“..การศึกษาวิชามานุษยวิทยา มีจุดประสงค์ให้มนุษย์เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับมนุษยชาติทั้งมวล มนุษย์จะได้เข้าใจตนเองและเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เป็นพื้นฐานให้เกิดความเข้าใจอันดี และการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข...” สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ๒๕๓๗

<<
กรกฏาคม 2550
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
27 กรกฏาคม 2550
 

พระพุทธรูป ศิลปอยุธยา ทรงเครื่อง มีที่มาอย่างไร..ครับ



พระพุทธรูปทรงเครื่อง เกิดครั้งแรกในอินเดีย มีที่มาจากคติมหายาน
ไทยเรารับคติพระพุทธรูปทรงเครื่องมาจากเขมรสมัยนครวัด ซึ่งที่เขมรทำพระพุทธรูปทรงเครื่องก็เพราะเขานับถือพุทธมหายานอีกน่ะแหละ
ต่อมา ก็เกิดชมพูบดีสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรนอกนิบาต คือไม่มีในพระไตรปิฎก แต่เป็นที่นับถือของคนไทย ลาว และเขมรหลังจากรับศาสนาพุทธเถรวาทจากไทย ดังที่พบต้นฉบับอยู่เฉพาะในล้านนา ล้านช้าง อยุธยา กรุงรัตนโกสินทร์ และในกรุงกัมพูชาเท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นในภูมิภาคดังกล่าวนี้เอง
แนะนำให้อ่าน นิตยสารเมืองโบราณ ปีที่ ๓๒ ฉบับที่ ๓ (กรกฎาคม-กันยายน ๒๕๔๙) ปกเป็นรูปพระประธานวัดนางนอง
หนอนดาวเรือง


นั่นสิ พระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์มาจากไหนกันแน่

เงื่อนไข
ข้อแรก ศาสนาพุทธในสมัยพระเจ้าปราสาททอง เป็นมหายานหรือเปล่า

ข้อสอง พระเจ้าปราสาททองตีได้นครวัด นครธม (เขมร) หรือเปล่า จนเป็นที่มาของคำอธิบาย คติ "เทวราชา"

ข้อสาม พระสรรเพชญพิชิตมารโมลีโลก สร้างเครื่องทรงกษัตริย์พร้อมกับพระพุทธรูปปางมารวิชัยหรือเปล่า หรือจะสร้างต่อเติมคนละสมัย ? สังเกตจากแขนซ้ายที่ยังมีจีวรปิดทึบอยู่ระหว่างช่องแขนกับตัว ทั้ง ๆ ที่ใส่เครื่องทองกษัตริย์แล้ว ?

ข้อสี่ วัดตูม ก็มีพระพุทธรูปทรงเครื่องแบบเดียวกับที่วัดหน้าพระเมรุ สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 4

ข้อห้า ที่เมรุทิศ วัดไชยวัฒนารามมีพระพุทธรูปทรงเครื่อง 12 องค์ และพระพุทธรูปไม่ทรงเครือง 102 องค์รอบระเบียงคด ซึ่งมี"แนวคิด" ว่าพระพุทธรูปปูนปั้นที่เมรุทิศนั้น ต่อเติมดัดแปลงเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องหลังสมัยพระเจ้าอยู่หัวปราสาททอง

ข้อหก พระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัย ก็นิยมสร้างขึ้นในรัชกาลที่ 4 เช่นพระประธานที่วัดหาธาตุเพชรบุรี และในระเบียงคดส่วนตะวันออก

ความคิดเห็นส่วนตัวครับ
1.ไม่น่าเกี่ยวกับมหายาน
คติของหายานไม่มีการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่อง มหายานแยกพระโพธิสัตว์ออกจากพระวัชรสั ต ว์พุทธะ ถ้าเป็นพระพุทธรูปในคติมหายานก็จะเป็นรูปพระอมิตาภะ ซ้ายขวาเป็นพระโพธิสัตว์ พระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์ตามคติของวัชรยาน คือพระวัชร สั ต ว์ พุทธะ พระไภษัชยคุรุ พระวัชรธร
ประตินวิทยาของทั้งมหายานและวัชรยาน ไม่มีปางาวิชัยอันเป็นคติการใช้พุทะประวัติในการเผยแพร่ศาสนาของเถรวาท

2. ไม่เกี่ยวกับพราหมณ์ฮินดูโดยตรง
ไม่เกี่ยวกันในทางตรง แต่เกี่ยวกันทางอ้อมในอิทธิพลของเรื่อง"ไตรภูมิ"ที่ลังกาวงศ์ได้นำเป็นคติในการปกครองโลก" พระจักรพรรดิราช " ผู้เป็นราชาแห่งโลก ในเวลาที่พระพุทธเจ้าเมตไตรย ยังไม่เกิด
คตินี้ น่าจะเกี่ยวข้องมากกว่า"เทวราชา"ของเขมร

3. คติ"พุทธราชา" ราชาแห่งสรรพสัตว์น่าจะมาจากคัมภีร์ของเถรวาทมากกว่าของมหายานและฮินดู

จึงเกิดคำถามว่า แล้วพระพุทธรูปทรงเครื่องนี้จึงสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าปราสาททองที่ทรงไปตีเขมรได้ แล้วมีการอธิบายกันในหนังสือเรียนว่าทรงรับคติเทวราชาจากเขมรมา ?

