bloggang.com mainmenu search





          การปั๊มดาวน์ (Pump down) เป็นเทคนิคหนึ่งในงานช่างแอร์ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ให้คอมเพรสเซอร์ทำหน้าที่ดูดน้ำยาหรือสารทำความเย็นในระบบ ให้กลับเข้ามาอยู่เฉพาะที่ในส่วนของชุดคอนเด็นซิ่งยูนิต หรือชุดคอยล์ร้อน เพื่อเตรียมที่จะถอดชุดแอร์เครื่องนั้นออกมาจากจุดติดตั้ง 


การปั๊มดาวน์เพื่อเก็บสารทำความเย็นหรือน้ำยาแอร์ไว้ภายในชุดคอนเด็นซิ่งยูนิต สามารถทำได้เฉพาะแอร์แบบแยกส่วนที่ชุดคอนเด็นซิ่งยูนิต มีการติดตั้งวาล์วบริการหรือเซอร์วิสวาล์ว (Service Valve) มาให้แล้ว ซึ่งก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับแอร์รุ่นมาตรฐานในปัจจุบัน เพราะแอร์รุ่นมาตรฐานที่ขายกันในบ้านเรา ต่างก็มีเซอร์วิสวาล์วติดตั้งมาให้ด้วยกันทั้งนั้น

แต่หากเป็นแอร์รุ่นเก่าๆ หรือแอร์รุ่นที่มีการประกอบขึ้นมาเอง ซึ่งไม่ได้มีการติดตั้งวาล์วบริการมาให้ ก็จะไม่สามารถใช้วิธีการการปั๊มดาวน์แบบนี้ได้ 




ขั้นตอนการปั๊มดาวน์

อันดับแรกเริ่มจากเปิดฝาครอบเซอร์วิสวาล์วออก และเปิดฝาจุกเกลียวที่ครอบวาล์วลูกศรออกเพื่อทำการต่อเกจวัดแรงดันที่ท่อทางดูด (Suction) หรือท่อใหญ่นั่นเอง
โดยก่อนจะทำการต่อสายเกจ ควรตรวจเช็ควาล์วที่เกจว่าปิดสนิทแล้วหรือไม่ จากนั้นให้ทำการต่อสายเกจสีฟ้าซึ่งเป็นด้านแรงดันต่ำ (Low) เข้าที่วาล์วลูกศร ซึ่งอยู่ด้านท่อทางดูด

สำหรับแอร์ที่ใช้น้ำยา R22 สามารถต่อเกจวัดแรงดันเข้าไปได้ทั้งในช่วงก่อนที่คอมเพรสเซอร์จะทำงาน หรือหลังจากที่คอมเพรสเซอร์ทำงานแล้ว ขึ้นกับความถนันของผู้ปฏิบัติงาน เพราะโดยพื้นฐานแล้วน้ำยา R22 มีแรงดันในระดับที่ไม่สูงมาก การต่อเกจวัดแรงดันที่ด้านท่อทางดูดจึงสามารถทำได้ทั้งก่อนและหลังคอมเพรสเซอร์ทำงาน
แต่ในกรณีของแอร์ที่ใช้น้ำยา R410a หรือ R32 การต่อเกจวัดแรงดันที่ด้านท่อทางดูด ควรทำหลังจากที่คอมเพรสเซอร์ทำงานแล้ว เนื่องจากโดยปกติแรงดันของน้ำยาสองตัวนี้จะมีแรงดันที่ค่อนข้างสูง แต่เมื่อคอมเพรสเซอร์ทำงานแล้ว แรงดันน้ำยาในด้านท่อทางดูดจะลดต่ำลงมาในระดับที่ปลอดภัยในการปฏิบัติงาน การต่อเกจวัดแรงดันหลังจากที่คอมเพรสเซอร์ทำงานแล้วจึงจะปลอดภัยกว่า

