อาทิตย์สาดส่อง..ความจริงจักปรากฎทั่วปฐพี!!!
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2554
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
4 สิงหาคม 2554
 
All Blogs
 

อุดมการณ์"สื่อ"2

อุดมการณ์สื่อ Saga: สืบสวนกันเอง
Sun, 05/06/2011 - 07:12 — ใบตองแห้ง


เผลอแป๊บเดียว ผ่านวันงดสูบบุหรี่โลกมาอีกปีแล้ว ขอโทษที ไม่รู้ตัวเลย เพราะผมไม่ได้สูบบุหรี่โลก ผมซื้อบุหรี่สูบของผมเอง (มุขเก่า)


ดีใจด้วยนะครับที่สถิติคนสูบบุหรี่ลดลง จาก 12.26 ล้านในปี 2534 เหลือ 10.91ล้านในปี 2552 (ลดลงตั้ง 1.35 ล้านคนใน 18 ปี หลังจากก่อตั้ง สสส.มาได้ 10 ปี) แต่น่าประหลาดใจที่เยาวชนอายุ 11-24 ปีสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นจาก 1.6 ล้านในปี 2550 เป็น 1.7 ล้านในปี 2552


เปล่า ผมไม่ได้ประหลาดใจตรงตัวเลขเพิ่มขึ้น ผมประหลาดใจที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวโดยใช้เกณฑ์อายุเด็ก 11-24 ปี ทั้งที่ควรจะแยกกัน เช่น อายุเกิน 20 เกิน 18 เด็ก ม.ต้น เด็ก ม.ปลาย เด็กมหาลัย


อย่างน้อย ผู้อายุเกิน 20 คุณก็อนุญาตให้เขาซื้อบุหรี่ได้ คุณควรแยกสถิติด้วยสิครับ อย่าตีขลุม


ในวิชาชีพข่าว วิธีแถลงข่าวแบบนี้เราเรียกว่าตีปี๊บ เพื่อสร้างความตระหนกตกใจ สร้างจุดขาย ให้สังคมแตกตื่นว่า โห เด็กอายุ 11 สูบบุหรี่เพิ่มขึ้น ทั้งที่ความจริงตัวเพิ่มมันอาจอยู่ที่เด็กมหาลัยอายุ 18 ปีขึ้นไป หรือพวกที่เรียนจบทำงานแล้ว อายุ 22-24 ซึ่งไม่ควรเรียกว่าเยาวชน เพราะเขาบรรลุนิติภาวะทำมาหากินเองได้แล้ว


จำได้ไหมครับว่าเมื่อปลายปีที่แล้ว เคยมี “แหล่งข่าวกรมควบคุมโรค” ออกมาให้ข่าวโดยไม่ระบุชื่อว่า “สำนักระบาดวิทยาได้สำรวจพฤติกรรมสุขภาพในนักเรียน พบผลสุดอึ้ง เด็กหญิง ม.2 สูบบุหรี่เกือบ 80% ส่วนเพศชายพกอาวุธถึง 23.7% ขณะที่ นร.อาชีวะชายนิยมกัญชา”


เนื้อข่าวบอกว่า สำนักระบาดวิทยาได้สำรวจพฤติกรรมสุขภาพในนักเรียนด้วยคอมพิวเตอร์มือถือ ปี 2552 จำนวน 51,110 คน ในกลุ่มนักเรียนอาชีวศึกษาปีที่ 2 นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 5 และนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 2 จากโรงเรียนใน 24 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่านักเรียนที่มีประสบการณ์ใช้สารเสพติดประเภทกัญชา เป็น นร.อาชีวศึกษาชั้นปีที่ 2 เพศชาย มีอยู่ร้อยละ 23.6 ส่วน นร.ชั้น ม.5 เพศชาย มีอัตราการใช้กัญชาอยู่ที่ร้อยละ 13.7 ขณะที่ นร.ชั้น ม.2 ชายพบใช้สารเสพติดประเภทกระท่อมมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 5.4 ส่วนพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ส่วนมากเป็น นร.อาชีวศึกษาชั้นปีที่ 2 เพศชาย สูบทุกวันร้อยละ 57.2 เพศหญิงสูบร้อยละ 23.2 ขณะที่ นร.ชั้น ม.5 เพศชายพบร้อยละ 41.4 ทั้งนี้ ยังมีรายงานจำนวนผู้สูบบุหรี่ที่สูบเป็นบางวันพบใน นร.ชั้นม.2 เพศหญิงมากที่สุด พบถึงร้อยละ 78.8 รองลงมาเป็น นร.ชั้นม.5 เพศหญิงร้อยละ 61.8


สำหรับการแสดงความรุนแรง พบว่า ในรอบ 12 เดือนเคยพกอาวุธ นร.อาชีวศึกษาชั้นปีที่ 2 เพศชายร้อยละ 32.9 นร.ชั้น ม.5 เพศชายร้อยละ 24 นร.ชั้น ม. 2 ชายร้อยละ 23.7 นร.อาชีวศึกษาชั้นปีที่ 2 หญิงร้อยละ 11.7


โห อะไรมันจะขนาดนั้น ถ้าผลสำรวจนี้เป็นจริง ประเทศชาติพินาศฉิบหายแน่นอน ตัวเลขเยาวชนสูบบุหรี่คงไม่ใช่แค่ 1.7 ล้านคน


