bloggang.com mainmenu search



ในปัจจุบัน น้ำยาแอร์ หรือสารทำความเย็น R410a เริ่มมีใช้งานอยู่ภายในแอร์หลายรุ่นหลายยี่ห้อ ซึ่งผู้ผลิตหลายๆแบรนด์ได้ทำการเปลี่ยนมาใช้ R410a แทนการใช้น้ำยาแอร์ตัวเดิม ซึ่งก็คือ R22 

แต่เพราะว่าช่างแอร์ทั่วๆไป ต่างก็คุ้นเคยกับการใช้ R22 มาเป็นเวลานาน ซึ่งเรื่องของการเติมน้ำยาแอร์ก็เช่นกัน เป็นอีกเรื่องที่ช่างแอร์หลายรายยังเข้าใจผิดและทำในแบบผิดๆอยู่



การเติมน้ำยาแอร์เพิ่มในภายหลัง

หากเป็นแอร์แบบเดิมๆที่ใช้น้ำยา R22 กรณีที่แอร์ถูกติดตั้งใช้งานไปแล้ว และภายหลังได้มีการวัดแรงดันแล้วพบว่าน้ำยาแอร์ของเดิมที่มีอยู่มีไม่เพียงพอ เราก็สามารถเติม R22 ส่วนที่ขาดหายเพิ่มเข้าไปในระบบได้ทันที โดยอิงจากค่าแรงดันที่อ่านได้บนเกจวัดแรงดัน

แต่ในกรณีของแอร์ที่ใช้ R410a เมื่อติดตั้งใช้งานไปแล้ว หากตรวจสอบพบภายหลัง ว่าน้ำยาที่มีในระบบขาดหายไปหรือมีอยู่ไม่เพียงพอ การจะเติมน้ำยา R410a เพิ่มเข้าไปในระบบรวมกับของเดิม เพื่อทดแทนในส่วนที่ขาดหาย ไม่สามารถทำได้เหมือนในกรณีของ R22 




เหตุผลที่ R410a ไม่สามารถเติมเพิ่มเข้าไปภายหลังได้

ที่เป็นเช่นนี้เพราะ น้ำยา R410a เป็นสารผสม ซึ่งได้มาจากการผสมของสารทำความเย็นสองชนิด ซึ่งก็คือ R32 กับ R125 ในอัตราส่วน 50:50 สารทำความเย็นทั้งสองชนิด ต่างก็มีจุดเดือดและแรงดันไอที่ไม่เท่ากัน หากระบบแอร์ที่ใช้ R410a เกิดรอยรั่ว สารตัวที่มีแรงดันไอสูงกว่าก็จะมีโอกาสรั่วซึมออกไปได้มากกว่า ซึ่งนี่เองก็จะทำให้อัตราส่วนของสารที่ผสมกันอยู่ในระบบเกิดความผิดเพี้ยนไป การเติมของใหม่ตามเข้าไปก็จะยิ่งทำให้ส่วนผสมของน้ำยาผิดเพี้ยนไปจากเดิมอีก นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ไม่ควรเติม R410a ของใหม่เข้าไปในระบบที่มีน้ำยาของเก่าอยู่ เพราะถ้าหากสัดส่วนของน้ำยาผิดเพี้ยนไปจากสูตรเดิม ก็จะส่งผลให้แอร์ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ การทำความเย็นทำได้ไม่ดีเท่าเดิม สิ้นเปลืองพลังงาน และอาจจะร้ายแรงถึงขั้นชิ้นส่วนในระบบเสียหายก่อนเวลาอันควร


สำหรับการซ่อมบำรุงแอร์ที่ใช้สารทำความเย็น หรือน้ำยา R410a กรณีที่มีการตรวจพบภายหลังว่าน้ำยาแอร์ที่มีในระบบ มีจำนวนไม่เพียงพอ จนแอร์ไม่สามารถทำความเย็นได้ตามปกติ ซึ่งน้ำยาส่วนที่หายไปนั้นอาจจะเกิดจากการรั่วซึมของระบบก็เป็นได้

ในกรณีดังกล่าว หากเป็นแอร์แบบเดิมๆ ที่ใช้น้ำยา R22 ก็สามารถเติมน้ำยาส่วนที่ขาดหายเพิ่มเข้าไปรวมกับของเดิมที่มีอยู่ได้