และหากเป็นไปได้ ก่อนที่ชุดคอยล์ร้อนจะเริ่มทำงาน ก็ควรนำแคลมป์มีเตอร์มาคล้องเข้ากับสายไฟเส้นใดเส้นหนึ่งที่จ่ายไฟให้แอร์ เพื่อทำการวัดค่ากระแสไฟฟ้าที่เครื่องใช้ ซึ่งทำให้สามารถดูกระแสในช่วงสตาร์ท และกระแสในขณะเครื่องรันได้ ค่ากระแสที่วัดได้ สามารถใช้ตรวจสอบการทำงานของเครื่องว่าปกติดีหรือไม่







เมื่อเปิดแอร์ให้ทำงานตามปกติแล้ว ในขณะที่คอมเพรสเซอร์ทำงาน ก็ให้สังเกตุดูที่เกจวัดแรงดัน หน้าปัดของเกจสีฟ้าที่เป็นเกจด้านแรงดันต่ำ (Low) จะแสดงค่าแรงดันสารทำความเย็นด้านท่อทางดูด (Suction) ที่วัดได้ในขณะนั้น 

ในช่วงแรกที่คอมเพรสเซอร์เริ่มทำงานใหม่ๆ ค่าแรงดันอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไม่คงที่ ถือเป็นเรื่องธรรมดาในช่วงแรกเริ่มเดินเครื่องใหม่ๆ ตรงนี้ให้รอสักพักประมาณ 5-10 นาที หรือจนกว่าจะเห็นว่าค่าแรงดันที่แสดงบนเกจอยู่ในระดับคงที่ เมื่อเห็นว่าเข็มชี้ที่ค่าใดค่าหนึ่งนิ่งกับที่แล้ว นั่นก็คือค่าแรงดันที่วัดได้ขณะเครื่องทำงานนั่นเอง



และเมื่อตรวจเช็คค่ากระแสไฟฟ้าขณะเครื่องเดิน หากเห็นว่าค่าของกระแสไฟฟ้าที่วัดได้อยู่ในเกณฑ์ตามที่ระบุไว้บนเนมเพลท รวมทั้งลมที่ออกมาจากชุดคอยล์ร้อนก็เป็นลมร้อนปกติ ก็แสดงว่าแอร์เครื่องนี้ ระบบน้ำยาทำงานอย่างปกติ เตรียมพร้อมที่จะทำในขั้นตอนของการปั๊มดาวน์ได้

แต่หากพบความผิดปกติในขณะที่เครื่องทำงาน ไม่ควรทำการปั๊มดาวน์ ให้ปิดเครื่องแล้วตรวจสอบหาสาเหตุให้เรียบร้อยก่อน


ขั้นตอนการเริ่มการปั๊มดาวน์ ทำได้โดยเริ่มจากการเปิดฝาเกลียวที่ครอบช่องขันวาล์วของท่อทั้งสอง

ในขณะที่เครื่องกำลังเดินอยู่นั้น ให้ใช้ประแจหกเหลี่ยมหรือประแจแอลใส่ลงไปในรูสำหรับขันวาล์ว แล้วหมุนปิดวาล์วด้านท่อทางอัด (Discharge) หรือท่อเล็ก ซึ่งเป็นท่อด้านที่แรงดันน้ำยาถูกอัดออกไปจ่ายให้กับชุดคอยล์เย็นในห้อง โดยให้ทำการหมุนประแจหกเหลี่ยมที่เสียบอยู่เพื่อปิดวาล์วน้ำยาให้แน่นสนิท




เมื่อปิดวาล์วด้านท่อทางอัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้รีบนำประแจหกเหลี่ยมอันเดิมเปลี่ยนมาเสียบเข้าที่วาล์วของอีกท่อหนึ่ง ซึ่งเป็นวาล์วของท่อทางดูด (Suction) เพื่อเตรียมทำการปิดวาล์วด้านนี้ในขั้นตอนถัดไป