สามัญชนคนธรรมดาลองเอาหัวแม่เท้าตรองดูก็ได้ ไม่ต้องใช้สมอง ไม่ต้องใช้สามัญสำนึก ว่าข่าวนี้เชื่อถือได้หรือเปล่า แต่สื่อไทยไม่ใช้กระทั่งหัวแม่เท้า พากันพาดหัวว่า “อึ้ง! เด็กหญิง ม.2 สูบบุหรี่เกือบ 80%”


นี่มัน “ข่าวเต้า” ชัดๆ แต่ “แหล่งข่าว” ในกรมควบคุมโรคปล่อยออกมาโดยไม่รับผิดชอบ สื่อก็ตีข่าวโดยไม่รับผิดชอบ เพราะคิดว่ามันจะเป็นผลดีต่อศีลธรรมต่อการเข้มงวดพฤติกรรมเด็ก


ฉะนั้นคำถามก็คือตัวเลขคนสูบบุหรี่ ตัวเลขเพิ่มลด ของกระทรวงสาธารณสุขและ สสส.เอามาจากไหน เอามาจากบริษัทบุหรี่หรือครับ หรือเอายอดขายบุหรี่มาคำนวณเอง แล้วคนสูบยาเส้นล่ะ ไม่รู้หรือว่าตั้งแต่ขึ้นราคาบุหรี่มาหลายรอบเนี่ย บุหรี่มวนเองทั้งแบบใช้เครื่องมวนใช้มือมวน ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า


ที่แน่ๆ คือ สสส.ซึ่งมีรายได้จากส่วนแบ่งจากภาษีเหล้าบุหรี่ 2% ตระเตรียมจะขยับขยายสำนักงานโดยไปซื้อที่ดินใหม่แถวๆ คลองเตย จากเดิมที่คิดว่าจะตั้งสำนักงานชั่วคราว คนไทยส่วนใหญ่เลิกเหล้าบุหรี่เมื่อไหร่ก็ยุบ สสส.เมื่อนั้น ฉะนั้น ซตพ.เหล้าบุหรี่จะอยู่ยั้งยืนยงไปชั่วกัลปาวสาน


ตรงนี้ขอนอกเรื่องซักนิดนะครับว่า สสส.คือองค์กรแรกที่ไม่ใช่ส่วนราชการ ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ ไม่ใช่ NGO (แล้วเป็นตัวอะไรหว่า) ซึ่งมีงบประมาณแน่นอน โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของรัฐบาลและรัฐสภา จากนั้นก็มีองค์กรประเภทนี้ตามมาเป็นพรวนอย่างที่เขียนไว้แล้ว ได้แก่ TPBS, สสค.หรือ สสส.การศึกษา, กองทุนสื่อสร้างสรรค์ ซึ่งมีเค้กเป็นของตัวเองจากส่วนแบ่งภาษีบาป หรือภาษีโทรคมนาคมที่ กทช.เก็บมา


กสทช.ที่กำลังยุ่งเหยิง ฟ้องร้องนัวเนียเรื่องการสรรหาก็เหมือนกัน องค์กรนี้จะมีรายได้ 2% จากภาษีโทรคมนาคม เป็นเค้กก้อนใหญ่ที่สุด มากกว่า สสส.หลายเติบ ฉะนั้นอย่าแปลกใจที่ใครๆ ก็แย่งกันเป็น


ล่าสุดยังจะมีองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภคอีกนะครับ ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ว่ารัฐบาลต้องอุดหนุนงบตามรายหัวประชากร ไม่น้อยกว่า 5 บาทต่อคน (60 ล้านคนก็ 300 ล้านบาท-องค์กรนี้ถ้าตั้งขึ้นมาแล้วคุณสารี อ๋องสมหวัง ไม่ได้เป็นเลขาธิการละก็ น้ำท่วมฟ้าปลากินดาว)


ผมไม่ได้ติดใจ 300 ล้านหรือ 600 ล้าน แต่นี่คือวิธีกำหนดงบประมาณแบบมัดมือชกโดยมี สสส.เป็นต้นแบบ ซึ่งนอกจากไม่เป็นไปตามระบอบรัฐสภาแล้วยังผิดวินัยการเงินการคลัง นักข่าวเศรษฐกิจรุ่นเก่าเคยเล่าให้ผมฟังว่า สมัยที่เสนอตั้ง สสส.ในรัฐบาลชวน ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ รมว.คลังขณะนั้นไม่เห็นด้วย เพราะถือว่าผิดวินัยการเงินการคลัง แต่ตัวตั้งตัวดีผลักดันชงเรื่องให้นายชวนคือพิสิฐ ลี้อาธรรม ซึ่งได้รางวัลจากองค์การอนามัยโลกในวันงดสูบบุหรี่โลกเมื่อ 2 ปีที่แล้ว (และเป็น 1 ใน 35 อรหันต์กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 50)



แนวรบด้านตะวันตก

เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง


หลังจากผมจัดหนักให้ สสส.ไปครั้งที่แล้ว ก็มีผู้บริหาร สสส.นัดคุย ซึ่งผมไม่ได้ปิดบัง ได้เล่าให้หลายๆ คนฟังแต่ยังไม่มีโอกาสเขียนถึง บางคนอาจเข้าใจว่าผมไปนัดเจอ สสส.แล้วเงียบจ้อย ถูกปิดปาก เปล่าหรอกครับ ก็ผมเสนอความเห็นไปหมดแล้ว พูดกันตรงๆ แล้ว ก็ต้องให้โอกาสเขาปรับตัว เพียงแต่ดูๆ มา 2-3 เดือน ยังไม่เห็นมีการปรับตัวซักเท่าไหร่


