bloggang.com mainmenu search


หลังจากที่ดูรายละเอียดในส่วนของคอยล์ร้อนคอยล์เย็นไปแล้ว มาถึงขั้นตอนการเตรียมแอร์ก่อนจะนำไปติดตั้ง


ก่อนที่จะนำชุดคอยล์เย็นขึ้นไปติดตั้งยังจุดที่กำหนด เราจะต้องมาทำการต่อสายไฟฟ้า และติดตั้งโมดูลของระบบควบคุมผ่าน Wi-Fi เพื่อให้แอร์เครื่องนี้สามารถใช้งานฟังก์ชั่นเสริมดังกล่าวได้




มาดูกันต่อในส่วนของโมดูลของระบบควบคุมผ่าน Wi-Fi ซึ่งจะบรรจุแยกมาในกล่องอีกใบหนึ่ง 

อุปกรณ์ตัวนี้จะเป็นอุปกรณ์เสริม ซึ่งผมได้มาพร้อมกับชุดแอร์ที่นำมาทำรีวิว สำหรับใครที่ใช้งานแอร์ของ Daikin อยู่แล้ว หากต้องการฟังชั่นเสริมที่เป็นการควบคุมและสั่งการผ่าน Wi-Fi ท่านสามารถสอบถามเพิ่มเติมไปยังผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายของ Daikin เพื่อซื้ออุปกรณ์เสริมตัวนี้มาใช้งานร่วมกับแอร์ Daikin ของเดิมได้


ในกล่องจะประกอบไปด้วย ตัวควบคุมหลักและเทปกาวสองหน้า, สายเชื่อมต่อ และคู่มือการติดตั้ง ที่มี 5 ภาษา รวมภาษาไทยอยู่ด้วย 




การนำมาติดตั้งในตัวแอร์ จะติดตั้งไว้ที่ด้านข้างของกล่องบอร์ดควบคุม ซึ่งจะมีช่องเล็กๆที่สามารถเปิดฝาได้ ภายในช่องนี้เองก็จะมีหัวเสียบสำหรับเชื่อมต่อโมดูลควบคุมรออยู่แล้ว





นำปลายสายมาเสียบเข้ากับซ็อคเก็ตที่อยู่ในโมดูลควบคุม ก็เป็นอันเสร็จ ส่วนสายเชื่อมต่อที่เขาให้มาด้วยนั้นไม่จำเป็นต้องใช้ในแอร์รุ่นนี้ เพราะมันสามารถเสียบเข้ากับสายเดิมแล้วเก็บไว้ในเครื่องได้เลย





ประกอบกลับเข้าที่แล้วปิดฝา เท่านี้ก็พร้อมนำไปติดตั้งแล้ว













ก่อนจะนำตัวเครื่องขึ้นติดตั้ง ก็มาติดตั้งแผ่นรองรับตัวเครื่องกันก่อน พร้อมทั้งปรับตั้งระดับความลาดเอียงเล็กน้อย เพื่อให้น้ำไหลสะดวก





มาถึงการดัดท่อทองแดงเพื่อเปลี่ยนแนวท่อให้สอดคล้องกับการนำไปติดตั้งจริง ตรงนี้ถ้าเป็นแอร์หลายๆรุ่น ที่เคยติดตั้งมา ส่วนใหญ่มีการใส่สปริงมาให้ เพื่อรองรับไม่ให้ท่อบี้แบนในระหว่างที่ดัด แต่ใช่ว่าแอร์ทุกเครื่องจะต้องใส่สปริงมาเหมือนกันหมด


อย่างแอร์เครื่องนี้ ก่อนจะดัดท่อผมลองจับดูตอนแรกก็ไม่รู้สึกเหมือนว่ามีสปริงอยู่ จึงตัดสินใจกรีดฉนวนหุ้มออกตลอดแนว ซึ่งก็พบว่าไม่มีสปริงใส่มาให้ การดัดท่อจึงต้องเพิ่มความระมัดระวังเพิ่มอีกเล็กน้อย แต่ยังนับว่าดีที่ท่อแอร์รุ่นนี้มีความหนาพอสมควร





เมื่อจัดการแนวท่อให้เป็นไปตามที่กำหนดได้แล้ว ก็ทำการยกคอยล์เย็นขึ้นมาติดตั้งกับแผ่นรองรับให้เข้าที่






นำม้วนท่อมาคลี่ออก เพื่อที่จะนำไปติดตั้ง




คอยล์เย็นที่ถูกติดตั้งเข้าที่ พร้อมกับเดินท่อน้ำยา, ท่อน้ำทิ้ง และเชื่อมต่อสายไฟ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว






ภายหลังจากเชื่อมต่อระบบท่อเสร็จสมบูรณ์ ก็มีการทำสุญญากาศให้กับระบบท่อ โดยผมใช้เวลาทำสุญญากาศระบบท่อของแอร์เครื่องนี้ เป็นเวลาประมาณ 30 นาที 

