bloggang.com mainmenu search




ภาพจากเวบ deviantart.com





Romance - Yuhki Kuramoto










“1 ทศวรรษ อ.สาโรจน์” (1 Decade)



นิทรรศการ : “๑ ทศวรรษ อ.สาโรจน์” (1 Decade)
ศิลปิน : สาโรจน์ ตั้งตฤษณกุล (Saroj tungtritsanakul)
ลักษณะงาน : จิตรกรรมสีน้ำ
ระยะเวลาที่จัดแสดง : ๑๒ มีนาคม – ๘ เมษายน ๒๕๕๘
พิธีเปิดนิทรรศการ : ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๘.๓o น.
สถานที่ : หอศิลป์จามจุรี ห้องนิทรรศการชั้น ๒
ติดต่อศิลปิน : o๘๙-๗๖๙-๖๘๙๓


แนวความคิด

นิทรรศการ ชุดนี้เป็นการรวบรวมผลงาน ครบรอบ ๑o ปี ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๔๕ ถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นงานจิตรกรรมสีน้ำงานครั้งนี้ต้องการให้เห็นการพัฒนาของงานและเรื่องของการใช้สี เทคนิคการระบายสีน้ำตลอดจนอารมณ์ของภาพ และปี ๒๕๕๗ ได้ผลิตงานชุดใหม่ ชื่อ “ในหลวงของเรา ” เพื่อเป็นการเทิดพระเกียร์ติในหลวงครบรอบ ๘๗ พรรษา โดยได้รวบรวมงานทั้งหมด ๖o ภาพ



ภาพและข้อมูลจาก
chamchuriartgallery.blogspot.com















ใจประสานสองมือ 'ปั้น' ศรัทธา



ท่ามกลางสถานการณ์ร้อนระอุของวงการพระพุทธศาสนาในเมืองไทย ซึ่งกระทบต่อแรงศรัทธาไม่มากก็น้อยของคนในชาติ สัจธรรมข้อหนึ่งที่คงทนต่อแรงกระเพื่อมแม้จะผ่านมาสักกี่ยุคสมัย นั่นคือ "พระธรรมคำสอนขององค์พระศาสดา" ที่หล่อหลอมให้พุทธศาสนิกชนได้มีที่ยึดเหนี่ยวยามสับสน และแนวทางนี้เองจุดประกายให้ศิลปินผู้ถูกขนานนามว่าเป็น "นักปั้นระดับโลก" อย่าง สันติ พิเชฐชัยกุล ใช้สองมือประสานจินตนาการก่อเกิดประติมากรรมโลหะของ ๙ พระอริยสงฆ์ไทย ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความงดงาม ทรงคุณค่าทางศิลปะ และจิตวิญญาณ






ล่าสุดนักปั้นมือทองการันตีฝีมือด้วยรางวัลมานักต่อนักนำประติมากรรมพระอริยสงฆ์ที่เกิดจากความศรัทธาล้วน ๆ มาจัดนิทรรศการ "อริยสงฆ์โดยอริยศิลป์" พร้อมด้วยผลงานอื่น ๆ อาทิ พระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, รูปปั้นอินเดียนแดง และรูปหล่อต่าง ๆ กว่า ๒o ชิ้น โดยเจ้าของผลงานเล่าที่มาให้ฟังว่า ตัวเองเป็นศิลปินบ้านนอกจากอ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา เกิดในครอบครัวยากจน อยากได้ของเล่นอะไรพ่อมักบอกว่าไม่มีเงินซื้อให้ มีเพียงก้อนดินเท่านั้นที่จะสรรค์สร้างสุดแต่จินตนาการ จากนั้นความเป็นศิลปินจึงค่อย ๆ ก่อร่างสร้างตัวโดยยึดโยงกับศาสนาเป็นหลัก จึงบอกกับตัวเองว่าสักวันต้องเป็น "ศิลปินเอกของโลก" ให้ได้






