bloggang.com mainmenu search


เราต่างมีกันและกันในสรรพ์สิ่ง
เราต่างอิงองค์อื่นอีกหมื่นหมาย
เราต่างถ้อยธำรงจึงทรงกาย
เราต่างคล้ายเป็นส่วนหนึ่งที่ถึงกัน

หนึ่งหยดน้ำในถ้วยจากพวยกา
อาจหลั่งมาจากหมอกเมฆเฉกสวรรค์
หรืออาจกลั่นจากเลือดเนื้อเชื้อชีวัน
อยู่ที่เธอจะมองมันจากมุมใด


เป็นหนังสือขึ้นหิ้ง ..  'หิ้ง' ในที่นี้หมายถึงชั้นบนสุดของตู้หนังสืออยู่รองมาจากหิ้งพระ .. ชั้นหนังสือที่คนบาปหนาอย่างเรา น้อยครั้งนักจะหยิบขึ้นมาอ่าน แต่ด้วยพอจะมีบุญคอยหนุนนำอยู่บ้าง ชีวิตจึงพอจะมีกัลยณมิตร ที่ช่วยชักนำให้ได้มีโอกาสเข้าวัดเข้าวาหันหน้าเข้าหาธรรมอยู่บ้างเป็นบางครั้งคราว  ที่ชั้นบนสุดของหนังสือ จึงเป็นที่รวบรวมหนังสือธรรมมะ หนังสือสาระความคิด ปรุงจิตโลกสวย แนวทางการพัฒนาตนเองน่ะค่ะ  หนังสือธรรมมะส่วนใหญ่ได้มาจากการร่วมทำบุญจัดพิมพ์หนังสือ และอีกส่วนใหญ่ได้มาจากเหล่ากัลยณมิตรที่เอื้อเฟื้อให้ธรรมะเป็นทานอยู่มิได้ขาด (ขาดก็แต่ การหยิบมาอ่าน)

แต่เล่มนี้ "จักรวาลในถ้วยชา" ซื้อมาเองนะคะ เพราะปกหนังสือสวยและชื่อที่แปลกชวนค้นหาความหมาย  ที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยอ่านหนังสือของท่าน ว.วชิรเมธี ดูสักที อย่างเรื่อง "ธรรมะติดปีก" ก็คลับคล้ายคลับคลาว่าจะมีซุกอยู่บนหิ้งด้วยเหมือนกัน เดี๋ยวจะลองรื้อหาดู 


"จักรวาลในถ้วยชา" แม้เป็นเพียงบทกวีหนึ่ง แต่ก็มีที่มาและความหมายที่ให้แง่คิดดีๆ ต่อชีวิต  

จากคำสอนของ หลวงปู่ ติช นัท ฮันท์ สู่บทกวีของ ท่าน ว. วชิรเมธี 

” ชาเกิดจากส่วนผสมที่ไม่ใช่ชา…
หากชาเกิดจากชา… ในโลกนี้คงไม่มีชา
แต่เพราะชาเกิดจากส่วนผสมที่ไม่ใช่ชา
เราจึงมีชาอุ่นๆไว้จิบเพื่อดับกระหาย

เธอลองพิจารณาลงไปในถ้วยชา… เธอจะพบว่า
ในถ้วยชานี้มีหมู่เมฆ… มีสายฝน… มีดิน… มีปุ๋ย…
มีหยาดเหงื่อของชาวไร่… มีพ่อค้า… มีนายทุน… มีนักการเมือง…
มีการขนส่ง… มีอากาศ… มีถ้วยชา…
มีคนชงชา และ มีชาอยู่ในถ้วยนี้

เมื่อไรก็ตามที่เธอมองเห็นว่าชาเกิดจากส่วนประกอบที่ไม่ใช่ชา
เมื่อนั้นเธอจะคลายจากความยึดติดในความเป็นกลุ่มก้อน (ขันธ์/สังขาร)
เธอจะเป็นอิสระจากการยึดติดในความจริงเพียงชุดเดียว
ทัศนะของเธอจะเปิดกว้าง และเธอจะมองเห็นความจริงว่า
โลกทั้งโลก จักรวาลทั้งหมด ล้วนเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน “

ในชาหนึ่งถ้วย หากพิจารณาอย่างลึกซึ้ง เราจะหยั่งถึงอะตอมและจักรวาลว่าล้วนแยกจากกันไม่ออก ความรู้ที่ว่าชาเกิดจากส่วนผสมที่ไม่ใช่ชาทำให้เรารู้จักมองโลกและชีวิตเป็นองค์รวม ทัศนะแบบแยกส่วน ตัดตอน มองอะไรเป็นส่วนๆเสี้ยวๆจะลดน้อยลงไป จิตใจจะเปิดกว้าง… เมื่อใจเปิดกว้าง ความสำคัญมั่นหมายว่า ตัวตนของตนดีเลิศที่สุด ก็จะพลันเบาบางลงไป เมื่อตัวตนของเราเบาบาง ความสดชื่นรื่นเย็น ก็จะสรงโสรจรดจิตใจให้ร่มเย็นอย่างง่ายดาย

link ที่มา : ---> OK Nation "จักรวาลในถ้วยชา-ที่มีทั้งห่วยและเลิศรส" 

