อาทิตย์สาดส่อง..ความจริงจักปรากฎทั่วปฐพี!!!
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2552
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
1 มิถุนายน 2552
 
All Blogs
 
Silence of the Lamp: คำตอบที่ผมได้จากนายกสมาคมนักข่าวฯ กรณีเสถียร จันทิมาธร

Sun, 2009-05-31 22:08

ประวิตร โรจนพฤกษ์


เมื่อวันที่28 พ.ค. ผู้เขียนได้รับเชิญไปร่วมเสวนาเรื่องสื่อและประชาธิปไตยในวิกฤต: บทบาทและความรับผิดชอบของสื่อซึ่งที่นั้นผู้อภิปรายชาวเยอรมันชื่อดร.วูลฟ์เกง ชูลส์ผู้ เชี่ยวชาญทางด้านสื่อจากมหาวิทยาลัยฮัมบวร์ก ได้พูดถึงกรณีเหตุการณ์ในเยอรมันว่าเมื่อไม่นานมานี้มีบรรณาธิการของสถานี โทรทัศน์เยอรมันช่องหนึ่งได้ถูกกดดันให้ออกเพราะจุดยืนทางการเมืองซ้ายจัดแต่ในที่สุดก็รอดเพราะมีการรณรงค์เพื่อปกป้องเขาซึ่งในที่นี้รวมถึงบรรณาธิการและนักข่าวที่มีจุดยืนขวาจัดเข้าร่วมรณรงค์ด้วยซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความตระหนักเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกโดยคนที่มีความเห็นทางการเมืองแตกต่างกันแต่ก็ยังยอมรับว่าสิทธิในการแสดงออกเป็นเรื่องสำคัญและจำต้องปกป้องสิทธิของผู้ที่เห็นต่างจากตนเองด้วย

ได้ยินเช่นนี้ผู้เขียนจึงนึกถึงกรณีข่าวจากเว็บไซต์เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ว่าด้วยการปลดนายเสถียรจันทิมาธรออกจากตำแหน่งเพียงเพราะมีจุดยืนทางการเมืองสนับสนุนฝ่ายแดงพอตอนท้ายรายการ ผู้เขียนจึงถือโอกาสถามนายประสงค์เลิศรัตนวิสุทธิ์บรรณาธิการจากเครือมติชนและนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมอภิปรายว่านายประสงค์คิดอย่างไรกับกรณีข่าวปลดนายเสถียรเมื่อเทียบกับกรณีเยอรมันที่ได้ฟังมา

นายประสงค์ได้ตอบผู้เขียนว่าข่าวนั้น“ไม่จริง” จึงไม่จำเป็นต้องตอบอะไร แถมนายประสงค์ตั้งข้อกังขาถึงเจตนาของผู้เขียนว่าทำไมถึงถามเช่นนั้นและพูดต่อไปว่า“แล้วคุณเชื่อผู้จัดการหรือ” ผู้เขียนไม่ได้ตอบแต่ได้ถามย้อนกลับไปว่าหากเป็นเช่นนั้นทำไมมติชนจึงไม่มีการแก้ข่าวหรือชี้แจงต่อสาธารณะ

“ไม่ต้องแก้ข่าว” คือคำตอบของนายประสงค์ซึ่งท่าทางไม่พอใจต่อผู้เขียนพอสมควรและยกตัวอย่างอีกว่าหลายฉบับ รวมทั้งหนังสือพิมพ์อย่างคมชัดลึกก็เขียนคอลัมน์ให้ข้อมูลอย่างผิดๆแต่ก็ไม่เห็นมีใครแก้ข่าวและบอกว่าให้ประชาชนตัดสินว่าใครน่าเชื่อถือกันเอง