เมื่อความฝันผสานความพยายาม และสั่งสมประสบการณ์ ประติมากรรมอันเกี่ยวเนื่องกับแรงศรัทธาอย่างรูปปั้นเต็มตัวของ "หลวงปู่เลื่อน" กลายเป็นผลงานชิ้นแรก ๆ ที่เขาส่งเข้าประกวดที่สหรัฐอเมริกาเมื่อปี ๒o๑o ติดท็อป ๒๕ ท่ามกลางคู่แข่งกว่า ๑,๗oo คน หลังจากนั้นก็ส่งผลงานเข้าประกวดและบ่อยครั้งคว้ารางวัลที่ ๑ กลับมาชื่นชมยังแผ่นดินเกิดจนมีคนถามไถ่ว่าทำไมไม่ลองปั้นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งสอดคล้องกับความตั้งใจพอดี จึงรวบรวมพละกำลังไปแอบทำงานชิ้นนี้ที่บอสตัน สหรัฐอเมริกา นำกลับมาเมืองไทยอีกครั้งก่อจะสานต่ออีกหนึ่งโปรเจกท์สำคัญกับรูปปั้น ๙ พระเกจิอาจารย์ชื่อดังเพื่อคนไทย






"ใครเกิดที่ไหนผมปั้นที่นั่น อย่างเกจิอาจารย์ต่าง ๆ ที่เห็นท่านเกิดที่เมืองไทยก็ปั้นและหล่อที่เมืองไทย พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพที่บอสตันก็ปั้นที่บอสตัน หรืออินเดียนแดงเกิดไหนก็ปั้นที่นั่น ผมเป็นนักปั้นแห่งจิตวิญญาณ ผมเอาความรู้สึก เวลาผมปั้นถ้ารูปปั้นไม่คุยกับผมก็ปั้นไม่เสร็จ ถ้าเมื่อไหร่รูปปั้นเหมือนจะพูดด้วยจะคุยด้วยนั่นคือเสร็จ" ศิลปินเบอร์หนึ่งด้านประติมากรรม เผยพร้อมบอกว่า ตั้งใจทำงานศิลปะที่มีคุณค่า พระอริยสงฆ์เหล่านี้สอนสั่งคนมามากก็อยากนำเสนอให้คนทั่วไปได้ชื่นชมในคุณงามความดีผ่านผลงานประติมากรรม ส่วนเทคนิคมาจากการฝึกฝน ความรักที่จะทำงาน จึงพยายามศึกษาหาความรู้ ดู จดจำ และทำมาก ๆ สำคัญต้องเปิดโลกทัศน์ศึกษาศิลปะโลกด้วย






ต้นแบบพระเกจิอาจารย์ที่เขาบรรจงปั้นด้วยใจให้คนไทยได้ชื่นชมทั้ง ๙ รูป ได้แก่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี), หลวงปู่ทวด วัดช้างให้, พระมงคลเทพมุนี (สด จฺนทสโร), หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ, พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต, ครูบาศรีวิชัย, หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโณ, หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปณฺฑิโต และ หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค ล้วนมาจากดินปากเกร็ด นนทบุรีที่เขาใช้อยู่เป็นประจำ ก่อนจะหล่อด้วยโลหะให้มีความคงทนถาวร ไม่เพียงเท่านี้ศิลปินบอกด้วยว่า รูปปั้นเกจิอาจารย์ทุกรูปมีที่มาที่ไปโดยเฉพาะรูปที่ยังมีชีวิตอยู่ต้องเดินทางไปศึกษาวัตรปฏิบัติด้วยตัวเอง พร้อมนำหลักธรรมคำสอนมาใช้ในการดำเนินชีวิตด้วย


ศรัทธาอันแรงกล้านี้ยังเกิดโจทย์ใหม่ที่ว่า "พระพุทธเจ้าหน้าตาเป็นอย่างไร" ซึ่งเมื่อได้ศึกษาคำสอนแล้วจึงได้รู้ว่า "ธรรมะ" คือ "ธรรมชาติ" ตามที่พระพุทธองค์สอน แล้วก็นำมาซึ่งโปรเจกท์ต่อเนื่อง "ตามหาใบหน้าพระพุทธเจ้า" เพื่อการปั้นพระพุทธเจ้าให้เหมือนจริง






