“..การศึกษาวิชามานุษยวิทยา มีจุดประสงค์ให้มนุษย์เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับมนุษยชาติทั้งมวล มนุษย์จะได้เข้าใจตนเองและเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เป็นพื้นฐานให้เกิดความเข้าใจอันดี และการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข...” สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ๒๕๓๗

<<
กรกฏาคม 2550
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
27 กรกฏาคม 2550
 

พระพุทธรูป ศิลปอยุธยา ทรงเครื่อง มีที่มาอย่างไร 2

ขอบคุณ คุณหนอนดาวเรืองอีกครั้ง ที่กรุณานำรูปมาให้ชม

หนังสือเล่มแรกในชีวิต เป็นดั่งอาจารย์ที่ไม่มีตัวตนของผม คือหนังสือ "สถูปเจดีย์ในประเทศไทย" ของอาจารย์ น ณ ปากน้ำ

เรียกอาจารย์อย่างเต็มปากและเต็มใจครับ

รูป 37 น่าจะเป็นพระธยานิพุทธะ มหาไวโรจนะ ของมหายานตันตระ พระพุทธเจ้าสูงสุด ของเหล่าธยานิพุทธะทั้ง 5 มีพระโพธิสัตว์ซ้ายขวา

รูป 38 น่าจะเป็นพระอนาคตพุทธะ ไมเตรยะ ปางมารวิชัย ของมหายาน
รูปที่ 39 พระวัชรสัตว์พุทธะ ปางสมาธินาคปรกของวัชรยานในพุทธศตวรรษที่ 17

ภาพ 40 ผมยังไม่ปักใจกับการกำหนดอายุโดยใช้เวลาทางประวัติศาสตร์ศิลปะ ครับ จึงยังไม่เชื่อว่า พระประธานองค์นี้จะสร้างในสมัยเดียวโดยไม่มีการซ่อมแซมหรือดัดแปลงเป็นพระทรงเครื่อง

รูปที่ 41 พระศากยมุนี ปางประทานพร มหายาน

ดีใจที่ได้ดูรูปพระสวย ๆ จากความตั้งใจของคุณหนอนดาวเรือง

ประเด็นของผมอยู่ที่
คติของการสร้างพระวัดหน้าพระเมรุ ซึ่งคุณหนอนได้นำภาพของวัชรยานตันตระ มาเสนอให้เห็นพัฒนาการของการลอกเลียนแบบพระทรงเครื่องจากต่างคติกัน

แล้วมาแต่งเรื่องจากไตรภูมิ สร้างเป็นพุทธประวัติหรือชาดก (ชมพูบดีสูตร) ขึ้นมารับ

หรือ เป็นพระพุทธรูปในคติมหายานเลย
โดยเป็นพระอนาคตพุทธะไมเตรยะ อันเป็นพระศรีอารีย์เมตไตรยของเถรวาท ที่จุติมาเป็นกษัตริย์ ( สมมุติว่าลงมาแล้ว) ในกัลป์ปัจจุบัน

แทนความเป็นพระพุทธราชา ของพระมหากษัตริย์ผู้สร้างพระทรงเครื่องนั้น
มิน่าล่ะ ความนิยมสร้างพระทรงเครื่องเพื่อแทนอดีตกษัตริย์จึงเกิดขึ้นในต้นรัตนโกสินทร์

คติ " พุทธราชา" จากรากฐานมหายาน วัชรยาน มาสู่ส่วนผสมของเถรวาทที่อยุธยา

สนุก ๆ มาก ๆ ครับ ขอบคุณสำหรับมุมมองเด็ด ๆ ของประวัติศาสตร์ศิลปะ ของคุณหนอนดาวเรือง
ขอบคุณมาก ๆ ครับ
วรณัย


ขอบคุณทั้งคุณวรณัยและคุณโพธิ์ประทับช้าง

พระทรงเครื่องที่วัดใหม่ประชุมพล ถ้ากำหนดอายุตามหลักของอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ น่าจะเป็นอยุธยาตอนปลาย

วัดโมลีโลกยาราม อาจเป็นรัตนโกสินทร์

พระพิมพ์กรุวัดสิงห์ ปทุมธานี น่าจะเป็นอยุธยาตอนปลาย-ต้นรัตนโกสินทร์

วัดรวกบางบำหรุ อาจเก่าถึงอยุธยาตอนปลาย

พระพุทธรูปศิลาที่วัดละมุด เป็นหินแกะสลักทั้งองค์ จึงจำเป็นต้องแกะให้เป็นพระทรงเครื่องตั้งแต่ตอนที่สร้าง ไม่สามารถซ่อมแปลงภายหลังได้ ทีนี้ถ้าจะถามว่าสร้างสมัยอโยธยาหรือว่าสร้างสมัยหลังกันแน่ ให้ดูที่ลวดลายของเทริดตรงกระบังหน้าเปรียบเทียบกับเทวรูปและพระทรงเครื่องเขมรสมัยบายน จะเห็นความเกี่ยวเนื่องกันชัดเจน ลวดลายแบบนี้ แม้แต่อยุธยาตอนต้นก็ไม่นิยมกันแล้ว ถ้าบอกว่าสร้างสมัยหลังแล้วเอาลายเก่ามาใช้ ก็แปลกๆ

อีกอย่างที่ดูได้ชัดก็คือหน้าตา พระทรงเครื่องที่วัดละมุดหน้าค่อนข้างเหลี่ยม รูปทรงพระพักตร์เป็นแบบที่คล้ายกับเศียรพระจากวัดธรรมิกราช (คุณคงไม่สงสัยว่าพระที่วัดธรรมิกราชเป็นของยุคหลังอีกนะ) และหลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง แสดงว่าต้องเป็นของที่สร้างร่วมสมัยกัน ถ้าเป็นพระยุคหลัง เขานิยมหน้านางแบบสุโขทัยกับอยุธยาตอนต้นกันหมดแล้ว ต่อให้อยากทำเครื่องทรงเลียนแบบของเก่า ก็คงไม่เอาหน้าเหลี่ยมแบบเก่ามาใช้นะ คุณว่ามั้ย

เพราะหลักอาจารย์น. ณ ปากน้ำบอกว่า ศิลปะสมัยเดียวกันจะมีความนิยมที่คล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะในยุคโบราณ ซึ่งวงการศิลปะของเอเชียอาคเนย์ยังอยู่ในวงแคบ ไม่ค่อยได้รู้เห็นศิลปะต่างชาติที่มีความหลากหลายมาก รสนิยมทางศิลปะก็จะไม่ค่อย "โดด" หรือผิดแผกกันมากนัก

ไม่เหมือนรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะรัชกาลที่ ๕ ลงมา ได้พบเห็นรูปแบบศิลปะที่มีความหลากหลายจากประเทศต่างๆ จนสามารถเลือกหยิบมาใช้ได้ตามความชอบใจ

เวลาดูพระทรงเครื่อง สูตรอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ ท่านจะให้ดูลักษณะและลวดลายเครื่องทรงเป็นหลัก ว่าสอดคล้องกับศิลปะแบบไหน แล้วท่านยังให้ดูหน้าตา ทรวดทรง การวางท่าทางด้วย แข็งทื่อหรือว่านิ่มนวล

ของที่สร้างก่อนจะมีความแข็งทื่อและดูหนักกว่าของที่สร้างต่อมา แต่เป็นความแข็งและหนักแบบที่งาม เห็นได้ชัดว่าสร้างอย่างมีฝีมือ ไม่ใช่ว่าไม่มีฝีมือเลยสร้างออกมาดูแข็ง ศิลปะประเภทนี้ ท่านเรียกว่า อาร์เคอิก (Archaeic) ขณะที่สุโขทัย ท่านเรียกว่าคลาสสิค

ลายผ้าทิพย์และฐานพระ สามารถซ่อมแซมและทำขึ้นภายหลังได้ อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ ให้ดูที่องค์พระเป็นหลัก เว้นแต่ว่าฐานนั้นเป็นชุดเดียวกันกับองค์พระมาแต่เดิม จึงดูฐานได้ด้วย

พระทรงเครื่ององค์ใหญ่ในห้องอยุธยา พช.พระนคร เราไม่แน่ใจว่าก๊อปมาจากพระฝางหรือสร้างสมัยเดียวกัน
หนอนดาวเรือง


ในความเห็นผม
หลวงพ่อหน้าแก่ วัดธรรมิกราช สร้างในยุคปลายกรุงศรีอยุยา
หลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง สร้างในสมัยพระนเรศวร

ฮิฮิ ว่าแล้วต้องถือ"ทฤษฏี" คนละเล่ม
แต่ก้อ คุยกันรู้เรื่อง

วัดละมุด โกลนเป็นหินทรายแดง ปูนปั้นพอกอีกชั้นนะครับ ถึงลงรัก ปิดทองอีกที
ซ่อมใหม่มากกว่าครับ

เทวดาทวารบาลในยุคพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศฐ์ ยังมีกระบังและเครื่องทรงแบบยุคก่อนหน้าได้เลย (ตามรูป)

และแนวคิดเรื่องศิลปะต่างประเทศมาหลังสมัยรัชกาลที่ 5
ตรงนี้ก็คงจะเห็นต่างกันครับ
ผมเห็นว่า สมัยของพระนารายณ์ มีวัฒนธรรมต่างประเทศเข้ามาอย่างมากมาย เทคนิคการก่อประตูโค้ง การวางท่อประปา การห่อโลหะ ฯลฯ
จดหมายเหตุของ VOC ก็กล่าวถึงการเดินทางไปมาของชาวสยามกับตะวันตก

จนมีแนวคิดใหม่ว่า จริง ๆ แล้ว พระลีลาสุโขทัยเองนั้น สร้างขึ้นในช่วงที่พระนารายณ์โปรดให้ชาวต่างประเทศมาครองสุโขทัยและสวรรคโลกแล้ว

รูปหล่อเทวรูป ในหอเกษตรพิมานและพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยที่เคยถูกจัดว่าเป็นศิลปะคลาสลิคเอง ก็อาจจะทำขึ้นในสมัยอยุธยานี้เอง จากเทคโนยีการหลอมโลหะที่ทันสมัยขึ้น

