bloggang.com mainmenu search




"กรณีของพล.ต.อ.พงศ์พัศ เราต้องสร้างเส้นแบ่งให้ชัด"
บทบ.ก.นสพ.กรุงเทพธุรกิจ


กรณี พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะขอกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งรองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) หลังจากพ่ายแพ้การเลือกตั้ง โดยมีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยอ้างถึงความเหมาะสมในการกลับเข้ารับราชการใหม่ ในขณะที่ฝ่ายสนับสนุนเห็นว่าสามารถทำได้ตามกฎหมาย เพราะเปิดทางให้ข้าราชการประจำกลับเข้ารับราชการได้ และเป็นการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยที่เปิดทางให้คนหลากหลายอาชีพรับสมัครเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

พล.ต.อ.พงศพัศ ไม่ถือเป็นราชการประจำรายแรกที่กลับเข้ารับตำแหน่ง เพราะก่อนหน้านั้นก็เคยมีมาแล้ว แต่กรณีนี้ถือว่าเป็นรายแรกที่สังกัดในนามพรรคการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยเฉพาะสังกัดพรรครัฐบาล อีกทั้งพล.ต.อ.พงศพัศ เป็นข้าราชการระดับสูง จึงเป็นธรรมดาที่คนจะวิพากษ์วิจารณ์กันมาก เพราะข้าราชการประจำมักจะประกาศเสมอว่ามีความเป็นกลางทางการเมือง แม้ว่าจะเลือกข้าง แต่ก็ไม่ทำกันอย่างเปิดเผยมากนักในที่สาธารณะ ดังนั้นจึงเป็นประเด็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

แน่นอนว่าการกลับเข้ารับตำแหน่งนั้นเป็นสิทธิที่พึงมี จนบางคนในพรรครัฐบาลประกาศว่าถึงแพ้ก็ไม่เป็นไร เอาไว้เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนต่อไป ซึ่งก็ยิ่งตอกย้ำความสัมพันธ์ทางการเมืองที่มีอยู่ แต่ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติกำลังถูกการเมืองลากเข้าไปเลือกข้างมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงอย่างมาก เพราะอย่าลืมว่าตำรวจมีหน้าที่รักษากฎหมาย และรักษาความเป็นธรรม หากตำรวจเลือกข้างทางการเมืองอย่างเด็ดขาดเช่นนี้ คำถามก็คืออะไรจะเกิดขึ้นกับสังคมไทย

อย่างไรก็ตาม ประเด็นของพล.ต.อ.พงศพัศ มีประเด็นที่นาสนใจกว่าเรื่องสิทธิหรือความเหมาะสม ในการกลับเข้ารับราชการ แต่เป็นปัญหาเรื่องเส้นแบ่งระหว่างสิทธิทางกฎหมายกับความเหมาะสม หรือศีลธรรมที่ไม่มีบัญญัติไว้เป็นตัวบทกฎหมาย ซึ่งเป็นปัญหาของสังคมไทยมาโดยตลอด เพราะเรามักจะกระโดดข้ามไปมาระหว่างสองบทบาท ขึ้นกับสถานการณ์นั้นว่าเราควรจะแสดงบทบาทอย่างไร หากเราถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เหมาะสม ก็พร้อมจะไปอ้างเหตุผลในเรื่องของตัวบทกฎหมายมาใช้ประโยชน์

ปัญหาเส้นแบ่งถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ในการเมืองไทยหรือไม่นั้น ขึ้นกับสถานการณ์เป็นรายกรณี ซึ่งกรณีนี้ก็เป็นตัวอย่างของการกลายพันธุ์จากปัญหาเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวและส่วนรวม หากประชาชนเห็นว่าการละเมิดเส้นแบ่งเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ก็มักจะปล่อยผ่านไป แต่หากเห็นว่ายอมรับไม่ได้ ก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่และความวุ่นวายทางสังคมเหมือนที่เคยเกิดขึ้น แต่ในระบอบประชาธิปไตยที่ควรจะเป็นนั้น เราต้องแบ่งแยกเส้นแดนให้เด็ดขาด หาไม่แล้วจะเกิดปัญหาการบริหารประเทศตามมา