(นายกสมาคมนักข่าวฯดูไม่แฮปปี้กับคำถามทั้งๆที่เมื่อไม่กี่นาทีก่อนหน้านี้เขาพูดเองในช่วงอภิปรายว่าสื่อควรได้รับการตรวจสอบจากกลุ่มอื่นๆอย่างเช่นกลุ่มมีเดียมอนิเตอร์มากขึ้นและสื่อควรรับฟังเผยแพร่ผลของการตรวจสอบ ... มันจึงทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่านี่เป็นตลกร้าย)

ผู้เขียนพยายามจะถกต่อแต่ก็ถูกตัดบทโดยผู้ดำเนินการอภิปรายและด้วยความเคารพต่อผู้ดำเนินการอภิปรายก็จึงหยุดแต่ก็อดคิดต่อไปไม่ได้และถ้าหากพูดต่อไปได้ก็คงจะพูดว่าคุณเป็นนายกสมาคมนักข่าวฯแต่กลับรู้สึกว่าเวลามีการให้ข้อมูลผิดกลับไม่ต้องแก้ข่าวและถ้าการไม่แก้ข่าวเป็นเรื่องปกตินั้นผมก็ไม่รู้จะว่าอย่างไรเพราะสังคมจะไปหวังเรื่องความโปร่งใสและการตรวจสอบและความน่าเชื่อถือของข้อมูลได้อย่างไรในเมื่อสื่อเองไม่ให้ความสำคัญกับความ“ผิดพลาด” ของข้อมูลซึ่งผู้เขียนเช็คทางอื่นก็ยังคงมีการยืนยันว่ามีการจัดการกับฝ่ายซึ่งสนับสนุนหรือเห็นใจเสื้อแดงในเครือมติชน

แทนที่จะบอกว่ามาตรฐานต่ำๆของสื่อที่ไม่ยอมแก้ข้อมูลหรือชี้แจงนั้นควรเปลี่ยนและปรับปรุงได้แล้วแต่นายกสมาคมนักข่าวฯกลับอ้างว่าในเมื่อสื่อหลายฉบับก็ปฏิบัติเช่นนี้โดยไม่ยอมชี้แจงหรือแก้ข้อมูลจึงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้และถ้าเกิดข้อมูลเอเอสทีวีผู้จัดการผิดจริงทำไมสมาคมฯไม่ออกมาตรวจสอบและวิจารณ์

และอีกประการหนึ่งคุณประสงค์ไม่คิดเหรอว่าคนเสื้อเหลืองจำนวนมากย่อมเชื่อข้อมูลของเอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์อย่างมิต้องสงสัยนี่ยังไม่รวมถึงคนเสื้อแดงอีกไม่รู้กี่แสนที่ทราบข่าวนี้แล้วคงรู้สึกสะเทือนใจและโกรธแค้นและถ้าคุณประสงค์คิดว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ต้องชี้แจงหรือแก้ไขผมว่าก็คงปฏิเสธได้ยากว่าสื่อกระแสหลักอย่างมติชนและความคิดอย่างนี้ในกลุ่มผู้นำสมาคมนักข่าวฯก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความยุ่งเหยิงขัดแย้งทางการเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบัน

และอีกอย่างการที่คุณประสงค์พูดว่า“แล้วคุณเชื่อผู้จัดการหรือ” เป็นการพูดเหมารวมที่น่าสะเทือนใจมากเสมือนว่านักข่าวและบรรดาบรรณาธิการในเครือผู้จัดการทั้งหมดเสนอแต่สิ่งที่เป็นเท็จถ้าผู้เขียนเข้าใจไม่ผิดผู้จัดการก็เป็นสมาชิกสมาคมนักข่าวฯด้วยมิใช่หรือการพูดเช่นนี้รู้สึกจะหยาบเหมารวมและไม่ให้เกียรติเป็นอย่างยิ่ง

