bloggang.com mainmenu search










ในช่วงค่ำคืนของวันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 ได้เกิดเหตุการไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง หรือที่เรียกว่า เหตุการณ์แบล็กเอาต์ (Blackout) ขึ้นในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ หรือทั้งภาคใต้ของประเทศไทย

เหตุการณ์ Blackout เป็นกรณีที่เกิดไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง ครอบคลุมทั้งจั้งหวัด ถึงทั้งภาค และร้ายแรงที่สุดคือทั้งประเทศ ซึ่งกินระยะเวลานานนับชั่วโมงเป็นต้นไป ระยะเวลาจะมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับสาเหตุของปัญหา และศักยภาพในการกู้ระบบกลับคืน
ซึ่งเหตุการณ์ Blackout ยิ่งกินเวลานานมาเท่าไหร่ ความเสียหายที่ตามมาก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามระยะเวลาที่ไฟฟ้าดับ ไม่ว่าจะเป็น ความเสียหายทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงด้านความมั่นคง


ในอดีต ประเทศไทยเคยเกิดเหตุการณ์ Blackout ทั่วทั้งประเทศ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2521 กินระยะเวลานานสูงสุด 9 ชั่วโมง 20 นาที 
มีสาเหตุมาจากโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ซึ่งเป็นกำลังผลิตสำคัญในขณะนั้น เกิดขัดข้องทางเทคนิค ไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนเข้าสู่ระบบได้ 
เมื่อกำลังผลิตที่สำคัญเกิดขัดข้องจนไม่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าป้อนเข้าระบบได้ ส่งผลให้กำลังการผลิตที่เหลือไม่เพียงพอต่อความต้องการในขณะนั้น
จนในที่สุดระบบป้องกันจึงทำการ ปลดโรงไฟฟ้าอื่นๆที่เหลือออกจากระบบ



ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ Blackout ทั่วทั้งประเทศ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตก็ได้นำบทเรียนจากเหตุการณ์ดังกล่าว มาเป็นแนวทางในการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการเช่นนี้ขึ้นอีก 
นับตั้งแต่นั้นมา ก็ดูเหมือนว่าระบบไฟฟ้าของประเทศไทย(ในเขตเมือง)ค่อนข้างจะมีเสถียรภาพมากขึ้น
แต่...ในที่สุดเหตุการณ์ Blackout ก็ได้เกิดขึ้นอีกครั้ง แต่ในคราวนี้เกิดขึ้นเฉพาะในส่วนของพื้นที่ทั้ง 14 จังหวัดของภาคใต้ เกิดเสียงวิภาควิจารณ์จากหลายๆฝ่าย
ซึ่งในสังคมออนไลน์ บนโลก social network ก็ต่างพากันวิภาควิจารณ์กันไปต่างๆนาๆ บางคนที่ไม่มีความเข้าใจทางด้านเทคนิค ก็พากันเชื่อพากันพูดไปแบบผิดๆ พยายามโทษไปยังฝ่ายต่างๆ และหนีไม่พ้นกับการนำไปโยงกับเรื่องการเมืองจนได้ 
และอีกสิ่งหนึ่งที่ถูกนำไปวิภาควิจารณ์กันมากมาย คงหนีไม่พ้นภาพยนตร์โฆษณาไฟดับทั้งประเทศ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ที่เคยนำมาออกอากาศทางโทรทัศน์ เมื่อช่วงปี 2552

ในฐานะที่ผู้เขียน ร่ำเรียนและทำงานอยู่ในแวดวงด้านไฟฟ้า รวมทั้งส่วนตัวผู้เขียนเองก็เป็นคนภาคใต้โดยกำเนิด เลยขอหยิบยกเรื่องราวเหตุการณ์ Blackout ทั่วทั้งภาคใต้ มาเขียนเป็นบทความ
ซึ่งจะขอว่าด้วยสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ Blackout โดยอ้างอิงจากข้อมูลทางด้านเทคนิคเป็นหลัก และไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ที่สำคัญผู้เขียนเองก็ไม่ได้มาจากการไฟฟ้าฯด้วย






กำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้

ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจ ในเรื่องของความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้เองในพื้นที่ภาคใต้ 
ไฟฟ้าที่ภาคใต้ผลิตได้เอง โดยปกติแล้วมีความสามารถหรือกำลังการผลิต ในช่วงดังกล่าว อยู่ที่ประมาณ 1,600 - 2,000 เมกะวัตต์ 


พลังงานไฟฟ้าที่ได้มาจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนและเขื่อน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ 7 แห่ง ได้แก่


1. โรงไฟฟ้าขนอม เป็นโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ และเป็นโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตสูงสุดของภาคใต้ (ในเวลานั้น) ตั้งอยู่ที่ อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 824 เมกะวัตต์