แต่ถ้าเป็นแอร์ที่ใช้น้ำยา R410a การเติมเพิ่มเข้าไปในตอนหลังแบบนี้ ไม่สามารถทำได้ เพราะน้ำยาของใหม่ที่ใส่เข้าไปนั้น จะไปผสมรวมกับของเดิมที่มีอยู่ในระบบ ซึ่งอาจจะทำให้น้ำยาแอร์ในระบบ มีสัดส่วนที่ผิดเพี้ยนไปจากสูตรเดิม

ตรงนี้เป็นข้อควรระวังที่ไม่ควรละเลย เพราะ R410a นั้นเป็นสารประกอบ ไม่เหมือน R22 ที่เป็นสารเดี่ยว 

การเติมน้ำยา R410a ในภายหลัง จะทำให้น้ำยาใหม่เข้าไปในระบบเกิดการผสมกับน้ำยาของเดิมที่มีอยู่ ซึ่งนี่ถือเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะจะทำให้อัตราสวนทางเคมีของน้ำยา R410a ที่มีในระบบ ผิดเพี้ยนไปจากสูตร อย่าคิดว่าเติมเข้าไปไม่มากแล้วสูตรทางเคมีของน้ำยาก็เพี้ยนไปเล็กน้อยคงไม่เป็นไร เพราะในเมื่อผู้ผลิตแอร์และผู้ผลิตน้ำยาตัวนี้ ได้บอกวิธีการที่ถูกต้องรวมถึงผลเสียไว้ชัดเจนแล้ว ในฐานะช่างก็ควรจะยึดถือและปฏิบัติตาม อย่าทำตามความเคยชินหรือทำตามใจตนจนขัดต่อวิธีการที่ถูกต้อง ซึ่งถ้าหากไม่ได้เป็นผู้คิดค้นก็ไม่ควรทำอะไรที่นอกเหนือจากสิ่งที่ผู้ผลิตกำหนดไว้




การซ่อมบำรุงแอร์ที่ใช้ R410a

หากเป็นการบำรุงรักษาแอร์ อย่างเช่นการล้างแอร์ที่ใช้ R410a ง หากเปิดเครื่องแล้วพบว่าแอร์ยังคงทำความเย็นได้ปกติทั้งก่อนและหลังล้าง ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปเติมน้ำยาเพิ่มในภายหลัง เพราะในเมื่อแอร์ยังเย็นอยู่ก็ไม่ต้องกลัวว่าน้ำยาที่มีในระบบจะไม่พอ ถ้าน้ำยามีไม่พอจริงแอร์ก็จะไม่เย็นในที่สุด 

เรื่องปริมาณน้ำยาแอร์ในระบบก็ไม่ต้องกังวลว่าน้ำยาจะขาดหายไปในระหว่างใช้งาน เพราะหากระบบแอร์ถูกติดตั้งมาดีไม่มีการรั่วซึม น้ำยาในระบบที่มีอยู่ก็สามารถใช้งานต่อเนื่องไปได้จนกว่าแอร์จะหมดอายุการใช้งาน 

ถ้าแอร์ที่ใช้ R410a ไม่สามารถทำความเย็นได้เท่าทีควร ก่อนจะดูค่าแรงดันน้ำยา ควรพิจารณาค่ากระแสไฟฟ้าที่เครื่องใช้ ซึ่งเมื่อวัดกระแสการใช้งานดูแล้วพบว่ากระแสไฟฟ้าขณะที่คอมเพรสเซอร์เดินเต็มกำลัง อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับปกติ แล้วจึงวัดแรงดันด้านทางดูด หากพบว่าปริมาณน้ำยาในระบบมีเหลืออยู่น้อยกว่าครึ่ง ก็สมควรที่จะต้องเติมน้ำยาใหม่ให้แอร์เครื่องนั้น โดยการปล่อยของเดิมที่เหลืออยู่ออกให้หมด ตรวจสอบหารอยรั่ว/ซึม(ถ้ามี) แล้วทำการแว็คคั่มระบบ จากนั้นจึงจะเติมน้ำยาใหม่จากถังเข้าไปให้เต็ม




