“..การศึกษาวิชามานุษยวิทยา มีจุดประสงค์ให้มนุษย์เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับมนุษยชาติทั้งมวล มนุษย์จะได้เข้าใจตนเองและเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เป็นพื้นฐานให้เกิดความเข้าใจอันดี และการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข...” สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ๒๕๓๗

<<
กรกฏาคม 2550
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
29 กรกฏาคม 2550
 

บทส่งท้าย พระพุทธรูปทรงเครื่อง มาจากไหน

เรียนคุณวรณัย

นึกว่าคุณจะไม่ตอบคำถามเราแล้ว แต่คุณก็ยังอุตส่าห์เข้ามาตอบ ขอบคุณที่ยังใส่ใจ

คุณเปรียบเทียบหลักสูตรประวัติศาสตร์ศิลปะว่าเป็นบะหมี่สำเร็จรูป เราไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ คือโดยผิวเผินมันก็อาจจะเหมือนสูตรสำเร็จ แต่มันคือบรรทัดฐานที่ได้มาจากการพิจารณาจาก "สหสาขาวิชา" ที่คุณพูดถึงเหมือนกัน

ต่อไป แนวความคิดของคุณอาจจะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของประวัติศาสตร์ศิลปะเมืองไทยก็ได้ บรรทัดฐานที่ไม่สนใจในเรื่องของประเพณี วัฒนธรรม การสืบเนื่องทางแนวความคิด การปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรมและการลอกเลียนแบบระหว่างวัฒนธรรมหนึ่ง ไปสู่อีกวัฒนธรรมหนึ่ง สนใจแต่เรื่องเสรีในความคิดและรสนิยมด้านศิลปกรรมของมนุษย์ ซึ่งไม่ขึ้นกับยุคสมัย และพัฒนาการทางอารยธรรม

แม้แต่ฝรั่งที่มาถึงจุดสมบูรณ์ในเสรีและรสนิยมทางศิลปะในปัจจุบัน ก็ยังต้องผ่านพัฒนาการและขั้นตอนแบบที่คุณเห็นว่าเป็นบะหมี่สำเร็จรูป คือศิลปะกรีก โรมัน เมดีวัล เรอเนสซองส์ บาโร๊ค โรโคโค คลาสสิค โรแมนติก อิมเพรสชั่นนิสม์ เซอเรียลลิสม์ ฯลฯ กว่าจะมาถึงยุคของแอ็บสแทร็คท์ที่ศิลปินสามารถเลือกวิธีการสร้างงานศิลปะได้เสรีสุดๆ

เช่นเดียวกัน เทวรูปกรีกแสนสวยไม่อาจจะถือกำเนิดขึ้นมาได้เลย ถ้าช่างกรีกไม่ได้เทวรูปที่แข็งทื่อของอียิปต์เป็นครู

งานศิลปะในสมัยโบราณ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ใช่งานศิลปะที่ศิลปินภูมิใจนำเสนอต่อสังคมอย่างมีเสรี แต่เป็นงานศิลปะในศาสนา เมื่อเป็นศิลปะในศาสนา ก็จะโดนกฎเกณฑ์หรือรูปแบบที่เป็น "ประเพณี" เข้ามาบังคับทันที

แล้วประเพณีที่ว่านั้นมาจากไหนล่ะ คำตอบก็คือก๊อปมาจากอารยธรรมที่เหนือกว่า เจริญกว่า หรือมีอำนาจมีอิทธิพลมากกว่า

ของธรรมดา พอมีใครทำอะไรดีๆ ไว้ ก็ต้องมีคนก๊อปฯ ถ้าก๊อปฯ ไร้ฝีมือก็เสื่อมไป ถ้าก๊อปฯ แบบมีฝีมือ ก๊อปฯ ไปนานๆ เข้าชักเบื่อ นิสัยช่างน่ะคุณ มันก็ต้องหาหนทางแตกแขนงทำอะไรใหม่ๆ ออกไป แต่พื้นฐานมันจะสอดคล้องกับของเก่า และมีพัฒนาการให้เห็นเป็นขั้นเป็นตอนเสมอ

ไม่ใช่จู่ๆ นึกจะทำอะไรขึ้นมาก็ทำมันซะงั้น โดยเฉพาะพระพุทธรูปองค์หนึ่งนี่นะ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ กว่าจะสร้างขึ้นมา มันมีตัวแปรตั้งเยอะเข้ามาเกี่ยวข้อง คุณไม่สามารถสร้างพระขึ้นมาให้เป็นแบบไหนก็ได้ตามใจคุณโดยไม่ถูกกำหนดกฎเกณฑ์จากคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรอก

นี่อธิบายกว้างๆ เพื่อให้คุณเข้าใจวิธีคิดของเรา เป็นวิธีคิดที่ดีหรือไม่ ไม่ทราบ

ทีนี้จะขอแสดงความสงสัยต่อไปอีกเป็นบางข้อ

-วิหารวัดธรรมิกราช ต่อให้สร้างสมัยรัตนโกสินทร์นี่เองก็ไม่เห็นแปลก เพราะถ้าของเดิมสร้างมาตั้งแต่ก่อนอยุธยาแล้วมันพังไปแล้วน่ะ คุณไม่คิดจะซ่อมใหม่มั่งเลยเหรอ

-แล้วคุณจะกำหนดอายุหลวงพ่อหน้าแก่จากวิหารที่สร้างใหม่ล่าสุดได้ไงล่ะ ถ้าอย่างงั้นพระรอดที่วัดมหาวัน จ.ลำพูนก็ใหม่หมดสิ เพราะวิหารของวัดนั้นเพิ่งสร้างใหม่เมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีมานี้เอง

-แล้วเราดูยังไงๆ หลวงพ่อหน้าแก่ก็ไม่เหมือนพระปูนปั้นสมัยพระเจ้าบรมโกศองค์นั้นเลย

-การพบหลวงพ่อหน้าแก่เฉพาะเศียร ไม่ใช่เรื่องแปลก วัดนั้นร้างไปตั้งนานแล้วก่อนที่จะมีใครไปขุด ในทำนองเดียวกัน หากเป็นของอยุธยาปลายอย่างคุณว่า ทำไมเจอแต่พระเศียรล่ะ

-เรื่องพระเจ้าสายน้ำผึ้งสร้างวัดพนัญเชิง บอกจริงๆ เราก็ไม่เชื่อ เพราะฉะนั้นถ้าเอาแค่พงศาวดารเหนือเป็นหลัก ซ.ต.พ.ไม่ได้หรอกว่าวัดพนัญเชิงเก่ากว่าอยุธยา คุณต้องเอาหลักฐานทางโบราณคดีมาจับ

-ทำยังไงน่ะเหรอ ไปขุดแต่งที่นั่นสิ ขุดลงไปดูชั้นดินดูแนวการสร้างของเดิม การต่อเติมใหม่ ดูวิธีเผาอิฐ แล้วไปเทียบจากโบราณสถานในเกาะเมืองอยุธยา แค่นี้คุณก็รู้แล้วว่าใครเก่าใครใหม่

...แหม ใครจะไปเอาแค่ศิลปะมาเป็นตัวกำหนดล่ะ การจะพูดว่าอะไรเก่าอะไรใหม่ มันต้องใช้สหวิชาอย่างที่คุณว่าน่ะแหละ แล้วคุณอย่าบอกอีกนะว่าหลักวิชาโบราณคดีที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้น่ะมั่ว เพราะถ้าหลักวิชาโบราณคดีที่สอนกันอยู่ทุกวันนี้มั่ว โลกนี้ก็ไม่มีมาตรฐานใดๆ อีกต่อไป

-เรื่องพระอจนะวัดศรีชุม เอาอย่างงี้นะ เรารู้จักลุงคนที่ปั้นหน้าพระองค์นั้นด้วย และเราก็รู้ว่า ที่กรมศิลป์บอกว่าพระองค์นั้นเป็นศิลปะสมัยพญาลิไท (ตั้งแต่เมื่อไหร่?) เขาบอกจากโครงเดิมก่อนที่ตาลุงคนนั้นจะไปปั้นหน้าให้ใหม่

-ลุงสด คนปั้นพระที่ซ่อมพระพุทธรูปใหญ่ๆ จำนวนมากในสมัยสุโขทัย รวมถึงพระอัฎฐารสด้วย ฝีมือแกทั้งนั้น อย่าไปคิดว่าหน้าตาพระสุโขทัยที่คุณเห็นมาหลายองค์น่ะเป็นของเก่าถึงสุโขทัยนะ โครงเดิมน่ะใช่ แต่หน้า,มือ หรือองค์พระ หลายองค์ซ่อมใหม่ แต่องค์ที่ไม่ซ่อมก็มี เช่นพระลีลาที่วัดพระศรีมหาธาตุเชลียง ยังฝีมือเดิมๆ

