อาทิตย์สาดส่อง..ความจริงจักปรากฎทั่วปฐพี!!!
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2554
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
4 สิงหาคม 2554
 
All Blogs
 
อุดมการณ์"สื่อ"

อุดมการณ์สื่อ saga: ปลดแอก?
Wed, 12/01/2011 - 10:18 — ใบตองแห้ง

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลโดย ฯพณฯ องอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตีปี๊บร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งไทยโพสต์พาดหัวข่าวได้ตรงเป้า เข้าประเด็น ว่า “จ่อคลอดกฎหมาย คุ้มครองสิทธิสื่อ ปลดแอกนายทุน”


หัวร่อกลิ้งเลยครับ รัฐบาลซึ่งประกาศ พรก.ฉุกเฉิน ควบคุมสื่อ ปิดเว็บไซต์มาเกือบปี คุยฟุ้งว่าจะให้เสรีภาพสื่อ ยกเอาการ “ปฏิรูปสื่อ” มาเป็นหนึ่งในวาระ “ปฏิรูปประเทศไทย”


แกล้งทำเป็นลืมฉายา “กริ๊ง สิงสื่อ” ของตี๋สาทิตย์ไปซะแล้ว ที่เที่ยวโทรไปชี้นำกำหนดประเด็นข่าวสถานีวิทยุโทรทัศน์ของรัฐ นั่นน่ะหรือ “ปลดแอก”


องอาจผู้มีคอนเนคชั่นอันดีกับสื่อ บอกว่านี่เป็นกฎหมายที่องค์กรวิชาชีพสื่อร่างเอง รัฐบาลไม่ได้แทรกแซง ผมเชื่อครับ แต่จะให้เชื่อว่าในโลกนี้มีกฎหมายที่ “คุ้มครองสิทธิสื่อ ปลดแอกนายทุน” คงสนตะพายกันยาก เพราะสภาพความเป็นจริงมันไม่มี


ถามหน่อยเหอะ ไอ้การคุ้มครองสิทธิสื่อในฝัน แบบที่จินตนาการว่าจะให้นักข่าว หัวหน้าข่าว คอลัมนิสต์ เป็นกบฎต่อนายจ้าง แล้วยังทำหน้าที่อยู่ได้ มันมีจริงๆ หรือ ในประวัติศาสตร์สื่อไทย มีเจ้าของหนังสือพิมพ์คนเดียวที่ใจกว้าง ให้ลูกน้องเขียนขัดคออยู่ได้ตั้ง 3 ปี คือเถ้าแก่เปลว สีเงิน ของผม นอกนั้นไม่เคยมี


แต่ก็ไม่ใช่ว่า “นายทุน” หนังสือพิมพ์จะทำตัวเหมือนเจ้าของโรงงานนรก สั่งอะไรทุกคนต้องทำตาม ถ้าคิดอย่างนั้นก็ผิดตั้งแต่แรก นายทุนสื่อไทยมี 2 ประเภท คือนายทุนที่เติบโตมาจากสื่อ เช่น ขรรค์ชัย บุนปาน, สนธิ ลิ้มทองกุล, สุทธิชัย หยุ่น, ระวิ โหลทอง กับนายทุนคนนอก แบบตระกูลจิราธิวัฒน์เจ้าของค่ายบางกอกโพสต์ ส่วนไทยรัฐกับเดลินิวส์ แม้ไม่ได้มาจากคนข่าว แต่ตระกูลวัชรพล, เหตระกูล ก็ทำธุรกิจสื่อมาครึ่งศตวรรษ จนรู้ธรรมชาติสื่อเป็นอย่างดี


นายทุนแบบแรกเนี่ยนอกจากเป็นนายทุนแล้วยังมีความเป็น “ศาสดา” ด้วย คือมีบารมีทางความคิดเหนือนักข่าว หัวหน้าข่าว คอลัมนิสต์ บางสำนักก็ปวารณาเป็นสาวกตั้งแต่หัวจดหาง แข่งกันยกย่องเชิดชูศาสดาในหน้าหนังสือพิมพ์ตัวเอง (คงไม่ต้องบอกว่าสำนักไหน ฮิฮิ)


