bloggang.com mainmenu search
เรื่อง Desert Governess สู่ทะเลทราย
เขียนโดย Phyllis Ellis แปลโดย มนันยา

--- SPOILER ALERT ---

ฟิลลิส เอลลิส มีชีวิตที่มีสีสัน เคยเป็นนักเต้นบัลเลต์ แสดงละครเพลง ละครตลก โฆษณา ฯลฯ และยังได้เรียนด้านการสอนภาษาอังกฤษให้คนต่างชาติ ชีวิตครอบครัวก็มีความสุขกับสามี จอห์น กว่าสามสิบปี มีลูกชายสองคน หลังจากจอห์นเสียชีวิต นอกจากฟิลลิสจะเคว้ง ยังมีปัญหาเรื่องการเงิน เธอจึงสมัครไปทำงานเป็นครูประจำบ้านที่เมืองฮาอิลทางเหนือของซาอุดิอารเบีย

นายจ้างคือ เจ้าชายมุกริน บิน อับดุล อาซิส อัล ซาอุด (โอรสองค์สุดท้ายของปฐมกษัตริย์และเป็นอะมีร์ของจังหวัดฮาอิล) กับพระชายา เจ้าหญิงอับทาห์ (บุตรสาวหัวหน้าเผ่าของเมือง) ลูกศิษย์เป็นโอรสธิดารุ่นเล็ก เจ้าชายบันเดอร์ (17 พรรษา) เจ้าหญิงโจวาแฮร์ (14 พรรษา) และ เจ้าหญิงซาราห์ (9 พรรษา) ที่นอกจากศึกษาในโรงเรียนปกติก็มีการสอนพิเศษภาษาอารบิก (ครูมาจากซีเรีย) และอังกฤษในช่วงบ่ายถึงกลางคืน นอกนั้นก็มี เจ้าหญิงลามิยา พระธิดาองค์ใหญ่ และ เจ้าหญิงฮันนาห์ พระสุณิสาที่มาเยี่ยมบ่อยๆ บางครั้งถึงเจอพระธิดาของพระชายาองค์แรกของเจ้าชายที่หย่าขาดไปแล้ว

ถึงวังที่ฮาอิลจะมีขนาดใหญ่และสะดวกสบาย ห้องหรูหรา ในวังมีสระว่ายน้ำ (แต่ต้องโทรไปบอกให้คนมาเปิดประตู) คนรับใช้และช่างที่คอยบริการทันใจจากทั่วโลก ฟิลลิสก็ได้พบเรื่องที่ไม่เคยชินต่างๆ ต้องอึดอัดอยู่ให้ห้องปรับอากาศตลอดวัน (เนื่องจากเธอชอบอากาศภายนอกและเป็นสมาชิกกลุ่มที่เดินตามชนบทอังกฤษด้วย) การใช้ชีวิตที่เริ่มสายถึงดึก ยิ่งช่วงรอมะฎอนแทบจะสลับกลางวันกลางคืน แต่ที่หนักสุดคงเป็นเรื่องความรู้สึกด้านอิสระเสรีภาพ จะโทรศัพท์ก็ต้องผ่านโอเปอร์เรเตอร์ (ที่อาจนอนหลับหรือติดละหมาดหรือยุ่งเกินไป) จะซื้อแสตมป์หรือส่งจดหมายก็ต้องหาทางฝากผู้ชายทำให้ การออกนอกวังที่ต้องใส่เสื้อคลุมทั้งตัว ต้องขออนุญาตแม้แค่จะไปซุปเปอร์มาเกต พกใบอนุญาต และรอให้คนขับรถว่าง (ห้ามผู้หญิงขับรถหรือนั่งแท๊กซี่ และห้ามเข้าร้านซีดี)

ความรู้สึกโดดเดี่ยวยิ่งรุนแรงเพราะเมืองที่เธออยู่แทบไม่มีคนชาติตะวันตกที่จะเป็นเพื่อนเข้าใจกันได้ (ครูประจำบ้านคนก่อนสติแตกไปเลย) เมื่อได้เข้าไปเจดดาห์หรือริยาดก็ทำให้ความเครียดลดลง โดยเฉพาะการได้พบพระสหายของพระชายา อย่าง แก๊บบี้ ชาวอเมริกันของพระชายาที่สามีมาทำฟาร์มให้เจ้าชายแล้วอยู่ต่อ หรือ ไฟซา ลูกทูตที่ตอนนี้แต่งงานกับนักธุรกิจ รวมถึงชุมชนชาวตะวันตกที่มีสถานที่พักผ่อนแยกต่างหาก และมีโอกาสตามเสด็จไปลอนดอนด้วย (แต่วังไม่สบายเหมือนในฮาอิลเพราะคนคิดตามเยอะจนแน่นไปหมด) ถึงอย่างไรก็ตาม ฟิลลิสก็สติแตกในบางครั้ง ซึ่งปฏิกิริยาที่ตามมาทำให้เธอยิ่งรู้สึกหวาดกลัวและไม่มั่นคงขึ้น

เรื่องการสอนภาษา จขบ. อ่านแล้วรู้สึกว่าจะไม่ค่อยไปเท่าที่ควร เจ้าชายเจ้าหญิงไม่ได้เป็นเด็กเรียนนัก องค์โตและเล็กพยายามหาทางเบี้ยวบ่อยๆ และยังมีหลายโอกาสที่ทำให้การเรียนหยุดชะงัก แต่พระชายาก็ดูแลให้ลูกศิษย์เข้าเรียนตามคำขอ ฟิลลิสได้ทำงานเป็นครูประจำบ้านกว่าปีหนึ่งก่อนจะลาออกและกลับไปอังกฤษ ระหว่างนี้ก็ได้เห็นการดำเนินชีวิตที่ไม่เปิดเผยโดยทั่วไปหลายอย่าง ทั้งงานเลี้ยงรับรอง งานฉลองต่างๆ งานอภิเษกสมรสของเจ้าหญิง ได้พบเบดูอิน (ที่ตอนนี้มาอยู่ในเมือง) จุดหนึ่งที่สงสัยคือช่วงเวลาที่ผู้แต่งไปทำงานในซาอุดิอารเบียเพราะไม่ได้ระบุชัดว่าเป็นปีไหนน่ะค่ะ

สรุปความรู้สึกในภาพรวมคืออ่านได้รวดเดียวจบแต่รอบเดียวเพราะไม่ได้ประทับใจอะไรเป็นพิเศษ รู้สึกเหมือน superficial และการเล่าเรื่องค่อนข้างเน้นมุมมองของตนเองจนเหมือนไม่ค่อยสื่อ empathy คนรอบข้างที่จะทำให้ จขบ. รู้สึกถึงบุคลิกที่ชัดเจนและความมีส่วนร่วมน่ะค่ะ สุดท้ายคือใช้เล่มนี้ตอบการเล่น Reading Bingo Challenge 2014 นะคะ

ที่มา
[1] Phyllis Ellis (มนันยา แปล). สู่ทะเลทราย (Desert Governess). สำนักพิมพ์โพสต์บุ๊กส์, 255 หน้า, 2555 (ต้นฉบับ 2000).
Create Date :02 มีนาคม 2557 Last Update :28 เมษายน 2558 12:48:47 น. Counter : 2575 Pageviews. Comments :7