เราเห็นว่าในกรณีของพล.ต.อ.พงศพัศ ต้องมองข้ามเรื่องศักดิ์ศรีแพ้-ชนะ แต่ต้องมองผลประโยชน์ของกฎกติกาของประเทศ หากพล.ต.อ.พงศพัศ กลับเข้ารับตำแหน่ง เราเชื่อว่าต่อไปก็จะสร้างบรรทัดฐานให้กับข้าราชการประจำที่เลือกข้างทางการเมือง ซึ่งจะทำให้ความขัดแย้งในสังคมไทยเพิ่มระดับความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เราเห็นว่าต้องคิดถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ควรคิดแต่ผลประโยชน์ส่วนตนเฉพาะหน้า ดังนั้น นักการเมืองต้องสร้างบรรทัดฐานที่ดีให้เกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ทำลายกฎกติกาที่ดีโดยอ้างประชาธิปไตย


จากนสพ.กรุงเทพธุรกิจ ๘ มี.ค. ๒๕๕๖








"เก็บเข้าลิ้นชัก"
สันต์ สะตอแมน


"ลาออกจากราชการไปสมัครรับเลือกตั้งแล้วไม่ควรกลับมารับราชการที่เดิมอีก ผู้ลาออกจะได้มีจิตสำนึกมุ่งมั่นทำงานการเมืองรับใช้ประชาชนอย่างไร้รอยต่อ งานรับราชการอาจเป็นที่สร้างแรงดลใจ ให้มุ่งสู่งานการเมืองรับใช้ประชาชนอีกแบบหนึ่ง แต่ไม่ใช่ที่พักพิงหาเงินเดือนใช้ชั่วคราวของผู้แพ้เลือกตั้ง" ..นี่มิใช่คำคม หากแต่ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล พูดให้ตรึกตรอง!

และคนที่ต้องตรึกตรองก็จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก พล.ต.อ.ดร.พงศพัศ พงษ์เจริญ ที่ถอดเครื่องแบบตำรวจลงชิงชัยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แล้วแพ้ให้กับหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร

ถ้าลำพังลงสมัครในนาม "อิสระ" เหมือนกับอีกหลายๆ ผู้สมัครฯ ก็คงไม่ต้องตรึกตรองอะไรให้มาก เพราะนั่นถือเป็นความ "ตั้งใจจริง" ที่ยอมเสียสละตำแหน่งหน้าที่ในงานราชการ ออกมารับใช้คนกรุงเทพฯ

แพ้แล้วจะหวนกลับไปทำงานราชการ (ใหม่) ต่อ ก็ไม่มีใครขัดขวางหรือติฉินได้

แต่การที่ พล.ต.อ.พงศพัศเข้าไปเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ลงสมัครผู้ว่า กทม. ในท่ามกลางการต่อสู้แข่งขันของ ๒ ขั้วพรรค การเมืองใหญ่ นั่นเท่ากับนายตำรวจใหญ่ท่านนี้ได้ "เลือกข้าง" แล้วเป็นที่ชัดเจน

ซึ่งการเลือกข้าง ก็หมายถึงการ "ไม่เป็น กลาง" และเมื่อข้าราชการโดยเฉพาะตำรวจไม่เป็น กลางเสียแล้ว ประชาชนจะหวังพึ่งอะไรอีกต่อไปได้

ยิ่งหากวันหนึ่งข้างหน้า พล.ต.อ.พงศพัศได้เป็นถึง "ผบ.ตร." ตามที่คุณจตุพร พรหมพันธุ์ ได้แต่งตั้งไว้ล่วงหน้า ถามใจท่านสิว่า จะวางตัว-ปฏิบัติหน้าที่อย่างไรต่อพรรคต่อประชาชนที่เขารักและศรัทธาประชาธิปัตย์

ใช่..พล.ต.อ.พงศพัศอาจจะเป็นคนดีคนเก่ง แต่ก็อย่าลืมว่าในสำนักงานตำรวจนั้นยังมีคนที่มีความรู้ความสามารถ (เป็นกลาง) อีกมากที่พร้อมจะขึ้นสู่..ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ขาดคุณพงศพัศไปคน ไม่กระทบ กระเทือน หรือส่งผลเสียหายให้กับสำนักงานตำรวจฯ หรอกครับ ตรงข้าม คุณพงศพัศหวนกลับเข้าไปรับตำ แหน่งอีกครั้งนั่นแหละ..