00000


ป.ล.1 และมันก็น่าเสียดายที่คุณประสงค์คิดได้แต่เรื่องว่าใครที่ถามคำถามเช่นนี้มีเจตนาแอบแฝงหรือไม่เพราะในโลกที่คนคิดเช่นนี้ย่อมหนีไม่พ้นการที่จะมีคนตั้งคำถามว่า แล้วการที่คุณประสงค์ไปเป็นนายกสมาคมนักข่าวฯนั้นมีเจตนาอะไรแอบแฝงหรือไม่ หรืออาจสรุปไปว่าคุณประสงค์ตอบเช่นนี้มีเจตนาปกปิดอะไรหรือเปล่า

ผู้เขียนก็แค่เป็นห่วงมติชนและสื่อมวลชนโดยรวมเท่านั้นแหละแต่คำตอบที่ได้รับจากคุณประสงค์ก็ยิ่งทำให้ผู้เขียนกังวลยิ่งขึ้น เพราะ บรรดาสื่อที่เรียกร้องความโปร่งใส เรียกร้องให้มีการตรวจสอบองค์กรและกลุ่มคนต่างๆ ในสังคมกลับดูเหมือนจะทำตัวเป็นข้อยกเว้นเสียเอง

ถ้าคิดเช่นนี้ก็มิจำเป็นต้องมีข่าวสืบสวนสอบสวน มิจำเป็นต้องมีการตรวจสอบองค์กรสถาบันอื่นๆ แบบสื่อ เพราะใครจะเชื่ออะไรก็เชื่อไป

ป.ล.2 หลัง จากเหตุการณ์ซักถามคุณประสงค์ได้จบลง ผู้เขียนก็ได้พยายามถามนักข่าวที่เชื่อถือได้ว่าความจริงเรื่องคุณเสถียร เป็นอย่างไรกันแน่ นักข่าวบางกอกโพสต์ระดับแนวหน้าผู้เคยได้รับรางวัลระดับนานาชาติผู้หนึ่งบอก ผู้เขียนว่า ก็จริงอย่างที่เป็นข่าวน่ะแหละ เพราะตัวเธอนั้นมีเพื่อนอยู่ที่มติชนและก็คอนเฟิร์มเรื่องนี้ ส่วนนักข่าวรุ่นพี่อีกคนที่สอบถามไป ถึงขนาดกล่าวหาว่า นายประสงค์ “ตอแหล” ต่อหน้าสื่อหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุจำนวนมากในวันนั้น

ผู้เขียนแทบไม่อยากเชื่อว่าคนที่เป็นนายกสมาคมนักข่าวฯ จะสามารถโกหกซึ่งๆ หน้าต่อหน้าผู้คนจำนวนมากได้อย่างหน้าตาเฉย

ใน ขณะเดียวกันผู้เขียนก็คิดว่า คงถึงเวลาแล้วที่คนอย่างคุณเสถียร จันทิมาธร ผู้ถูกพาดพิงจะออกมาชี้แจง แน่นอนผู้เขียนตระหนักดีว่าเคยมีคนบอกผู้เขียนว่าที่มติชนเขาอยู่กันอย่าง “พี่น้อง” ซึ่งหมายถึงวัฒนธรรมระบบอุปถัมภ์ที่ฝังรากลึก จึงไม่แน่ใจว่า จะรู้ความจริงเรื่องนี้อย่างแท้จริงได้อย่างไร

แล้ว อีกอย่างสังคมไทยมักชอบพูดอย่าง แต่ทำอีกอย่าง ซึ่งเป็นเรื่องปกติในหลายวงการ ผู้เขียนจึงไม่แน่ใจว่าใครโกหกกันแน่ระหว่างข่าวผู้จัดการหรือนายประสงค์
…………………………………
บิ๊กมติชน-ทีวีไทย อัด “ASTVผู้จัดการ” สื่อการเมือง-เลือกข้าง

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 28 พฤษภาคม 2552 15:58 น.