2. โรงไฟฟ้าจะนะ (การไฟฟ้าฝ่ายผลิต) ตั้งอยู่ที่ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม ที่มีประสิทธิภาพสูง มีกำลังการผลิตรวม 731 เมกะวัตต์ 






3. โรงไฟฟ้ากระบี่ (การไฟฟ้าฝ่ายผลิต) ตั้งอยู่ที่ อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน มีกำลังการผลิตรวม 340 เมกะวัตต์ 






4. โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี (การไฟฟ้าฝ่ายผลิต) ตั้งอยู่ที่ อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล มีกำลังการผลิตรวม 244 เมกะวัตต์ 






5. โรงไฟฟ้ากัลฟ์ ยะลา กรีน เป็นโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดย่อม ตั้งอยู่ที่ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากเชื้อเพลิงชีวมวล มีกำลังการผลิตรวม ประมาณ 20-22 เมกะวัตต์






6. เขื่อนรัชชประภา (การไฟฟ้าฝ่ายผลิต) ตั้งอยู่ที่ อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำ มีกำลังการผลิตรวม 240 เมกะวัตต์






7. เขื่อนบางลาง (การไฟฟ้าฝ่ายผลิต) ตั้งอยู่ที่ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำ มีกำลังการผลิตรวม 72 เมกะวัตต์ 





จากข้อมูลของโรงไฟฟ้าและเขื่อนที่อยู่ในภาคใต้ หากลองนำกำลังการผลิตของแต่ละแห่ง มารวมกันแล้ว เราจะได้ค่ากำลังการผลิตรวม (สูงสุด) ประมาณ 2,160 เมกะวัตต์ ซึ่งถือว่ามีความใกล้เคียงกับค่าปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าของภาคใต้ (สูงสุด) ที่ประมาณ 2,200 - 2,500 เมกะวัตต์ แต่ถึงยังไงก็ผลิตได้ไม่พออยู่ดี

และอีกประการหนึ่งคือ ค่ากำลังการผลิตรวม(สูงสุด) ที่ได้มากว่า 2,000 เมกะวัตต์ เป็นค่ากำลังการผลิตเมื่อโรงไฟฟ้าทุกแห่งในพื้นที่ภาคใต้ เดินเครื่องพร้อมกันเต็มกำลังการผลิต 100% 
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว โดยปกติโรงไฟฟ้าและเขื่อนทุกแห่งในภาคใต้ ไม่ได้เดินเครื่องพร้อมกันเต็มกำลังการผลิต ตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากเหตุผลด้านเทคนิค รวมไปถึงด้านต้นทุนการผลิต
โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ที่ไม่สามารถเดินระบบผลิตกระแสไฟฟ้าได้ตามอำเภอใจเวลาใดก็ได้ เพราะการผลิตกระแสไฟฟ้าจะต้องมีการปล่อยน้ำออกจากเขื่อน การปล่อยน้ำออกจากเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ก็อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณการกักเก็บน้ำในเขื่อนและระดับน้ำในพื้นที่ใต้เขื่อน
ซึ่งตลอดระยะเวลาการผลิตกระแสไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ก็ต้องมีการควบคุมระดับน้ำบริเวณใต้เขื่อน ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมด้วย 

โดยรวมกำลังการผลิตไฟฟ้าของภาคใต้ (ในขณะนั้น) จึงมีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 1,600 - 2,000 เมกะวัตต์ 
แต่ความต้องการใช้งานในขณะนั้น มีอยู่ถึง 2,200 - 2,500 เมกะวัตต์ และยังจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆในอนาคตข้างหน้า

ที่ผ่านมา มีความพยายามที่จะสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อเสริมศักยภาพและความมั่นคงทางพลังงานให้กับพื้นที่ภาคใต้ รวมไปถึงรองรับการขยายตัวอย่างต่อเนื่องทางภาคใต้ ทั้งในภาคการท่องเที่ยวและภาคอุตสาหกรรม 

โดยในระหว่างที่ยังไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มในพื้นที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จึงต้องหาช่องทางเพื่อมารองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ โดยเบื้องต้นได้มีการนำไฟฟ้าจากพื้นที่ภาคกลางเข้ามายังพื้นที่ภาคใต้ ผ่านทางระบบสายส่งแรงสูง ซึ่งมีแรงดันไฟฟ้าที่ระดับ 500 kV (500,000 โวลต์)
และอีกส่วนหนึ่ง ก็ได้ติดต่อทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซีย ผ่านทางระบบส่งไฟฟ้าแรงสูงกระแสตรง HVDC (high voltage direct current system) เพื่อนำมารองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้