พัฒนาการทางวัฒนธรรมมันหยิบยืมกันได้ครับ
ใหม่ยืมเก่าได้ แต่เก่าไม่มีทางยืมใหม่ได้
ศิลปะ จะให้ต่อแถวกัน จาก 1 ไป 2 ไป 3 จนถึงสิบ ก็คงได้
แต่ในยุคที่ 10 เขาอาจจะต้องไปซ่อม 3 ที่พังแล้ว จึงต้องทำขึ้นใหม่เพื่อให้เหมือนของเก่า หรือไปบูรณะวัดเก่าในช่วงที่ 5 แล้วสร้างพระใหม่เลียนแบบศิลปะเก่าไว้
เช่นที่รัชกาลที่ 4 ไปสร้างวัดทำใหม่ ใกล้วัดหน้าพระเมรุ พระวัดตูมเดิมอาจจะอยู่ที่วัดนี้ก็ได้ แล้วย้ายออกไปภายหลัง

พระวัดตูมในภาพ 49 ด้านข้างมงกุฏเป็นแผ่นกนกติดเข้าข้างหูไปอีกทีครับ

เรื่องอายุสมัยเนี่ยคงไม่มีใครฟันธงได้หรอกครับ
ถ้าจะอิงจากหนังสือของอาจารย์ น เป็นที่สรุป
ก็คงสรุปกันมานานแล้วครับเรื่องอายุสมัยของพระพุทธรูป

เช่นในกรณีวัดพนัญเชิง
พงศาวดารเหนือกล่าวเรื่องพระเจาสายน้ำผึ้ง
ก็เอาเรื่องพงศาวดารมาสวมประวัติศาสตร์ศิลปะ ว่ามีอายุเก่ากว่าอยุธยา
แต่พระพักตรของพระพังมานานแล้ว บูรณะในสมัยรัตนโกสินทร์ด้วยซ้ำ

ยังจัดให้เป็นหน้าก่อนกรุง เพราะไม่ยิ้ม
แต่ผมใช้เอกสารของจ๊าคเดอร์คุซ ชาวเฟลมิชที่เข้ามาในสมัยพระนเรศวร
เอกสารไทยในยุคนั้นยังไม่พบจึงไม่ได้ใช้
บันทึกกล่าวไว้ชัดเจนว่า พระนเรศวรสร้างพระใหญ่กลางแจ้งไว้ที่วัดพะนางเชิง
แล้วประวัติศาสตร์ศิลปะใช้พงศาวดารเหนือที่เป็นตำนาน มาอธิบายจัดอายุพระพุทธรูป ว่าเก่าก่อนกรุงศรี
ก็เป็นแนวคิดที่มองไปคนละมุมนะครับ

แต่ก็สนุกดี เหมือนได้อ่านหนังสือสมัยก่อนอีกครั้งครับ
วรณัย


อ๊าก...!!!

ตอนนี้หนอนดาวเรืองกลายเป็นหนอนที่โดนยาฆ่าแมลงไปแล้ว

ตกลงก่อนสมัยอยุธยานี่เขาสร้างพระพุทธรูปกันไม่เป็นเลยรึยังไงเนี่ย

พระที่เซียนว่าเก่ากี่องค์ๆ เลยกลายเป็นของใหม่ไปหมด

นี่ตอนนี้เราเริ่มรู้สึกหนาวๆ แล้วนะว่า เราไม่ได้ติดตามข้อมูล+ทฤษฎีใหม่ๆ เลย เลยชักไม่แน่ใจว่า พระพุทธรูป,เทวรูปที่เขาว่าเป็นของสมัยทวารวดี,ศรีวิชัยนั้น ที่จริงเพิ่งมาสร้างกันสมัยอยุธยาอีกหรือเปล่า

อย่างพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่ไชยา ใช่ของใหม่อายุยังไม่ถึงพันปีด้วยหรือเปล่า ขอความเห็นจากคุณวรณัยด้วยนะ

แล้วตกลงคนสมัยก่อนอยุธยารู้จักทำพระพุทธรูปกันแล้วหรือยัง ถ้าทำเป็นแล้ว หน้าตาเป็นยังไง อะไรที่บอกว่าเป็นของสมัยก่อนอยุธยา และอะไรที่บอกว่าเป็นของซ่อมหรือทำใหม่ภายหลัง

นี่ไม่ได้ประชดนะ สงสัยจริงๆ เพราะที่คุณว่ามาก็มีเหตุผล แล้วก็ เรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะ-โบราณคดีนี่มันไม่ค่อยมีบทสรุปง่ายๆ อยู่แล้ว

แต่หลักฐานของชาวต่างประเทศ บางทีเราก็ว่าต้องฟังหูไว้หูเหมือนกันนะ เพราะอย่างตอนที่ลาลูแบร์เข้ามาสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ยังบันทึกอะไรผิดๆ ไปตั้งเยอะ เพราะฟังจากคนที่ไม่มีความรู้บ้าง ล่ามแปลผิดบ้าง

คิดตามแนวคุณวรณัยแล้ว ปวดหัว ถ้าตามแนวของเก่าสบายหัวกว่าแยะเลย แต่ก็สนุกไปอีกแบบ
หนอนดาวเรือง


อย่าพึ่งครับ คุณหนอน
ผมแค่เห็นต่างไปจากแนวทางการวางลำดับศิลปะพระพุทะรูปแบบเดิม ๆ เท่านั้น

พระพุทธรูปในสมัยทวารดี ก็เช่นกัน อายุก็ตามความเชื่อที่นิยมกันในช่วงเวลานั้น
ทวารวดีมีส่วนผสมของทั้งสถวีรวาทิน ที่นิยมภาพพระศากยมุนีและชาดก
ทั้งมหายาน ที่มี การเพิ่มเติมพระโพธิสัตว์ พระอมิตาภะ พระไมเตรยะ

ในขณะเดียวกัน เมื่อทวารวดีรับเถรวาทมา พระพุทะรุปก็กลายเป็นพระสมณโคดม พระพุทธเจ้าทั้ง 5 เน้นเรื่องปาหารย์จากพุทธประวัติและชาดกมากมาย

แต่ช่วงนี้คติพระทรงเครื่องแบบมหายานในอินเดียยังไม่เกิดขึ้นนะครับ กว่าจะเกิดก็ปาไปพุทธศตวรรษที่ 14

เรื่องพระอวโลกกิตศวร ปัทมปราณี ของศรีวิชัย มีประติมานวิทยาและคติชนวิทยารองรับอยู่อย่างชัดเจน เพราะรูปเคารพสร้างในคติของวัชรยานตันตระซึ่งเป็นความนิยมในสมัยนั้น (ทั้งมุทราและการถือของ) พระพุทธเจ้าในยุคนี้ เป็นพระชินพุทธะ (เช่นพระไพรีพินาศ )

ส่วนในยุคต้นของอยุธยานั้น อาจารย์ น ณ ปากน้ำ ท่านได้วางแนวคิดเรื่องของอโยธยาไว้ บางครั้งเราก็จะเรียกว่าศิลปะอู่ทองและอโยธยา
ซึ่งคติพระทรงเครื่องของเถรวาท ก็ยังไม่เกิด(การผสมผสาน)
มีแต่พระวัชรสัตว์ปางนาคปรก และปางประทานอภัย ของวัชรยานตันตระ อันเป็นความนิยมในยุคนั้นพุทธศตวรรษที่ 17

เถรวาทผสมมหายานของทวารวดี มาพบกับ ฮินดู และวัชรยานตันตระของเขมร ในพุทธศตวรรษที่ 17 - 19

ในขณะที่แนวคิดอโยธยาหรืออู่ทองเป็นพระพุทธศิลป์ในพุทธศตวรรษที่ 19 - 20
แนวคิดเรื่องการยืมศิลปะจากลพบุรีมายังอู่ทองหรืออโยธยา เป็นแนวคิดที่สรุปให้ศิลปะที่มีส่วนคล้ายของเขมรเป็นศิลปะยุคต้นของอยุธยาจนหมด

แต่แนวคิดผมมันต่างกันครับ

ในยุคต้นมีการผสมผสานศิลปะมาจากยุคก่อนก็จริง
แต่ในยุคหลังก็ยืมได้ครับ
แนวคิด บ้านเมืองสงบพระยิ้ม บ้านเมืองเกิดสงครามพระหน้าบึ้ง
เป็นความคิดของคนในปัจจุบันที่ไปแยกศิลปะต่อมาจากแนวคิดการลำดับศิลปะแบบตายตัว

ศิลปะไม่ตายตัวครับ
ในยุคหลังพระพุทะรุปที่นิยม ก็มาจากส่วนผสมของลังกาวงส์ที่สืบต่อมาจากเถรวาท ที่มีการผสมมหายานมาเล็กน้อย
พระพุทะรุปที่นิยมสร้างในสมัยอยุยาเป็นต้นมา คือพระปางมารวิชัย
ยิ่งในยุคกลางและปลายแล้ว ยิ่งนิยมมาก

ที่กล่าววนไปมาก็จะสรุปแค่ว่า
หากพระพุทะรุปวัดละมุดเป็นยุคก่อนกรุงศรีอยุธยา ก็ควรจะเป็นพระพุทธรูปในปางสมาธิทรงเครื่อง เช่นพระวัชรสัตว์พุทะในปางสมาธิ

หากเป็นพระพุทธรูปปางมาวิชัยแล้วทรงเครื่อง(เช่นที่วัดหน้าพระเมรุ) คติก็น่าจะคนละคติกัน

เรื่องคตินี้อาจารย์ยูร ไม่ได้รวมเป็นแนวทางเอาไว้ด้วย


ขอบคุณคุณโพธิ์ประทับช้าง ที่นำรูปสวย ๆ ของเหล่าพระทรงเครื่องมาให้ชมอีก

ความเห็นส่วนตัวนะครับ
พระวัดละมุด น่าจะเป็นสมัยพระนารายณ์ลงมาแล้ว เพราะลัทธิจักรพรรดิราชกำลังเริ่มแรง และพระนารายณ์ได้รับอิทธิพลทางเขมรมากกว่าพระเจ้าปราสาททอง เพราะพระองค์ไปอยู่ที่ลพบุรีบ่อยมาก ที่นั่นศิลปะลพบุรีสวย ๆ มีให้เลือกมาก