พระนเรศวรราชธิราช ก็ตีเขมรได้ ทำไม่สร้างพระทรงเครื่อง ? หรือพระเจ้าปราสาททองใจอ่อนชอบเทวราชาของเขมรเพียงองค์เดียว

ความเห็นของผมก็คือ ผู้ที่ใช้คติ "จักรพรรดิราชา" จาก"ไตรภูมิ" ในการปรับเปลี่ยนพระพุทธรูปเถรวาทปางสมาธิ ให้กลายเป็นพระทรงเครื่อง และปรับเปลี่ยนเจดีย์มหาธาตุ บูรณะพระปรางค์มหาธาตุในเมืองต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักรอยุธยา ในกลางพุทธศตวรรษที่ 22 ต่างหาก ที่สร้างพระองค์นี้ขึ้นมา พร้อมกับการเติมยอดให้กับเจดีย์ในราชอาณาจักร ให้มี 5 ยอด ตามคติศูนย์กลางแห่งจักรวาล

นั่นคือการบูรณะใหญ่ทั่วพระราชอาณาจักร ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์

พระพุทธศาสนาที่ลังกาดับสูญลงเหลือเพียงสามเณรรูปเดียว
กษัตริย์ลังกาจึงขอพระจากอยุธยาเพื่อไปสืบพระศาสนาไม่ให้ดับสูญ
ดังตำนาน พระโฆษาจารย์วัดพุทไธสวรรย์ ( ปัจจุบันก็ยังมีกุฏิอยู่ที่วัดพุทธไธสวรรย์ พร้อมภาพเขียนฝาผนังเรื่องราวการเดินทาง เทวดาช่วยโย้เสาเรือ การพบกับพระอีกรูปกลางทะเล ( จำได้คร่าว ๆ เท่านี้)

พุทธศาสนาสายสยามวงศ์ ( ที่พัฒนามาจากนิกายลังกาวงศ์และนิกายสิงหลภิกขุ)จึงเกิดขึ้นในสยามและย้อนกลับไปเผยแพร่ที่ลังกา

ลังกาจึงเพิ่งรู้จักว่ามีพระพุทธรูปทรงเครื่องมาจากสยาม ไม่ใช่สยามไปรับมาจากไหน

จักรพรรดิราชา ราชาแห่ง 4 ทวีป ผู้ครอบครองแก้ว 7 ประการ ปรากฏใน"ไตรภูมิ" อันเป็นอิทธิพลสำคัญของการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่อง

เอ แต่ว่า "ไตรภูมิ" เนี่ย คติรากฐานมาจากไหนกันแน่ ?
วรณัย

เรียนคุณวรณัย ค.ห.๕
จริงๆ แล้วเรารู้น้อยกว่าคุณมากเลย เรื่องเกี่ยวกับศาสนาพุทธเนี่ย แต่ขอแจมด้วยเป็นบางข้อ
มหายานมีพระพุทธรูปทรงเครื่องนะ มีทั้งพระทีปังกร และพระพุทธรูปปางมารวิชัยทรงเครื่องที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Crown Buddha ซึ่งบางทีก็หมายถึงพระศรีศากยมุนี บางทีก็หมายถึงพระธยานิพุทธอักโษภยะ สามารถหาดูได้จากพระพุทธรูปในศิลปะทิเบตและเนปาล
อ้อ, เพิ่งนึกได้ วันหลังจะหาภาพมาให้ดู อาจารย์ น.ณ ปากน้ำไปเจอพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยปาละที่พิพิธภัณฑ์กัลกัตตา ทำปางปฐมเทศนาอีกต่างหาก น่าสงสัยว่าจะเป็นพระธยานิพุทธไวโรจนะ
และยังมีพระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัยสมัยปาละอีกองค์หนึ่งที่แคว้นพิหาร สวมศิราภรณ์รูปสามเหลี่ยมทรงแหลม ซึ่งส่งอิทธิพลมาถึงพระสำริดสมัยหริภุญไชยตอนปลาย ที่เป็นปางมารวิชัยทรงเครื่อง ที่ระเบียงคดวัดเบญจมบพิตร
พุทธศิลป์ในอินเดียก่อนสมัยปาละ ไม่มีการทำพระพุทธรูปทรงเครื่อง พระพุทธรูปทรงเครื่องเพิ่งมาเกิดในอินเดียเมื่อสมัยปาละ (พุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๕) อันเป็นยุคที่มหายานเฟื่องฟูในอินเดีย
ประติมานวิทยาในมหายานและวัชรยาน มีปางมารวิชัย หรือ ภูมิสปรรษมุทรา (Bhumi Sparsa Mudra) ใช้ทั้งกับรูปของพระศรีศากยมุนี (สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) และพระธยานิพุทธอักโษภยะ
เงื่อนไขข้อแรก ศาสนาพุทธสมัยพระเจ้าปราสาททองเป็นมหายานหรือเปล่า ตอบว่า เปล่า แต่การสร้างพระทรงเครื่องมีที่มาจากชมพูบดีสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรที่น่าจะเกิดโดยอิทธิพลมหายาน
ข้อสอง พระเจ้าปราสาททองอ้างคติเทวราชาเพื่อให้เหมาะสมกับการขึ้นครองราชย์โดยมิได้สืบสันตติวงศ์ แต่จะได้จากการตีเขมรหรือทรงอ้างมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้น ไม่แน่ใจ
ข้อสาม พระพุทธนิมิต วิชิตมารโมลี ศรีสรรเพชญ บรมไตรโลกนาถ แห่งวัดหน้าพระเมรุ เดิมเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยธรรมดา มาบูรณะและดัดแปลงเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยพระเจ้าปราสาททอง
ข้อสี่ พระพุทธรูปทรงเครื่องที่วัดตูมที่ถอดมงกุฎได้แล้วมีน้ำอยู่ข้างใน เป็นพระสมัยอยุธยาร่วมสมัยเดียวกับพระพุทธนิมิตที่วัดหน้าพระเมรุ เพราะเครื่องทรงเป็นแบบเดียวกัน ถ้าสร้างในรัชกาลที่ ๔ อย่างน้อยต้องเลิกใช้ศิราภรณ์แบบนั้นไปแล้ว เพราะพระประธานวัดนางนองที่สร้างสมัยรัชกาลที่ ๓ ทั้งศิราภรณ์และเครื่องทรงทั้งหมดก็ไม่ใช่แบบพระพุทธนิมิตแล้ว ถ้าร.๔ท่านสร้างพระที่วัดตูมให้ย้อนยุคอีก ก็แปลก เพราะพระทรงเครื่องที่ท่านสร้างไว้ที่วัดปทุมคงคาก็ไม่ได้ทรงเครื่องแบบที่วัดตูมหรือที่วัดหน้าพระเมรุ
ข้อห้า พระพุทธรูปปูนปั้นพอกทับบนแกนไม้ที่วัดไชยวัฒนารามทั้ง ๑๒ องค์เป็นฝีมือช่างสมัยพระเจ้าปราสาททอง สร้างพร้อมกับวัดนั้นทั้งสิ้น มิได้มาทรงเครื่องภายหลัง
ข้อหก พระประธานวัดมหาธาตุเพชรบุรีคือหลวงพ่อเทวฤทธิ์ เป็นฝีมือช่างพื้นเมืองเพชรบุรีร่วมสมัยอยุธยาตอนปลาย พระพุทธรูปในพระอุโบสถของวัดมหาธาตุเพชรบุรีเป็นศิลปะอยุธยาทุกองค์
หนอนดาวเรือง