-ถ้าพระนเรศวรเป็นผู้สร้างพระพุทธชินราชจริงๆ ก็ดี กลัวแต่ว่าท่านจะไม่มีเวลาสร้าง เพราะสมัยท่านท่านทำสงครามตลอด ถ้าคุณบอกว่าพระเอกาทศรถสร้าง ยังน่าเชื่อกว่า

-เรื่องกรมศิลป์แอบบูรณะพระยืนที่วัดใหญ่ชัยมงคลให้เป็นพระนั่ง เพราะกลัวทฤษฎีเก่าถูกทำลาย สนุกดี ฟังมาจากไหนเหรอ เพิ่งรู้ว่ามีแบบนี้ด้วย ที่เราเคยรู้มามีแต่บูรณะชุ่ย แต่ไม่เคยรู้ว่ามีศรีธนญชัยอยู่ในกรมศิลป์เก่งขนาดจับพระยืนไปสร้างใหม่ให้เป็นพระนั่งได้ เพียงเพื่อสนอง Ego ของตนเอง ยังกับกรมศิลป์เองจะได้ประโยชน์จากการทำอย่างงั้นแน่ะ

-ที่จริงทฤษฎีทางประวัติศาสตร์ศิลปะจะเป็นยังไงกรมศิลป์เขาคงไม่ไปได้ประโยชน์จากตรงนั้นหรอกนะ เพราะแค่ขนาดจะซ่อมให้ได้ตามรูปแบบเดิมนี่ เขายังปวดเศียรเวียนเกล้ากันจะแย่แล้ว ต้องสันนิษฐานและตรวจสอบแบบเดิมกันจนแน่ใจแล้วว่าเป็นยังไงน่ะแหละถึงค่อยลงมือซ่อม

แต่ไอ้ที่ซ่อมชุ่ยก็มี คือโยนให้บริษัทรับเหมาไปทำ แต่ก็ไม่เคยเห็นว่าจะมีที่ไหนเฉียบถึงขนาดแปลงพระยืนให้เป็นพระนั่ง แพงนะคุณ ทำอย่างงั้นน่ะ ไม่ได้ประหยัดค่าซ่อมขึ้นมาเลย ไม่มีใครได้อะไรเลย

-หลวงพ่อศิลาเป็นวัชรสัตว์พุทธะของเขมร อันนี้เราไม่แน่ใจนะ ไม่ใช่พระอาทิพุทธะหรือพระอมิตาภะเหรอ ความจริงเราว่าพระนาคปรกเนี่ยคือพระศรีศากยมุนีพุทธเจ้าด้วยซ้ำ เพราะมหายานเขมรเขานิยมใช้พระพุทธรูปปางนาคปรกเป็นตัวแทนของพุทธภาวะที่สมบูรณ์ภายหลังตรัสรู้ ถ้าประกอบเป็นรัตนตรัยมหายาน คือพระพุทธรูปนาคปรกอยู่กลาง มีพระอวโลกิเตศวรข้างหนึ่ง พระนางปรัชญาปารมิตาอีกข้างหนึ่ง ก็เข้าหลักปรัชญามหายานคือความเป็นพุทธะที่สมบูรณ์ประกอบด้วยเมตตาบารมี (พระอวโลกิเตศวร) และปัญญาบารมี (พระนางปรัชญาปารมิตา)

-สุโขทัยภายใต้การปกครองของอยุธยา คือแหล่งอุตสาหกรรมผลิตเครื่องสังคโลกสำหรับส่งออก ศิลปะยังคงมีเหลือต่อมาแน่นอน อย่างพระอิศวรเมืองกำแพงเพชรนั่นก็ใช่ แต่ก็ไม่ได้เจริญรุ่งเรืองมาก เพราะเจอสงครามด้วย แล้วก็มีการย้ายเมืองมีการอพยพผู้คนกันหลายยุคหลายสมัย นานเข้าก็เสื่อมไป

