bloggang.com mainmenu search
 
 
การจะเลือกเครื่องปรับอากาศหรือแอร์เพื่อนำมาติดตั้งใช้งานในบ้านพักอาศัยทั่วๆไป สิ่งหนึ่งที่ผู้ใช้แอร์หลายท่านอาจจะไม่ทราบและถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ที่ควรจะนำมาพิจารณา ก็คือเรื่องของขนาดมิเตอร์วัดหน่วยการใช้ไฟฟ้า (kW/Hours Meter) ที่การไฟฟ้าฯได้ติดตั้งให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าแต่ละราย เนื่องจากมิเตอร์วัดหน่วยไฟฟ้าหรือมิเตอร์ไฟฟ้า ที่การไฟฟ้านำมาติดตั้งให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าแต่ละรายมีขนาดที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้เพื่อรองรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่แตกต่างกันไปในผู้ใช้แต่ละราย
 

สำหรับการเลือกขนาดมิเตอร์ไฟฟ้านั้นหากมีความต้องการใช้ไฟฟ้าจำนวนมากพร้อมกันในเวลาเดียว ก็จะต้องเลือกขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าที่ใหญ่ขึ้นและค่าใช้จ่ายในการขอใช้ไฟฟ้าก็จะเพิ่มมากขึ้นตามขนาดที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย
ดังนั้นการเลือกขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าควรจะประเมินให้ใกล้เคียงกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เป็นอยู่ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป

 

 

เรามาทำความรู้จักค่าพิกัดที่บอกขนาดของมิเตอร์กันก่อน 

ยกตัวอย่างค่าพิกัดกระแสไฟฟ้า ของมิเตอร์ขนาด 5(15) A 

สำหรับ 5(15) ตัวเลขข้างหน้านั้นจะบอกขนาดของมิเตอร์ ซึ่งในกรณีนี้คือมิเตอร์ขนาด 5 A 

และในส่วนของตัวเลขที่อยู่ในวงเล็บ (15) เป็นค่าพิกัดกระแสสูงสุดที่มิเตอร์ตัวนั้นจะสามารถรองรับได้ในช่วงเวลาหนึ่ง (ต่อเนื่องกันไม่เกิน 3 ชั่วโมง) โดยค่าพิกัดสูงสุดในกรณีนี้คือ 15 A 

แต่หากยังคงมีการใช้ไฟฟ้ามากเกินกว่าพิกัดสูงสุดที่แสดงในวงเล็บ ก็จะเข้าสู่สภาวะที่เรียกว่ากระแสเกินพิกัด (Over Load) ซึ่งผลที่ตามมานั้นจะทำให้การวัดของมิเตอร์เริ่มเกิดความคลาดเคลื่อนขึ้นเรื่อยๆ และที่ร้ายแรงสุดคือมิเตอร์อาจจะพังเสียหายได้

 

 

 

การป้องกันความเสียหายที่เกิดจากการใช้กระแสไฟฟ้าเกินพิกัด สามารถทำได้โดยการเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกัน จำพวก ฟิวส์ หรือ เบรกเกอร์ ที่มีพิกัดกระแสสัมพันธ์กันกับขนาดพิกัดสูงสุดของมิเตอร์ ซึ่งเมื่อเกิดกรณีที่มีการใช้ไฟฟ้าเกินพิกัด อุปกรณ์ป้องกันที่ติดตั้งไว้ ก็จะทำการปลดวงจรไฟฟ้าอัตโนมัติ ก่อนที่มิเตอร์จะได้รับความเสียหาย ซึ่งการเลือกขนาดอุปกรณ์ที่เหมาะสมก็ดังเช่นที่แสดงในตารางข้างล่างนี้

 

 

 

แต่หากพูดถึงกรณีของบ้านพักอาศัยทั่วๆไปที่ไม่ได้มีการประเมินเผื่อไว้ตั้งแต่แรก โดยส่วนใหญ่นั้นก็มักจะมีการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า 1 เฟสขนาดเริ่มต้นมาให้แล้ว ซึ่งเป็นมิเตอร์ขนาด 5(15) A โดยถือว่าเป็นขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าที่เล็กสุดที่การไฟฟ้าฯมีไว้ให้สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย

และด้วยความที่ว่ามีบ้านเรือนจำนวนค่อนข้างมาก ยังคงใช้มิเตอร์ขนาด 5(15) A อยู่ในปัจจุบันนี้ ทำให้มีหลายท่านเกิดความกังวลหรือข้อสงสัยว่ามิเตอร์ขนาดนี้ จะรองรับการใช้งานของแอร์ได้หรือเปล่าเพราะหลายๆท่านก็อาจจะได้ทราบกันมาก่อนแล้ว ว่าแอร์เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟค่อนข้างมาก 

 

 