"ผมไม่เคยเจอพระพุทธเจ้าเจอแต่แก่นแท้คำสอน พอจะลงมือปั้นก็เดินทางไปศึกษาเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าเพิ่มเติมจากผู้รู้ในถิ่นกำเนิดพระพุทธศาสนายังชมพูทวีป คำตอบที่ได้คือ ขึ้นอยู่กับผมจะมองด้วยตัวเอง แต่ยังไม่ต้องเชื่อผม ให้เชื่อตามที่พระพุทธองค์ทรงบอกว่าต้องเชื่อจากการพิสูจน์ด้วยตัวเอง งานต่าง ๆ ที่ผมทำก็เพียงอยากให้ทุกคนเห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมไทย และฝีมือคนไทย คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก ไทยถือเป็นประเทศแห่งศิลปะ ประเทศไหนไม่มีศิลปวัฒนธรรมถือว่าล่มสลาย ผมหวังว่าจะช่วยกระตุ้นให้คนไทยในชาติรักและหวงแหนในพระพุทธศาสนา ศิลป วัฒนธรรม และบุคคลสำคัญของชาติ" เจ้าของรางวัลประติมากรอันดับหนึ่งของโลกจาก ซาฟารี คลับ อินเตอร์เนชั่นแนล เน้นยำ






สำหรับชาวพุทธที่ยังศรัทธาในศาสนาพร้อมชื่นชอบพุทธศิลป์ สามารถจับจองและบูชาชุดงานประติมากรรมเกจิอาจารย์ ชุดละ ๙ องค์ ราคาชุดละ ๑.๖ ล้านบาท โดยรายได้ส่วนหนึ่งจะบริจาคช่วยเหลือเด็กกำพร้า มูลนิธิฟอร์เด็กและโรงเรียนยากไร้ และอีกส่วนนำไปสานต่อโปรเจกท์ตามหาใบหน้าพระพุทธเจ้า เพื่อสร้างสิ่งมหัศจรรย์ของโลก เป็นองค์โลหะยิ่งใหญ่และมีรายละเอียดเหมือนจริง สอบถามโทร. o๘-๓๔๒๕-๘o๔๒







ภาพและข้อมูลจาก
komchadluek.net
เฟซบุคอ.สันติ














เส้นทางเชื่อมชุมชนหมายเลข ๑๒
พ.อ.วัชระ วีระวงศ์



ชีวิตในเมืองหลวง ผู้คนต้องอาศัยอยู่ท่ามกลางตึกสูงที่มีการจรา จรคับคั่ง ส่วนผู้มีรายได้น้อยต้องอาศัยอยู่ในสภาพที่แออัดยิ่งกว่า ดังสำ นวนที่พูดกันว่า "ชุมชนแออัด" และยังต้องดิ้นรนทำมาหากินในลักษณะที่เรียกว่า "ปากกัดตีนถีบ" และ "หาเช้ากินค่ำ" ความเป็นอยู่แออัดและการดิ้นรนทำมาหากินแรก ๆ อาจพอทนได้ แต่ครั้นนานไปจำเป็นต้องหลบหลีกภาวะดังกล่าวเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ หนีความเครียดบ้างเป็นครั้งคราว ถึงกระนั้นก็ไม่จำเป็นต้องหนีเมืองกรุงเพราะกรุงเทพฯ ยังมีแหล่งเรียนรู้ผ่อนคลายให้พักกายใจโดยไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากนัก ยิ่งเป็นผู้สูงอายุก็จะได้รับสิทธิในการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ สวนสัตว์ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอีกด้วย





อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
ภาพจาก pixpros.net



ขั้นแรก เลือกเส้นทางสู่เกาะรัตนโกสินทร์ที่เป็นย่านเก่า ไม่มีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่และอาคารสูง เส้นทางหนึ่งที่ขอเสนอคือ เส้นทาง รถเมล์สาย ๑๒ ห้วยขวาง-ปากคลองตลาด เริ่มต้นจากตลาดห้วยขวาง (พื้นที่เขตดินแดง) ไปจนสุดถนนประชาราษฎร์ ชาวบ้านเรียกว่า "ย่านดินแดง" มีแฟลตที่พักอาศัยของผู้มีรายได้น้อยตั้งเรียงรายไปตลอดย่าน รถแล่นผ่านสามเหลี่ยมดินแดงตรงไปอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิจอดป้ายที่โรงพยาบาลราชวิถี เป็นจุดที่มีผู้โดยสารขึ้นลงมากที่สุด จากนั้นรถแล่นผ่านโรงพยาบาลเด็ก พระราชวังพญาไท โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงเรียนสอนคนตาบอดที่แยกตึกชัย ไปสู่ถนนสุโขทัยมีอาคารร้านค้าขนาดเล็กเป็นธุรกิจชุมชน สองข้างทางมีต้นไม้เรียงรายทั้งสองฟากให้ความชุ่มชื่นได้มากเมื่อเทียบกับย่านอื่นในกรุงเทพฯ





พระราชวังพญาไท
ภาพจาก dek-d.com



เมื่อรถแล่นข้ามคลองเปรมประชากร มีที่ทำการเขตดุสิตอยู่ริมฝั่งคลอง สองข้างทางมีอาคารสถาปัตยกรรมที่งดงามท่ามกลางแมกไม้ที่ร่มรื่น คือ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย สร้างสมัยรัชกาลที่ ๖ ถึงแยกสวนรื่นฤดีรถเลี้ยวเข้าถนนราชสีมาผ่านมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต พระราชวังดุสิต พระตำหนักสวนกุหลาบ คุรุสภา กองบัญชาการกองทัพบก (ด้านหลัง) ตั้งอยู่ที่แยกวิสุทธิ์กษัตริย์ รถแล่นผ่านวัดตรีทศเทพแล้วเลี้ยวเข้าถนนพระสุเมรุไปสุดถนนที่เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ และถนนราชดำเนินกลางข้าง ๆ มีพิพิธภัณฑ์หอศิลป์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระ บรมราชินีนาถ แยกนี้รถมักติดไฟแดงอยู่เสมอ แต่เป็นโอกาสดีที่จะทอดสายตามองไปเบื้องหน้าจะเห็นป้อมมหากาฬ และมองมุมสูงจะเห็นภูเขา ทองตั้งตระหง่าน นับเป็นมุมที่เห็นภูเขาทองได้งดงามชวนมอง





พิพิธภัณฑ์หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระ บรมราชินีนาถ
ภาพจาก netive.wordpress.com/



เมื่อรถเลี้ยวเข้าถนนราชดำเนินกลางก็จะเห็นลานมหาเจษฎาบดินทร์ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนฉากหลังเป็นโลหะปราสาทในบริเวณวัดราชนัดดาราม บริเวณนี้มีบาทวิถีกว้างขวาง ร่มรื่นด้วยร่มเงาต้นไม้ตลอดแนวถนนเป็นจุดที่น่าเดิน และปัจจุบันเป็นจุดเริ่มต้นของทางจักรยานรอบเกาะรัตนโกสินทร์ การหาความรู้ตามอัธยาศัยดังแนวทางที่กล่าวจะได้ผลมากขึ้น หากแวะลงที่แยกผ่านฟ้าลีลาศเพื่อเข้าชมพิพิธภัณฑ์หอศิลป์ บริเวณนี้ก่อนเดินทางต่อไปจนตลอดเส้นทาง





ลานมหาเจษฎาบดินทร์
ภาพจาก beta.soccersuck.com



จากลานมหาเจษฎาบดินทร์ หากข้ามสะพานผ่านฟ้าลีลาศตรงไปก็จะเห็นอาคารโบราณสถานที่งามสง่าเป็นพิพิธภัณฑ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้จัดแสดงพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี รวมทั้งความเป็นมาของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย





ภาพจาก beta.soccersuck.com



ย้อนมองลานมหาเจษฎาบดินทร์ มีพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และศาลาไทยเรียงรายเป็นระเบียบ ที่สำคัญจุดนี้เป็นปากทางสู่เกาะรัตนโกสินทร์ ทางราชการจึงใช้เป็นสถานที่จัดพิธีต้อนรับพระราชอาคันตุกะหรือแขกเมืองบุคคลสำคัญ ต่อจากลานแห่งนี้เป็น อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ซึ่งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้จัดแสดงนิทรรศการความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมของยุครัตนโกสินทร์ บริการข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์แก่ผู้สนใจและนักท่องเที่ยวก่อนที่จะไปชมสถานที่จริง กิจกรรมนั่งรถเมล์ชมเมืองก็ได้รับอานิสงส์ด้วย และเดินต่อไปอาคารติดกันเป็น "หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน" กระทรวงวัฒนธรรมสร้างให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านทัศนศิลป์ บริการสาธารณะอีกแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ยังได้จัดตลาดนัดศิลปะบนบาทวิถีแห่งนี้ทุกเย็นวันเสาร์-อาทิตย์ ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-๒๒ มีนาคม (เริ่มในปี ๒๕๕๘)





ภาพจาก beta.soccersuck.com



จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยรถเลี้ยวซ้ายเข้าถนนดินสอไปจนสุดถนน มีเทวสถานซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า โบสถ์พราหมณ์ บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ด้านหน้ามีลานกว้างเรียก "ลานคนเมือง" สัญลักษณ์ที่โดดเด่นของย่านนี้คือ เสาชิงช้า ตั้งตระหง่านอยู่หน้าวัดสุทัศน์เทพวรารามฯ รถแล่นผ่านหน้าวัดสุทัศน์ฯ แล้วเลี้ยวเข้าถนนตีทองไปถึงแยกเฉลิมกรุง เป็นที่ตั้งของโรงมหรสพหลวง ศาลาเฉลิมกรุง และศูนย์การค้าดิโอลด์สยามพลาซา รถแล่นไปตามถนนเจริญกรุงถึงสี่กั๊กพระยาศรี ข้ามสะพานมอญที่คลองคูเมืองเดิม ผ่านสวนสราญรมย์ วัดโพธิ์ รถเมล์ถึงปลายทางที่ข้างโรงเรียนวัดราชบพิธ (ชั้นมัธยม) ฝั่งตรงข้ามเป็นกระทรวงพาณิชย์เดิม ปัจจุบันเป็นมิวเซียมสยาม บริเวณนี้มีแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองคูเมืองเดิมโอบล้อมเขตตัวเมืองชั้นใน เรียกว่า "เกาะรัตนโกสินทร์" เป็นที่ตั้งของพระบรมมหาราชวัง และ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เนื่องด้วยเป็นสถานที่มีความงามเป็นเอกลักษณ์แห่งยุครัตนโกสินทร์ จึงได้ฉายาว่า "หัวแหวนแห่งรัตนโกสินทร์" (นายนิจ ชีระนันทน์ นักวิชาการด้านผังเมือง ศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้ให้ฉายา) ฉายานี้ได้รับการยอมรับระบุไว้ในหนังสือสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี พ.ศ.๒๕๒๕ "จดหมายเหตุกรุงรัตนโกสินทร์"





ภาพจาก beta.soccersuck.com



องค์ประกอบของสถานที่ดังกล่าวข้างต้นล้วนมีความสำคัญต่อชีวิต การเรียนรู้ด้านสังคม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม กล่าวเฉพาะสถานที่ที่เข้าถึงได้ง่าย เป็นแหล่งเรียนรู้และฟื้นฟูสุขภาพกายใจ ได้แก่

-หอนิทรรศน์รัตนโกสินทร์
-วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง
-พระราชวังดุสิต ที่สำคัญคือ พระที่นั่งวิมานเมฆและพระที่นั่งอภิเศกดุสิต
-พระราชวังพญาไท
-โลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร
-วัดสุทัศน์เทพวรารามราชวรมหาวิหาร
-วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
-วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร
-พิพิธภัณฑ์หอศิลป์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
-พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
-หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน กระทรวงวัฒนธรรม
-มิวเซียมสยาม