ขอบคุณครับ คุณหนอนดาวเรือที่ช่วยขยายความให้กับเรื่องนี้
ผมว่าผมต่างหากที่ยังไม่รู้ .....จึงขออนุญาตคุยต่อในความเห็นของคุณหนอน

ที่ผมแยกพระพุทธรูปทรงเครื่องของมหายานออกจากลัทธิจักรพรรดิราช
ด้วยเพราะมหายานแยกรูปพระอมิตาภะกับพระวัชรสัตว์ ที่ภาษาอังกฤษจะใช้ คำว่าCrown Buddha

พระวัชรสัตว์ ทรงเครื่องราชา ด้วยเพราะเป็นราชาแห่งพระตาถาคต ที่มีอยู่มากมาย

พระพุทธรูปในศิลปะทิเบตและเนปาล / ตรงนี้มีแน่นอนครับ พระมหาไวโรจนะ พระพุทธเจ้าองค์ที่ 6 ในเอเชียตะวันออกก็มีเยอะครับ พระพุทธเจ้าทรงมงกุฏ แต่ส่งอิทธิพลมาให้พระวัดหน้าพระเมรุหรือเปล่า ?


พระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยปาละที่พิพิธภัณฑ์กัลกัตตา ทำปางปฐมเทศนาอีกต่างหาก น่าสงสัยว่าจะเป็นพระธยานิพุทธไวโรจนะ / เอารูปมาดูกันสิครับ เพราะหากเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์ ก็นิยมมาตั้งแต่ยุคต้นในการสร้างพระพุทธรูปแล้ว และศาสนาที่กระจายไปทางอื่นของอินเดีย ก็อาจจะนิยมมหายาน โดยเฉพาะตะวันออกที่ติดกับรัฐโอริสสา ศูนย์กลางของวัชรยานในพุทธศตวรรษที่ 13

สวมศิราภรณ์รูปสามเหลี่ยมทรงแหลม ซึ่งส่งอิทธิพลมาถึงพระสำริดสมัยหริภุญไชยตอนปลาย ที่เป็นปางมารวิชัยทรงเครื่อง ที่ระเบียงคดวัดเบญจมบพิตร/ พระเทริดกนกหรือพระไมเตรยะของมหายานครับ แต่ไม่ได้ส่งอิทธิพลมาที่พระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์ คนละคติกันครับ

มาที่เงื่อนไขที่ 1
วิธีการของมหายานเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์
ในขณะที่เรื่องของท้าวชมพูบดี เป็นการเรื่องในเชิงพุทธประวัติ อันเป็นวิธีการของหินยานสายเถรวาท ซึ่งพระสูตรของเถรวาทในพุทธศตวรรษที่ 14 ได้ยืมเรื่องราวของมหายานหลายเรื่องมาใช้ด้วยในพระสูตร จะนับว่าเป็นเถรวาทหรือมหายานดีล่ะครับเนี่ย

เงื่อนไข 3 พระเจ้าปราสาททองบูรณะพระประธานให้เป็นพระทรงเครื่องกษัตริย์ ตามประวัติศาสตร์ศิลปะไทยเด๊ะ ๆ ครับ

เงื่อนไขที่ 4 รัชกาลที่ 4 โปรดให้บูรณะยกวัดตูมให้เป็นพระอารามหลวง และได้เสด็จไปถวายผ้าพระกฐินหลายครั้ง ในขณะเดียวกัน โปรดให้สร้างวัดทำใหม่ใกล้กับวัดหน้าพระเมรุ
พระวัดตูมหล่อ "เลียนแบบ" ศิลปะของวัดหน้าพระเมรุ ? เหมือนแต่ไม่ค่อยเหมือนทั้งหมด เพราะมีอยู่องค์เดียวทั้งอยุธยา ?
ถ้าเหมือนทั้งหมดต้องอยู่ที่เมรุทิศวัดไชยวัฒนาราม