-เรื่องเทวรูปในหอเทวาลัยมหาเกษตร ขนาดมีจารึกวัดป่ามะม่วงอยู่คุณยังไม่เชื่อเลยน่ะ ไม่รู้จะว่ายังไงแล้ว สร้างหอเทวาลัยทั้งที คงหล่อได้แค่เทวรูปองค์ประมาณ ๑ คืบมั้ง ที่เห็นในพิพิธภัณฑ์นั่นน่ะมาสร้างสมัยร.๕ นี่ล่ะสิ ถ้างั้นน่ะ... ไม่ใช่ว่าอะไรๆ ก็จะยกให้พญาลิไทหมดหรอก ยกให้เฉพาะที่มีหลักฐานเจ๋งๆ ว่าท่านทำจริงๆ เท่านั้น

-เทวรูปสำริดในอีสาน เจอนิดเดียวเอง แต่พระโพธิสัตว์สำริดที่ปราสาทปลายบัด อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ เจอตั้ง ๓๐๐ กว่าองค์แน่ะ ทุกวันนี้วัดต่างๆ ในอีสานเวลาทำพระเครื่อง ก็ยังได้ชนวนที่เป็นเทวรูป,พระโบราณที่ทำด้วยสำริดจากชาวบ้านที่ขุดเจออยู่บ่อยๆ ตัวอย่างเช่นหลวงปู่หงษ์ ที่จ.สุรินทร์ สร้างพระทีไร ได้เทวรูปเก่าสมัยขอมมาเป็นมวลสารทุกครั้ง

-แขกมัวร์เข้ามาในอยุธยาตั้งแต่สมัยพระนเรศวร แขกจามก็มีอยู่แล้วในอยุธยาตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ คงไม่ต้องรอให้ถึงสมัยพระนารายณ์หรอกที่จะให้ศิลปะอาหรับเข้ามาปะปนกับศิลปะไทย

-พระหินขนาดใหญ่ ทวารวดีก็ทำไว้ อย่างพระนอนที่เมืองเสมา อ.สูงเนิน นครราชสีมา ใหญ่มากๆ

คุยกับคุณสนุกมาก แต่ตอนนี้ดูเหมือนจะเหลือแต่เรากับคุณคุยกันอยู่สองคน จขกท.เค้าก็คงไม่เข้ามาอ่านแล้วมั้ง คุณโพธิ์ประทับช้างก็คงเลิกเอารูปมาโพสต์แล้ว เพราะสองคนนี่เถียงกันไม่จบซักที ถ้างั้นเอาไว้เราไปเจอกันในกระทู้อื่นๆ ใหม่ๆ ดีมั้ย จะได้แลกเปลี่ยนกันเรื่องอื่นๆ มั่ง มันส์ดี