สาเหตุหลัก ของเหตุการณ์ Blackout ทั่วทั้งภาคใต้

หลังจากเหตุการณ์ Blackout ทั่วทั้งภาคใต้ หน่วยงานที่มีส่วนในการรับผิชอบ อย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลในส่วนของการผลิตและการส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย 
ได้ออกมาแถลงถึงสาเหตุที่แท้จริงของเหตุการณ์ Blackout ที่เกิดขึ้น

หลักใหญ่ใจความของสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ Blackout ทั่วทั้งภาคใต้ โดยสรุปคือ... 
สายส่งที่ส่งพลังงานไฟฟ้ามาจากภาคกลางเกิดเสียหาย เมื่อถึงช่วงที่ความต้องการไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น และสูงเกินกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าในพื้นที่จะรองรับได้ ระบบป้องกันจึงปลดโรงไฟฟ้าแต่ละแห่งออกไปจากระบบนั่นเอง 





สายส่งที่เกิดความเสียหาย

ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจ ถึงระบบโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งระบบโครงข่ายสายส่งในประเทศไทยมีการเชื่อมโยงเข้าถึงกันเป็นเครือข่ายคล้ายกับใยแมงมุม หรือเรียกว่าระบบกริด (grid) เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการกระจายพลังงานไปยังพื้นที่ต่างๆและยังเป็นการรักษาความเสถียรให้กับระบบอีกด้วย โดยระบบโครงข่ายสายส่งที่เชื่อมถึงกันในแต่ละพื้นที่นั้น ช่วยให้สามารถจ่ายไฟไปยังที่อื่นๆได้อย่างครอบคลุม และในทางกลับกันหากเกิดปัญหาขัดข้องก็สามารถรับเอาไฟฟ้าจากที่อื่นๆมาใช้ได้



ในส่วนของภาคใต้ เนื่่องด้วยลักษณะภูมิประเทศที่เป็นคอคอดบริเวณภาคใต้ตอนบน ทำให้การเชื่อมโยงของโครงข่ายสายส่ง ไม่สามารถเชื่อมโยงเป็นรูปแบบโครงข่ายคล้ายกับใยแมงมุมได้ โครงข่ายสายส่งที่ลงมาภาคใต้จึงต้องเดินเป็นแนว ลงมาตามลักษณะภูมิประเทศ 
หากในบริเวณดังกล่าว เกิดเหตุไม่คาดฝันที่ทำลายสายส่งที่ลงมายังภาคใต้ ระบบโครงข่ายสายส่งทางภาคใต้ก็จะขาดออกจากระบบโดยทันที





ต้นเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการ Blackout เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556
เนื่องมาจากสายส่งขนาด 500 kV (500,000 โวลต์) ที่ส่งกระแสไฟฟ้าจากภาคกลางลงมาภาคใต้ เกิดเหตุไม่คาดฝันบริเวณ จอมบึง - ประจวบ ทำให้สายส่งได้รับความเสียหายไม่สามารถส่งกระแสไฟฟ้าได้
ภายหลังจากการสอบสวนหาสาเหตุ ตัวแทนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ได้ออกมาแถลงต้นเหตุที่ทำให้สายส่งได้รับความเสียหาย ว่า..."เกิดจากฟ้าผ่า"






ระบบป้องกันทำงาน

เมื่อสายส่งที่เชื่อมต่อลงมายังภาคใต้ได้รับความเสียหายจนไม่สามารถส่งพลังงานได้ ส่งผลให้พลังงานไฟฟ้าส่วนหนึ่งหายออกไปจากระบบ กำลังการผลิตที่รองรับความต้องการใช้จึงลดลง
และเมื่อช่วงที่ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่ากำลังการผลิตที่มี และโรงไฟฟ้าที่อยู่ในพื้นที่ไม่สามารถรองรับความต้องการใช้พลังงาน ที่มีในเวลานั้นได้
ระบบป้องกันที่มีอยู่ ตวรจพบความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มีมากเกินกำลังผลิตขณะนั้น จึงต้องตัดการเชื่อมต่อ และปลดโรงไฟฟ้าในพื้นที่ออกจากระบบทีละแห่งจนหมด




การขัดข้องที่จุดเดียว สามารถทำให้ระบบทั้งระบบล่มได้ ซึ่งถ้าใครอยากจะศึกษาเพิ่มเติมในส่วนนี้ ก็ลองเข้าไปตามลิงค์ที่แนบ //en.wikipedia.org/wiki/Cascading_failure










การกู้ระบบให้กลับสูสภาวะปกติ

สำหรับเหตุการ Blackout หรือเหตุการณ์ไฟดับทั่วทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ที่ผ่านมา
การกู้ระบบให้กลับสู้สภาวะปกติ หรือการจ่ายไฟให้กลับเข้าสู่ระบบ สามารถทำได้รวดเร็วสุด(ในบางพื้นที่)สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ ภายหลังจากไฟดับประมาณ 1 ชั่วโมง แต่การกู้ทั้งระบบของภาคใต้ให้กลับสู่สภาวะปกติ กินเวลานานประมาณ 4-5 ชั่วโมง