เงื่อนไขข้อที่ 5
พระทั้ง 102 องค์ รอบพระระเบียงคด ฐานเเป็นฐานบัว แต่พระในซุ้นเมรุทิศหากสังเกตฐานสิงห์ที่แตกออกขององค์พระก่อนการพอกบูรณะโดยกรมศิลปากร จะเห็นฐานเดิมที่เป็นฐานบัวชัดเจน รวมทั้ง ปูนปั้นที่ประดับเข้าไป แขนซ้ายยังคงมีจีวรปิดอยู่เช่นกัน
ซึ่งตามประวัติศาสตร์ศิลป์ก็ยังคงให้เป็นพระพุทธรูปในสมัยพระเจ้าปราสาททอง

ลองสังเกตดูนะครับ

เงื่อนไขที่ 6 เพชรบุรีมีเขาวังนะครับ รัชกาลที่ 4 ไปบูรณะพระประธานให้กับวัดมหาธาตุ และสร้างพระทรงเครื่องไว้ หลังจากที่เสียหายจากสงครามเสียกรุง 2310
ส่วนการจะยกให้เป็นอยุธยา นั้น อยู่ในประวัติศาสตร์ศิลปะอีกแหละครับ
ผู้บูรณะสร้างพระองค์เล็กจำลององค์ใหญ่ไว้

หรือเผลอ ๆ รัชกาลที่ 4 นั่นแหละที่ไปเติมให้เป็นพระทรงเครื่องเสียเอง
โดยมีรูปแบบเช่นเดียวกับที่กรุงเทพ คล้ายวัดหน้าพระเมรุ

อย่างไรอาจจะมองไปในมุมอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ศิลป์นะครับ
เพราะรูปพระหนึ่งอาจจะเคยถูกสร้างแต่ถูกปรับพอกในอีกสมัยหนึ่ง
แต่ประวัติศาสตร์ศิลป์จะตามตัวอยู่ในผู้สร้างอย่างเดียว

โดยไม่อธิบายคติชนและปรัชญาที่เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างพระปฏิมาในสมัยโบราณ
วรณัย


อาจจด้วยรัชกาลที่ 4 ทรงประทับใจในพระประธานวัดหน้าพระเมรุ และทรงเป็นผู้บูรณะพระประธานวัดหน้าพระเมรุ

พระพุทธรูปประธานในวัดมหาธาตุเพชรบุรี จึงปรับเปลี่ยนพระพุทธรูปนั่งปางสมธิที่ปรักหักพังไปมาก มาเป็นพระทรงในเครื่องแบบของพระองค์

สังเกตจากรูปด้านแขนซ้ายยังคงเป็นชายจีวรทึบปิดเช่นเดิม
พระองค์นี้จึงไม่ได้สร้าง"เป็นพระทรงเครื่อง"ในสมัยอยุธยาตอนปลาย เพราะเพชรบุรีไม่ใช่เมืองของจักรพรรดิราช

แต่เป็นเมืองจักรพรรดิราชเมื่อคราวที่รัชกาลที่ 4 ย้านพระนครไปอยู่ที่เขาวังในช่วงหนึ่งของรัชกาล

พระประธานวัดมหาธาตุราชบุรี จิตรกรรมฝาผนังด้านหลังเป็นรูปบ้านเมืองแบบตะวันตก
วรณัย


พระพุทธรูปทรงเครื่อง ในระเบียงคด ดัดแปลงพระพุทธรูปเดิมที่เป็นพระปางมารวิชัยธรรมดา มาเป็นพระทรงเครื่องกษัตริย์ เห็นจากชายสังฆฏิ ยังอยู่ และชายจีวรยังคลุมแขนซ้ายด้านหลัง โครงหน้าก็เปลี่ยนไป

การบูรณะมีส่วนเดียว ส่วนอีก 3 ด้านของระเบียงคต ยังคงเป็นพระปางมารวิชัย ศิลปะของอยุธยาเช่นเดิม

รัชกาลที่ 4 ยังสร้างพระทรงเครื่องกษัตริย์เป็นภาพหน้าของพระองค์เองด้วยซ้ำ

ซึ่งไม่น่าแปลก เพราะพุทธศาสนาของสยามโบราณได้มาถูกชำระและจัดระเบียบใหม่ในสมัยของพระองค์ที่เรียกกันเป็นนิกายใหม่ว่า ธรรมยุตนิกาย

ลัทธิจักรพรรดิราชรุ่งเรืองมากในยุคปลายอยุธยาจนถึงรัชกาลที่ 4
วรณัย


เรียน คุณวรณัย

เราก็ยังสงสัยอยู่ดีแหละ ว่าทำไมร.๔ไปบูรณะวัดตูมแล้วต้องสร้างพระเลียนแบบของวัดหน้าพระเมรุ ในเมื่อพระทรงเครื่องแบบรัชกาลที่ ๓ ที่วัดนางนองนั้นเป็นศิลปะที่ได้รับความนิยมในสมัยรัตนโกสินทร์มากกว่า

ข้อสังเกต : พระทรงเครื่องสมัยอยุธยาตอนต้น สวมเทริดคล้ายเทวรูปและพระพุทธรูปเขมร(มีกระบังหน้า ยอดเตี้ย) พระพุทธนิมิตวัดหน้าพระเมรุซึ่งมาซ่อมใหม่สมัยพระเจ้าปราสาททอง ยังสวมเทริดกลายๆ (ยังมีกระบังหน้าอยู่ แต่ยอดเริ่มสูงขึ้น)แต่พระทรงเครื่องตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายลงมาสวมชฎาทรงสูง (ไม่มีกระบังหน้า) กันหมดแล้ว แม้แต่พระประธานที่วัดนางนองก็สวมชฎาทรงสูง พระประธานวัดปทุมคงคาที่สร้างสมัยรัชกาลที่ ๔ ชัวร์ๆ ก็สวมชฎาทรงสูง

ยิ่งถ้าคุณบอกว่าพระประธานวัดมหาธาตุ เพชรบุรี สร้างสมัยร.๔ ด้วยแล้ว พระองค์นั้นก็สวมชฎาทรงสูงเช่นเดียวกัน