วัดตูมกับพระที่วัดพระพุทธบาท น่าจะอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 4 แล้ว หรือทั้งคู่จะสร้างในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์
ส่วนจะให้สร้างในสมัยพระเจ้าปราสาททองนั้น ไม่น่าเกี่ยวกัน เพราะความนิยมพระทรงเครื่องมารุ่งเรืองในยุคปลายกรุงศรีอยุธยาและรัตนโกสินทร์มากกว่า

วัดโรงเข้ จนถึงวัดบางขุนเทียนนอก บูรณะบ้างดัดแปลงในสมัยรัตนโกสิทร์ทั้งสิ้น เดิมอยู่ในช่วงอยุธยาปลาย

แต่ที่วัดโบสถ์ นั้นน่าจะสร้างในยุคอยุธยายุคพระนารายณ์ ใส่แหวนที่นิ้วด้วย

พระของเวียดนาม น่าจะไม่ใช่คติจักรพรรดิราช ก็น่าจะเป็นพระอนาคตพุทธะเมไตรยะ ของมหายานครับ

พระวัดช่องนนทรี น่าจะปลายอยุธยาครับ

เห็นพระทรงเครื่องมากที่สุดก็กระทู้นี้แหละ


พระพุทธจักรพรรดิราช เริ่มนิยมในสมัยพระเจ้าปราสองหรือพระนารยณ์กันแน่ ?
ผมว่าพระนารายณ์ สร้างพระทรงเครื่องที่วัดหน้าพระเมรุ ถวายแก่พระเจ้าปราสาททอง

ชอบมาก ๆ ภาพพระสวย ๆ ที่ไม่เคยเห็นก็หลายองค์ ที่ไม่เคยคิดถึงก็หลายองค์

......มหาจักรพรรดิราชมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว

ไป ๆ มา พระเจ้าท้ายสระโปรดให้สร้างเกือบทั้งหมด .......ก็มีทางเป็นไปได้


.....ชักไปกันใหญ่แล้ว
วรณัย


เรียนคุณวรณัย

เพราะเป็นหนอนคงกระพัน จึงยังไม่ตายง่ายๆ

เห็นคุณบอกว่าพระทรงเครื่องที่วัดละมุด โกลนเป็นหินทรายแดงและพอกปูนทับ เราสงสัยว่า เวลาเขาทำโกลนพระแล้วปั้นปูนทับ ส่วนมากเขาใช้ศิลาแลงกัน (เช่นที่วัดไชยวัฒนาราม) หินทรายแดงเขาไม่เอามาทำเป็นโกลน เพราะหินทรายเป็นหินที่เนื้อละเอียด แกะสลักได้ทันที

เรื่องพระอวโลกิเตศวรที่ไชยา ขอบคุณที่ทำให้เรายังหายใจทั่วท้องว่า ที่ศึกษามายังมีอะไรบ้างที่เป็นเรื่องจริง ไม่ใช่เรื่องโกหกหรือเดากันไปผิดๆ

แต่คุณยังไม่ได้ตอบคำถามเราที่ว่า ถ้าพระทรงเครื่องที่วัดตูมเป็นฝีมือร.๔ ทำไมถึงปั้นหล่อได้หยาบขนาดนั้น

ตอนนี้เรายังมีเรื่องสงสัยใหม่อีกเรื่องหนึ่ง

คุณบอกประมาณว่า การบูรณะพระพุทธรูปสมัยหลังๆ อาจเป็นเหตุให้มีการย้อนไปทำของเลียนแบบสมัยก่อนได้ (ถ้าสรุปไม่ถูกขออภัย) ในความเป็นจริง หลักฐานที่ยืนยันตรงนี้ค่อนข้างน้อยนะ

เพราะคนไทยเรามีนิสัยชอบบูรณะปฏิสังขรณ์ของเก่า คือพอเห็นของเก่าโทรใมแล้วก็ไปซ่อม อันนั้นจริง แต่เราไม่ค่อยมีนิสัยในการอนุรักษ์หรือทำเลียนแบบของเก่า พูดง่ายๆ ก็คือคนที่ซ่อมอยู่ในสมัยไหน เขาก็จะเอาแต่แบบศิลปะที่ได้รับความนิยมในสมัยนั้นน่ะแหละเข้าไปซ่อม เขาไม่ค่อยมานั่งเก็บของเดิมเอาไว้ อันไหนซ่อมไม่ไหวรื้อทำใหม่ก็เอาศิลปะแบบที่นิยมกันสมัยนั้นเข้าไปทำเหมือนกัน

ดูง่ายๆ ก็เวลาเขาบูรณะวัด ไม่ต้องย้อนไปไกล แค่ภาพรามเกียรติ์ที่ระเบียงวัดพระแก้ว เวลาซ่อมแล้ววาดใหม่ เขายังไม่วาดตามแนวของเดิมเลย แค่เอาเนื้อเรื่องตามเดิมเท่านั้น

การบูรณะของเดิมตามแนวความคิดเดิมเป๊ะๆ เป็นความคิดที่ใหม่มาก จะไม่เกิดขึ้นในสมัยอยุธยาเป็นอันขาด และไม่ควรเกิดสมัยรัตนโกสินทร์ก่อนร.๔ และแม้ในสมัยร.๔ ก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่แพร่หลาย เท่าที่ชัวร์ว่าท่านทำก็เช่นการบูรณะพระที่นั่งจันทรพิศาล ที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์

อีกคำถามหนึ่ง ถ้าร.๔ ชอบพระพุทธนิมิตมากๆ (ด้วยพระราชวินิจฉัยส่วนพระองค์-ไม่ใช่เป็นความนิยมทางศิลปะสมัยพระองค์) จนถึงกับต้องสร้างพระที่วัดตูมเลียนแบบ ทำไมท่านไม่ใช้วิธีชะลอเอาพระพุทธนิมิตมาที่กรุงเทพฯเสียเลยล่ะ เพราะคุณวรณัยยังจำได้ ขนาดนครวัดท่านยังจะให้รื้อเป็นชิ้นๆ มาประกอบใหม่ที่กรุงเทพฯ มาแล้วนะ

โอเค, เรื่องนครวัดอาจเป็นเรื่องการเมือง ประมาณว่าอยากสั่งสอนเขมรสมัยนั้น แต่เรื่องการชะลอพระสำคัญตามหัวเมืองเป็นเรื่องที่เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินท่านอยากจะให้พระดีๆ ได้มาอยู่ในกรุงเทพฯ เพื่อจะได้รักษาไว้ได้ดีกว่าอยู่หัวเมือง ไม่ใช่การคิดจะสั่งสอนใคร และไม่ใช่เรื่องบาป ดังนั้นเวลาสร้างกรุงรัตรนโกสินทร์ ร.๑ จึงใช้วิธีนี้อย่างที่เราทราบกัน

แนวความคิดการชะลอพระจากหัวเมืองนี้ มิได้หมดไปพร้อมกับสมัยร.๑ ร.๒ แต่จนถึงสมัยร.๕ ก็ยังมีอยู่ คุณวรณัยคงทราบดีว่า ร.๕ ท่านคิดจะชะลอพระพุทธชินราชจากพิษณุโลกมาไว้ที่กรุงเทพฯ ด้วยซ้ำ แต่ท่านทำไม่ได้ ด้วยเหตุผลหลายอย่าง ท่านจึงโปรดฯ ให้สร้างพระพุทธชินราชเลียนแบบที่วัดเบญจฯ แทน ส่วนองค์อื่นที่อัญเชิญลงมาได้ก็อัญเชิญมา อัญเชิญมาไม่ได้ก็ก๊อปฯ เอาไว้ที่ระเบียงคด

ถ้าร.๔ คิดการใหญ่ขนาดจะรื้อนครวัดได้ และการอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญมากรุงเทพฯ ไม่ใช่เรื่องผิด แล้วทำไมเมื่อท่านชอบพระพุทธนิมิต ท่านจึงไม่อัญเชิญมากรุงเทพฯ นะ ทำไมถึงต้องไปทำของเลียนแบบไว้ที่วัดตูม และทำได้ "หยาบ" อย่างงั้น

ข้อสำคัญ มีหลักฐานตรงไหนว่าท่าน "ชอบ" แบบศิลปะของพระพุทธนิมิต

วกกลับไปที่วัดละมุดอีกที ภาพที่คุณโพธิ์ประทับช้างเอามาลงโดยเฉพาะศิราภรณ์ ดูที่ลวดลายนะ เทคนิคแบบนี้ใครๆ ดูก็รู้ว่าเป็นการสลักหิน ไม่ใช่งานปูนปั้น

เราอยากจะให้เปรียบเทียบลวดลายนี้ กับพระทรงเครื่องเขมรสมัยบายนอีกครั้ง ตอนนี้เรายังค้นรูปมาไม่ได้ แต่เราเคยเห็นลายศิราภรณ์พระพุทธรูปหรือไม่ก็เทวรูปเขมรบายนที่ทำคล้ายๆ กันนี้ จนถ้าจะว่าก๊อปฯ กันมาคงไม่ผิด

และกลับไปสู่คำถามที่เคยถาม ถ้าเป็นของทำสมัยหลัง ทำไมไปเอาลายเก่าที่ไม่นิยมกันแล้วมาใช้ แล้วทำไมยังอุตส่าห์พยายามสร้างพระหน้าเหลี่ยม ทั้งๆ ที่สมัยหลังนิยมพระหน้านางกันหมดแล้ว แล้วทำไมยังอุตส่าห์พยายามทำองค์พระให้ดูหนาและหนัก ทั้งๆ ที่สมัยหลังนิยมทำพระรูปร่างบอบบางได้สัดส่วน มีความสง่างามอย่างสมบูรณ์แบบอยู่แล้ว

ลำบากกันถึงขนาดนี้เพียงเพื่อจะย้อนยุค หรืออนุรักษ์ของเก่า ซึ่งไม่ใช่นิสัยคนไทยสมัยก่อนที่จะได้ศึกษา Archaeology จากฝรั่ง อยากให้คุณวรณัยช่วยยกหลักฐานประกอบด้วยว่า ใครกันที่ชอบทำแบบนี้