วงเสวนาของสมาคมนักข่าว-กมธ.สิทธิฯ เดือด รุมจวกสื่อกลายเป็นเครื่องมือการเมือง สร้างความแตกแยก ด้าน 2 นักข่าวค่ายยักษ์ใหญ่ เปิดวิวาทะกลางวงเสวนาถึงการเสนอข่าวของเว็บไซต์ ASTVผู้จัดการ แถมถูกกล่าวหากลางวงเป็นสื่อการเมือง-เลือกข้าง “เทพชัย ผอ.ทีวีไทย” ระบุเชื่อสื่อฝักใฝ่การเมืองจะเสื่อมศรัทธาเอง

วันนี้ (28 พ.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น.คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และมูลนิธิฟรีดริช เอแบร์ท ได้จัดสัมมนาเรื่อง “สื่อและประชาธิปไตยในวิกฤต : บทบาทและความรับผิดชอบของสื่อ” โดย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ว่าที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้การเมืองอยู่ในภาวะของการแย่งชิงอำนาจผลประโยชน์ของคนสองฝ่าย โดยได้อ้างอิงการต่อสู้ของภาคประชาชนเป็นฐาน กลายเป็นสงครามการเมืองที่สู้กันไม่มีที่สิ้นสุด ขณะที่สื่อตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยเฉพาะวิทยุชุมชนบางส่วนได้ทำการปลุกระดมจนสังคมเกิดความแตกแยก ดังนั้น ในสถานการณ์เช่นนี้สื่อจะทำหน้าที่จุดปัญญาให้สังคม หรือจุดไฟแตกแยกให้มากขึ้น ซึ่งในที่สุดจะนำไปสู่การจลาจลหรือก่อการร้ายเหมือนที่เคยเกิดขึ้น นอกจากนี้ สื่อยังต้องเผชิญกับพลังของทุนนิยมกดดันทำให้สื่อต้องกลายเป็นกระบอกเสียงของนักธุรกิจหรือนักธุรกิจการเมือง

“เงื่อนไขเหล่านี้เป็นปัจจัยทำให้สื่อต้องเลือกข้าง ต้องทำการปลุกระดมตอกย้ำความรุนแรง ดังนั้น สิ่งที่สำคัญอยู่ที่รัฐจะจัดการอย่างไรกับสื่อลักษณะนี้ แต่ยืนยันว่าการใช้กฎหมายหรืออำนาจจัดการจะเป็นวิธีที่ไร้ประสิทธิภาพที่สุด” นพ.นิรันดร์ กล่าว

นายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การใช้สิทธิเสรีภาพในการสื่อสารของแต่ละสังคมย่อมมาจากรากฐานของชาติที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างในเยอรมนี หากมีการพูดว่าการไม่เชื่อว่ามีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวเกิดขึ้นจริง หรือถ้าเกิดจริงก็เป็นการจัดฉากของสหรัฐฯ ผู้พูดจะถูกจับทันที เพราะเยอรมนีสร้างชาติมาจากการปฏิเสธอำนาจของนาซี ขณะที่สหรัฐฯ สร้างประเทศจากการวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ของอังกฤษ ดังนั้น คนสหรัฐฯ จะวิจารณ์กษัตริย์ได้ทั่วโลก ปัญหาสิทธิเสรีภาพในเมืองไทยมาจากการที่มีปัญญาชนที่ไปเรียนจากเยอรมนี และสหรัฐฯ ได้รับอิทธิพลในเรื่องสิทธิเสรีภาพไม่เหมือนกันจึงเกิดความขัดแย้งกัน