แล้วทำไมเวลาสร้างพระใหม่ที่วัดตูม จึงต้องไปก๊อปพระพุทธนิมิตมาล่ะเนี่ย ก๊อปฯหมดทั้งเครื่องทรง ศิราภรณ์เลย แถมยังทำเปลือกตาใหญ่เหมือนกันอีก ทั้งๆ ที่พระตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายลงมาเลิกทำเปลือกตาใหญ่กันหมดแล้ว (ยิ่งพระประธานวัดปทุมคงคานะคุณ หน้าตาคนละแบบกับวัดหน้าพระเมรุเลยเชียวแหละ)

เท่าที่เรารู้มา ร.๔ ท่านอาจมีพระราชนิยมในการอนุรักษ์ของเก่าอยู่บ้าง เช่น บูรณะพระที่นั่งจันทรพิศาลในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ตามเค้าโครงเดิมที่เป็นศิลปะอยุธยาตอนปลาย

แต่ไม่เคยเห็นว่าท่านจะทำอะไรย้อนยุค

ก็คนสมัยท่าน ชอบศิลปะรัตนโกสินทร์ ชอบพระใส่ชฎา แล้วจะกลับไปทำพระสวมเทริดกันอีกทำไม เราลองคิดแล้วมันก็แปลกๆ ถ้าร.๔ ท่านทำแบบนั้นจริง ก็แสดงว่าพระราชดำริท่านก้าวหน้าล้ำสมัยมาไกลจนถึงสมัยเรานั่นแน่ะ เพราะสมัยเรามีการสร้างพระใหม่โดยการก๊อปฯ พระเก่ากันเกร่อ อย่างพระประธานองค์ใหม่ของวัดบ้านแพน อ.เสนา อยุธยา ก็ก๊อปฯพระพุทธนิมิต

และในทางประวัติศาสตร์ศิลป์ การพัฒนาจากเทริดในเทวรูปเขมรจนกลายเป็นชฎาในศิลปะไทยสมัยอยุธยาตอนปลาย จนนิยมในสมัยรัตนโกสินทร์มาถึงตอนนี้ เป็นเรื่องที่อธิบายได้ แต่ถ้าบอกว่า ยุคแรกสุดทำเทริด ยุคต่อมาทำชฏา เสร็จแล้วหวนกลับไปทำเทริดอีก โดยที่ไม่มีเหตุผลชัดเจนว่าเพราะอะไร อันนี้อธิบายยาก ดูมันไม่ค่อยเป็นพัฒนาการทางศิลปะเท่าที่ควร

ข้อสำคัญ ในทางศิลปะนั้น ถ้าคุณจะทำของใหม่ขึ้นมาด้วยการก๊อปฯของเก่า แสดงว่าคุณเห็นว่าของที่มีอยู่แล้วในสมัยคุณนั้นใช้ไม่ได้ ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ มักจะเกิดขึ้นในยุคเสื่อมทางศิลปะแล้ว แต่สมัยร.๔ ศิลปะกำลังมีพัฒนาการใหม่ๆ เห็นชัดมาก มีการเขียนภาพแบบตะวันตกเข้ามา แม้แต่ร.๔ เองก็โปรดฯให้ลองสร้างพระรูปเหมือนของพระองค์เองแบบฝรั่ง แต่ฝรั่งทำแล้วไม่ถูกพระทัย จึงให้คนไทยปั้น แต่ก็ปั้นตามแบบวิธีของฝรั่ง

เพราะฉะนั้น ถ้าร.๔ จะสร้างพระทรงเครื่องที่วัดตูมโดยออกแบบเครื่องทรงใหม่หมด น่าจะเป็นไปได้มากกว่าไปก๊อปฯพระพุทธนิมิต

ข้อสำคัญ ต้องขอความรู้จากคุณวรณัยแล้วหละว่าธรรมยุตนิกายมีความชื่นชอบพระพุทธรูปทรงเครื่องเป็นพิเศษหรือเปล่า

อ้อ ที่เขาวังมีพระพุทธรูปทรงเครื่องแบบวัดหน้าพระเมรุด้วย อยู่ที่วัดพระนอน เป็นฝีพระหัตถ์ร.๔ หรือว่าเป็นพระสมัยอยุธยาตอนปลายกันแน่

พระทรงเครื่องปางปฐมเทศนาสมัยปาละขอติดไว้ก่อน พระประธานวัดปทุมคงคาด้วย ยังไม่มีเวลาสแกนภาพ จะรีบดำเนินการในไม่ช้านี้
หนอนดาวเรือง


ขอบคุณคุณหนอนดาวเรืองมากครับ
เรื่องพระวัดตูม เป็นพระที่สร้างในยุคไหนนั้น ก็คงเป็นตามแนวทางของวิชาการที่อาจจะมองต่างมุมกัน
ผู้อ่านกระทู้นี้ ก็จะได้รับประโยชน์มาก ที่มีการแลกเปลี่ยนแล้วถกข้อปัญหากัน

ผม มีโอกาสไปอยู่ที่วัดตูมแล้วฟังเรื่องเล่ามากมาย รวมทั้งการสำรวจพระพุทธรูปองค์นี้ ในมุมต่าง ๆ ทั้งการฝังเครื่องประดับ วิธีการ ทำไมต้องเปิดฝาพระเศียรได้ ทำไมองค์อื่นถึงไม่ทำ และสงสัยว่าทำไมพระทรงเครื่ององค์นี้จึงมีลักษณะเดียวกับพระวัดหน้าพระเมรุ ตามหัวข้อกระทู้

ในขณะที่พระทรงเครื่องที่เทียบได้กับพระประธานวัดหน้าพระเมรุ ที่วัดไชยฯ มีการสร้างซุ้มเรือนแก้วด้วยต่างหาก