อีกอย่าง หลวงพ่อวัดธรรมิกราช (อยุธยาตอนปลาย?) หลวงพ่อวัดพนัญเชิง (สมัยพระนเรศวรฯ)

คำถามก็คือว่า ๑)มีหลักฐานใดว่าหลวงพ่อหน้าแก่วัดธรรมิกราชสร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย

๒)มีพระพุทธรูปองค์ใดที่มีหลักฐานว่าสร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย แล้วทำเหมือนหลวงพ่อหน้าแก่วัดธรรมิกราช

๓)นอกจากจดหมายเหตุของฝรั่งเฟลมมิชแล้ว มีหลักฐานใดกล่าวถึงพระนเรศวรสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ไว้ที่วัดพนัญเชิง

๔)มีพระพุทธรูปองค์ใดบ้าง ที่ชัวร์แล้วว่าสร้างสมัยพระนเรศวร โดยมีรูปแบบทางศิลปกรรมเช่นเดียวกับหลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง

ข้อสุดท้ายที่นึกได้ในขณะนี้ อยุธยาชอบทำพระพุทธรูปโลหะแค่ไหน? ในเมื่อพระพุทธรูปสำคัญของอยุธยาส่วนใหญ่เป็นปูนปั้น แม้แต่พระศรีสรรเพชญ์ที่มีทองคำเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็เป็นการหุ้มทองจังโก ไม่ใช่หล่อด้วยทองคำทั้งองค์ เวลาพม่ามันจะเอาทอง จึงต้องสุมไฟลอกทองออกมา ถ้าเป็นทองทั้งองค์ ทุบวัดแล้วลากไปง่ายกว่าเยอะ

ที่ถามว่า อยุธยาชอบทำพระโลหะแค่ไหน ก็เพื่อจะถามต่อว่า เทคโนโลยีการหล่อโลหะของอยุธยาที่คุณว่าดีๆ นั้น มีตัวอย่างให้เห็นที่ไหนบ้าง ยิ่งถ้าเป็นพระพุทธรูปปางลีลา ยิ่งต้องถามว่า ทำไมไม่ทำไว้ในอยุธยาบ้าง ทำไมไปนั่งทำกันอยู่เฉพาะที่สุโขทัย

หรือว่าจริงๆ แล้ว พระลีลาสุโขทัยก็ยังคงทำโดยช่างสุโขทัย ใช้เทคโนโลยีการหล่อสำริดที่บางเฉียบซึ่งเป็นชื่อเสียงของสุโขทัย เพียงแต่อาจจะสร้างในสมัยที่สุโขทัยตกเป็นของอยุธยาแล้ว ขณะที่พระพุทธรูป,เทวรูปโลหะของอยุธยา ล้วนเป็นงานสำริดที่เทียบอะไรไม่ได้กับสุโขทัย

อจารย์ยูรกล่าวเสมอว่า ศิลปะไม่ใช่เกิดมาจากปล้องไม้ไผ่ มันต้องมีเริ่มต้น มีการพัฒนา กว่าจะเข้าสู่จุดที่สมบูรณ์ พระลีลาสุโขทัยมีตัวอย่างการเริ่มต้น พัฒนา จนถึงสมบูรณ์แบบเต็มเมืองสุโขทัย แต่ไม่มีตัวอย่างอยู่ในอยุธยาเลย ช่างอยุธยาทำอย่างไรจึงเนรมิตพระลีลาสุโขทัยได้โดยไม่เคยทดลองทำกันมาก่อน

แล้วก็ เทวรูปในหอเทวาลัยมหาเกษตร วัดป่ามะม่วง ไม่ใช่สร้างสมัยอยุธยานะ เพราะศิลาจารึกวัดป่ามะม่วงพ.ศ.๑๙๐๔ ระบุไว้ชัดเจนว่าพญาลิไทเป็นคนสั่งให้สร้าง

สุโขทัย กับแคว้นต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเขมรมานาน ล้วนเป็นนักหล่อพระพุทธรูปสำริด,เทวรูปสำริดฝีมือเยี่ยม เพราะเป็นแหล่งผลิตเทวรูปสำริดให้เขมรตั้งแต่สมัยนครวัดตอนปลายเป็นต้นมา หลักฐานก็ง่ายๆ พระ-เทวรูปสำริดที่เจอในเขมร มีจริงๆ เพียงไม่กี่องค์ แต่มาเจอในอีสานเป็นกะตั้ก เขมรสลักหินเก่ง แต่ทำพระสำริดไม่เก่ง เพราะแหล่งโลหะในบ้านเรามีมากกว่าบ้านเขา สุโขทัยเองก็เก่งทั้งปูนปั้นและสำริด งานสลักหินก็ใช่ย่อย เพียงแต่เลิกนิยมทำกันไปแล้ว หลวงพ่อศิลาเป็นตัวอย่างรุ่นท้ายๆ ของงานสลักหินของสุโขทัย

พระพุทธรูปหินแกะสลัก เสื่อมความนิยมไปพร้อมกับวัฒนธรรมเขมร หลังจากนั้นคนไทยเรามานิยมงานปูนปั้น และงานหล่อโลหะ เพราะคุมได้มากกว่า ใช้เวลาน้อยกว่า

ถ้าหลวงพ่อวัดละมุดเป็นหินแต่เป็นของสร้างภายหลัง ก็น่าแปลกที่ในยุคที่รู้จักสิ่งที่ง่ายกว่าการแกะสลักหินแล้วยังอุตส่าห์ไปนั่งแกะหินกันอีก ส่วนถ้าจะว่าเป็นปูนปั้นพอกบนหินทรายแดง เราอยากเห็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องนี้

เพราะหลักฐานเท่านั้น ที่จะบ่งบอกว่า ที่สอนๆ กันมาตลอดนั้น อะไรถูกอะไรผิด

ขอบคุณอีกครั้งสำหรับความคิดเห็นและข้อมูลใหม่ๆ ของคุณวรณัย
หนอนดาวเรือง


ยังรอคำตอบจากคุณวรณัยอยู่นะ

พระปางลีลาที่คุณโพธิ์ประทับช้างเอามาให้ดู พบในอยุธยา แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าสร้างโดยช่างอยุธยา เพราะเป็นพระขนาดเล็ก สามารถนำมาจากที่อื่นได้

ข้อสำคัญ ถ้าพระพุทธรูปปางลีลาเป็นที่นิยมมากในอยุธยา จนทำให้สามารถสร้างพระปางลีลาที่สวยที่สุดที่คนทั่วไปบอกว่าเป็นแบบสุโขทัยได้แล้ว จะต้องมีตัวอย่างมากกว่านี้

ถ้าทำเพียงแค่องค์นี้องค์เดียว หรืออาจมีองค์อื่นอีกแค่ไม่กี่องค์ แล้วจะทำให้เกิดความชำนาญถึงขั้นไปหล่อพระลีลาที่งามที่สุดในโลกได้ ก็แปลกจริงๆ

พระลีลาที่วัดจอมคีรีนาคพรต นครสวรรค์ ควรได้รับอิทธิพลจากสุโขทัย เพราะนครสวรรค์อยู่ใกล้สุโขทัย,ศรีสัชนาลัย,กำแพงเพชร ซึ่งเป็นแหล่งทำพระปางลีลาทั้งสิ้น

สำหรับคำถามของคุณปูนา ขอตอบย่อๆ ก่อนว่า เป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์พระเจ้าศรีธรรมโศกราช ปฐมกษัตริย์ผู้สร้างเมืองนครศรีธรรมราช เป็นศิลปะสกุลช่างนครฯ สมัยรัตนโกสินทร์นี่เอง ส่วนรายละเอียดนอกเหนือจากนี้ ขอเวลาไปค้นก่อนนะ
หนอนดาวเรือง


สวัสดีครับคุณหนอน
ผมถกความเห็นผมโดยสรุปจะดีกว่าครับ
- เรื่องหินโกลน หินทรายและหินศิลาแลง คุณหนอนพิจารณาดูดี ๆ นะครับ พระหินทรายมีการพอกปูนปั้นในยุคหลังเพื่อเติมสีสัน หรือ เพื่อการลงรักปิดทอง พระหินทรายล้วน ๆ ก็มีมากนะครับ

- เรื่องฝีมือการหล่อ จะใช้ตรรกะว่าถ้าเป็นเจ้านายให้หล่อต้องสวย อย่างเดียวคงไม่ได้ ช่างที่ได้รับงานมา อาจจะสร้างงานได้รดับหนึ่ง ในเงื่อนไขของเวลา เงื่อนไขของวัตถุดิบ การปั้นครั่งลอกแบบจากที่หนึ่งไปหล่ออีกที่หนึ่ง

ไม่ใช่พระพุทธชินราช ที่"พงศาวดารเหนือ" แต่งให้เทวดามาหล่อจึงจะสวยงาม ขนาดหล่อจำลองในสมัยรัชกาลที่ 5 ยังต้องหล่อพระกันตรงหน้าวิหาร

พระวัดตูมหล่อไกล ก็ได้ หล่อเลียนแบบจากคำบอกเล่าก็ได้ ซึ่งก็สวยไปอีกแบบ ไม่จำเป็นต้องเหมือนทั้งหมด เพราะลอกมาไม่ครบไงครับ

เหมือนทำข้อสอบลอกเพื่อนจะให้คะแนนดีกว่าเพื่อนที่ให้ลอกจะได้หรือ ฮิฮิ

- พระวัดหน้าพระเมรุ เป็นปูนปั้นโครงอิฐไม่ใช่หรือครับ

วัดละมุด (พุทรา)
- เทคนิคสลักหินพระขนาดใหญ่อย่างนี้ มีที่อื่นหรือเปล่าครับนอกจากพระองค์นี้ แน่ใจได้อย่างไรครับว่าเป็นพระหิน ?
- ลายหมวกกระบังด้านหลังแบบบายน ลอกเอาภาพลายเส้นในหนังสือ "ศิลปะขอม" ของอาจารย์ท่านมาเทียบดูสิครับ ไม่เหมือนแบบบายน เพราะมันประยุกต์มาแล้ว เช่นแบบพระมาลาทองคำ