นอกจากนี้ ในเยอรมนีสื่อยังไม่สามารถนำเสนอข่าวของบุคคลที่ยุยงให้อีกฝ่ายถูกเกลียดชังหรือถูกเหยียดหยามศักดิ์ศรี เปรียบอีกฝ่ายเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือเป็นแมลง เชื้อโรคต่อสาธารณะได้ แต่สื่อเมืองไทยนั้นยังไม่มีการกำหนดขอบเขตการใช้เสรีภาพดังกล่าว เนื่องจากสื่อไทยยังมองว่าการทำสื่อ คือ การจำหน่ายสินค้า เปรียบคนที่ซื้อข่าวเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท โดยเป้าหมายอยู่ที่เรตติ้งมากกว่าคุณธรรม ดังนั้น สื่อไทยจึงเลือกที่จะนำเสนอข่าวที่ตื่นเต้น หวือหวา โดยไม่คิดว่าตัวเองเป็นสะพานข้ามไปสู่การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย โดยเฉพาะในภาวะวิกฤตขอเรียกร้องให้สื่อเปิดเวทีถกเถียงบนหลักการและเหตุผล โดยทำให้น่าสนใจกว่าฟังการถกเถียงกันบนท้องถนน

นางพิรงรอง รามสูตร อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สื่อในเมืองไทยสามารถแบ่งแยกได้เป็น 5 ประเภท คือ 1.สื่อการเมือง เช่น เอเอสทีวี ดีสเตชั่น 2.สื่อเชิงธุรกิจ เช่น หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ที่แอบการเมืองด้วย 3.สื่อสาธารณะ เช่น สถานีโทรทัศน์ไทยทีวี 4.สื่อชุมชน เช่น วิทยุชุมชน และ 5.สื่อภาคพลเมือง ซึ่งปรากฏในเว็บไซต์ เช่น บล็อกเกอร์ต่างๆ โดยในภาวะวิกฤตเช่นนี้การนำเสนอของสื่อต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยใช้เหตุผล และการวิเคราะห์มากขึ้น

นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นายกสมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเสนอข่าวของสื่อจะถูกกำหนดโดยวัฒนธรรมและความเชื่อ อย่างสื่อไทยก็จะถูกสอนว่าอย่าไปแตะ หรือวิพากษ์วิจารณ์บางเรื่อง บางองค์กร นอกจากนี้ ยอมรับว่าทุนเป็นปัจจัยสำคัญของสื่อโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ 100 เปอร์เซ็นต์ โฆษณาจากหน่วยงานภาครัฐถือเป็นรายได้หลัก เพราะถ้าไม่มีตรงนี้พนักงานก็จะอยู่ไม่ได้ แต่ติดใจในเรื่องศักยภาพของนักข่าว โดยเฉพาะที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งตนอยากตั้งข้อสังเกตอย่างกรณีการตั้งพรรคการเมืองของพันธมิตรฯที่หยิบประเด็นว่าคนที่ล้มละลายจะสามารถเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองได้หรือไม่ โดยเสนอเป็นประเด็นใหญ่ ทั้งที่สามารถไปดูในข้อกฎหมายได้ก็เขียนไว้ชัดเจนอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน การทำหน้าที่ของผู้ว่าการ คตง.หมดอายุไปแล้วถึง 2 ปี แต่ปรากฏว่าวุฒิสภามีหน้าที่สรรหาผู้ว่า การ คตง.คนใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน กลับไม่ดำเนินการอะไรเลย ทั้งประธานวุฒิฯ และ ส.ว.ที่เป็นนักกฎหมายเกือบทั้งสภา กลับนั่งใบ้ โดยเฉพาะ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.ตรวจสอบทุกเรื่อง แต่ทำไมไม่ตรวจเรื่องของ คตง.บ้าง และนักข่าวก็ไม่ถาม