หนังสือเล่มนี้ คือ หนังสือรวบรวมบทกวีของท่าน ว. วชิรเมธี ลองนับดูก็มีเกือบจะร้อยบท ซึ่งแบ่งเนื้อหาออกเป็น ๕ ภาค

ภาค ๑ หอมคำหอม   เกี่ยวกับเรื่องของ ปณิธานกวี และ การปลูกปัญญา ความสำคัญของภาษา และคุณค่าของการศึกษา (สร้างปัญญา)

ภาค ๒ ความลวง ความจริง กล่าวถึง อวิชชา หน้ากาก และ ความหวัง ชอบภาคนี้เป็นพิเศษ เพราะมีเนื้อหาสะท้อน "ความเสื่อม" ของสังคมทุกวันนี้ ไม่ว่าจะศาสนา การเมือง หรือแม้แต่ค่านิยมบางอย่างในการดำเนินชีวิต 

ภาค ๓ เข้าใจโลกโชคชีวิต  ดั่งกันและกัน  ทันคำคน ฝึกหัดดัดตน  มนุษย์บ้างาน และสุขุมชีวิต  ให้แง่คิดในการดำรงตนอยู่อย่างพอดี รักษาความดีงาม ไม่เสื่อมไปตามสังคมที่รายล้อมเราอยู่ 

ภาค ๔ พินิจนิพพาน ภควันต์ กาลเวลา  สิ่งสมมติ พระนิพพาน  เกี่ยวกับการใช้ธรรมมะนำพาชีวิต

ภาค ๕ ทิพย์ธรรมชาติ  ธรรมชาติ ผู้มีพระคุณ สื่อถึงบางสิ่งรอบตัวที่สามารถเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์บทกวี

คือ ความงามของบทกวี  นอกจากความสละสลวยของถ้อยคำที่เรียงร้อย  ท่านยังรอบรู้ทันเหตุการณ์  รู้โลก รู้ธรรม เป็นพระนักคิด นักเขียน นักเทศน์    ทั้งบุคคลสำคัญของโลก  คำโดน คำดี ประโยคเด็ด  คำไทย อังกฤษ มีหยิบยกมาใช้ แต่ที่ถูกใจจนจำได้แม่น อย่างเช่น คำว่า Somebody , Practice makes perfect  และบทที่เอ่ยถึง เซิร์น  แม้แต่ CERN สภาวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป ท่านยังเอามาเขียนเป็นบทกวีได้ คิดดูสิ  ไม่ธรรมดา 

"  บทกวีของท่านก็มีทั้งกาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ ครบทุกรูปแบบ คำที่ใช้ก็มีทั้งสัมผัสสระ สัมผัสพยัญชนะ ต้องอ่านออกเสียง แล้วจะเห็นถึงความเป็นอัจฉริยะทางด้านภาษาไทยของท่านอย่างชัดเจน  เนื้อหายิ่งไม่ต้องพูดถึง มีทั้งอ่อนช้อย ซาบซึ้ง สื่อนัยธรรมะ และร้อนแรงดุเด็ดเผ็ดมัน "(ที่มา : คำนำสำนักพิมพ์)

ส่วนตัวเราขอสรุปสั้นๆ เลยแล้วกัน ว่าท่านเป็น "ปราชญ์"

คำนำสำนักพิมพ์แนะนำดีที่ว่าให้อ่านออกเสียง   ส่วนตัว .. อาการหนักกว่านั้น คือ อ่านเป็นทำนองเสนาะกันเลยทีเดียว กรณีถ้าเป็น "กลอน" จะเคยคุ้นกับหนังสือกลอนรักวัยรุ่นที่ไม่เข้ากันกับการอ่านเป็นทำนองเสนาะ จึงติดอ่านเป็นร้อยแก้วโดยปกติ  แต่กับโครงสี่สุภาพ ถ้าเจอปุ๊บมักจะต้องอ่านเป็นทำนองเสนาะโดยอัตโนมัติไม่ว่าจะอ่านออกเสียงหรือไม่ออกเสียงก็ตาม   เพราะฉันทลักษณ์ (ลักษณะบังคับ) ของโคลงสี่สุภาพ มีการบังคับ เอก-โท ถ้าอ่านเป็นร้อยแก้วจะรู้สึกว่ามันไม่ใช่เลย มันไม่ช่ายยย