เมื่อเสร็จขั้นตอนของการทำสุญญากาศ จึงทำการเปิดวาล์วของท่อเล็กและท่อใหญ่ เพื่อให้สารทำความเย็น หรือน้ำยา R32 ที่บรรจุอยู่ในชุดคอยล์ร้อน ไหลไปตามท่อ



ค่าแรงดันของสารทำความเย็น หรือน้ำยา R32 ที่ถูกปล่อยออกมาจากชุดคอยล์ร้อน ในขณะที่ยังไม่เดินเครื่อง วัดได้ที่ประมาณ 230 PSIG ซึ่งถือว่าเป็นค่าแรงดันที่ค่อนข้างสูงเลยที่เดียว เป็นผลมาจากคุณสมบัติพื้นฐานของ R32 ที่มีความดันไอสูงที่สุดในบรรดาน้ำยาแอร์บ้านที่เราใช้งานกันอยู่
แต่หลังจากที่เครื่องเริ่มเดินไปสักพัก ค่าแรงดันก็จะลดลงมาอยู่ที่ราวๆไม่เกิน 150 PSIG ซึ่งการจะถอดหรือต่อสายเกจ ในขณะที่มีน้ำยาอยู่ในระบบนั้น จะต้องทำในขณะที่เครื่องเดินเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน



ภายหลังจากที่ทำการติดตั้งระบบท่อน้ำยาและระบบไฟฟ้าที่ส่วนของชุดคอยล์ร้อนเสร็จ ก็พร้อมเริ่มเดินเครื่อง






ทันทีที่คอยล์ร้อนทำงานภายหลังจากที่เปิดเครื่อง การทำงานของคอยล์ร้อนนั้น ถือว่าทำงานได้เงียบและนุ่มนวล เสียงรบกวนมีอยู่น้อย ส่วนใหญ่ที่ได้ยินจะเป็นเสียงของลมที่ถูกพัดด้วยพัดลมมากกว่า ส่วนเสียงคอมเพรสเซอร์นั้น ในช่วงที่แอร์เริ่มทำงานจะมีจังหวะของการเร่งรอบ ซึ่งเสียงจากคอมเพรสเซอร์เร่งรอบนั้นจะเป็นโทนเสียงความถี่สูง แต่ระดับเสียงที่ออกมานั้นเบาจนต้องเข้าไปยืนฟังใกล้ๆจึงจะได้ยิน ทั้งหมดโดยรวมเรื่องเสียงรบกวนที่ชุดคอยล์ร้อนในระหว่างที่เครื่องทำงานก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีมาก





อัตราการใช้กระแสไฟฟ้าของแอร์ทั้งชุด ซึ่งวัดในช่วงที่เครื่องเริ่มทำงานใหม่ๆ โดยปรับให้เครื่องทำงานที่รอบสูงสุด ค่ากระแสไฟฟ้าที่วัดได้ในช่วงนี้ก็อยู่ที่ประมาณ 3.5 – 3.6 A (พิกัดกระแสที่แสดงบนแผ่นป้ายเนมเพลต ระบุไว้ที่ 4.2 A) ซึ่งค่าที่วัดได้จริงในระดับนี้ ถือว่ากินไฟไม่มาก สำหรับแอร์ที่มีขนาดกว่า 12,000 BTU และจะว่าไป ค่ากระแสระดับนี้ เรียกว่าพอๆกับแอร์ 9,000 BTU ของรุ่นธรรมดาเลยก็ว่าได้ 


ภายหลังจากที่เครื่องทำงานไปได้สักพัก เมื่อค่าอุณหภูมิในห้องเริ่มลดต่ำลง เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิก็ได้สั่งการให้คอมเพรสเซอร์ปรับลดรอบการทำงานลง การใช้กระแสไฟฟ้าก็ลดลงไปด้วยตามรอบการทำงานที่ลดลง ซึ่งจากค่าสูงสุดประมาณ 3.5 A ที่วัดได้ในตอนแรก ก็ลดลงมาอยู่ที่ราวๆ 2.8 A และก็มีแนวโน้มที่จะลดลงไปเรื่อยๆเมื่อห้องเริ่มเย็นลง






ส่วนของคอยล์เย็นเองก็ทำงานได้เงียบดีพอสมควร ความเร็วของพัดลมสามารถปรับได้ถึง 5 ระดับ และที่ความเร็วพัดลมระดับต่ำสุดนั้นก็ถือว่าเสียงเงียบเลยทีเดียว เงียบจนต้องเงยดูไฟสีฟ้าเพราะไม่แน่ใจว่ามันยังทำงานอยู่หรือเปล่า 
ส่วนความเย็นที่ได้จากแอร์เครื่องนี้ ที่ใช้สารทำความเย็นตัวใหม่ หรือน้ำยา R32 ก็ถือว่าน่าประทับใจ เพราะช่วยให้แอร์เย็นเร็วขึ้น และเย็นฉ่ำเลยทีเดียว 