ป.ล.ไม่ค่อยเห็นคุณเข้าไปโพสต์ในกระทู้ใหม่ๆ เลย

หนอนดาวเรือง


เรียน คุณหนอนดาวเรือง
- ผมว่าหลวงพ่อหน้าแก่ไม่ได้ส้รางก่อนสมัยอยุธยา อาจจะสร้างในสมัยพระเจ้าปราสาททองหรือพระนารายณ์ก็ได้ครับ อิทธิพลเขมรหน้าบึ้งไงครับ
-หลักฐานการซ่อมพระ สมัยร 4 และจอมพล ป.ก็มีครับ
- การขุดค้นแบบโบราณคดีวัดพนัญเชิงก็ไม่พบฐานหรือ Artifact อะไรนานไปกว่าอยุธยาตอนกลางครับ
- การหาหลักฐานข้างเคียง ก็ Oral Historical และ ธรณีสัญฐาน มันก็ค้านไปในตัวแล้ว
- มาตรฐานเป็นแนวทางเบื้องต้นครับ เหมือนกับเรียนปริญญาตรี รายละเอียดต้องสังเคราะห์ชิ้นต่อชิ้นแล้วค่อยเชื่อมโยงบริบทครับ
- การขุดค้นทางโบราณคดี เพิ่งใช้สหสาขาไม่นานนี้ เฉพาะนักมานุษยวิทยากายภาพมีอยู่ไม่เกิน 3 คน แพทย์และนักวิทยาศาสตร์แขนงอื่นๆ เพิ่งได้ร่วมไม่นานนี้เอง
- แต่ก่อนวิชาโบราณคดี ก็คือวิชาท่องจำประวัติศาสตร์ศิลป์ครับ
-ที่ผมรู้จัก คือ"ทิดโหน่ง"ครับ ที่ปั้นหน้าพระสุโขทัยแทบทุกองค์ หรือจะคนละคนกันครับ
- พระลีลาที่วัดมหาธาตุเชลียง ที่กริสโวดส์ บอกว่าเป็นหน้าพ่อขุนรามน่ะหรือครับ คือหน้าพระสุโขทัย ผมตีเป็นพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศฐ์ในครั้งบูรณะใหญ่วัดเชลียง พระลีลาองค์นี้ปั้นติดกับแผ่นหลัง ฐานมุขขยายออกมาจากฐานชุกชีเดิมของ"สุโขทัย"แท้ ๆ เนื้อปูนก็หยาบมีเม็ดทรายผสมแล้ว ปูนปั้นพุทธประวัติด้านบนปรางค์ก็หลุดร่วงลงเกือบหมด
- พระยืนครั้งตัวที่ฐานเก่า เป็นสุโขทัยรุ่นคลาสลิค ยังฝังอยู่ใกล้ ๆ จากการเสริมพื้นบูรณะ
- ผมเขียนเรื่องพระลีลากริสโวดส์องค์นี้เล็ก ๆ ใน Blog
//www.oknation.net/blog/voranai/2007/07/25/entry-1 ครับ
- รูปเก่าหน้าพระในเมืองสุโขทัยส่วนใหญ่พังหมด เหมือนถูกทุบหาของ มีรอดอยู่เต็มหน้าก็ที่วัดมหาธาตุ จึงกลายเป็นต้นแบบปั้นบูรณะใหม่พระอัฐฐารสยืนทั่วสุโขทัย
- พระอัฐฐารสยืน มีท้งมีมณฑปครอบและไม่มีมณฑปครอบ ก็ปั้นเหมือนกันหมด เลยกลายเป็นเมืองพญาลิไทกันไปหมด และอายุของพระอัฐฐารสยืนจะต้องอยู่ในสมัยเดียวกันหรือเปล่า
- พระนเรศวรมีสงครามตลอดแล้วสร้างพระไม่ได้หรือครับ เคยได้ยินเรื่องที่ผู้นำควาคิดท้องถิ่นเขาเล่ากันเรื่องพระบ้านกร่างไหมครับ
- พระบ้านกร่างคือพระนเรศวรสร้าง จึงมีพุทธศิลป์เช่นเดียวกับพระพุทธชินราช
- พระเครื่องในยุคใกล้เคียงหรือก่อนหน้าไม่มีใครสร้างไว้ ที่มีซุ้มเรือนแก้วเช่นพระพุทธชินราช
- ซุ้มเรือนแก้วพระพุทธชินราชเป็นไม้สลัก ทำไมหล่อโลหะไม่ได้ ก็เพราะเทคโนโลยีการหล่อโลหะขนาดใหญ่ในยุคพระนเรศวรก็ยังไม่ทันสมัยมากนัก
-ไม้ที่ใช้สลักเรือนแก้วอยู่ได้นานขนาดนั้นเลยหรือครับ ถ้าไปสร้างในสมัยสุโขทัย
- นี่แหละะครับที่ผมเรียกว่า Oral Historical สหสาขาวิชาที่ประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดรุ่นเก่า ๆ ไม่รู้จัก
-เรื่องพระยืนมานั่งที่วัดใหญ่ชัยมงคล ไม่ได้ฟังใครเล่าครับ หาจากภาพเก่า ๆ ดูนะครับ ผมเห็นภาพนี้"ชัดเจน"จากอาจารย์บางท่านที่อยู่คนละข้างกับประวัติศาสตร์กระแสหลักครับ
-ศรีธนัญชัยมีเต็มกรมแหละครับ เอาใจเจ้าเอาใจนาย เชลียร์ราชวงศ์กันโดยทั่วหน้า
- เรื่องซ่อมพระ เขาทำตามคติ"ชาตินิยม"ของผู้ปกครองในสมัยจอมพล ป. ครับ สุโขทัยต้องเรียงมาอยุธยา งบประมาณในยุค 2500 มหาศาลนะครับ จอมพลสฤษดิ์ไงครับ นี่ไงครับผลประโยชน์
- พระนั่งสร้างขึ้นใหม่จากกองอิฐ ที่รื้อแกนพระยืนง่ายกว่าครับ โบราณสถานส่วนใหญ่มันพังลงมากองหมดแล้วครับ ถ้าคุณหนอนพอจะเคยเห็นสภาพก่อนการบูรณะและหลักบูรณะ จะเข้าใจมากกว่านี้
- คุณหนอนไม่เข้าใจเรื่องพัฒนาคติความเชื่อที่เป็นสหสาขาวิชาครับ รูปพระที่ทรงเครื่องมงกุฏ และกรองพระศอ คือพระวัชรสัตว์ "ราชา"แห่งตถาคตครับ ไม่ใช่มหายานนะครับ วัชรยานครับ และพระอมิตาภะ เป็นธยานิพุทธะของอวโลกิเตศวร ถ้าแยกมาต่างหากจะเป็นสมาธิแต่ไม่ทรงเครื่องกษัตริย์
ส่วนนาคปรกเป็นศิลปะครับ
- วัชรยานตันตระเขมรไม่เคยใช้ พระศากยมุนี เป็นของมหายานครับ เช่นเดียวกับรูปที่คุณหนอนเอามาให้ดูนะครับ นั่นก็คือพระพุทธรูปในลัทธิวัชรยานตันตระครับ ไม่ใช่มหายาน
- พระพุทธเจ้ากลางรูป 3 นั่นอาจจะเป็นพระไถษัชยคุรุไวทูรยประภา ซ้ายเป็นอวโลกิเตศวรหรือ พระอาทิตย์ ขวาเป็นนางปรัชญา หรือพระจันทร์ เป็นศักติหรือพลังเบื้องบนและหลังครับ
- พระตรงกลางมีความหมายถึงราชาแห่งตถาคตก็คือพระวัชรสัตว์
- หรือตรงกลางคือพระอมิตาภะ หากไม่ใส่มงกุฏ แทนความหมายของพระพุทธเจ้าในกัลป์นี้ อาจะคล้ายหรือมีความหมายเดียวกัยพระศากยมุนี แต่ไม่ใช่ศากยมุนีของมหายานครับ
- ศาสนาของเขมรไม่ใช่มหายานนะครับ
- คุณยังไม่เข้าใจเรื่องคติศาสนาในยุคต้นของสุโขทัยเลย ไม่รู้จักพระวัชรสัตว์พุทธะ คุณกำลังไปเอาพระธยานิพุทธ ทั้ง 5 หรือ 6 ที่เรียกว่ามหาไวโรจนะ มาปนครับ
- อิทธิพลคติการสร้างรูปเคารพก่อนสมัยและยุคต้นสุโขทัยมาจากเขมรพระนครล้วน ๆ ครับ ถ้ายังแยก มนุษยพุทธะแบบวัชรยานไม่ได้ ก็จะไม่เข้าใจศิลปะที่เกิดจากคติปรัชญาศาสนาครับ ตรงนี้แหละครับคือจุดอ่อนของประวัติศาตร์ศิลปะอีกข้อหนึ่ง
- ในแผนที่ชาวต่างประเทศทุกสมัยจนถึงปลายกรุงศรีอยุธยา ก็มีภาพเมืองสงฆโลกและสุโขทัยอยู่ชัดเจนครับ ไม่ได้หายไปไหนนี่ครับ ประวัติศาสตร์ศิลป์และโบราณคดียุคก่อนต่างหากที่พยายามลบให้หายไป เพราะกลัวจะเรียงแถวศิลปะไม่ได้ต่างหากครับ
- พระอิศวรเมืองกำแพงเพชร ทำไมยังอยุ่ที่ศาลพระอิศวรแหละครับ เพราะเมืองกำแพงกลายมาเป็นป้อมแบบฝรั่งในยุคกลางถึงปลายกรุงศรีอยุธยา
- สุโขทัยก็เป็นเมืองป้อม
- รูปพระอิศวรดูจะรับกับศิลปะที่คลี่คลายมาจากสุโขทัยแท้ๆ ที่รับเขมรมาด้วยซ้ำ ในขณะที่เทวรูปที่หอเกษตร กลับมีเครื่องประดับและการแต่งกายที่ได้รับอิทธิพลจากภายนอกภูมิภาค เทคนิคการหล่อก็ทันสมัยกว่า
- นั่นสิครับ สมัยพญาลิไท สร้างสุโขทัย ก็ควรยกเป็นมหาราชมากกว่า พ่อขุนรามสิครับ แล้วสุโขทัยก็หยุดสร้างทั้งหมด ในสมัยนี้ใช้ไหมครับ เพราะบังเอิญจารึกมันไม่ได้เขียนต่อไว้นี่ครับ แล้วถ้าจารึกบอกว่าสุโขทัยมีอาณาเขตขนาดนั้น ก็ต้องเชื่อใช่ไหมครับว่าขนาดนั้น
- เทวรูปในหอเกษตร จารึกบอกไหมครับว่าสร้างกี่องค์ขนาดเท่าไหร่ ยุคหลัจะมาสร้างให้ใหญ่ขึ้นนี่ ผิดใช่ไหมครับ เพราะจารึกบอกอย่างไรต้องเป็นอย่างนั้น
- หอเกษตรที่สร้างนั้นสร้างสมัยเดียวกับจารึกแน่หรือครับ ไม่ได้สร้างในสมัยหลังตรงหอเกษตรเดิมที่ทรุดโทรมลง