ด้าน นายเทพชัย หย่อง ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย กล่าวว่า การที่สื่อไปงานวันเกิดนักการเมือง ซึ่งเราก็รู้อยู่ว่าภูมิหลังเขาเป็นเช่นไร สื่อก็ยังเสนอข่าวและให้ความสำคัญเขาอีก สำหรับประเด็นสื่อมวลชนไทยทำหน้าที่ได้ดีแค่ไหนนั้น แต่ทำไมเราถึงไปมองสื่อเลือกข้าง อย่าง เอเอสทีวี หรือ ดีทีวี แต่สื่อที่เป็นแมส อยู่ตรงกลางหายไปไหน ปล่อยให้สื่อ 2 ขั้วเป็นคนกำกับความรู้สึกของประชาชน ซึ่งถือว่าสูงมาก และการถกเถียงเรื่องการเมืองแทนที่จะปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ แต่กลับไปปรากฏในหน้าเว็บไซต์เอง ตนมองว่าถ้าสื่อหันมามองตัวเอง ก็จะหาทางออกได้โดยการมีส่วนร่วม โดยมีการถกเถียงกันอย่างมีเหตุผลนั่นจะเป็นทางออกได้

“ส่วนสื่อที่เลือกข้างจะอันตรายมาก เพราะประชาชนจะไม่ฟังสื่อที่พูดจาไพเราะ เพราะมันไม่เหมือนสื่อที่พูดจาหยาบคาย ซึ่งในอนาคตข้างหน้าสื่อเหล่านี้จะเป็นอันตรายต่อประชาธิปไตย และมีสื่อบางสื่อคอยเป็นสื่อเลือกข้างอยู่กับพรรคการเมือง ทั้งนี้ ไม่กังวลเลยที่กลุ่มพันธมิตรฯ ตั้งพรรคการเมือง และไม่น่าจะมีปัญหาที่มีสื่อคอยอยู่ข้าง เพราะอีกหน่อยสื่อเหล่านี้ก็จะหมดศรัทธาจากประชาชน” ผอ.ทีวีไทย ระบุ

นายเรืองไกรกล่าวว่า ขอตั้งคำถามถึงคนทำสื่อว่าให้ความเป็นธรรมกับผู้บริโภคข่าวหรือไม่ ตนรู้สึกแปลกใจที่พิธีกร ที่มานั่งเล่าข่าวมีรายได้สูงมาก สามารถคืนบริษัทถึง 100 ล้านบาท ถามว่าแค่เล่าข่าวจะมีรายได้ขนาดนั้นได้หรือ เป็นการเอาเปรียบสื่ออื่น ตนไม่ทราบว่าสื่อจะกล้าตรวจสอบกันเองหรือไม่ นอกจากนี้ ตนกำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อตรวจสอบสื่อที่รับบริจาคและทำมูลนิธิ อย่างไรก็ตามขอเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ตรวจสอบว่าสื่อเหล่านี้มีรายได้เกินจริงหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในตอนท้ายของการสัมมนาบรรยากาศดุเดือดขึ้น เมื่อนายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น สอบถามนายประสงค์ถึงข่าวการปลดนายเสถียร จันทิมาธร บรรณาธิการนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าเข้าข้างกลุ่มสีแดง เป็นการแทรกแซงหรือไม่ นายประสงค์ยืนยันว่า ไม่มีการปลดตำแหน่งดังกล่าว แต่นายประวิตรถามต่อว่า เว็บไซต์ผู้จัดการรายงานว่ามีการปลด แต่นายประสงค์ถามกลับว่า คุณเชื่อถือเว็บไซต์ดังกล่าวหรือ ซึ่งนายประวิตรพยายามจะถามเอาความจริงให้ได้ แต่นายประสงค์กลับไม่ตอบ แต่ถามกลับไปว่ามีเจตนาอะไรที่มาถามเช่นนี้ มติชนถูกด่าหลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยแก้ข่าว เพราะเราให้ประชาชนตัดสินว่าใครน่าเชื่อถือกว่ากัน



Create Date : 01 มิถุนายน 2552
Last Update : 1 มิถุนายน 2552 13:41:02 น. 0 comments
Counter : 572 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สุริยาอัสดง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




เปิดโลกด้วยแสงแห่งปัญญา
Thaiflood
Friends' blogs
[Add สุริยาอัสดง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.