บอกก่อนว่า บรรยากาศการพูดคุยกับผู้บริหาร สสส.ระดับ ผอ.สำนัก เป็นไปด้วยดี เข้าใจกันดี ไม่ใช่ปัญหาตัวบุคคล สิ่งที่ผมเสนอ สรุปสำคัญๆ คือผมไม่อยากเห็นโฆษณาแฝง ที่มาในรูปบทความ สกู๊ป หรือข่าวพีอาร์ ผู้บริหารรายนี้ก็บอกว่าเห็นด้วยกับผม และพยายามจะไม่ให้มีการทำอย่างนั้น แต่ที่เห็นๆ กันอยู่ ไม่ใช่งบประมาณจากสำนักที่ดูเรื่องสื่อโดยตรง บางครั้งก็เป็นฝีมือเอเยนซีที่รับงานไปโปรโมท ข้อนี้ยินดีรับไปนำเสนอในองค์กร


อีกประเด็นที่ถกกัน ก็คือเรื่องให้ทุนสนับสนุนองค์กรต่างๆ ซึ่งมักจะเวียนเทียนอยู่ในองค์กรหน้าเดิม ในเครือข่ายลัทธิประเวศ ผู้บริหารรายนี้ชี้แจงว่าแนวทางการทำงานของ สสส.คือจะให้ทุนกับองค์กรที่ทำงานด้านนั้นอยู่แล้วและมีผลงานประจักษ์ สสส.ไม่ได้เปิด TOR ให้ทุกองค์กรเสนอโปรเจกท์เข้ามาแล้วถึงอนุมัติ แต่ สสส.เลือกจากองค์กรที่พิสูจน์ตัวเองแล้ว ซึ่งมันก็มักจะไปลงเอยที่องค์กรเครือข่ายหมอประเวศ แต่ไม่ใช่เลือกเพราะความเป็นเครือข่ายหมอประเวศ


โอเค มีเหตุผล แต่เห็นต่าง เพราะผมคิดว่าแนวทางการทำงานของ สสส.แบบนี้เป็นปัญหา เป็นมาแล้ว และจะเป็นต่อไป ขอสงวนสิทธิที่จะต้องวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นกรณีๆ แต่ที่ผมขอทักท้วงไว้เบื้องต้นคือ สสส.ควรกลั่นกรองบุคคลที่รับโครงการ อย่างน้อยต้องมือสะอาด ผมยกตัวอย่างที่พูดในวงกว้างไม่ได้ ว่ามันมีบางโครงการที่คนรับไป มีปัญหาเรื่องความโปร่งใส


ผอ.สำนักรายนี้ยินดีรับฟัง แต่ผมเข้าใจว่าคงทำอะไรไม่ได้มากนัก


ประเด็นสำคัญคือผมบอกว่า การที่หมอประเวศแกโดดลงมาอุ้มรัฐบาลอภิสิทธิ์หลังพฤษภาอำมหิต ด้วยข้อเสนอ “ปฏิรูปประเทศไทย” นั้นมันสร้างความขัดแย้ง และมีคนไม่เห็นด้วยมากมาย แต่คนไม่เห็นด้วยแทบไม่มีช่องทางแสดงความเห็น ขณะที่หมอประเวศมีเครือข่าย มีงบประมาณของคณะกรรมการปฏิรูป มีงบโฆษณาของ สสส.ให้ใช้ทั้งทางตรงทางอ้อม


โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ สสส.เข้าไปให้ทุนสนับสนุนสถาบันอิศรา แล้วสถาบันอิศราก็ตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทยขึ้น สนอง need หมอประเวศ นำเสนอแต่ข้อมูลด้านดีๆ ของการปฏิรูป อันนี้ไม่ใช่ “ซื้อสื่อ” แล้วครับ แต่ภาพที่ออกมามันเหมือนซื้อสมาคมนักข่าวไปทั้งสมาคม


แน่นอน ตรงนี้ก็ถกกันพอสมควร แต่เอาเป็นว่าสิ่งที่ ผอ.สำนักท่านนี้ยอมรับคือ ศูนย์ข่าวปฏิรูปฯ ไม่ควรนำเสนอเฉพาะข้อมูลด้านดีของการปฏิรูป เมื่อมีคนคัดค้านก็ควรนำมาลงในเว็บไซต์ด้วย เป็นสิ่งที่เคยเสนอแล้ว แต่จะก้าวล่วงไปมากไม่ได้เพราะสถาบันอิศราก็มีอิสระของเขา


กล่าวโดยสรุปแล้ว เราสนทนาปราศรัยกันด้วยดี แต่ไม่มีอะไรในกอไผ่ โฆษณา สสส.เท่าที่ดูมา 2 เดือนกว่าก็ยังเหมือนเดิม บทความปฏิรูปการเมืองที่ผมรู้อยู่แก่ใจว่าเป็น “เนื้อที่โฆษณา” ก็ยังลงอยู่หน้าตาเฉย ข่าวพีอาร์ก็ยังแย่งเนื้อที่ข่าวแมนยูฯ แชมป์ 19 สมัยในหนังสือพิมพ์กีฬา (อุตส่าห์ซื้อตั้ง 18 บาท เป็นสารพัดข่าวพีอาร์กับโฆษณา 9 บาท)