แต่ต่อให้เป็นนายทุนจริงๆ ปัจจุบัน นายทุนกับสื่อส่วนใหญ่ก็อยู่แบบอะลุ่มอล่วย นายทุนเข้าใจสื่อว่าไอ้พวกบ้าน้ำลายพวกนี้ต้องปล่อยให้มันมีเสรีภาพในการแกว่งปากบ้าง สื่อก็เข้าใจนายทุนว่าต้องหารายได้ ต้องขายโฆษณา ซึ่งบ่อยครั้งที่ต้องพัวพันกับนักการเมือง กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ บุคคลระดับสูงของสังคม แต่ทำไงได้ เพราะปัจจุบันสื่อเป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ มูลค่ามหาศาล รายรับรายจ่ายต่อปีเป็นหลายร้อยหรือพันล้าน หมดสมัยแล้วที่จะทุบหม้อข้าวตัวเองเพื่ออุดมการณ์หัวชนฝา เพียงแต่ไม่ได้บอกว่าใครใคร่ซื้อ ซื้อ ทั้งนายทุนทั้งสื่อ รู้ดีว่าต้องหาที่ยืนที่พอจะอะลุ่มอล่วยกันได้ระหว่างอุดมการณ์กับผลประโยชน์


สมมติเช่นข่าวการเมืองเรื่องสาธารณะ เราต้องเล่น เพราะเราไม่เล่น ฉบับอื่นก็เล่น แต่ถ้านักการเมืองที่ตกเป็นเป้า ซึ้ปึ้กกับเจ้าของสื่อ หรือเป็น “ขาใหญ่” ให้โฆษณาหน่วยงานของรัฐ มันก็มีวิถีทางถ้า “คุณขอมา” เช่น ลดน้ำหนัก ลดอันดับข่าว จากหัวไม้ตัวเป้งไปเป็นข่าวรอง ลดความรุนแรงของหัวข่าว-โปรยข่าว และให้โอกาสชี้แจงเผื่อน้ำใจไมตรี เหล่านี้เป็น “ศิลปะแห่งวิชาชีพ” ซึ่งรู้กันระหว่างนายทุนกับสื่อ โดยไม่มีสอนในคณะนิเทศศาสตร์ที่ไหน


ตัวอย่างเช่น คุณทำสัมภาษณ์พิเศษ ก็ต้องรู้ว่าบางครั้งมันต้องเอื้อให้ “ผู้มีอุปการะคุณ” แต่เราจะจัดให้เหมาะสมอย่างไร ปีหนึ่งมี 52 สัปดาห์ “คุณขอมา” สัก 2-3 สัปดาห์ ก็ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย ที่เหลือยังถือเป็นอิสระมากมายล้นพ้น เพียงแต่ต้องคุยกันสรรหาประเด็นให้มันน่าสนใจบ้าง แล้วก็ต้องเชื่อใจกันระดับหนึ่ง ไม่ใช่สัมภาษณ์แล้วขอดูต้นฉบับก่อนตีพิมพ์ แล้วแก้มาแดงเถือก


นี่คือความเป็นจริงที่มีอยู่ในสื่อทุกฉบับ ทุกคลื่น ทุกสถานี


ฉะนั้น ความคิดที่ว่า “ปลดแอกนายทุน” จึงเป็นเรื่องเหลวไหล เพราะสภาพความเป็นจริงไม่มีหรอกที่สื่อจะเป็นกบฎต่อนายจ้างแล้วยังทำหน้าที่อยู่ ความขัดแย้งมีบ้างแต่ก็ต่อรองถ้อยทีถ้อยอาศัย ถ้าขัดแย้งจริงๆ มากๆ เข้า ก็ทางใครทางมัน จะไปเอากฎหมายที่ไหนมาบังคับว่าต้องให้สิทธิอิสระกับสื่อ