- เรื่องศิลปะ ผมคิดว่า คำว่า"ย้อนยุค" เป็นการศึกษาแบบเรียงลำดับศิลปะ
แต่ผมเรียงไม่ได้ เพราะพระองค์หนึ่ง วางที่วัดหนึ่ง อาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้ช่างในวัดนั้นซึ่งอยู่ในยุคหลัง ลอกแบบ มาทำใหม่ได้ ในขณะเวลาเดียวกัน อีกวัดหนึ่งหรืออีกเมืองหนึ่งกำลังฮิตพระปางลีลา เพราะเพิ่งมีงานสมโภช พระสงฆ์ที่นำพระบรมธาตุกลับมา อาจจะสร้างพระอ่อนช้อยและสวยงามในอีกปางหนึ่ง ที่ทันสมัย

ผ่านมาสองเดือน เจ้านายไปเห็นพระที่ผลิตในเมืองใหญ่ต่างเมือง ชอบใจ ก็ให้ลอกแบบมาทำพระเช่นนั้นบ้าง เช่นชอบพระอัฐฐารสยืน ก็ให้มาสร้างที่วัดใหญ่ชัยมงคล ในมณฑปซ้ายขวา ( แต่ตอนบูรณะเขาแอบเปลี่ยนเป็นพระนั่งปางมารวิชัย)
ในสมัยปลายอยุธยา เจ้านายชอบพระหัวเมืองเหนือที่เดินทางไปติดต่อกับพม่า เบลกอล ลังกาได้ง่ายกว่าเมืองหลวง ผ่านตาก เมาะตะมะ แปล็บเดียวถึง ก็ให้ลอกแบบพระลีลา มาซ่อมวัดวาอารามในเมืองหลวง ( เชิงวัดเชิงท่า วัดพระราม ฯลฯ )และขยายไปเมืองหลัก
หัวเมืองเหนือ มีเจ้านายปกครอง เป็นรัฐหลวม ๆ ก็มีสิทธิเป็นต้นแบบของพระปางลีลาอันเลื่องชื่อ แต่การส่งแบบพระไป ก็คงต้องให้พระองค์จริงไปบ้าง ช่างหล่อมาก็ดัดแปลงเป็นลีลาเดินตรง

ไม่มีอะไรหรอกครับ แนวคิดผม ขัดกับของคุณหนอน ตรงที่ ผมว่าศิลปะมันไม่ได้หยุดอยู่เวลาใด เวลาหนึ่ง แล้วเรียงแถวต่อมา แต่ศิลปะจะต้องหาจุดเริ่มต้นให้ได้ว่าเริ่มที่ใด และหาคติที่สร้างพระองค์นั้นในยุคสมัยแรกสร้างศิลปะนั้นประกอบด้วย

การเสาะหาว่าศิลปะแห่งพระปฏิมานั้นเริ่มที่แห่งใด แต่ก็ใช่ว่าที่นั้นจะต้องมีอายุสมัยเท่ากันในระนาบเดียวกัน หากมีลักษณะใกล้เคียงกันหรือเหมือนกัน ต้องบริบทอื่น ๆ ที่แวดล้อมอีกครับ

วัดธรรมิกราช
หลักฐานของผมก็คือตัววิหารใหญ่ของวัดนั่นแหละครับที่สร้างขึ้นโดยเทคนิคช่วงปลายกรุงศรีอยุธยาแล้ว ส่วนเศียรพระพบจมดินอยู่ด้านหลังวิหารตรงส่วนติดกับเจดีย์สิงห์ล้อม แต่ไม่มีตัวเหลืออยู่เลย

ถ้าจะเทียบเอาแค่ความเหมือน พระที่ผลิตในสมัยปัจจุบันก็เหมือนเค้าหน้าศิลปะอู่ทองในประวัติศาสตร์ศิลป์มากมายครับ
ถ้าจะเทียบศิลปะพระในสมัยอยุธยา ผมก็เทียบไปที่หลวงพ่อดำ วัดพุทไสวรรย์ สร้างในสมัยพระนารายณ์ครับ
แต่ก็ต้องมีพงศาวดารมาบอกว่า สร้างก่อนศรีอยุธยาอีก

วัดพนัญเชิง
เช่นกันครับ นอกจากพงศาวดารเหนือที่นำมาใช้ต่อในพงศาวดารไทยฉบับเจ้านายเขียน มีเล่มไหนบ้างครับที่บอกว่าพระเจ้าสายน้ำผึ้งสร้าง และพระเจ้าสายน้ำผึ้งเป็นกษัตริย์อยุธยาแน่ ๆ หรือเปล่าครับ

และหลักฐานทางโบราณคดีอื่น ๆ ล่ะครับ พระอยู่ได้ 400 ปี ไม่มีใครทำลายเลยหรือครับ แน่ใจหรือครับว่าเป็นศิลปะแท้ดั่งเดิมตั่งแต่สมัยอู่ทอง
หลักฐานทางธรณีวิทยา โค้งน้ำหน้าวัด ที่เรียกว่าบางกะจะ เพิ่งเกิดหลังสมัยขุดคลองเมืองแม่น้ำป่าสักตั้งแต่ยุคพระมหาจักรพรรดิลงมา แม่น้ำเพิ่งเกิดครับ ตำนานเอามาสวมทีหลัง
เรื่องพระในยุคพระนเรศวร ก็เช่นกันครับ นอกจากจารึกที่ฐานพระบางอค์ในภาคเหนือ จารึกที่ฐานพระอิศวรแล้ว มีจารึกไหนอีกไหมครับที่ระบุว่ากษัตริย์องค์ใดสร้างพระองค์ใด
ผมยังว่า พระพุทธชินราชสร้างในสมัยพระนเรศวร ก็จะโดนคนที่ท่องพงศาวดารเหนือมาตำหนิ และโดนคนประวัติศาสตร์ศิลปะ ที่เชื่อการจัดลำดับศิลปะตามพงศาวดาร รุมสิครับ
พระนเรศวรสร้างพระอัฐฐารสยืนที่วัดใหญ่ชัยมงคล ในความคิดผม ลักษณะใบหน้าเหมือนกับวัดพนัญเชิงและใกล้เคียงกับพระพุทธชินราช (ราชาผู้ชนะ)
แต่ใบหน้าของพระเป็นปูนปั้น มีหลักฐานชัดเจนว่า พังลงมาแทบทั้งหมด จึงมีการซ่อมใหม่ ลอกตามพงศาวดาร เช่น วัดศรีชุม หน้า"อาจจะ"เป็นเช่นเดียวกับพระพุทธชินราช หรือ วัดพนัญเชิง แต่มีการปั้นให้ใบหน้าพระเป็นไปตามศิลปะของพระพุทธรูปแบบสุโขทัย ในสมัยพญาลิไท ซึ่งเป็นช่วงปลายของุโขทัยแล้ว
วรณัย


- ศิลปะไม่จำเป็นต้องเรียงยุคสมัยครับ

- วิหารวัดธรรมิกราชสร้างในช่วงกลาง-ปลายกรุงศรีอยุธยาเพราะเทคโนโลยีหล่อโลหะขนาดใหญ่ดีกว่า มาจากต่างประเทศ
- หลวงพ่อหน้าแก่ หน้าแบบเดียวกับรูปพระปูนปั้นสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศฐ์ วัดเชิงท่า ฯลฯ ทวารบาลประตูวัดมากมายก็หน้าแก่คล้ายกัน
- หลักฐานว่าสร้างยุคต้นหรือก่อนกรุงศรีอยุธยา ก็คือ"ความเหมือน" พระในสมัยอู่ทอง กรมศิลป์เลยเอาหน้าพระอู่ทองไปบูรณะหน้าพระวัดพนัญเชิง

มีพระพุทธรูปองค์ใดที่มีหลักฐานว่าสร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย แล้วทำเหมือนหลวงพ่อหน้าแก่วัดธรรมิกราช
- ตอบไม่ได้ครับ เพราะถ้าเทียบความเหมือนกันอย่างเดียวก็ต้องเรียงหน้ายักษ์ หน้าบึ้ง มาหน้านาง หน้ายาว แล้วหน้าเศร้าตอนเสียกรุง พระหน้าแก่หน้าบึ้งก็ต้องเก่า ประวัติศาสตร์ศิลป์จะคิดได้แค่นี้ครับ
- หลวงพ่อหน้าแก่ มีพงศาวดารไหนบอกไหมครับว่าสร้างในสมัยไหน นอกจากเทียบว่าเหมือน หรือไม่เหมือน เป็นสูตรคูณอย่างเดียว พระหน้าแก่พบแต่เศียร อยู่หลังมุขวิหารของวัด

- นอกจากพงศาวดารเหนือและที่เรื่องลอกต่อกันมา มีใครบันทึกไว้ไหมครับว่าใครสร้างวิหารวัดพนัญเชิง ใครสร้างหน้าวัดพนัญเชิง เห็นมีแต่ร. 4 มาบูรณะและกรมศิลป์ใส่หน้าให้ใหม่ ลอกหลวงพ่อหน้าแก่มา

- เช่นตัวอย่างพระอัจนะ กรมศิลป์ก็ลอกพระสุโขทัยยุคอยุธยา แล้วบอกว่าเป็นศิลปะสุโขทัยพญาลิไท แล้วหน้าพระอัฐฐารสยืนนี่จะให้ไปอยู่สมัยพ่อขุนรามหรือครับ
- หน้าพระอัฐฐารสนั่นแหละที่ผมว่าเป็นศิลปะสุโขทัยในยุคพญาลิไท คือมีอิทธิพลของลังกาวงศ์แล้ว
- ลังกาวงศ์ไม่ได้เข้ามาในยุคพ่อขุนราม หลวงพ่อศรีศรัทธาอยู่ในสมัยพญาลิไท
- แล้วศิลปะจะเริ่มที่ตรงไหนล่ะครับ ศิลปะสุโขทัยเพิ่งปลดแอกจากศิลปะแบบวัชรยานได้ในสมัยพญาลิไท แล้วจะไปสุดยอดตอนไหน
- พญาลิไทคงไม่ได้เนรมิตรนครสุโขทัยได้อย่างสมบูรณ์เพียงองค์เดียว หลังจากนั้นก็เลิก