ผลเสียหายย่อมเกิดแก่สถาบัน เป็นการทำร้ายองค์กรให้ต้องมัวหมอง-เสื่อมทรุดในสายประชาชน!

"งานราชการไม่ใช่ที่พักพิงหาเงินเดือนใช้ชั่วคราวของผู้แพ้เลือกตั้ง" ..แม้จะไม่ได้ก้องดังอยู่ในโสตประสาทของคุณพงศพัศ แต่อย่างน้อยคงพอจะช่วยสะกิดให้คนเก่งคนฉลาดอย่างท่านได้มีสติ..เกิดความละอาย ก่อนที่จะตัดสินใจกลับเข้าไปสวมเครื่องแบบตำรวจใหม่!

ก็เป็นความหวังดีของคุณสมเกียรติโดยแท้ ที่ทั้งไม่อยากให้สำนักงานตำรวจฯ เสื่อมเสีย และไม่อยากเห็นคุณพงศพัศต้องแบกหน้าที่ "ผู้พิทักษ์รัฐบาลและพรรคเพื่อไทย" ในยามที่ต้องขึ้นนั่งตำแหน่งสูงสุด..ผบ.ตร.

วันนี้-เวลานี้ คุณพงศพัศจะเลือกจิ้มลงนั่งตรงไหนก็ได้ในทุก ๆ แห่งหนบนอำนาจที่ต้องการ แล้วจำเป็นอะไรที่จะต้องคืนกลับไปรับราชการตำรวจให้คนเขาติฉินนินทา ยิ่งปากบอกไม่ทะเยอทะยานอยากในตำแหน่ง ผบ.ตร.ด้วยแล้ว

ก็อยู่..เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยต่อไปเถอะ คนสู้ถวายหัวให้กับคุณทักษิณน่ะ มีแต่เจริญๆ ในลาภ-ยศ ยกเว้นก็เพียง..คุณตู่ จตุพรที่นับวัน คล้ายกำลังจะถูกเก็บเข้าลิ้นชักยังไงชอบกล


จากคอลัมน์ "วิสามัญบันเทิง"
นสพ.ไทยโพสต์ ๗ มี.ค. ๒๕๕๖








"ต้องวัดใจ 'จูดี้'"
คมเฉือนคม


เอาช้างมาฉุดก็คงหยุดไม่อยู่ การขอกลับเข้ารับราช การตำรวจอีกครั้งของ "จูดี้" พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ อดีตผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) สังกัดพรรคเพื่อไทย หลังจากพ่ายแพ้คู่แข่งสำคัญจากพรรค ประชาธิปัตย์ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.!

แม้นายกฯ ยิ่งลักษณ์จะยักท่า ตอนถูกนักข่าวถามถึงความประสงค์ของ พล.ต.อ.พงศพัศ ที่ขอกลับเข้ามาเป็นตำรวจอีกครั้ง บอกต้องรอให้ กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการก่อน นั่นก็แค่เป็นเรื่องตามกฎ ตามระเบียบ ตามขั้นตอน

เสียงคัดค้าน ทัดทาน จากใครหน้าไหน ด้วยเหตุผล อะไร ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะเส้นทางกลับสู่รั้วปทุมวันของ พล.ต.อ.พงศพัศ ถูกวางเตรียมไว้เป็นแผนสำรองตั้งแต่ช่วงมีการทาบทามให้ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.สังกัดพรรคเพื่อไทยแล้ว

และไม่ต้องยกแม่น้ำทั้ง ๕ มาเจียระไนเป็นเหตุผลที่ควรให้ พล.ต.อ.พงศพัศ กลับเข้ารับราชการตำรวจ เหมือนอย่างที่ "จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ" รัฐมนตรีว่าการมหาดไทย และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ออกมาบอกว่าถ้าไม่ให้กลับไปรับราชการตามเดิม ต่อไปจะไม่มีคนดีที่ไหนเสียสละออกมาเสนอตัวรับใช้ประชาชน

ฟังแล้ว "คันหู"