สมัยซัก 20 ปีก่อนยังพอมี ที่สื่อกับนายทุนขัดแย้งกันแล้วยกทีมออก ย้ายค่าย เลือกอุดมการณ์แทนหม้อข้าว แต่สมัยนี้สื่อแต่ละค่ายต่างก็สถาปนาตนเป็นยักษ์ใหญ่ ให้ค่าตอบแทนสูง ให้ความรู้สึกเป็นเจ้าขององค์กร มีศักดิ์ศรี มีบารมี ร่วมกับหัวหนังสือที่ตัวเองสังกัด สมัยนี้จึงไม่มีแล้วครับ สื่อย้ายค่าย เว้นแต่นักข่าวเด็กๆ ในพื้นที่ ส่วนพวก Dead Wood ถ้าลาออก มีแต่ตกงานสถานเดียว (ฮา)



ส่วนตัว-ส่วนรวม


เรื่องของสื่อรับทรัพย์ รับจ้างเขียน มีมาตั้งแต่สมัยไหนผมก็ไม่ทราบ จำได้ว่าเป็นเด็กนุ่งขาสั้นก็มีข่าวยิงกันตาย เกี่ยวพันกับคอลัมนิสต์บันเทิงชื่อดัง เมื่อหลายปีก่อนก็เกิดเหตุนักข่าวภูธรประชุมโต๊ะกลม ซัลโวกันสนั่น ตายเกือบยกจังหวัด และเมื่อหลายปีก่อนก็เกิดคดีฆ่าหัวหน้าข่าวภูมิภาคหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ คนวงนอกอาจสงสัย เอ๊ะ ทำไมต้องถึงขั้นฆ่ากัน คนวงในอธิบายว่า หัวหน้าข่าวภูมิภาคเปรียบได้กับรัฐมนตรีมหาดไทยของยักษ์ใหญ่ค่ายนั้น มีอำนาจแต่งตั้งหรือปลดนักข่าวทุกจังหวัด ซึ่งความเป็นนักข่าวยักษ์ใหญ่ ผู้ว่าฯ ผู้การ ผู้กำกับ ฯลฯ ล้วนต้องเกรงใจ เอื้อให้ประกอบธุรกิจอื่น


นั่นคือพฤติกรรมส่วนบุคคลของนักข่าว คอลัมนิสต์ ในอดีต (และปัจจุบันก็ยังไม่หมด) ซึ่งมีที่มาจากหนังสือพิมพ์ต้นสังกัดให้เงินเดือนน้อย ปล่อยให้เป็น “นักบิน” หากินเอง วงการหนังสือพิมพ์เพิ่งมาปรับฐานเงินเดือนครั้งใหญ่ สมัยสนธิ ลิ้มทองกุล ก่อตั้งผู้จัดการ เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วนี่เอง นักข่าวรุ่นหลังๆ ที่รายได้ดีสวัสดิการเพียบในสมัยนี้ ต้องกราบสนธิ ลิ้ม งามๆ 3 ทีนะครับ เพราะสนธิมีคุณูปการอย่างสูงต่อวิชาชีพ ให้เงินเดือนนักข่าวสูงกว่าตลาดเกือบ 2 เท่า ค่ายอื่นๆ กลัวสมองไหล หรือถูกนักข่าวเรียกร้อง ก็ต้องปรับด้วย สมัยนั้นผมอยู่แนวหน้า เป็นรีไรเตอร์แล้วขึ้นเป็นหัวหน้าข่าว จำได้ว่าเงินเดือนหมื่นต้นๆ บารมีสนธิทำให้ผมเงินเดือนพุ่งขึ้นไปถึง 17,500 (เอ้า! กราบ)


ส่วน “กาแฟดำ” น่ะหรือ สมัยนั้นนักข่าวรวมหัวกันตั้งสหภาพ ผลคือถูกเฉดหัวออกหมด


สนธิยังตั้งศูนย์ข่าวภูมิภาค ให้นักข่าวมีเงินเดือนประจำ มติชนก็ทำตาม สมัยก่อนนักข่าวภูมิภาคได้แค่ค่าข่าว คิดกันเป็นคอลัมน์นิ้ว ฉะนั้นส่วนใหญ่ก็จะต้องประกอบอาชีพ “นักบิน” หรือทำหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นตรวจหวยไปด้วย (สมัยนี้ก็ยังมี แต่เริ่มปรับเป็นมืออาชีพมากขึ้น)