หลังจากที่ท่อทางด้านอัดถูกขันปิดสนิทแล้วนั้น ก็จะไม่มีแรงดันน้ำยาถูกอัดไปตามท่อและชุดคอยล์เย็นเหมือนเดิม ซึ่งตอนนี้ให้สังเกตุหน้าปัทม์ของเกจวัดแรงดันอย่างใกล้ชิด เพราะแม้ว่าจะปิดวาล์วด้านท่อทางอัด แต่คอมเพรสเซอร์ยังคงทำหน้าที่อัดแรงดันอยู่ตลอดแม้วาล์วจะถูกปิดก็ตาม จึงควรกระทำขั้นต่อต่อจากนี้ด้วยความรวดเร็วเพราะด้านท่อทางอัดที่ถูกปิดจะมีแรงดันสะสมสูงขึ้นเรื่อยๆ หากปล่อยให้อยู่ในสภาวะดังกล่าวนานจนเกินไป คอมเพรสเซอร์อาจจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นหลายเท่า และมีแรงดันสะสมที่อาจจะก่อให้เกิดการระเปิดได้

และในขั้นตอนของการปิดวาล์วตัวที่สอง หลังจากที่ปิดวาล์วตัวแรกเสร็จ ซึ่งตอนนี้การไหลเวียนของน้ำยาในระบบจะเหลือแต่เพียงท่อทางดูด ที่ทำการการดูดน้ำยาส่วนที่ค้างในระบบกลับเข้ามาในคอมเพรสเซอร์ โดยต้องสังเกตค่าที่แสดงบนเกจให้ดี และต้องเตรียมพร้อมสำหรับการหมุนปิดวาล์วตัวที่สอง เนื่องจากค่าแรงดันที่แสดงบนเกจจะค่อยๆลดระดับลงเรื่อยๆ หลังจากที่ด้านท่อทางอัดถูกปิดไปแล้ว

และเมื่อค่าแรงดันบนเกจลดลงมาเรื่อยๆจนต่ำกว่า 50 PSIG ให้เริ่มทำการหมุนเพื่อปิดวาล์วท่อทางดูดโดยหมุนไปเรื่อยๆ จนถึงจุดที่ค่าแรงดันที่แสดงลดลงมาเรื่อยๆเข้าใกล้ 20 PSIG ก็ให้เร่งความเร็วในการหมุนปิดวาล์ และเมื่อแรงดันตกลงมาอยู่ที่ 10 PSIG ต้องรีบหมุนปิดวาล์วอย่างรวดเร็วและต้องปิดวาล์วให้สนิท ก่อนที่ค่าแรงดันบนเกจจะตกลงไปจนสุดสเกล 


ซึ่งท่าจะให้ดีที่สุดนั้นเมื่อวาล์วตัวที่สองถูกปิด ค่าแรงดันที่อยู่บนเกจควรจะลงมาอยู่ที่ระดับ 0 PSIG 


และเมื่อปิดวาล์วทั้งสองสนิทแล้ว ต่อจากนั้นให้รีบปิดเครื่องปรับอากาศทันที หรือทำวิธีใดก็ได้เพื่อหยุดการจ่ายไฟ ให้คอมเพรสเซอร์หยุดทำงานโดยเร็วที่สุด อย่าใช้เวลานาน 

ในขั้นตอนนี้จึงควรมีอีกคนหนึ่งอยู่ในห้องที่ชุดคอยล์เย็นถูกติดไว้ เพื่อที่ว่าหลังจากปิดวาล์วทั้งสองด้านแล้ว คนที่ปฏิบัติงานอยู่ข้างนอกสามารถสั่งให้คนที่อยู่ข้างในทำการปิดแอร์ได้ในทันที