เพียงแต่สิ่งที่อยากให้ พล.ต.อ.พงศพัศ ตระหนักรับรู้และนำมาปฏิบัติให้ทุกคนเห็น เป็นการพิสูจน์ตัวเองในความเป็น "ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์" มืออาชีพ ก็คือการทำหน้าที่ผู้พิทักษ์ความยุติธรรม ที่ต้องไม่เอนเอียง ไม่ฝักใฝ่ ไม่เลือกข้าง ต้องเลือกความถูกต้อง เลือกประชาชนเป็นสำคัญ

นั่นจะเป็นเครื่องพิสูจน์และลบข้อครหาที่เกิดขึ้นจากสังคม โดยเฉพาะหากหมายมั่นปั้นมือจะขึ้นเป็นผู้นำสีกากี นั่งเก้าอี้ "ผบ.ตร" ในอนาคต ทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

ไม่เช่นนั้นแล้ว คำท้วงติงจากนายตำรวจรุ่นพี่ พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ ที่ว่า

"การกลับเข้ารับราชการของ พล.ต.อ.พงศพัศ จะต้องถูกตั้งคำถามเรื่องความเป็นกลางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นสิ่งที่ พล.ต.อ.พงศพัศต้องคิดให้ดี  เพราะนั่นอาจจะเป็นผลเสียต่อองค์กรตำรวจได้"

คงต้องวัดใจ "จูดี้" จะเลือกทางไหน.


จากคอลัมน์ "เสียบซึ่งหน้า"
นสพ.ไทยโพสต์ ๙ มี.ค. ๒๕๕๖








"รัฐตำรวจกรณีพล.ต.อ.พงศพัศ?"
บทบ.ก.นสพ.แนวหน้า


หลายฝ่ายออกมาตั้งข้อสังเกตถึงความเหมาะสมและความถูกต้องชอบธรรมกรณีที่ผู้บริหารของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ทั้ง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) หรือ พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสตช. ที่เคยแถลงก่อนหน้านี้แสดงท่าทียินดีหาก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ อดีตรองผบ.ตร.และอดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.)จะกลับเข้ารับราชการตำรวจอีกครั้งหลังจากที่ลาออกไปสมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร แต่ประสบความพ่ายแพ้แก่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าฯกทม. ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์

หลังพ่ายแพ้ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. พล.ต.อ.พงศพัศ แสดงท่าทีต้องการกลับเข้ารับราชการที่สตช.เหมือนเดิมถึงกับเดินทางไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อดักรอพบอ้อนวอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ท่ามกลางรายงานข่าวที่ว่า พล.ต.อ.พงศพัศ อาจได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีในการปรับคณะรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ 4 ซึ่งจะมีขึ้นในเร็วๆ นี้เพื่อเป็นรางวัลปลอบใจที่ยอมลาออกจากราชการตำรวจเพื่อมาลงสมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม.ในนามพรรคเพื่อไทยตามใบสั่งของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้มีบารมีเหนือรัฐบาล

ก่อนหน้าที่จะมีการเปิดรับสมัครชิงเก้าอี้ ผู้ว่าฯกทม.มีรายงานข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้กำหนดตัวต้องการให้ พล.ต.อ.พงศพัศ ลงสมัครโดยมีข้อตกลงเป็นคำมั่นสัญญา ว่าหากแม้ พล.ต.อ.พงศพัศ พ่ายแพ้ก็ยังสามารถกลับเข้ารับราชการตำรวจในตำแหน่งเดิมโดยจะสนับสนุนให้ พล.ต.อ.พงศพัศ ได้นั่งเก้าอี้ ผบ.ตร. ต่อจาก พล.ต.อ.อดุลย์ ซึ่งจะเกษียณอายุราชการในปีหน้า ขณะที่ พล.ต.อ.พงศพัศ ยังมีอายุราชการอีกหลายปี

จากปรากฏการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าการกลับเข้ารับราชการตำรวจของ พล.ต.อ.พงศพัศ ครั้งนี้ล้วนเป็นไปตามการกำหนดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ขณะที่ สตช.กลายเป็นกลไกอำนาจรัฐที่เป็นเครื่องมือสนองเป้าหมายทางการเมืองอย่างที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นรัฐตำรวจภายใต้ระบอบทักษิณ