อย่างไรก็ดี ถ้ากล่าวเฉพาะนักข่าวการเมือง ส่วนใหญ่แล้ว clean มาตั้งแต่สมัยกัดก้อนเกลือกิน แม้จะมีคอลัมนิสต์ที่เรียกกันว่า “18 อรหันต์” รับจ้างเขียนเชียร์หรือวิ่งเต้นปัดเป่า โดยอาศัยความเป็นรุ่นใหญ่ น้องๆ นุ่งๆ เกรงใจ รวมทั้งยังต่อสายคอนเนคชั่นไปถึงเจ้าของหนังสือพิมพ์


แต่หน้าที่ (หรือจุดขาย) ของสื่อคือการวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจ ซึ่งก็คือรัฐบาล คือนักการเมือง มันจึงเลี่ยงไม่พ้นที่ต้องปะทะกันโดยตรง การที่นักการเมืองจะมาจ่ายเงินปิดปากสื่อ 10 ฉบับ ไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์พร้อมกันจึงทำได้ยาก โดยเฉพาะเวลาที่นักการเมืองคนนั้นตกเป็นเป้ากระแสสังคม (อย่าว่าแต่จ่ายสื่อเลย บางคนเป็นเพื่อนซี้เจ้าของหนังสือพิมพ์ยังเอาตัวไม่รอด ตัวอย่างเช่น บิ๊กสุเป็นเพื่อนขรรค์ชัย บุนปาน ตั้งแต่นุ่งขาสั้น พอ “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ขึ้นมา ร้อยขรรค์ชัยก็ช่วยไม่ไหว)


มีบ้างเหมือนกันที่นักการเมือง “ซื้อ” นักข่าวบางคน แต่ถ้าติดสอยห้อยตามกันผิดสังเกต หรือความแตกเกิดเรื่องอื้อฉาว เช่นที่เคยเกิดเมื่อ 5-6 ปีก่อน นักข่าวคนนั้นก็อยู่ไม่ได้ เพื่อนไม่คบ ต้องพ้นไปจากวิชาชีพ (ไปรวยกว่าเป็นนักข่าว-ฮา) ฉะนั้นนักการเมืองส่วนใหญ่ จึงหาวิธี “ซื้อใจ” มากกว่า เช่น ผูกมิตร ทักทาย ให้ข่าว แพลมข่าวเอ็กซ์คลูซีฟ หรือเอาข้อมูลมาให้แฉฝ่ายตรงข้าม สนิทกันแล้วนานๆ ค่อยเลี้ยงข้าวที (เรื่องแบบนี้ ปชป.ถนัดนัก)


ให้สังเกตว่า นักการเมืองที่ตกเป็นเป้าของสื่อ ส่วนใหญ่ก็คือพวกที่อยู่ทำเนียบ สภา มหาดไทย แต่ถ้าเป็นกระทรวงสังคมหรือกระทรวงเศรษฐกิจ จะเป็นเป้ารองลงมา เพราะหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่จะแยกโต๊ะข่าวการเมืองกับโต๊ะข่าวเศรษฐกิจ แล้วโต๊ะข่าวการเมืองมักคุมหน้าหนึ่ง หรือ บก.ข่าวหน้าหนึ่งมาจากโต๊ะการเมือง มักจะสนใจ “ข่าวปิงปอง” มากกว่าโครงการหมื่นล้านแสนล้าน พวกรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจจึงสบายไป กระทรวงพวกนี้ไม่เป็นข่าวรายวัน ว่างๆ ยังจัดสัมมนา ดูงาน ทั้งในและต่างประเทศ


ช่วงหลังหนังสือพิมพ์ก็ปรับตัวขึ้นนะครับ เริ่มสนใจกระทรวงคลัง คมนาคม พาณิชย์ ไอซีที แต่ก็ยังไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร


นักข่าวเศรษฐกิจ พวกที่อยู่ตามกระทรวงไม่ค่อยมีปัญหา จะมีก็พวกสายข่าวธุรกิจเอกชน ข่าวการตลาด เพราะแน่นอนว่าเราลงข่าวให้เขา เขาก็ได้ผลประโยชน์ เอ๊ะแล้วเราจะทำให้ฟรืทำไม มันจึงเป็นเรื่องที่แยกแยะลำบาก สมัยก่อนๆ อาจไม่มีอะไรมาก สิ้นปี หรือวันเกิด บริษัทห้างร้านก็จะหิ้วกระเช้ามาให้ ผมเคยทำงานแห่งหนึ่ง โต๊ะข่าวการเมืองกับโต๊ะข่าวเศรษฐกิจศรศิลป์ไม่กินกัน โห นั่งอดอยากปากแห้งดูกระเช้าผลไม้ เค้ก เหล้า กาแฟ ฯลฯ กองเต็มโต๊ะเศรษฐกิจ ขณะที่โต๊ะการเมืองว่างเปล่า (มาอยู่ไทยโพสต์ดีหน่อยเพราะจัดระบบเป็นของส่วนรวม)


ต่อมาเศรษฐกิจเฟื่องฟู บริษัทใหญ่ๆ จัดแถลงข่าว เปิดตัวสินค้า หรือจัดงานปีใหม่ ก็มีจับสลากแจกของขวัญนักข่าว ถ้าแจกแค่เสื้อยืดก็คงไม่เป็นไร แต่มันลามไปถึงแจกมือถือ แจกเครื่องใช้ไฟฟ้า แจกสร้อยทอง ฯลฯ เพื่อนนักข่าวสายอื่นก็โวยสิครับ สโมสรผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจจึงเข้ามาควบคุม สื่อสำนักต่างๆ ก็ควบคุม จึงดีขึ้น แต่ก็ยังมีเล็ดรอดอยู่บ้าง


อย่างเช่นเมื่อปีใหม่ที่ผ่านมานี่เอง บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่จัดงาน เชิญพิธีกรเล่าข่าวบางคน คอลัมนิสต์บางคน เป็นการเฉพาะตัว แต่ก็มีนักข่าวไป 2-3 คน จับสลากของขวัญ รางวัลสูงสุดเป็นถุงไม้กอล์ฟ สนนราคาราว 5 หมื่น รางวัลต่ำสุดเป็น i-phone ราคาราวสองหมื่น ใครได้ไปบ้างผมไม่ทราบ แต่ความแตกเพราะมีนักข่าวเครือเนชั่นรายหนึ่งได้พัตเตอร์ราคา 3 หมื่น แล้วไม่รับ เอาไปคืน ต้องปรบมือให้


ก่อนหน้านั้นก็มีค่ายมือถือจัดงาน แล้วแจก i-phone รับกันทั่วหน้า แต่นักข่าวไอซีทีโวยว่าแบกหม้อก้นดำ เพราะนักข่าวไม่ได้ไป แต่ดันมีพวกคอลัมนิสต์กับฝ่ายการตลาดของสื่อต้นสังกัดไปแทน รวมทั้งพวกนักข่าวนิตยสาร


งานนี้ได้ยินว่าพิธีกรเล่าข่าวก็ไปด้วย แต่ได้ของขวัญหรือเปล่าไม่รู้ ถึงได้ก็พูดลำบาก เพราะสถานะเขาไม่น่าจะเป็นนักข่าวแล้ว เป็นเซเลบส์มากกว่า เซเลบส์ไปโชว์ตัวก็คิดว่าเขาควรได้ค่าตอบแทน


นักข่าวสายอื่นๆ ที่เหนื่อยหน่อยก็สายตำรวจ ไม่ใช่ว่านักข่าวตำรวจแย่ไปเสียหมดนะครับ แต่ต้องมีศิลปะในการเลี้ยงตัว เพราะตำรวจอยู่กับเรื่องสกปรก พัวพันผลประโยชน์ยุบยับไปหมด รักจะคบตำรวจก็ต้องยืดหยุ่นได้ แต่ต้องไม่ถลำไปด้วย บางครั้งมันก็มีเรื่องแลกเปลี่ยน เช่นโรงพิมพ์หรือหัวหน้าข่าวฝากเอาใบสั่ง เพื่อนฝากเอาใบสั่ง เล็กๆ น้อยๆ ขอกันได้ แต่ถ้าถึงขั้นรับเงินวิ่งเต้นย้ายตำรวจ ก็ขึ้นกับต้นสังกัดว่าแข็งพอหรือเปล่า