ถ้าจะยกให้เป็นสมัยพระเจ้าปราสาททองเลย ทุกอย่างก็คงจบ
แต่ผมกลับไม่เชื่อ เรื่องที่หนังสือเรียนและตำราประวัติศาสตร์ โยงเรื่องการตีกัมพูชา มาเป็นการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องของพระเจ้าปราสาททอง

โดยไม่ได้ใช้คติของการสร้างพระพุทธรูปในยุคต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นลายแทงสำคัญในการย้อนกลับไปศึกษา

ประเด็นการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องถ้ายังยึดเรื่องของพระเจ้าปราสาททอง ก็คงต้องใช้คำตอบว่า "เป็นคติเทวราช"

แล้วเทวราชาใสนคติศาสนาไหน
นักประวัติศาสตร์ศิลปะ ก็จะพยายามบอกว่า ก็พระเจ้าปราสาทไปตีเขมร แล้วจึงจำลองปราสาทมาสร้าง มาสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่อง

แต่ไม่ได้อธิบายศาสนาความเชื่อหรือคติชนวิทยาเลย

ล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 จัดเป็นยุคปลาย ๆ ของความนิยมระบบการปกครองจักรพรรดิราชา
ก่อนที่จะพบกับจุดจบจากจักรวรรดินิยมตะวันตกที่เข้ามาตีอินเดียและพม่า
ในพม่า จะพบลัทธิจักรพรรดิราชาด้วย
ถ้าเทียบเคียงกัน ก็จะมีไม่มากครั้งที่จะมีการสร้างพระพุทธรูปในรูปแบบของพุทธราชา

พระเจ้าปราสาททองสร้างวัดไชย แต่ ทำไมพระที่เมรุทิศจึงต้องมีการต่อเติมเป็นพระทรงเครื่องด้วยปูนปั้นเข้าไป

ทางประวัติศาสตร์ศิลปะก็จะอธิบายว่า ทำพร้อมกัน ในสมัยพระเจ้าปราสาททอง

แต่ผมว่าบูรณะในสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ ที่มีรูปสลักบานประตูรูปเทวดายังนิยมในการใช้มงกุฏแบบมีกระบังหน้า และปูนปั้นที่มีลักษณะเช่นเดียวกันในศาสนสถานต่าง ๆ

เผลอ ๆ พระวัดหน้าพระเมรุ เพิ่งจะมาบูรณะใส่เครื่องทรงกษัตริย์ในยุคนี้ด้วยซ้ำ พร้อม ๆ กับบูรณะพระซุ้มเมรุทิศและสร้างเมรุทิศพร้อมปูนปั้นพุทธประวัติที่วัดไชยวัฒนาราม


รัชกาลที่ 4 ไม่ได้Copy ของเก่า แต่เป็นของเดิมที่นิยมมาตั้งแต่ปลายกรุงศรีอยุธยา (ลัทธิจักรพรรดิราช) และสืบมาในสมัยรัตนโกสินทร์

พระวัดตูมเป็นการเลียนแบบของเก่าด้วยเทคโนโลยีใหม่ การประกอบเครื่องทรงกษัตริย์หล่อติดเข้าไป เป็นความประทับใจในศิลปะอยุธยา ในครั้งเสด็จเยือนมาทำบุญ

ในขณะเดียวกันก็สร้างพระทรงเครื่องกษัตริย์แบบรัตนโกสินทร์โดยช่างคนละกลุ่ม หรือคนละครั้ง
ศิลปะในสมัยเดียวกันไม่จำเป็นต้องเป็นแบบเดียวกัน
อยู่ที่อารมณ์ ความรู้สึกและคติชนวิทยาในขณะที่สร้างพระ

ซึ่งในสมัยหนึ่งสามารถสร้างเชียนแบบยุคที่แล้ว พร้อมกันกับคิดรูปแบบใหม่และสร้างย้อนยุคกรุงศรีอยุธยาก็ได้ ไม่ใช้ข้อบังคับ

รูปลอยตัวแบบยุโรป รูปพระแบบลังกา รูปพระแบบสุโขทัย รูปหล่อเลียนแบบพระพุทธชินราช รูปปั้นเลียนแบบพระศรีสรรเพชญที่วัดมหาธาตุกรุงเทพ

การสร้างมาจากแรงบันดาลใจครับ
รัชกาลที่ 4 ประทับใจเรื่องจักรพรรดิราช นิยมโลกตะวันตก และชอบศิลปะโบราณ เช่นที่เสด็จไปเที่ยวตามหัวเมืองโบราณทุกแห่งทั่วสยาม

กรอบของศิลปะ จึงไม่จำเป็นต้องเรียงจากยุคนี้แล้วมายุคนี้ เช่นที่ใช้เรียนใช้สอนตามแนวประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน

ทุกยุคสมัยย่อมมีความคิดที่หลากหลาย ถึงไม่มากเท่าในปัจจุบันก็ตามครับ


ปล. ลองเที่ยววัดบวรนิเวศน์ดูสิครับ จะเห็นพิพิธภัณฑ์กลาย ๆ ของรักาลที่ 4 ที่สะสมไว้ในวัดและจะเห็นประวัติศาสตร์ของธรรมยุตินิกาย
นิกายที่รวมหลักของหินยาน(ส่วนใหญ่)และมหายาน(ส่วนน้อย)มาใช้ร่วมกันอย่างกลมกลืน