- แล้วคุณว่าพระนเรศวรจะสร้างพระเป็นศิลปะแบบไหนล่ะครับ มีพระอะไรที่ยืนยันได้ว่าพระนเรศวรสร้างครับ คุณพอรู้ไหม
- ถ้าถามผม ผมก็บอกว่าพระพุทธชินราชครับ และพระในตระกูลสุโขทัยในอยุธยา เช่นพระอัฐฐารสยืน ที่วัดใหญ่ชัยมงคล แต่ถูกบูรณะให้เป็นพระนั่งในมณฑปแคบ ๆ พวกประวติศาสตรศิลป์ในกรมศิลป์ยุคก่อนเขากลัวทฤษฏีสุโขทัยเรียงแถวมาอยุธยาจะถูกทำลายไปครับ จึงแอบบูรณะไปอีกอย่าง

- พระศรีสรรเพชญ ผมว่าเป็นทองคำบริสุทธิ์ครับ คล้ายกับพระวัดไตรมิตร มีแกนในองค์พระหล่อเป็นสำริดไม่ใช่หล่อทองทั้งองค์
- ทองจังโก้ติดพระเจดีย์หรือพระปรางค์ครับและใช้หมุดตอก
- พระโลหะ จากหอพระแก้วและวัดต่าง ๆ ถูกขนไปพม่าหลังเสียกรุง โลหะมีค่ากว่าน้ำมันในยุคโบราณครับ เอาไปทำปืนใหญ่ อาวุธ เมืองถูกทำลายที่เหลืออยู่จึงมีอยู่น้อยมาก
- พระโลหะที่สุโขทัย อยู่นอกเส้นทางเดินทัพตามแม่น้ำปิงของพม่าครับ ของที่สุโขทัยจึงยังมีอยู่มาก เพราะสุโขทัยเป็นเมืองมาถึงปลายอยุธยาก่อนหนีพม่าไปยังพิษณุโลกในศึกอะแซหวุ่นกี้ และถูกกวาดต้อนในยุคต้นรัตนโกสินทร์
- สมัยอยุธยา คุณหนอนคิดว่าสุโขทัยมีสภาพอย่างไรครับ หายวับไปเลยจากประวัติศาสตร์ไปกว่า 300ปีเลยหรือครับ ถึงจะมีงานช่างตระกูลสุโขทัยสืบต่อมาไม่ได้
- เตาทุเรียงสังคโลกก็ผลิตในยุคอยุธยาตอนกลาง หรือจะให้เป็นสุโขทัยพญาลิไทผลิตพระสวยงามได้อย่างเดียว หลังจากนั้น สุโขทัยก็กลายเป็นเมืองที่ไม่มีศิลปะสืบต่อมาเลยหรือครับ น่าสงสัย

อาจารย์ยูรกล่าวเสมอว่า ศิลปะไม่ใช่เกิดมาจากปล้องไม้ไผ่ มันต้องมีเริ่มต้น มีการพัฒนา กว่าจะเข้าสู่จุดที่สมบูรณ์
- ใช่ครับ ไผ่จะเติบโตจนสูง แล้วหลังจากนั้นสุโขทัยก็กลายเป็นเมืองใบ้ ไม่มีใครทำอะไร ทุกอย่างสมบูรณ์มาเป็นยอดไผ่แล้วแต่ครั้งพญาลิไททั้งสิ้นหรือครับ ผมว่าไม่ใช่
- ยอดไผ่ของสุโขทัย อยู่ในสมัยอยุธยาครับ มันซ้อนทับเวลากัน ไม่ใช่ต่อไปทีละปล้องไผ่ครับ
-รากเหง้าของไผ่ ก็จะแตกต้นไป ไผ่เป็นกอใหญ่ ลำต้นเหมือนกันเช่นศิลปะเหมือนกันได้ถึงแม้จะอยู่กันคนละที่ แต่จะให้สวยบริสุทธิ์ ก็ต้องช่างในตระกูลนั้น ๆ ในศูนย์กลางของศิลปะนั้น ๆ
- เช่นกรณีลูกปัดแก้วแบบถังมุมเหลี่ยมของบ้านเชียงก็เป็นลูกปัดแก้วที่นิยมในเขตลุ่มน้ำสงคราม เทียบได้กับพระสุโขทัยรูปสวย ๆ ก็นิยมอยู่ในสุโขทัยในยุคลังกาวงศ์
-ลูกปัดแก้วเม็ดใหญ่ทรงถัง ก็พบไปถึงภาคใต้ ก็ไม่แปลก ที่จะเป็นแก้วรูปทรงคล้ายกัน
- พระลีลา สวย ๆ ช่างคนละตระกูลก็สามารถไปสร้างในอยุธยาหรือหัวเมืองอื่นก็ได้ แต่แตกต่างกันในรายละเอียด ที่สุโขทัยยังเป็นเมืองลังกาวงศ์ ส่วนอยุธยาเป็นผสม

- เทวรูปในหอเทวาลัย ก็เป็นพญาลิไทอีก เห็นไหมครับ อะไร ๆ ของสุโขทัยก็ยกให้หมด น่าจะให้พญาลิไทมหาราช สร้างทุกอย่างมากกว่าพ่อขุนรามเสียอีก เทวรูปนั้นคนละเทคนิคการหล่อครับ หล่อใหม่ หล่อซ้ำ หรือเอาเทวรูปเก่ามาหล่อ มนุษย์ก็ทำกันในทุกยุค
- หากจารึกบอกว่า นครศรีธรรมราช ลาว เป็นของสุโขทัย ก็เลยวาดแผนที่ผิด ๆ ให้เด็กท่องจำว่า สุโขทัยยิ่งใหญ่เหลือเกิน แล้วนคร ลาว เป็นของสุโขทัยหรือเปล่าครับ

หลักฐานก็ง่ายๆ พระ-เทวรูปสำริดที่เจอในเขมร มีจริงๆ เพียงไม่กี่องค์ แต่มาเจอในอีสานเป็นกะตั้ก
- สยามไปทำลายนครวัดครับ เอาโลหะสำริดเก่าที่เป็นรูปเคารพมากมายมายุบหล่อใหม่มากมาย ที่ยึดมาก็มาก บุเรงนองมาเอาไป ต่อปัจจุบันเหลือให้เห็นอยู่ที่รอบเจดีย์ชเวดากอง และที่พิพิธภัณฑ์พม่า โลหะมันแปลงรูปใหม่ได้ครับ
-ในอีสานเจอนิดเดียวเอง ที่สวย ๆ ก็วัดสระกำแพงใหญ่ หรือ ที่บ้านฝ้าย

เขมรสลักหินเก่ง แต่ทำพระสำริดไม่เก่ง เพราะแหล่งโลหะในบ้านเรามีมากกว่าบ้านเขา
- แหล่งโลหะ ดีบุก สำริด เรามีน้อยกว่าเขมรครับ
( ผมว่าคุณคงไม่เคยเห็นพระพุทธรูปโลหะมากมายของเขมรที่เหลือรอดการยึด ทำลายของสยามแน่ ๆ ) เอารูปมาให้ดูครับ

สุโขทัยเองก็เก่งทั้งปูนปั้นและสำริด งานสลักหินก็ใช่ย่อย เพียงแต่เลิกนิยมทำกันไปแล้ว หลวงพ่อศิลาเป็นตัวอย่างรุ่นท้ายๆ ของงานสลักหินของสุโขทัย
- หลวงพ่อศิลาป็นพระวัชรสัตว์พุทธะของเขมร สุโขทัยไม่มีงานสลักหินเด่น ๆ เลย นอกจากใช้หินตระกูลชนวนในการประกอบศาสนสถานและสลักรูปง่ายๆ
- สุโขทัยในยุคก่อนพญาลิไทก็เป็นเขมร-ไท นะครับ ไม่ใช่คนไทยแบบปัจจุบันนะครับ
- สำริด ผมก็ยังเชื่อว่า สุโขทัยมาหล่อสวยงามในยุคอยุธยาที่มีชาวต่างประเทศเข้ามา
- ปูนปั้น ก็เช่นกัน ยุคพญาลิไทยังนิยมรูปเคารพหินและโลหะอยู่มากกว่าพระปูนปั้น ส่วนลายปูนปั้น ยังไม่มีหลักฐานจารึกไหนบอกว่าสร้างในสมัยสุโขทัยพญาลิไท
-ปูนปั้นวัดนางพญา ศรีสัช ลายอาหรับประยุกต์เลยครับหลังพระนารายณ์แน่นอน เจดีย์ประธานก็ลังกามีจระนำ 5 ยอด คติพระสุเมรุ ไม่ใช่ลังกาวงศ์ คติของอยุธยาครับ

- ผมว่า บางทีประวัติศาสตร์นับเรียงแถว คงจะไม่อธิบายว่า 300 ปี ของสุโขทัยในสมัยอยุธยาเขาทำอะไรบ้าง กำแพงเมืองชั้นสองและสามก็เพิ่งสร้างในสมัยรับศึกของอยุธยา สุโขทัยยังเป็นเมืองใหญ่และสำคัญมาโดยตลอด มีเจ้านายปกครองหรือขุนนางผู้ใหญ่เช่นพระยาสุโขทัย มีการสร้างศิลปกรรมสืบเนื่องต่อกันมา ไม่ได้หายวับไปไหน
- ผมว่าพญาลิไทจะมาเนรมิตรสุโขทัยในทันีไม่ได้หรอกครับ มันต้องรับวัฒนธรรมของลังกาวงศ์มาก่อนแล้วจึงต่อยอดได้

- ลองไปเที่ยวัดเพชรบุรีดูนะครับ คุณจะเห็นพระหินทรายแดงมากมายที่เขานำมาพอกปูนปั้น ลงรัก ปิดทอง พระประธานวัดมหาธาตุก็หินทรายแดงปูนปั้น ลงรักปิดทอง พระในระเบียงคด ในวัดมหาธาตุราชบุรี เพชรบุรี ฯลฯ ก็พระหินทรายปูนปั้น วัดอโยธยาก็พระหินทราย

