..ได้ดั่งใจ  แม้ไม่เคยร้องขอ แต่ได้รับการระวังหลังให้เสมอ  .. ก็นั่นยังไงล่ะตัวอย่างของการก่อเกิดพันธะเพื่อนตายสหายศึกที่ฌอนได้เป็นและได้รับ  ไม่ใช่หรือ?


น่านำไปสร้างหนังฮอลลีวู้ด  ให้มีพระเอกหล่อๆ สักคนรับบทเป็นผู้บังคับหมวดเอาต์ลอว์ร้อยโท ฌอน พาร์เนลล์  ที่บางทีก็แอบจิ้นเป็น จอช ฮาร์ทเน็ทท์ จาก Black Hawk Down  บางทีก็ขอคิดถึง  เจค กิลเลนฮาล กับลุคส์หัวเกรียนในในเครื่องแบบทหารเรื่อง Jarhead  อีกคนที่คิดถึงคือ คริส เฮมส์เวิร์ธ จาก Red Dawn 

จิ้นไปตามใจอยาก ... แม้เค้าจะมีพระเอกตัวจริง (ซ้าย) อยู่แล้ว ก็อย่าได้แคร์ 






Create Date :06 มิถุนายน 2557 Last Update :8 มิถุนายน 2557 9:22:31 น. Counter : 4314 Pageviews. Comments :3