แม้มติคณะรัฐมนตรีก่อนหน้านี้จะเปิดช่องให้ ข้าราชการที่ลาออกไปสมัครรับเลือกตั้ง อันเป็นการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยสามารถกลับเข้ารับราชการได้อีกครั้ง แต่ก็มีการตั้งคำถามว่า การที่ พล.ต.อ.พงศพัศ ซึ่งแสดงตัวชัดเจนว่าฝักใฝ่พรรคเพื่อไทย และลงสมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม.ในนามพรรคเพื่อไทย แต่เมื่อแพ้การเลือกตั้งแล้วกลับมาเป็นข้าราชการตำรวจอีกครั้งจะขัดต่อ พ.ร.บ.และระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่กำหนดว่า ข้าราชการตำรวจต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมืองอย่างเคร่งครัดหรือไม่

นอกจากนี้หากพิจารณาในเรื่องความเหมาะสมเมื่อ พล.ต.อ.พงศพัศ แสดงตัวชัดเจนแล้วว่าเป็นคนของพรรคเพื่อไทย แล้วหากกลับมาเป็นข้าราชการตำรวจจะมีหลักประกันอะไรได้ว่าจะวางตัวเป็นกลางไม่แอบช่วยเหลือพรรคเพื่อไทยทางการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าตำรวจมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายที่มีอำนาจจับกุมดำเนินคดีและมีอิทธิพลอย่างสูงทางการเมืองทั้งบนดินและใต้ดิน

ขณะเดียวกันยังมีคำถามในเรื่องความเหมาะสมและจิตสำนึกของ พล.ต.อ.พงศพัศ เองที่ไม่ควรจับปลาสองมือเพราะเมื่อคิดจะเอาดีทางการเมืองในนามพรรคเพื่อไทยก็ควรมุ่งไปในเส้นทางการเมืองอย่างจริงจังไปเลย ไม่ใช่ได้ประโยชน์ทั้งขึ้น ทั้งล่อง ซึ่งอาจถูกครหาได้ว่าเอาเปรียบและปิดกั้นโอกาสนายตำรวจคนอื่น ๆ ที่รอคิวไต่เต้าหวังเติบโตในชีวิตข้าราชการตำรวจ ซึ่งหากตำแหน่งรองผบ.ตร.และเลขาธิการป.ป.ส.ของพล.ต.อ.พงศพัศ ว่างลง จะทำให้นายตำรวจระดับรองลงไปสามารถเขยิบตำแหน่งขึ้นมาแทนที่อย่างเป็นลูกโซ่อีกจำนวนมาก

ดังนั้นหาก พล.ต.อ.พงศพัศ ได้กลับเข้ารับราชการตำรวจอาจถูกมองได้ว่าเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม และตอกย้ำภาพขององค์กรผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของระบอบทักษิณ


จากนสพ.แนวหน้า ๑๑ มี.ค. ๒๕๕๖








อยากดูหน้า"
สันต์ สะตอแมน


ก็เอาเถอะ ถ้าจะเชื่อตามผลโพล..ผมหมายถึง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ที่แพ้เลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร แล้วจะหวนกลับไปสวมเครื่องแบบตำรวจเพื่อรอคั่วตำแหน่ง ผบ.ตร.ตามที่มีเสียงโจษจันอื้ออึงอยู่ในห้วงนี้ แต่ก็ต้องทนต้องหนาด้วยสำหรับหน้า เพราะเสียงนินทา เสียงหยันเย้ยเยาะ ยังไงเสียก็ย่อมได้ยิน.. "ไปไหนไม่รอด ก็กลับเข้าคอกเหมือนเดิม"

อันที่จริง จะว่าคุณพงศพัศไปไหนไม่รอด ก็น่าจะเป็นการพูดเอามันส์ที่เบาหวิวในความจริง เพราะอย่างท่านเวลานี้นั้นเป็นที่รู้ที่ทราบ (ตามข่าว) พี่ชายก็ปลื้ม น้องสาวก็รัก..จะเอาตำแหน่งอะไร?