ที่ต้องทำการปิดเครื่องอย่างรวดเร็วทันที ก็เพราะถ้าปล่อยให้คอมเพรสเซอร์ทำงานขณะที่วาล์วทั้งสองปิดสนิท จะทำให้สารทำความเย็นไม่ได้เดินหมุนเวียนในระบบ ด้านทางอัดที่ถูกอัดออกมาจากคอมเพรสเซอร์ก็จะมีแรงดันที่สะสมมากขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อแรงดันสะสมสูงขึ้น คอมเพรสเซอร์ก็จะเริ่มมีอุณหภูมิสูงเรื่อยๆจนถึงจุดวิกฤติ ถ้าระบบป้องกันภายในอย่างเช่นโอเวอร์โหลดทำงาน ตามหลักการ คอมเพรสเซอร์ก็จะตัดการทำงานก่อนจะเกิดอันตราย แต่ถ้าโอเวอร์โหลดไม่ทำงานปล่อยให้สารทำความเย็นถูกอัดออกมาขณะที่วาล์วถูกปิด อัดไปเรื่อยๆก็อาจจะเกิดการระเบิดได้

ในกรณีที่ทำการปั๊มดาวน์อยู่เพียงคนเดียว ซึ่งหลังจากปิดวาล์วทั้งสองเสร็จ การจะสั่งให้ใครคนอื่นมากดรีโมทเพื่อปิดแอร์ก็คงจะทำไม่ได้ ดังนั้นจึงควรมีการวางแผนตั้งแต่แรก เพื่อให้สามารถหยุดการทำงานของชุดคอยล์ร้อนได้ในทันที และวิธีการที่จะให้คอมเพรสเซอร์หยุดทำงานได้อย่างรวดเร็วที่สุดอาจจะต้องใช้วิธีลัด เช่น การปลดสายคอนโทรที่ควบคุมการต่อวงจรไฟฟ้าของรีเลย์ภายในชุดคอยล์ร้อน ก็เป็นได้ ทั้งนี้ต้องระมัดระวังอันตรายจากไฟฟ้าด้วย



หลังจากที่ทำการปั๊มดาวน์เก็บสารทำความเย็นเสร็จเรียบร้อยแล้ว การถอดแอร์ออกเริ่มที่ถอดท่อทั้งสองที่ต้อกับชุดคอยล์ร้อน ถอดเสร็จก็ควรทำการปิดปลายท่อโดยการบีบปลายแล้วใช้เทปพันอีกครั้งเพื่อกันสิ่งสกปรกหรือหยดน้ำเข้าไปในท่อ



ส่วนด้านเซอร์วิสวาล์วที่ต่อเข้าคอยล์ร้อน ก็เอาแฟร์นัทของเดิม ตัดออกมาให้ติดท่อสักนิด แล้วปีปลายท่อที่อยู่อีกด้านและพันเปทตามเพื่อป้องกันสิ่งสกปรกและหยดน้ำเข้าไปในท่อ จากนั้นก็เอาแฟร์นัทพร้อมท่อที่บีบปลายติดมาด้วยใส่กลับเข้าไปที่เซอร์วิสวาล์วเหมือนเดิม ทำแบบนี้เช่นกันในด้านที่เป็นข้อต่อแฟร์ของชุดคอยล์เย็นเพื่อกันสิ่งสกปรก 

เพียงเท่านี้การปั๊มดาวน์ก็เสร็จ พร้อมที่จะยกแอร์ลงมาจากจุดติดตั้งแล้ว



คำเตือน

บทความชุดนี้ เป็นบทความที่อยู่ในหมวดหมู่ของเทคนิคงานช่าง ผู้เขียนมีวัตถุประสงค์ในการเขียนบทความชุดนี้ก็เพื่อให้ความรู้แก่ผู้สนใจ เพื่อให้เข้าใจหลักการเบื้องต้นเท่านั้น 

สำหรับท่านผู้อ่านท่านใด ที่ไม่ได้มีทักษะพื้นฐานและความรู้เบื้องต้น เกี่ยวกับงานช่างไฟฟ้าและงานช่างแอร์ ผู้เขียนไม่แนะนำให้นำไปทำด้วยต้นเอง เพราะอาจจะเกิดอันตรายจากการถูกไฟดูด รวมทั้งอันตรายจากแรงดันของสารทำความเย็นในระบบ




Create Date :23 มกราคม 2558 Last Update :3 เมษายน 2560 4:10:12 น. Counter : 71123 Pageviews. Comments :13