เพียงแต่ระยะนี้ สสส.อาจจะทำตัวโลว์โปรไฟล์ลงหน่อย ไม่ใช่เขากลัวผมหรอกครับ เขาต้องระมัดระวังในช่วงเลือกตั้ง เผื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล กิจกรรมใดๆ ที่เคยออกหน้าออกตา ก็ต้องลดลงบ้าง


แต่ย้ำอีกทีว่า ผู้บริหาร สสส.ที่มาคุยกับผมมีความจริงใจ และคุยกันเข้าใจ เพียงแต่คนคนเดียวคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทัศนะและวิถีการทำงานของทั้งองค์กรได้ง่ายๆ (ถ้าไม่จริงใจ ก็ไม่จำเป็นต้องมาคุยกับผม ปล่อยให้เป็นเสียงนกเสียงกาก็ได้ อย่างน้อยก็ดีกว่าหมอนักต่อต้านบุหรี่รายหนึ่ง ที่ส่งอีเมล์ไปทั่วตั้งข้อกังขาว่าผมมีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรหรือเปล่า)


ส่วนฝ่ายผมเอง ก็ยอมรับว่าข้อมูลบางเรื่องคลาดเคลื่อนบ้างเหมือนกัน โดยเฉพาะตัวเลขต่างๆ (ถ้าเอามารวมเล่มเมื่อไหร่จะส่งให้ สสส.ตรวจทาน-ฮา) แต่ยังยืนยันในหลักการและประเด็นสำคัญ กระนั้นก็มีบางเรื่องที่คงฟังไม่ได้ศัพท์ เช่น ผมบอกว่าข้อมูลบางเรื่อง สสส.น่าจะรู้ดีอยู่แล้ว อย่างเรื่องสถาบันอิศราจัดอบรม บสส.บสก.แล้วมีพวกแพทยสภาเข้าไปด้วย กระทั่งไปจัดสัมมนากับสมาคมบริษัทยาที่รีสอร์ท กลายเป็น สสส.ให้ทุนจัดอบรมสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างนักข่าว บริษัทยา กับแพทย์พาณิชย์ เรื่องนี้ก็มีน้องในแวดวง NGO คนหนึ่ง เอาไปโพสต์ขึ้นเว็บก่อนแล้ว


ปรากฏว่าพูดกันต่อๆ ไป ใน สสส.พูดกันปากต่อปาก กลายเป็นน้องคนนี้คือแหล่งข่าวสำคัญ ตัวให้ข้อมูลใบตองแห้ง เอ้า chip หายเลย น้องผมกลายเป็นหมาหัวเน่า


แต่เนื้อหาสาระเรื่องที่เขาท้วงติงกลับไม่มีใครสนใจ แล้วเป็นไงละครับ ผมดูข่าวสถาบันอิศราล่าสุด มีการอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง (บสส.) รุ่นที่ 3 โดยการสนับสนุนของ สสส.มีศาสตราจารย์คลินิก นพ.อำนาจ กุสลานันท์ เป็นประธานรุ่น


นพ.อำนาจคือนายกแพทยสภาคนล่าสุด ก่อนหน้านี้เป็นเลขาธิการแพทยสภา เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก็เอา นพ.สรรธวัช อัศวเรืองชัย หัวหน้าศูนย์วิจัยพัฒนาคุณภาพความปลอดภัย รพ.จุฬาฯ มาแถลง “จวกยับเครือข่ายผู้ป่วย ปล่อยข้อมูลมั่ว” (ตามที่สื่อพาดหัวข่าว)


เรื่องตลกคือ นายกแพทยสภาเข้ามาอบรม บสส.รุ่นที่ 3 ในโควต้าขององค์กรพัฒนาเอกชน/เครือข่ายสุขภาวะ ซึ่งมี 6 คน อีก 5 คนได้แก่ สุทธิ “มาบตาพุด” อัชฌาศัย ผู้ประสานงานพันธมิตรภาคตะวันออก, เจ้าหน้าที่ สสส. สวรส. กป.อพช. และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มากันคนละโลกกับแพทยสภาเลยนะเนี่ย


บสส.รุ่น 3 มีนักข่าว 28 คน ข้าราชการ 6 อาจารย์นิเทศศาสตร์ 5 ภาคธุรกิจ 7 ได้แก่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ ปตท.ไทยออยล์ ปูนใหญ่ แบงก์กรุงเทพ ทรินิตี้พลัส ทรู และไทยนครพัฒนา (ปวดหัวตัวร้อนมีทิฟฟีแจกฟรีตลอดหลักสูตร)


ใครล่ะจะไม่อยากมาอบรมกับนักข่าว สร้างคอนเนคชั่นกับนักข่าว โดยมี สสส.เป็นสปอนเซอร์



ความเปลี่ยนแปลงที่สถาบันอิศรา


ข่าวข้างต้นผมก๊อปมาจากเว็บสถาบันอิศรานะครับ ไม่ได้มีแหล่งข่าววงในที่ไหนหรอก (ถูกปิดหมดทุกช่อง)


นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ประธานกรรมการบริหารสถาบันอิศรา พร้อมด้วย นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและผู้อำนวยการหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง (บสส.) รุ่นที่ 3 ให้การต้อนรับ รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในโอกาสบรรยายหัวข้อ "องค์กรอิสระกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ" จัดโดย สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทั้งนี้มี ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อำนาจ กุสลานันท์ ประธานรุ่น พร้อมด้วยสมาชิก ให้การต้อนรับ ณ อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อเร็วๆ นี้