ซึ่งถ้าเป็นแอร์รุ่นเก่าๆเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว ก็คงจะเป็นดังเช่นที่หลายๆท่านได้ทราบกันมา เพราะแอร์ในยุคนั้น ขนาดหมื่นกว่า BTU เป็นต้นไปก็กินกระแสไฟฟ้าที่ราวๆไม่ต่ำกว่า 10 A และเนื่องจากแอร์ยุคนั้นที่ใช้กันในบ้านเรา ส่วนใหญ่ใช้คอมเพรสเซอร์แบบลูกสูบ ซึ่งทำให้ช่วงเริ่มสตาร์ทจะกินกระแสกระชากเพิ่มไปอีกหลายเท่า และทำให้บ้านที่ใช้มิเตอร์ขนาดเล็กสุดอย่าง 5(15)A ดูจะรับไม่ไหว หากต้องติดแอร์แบบนี้เพิ่มเข้าไป

 

แต่ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นทำให้แอร์ในยุคปัจจุบันประหยัดไฟมากขึ้นเมื่อเทียบกับบรรพบุรุษของมันในยุคหลายสิบปีก่อน เริ่มที่การเข้ามาแทนที่คอมเพรสเซอร์แบบลูกสูบ ด้วยคอมเพรสเซอร์แบบโรตารี่ และล่าสุดคือการนำเอาระบบการควบคุมทางไฟฟ้า ผนวกกับระบบควบคุมและประมวลผลทำให้ได้เป็นแอร์ที่ประหยัดไฟมากขึ้นไปอีก ในปัจจุบันแอร์ขนาดเริ่มต้น เช่น 9,000 BTU ก็กินกระแสไฟฟ้าเฉลี่ยที่ราวๆ 3-3.5 A และ12,000 BTU ก็กินกระแสไฟฟ้าเฉลี่ยที่ราวๆ 4-5 A

นี่จึงทำให้การนำแอร์ขนาด9,000- 12,000 BTU เข้ามาติดตั้งใช้งาน ในบ้านที่ใช้มิเตอร์ขนาด 5(15)A สามารถทำได้โดยที่ยังไม่ต้องขอมิเตอร์ขนาดเพิ่มขึ้น

 

แต่ถึงแม้ว่ามิเตอร์ขนาดนี้จะสามารถติดตั้งแอร์และใช้งานได้ก็ตามแต่ก็ยังต้องมีข้อจำกัด ของจำนวนแอร์ที่จะติดตั้งด้วย ซึ่งตามหลักแล้วการติดตั้งแอร์ขนาด 9,000 - 12,000 BTU เข้ากับบ้านที่ใช้มิเตอร์ 5(15) A ควรติดตั้งแอร์สูงสุดไม่เกินสองเครื่องและในการใช้งาน ทางที่ดีนั้นไม่ควรเปิดใช้งานพร้อมกันในเวลาเดียว แต่หากจำเป็นต้องเปิดใช้งานพร้อมกันทั้งสองเครื่องในเวลาเดียวกันต้องหลีกเลี่ยงหรืองดการใช้งานพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้สำหรับให้ความร้อนเช่น เตาขดลวดไฟฟ้า, เตาแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ เตารีด เป็นต้นเพราะจะทำให้เกิดโอกาสที่กระแสไฟฟ้าจะเกินพิกัดได้

 

แต่ถ้าหากเป็นกรณีที่จำเป็นต้องติดตั้งแอร์มากกว่าสองเครื่อง หรือต้องการติดตั้งแอร์เพิ่มโดยที่แอร์เครื่องนั้น มีขนาดทำความเย็นตั้งแต่ 18,000 BTU ขึ้นไป ควรจะทำการขอเพิ่มขนาดมิเตอร์ให้ใหญ่ขึ้นจากเดิม เพราะถือว่าเกินขีดจำกัดที่เหมาะสมของการใช้มิเตอร์ 5(15) A
ส่วนการขอเพิ่มขนาดมิเตอร์นั้น จะขอเพิ่มเป็นขนาด 15(45) A หรือ 30(100) A ก็ขึ้นกับงบประมาณและความเหมาะสมในการใช้งานจริง  โดยสามารถปรึกษาช่างไฟฟ้า หรือขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานการไฟฟ้าฯใกล้บ้านท่าน

และสำหรับผู้อ่านท่านใดที่กำลังอยู่ในระหว่างสร้างบ้าน หรือระหว่างการปรับปรุงบ้านนั้น เรื่องของขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าที่ควรจะเป็นสำหรับบ้านพักอาศัยทั่วไปในยุคปัจจุบัน ควรจะเริ่มที่มิเตอร์ 1 เฟส ขนาด 15(45) A เพราะขนาดมิเตอร์ที่ 5(15) A นั้นดูเหมือนจะค่อนข้างเล็กไป เมื่อเทียบกับมาตรฐานการใช้ไฟฟ้าในยุคปัจจุบัน
เพราะส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักมีแอร์ใช้กันแทบทุกบ้านแล้ว แถมยังมีเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆเพิ่มเข้ามาอีกมากมาย และหนึ่งในนั้นเป็นสิ่งที่บ้านส่วนใหญ่ในยุคปัจจุบันมักมีใช้เช่นกัน ซึ่งนั่นก็คือเครื่องทำน้ำอุ่น ที่จัดว่าเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าอีกประเภทหนึ่งที่ขึ้นชื่อว่ากินไฟเยอะอยู่แล้วด้วย

 

Create Date :14 กันยายน 2557 Last Update :23 เมษายน 2563 13:24:39 น. Counter : 127210 Pageviews. Comments :13