bloggang.com mainmenu search
เรื่อง เทพบุตรถังแตก (Yamada Taro Monogatari)
โดย Morinaga Ai

การ์ตูนตลก/ดราม่า ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ตีพิมพ์ในวารสารญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 1996-2000 รวมเล่ม 14 เล่มจบ บูรพัฒน์ได้ลิขสิทธิในประเทศไทย [1] ได้ทำเป็นละครซีรีส์ทั้งในไต้หวัน (2001) และญี่ปุ่น (2007)

เรื่องราวของยามาดะ ทาโร่ (ถ้าแปลเป็นไทยน่าจะเรียกว่า นายอ้าย ภูนา) หนุ่ม ม.ปลาย ใจดี รูปหล่อ หัวดี กีฬาเยี่ยม แต่จนกรอบยิ่งกว่าข้าวเกรียบ ทำงานพิเศษหาเลี้ยงแม่ น้องๆ แถมพ่ออีกหนึ่งเป็นบางครั้ง

แต่ทั้งๆ ที่ทาโร่มีพฤติกรรมที่ส่อถึงความยากจนชัดเจน เช่น ใช้เครื่องเขียนเก่าจนหมดจริงๆ เอาถุงเท้ามาชุนในห้องเรียน รู้จักการทำอาหารแบบไม่เหลืออะไรให้ทิ้งเลย ฯลฯ แต่ทำไมเพื่อนร่วมห้องยังคิดว่าเป็นลูกมหาเศรษฐีหรือผู้ดีเก่า และยังบอกว่าได้รับการอบรมเลี้ยงดูอย่างดีมากอีก

ตอนที่อ่านก็ไม่ได้คิดอะไรมาก อย่างน้อยทาโร่ก็มีกิริยาท่าทางและบุคลิกดี แต่หลังจากที่ได้อ่านหนังสือมานุษยวิทยาเกี่ยวกับวัฒนธรรมชนชั้นขุนนางญี่ปุ่นสมัยใหม่ [2] (ที่เรียกโดยรวมว่า kazoku ที่เริ่มจากการรวมระบบขุนนางหลังปฏิวัติเมจิ และอยู่มาจนถึงสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2) ก็ได้ข้อมูลมาสนับสนุนเพิ่มเติมบ้าง

นั่นคือแนวคิด shisso ที่แปลว่า disciplined austerity หรือ วินัยในการมีความสมถะ ซึ่งในหนังสือบอกว่าเป็นลักษณะของตระกูลขุนนางทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตระกูลขุนนางราชสำนักหรือขุนศึก เก่าหรือใหม่ รวยหรือจน โดยความสมถะนี่จะออกมาในรูปวินัยทางไลฟ์สไตล์ หลีกเลี่ยงการบริโภคและเครื่องแต่งกายที่มากเกิน ถึงแม้ว่าจะมีทรัพย์สินมากพอที่จะใช้จ่ายได้ก็ตาม โดยถือว่าเป็นคุณสมบัติที่ดีของชนชั้นสูงตระกูลเก่า ตรงข้ามกับกิริยาพวกผู้ที่ร่ำรวยหรือมีอำนาจขึ้นอย่างรวดเร็ว (nariagari ที่แปลเป็นอังกฤษว่า upstart) ที่มี stereotype ชอบอวดรวยและฟุ้งเฟ้อ

ในหนังสือยังมีการยกตัวอย่างจากการสัมภาษณ์ เช่น ลูกสาวตระกูล Mitsui เคยบอกว่ากิโมโนที่ใช้ปกติแย่กว่าของสาวใช้จนถูกนึกว่าเป็นสาวใช้เสียเอง หรือโรงเรียน Gakushuin ซึ่งตั้งขึ้นสำหรับลูกขุนนางก็เป็นโรงเรียนแรกที่ใส่เครื่องแบบ โดยมีคำอธิบายว่าเพื่อบังคับไม่ให้แสดงความฟุ่มเฟือย เช่น ในยุคแรกนักเรียนหญิงจะใส่ชุด hakama ที่ตัดจากผ้าคุณภาพไม่สูง (แต่ถ้ามีงานก็ใส่กิโมโนดีๆ ได้)

นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ เช่น การที่มีภัยธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง หรือความกังวลว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้ตระกูลชนชั้นสูงมีแนวการเลี้ยงดูลูกให้มีวินัย และช่วยตัวเองได้ และยังมีระบบการฝากเลี้ยง (satokko) โดยเฉพาะสำหรับลูกคนรองที่ไม่เป็นทายาท ที่ครอบครัวอาจส่งไปอยู่กับคนอื่นทนที่จะเลี้ยงเอง เพื่อให้มีการอบรมอย่างเข้มงวด และสามารถเอาตัวรอดได้ (แต่ที่ถูกสงสัยว่ายากจนจนเลี้ยงเองไม่ไหวก็มี)

ซึ่งดูแล้วการอบรมให้สมถะก็น่าจะมีประโยชน์มาก สำหรับทั้งตระกูลขุนนางราชสำนักหรือขุนศึก โดยทั่วไปตระกูลขุนนางราชสำนักจะค่อนข้างจนกว่าขุนศึกมาก ส่วนตระกูลขุนศึกถ้าเข้าข้างผิดในการแย่งชิงอำนาจ หรือมีปฏิวัติ ก็อาจจะบ้านแตก จำเป็นต้องหนีตายได้ (เห็นบ่อยๆ ในการ์ตูนยุคสงคราม) การเตรียมความพร้อมไว้ย่อมดีแน่ มีข้อสังเกตจากตระกูลขุนนางเก่าว่าการอบรมแบบนี้ทำให้ปรับตัวได้ดีหลังจากสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดการเลิกล้มระบบขุนนางจนทำให้หลายตระกูลยากจนจริงๆ ที่ถูกโกงขนาดถึงขั้นล้มละลายก็มี

ยังไงก็แล้วแต่ ถึงทาโร่จะมีนิสัยแปลกๆ แต่ก็มีนิสัยเอาถ่าน ฟืน และแก๊ส (ถ้าฟรี) ดูแลครอบครัวด้วยน้ำพักน้ำแรงตัวเองจริง ขยันหมั่นเพียร ใฝ่ศึกษา ไม่เบียดเบียนใคร ช่วยเหลือเพื่อนและคนรู้จัก ไม่อิจฉาคนอื่น (แถมน้องๆ ที่เติบโตขึ้นมาเป็นพิมพ์เดียวแบบสำเนาถูกต้อง) ทำให้คิดได้ว่าไม่ว่าดูจากมาตรฐานอะไรแล้ว ก็คงต้องบอกว่าถูกอบรมมาดีจริงๆนั่นแหละนะ

ที่มา
[1] บูรพัฒน์ คอมมิคส์, เทพบุตรถังแตก, //www.burapat.com/detail_girl.asp?id=67, เข้าดู 14 ต.ค. 2552.
[2] Takie Sugiyama Lebra, Above the Clouds: Status Culture of the Modern Japanese Nobility. University of California Press, 1993.
Create Date :14 ตุลาคม 2552 Last Update :17 กันยายน 2557 19:14:29 น. Counter : Pageviews. Comments :1