เรื่องการรักษาอุณหภูมิภายในห้องนั้นก็ถือว่าทำได้ดีเลยที่เดียว อุณหภูมิภายในห้องอยู่ในระดับคงที่ตลอดระยะเวลาที่เปิดใช้งานแอร์ ทำให้รู้สึกเย็นสบายคงที่ตลอดเวลา ซึ่งก็ทำได้ดีและน่าประทับใจ สมแล้วที่เป็นผู้บุกเบิกและผู้นำในด้านเทคโนโลยีระบบ Inverter ที่ใช้ในแอร์บ้าน 





รีโมทคอนโทรลของแอร์รุ่นนี้ ก็มาแบบเรียบหรู แต่แผงไว้ด้วยฟังชันครบครัน

รีโมทคอนโทรลถูกออกแบบมาให้ใช้งานง่ายในทุกสภาพการณ์ แม้จะใช้งานในที่มืดก็ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป เพราะหน้าจอแสดงผลมีไฟสว่างขึ้นมาให้เห็น ในทุกครั้งที่กดปุ่มต่างๆ






อีกอย่างหนึ่งที่หากไม่พูดถึงคงจะไม่ได้ ก็คือการควบคุมและสั่งการผ่านเครือข่าย Wi-Fi โดยใช้ Smartphone







ภายหลังจากติดตั้งแอร์ และทำการติดตั้งอุปกรณ์เสริมที่ใช้ร่วมกับการควบคุมดังกล่าวเสร็จ ก็สามารถ Download ส่วนที่เป็น Application โดยสามารถ Download และติดตั้งได้ ทั้ง iOS และ Android 



ผมใช้ Smartphone ระบบปฏิบัติการ iOS ในการทดสอบ ซึ่ง Application ที่ติดตั้งก็จะมีชื่อว่า D-Mobile

ติดตั้งเสร็จก็เซ็ทค่าอีกนิดหน่อย ตามที่ระบุไว้ในคู่มือ ซึ่งการเซ็ทค่าก็ไม่ยุ่งยาก เพียงไม่กี่ขั้นตอนก็เสร็จ


เพียงเท่านี้ เราก็จะสามารถควบคุมและสั่งการแอร์เครื่องนี้ได้ด้วย Smartphone







ทิ้งท้ายเกี่ยวกับสารทำความเย็น R32



สารทำความเย็น R32 เป็นสารทำความเย็นตัวใหม่ที่ทาง Daikin ได้ริเริ่มนำเข้ามาใช้กับแอร์ที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศไทย ข้อดีหลักๆของมันก็คือ มีประสิทธิภาพในการและเปลี่ยนความร้อนที่ดีกว่าน้ำยาตัวเก่า อีกทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทดแทนการใช้ R22 ซึ่งทำลายชั้นบรรยากาศ 


ส่วนเรื่องข้อเสียหรืออันตรายของ R32 ที่บางท่านอาจจะเคยได้ยินได้ทราบมาก่อน ว่ามันมีแรงดันสูงมาก และยังติดไฟได้นั้น ตรงนี้หากท่านไม่ใช่ช่างหรือผู้ที่ต้องปฏิบัติงานร่วมกับ R32 ก็ไม่ต้องกังวลอะไรมากในส่วนนี้ เพราะในการใช้งานปกตินั้น สารทำความเย็นมันก็อยู่ภายในระบบที่ถูกออกแบบมาเฉพาะ หากติดตั้งอย่างถูกต้องโดยทีมช่างที่มีมาตรฐานหรือทีมช่างที่ผ่านการอบรบเกี่ยวกับ R32 มาแล้ว ก็ไม่มีอะไรที่ผู้ใช้งานจะต้องกังวล ซึ่งสิ่งที่ผู้ใช้งานทั่วไปจะได้รับจากสารทำความเย็นตัวใหม่นี้ ก็คือประสิทธิภาพในการทำความเย็นที่ดีขึ้น และมีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อนด้วย 

สำหรับช่างรายที่ยังไม่รู้จักเกี่ยวกับ R32 ผมก็เป็นห่วง และไม่ค่อยอยากแนะนำให้โดดเข้าไปรับงานโดยที่ไม่รู้จักมันดีพอ เพราะท้ายที่สุดอาจพลาดพลั้งเกิดอุบัติเหตุจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็เป็นไปได้ ลองใช้เวลาศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ R32 ให้ดีก่อนจะดีกว่า






หวังว่ารีวิวชุดนี้ คงจะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจได้ไม่มากก็น้อย ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามรับชมมาจนจบ และขอขอบคุณ Daikin ที่ได้ส่งแอร์เครื่องนี้มาให้ทดลองใช้และนำมารีวิว ขอจบรีวิวลงแต่เพียงเท่านี้ สวัสดีครับ
Create Date :05 เมษายน 2559 Last Update :5 เมษายน 2559 18:41:57 น. Counter : 6393 Pageviews. Comments :2