ดีใจนะครับที่เชิญ อ.วรเจตน์ไปบรรยาย เท่าที่ดูข่าวเขาก็เชิญคนหลากหลายดี เชิญปริญญา เทวนฤมิตรกุล เชิญจรัญ ภักดีธนากุล เชิญ อ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์


แต่ที่จะให้ดูไม่ใช่ประเด็นนี้หรอก เพราะต้องดูเปรียบเทียบอีกข่าว


การอบรมเชิงปฏิบัติการ "การสร้างวิทยากรข่าวสิทธิเด็ก"‏


ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ รักษาการ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ที่ปรึกษาสถาบันอิศรา ร่วมมอบเกียรติบัตรให้กับผู้เข้าร่วม การอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การสร้างวิทยากรข่าวสิทธิเด็ก” จัดโดยสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับ โครงการจัดตั้งคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา โดยการสนับสนุนจาก องค์การยูนิเซฟประเทศไทย ณ โรงแรมเทาทอง มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี


สองข่าวนี่ขึ้นพร้อมกัน เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม เปล่า ไม่ใช่จะตั้งข้อกังขาว่าทำไม๊ มหาวิทยาลัยบูรพา ถึงมีความสัมพันธ์อันดีจังกับสมาคมนักข่าวและสถาบันอิศรา (นักวิชาการ 1 คนที่ได้ไปอบรมวิสคอนซิน ก็เป็นอาจารย์ ม.บูรพา เรื่องนี้นักข่าวเด็กๆ มันเมาท์กันแซดว่า ถ้าไม่ ม.บูรพา ก็หอการค้า ธุรกิจบัณฑิตย์ และศรีปทุม คอนเนคชั่นปึ้ก)


เอ้า นอกเรื่องอีกแล้ว ที่ผมตั้งข้อสังเกตคือ ข่าวแรกบอกว่า ประสงค์เป็นประธานกรรมการบริหารสถาบันอิศรา ชวรงค์เป็นนายกสมาคมนักข่าว และเป็นผู้อำนวยการหลักสูตร บสส.ข่าวหลังบอกว่าประสงค์เป็นรักษาการผู้อำนวยการสถาบันอิศรา ชวรงค์เป็นที่ปรึกษา


ต้องย้อนอดีตก่อนว่า เดิมที ประสงค์เป็นนายกสมาคมนักข่าว พร้อมกับเป็นประธานกรรมการบริหารสถาบันอิศรา ชวรงค์เป็น ผอ.สถาบันอิศรา (รับเงินเดือนครึ่งหนึ่ง ในฐานะที่ทำงานพาร์ทไทม์ยังไม่ออกจากไทยรัฐ) แต่เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ชวรงค์ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมนักข่าว แทนประสงค์ซึ่งครบวาระ 2 สมัย เป็นต่อไม่ได้อีก


ผมก็รอฟังมาระยะหนึ่งว่า เขาจะจัดสรรตำแหน่งกันอย่างไร เพราะชวรงค์ต้องออกจาก ผอ.สถาบันอิศรา จะควบ 2 ตำแหน่งไม่ได้ ฉะนั้นเมื่อดูข่าวทั้งสองแล้ว ก็แปลว่า เขาใช้วิธีให้ประสงค์มา “รักษาการ” ผอ.สถาบันอิศราแทน (ไม่ทราบว่าได้เงินเดือนหรือเปล่า แต่ถ้าเป็นไปตามระบบ ก็ต้องได้ครึ่งหนึ่ง เพราะประสงค์ยังไม่ออกจากมติชน)


แต่ขณะเดียวกัน ประสงค์ก็ยังเป็นประธานกรรมการบริหารสถาบัน (แทนที่จะเป็นชวรงค์ ตามตำแหน่งนายกสมาคมนักข่าว) ส่วนชวรงค์ขอมาเป็นผู้อำนวยการหลักสูตร บสส.แทน (ซึ่งก็ได้ค่าตอบแทนตามระบบของ สสส.)


ฟังแล้วก็มึนๆ อยู่นะครับ แถมชวรงค์ยังไปเป็นประธานสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยอีก (พร้อมกับยังเป็นประธานชมรมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2552)


แต่ก็มีเรื่องดีนะครับ เข้าใจว่าประสงค์คงจะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ตั้ง TCIJ. ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง ในฐานะที่เป็นมือข่าวสืบสวนอันดับหนึ่งของเมืองไทย เป็นเรื่องดีที่ต้องสนับสนุนอย่างจริงใจ


ประสงค์เป็นนักข่าวที่เก่งมากนะครับ และมีความเป็นมืออาชีพ ถ้าพูดถึงทัศนะทางการเมือง เขาอาจจะไม่ต่างจากนักข่าวอีกมากคือถูกครอบงำด้วยความ “เกลียดทักษิณ” โดยเฉพาะประสงค์ซึ่งทำข่าวซุกหุ้นมากับมือ เกือบสิบปีมานี้ เขา “โดน” อะไรต่อมิอะไรหลายอย่าง ถูกกระทำมาเยอะ ในฐานะคนที่ทำให้อัศวินควายดำเกือบตกเก้าอี้ ฉะนั้นต่อให้ประสงค์เกลียดทักษิณเข้ากระดูกก็ไม่ใช่เรื่องแปลก