เพียงบอกและชี้นิ้ว ก็จะได้สมใจปรารถนา!แต่ที่คุณพงศพัศอยากกลับเข้าสู่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ท่ามกลางเสียงทักเสียงท้วง และเสียงซุบซิบนินทา นั่นก็ด้วยเจตนา เป้าหมาย..ตำแหน่งสูงสุดในอาชีพการรับราชการตำรวจ สอบ-เรียนโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ทุกคนมีความฝัน และต่างพยายามมุ่งมั่นทำงานให้มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ไปทีละขั้นๆ เพื่อสู่เป้าหมายที่ฝันกันเอาไว้ แต่ด้วยเก้าอี้มีอยู่เพียงตัวเดียว

จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครคนใดคนหนึ่งจะได้ขึ้นนั่ง แม้ว่าตำรวจท่านนั้นจะไต่เต้าขึ้นมาด้วยฝีมือ ความรู้ ความสามารถในการปฏิบัติงาน แต่หากไม่ได้รับการสนับสนุนอุ้มชูจากนักการเมือง ก็เป็นอย่างที่รู้ที่เห็น..

นายพลกี่คนแล้วที่เกษียณไปด้วยความเจ็บปวด ชอกช้ำ ระกำใจ!

ฉะนั้น ไม่ผิดหรอกที่ พล.ต.อ.พงศพัศจะลาออกราชการไปลงสมัครผู้ว่าฯ สังกัดพรรคเพื่อไทย แล้วไม่สำเร็จ จะได้หวนกลับสวมเครื่องแบบใหม่อีกครั้ง เพราะด้วยปลื้มของพี่ชาย และด้วยรักของน้องสาวที่มีต่อท่าน

"ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ" จึงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ
ก็จึงว่า.. "กลับเถอะ" ยิ่งมีผลโพลออก มา ประชาชนเห็นด้วยที่จะให้คุณพงศพัศกลับเข้ารับราชการตำรวจ (ไม่รู้ไปถามใคร) ก็อย่าทำอิดออด ยักท่า รอปรึกษาคนที่รักคนที่ปลื้ม ให้แม่ยกเขาหมั่นไส้อยู่เลย

วันนี้-พรุ่งนี้ ประกาศออกมาให้ชัด ไม่ใช่อะไรหรอก ผมสงสารรองผู้บัญชาการฯ อีก ๒ ท่าน คือ พล.ต.อ.เอก อังสรานนท์ กับ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ที่เวลานี้ได้แต่นั่งสวดมนต์ภาวนา..

และคงจะพอเดาได้สินะ ทั้ง ๒ ท่านภาวนาว่าอย่างไร?

ในรอบไม่กี่วัน ผมเขียนถึงคุณพงศพัศมา ๒ หนแล้ว ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ผมไม่ได้มีอคติอะไรต่อท่าน เพียงแต่ไม่อยากเห็นข้าราชการระดับสูง โดยเฉพาะองค์กรที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการเมืองอย่างสำนักงานตำรวจฯ ลาออกไปเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ลงเลือกตั้ง พอไม่ได้ก็กลับเข้ารับราชการต่อ

ก็อย่างที่ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ว่าไว้นั่นแหละ.. "ข้าราชการไม่ใช่ที่พักพิงหาเงินเดือนใช้ชั่วครั้งชั่วคราวของคนสอบตก"


จากคอลัมน์ "วิสามัญบันเทิง"
นสพ.ไทยโพสต์ ๑๔ มี.ค. ๒๕๕๖








"ควันหลงยังไม่จาง"
กมลศักดิ์ ตั้งธรรมนิยม


แม้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะผ่านไปหลายวันแล้ว แต่ควันหลงหลังเลือกตั้งกลับยังไม่จางหายง่าย ๆ นอกจากควันหลงกรณี กกต.ยังไม่รับรองผลของผู้ชนะ ยังมีควันหลงกรณีเสี่ยเหลี่ยมมีอารมณ์หงุดหงิดไม่รู้เลิกที่ถูกคนกรุงเทพฯตบสั่งสอน และควันหลงจูดี้ อีเว้นท์ ยังกระหื่นกระหายอยากกลับไปเป็นตำรวจอย่างด่วนจี๋ จึงถูกสังคมสวดชยันโตไปทั่วสิบทิศ

กรณี กกต. ยังไม่รับรองผลในชัยชนะของคุณชายหมูนั้นจะยังไม่กล่าวถึงในวันนี้ แต่จะขอเขียนถึงเฉพาะควันหลงกรณีเสี่ยเหลี่ยมยังหงุดหงิดกับสาวกของตน และกรณี สว.บางท่านออกมาวิจารณ์การกลับเข้ารับราชการของจูดี้ อีเว้นท์