๐ ๐ ๐ เอก โท ๐ x (๐ ๐) ๐ เอก ๐ ๐ x เอก โท ๐ ๐ เอก ๐ x ๐ เอก (๐ ๐) ๐ เอก ๐ ๐ โท เอก โท ๐ ๐
พอจะจำกันได้ไหมคะ  สมัยเรียนตอนเด็กๆ  กว่าจะแต่งส่งครูได้สักโคลง ขอบอกว่าเลือดตาแทบกระเด็น กลอนหก-กลอนแปด มันไม่ได้ยากขนาดนี้ แค่แอบปิ๊งรุ่นพี่สักคน หรือ ซาบซึ้งกับเรื่องอะไรสักอย่าง ก็พอจะพรรณาออกมาได้แล้ว  เช่น กลอนวันครู วันพ่อ วันแม่  หรือยามที่เพื่อนเราสักคนต้องจากไป  (แค่เป็นกลอนสัมผัสคล้องจองธรรมดาที่ออกมาจากความรู้สึกมันก็อินแล้ว  อย่าไปว่ากันเรื่องความสละสวยของถ้อยคำ เพราะนั่นเป็นเรื่องของความสามารถ) ส่วนเรื่องการอ่าน .. ต้องขอบคุณวิธีการเรียนการสอนสมัยนั้น เราจะมีฝึกท่องกลอน ท่องอาขยานค่ะ ทุกวันก่อนกลับบ้านก็จะต้องท่องบทใดบทหนึ่งแล้วสวดมนต์ไหว้พระ ทุกวันศุกร์ก็จะต้องมีคาบชั่วโมงจริยธรรม (2 ชม ได้มั้ง) ถ้าไม่เข้าหอประชุม ก็เข้าวัด ทำความสะอาด สวดมนต์ ฟังธรรมเทศนา และฝึกนั่งสมาธิ  บทสวดมนต์บางบทเช่น ใส่บาตร ถวายสังฆทาน แผ่เมตตา เป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องสวดได้  เช่นเดียวกับการอ่านทำนองเสนาะ ทุกคนจะต้องอ่านเป็น อ่านได้จนชิน (เข้าใจว่างั้นนะ) 

ทำนองเสนาะที่เราชอบที่สุด คือ สรภัญญะ ทำนองสำหรับสวดฉันท์  ฉันท์อื่นไม่รู้แต่สวดประจำทุกบ่ายวันศุกร์ในชั่วโมงจริยธรรม คือ คำนมัสการคุณานุคุณห้า ประพันธ์โดย  พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ซึ่งประกอบด้วย ทสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ มาตาปิตุคุณ และอาจาริยคุณ ที่จะขึ้นต้นตามลำดับว่า องค์ใดพระสัมพุทธ ฯ - ธรรมะคือคุณากรฯ - สงฆ์ใดสาวกศาสดาฯ - ข้าขอนบชนกคุณ ชนนีเป็นเค้ามูลฯ - อนึ่งข้าคำนับน้อม ต่อพระครูผู้การุญฯ   อา.. ชอบมาก  

เราออกแปลกใจที่ครั้งหนึ่งการท่องอาขยานเคยได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่เห็นค่าเพียงเพราะว่ามันเป็นการท่องจำ แล้วในปัจจุบันก็เลิกท่องกันไปแล้วใช่ไหมล่ะ ทั้งที่ นั่นมันเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมทางภาษาของชาติเชียวนะ อ่านทุกวัน จำทุกวัน มันคือวิธีของการแทรกซึม ในนักเรียนร้อยคน อาจจะมีใครสักคนที่นึกรักนึกสืบทอด นั่นมันก็น่าจะคุ้มกันอยู่นะ

เคยพยายามจะเป็นตัวแทนของโรงเรียนในการประกวดอ่านทำนองเสนาะด้วยล่ะค่ะ  แต่ไม่ต้องบอกคงพอคาดได้ใช่มั้ยคะว่า "ตก" ตั้งแต่รอบคัดเลือก    

เล่มนี้ .."จักรวาลในถ้วยชา" นอกจากจะได้เนื้อหาสาระ คมความคิดเป็นคติเตือนใจแล้ว  ยังได้ทบทวนความทรงจำ 'ทำนองเสนาะ' ที่พยายามจะเข้าข้างตัวเองสุดฤทธิ์ว่าไพเราะ (แม้จะตกรอบ อิอิ Smiley)  เพลิดเพลินเจริญใจ..และภาคภูมิใจในภาษาของชาติ เอยยย
Create Date :08 พฤษภาคม 2557 Last Update :9 พฤษภาคม 2557 7:56:59 น. Counter : 1648 Pageviews. Comments :3