แต่ธรรมยุติไม่ใช้หลักในการปกครองหรือแบบแผนในการสร้างพระพทธรูปนะครับ

ต้องแยกออกจากกัน
วรณัย


เอามาฝากคุณวรณัยจนได้

ขออภัยที่ช้าไปมาก เพราะเล่นคอมฯ ไม่เก่ง วันก่อนพยายามโพสต์รูปก็ไม่สำเร็จ เพราะ Scan มา Resolution สูงเกิน แล้วเครื่องเรามันก็ Resize ภาพจากกล้องดิจิมอน เอ๊ย ดิจิตอลไม่ได้ซะอีก

องค์นี้คือพระพุทธรูปทรงเครื่องปางปฐมเทศนา ที่ น. ณปากน้ำไปเจอที่พิพิธภัณฑ์กัลกัตตา ศิลปะพุทธมหายาน สมัยปาละ น. ณ ปากน้ำยืนยันว่าพระทรงเครื่องเกิดขึ้นครั้งแรกในอินเดียสมัยนี้ และเกิดจากอิทธิพลมหายาน



องค์นี้เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัยจากแคว้นพิหาร สมัยปาละเช่นกัน ดูที่ศิราภรณ์สามเหลี่ยมนั่นแหละที่ น. ณ ปากน้ำบอกว่าส่งอิทธิพลมาถึงพระทรงเครื่องมารวิชัยศิลปะหริภุญไชยที่วัดเบญจมบพิตร

ทีนี้ดูพระทรงเครื่องเขมร สมัยนครวัดบ้าง พระทรงเครื่องเขมรไม่สวมศิราภรณ์รูปสามเหลี่ยม แต่สวมเทริด ไม่รู้ไปเอามาจากไหน หรือจะเป็น Design ของเขมรเอง

องค์ต่อไป พระพุทธรูปศิลาทรงเครื่องที่วัดละมุด อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ศิลปะอโยธยา (ก่อนอยุธยา) สวมเทริดเหมือนกัน


พระทรงเครื่องสมัยอยุธยาตอนต้น สวมเทริด ทับทรวงเป็นแบบที่มีสองสายแบบที่เราเห็นเขาใส่กันในหนังเรื่องสุริโยทัยของท่านมุ้ย เครื่องทรงไม่มาก
(องค์นี้อยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทร์เกษม พุทธศตวรรษที่ ๒๑

พระพุทธนิมิตวัดหน้าพระเมรุ ศิราภรณ์ยังเป็นเทริดอยู่ แต่ยอดเริ่มสูงขึ้นจนคล้ายชฎา กรองศอทับทรวงพาหุรัดทองกรก็เยอะขึ้น

พออยุธยาตอนปลาย เลิกใช้เทริดแล้ว หันไปใส่ชฎากันแทน องค์นี้เป็นพระทรงเครื่องปางห้ามสมุทร สมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๒ อยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทร์เกษม

พระฝาง ในบุษบกหน้าวิหารสมเด็จ วัดเบญจมพิตร ศิลปะอยุธยาตอนปลายเช่นกัน สวมทั้งชฎาทรงสูง มีกรรเจียกอีกต่างหาก ทับทรวงเป็นแบบหล่อต่างหากแล้วประกบติดภายหลังเช่นเดียวกับองค์ในค.ห.43



สมัยรัตนโกสินทร์ พระทรงเครื่องล้วนสวมชฎาทุกองค์ ตอนร.๓ สร้างพระทรงเครื่องที่วัดนางนองก็เป็นชฎา ทับทรวงหล่อต่างหาก เหมือนอยุธยาตอนปลาย แต่อลังการสุดๆ

พระพุทธมหาชนก พระประธานวัดปทุมคงคา ซึ่งมีหลักฐานชัวร์ว่าร.๔ สร้าง
ก็สวมชฎาเช่นกัน เครื่องทรงก็ไม่แตกต่างไปจากพระประธานที่วัดนางนองเท่าไหร่ แสดงว่าเป็นความนิยมในทางศิลปะร่วมสมัย



ที่เอามาให้ดูกันนี้ เพราะเราศึกษามาไม่มาก จึงเห็นด้วยกับ น. ณ ปากน้ำ ที่บอกว่า ศิลปะมีเกิดแก่เจ็บตาย มีเริ่ม มีพัฒนา มีเสื่อม เหมือนกันทุกชนชาติ และความนิยมในทางศิลปะร่วมสมัยก็เหมือนกัน ศิลปะโบราณสมัยใดๆ มักจะมี pattern เดียวกันอย่างใดอย่างหนึ่งให้สังเกตได้ จนเอามาใช้คำนวณหายุคสมัยทางศิลปะได้ตามหลักวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ

ดังนั้น เมื่อพระเขมรสวมเทริด พระอโยธยาสวมเทริด พระอยุธยาก็สวมเทริดเรื่อยมา จนมาถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย เปลี่ยนไปใส่ชฎาแทน แล้วพระทรงเครื่องสมัยรัตนโกสินทร์ก็ใส่ชฎาตามกันมาหมด จึงเป็น pattern ที่เราเห็นว่า น่าเชื่อถือ เราก็เลยเชื่อไว้ก่อน

เพราะถ้าเอาแบบที่คุณวรณัยว่า คือมันไม่ได้เป็น pattern แบบนั้น อยู่ที่อารมณ์ศิลปินหรือคนที่สั่งให้ทำ อยากจะย้อนยุคก็ทำได้ ถ้าเป็นแบบนั้นเราว่าปวดหัวตายเลย เพราะจะคำนวณอายุโบราณวัตถุจากรูปแบบทางศิลปกรรมกันไม่ได้เลยน่ะซี่