- มีพระหินทรายขนาดใหญ่ที่ไหนบ้างไหมครับนอกจากวัดละมุด
ใครจะยกหินขึ้นไป ลายหมวกก็เป็นลายประยุกต์ ไม่เหมือนเขมรแบบบายนเลย ไม่วางลายประจำยาม ไม่มีลายลูกประคำ ด้านหลังเป็นหมวมีลวดลาย แต่บายนเป็นผูกหรือหมวกคลุม เช่นพระมาลาทองคำ

- วัดละมุดเป็นพระต่อชิ้น จากหินทรายแล้วมาปั้นปูนทับเติม รูปทรงหมวกจึงไม่รับกับหน้า ดูแยกจากกัน
- แล้วมีหลักฐานไหนไม่ครับว่าพระวัดละมุดสร้างสมัยต้นหรือก่อนอยุธยา ก็คงใช้การเทียบความเมือนกันอีก ผมก็ต้องแย้งแบบเดิมว่าของมันลอกกันได้
- มีหลักฐานอื่น ๆ ไหมครับนอกจากหลักฐานสมัยทวารวดี แถววัดละมุดมีร่องรอยสิ่งก่อสร้างใดที่ยืนยันว่าเป็นต้นกรุงศรีอยุธยา

- พระหินทรายปูนปั้นในวัดมหาธาตุอยุธยาและวัดต่าง ๆ ในอยุธยา ก็นำหินจากปราสาทหินในยคก่อนที่รื้อมาสลักเป็นสามส่วนหลัก มีเศียรกับไหล่ - อก - ท้องกับขา บ้างก็มีส่วนขา พระยืนก็ใช้หินต่อแขน แล้วใช้ปูนปั้นยึดเข้าหากัน ลงรักและปิดทอง พอเกิดแผ่นดินไหว หรือของหนักหล่นทับ พระก็แตกแยกชิ้นได้ง่าย

- พระในยุคอยุธยากลาง นิยมใช้แกนไม้ พอกปูน บ้างก็กรุอิฐเป็นโกลนแล้วก็ใช้ปูนพอกอีกที
- เป็นแนวคิดคนละทางครับ แต่ก็ยินดีที่ได้ถกประเด็นต่างๆ เพราะผมจะได้ประโยชน์ในการมองมากขึ้น ไม่ใช่เพราะไม่ได้อ่านงานประวัติศาสตร์สิลป์เลยนะครับ แต่เพราะมัน"สำเร็จรูป"เกินไป ที่จะไปเทียบแค่ความเหมือน แล้วจัดอายุตามพงศาวดาร โดยละเลยบริบทรอบข้างและนิสัยของมนุษย์
-นิสัยของมนุษย์ก็คือ เช่น ทำไมคนไทยปัจจุบันจึงสร้างพระพุทธชินราชกันในสมัยนี้ ทำไมไม่สร้างที่สุโขทัย ก็เพราะปัจจุบันมันลอกอดีตได้ ถึงแม้จะต่างสถานที่ก็ตาม
- แต่จะให้เหมือนเปี้ยบเลยนั้น คงยาก พระศิลปะปางลีลาก็ใช่ว่าจะเหมือนกัน บ้างไปเดินเยื้อง บ้างก็เดินตรง
ที่เดินเยื้องเก่ากว่าเดินตรง หรือเดินตรงเช่นที่พุทธมณฑลจะเก่ากว่า
ไม่สำคัญว่า พบที่ไหน แล้วพบอย่างไร มีการเคลื่อนย้ายไหม และเทคนิคในการหล่อ เทโนโลยีโลหะมันใช่สมัยนั้นไหม
- ผมเรียกว่า"สหสาขาวิชา" ครับ ศิลปะของผมจึงไม่"สำเร็จรูป"เช่นบะหมี่ลวกน้ำร้อนและทานเลย คติชน ปรัชญา ศาสนา โลกทัศน์ ฯลฯ ก็ล้วนเป็นสหสาขาวิชาที่ต้องใช้ร่วมด้วยในการศึกษาศิลปะที่เกิดขึ้นก่อนหน้าเราเพียง 200 ปีที่แล้ว
- เพราะบ้านเราไม่มีการจดบันทึกแบบชาวต่างประเทศ จดแต่เรื่องราวดี ๆ เรื่องโกหกของผู้ปกครองที่สวยหรู แต่หลักฐานของช่างและไพร่ผู้ผลิตงานศิลปกรรมมีน้อยมาก
- ผมคงทานอาหารยาก เพราะต้องปรุง หากไม่อร่อยแต่เข้าใจและสร้างมุมมอง ผมก็ชอบ เช่นที่ได้ถกกับคุณนั่นแหละครับ อร่อยดี บะหมี่สำเร็จรูป

-ขอบคุณครับที่มาร่วมสนุกกัน

วรณัย

เรียนคุณวรณัย

นึกว่าคุณจะไม่ตอบคำถามเราแล้ว แต่คุณก็ยังอุตส่าห์เข้ามาตอบ ขอบคุณที่ยังใส่ใจ

คุณเปรียบเทียบหลักสูตรประวัติศาสตร์ศิลปะว่าเป็นบะหมี่สำเร็จรูป เราไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ คือโดยผิวเผินมันก็อาจจะเหมือนสูตรสำเร็จ แต่มันคือบรรทัดฐานที่ได้มาจากการพิจารณาจาก "สหสาขาวิชา" ที่คุณพูดถึงเหมือนกัน

ต่อไป แนวความคิดของคุณอาจจะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของประวัติศาสตร์ศิลปะเมืองไทยก็ได้ บรรทัดฐานที่ไม่สนใจในเรื่องของประเพณี วัฒนธรรม การสืบเนื่องทางแนวความคิด การปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรมและการลอกเลียนแบบระหว่างวัฒนธรรมหนึ่ง ไปสู่อีกวัฒนธรรมหนึ่ง สนใจแต่เรื่องเสรีในความคิดและรสนิยมด้านศิลปกรรมของมนุษย์ ซึ่งไม่ขึ้นกับยุคสมัย และพัฒนาการทางอารยธรรม

แม้แต่ฝรั่งที่มาถึงจุดสมบูรณ์ในเสรีและรสนิยมทางศิลปะในปัจจุบัน ก็ยังต้องผ่านพัฒนาการและขั้นตอนแบบที่คุณเห็นว่าเป็นบะหมี่สำเร็จรูป คือศิลปะกรีก โรมัน เมดีวัล เรอเนสซองส์ บาโร๊ค โรโคโค คลาสสิค โรแมนติก อิมเพรสชั่นนิสม์ เซอเรียลลิสม์ ฯลฯ กว่าจะมาถึงยุคของแอ็บสแทร็คท์ที่ศิลปินสามารถเลือกวิธีการสร้างงานศิลปะได้เสรีสุดๆ

เช่นเดียวกัน เทวรูปกรีกแสนสวยไม่อาจจะถือกำเนิดขึ้นมาได้เลย ถ้าช่างกรีกไม่ได้เทวรูปที่แข็งทื่อของอียิปต์เป็นครู

งานศิลปะในสมัยโบราณ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ใช่งานศิลปะที่ศิลปินภูมิใจนำเสนอต่อสังคมอย่างมีเสรี แต่เป็นงานศิลปะในศาสนา เมื่อเป็นศิลปะในศาสนา ก็จะโดนกฎเกณฑ์หรือรูปแบบที่เป็น "ประเพณี" เข้ามาบังคับทันที

แล้วประเพณีที่ว่านั้นมาจากไหนล่ะ คำตอบก็คือก๊อปมาจากอารยธรรมที่เหนือกว่า เจริญกว่า หรือมีอำนาจมีอิทธิพลมากกว่า

ของธรรมดา พอมีใครทำอะไรดีๆ ไว้ ก็ต้องมีคนก๊อปฯ ถ้าก๊อปฯ ไร้ฝีมือก็เสื่อมไป ถ้าก๊อปฯ แบบมีฝีมือ ก๊อปฯ ไปนานๆ เข้าชักเบื่อ นิสัยช่างน่ะคุณ มันก็ต้องหาหนทางแตกแขนงทำอะไรใหม่ๆ ออกไป แต่พื้นฐานมันจะสอดคล้องกับของเก่า และมีพัฒนาการให้เห็นเป็นขั้นเป็นตอนเสมอ

ไม่ใช่จู่ๆ นึกจะทำอะไรขึ้นมาก็ทำมันซะงั้น โดยเฉพาะพระพุทธรูปองค์หนึ่งนี่นะ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ กว่าจะสร้างขึ้นมา มันมีตัวแปรตั้งเยอะเข้ามาเกี่ยวข้อง คุณไม่สามารถสร้างพระขึ้นมาให้เป็นแบบไหนก็ได้ตามใจคุณโดยไม่ถูกกำหนดกฎเกณฑ์จากคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรอก

นี่อธิบายกว้างๆ เพื่อให้คุณเข้าใจวิธีคิดของเรา เป็นวิธีคิดที่ดีหรือไม่ ไม่ทราบ

ทีนี้จะขอแสดงความสงสัยต่อไปอีกเป็นบางข้อ

-วิหารวัดธรรมิกราช ต่อให้สร้างสมัยรัตนโกสินทร์นี่เองก็ไม่เห็นแปลก เพราะถ้าของเดิมสร้างมาตั้งแต่ก่อนอยุธยาแล้วมันพังไปแล้วน่ะ คุณไม่คิดจะซ่อมใหม่มั่งเลยเหรอ

-แล้วคุณจะกำหนดอายุหลวงพ่อหน้าแก่จากวิหารที่สร้างใหม่ล่าสุดได้ไงล่ะ ถ้าอย่างงั้นพระรอดที่วัดมหาวัน จ.ลำพูนก็ใหม่หมดสิ เพราะวิหารของวัดนั้นเพิ่งสร้างใหม่เมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีมานี้เอง

-แล้วเราดูยังไงๆ หลวงพ่อหน้าแก่ก็ไม่เหมือนพระปูนปั้นสมัยพระเจ้าบรมโกศองค์นั้นเลย

-การพบหลวงพ่อหน้าแก่เฉพาะเศียร ไม่ใช่เรื่องแปลก วัดนั้นร้างไปตั้งนานแล้วก่อนที่จะมีใครไปขุด ในทำนองเดียวกัน หากเป็นของอยุธยาปลายอย่างคุณว่า ทำไมเจอแต่พระเศียรล่ะ