แต่สิ่งที่น่าชื่นชมคือ หลังรัฐประหาร ประสงค์ก็ยังทำข่าวสืบสวนต่อไปโดยไม่เลือกข้าง เช่น เขาเป็นคนจุดประเด็น ตั้งคำถามต่อ “ตุลาการภิวัตน์” ในหลายๆ โดยเฉพาะกรณีที่ ปปช.เข้ามาสอบอดีตประธานศาลปกครอง อ.อักขราทร จุฬารัตน์ ถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ สั่งเปลี่ยนองค์คณะในคดีคุ้มครองชั่วคราว ระงับแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก


นี่เป็นข่าวสืบสวนชิ้นโบว์แดงเลยนะครับ และแสดงจุดยืนที่มั่นคงในวิชาชีพ เป็นนักข่าวก็ต้องเป็นนักข่าว เจาะข่าวโดยไม่เลือกข้าง ไม่เห็นแก่หน้าใคร


ถ้านักข่าวทุกคนเป็นมืออาชีพอย่างประสงค์ วงการสื่อก็คงไม่เสื่อมสิ้นเครดิตศักดิ์ศรีถึงเพียงนี้


ส่วนตัวผมจึงมองว่า ถ้าประสงค์เป็น ผอ.สถาบันอิศราไปซะเลย โดยไม่ต้องรักษาการ ก็จะเป็นเรื่องดียิ่ง ถึงแม้ประสงค์ยังไม่อยากออกจากมติชน (เพราะมีสิทธิรอบำเหน็จตามระเบียบว่าด้วยการเกษีณอายุ) ก็สามารถทำงานพาร์ทไทม์รับเงินเดือน ผอ.สถาบันครึ่งหนึ่งไปเรื่อยๆ (เนื่องจากเท่าที่ระแคะระคาย หลังการแต่งตั้งโยกย้ายใหญ่ในมติชนปลายปีที่แล้ว จนทำข่าวเอียงกะเท่เร่ไปอีกข้าง ประสงค์ก็ถูกลดบทบาท ลูกน้องในทีมข่าวซุกหุ้นบางคน ตอนนี้ก็ลาออกมาทำงานให้สถาบันอิศรา)


ระเบียบว่าด้วยการเกษียณอายุของบริษัทมติชน คือพนักงานอายุครบ 60 มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเป็นเงินเดือนคูณจำนวนปีที่ทำงาน อายุ 55 ก็ขอเกษียณก่อนกำหนดได้ โดยคิดจำนวนปีบวกเพิ่มให้อีก 5 ปี มติชนเคยจะยกเลิกระเบียบนี้เมื่อเดือนมกราคม แล้วถูก “มือมืด” เอามาเขียนประจานลงประชาไท จนขายขี้หน้าประชาชี ต้องยอมกลืนเลือดกลับไปจ่ายบำหน็จตามเดิม คงจำกันได้นะครับ


เล่านอกเรื่องอีกหน่อย พรรคพวกในมติชนเขาเล่าว่า เสี่ยช้าง ขรรค์ชัย บุนปาน แกอ่านที่ “มือมืด” เขียนลงประชาไทแล้วหัวร่อก๊าก ฝากบอกคนเขียนว่าทีหน้าทีหลังถ้าไม่อยากให้ใครรู้ ก็เปลี่ยนสำนวนและสไตล์การเขียนเสียบ้าง แต่นี่อ่านแล้วแกรู้ทันทีว่าใคร เพราะสำนวนภาษาติดอยู่ที่หน้าผาก


สรุปว่าอุตส่าห์ต่อสู้กันมาถึงเพียงนี้ ประสงค์ก็ต้องรอจนอายุ 55 เพื่อรับเงินบำเหน็จที่ (คาดกันว่า) ปาเข้าไปร่วมสองล้าน ซึ่งผมชูจักกะแร้เชียร์เต็มที่ เป็นสิทธิอันพึงมีพึงได้ ขนหน้าแข้งเสี่ยช้างไม่ร่วงหรอก (ถ้าไทยโพสต์มีบำเหน็จแบบนี้ จ้างให้ผมก็ไม่ลาออก)



กรรมการปฏิรูปกฎหมาย


แต่อย่างว่า แม้แต่องค์ปฏิมายังถูกกาเลเทน้ำ ประสงค์ก็กำลังโดนพวกเด็กๆ นักข่าวปากหอยปากปูนินทา


เรื่องของเรื่องคือ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จำนวน 11 ราย โดยนายกรัฐมนตรีรับสนองพระบรมราชโองการ มี อ.คณิต ณ นคร เป็นประธาน อดีตกรรมการสิทธิฯ สุนี ไชยรส เป็นรองประธาน กรรมการก็มีคนคุ้นเคยเช่น ไพโรจน์ พลเพชร, สมชาย หอมลออ, อ.เสาวณีย์ อัศวโรจน์ อ.บรรเจิด สิงคะเนติ อดีต คตส.ทั้งคู่


แล้วก็มีประสงค์เป็นหนึ่งในนั้นด้วย


คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเป็นองค์กรอิสระ ตั้งขึ้นตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 81 วรรค 3 มีสำนักงานของตัวเอง มีเลขาธิการเป็นข้าราชการประจำ คณะกรรมการ 11 คนมีวาระ 4 ปี ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ เพียงแต่กรรมการมี 2 ประเภทคือ กรรมการเต็มเวลา 6 คน ทำงานถาวร ไม่ประกอบอาชีพอื่นที่ได้ค่าตอบแทน กับกรรมการไม่เต็มเวลา มาในคราวที่มีการประชุมหรือว่างเว้นจากงานประจำ