ทำให้หลายฝ่ายเกิดข้อสงสัย และมีคนบางกลุ่ม พยายามเชื่อมโยงนำไปเปรียบเทียบกับโฆษณาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ที่มีเนื้อหาว่าด้วยการกู้ระบบตามแผน Black start และสามารถกู้ระบบกลับได้ภายใน 10 นาทีเท่านั้น
โฆษณาชุดดังกล่าว ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ขึ้น
แต่ทั้งนี้ ก่อนที่เราจะวิจารณ์อะไรไป ก็ควรพิจารณาที่สาเหตุและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

เหตุการณ์ไฟดับภาคใต้ที่เกิดขึ้นล่าสุด การกู้ระบบกลับคืนมาได้โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงกว่าๆ เพื่อจ่ายไฟให้กับพื้นที่สำคัญๆเป็นอันดับแรก
ถ้ามองในทางเทคนิคแล้ว ระยะเวลาขนาดนี้ ผู้เขียนถือว่าเร็วพอสมควรแล้ว เพราะเหุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นทั่วทั้งภาคใต้ การที่ไฟดับทั้งภาคใต้เกิดจากระบบป้องกันทำการปลดโรงไฟฟ้าออกจากระบบ ซึ่งในทางปฏิบัติจริง คงต้องใช้เวลาสักพักหนึ่งในการตรวจสอบสาเหตุ 
ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงแล้ว ก็เกิดจากความเสียหายในระบบสายส่งแรงสูงที่ส่งไฟมาจากภาคใต้ ซึ่งทำให้ระบบไฟฟ้าภายในภาคใต้ถูกตัดขาดออกจากส่วนกลาง ซึ่งกำลังการผลิตภายในพื้นที่ก็มีไม่พอ ระบบป้องกันจึงทำงาน อีกอย่างคือ โครงข่ายสายส่งที่เชื่อมต่อมายังภาคใต้ ไม่ได้เชือมโยงเป็นโครงข่ายใยแมงมุม เพราะพื้นที่ภูมิประเทศเป็นแนวยาวลงไป

ในทางกลับกัน ลองคิดเล่นๆ...ถ้าสาเหตุที่แท้จริงของเหตุการไฟดับทั้งภาคใต้มาจาก เหตุขัดข้องที่เกิดขึ้นจากโรงไฟฟ้าในพื้นที่ทำให้สูญเสียกำลังการผลิต แต่สายส่งหลักไม่เกิดปัญหา การกู้ระบบกลับคืนย่อมสามารถทำได้รวดเร็วกว่าอยู่แล้ว

ส่วนเสียงวิจารณ์จากบางฝ่าย ที่พูดถึงเรื่องความล่าช้าในการซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซีย 
ซึ่งแม้จะสามารถโทรไปสั่งซื้อได้ทางโทรศัพท์ แต่ก็ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ ในการสั่งซื้อไฟฟ้าต้องมีขั้นตอนในการดำเนินการ และต้องมีการอนุมัติจากผู้มีอำนาจ ไม่ใช่ว่าเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าในภาคใต้จะสามารถยกหูโทรศัพท์ โทรไปขอซื้อได้ทันทีทันใด ได้ทันใจเหมือนสั่งซื้อไก่ KFC

และที่ร้ายแรงสุด คือมีคนบางกลุ่ม พยายามจับโยงเข้าหาเรื่องการเมือง 
มีบางฝ่ายที่พูดกล่าวหาไปต่างๆนาๆ ประมาณว่า...เหตุการไฟดับเป็นแผนการที่การไฟฟ้าฯร่วมกับภาครัฐ ตั้งใจให้เกิด หรือเรียกง่ายๆว่าจงใจดับไฟฟ้า
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ผู้เขียนมองว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวมันดูเลวร้ายและไม่เป็นธรรมเอาเสียเลย รวมทั้งยังเป็นข้อกล่าวหาที่ไร้สาระอีกด้วย
ทุกสาขาอาชีพย่อมมีจรรยาบรรณวิชาชีพ ใครที่ได้ยินข้อกล่าวหาเช่นนั้นมา ก็ให้กลับไปลองค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวกับหน้าที่รับผิดชอบของการไฟฟ้าฯ ก่อนที่จะเชื่อหรือกล่าวหาแบบไม่มีเหตุผล 

Create Date :23 พฤษภาคม 2556 Last Update :5 เมษายน 2560 20:35:11 น. Counter : 10083 Pageviews. Comments :1