- ที่ปลายบัด เป็นกรุครับ ส่งออกไปขายกับนักสะสมก็มาก แล้ว 300 องค์จากหลักฐานบอกเล่าของชาวบ้านใช่ไหมครับ มีไม่เยอะขนาดนั้นหรอกครับ
- นั่นก็พระศิลปะเขมรไงครับ หลักฐานก็ฟ้องแล้วว่า เขมรสร้างพระสำริดเก่ง
- หรือคุณหนอนลืมเอาแผนที่ประเทศไทยปัจจุบันไปแยกเขมรกับประเทศไทยล่ะครับ
-ก็ยุคนั้นตรงนั้นมันเป็นเขมรโบราณครับ ปราสาทหินมากมายก็เห็นอยู่
- เห็นไหมครับเขมรเก่งเรื่องโลหกรรมจะตาย จากหลักฐานของคุณหนอนเองนั่นแหละครับ
- แขกมัวและแขกจาม ไม่ใช่แขกอาหรับครับ คนละแขกกัน
-ใช่ครับ พระนอนหินทรายที่เมืองเสมา เอาหินมาต่อเป็นชิ้น ๆ ส่วนหัว ที่ลำตัวสลักเอาจากหินที่เป็นพื้นครับ ไม่ยกตั้ง
- ส่วนจะเป็นทวารวดีหรือเปล่านั้น เป็นประเด็นอีกแล้ว เพราะคติพระนอนผมไม่เห็นว่าทวารวดีชอบทำ เห็นแต่พระนอนหินทรายที่เขาพนมกุเลนและพระนอนที่ปราสาทบาปวนที่มีขนาดใหญ่แต่เป็นของบายนลงมา
- ทวารวดีไม่มีคติพระนอน เช่นลังกาวงศ์หรือวัชรยาน หรือมีหว่า