แล้วก็ อย่างที่เราเคยโพสต์ไว้น่ะแหละ ไอเดียในการทำศิลปะย้อนยุคมันเป็นไอเดียของคนสมัยปัจจุบัน ซึ่งเพิ่งมาเกิดขึ้นหลังจากคนไทยเรารับวัฒนธรรมฝรั่งมาเต็มๆ สมัยร.๕ ถึงได้เกิดการจำลองแบบพระพุทธรูปสำคัญไว้ที่วัดเบญจมบพิตร (ซึ่งที่จริงมีเรื่องการเมืองเป็นนัยยะสำคัญอยู่มาก) และเกิดมีความนิยมเก็บสะสมโบราณวัตถุ ตามแบบฝรั่งกันเป็นการใหญ่ เรื่องเอาพระพุทธรูปเข้าบ้าน ก็มาทำกันจริงๆ จังๆ สมัยร.๕ นี่เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น ถ้าคุณวรณัยบอกว่า ร.๕ เป็นคนสร้างพระทรงเครื่องที่วัดตูมเลียนแบบพระพุทธนิมิต เราจะเชื่อมากกว่าที่คุณบอกว่าเป็นร.๔

ที่น่าคิดก็คือ ถ้าพระทรงเครื่องที่วัดตูมเป็นของใหม่ในสมัยร.๔ ที่สร้างเลียนแบบพระพุทธนิมิตจริง ทำไมฝีมือถึงได้หยาบอย่างงั้น เครื่องทรงเหมือนพระพุทธนิมิตก็จริง แต่หน้าตาทรวดทรงความประณีต เทียบกันไม่ได้ หยาบจนไม่น่าเชื่อว่าจะสร้างโดยช่างที่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ

หรือถ้าเป็นช่างสมัยร.๕ ก็ไม่น่าเป็นไปได้อีก ดูฝีมือการก๊อปฯ พระพุทธชินราชที่วัดเบญจมบพิตรซะก่อน เนี๊ยบอะไรจะขนาดนั้น

แล้วก็ เราไม่รู้ว่าคุณวรณัยพูดถึงพระที่วัดตูมองค์เดียวกับเราหรือเปล่า เพราะองค์ที่เราพูดถึงคือองค์ที่เปิดเศียรได้ องค์นั้นไม่ได้ใช้วิธีหล่อเครื่องทรงต่างหากแล้วประกบติดเข้าไปนะ (แต่ถ้าจะใช้วิธีนั้นก็ไม่แปลก เพราะทำกันมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายเป็นอย่างน้อย ไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่สมัยรัตนโกสินทร์)

สรุปก็คือ คุยกับคุณเราได้ความรู้เพิ่มขึ้นมาก บางอย่างอาจจะยังไม่เคลียร์ก็เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันศึกษาต่อไป อย่างน้อยคุณก็ทำให้เราสะกิดใจ และลองคิดนอกกรอบบ้าง แต่เราศึกษามาน้อย เลยคิดนอกกรอบไม่ค่อยเป็นเท่าไหร่ แต่จะพยายาม

ขอบคุณทั้งคุณวรณัยและคุณโพธิ์ประทับช้าง โดยเฉพาะรูปที่คุณเอามาโพสต์ในค.ห.๒๙ นั้นสวยมาก ดูแล้วเป็นสิริมงคลกับชีวิตจริงๆ

หนอนดาวเรือง



Create Date : 27 กรกฎาคม 2550
Last Update : 27 กรกฎาคม 2550 17:10:04 น. 7 comments
Counter : 19450 Pageviews.  
 
 
 
 
ที่นี้มีแหล่งโหลดภาพไหมค่ะ
 
 

โดย: เมย์ อุ๋ย เตย IP: 203.172.199.254 วันที่: 18 กันยายน 2550 เวลา:11:21:06 น.  

 
 
 
รูปสวยจัง
 
 

โดย: คิม IP: 202.29.54.60 วันที่: 2 กันยายน 2551 เวลา:15:13:31 น.  

 
 
 
สวยมาก
 
 

โดย: ส.ณ. ศิริศักดิ์ มะสีหา วัดหนอองแวง พระอารามหลวง จ.ขอนแก่น IP: 117.47.237.44 วันที่: 22 ธันวาคม 2551 เวลา:10:32:56 น.  

 
 
 
การศึกษาประวัติศาสตร์ทางศาสนา นอกจากจะทำให้จิตใจเบิกบานแล้ว ยังทำให้เรานึกถึงแนววัฒนธรรมculture
มีผู้คนมากมายเดินทางท่องเที่ยวเพื่อศึกษาวัฒนธรรมและวิถีการดำรงชีวิตของคนในท้องถิ่นต่างๆ
สิ่งที่ทำให้เจริญงอกงามแก่หมู่คณะ, วิถีชีวิตของหมู่คณะสืบมาจนปัจจุบัน
นิสิต จักรชัย อุ่นใจ , ชั้นปีที่ 4 MCU ท่าพระจันทร์
 
 

โดย: Jack' C Unchai IP: 124.122.10.60 วันที่: 6 มิถุนายน 2553 เวลา:11:51:13 น.  

 
 
 
เชิญชม //www.ayothaya amulet.com
 
 

โดย: เอ๋ อยุธยา IP: 180.180.99.68 วันที่: 27 เมษายน 2554 เวลา:19:42:37 น.  

 
 
 
ขอบคุณค่ะ


Best Deals TV on 2012
 
 

โดย: acarekung วันที่: 25 มีนาคม 2555 เวลา:16:30:22 น.  

 
 
 
ทำไมถึงสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องครับตามประวัติเคยมีช่วงไหนบ้างครับที่พระพุทธเจ้าแต่งตัวแบบนี้มันไม่ขัดกับหลักคำสอนหรอครับ
 
 

โดย: Roj IP: 49.230.137.102 วันที่: 3 สิงหาคม 2563 เวลา:19:43:51 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

วรณัย
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เวลาผ่านไป หัวใจยังคงเดิม
[Add วรณัย's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com