พระที่นั่งอภิเศกดุสิต
ภาพจาก carebest2555.blogspot.com






สวนสราญรมย์
ภาพจาก wikipedia.org



เส้นทางรถเมล์สาย ๑๒ มีสวนสาธารณะขนาดใหญ่อยู่กลางกรุง ได้แก่ สวนสราญรมย์, สวนรมณีนาถ และสวนสันติภาพ


สวนสราญรมย์ เดิมเป็นพระราชอุทยานในเขตพระราชวังสราญรมย์ ตั้งอยู่ริมถนนเจริญกรุง และถนนสนามไชย เขตพระนคร สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕


สวนรมณีนาถ ตั้งอยู่ที่ถนนมหาไชย เขตพระนคร มองจากภายนอกเห็นแนวกำแพงเก่าและป้อมบางส่วน บ่งชี้ว่าเคยเป็นเรือนจำคลองเปรมมาก่อน สวนแห่งนี้สร้างขึ้นในโอกาสสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมายุ ๖๐ พรรษา พ.ศ.๒๕๓๕





สวนรมณีนาถ
ภาพจาก panoramio.com



สวนสันติภาพ ตั้งอยู่ที่ถนนรางน้ำ และถนนราชวิถีใกล้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นสวนที่สร้างขึ้นใหม่เปิดเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๔๑ นายพิจิตต รัตตกุล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครขณะนั้นเป็นประธานในพิธีเปิดสวนแห่งนี้ ได้แถลงในโอกาสเปิดสวนสันติภาพว่า "มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เป็นพื้นที่สีเขียว เป็นปอดของกรุงเทพมหานคร เป็นลานกีฬาเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจและเพื่อการสาธารณประโยชน์อื่น ๆ อันเกิดประโยชน์ต่อประชาชนเป็นอย่างยิ่ง"


จุดมุ่งหมายนี้อาจบ่งชี้ได้ว่า แนวคิดพื้นฐานของสวนสาธารณะแต่ละแห่งไม่แตกต่างกันมากนัก





ภาพจาก wikipedia.org



ตลาดและแหล่งสรรพาหารขนาดใหญ่ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีอีกแห่ง หนึ่งคือ ย่านเสาชิงช้า มีอาหารนานาชนิดบริการทั้งวันถึงยามค่ำ ละแวกใกล้เคียงย่านสำราญราษฎร์บริการเฉพาะยามค่ำคืน และศูนย์การค้าหลักของย่านพาหุรัด คือ ดิโอลด์สยามพลาซา มีจุดเด่นที่อาหารและขนมไทย นอกจากนี้ ปัจจุบันโรงพยาบาลมีชื่อเสียงได้บริการอาหารเครื่องดื่ม เช่น ร้านกาแฟนรสิงห์ที่สร้างบรรยากาศย้อนยุคสมัยรัชกาลที่ ๖ ในเขตพระราชวังพญาไท โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยา บาลราชวิถีบริการเครื่องดื่มและอาหารในสถานที่แบบคอฟฟีช็อป และศูนย์อาหาร ในราคาประหยัด หากแต่เป็นผลดีต่อสุขภาพ นอกจากนี้ในวันปฏิบัติราชการ จันทร์-ศุกร์ มีตลาดนัดขายสินค้าที่จำเป็นในโรงพยาบาลราชวิถีและบริเวณใกล้เคียง และตลาดนัดบริการข้าราชการอีกแห่งหนึ่งที่ข้างกระทรวงศึกษาธิการ ลงรถเมล์หน้าคุรุสภาแล้วเดินยืดเส้นยืดสายไม่กี่ก้าวก็ถึงแล้ว


ชีวิตแบบค่อยเป็นค่อยไป ผ่อนคลาย เบาสบายและได้เรียนรู้ตามอัธยาศัย ขณะเดียวกันยังได้โอกาสบริหารร่างกาย ฟื้นฟูสุขภาพทั้งใจและกายให้สมบูรณ์แจ่มใส ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นตัวอย่าง การดำเนินชีวิตพอเพียงตามเส้นทางเชื่อมชุมชนเพื่อความเข้าใจชีวิตและสังคมถิ่นกำเนิด.





ภาพจาก beta.soccersuck.com