แน่นอน ประสงค์เป็นกรรมการพาร์ทไทม์ (อีกแหละ) โดยกรรมการเต็มเวลาได้แก่ อ.คณิต (ซึ่งต้องลาออกจากคณบดีนิติศาสตร์ ธุรกิจบัณฑิตย์ แต่ยังเป็นประธาน คอป.ได้เพราะไม่ขัดข้อห้าม) เจ๊สุนี, อ.เสาวณีย์, สมชาย, ไพโรจน์ และสุขุมพงศ์ โง่นคำ อดีตมือกฎหมายพรรคพลังประชาชน (ฟังแล้วก็ยังงงๆ ว่าสมชายกับไพโรจน์ต้องลาออกจากงานองค์กรสิทธิมนุษยชนหรือเปล่า เพราะถึงจะเป็นงาน NGO แต่ก็ได้ค่าตอบแทนนะครับ)


ส่วนกรรมการพาร์ทไทม์อีก 4 คนได้แก่ อ.บรรเจิด, อ.วิระดา สมสวัสดิ์, ชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ อดีตประธานสหภาพแรงงานแบงก์กรุงเทพ และ อ.กำชัย จงจักรพันธ์ อดีตคณบดีนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ (มือขวานริศ ชัยสูตร ตอนจะย้ายธรรมศาสตร์ ผมเคยไปสัมภาษณ์ นริศให้กำชัยมาพรีเซนส์แทน พรีเซนส์เก่ง สมเป็นนักกฎหมายธุรกิจการลงทุน ไม่น่าเป็นอาจารย์เล้ย)


คณะกรรมการชุดนี้เพิ่งสรรหาขึ้นมาเป็นชุดแรก โดยปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นกรรมการสรรหา ก่อนหน้านี้มีคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นชั่วคราว ก็มี อ.คณิตเจ้าเก่าเป็นประธาน แล้วก็มีตัวเจ็บๆ เช่น หมอชูชัย ศุภวงศ์, ปรีดา เตียสุวรรณ์ แพรนด้าจิวเวลรี นายทุนพันธมิตร (พ่อทูนหัวสุริยะใส), วิษณุ เครืองาม, สุรพล นิติไกรพจน์, สมชาย หอมลออ, สมหมาย ปาริจฉัตถ์ (มติชนอีกแหละ),อ.อมรา พงศาพิชญ์ และรสนา โตสิตระกูล สองรายหลังลาออกไปเมื่อได้เป็นประธานกรรมการสิทธิฯ และได้รับเลือกเป็นวุฒิสมาชิก


องค์ประกอบของคณะกรรมการ (ซึ่งเจ๊สดอยากเป็นแต่ไม่ได้เป็น) ดูพิกลๆ อยู่ คือเหมือนมาจากเครือข่ายภาคประชาชน แต่ค่อนไปทางสีเหลือง กระนั้นก็ดันมีสุขุมพงศ์ โง่นคำ ซึ่งอยู่ในบ้านเลขที่ 109 (แต่เปิดประวัติดูจะไม่แปลกใจ สุขุมพงศ์เคยเป็นเลขาฯ วิษณุ เครืองาม)


อย่างไรก็ดี ในส่วนของประสงค์ เท่าที่เว็บไซต์คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย แสดงประวัติและวิสัยทัศน์เอาไว้ ถือว่ายอดเยี่ยมมากเลยครับ เพราะเขาบอกว่า


“ในปัจจุบันควรมุ่งเน้นการปฏิรูปกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาที่ก่อให้เกิดความแตกแยกขัดแย้งในสังคม ซึ่งได้แก่ความไม่เป็นประชาธิปไตย ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมด้านต่างๆ ดังนี้


1.ความไม่เป็นประชาธิปไตยซึ่งเห็นได้ชัดในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ในหลายบทบัญญัติ เช่น การสรรหาสมาชิกวุฒิสภา การให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเป็นผู้แต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระ การกำหนดให้สถาบันตุลาการเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการสรรหาองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ กระบวนการสรรหาองค์กรอิสระ ฯลฯ”


นับเป็นวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน อย่างยากจะหาในบรรดาสื่อ ไม่ใช่แบบหยุ่น หย่อง ที่หลับหูหลับตาเชียร์ตุลาการภิวัตน์และรัฐธรรมนูญ 50 ตะพึดตะพือ


ฉะนั้นผมจึงเห็นว่าประสงค์มีคุณค่ามีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมาย มากกว่ากรรมการอีกหลายๆ คนด้วยซ้ำ


แต่ปัญหาคือไอ้พวกเด็กๆ นักข่าวมันไม่คิดอย่างผมสิครับ มันมองต่างมุมว่า “พี่เก๊ะ” เล่นควบ 3 ตำแหน่ง ทั้งยังทำงานที่มติชน ทั้งรักษาการ ผอ.สถาบันอิศรา (และเป็นประธานกรรมการบริหารสถาบันอิศรา) แล้วยังมาเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมายพาร์ทไทม์อีก


“เขาควรได้รับการยกย่อง... หรือควรได้รับข้อเสนอว่า... จะเอาอะไรก็สักอย่าง-อย่าพึงได้อภิสิทธิ์ทับซ้อน เพื่อการที่ยกย่องตัวเองบนผลประโยชน์ส่วนบุคคล”