กรณีเสี่ยเหลี่ยมยังหงุดหงิดในความพ่ายแพ้ โดยเสี่ยได้สไกป์เข้ามาในที่ประชุมพรรค แล้ว “เฉ่งปี๋” แต่ไม่ถึงขั้น “ด่ากราด” สาวกของตนดังนี้

๑. เด็กเจ๊หน่อยเกียร์ว่าง โดยเสี่ยเหลี่ยมสไกป์ว่า เลือกตั้งผู้ว่าฯที่ผ่านมา มีหลายพื้นที่มีปัญหา “แล้วไม่บอก” บางพื้นที่ทำงาน “ไม่เต็มที่” (เกียร์ว่าง) โดยเฉพาะพวกที่เชียร์คุณหญิงสุดารัตน์ จากนี้ไปต้องมีการประเมิน พื้นที่ไหนทำงานไม่ดีจะพิจารณาว่าจะส่งลง สส.หรือไม่

๒. รัฐมนตรีเป็นนกปากเจ็บ โดยเสี่ยเหลี่ยมสไกป์ต่อไปว่า ประชาธิปัตย์ใช้วาทกรรมเก่ง ยกเรื่องที่มันคลุมเครือมาเล่นเกมการเมือง เช่น เรื่องเผาบ้านเผาเมือง เรื่องเปลี่ยนแปลงรัฐไทยและเรื่องเอาตุ๊ดตู่มาเป็นรองผู้ว่าฯ เป็นต้น แต่พวกรัฐมนตรีกลับไม่พูด ไม่ชี้แจงและไม่ตอบโต้ “สงสัยกลัวพูดไปแล้วไม่หล่อ” จึงปล่อยให้เขาออกมาพูดข้างเดียว

กรณีจูดี้ อีเว้นท์ จะขอกลับเข้ารับราชการตำรวจแม้จะมีผู้ออกมาต่อต้านจำนวนไม่น้อย โดยให้เหตุผลของความไม่เหมาะสมไปคนละอย่าง แต่เหตุผลของ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สว.สรรหา น่าจะกระชับและตรงเป้าที่สุด โดยหมอชี้ให้เห็นถึงความไม่สง่างามในการขอกลับเข้าเป็นตำรวจ ดังนี้

๑. เห็นว่า จูดี้ อีเว้นท์ เป็นนักการเมืองเต็มตัวไปแล้วเนื่องจากลงสมัครเลือกตั้ง ในนามพรรคเพื่อไทย แม้จะไม่มีกฎหมายห้ามกลับเข้ารับราชการ แต่ตำแหน่งที่ขอกลับนั้น เป็นตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของกระบวนการยุติธรรมที่สามารถให้คุณให้โทษในคดีต่าง ๆ ที่เกี่ยวพันกับรัฐบาลและฝ่ายค้านได้ย่อมจะทำให้ความเป็นกลางเสียไป

๒. กฎก.ตร.ห้ามไว้ โดยหมอระบุว่า กฎ ก.ตร.ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของจรรยาบรรณตำรวจ ๒๕๕๓ ข้อ ๕ อนุ ๗ ได้ระบุไว้ว่า “ตำรวจต้องเป็นกลางทางการเมือง” ดังนั้น การล้างภาพทางการเมืองของจูดี้ ต้องใช้เวลาเว้นวรรค ๒ - ๕ ปี ถ้าให้กลับเข้ารับราชการทันที เท่ากับส่งข้าราชการการเมืองเข้าดำรงตำแหน่งข้าราชการประจำ

๓. เห็นควรปูนบำเหน็จจูดี้ด้วยตำแหน่งทางการเมือง โดยหมอแจงว่า นายกฯน่าจะสนับสนุนให้จูดี้เป็นรัฐมนตรีหรือรองนายกฯ มาดูแล ป.ป.ส.และสตช.จะดีกว่า

น่าเชื่อว่า ควันหลงหลังเลือกตั้ง คงจะยังไม่จางง่าย ๆ เหมือนกับที่หลายคนฟันธง


จากคอลัมน์ "เลียบวิภาวดี"
นสพ.แนวหน้า ๑๓ มี.ค. ๒๕๕๖


บีจีและไลน์จากคุณญามี่


Free TextEditor


Create Date :10 เมษายน 2556 Last Update :14 มิถุนายน 2556 19:56:56 น. Counter : 1902 Pageviews. Comments :0