-เรื่องพระเจ้าสายน้ำผึ้งสร้างวัดพนัญเชิง บอกจริงๆ เราก็ไม่เชื่อ เพราะฉะนั้นถ้าเอาแค่พงศาวดารเหนือเป็นหลัก ซ.ต.พ.ไม่ได้หรอกว่าวัดพนัญเชิงเก่ากว่าอยุธยา คุณต้องเอาหลักฐานทางโบราณคดีมาจับ

-ทำยังไงน่ะเหรอ ไปขุดแต่งที่นั่นสิ ขุดลงไปดูชั้นดินดูแนวการสร้างของเดิม การต่อเติมใหม่ ดูวิธีเผาอิฐ แล้วไปเทียบจากโบราณสถานในเกาะเมืองอยุธยา แค่นี้คุณก็รู้แล้วว่าใครเก่าใครใหม่

...แหม ใครจะไปเอาแค่ศิลปะมาเป็นตัวกำหนดล่ะ การจะพูดว่าอะไรเก่าอะไรใหม่ มันต้องใช้สหวิชาอย่างที่คุณว่าน่ะแหละ แล้วคุณอย่าบอกอีกนะว่าหลักวิชาโบราณคดีที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้น่ะมั่ว เพราะถ้าหลักวิชาโบราณคดีที่สอนกันอยู่ทุกวันนี้มั่ว โลกนี้ก็ไม่มีมาตรฐานใดๆ อีกต่อไป

-เรื่องพระอจนะวัดศรีชุม เอาอย่างงี้นะ เรารู้จักลุงคนที่ปั้นหน้าพระองค์นั้นด้วย และเราก็รู้ว่า ที่กรมศิลป์บอกว่าพระองค์นั้นเป็นศิลปะสมัยพญาลิไท (ตั้งแต่เมื่อไหร่?) เขาบอกจากโครงเดิมก่อนที่ตาลุงคนนั้นจะไปปั้นหน้าให้ใหม่

-ลุงสด คนปั้นพระที่ซ่อมพระพุทธรูปใหญ่ๆ จำนวนมากในสมัยสุโขทัย รวมถึงพระอัฎฐารสด้วย ฝีมือแกทั้งนั้น อย่าไปคิดว่าหน้าตาพระสุโขทัยที่คุณเห็นมาหลายองค์น่ะเป็นของเก่าถึงสุโขทัยนะ โครงเดิมน่ะใช่ แต่หน้า,มือ หรือองค์พระ หลายองค์ซ่อมใหม่ แต่องค์ที่ไม่ซ่อมก็มี เช่นพระลีลาที่วัดพระศรีมหาธาตุเชลียง ยังฝีมือเดิมๆ

-ถ้าพระนเรศวรเป็นผู้สร้างพระพุทธชินราชจริงๆ ก็ดี กลัวแต่ว่าท่านจะไม่มีเวลาสร้าง เพราะสมัยท่านท่านทำสงครามตลอด ถ้าคุณบอกว่าพระเอกาทศรถสร้าง ยังน่าเชื่อกว่า

-เรื่องกรมศิลป์แอบบูรณะพระยืนที่วัดใหญ่ชัยมงคลให้เป็นพระนั่ง เพราะกลัวทฤษฎีเก่าถูกทำลาย สนุกดี ฟังมาจากไหนเหรอ เพิ่งรู้ว่ามีแบบนี้ด้วย ที่เราเคยรู้มามีแต่บูรณะชุ่ย แต่ไม่เคยรู้ว่ามีศรีธนญชัยอยู่ในกรมศิลป์เก่งขนาดจับพระยืนไปสร้างใหม่ให้เป็นพระนั่งได้ เพียงเพื่อสนอง Ego ของตนเอง ยังกับกรมศิลป์เองจะได้ประโยชน์จากการทำอย่างงั้นแน่ะ

-ที่จริงทฤษฎีทางประวัติศาสตร์ศิลปะจะเป็นยังไงกรมศิลป์เขาคงไม่ไปได้ประโยชน์จากตรงนั้นหรอกนะ เพราะแค่ขนาดจะซ่อมให้ได้ตามรูปแบบเดิมนี่ เขายังปวดเศียรเวียนเกล้ากันจะแย่แล้ว ต้องสันนิษฐานและตรวจสอบแบบเดิมกันจนแน่ใจแล้วว่าเป็นยังไงน่ะแหละถึงค่อยลงมือซ่อม

แต่ไอ้ที่ซ่อมชุ่ยก็มี คือโยนให้บริษัทรับเหมาไปทำ แต่ก็ไม่เคยเห็นว่าจะมีที่ไหนเฉียบถึงขนาดแปลงพระยืนให้เป็นพระนั่ง แพงนะคุณ ทำอย่างงั้นน่ะ ไม่ได้ประหยัดค่าซ่อมขึ้นมาเลย ไม่มีใครได้อะไรเลย

-หลวงพ่อศิลาเป็นวัชรสัตว์พุทธะของเขมร อันนี้เราไม่แน่ใจนะ ไม่ใช่พระอาทิพุทธะหรือพระอมิตาภะเหรอ ความจริงเราว่าพระนาคปรกเนี่ยคือพระศรีศากยมุนีพุทธเจ้าด้วยซ้ำ เพราะมหายานเขมรเขานิยมใช้พระพุทธรูปปางนาคปรกเป็นตัวแทนของพุทธภาวะที่สมบูรณ์ภายหลังตรัสรู้ ถ้าประกอบเป็นรัตนตรัยมหายาน คือพระพุทธรูปนาคปรกอยู่กลาง มีพระอวโลกิเตศวรข้างหนึ่ง พระนางปรัชญาปารมิตาอีกข้างหนึ่ง ก็เข้าหลักปรัชญามหายานคือความเป็นพุทธะที่สมบูรณ์ประกอบด้วยเมตตาบารมี (พระอวโลกิเตศวร) และปัญญาบารมี (พระนางปรัชญาปารมิตา)

-สุโขทัยภายใต้การปกครองของอยุธยา คือแหล่งอุตสาหกรรมผลิตเครื่องสังคโลกสำหรับส่งออก ศิลปะยังคงมีเหลือต่อมาแน่นอน อย่างพระอิศวรเมืองกำแพงเพชรนั่นก็ใช่ แต่ก็ไม่ได้เจริญรุ่งเรืองมาก เพราะเจอสงครามด้วย แล้วก็มีการย้ายเมืองมีการอพยพผู้คนกันหลายยุคหลายสมัย นานเข้าก็เสื่อมไป

-เรื่องเทวรูปในหอเทวาลัยมหาเกษตร ขนาดมีจารึกวัดป่ามะม่วงอยู่คุณยังไม่เชื่อเลยน่ะ ไม่รู้จะว่ายังไงแล้ว สร้างหอเทวาลัยทั้งที คงหล่อได้แค่เทวรูปองค์ประมาณ ๑ คืบมั้ง ที่เห็นในพิพิธภัณฑ์นั่นน่ะมาสร้างสมัยร.๕ นี่ล่ะสิ ถ้างั้นน่ะ... ไม่ใช่ว่าอะไรๆ ก็จะยกให้พญาลิไทหมดหรอก ยกให้เฉพาะที่มีหลักฐานเจ๋งๆ ว่าท่านทำจริงๆ เท่านั้น

-เทวรูปสำริดในอีสาน เจอนิดเดียวเอง แต่พระโพธิสัตว์สำริดที่ปราสาทปลายบัด อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ เจอตั้ง ๓๐๐ กว่าองค์แน่ะ ทุกวันนี้วัดต่างๆ ในอีสานเวลาทำพระเครื่อง ก็ยังได้ชนวนที่เป็นเทวรูป,พระโบราณที่ทำด้วยสำริดจากชาวบ้านที่ขุดเจออยู่บ่อยๆ ตัวอย่างเช่นหลวงปู่หงษ์ ที่จ.สุรินทร์ สร้างพระทีไร ได้เทวรูปเก่าสมัยขอมมาเป็นมวลสารทุกครั้ง

-แขกมัวร์เข้ามาในอยุธยาตั้งแต่สมัยพระนเรศวร แขกจามก็มีอยู่แล้วในอยุธยาตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ คงไม่ต้องรอให้ถึงสมัยพระนารายณ์หรอกที่จะให้ศิลปะอาหรับเข้ามาปะปนกับศิลปะไทย

-พระหินขนาดใหญ่ ทวารวดีก็ทำไว้ อย่างพระนอนที่เมืองเสมา อ.สูงเนิน นครราชสีมา ใหญ่มากๆ

คุยกับคุณสนุกมาก แต่ตอนนี้ดูเหมือนจะเหลือแต่เรากับคุณคุยกันอยู่สองคน จขกท.เค้าก็คงไม่เข้ามาอ่านแล้วมั้ง คุณโพธิ์ประทับช้างก็คงเลิกเอารูปมาโพสต์แล้ว เพราะสองคนนี่เถียงกันไม่จบซักที ถ้างั้นเอาไว้เราไปเจอกันในกระทู้อื่นๆ ใหม่ๆ ดีมั้ย จะได้แลกเปลี่ยนกันเรื่องอื่นๆ มั่ง มันส์ดี

ป.ล.ไม่ค่อยเห็นคุณเข้าไปโพสต์ในกระทู้ใหม่ๆ เลย

หนอนดาวเรือง



Create Date : 27 กรกฎาคม 2550
Last Update : 29 กรกฎาคม 2550 15:33:38 น. 2 comments
Counter : 1445 Pageviews.  
 
 
 
 
อรเดตะจคะจคะเวนเวน่นี่
 
 

โดย: ร่นิรีเนรใ IP: 118.172.218.134 วันที่: 15 สิงหาคม 2552 เวลา:19:52:19 น.  

 
 
 
เชิญชมwww.ayothaya amulet.com
 
 

โดย: เอ๋ อยุธยา IP: 180.180.99.68 วันที่: 27 เมษายน 2554 เวลา:19:12:47 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

วรณัย
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เวลาผ่านไป หัวใจยังคงเดิม
[Add วรณัย's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com