- ทราบข่าวว่า คุณโพธิ์ติดเรียนหรือทำวิทยานิพนธ์ประวัติศาสตร์ศิลป์หนักอยู่ที่คณะโบราณคดีอยู่ครับ

-ก็ขอขอบคุณคุณหนอนเช่นกันครับ ที่กรุณามาเป็นเพื่อนคุย
ผมเขียนเรื่องราวในแนวคิดของนักมานุษยวิทยาไว้ที่ Blog ตามเรื่องพระลีลานั้นนะครับและ นำเรื่องที่คุณหนอนกับผม Post ในกระทู้นี้ ไปเก็บไว้ที่Bloggang
//www.bloggang.com/viewdiary.php?id=voranai&month=07-2007&date=27&group=7&gblog=4 นี้ครับ เพราะหากกระทู้ถูกลบไป ผมจะได้มีข้อมูลการโต้แย้งเช่นของคุณหนอนเป็นตัวอย่างไว้ดู ไว้ศึกษากระบวนการคิด หากมีโอกาสไปพบกับ"ประเด็น" ต่างๆ เหล่านี้ในที่อื่น ๆ ครับ
-ขอบคุณครับ ผมยังไม่พบกระทู้ถูกใจ เพราะหลายกระทู้ ไม่มีคนที่มีสติในการโต้แย้งเช่นคุณหนอนมากพอ ส่วนมากก็สติแตก เบี่ยงประเด็นไปมา ยอกย้อนจนปวดหัวที่จะจับเนื้อหาตรงจุดมาพูดคุยกันได้

วรณัย




 

Create Date : 29 กรกฎาคม 2550
0 comments
Last Update : 29 กรกฎาคม 2550 15:37:22 น.
Counter : 1860 Pageviews.

 

วรณัย
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เวลาผ่านไป หัวใจยังคงเดิม
[Add วรณัย's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com