การเติมน้ำยา R410a อย่างถูกต้อง

หากพบว่าแอร์เครื่องที่ใช้ R410a มีปริมาณน้ำยาในระบบไม่เพียงพอ จนไม่สามารถทำความเย็นได้เท่าที่ควร การจะเติมน้ำยาแอร์เพิ่มเข้าไปให้เต็มระบบ จะต้องปล่อยส่วนที่เหลือในระบบของเดิมออกมาจนหมด ส่วนที่ปล่อยออกมานั้นมักจะปล่อยทิ้งไปสู่บรรยากาศ หลังจากน้ำยาที่เหลือถูกปล่อยทิ้งหมดแล้วจึงเข้าสู่ขั้นตอนของการทำสุญญากาศ หรือแว็คคั่ม (Vacuum) ทั้งระบบ ซึ่งควรจะทำสุญญากาศระบบประมาณ 30 นาที 

แล้วจึงนำเอาถังน้ำยา R410a มาเติมโดยการคว่ำถังลงให้วาล์วถังน้ำยาอยู่ด้านใต้ เพื่อชาร์จน้ำยา R410a ในสถานะของเหลวเข้าสู่ระบบแอร์ การชาร์จน้ำยา R410a วิธีที่ถูกต้องนั้น จะต้องวางถังไว้บนตราชั่ง(โดยทั่วไปจะใช้ตราชั่งดิจิตอลเพราะให่ค่าที่แม่นยำ) เพื่ออ่านค่าของปริมาณน้ำยาที่เติมเข้าไป ซึ่งแอร์แต่ละเครื่องจะมีการระบุน้ำหนักของน้ำยาแอร์ที่กำหนดไว้บนแผ่นป้ายเนมเพลตข้างตัวเครื่องแล้ว การชาร์จน้ำยาแอร์โดยอิงตามน้ำหนักจึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุด 






สรุป

สำหรับผู้ปฏิบัติงานท่านใดที่ไม่เคยผ่านการอบรมจากทางผู้ผลิตหรือไม่เคยศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ R410a มาก่อน ควรจะทำความเข้าใจวิธีการที่ถูกต้องในการให้บริการการและปฏิบัติตามวิธีการที่ถูกต้อง ซึ่งสิ่งที่ต้องจำไว้หลักๆคือ การเติมน้ำยา R410a ในระบบแอร์บ้านทั่วไป ควรเติมเข้าไปให้เต็มระบบในครั้งแรกครั้งเดียว ไม่มีการมาเติมเพิ่มทีละนิดเหมือนที่ทำกันใน R22 โดยหากต้องการจะเติม R410a ใหม่ต้อง ก็จะต้องปล่อยของเดิมที่อยู่ในระบบทิ้งก่อน แล้วแว็คคั่มระบบใหม่ก่อนจะเติมน้ำยา จากนั้นนำถังน้ำยามาต่อสายเกจโดยการเติมน้ำยาตัวนี้จะต้องคว่ำถังเพื่อเติมเข้าไปในสถานะของเหลวจนเต็มระบบ โดยใช้น้ำหนักของน้ำยาเป็นตัวบอกปริมาณการเติม



ทิ้งท้ายสำหรับเจ้าของบ้าน

ท่านเจ้าของบ้านที่เรียกช่างมาล้างแอร์ที่บ้าน ควรทำความรู้จักแอร์ของท่านด้วย ว่าแอร์เครื่องนั้นใช้สารทำความเย็นชนิดใด ซึ่งกรณีแอร์ระบบอนเวอร์เตอร์และแอร์รุ่นที่ผลิตมาในยุคหลังๆมักจะใช้น้ำยา R410a หากแอร์ที่ใช้เป็นน้ำยา R410a เวลาเรียกช่างมาล้างแอร์เครื่องนี้ หลังจากล้างเสร็จถ้าช่างมีการเรียกเก็บค่าน้ำยาเพิ่ม โดยระบุว่าน้ำยาแอร์ขาดต้องเติมเพิ่มเข้าไปอีก...ปอนด์ ก็แสดงว่าช่างรายนี้เป็นช่างที่มั่วไม่รู้จริง แถมยังจะเล่นไม่ซื่อด้วยการคิดค่าน้ำยาแอร์เพิ่มอีก 







Create Date :17 กรกฎาคม 2558 Last Update :20 กรกฎาคม 2558 1:19:57 น. Counter : 99548 Pageviews. Comments :27