เด็กๆ นักข่าวมันโพสต์ข้อความกันทันทีในทวิตเตอร์ที่สื่อสารกันเฉพาะนักข่าว


ไอ้เด็กเปรตพวกนี้มันร้ายนะครับ มันไปทำข่าว ‘ซีฟ สืบสวนสอบสวนจนรู้ว่า กรรมการปฏิรูปกฎหมายเนี่ย ถ้าทำงานเต็มเวลาได้เงินเดือน 64,000 บาท มีค่าเดินทาง มีบำเหน็จ ส่วนกรรมการไม่เต็มเวลา กรมบัญชีกลางให้ใช้คำว่า “เงินค่าตอบแทนรายเดือน” เดือนละ 42,500 บาท มีค่าเดินทาง แต่ไม่มีบำเหน็จ


มันยังตั้งคำถามกันว่า แบบนี้ ขัดกับประกาศว่าด้วยการปฏิบัติตนของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ข้อ 2(3) หรือเปล่า “ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ไม่ควรเป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาในหน่วยงานทั้งของรัฐและเอกชนที่อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับสายงานข่าวที่ตนรับผิดชอบ”


แต่ที่เปรียบเทียบกันได้คล้ายคลึงที่สุด ก็คือตอนที่นักข่าวฮือค้าน ภัทระ คำพิทักษ์ นายกสมาคมนักข่าวฯ เข้าไปเป็น สนช.จนท้ายที่สุด “โม่ง” ต้องลาออกจากนายกสมาคม (แต่ก็ยังเป็น บก.ข่าวโพสต์ทูเดย์)


ผมแย้งว่า เฮ้ย มันไม่เหมือนกันนะ กรณีนั้น 3 นายกสมาคมสื่อ (รวมสมชาย แสวงการ และเจ๊หยัด) เข้าไปร่วมหอลงโลงกับเผด็จการรัฐประหาร ซึ่งมันขัดต่ออุดมการณ์สื่อ ที่ต้องเชิดชูสิทธิเสรีภาพ


แต่เด็กพวกนี้มันบอกว่า ถ้า “พี่เก๊ะ” ทำได้ ต่อไปคนอื่นๆ ก็จะเอาอย่าง การทำงานสมาคม หรือองค์กรสื่อ จะกลายเป็นบันไดไปสู่การมีตำแหน่ง เป็นกรรมการนั่นกรรมการนี่ เป็นที่ปรึกษา ฯลฯ ผูกพันทับซ้อนไปเรื่อยๆ ไม่ใช่การทำงานเพื่อปกป้องสิทธิสื่อ หรือดูแลช่วยเหลือสวัสดิการของพวกน้องๆ อีกต่อไป


ผมก็ไม่รู้จะพูดอย่างไรละครับ ส่วนตัวผมยังอยากเห็นประสงค์ทำข่าวสืบสวนสอบสวนให้มติชน อยากเห็นประสงค์เป็น ผอ.สถาบันอิศรา อยากเห็นประสงค์เข้าไปเสนอแนวคิดปฏิรูปกฎหมาย แต่ผมก็ชักวิตกกังวลว่าถ้าประสงค์ยังควบ 3 ตำแหน่งอยู่แบบนี้ แรงกดดันมันจะมากขึ้นเรื่อยๆ ตามเสียงซุบซิบนินทาที่มาเข้าหูผมอยู่ตอนนี้ไง


ท้ายที่สุด เรื่องนี้จะจบลงยังไง ...ไม่ทราบสิครับ เพราะผมไม่มีข้อเรียกร้อง ได้แต่นำเสนอปัญหาตามที่ได้ยินได้ฟังมา ประสงค์จะตัดสินใจอย่างไรก็เป็นเรื่องของประสงค์ ถ้าเห็นว่ายังควบ 3 ตำแหน่งได้ สามารถชี้แจงน้องๆ ได้ ผมก็ไม่ว่ากระไร ไม่มีส่วนได้เสีย เห็นดีด้วยซ้ำ แต่ถ้าเห็นว่าควบไม่ไหว ก็แล้วแต่จะตัดสินใจเลือกอย่างไร (ซึ่งก็น่าเสียดายไปเสียทุกทาง)


ผมเองก็กระอักกระอ่วนอยู่เหมือนกันที่ต้องนำเสนอ เพราะบอกแล้วว่าส่วนตัวผมชื่นชมประสงค์ (ถ้าเป็นคนอื่นเรอะ...เจ็บสาหัส) เพียงแต่นี่ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แม้ออกจะเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล แต่มันเกี่ยวกับองค์กรสื่อ จึงจำใจต้องพูด พูดเพื่อให้ประสงค์ได้ทำหน้าที่ต่อไปอย่างเต็มที่


พูดแล้วจบนะครับ จะไม่พูดอีก เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องเคลียร์กันในวงการสื่อ ไม่ใช่เรื่องของผมคนเดียว เพราะบอกแล้วว่าผมไม่ติดใจ


ฉะนั้น ไม่จำเป็นต้องส่งจดหมายเปิดผนึกมาชี้แจงใบตองแห้งนะครับ


ใบตองแห้ง

4 มิ.ย.54




 

Create Date : 04 สิงหาคม 2554
0 comments
Last Update : 4 สิงหาคม 2554 0:19:39 น.
Counter : 673 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


สุริยาอัสดง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




เปิดโลกด้วยแสงแห่งปัญญา
Thaiflood
Friends' blogs
[Add สุริยาอัสดง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.