ต้องยอมรับว่านักข่าวตำรวจวางตัวยากที่สุด เพราะหนังสือพิมพ์ถ้าไม่ด่าตำรวจ จะไปขายใครได้ แต่ขณะเดียวกัน ตัวนักข่าวก็ต้องสร้างความสัมพันธ์กับตำรวจ


อย่างไรก็ดี นักข่าวสายหลักยังถูกตรวจสอบหรือตรวจสอบกันเองมากกว่านักข่าวสายรอง อย่างสายบันเทิงเมื่อก่อนเป็นแดนสนธยายาวนาน ถึงขั้นเจ้าพ่อยึดเก้าอี้นายกสมาคมจนตายคาเก้าอี้ สายกีฬา สมาคมกีฬาต่างๆ คือแหล่งที่นักการเมือง เจ้าพ่อ บิ๊กราชการ ใช้ “ฟอกตัว” พวกนี้เปย์ไม่อั้น แต่ก็ขึ้นกับตัวนักข่าวและต้นสังกัด ว่าดูแลกันดีหรือเปล่า


นอกจากนี้ก็มีพวกนักข่าวผี ช่างภาพผี มีสังกัดมั่ง ไม่มีสังกัดมั่ง (จำพวกติดป้าย “ข่าว” ตัวโตๆ หลังรถ แต่ไม่เคยได้ยินชื่อหนังสือ) พวกช่างภาพผีชอบโผล่สลอนเวลามีงานใหญ่ๆ ถ่ายภาพให้นักการเมือง พ่อค้า บิ๊กราชการ แล้วเก็บตังค์ บางคนก็เป็นช่างภาพหนังสือพิมพ์หลัก แต่รับงานอดิเรก ถ่ายภาพให้นักการเมืองแล้วจัดทำเป็นอัลบั้มมาให้อย่างสวยงาม ข่าวทีวีสมัยเริ่มแรก ก็ทำมาหากินแบบนี้ มีผู้ช่วยช่างภาพ (คนขับรถนั่นแหละ) เป็นตัวเรียกรับ ต่อมาพอข่าวทีวีเป็นหลักเป็นฐานแข่งขันกันมากขึ้นค่อยหายไป (กลายเป็นข่าวธุรกิจที่สถานีรับตรง)


คอลัมน์ต่างๆ ในหนังสือพิมพ์ ก็มีไม่น้อยที่เป็นการ “ขาย” พื้นที่ในรูปแบบของการเสนอข่าวสาร ยกตัวอย่างง่ายๆ คอลัมน์แนะนำรถยนต์ คุณเขียนแนะนำรถรุ่นใหม่ให้เขาขายได้เป็นหมื่นเป็นแสนล้าน ถามหน่อยว่าคุณจะเขียนฟรีหรือ ฟายสิครับ! หนังสือพิมพ์ก็ต้องเสียค่าหมึกค่ากระดาษ ร้อยทั้งร้อยต้องมีค่าตอบแทน ซึ่งก็มีหลายรูปแบบ เช่น พ่วงสัญญาโฆษณา โดยคนเขียนคอลัมน์ได้ค่านายหน้า หรือไม่ก็ถือเป็นเนื้อที่โฆษณา จ่ายตรง แล้วคนเขียนคอลัมน์ไปจ่ายนายทุนอีกทอดหนึ่ง


วิธีหลังเขาเรียกว่า “ซื้อหน้า” คือมีมืออาชีพเข้ามาซื้อพื้นที่ แล้วบริหารจัดการเป็นหน้าๆ อาทิเช่น หน้ารถยนต์ หน้าพระเครื่อง หรือแม้แต่หน้าบันเทิง ลงข่าวแจกที่ประชาสัมพันธ์ค่ายต่างๆ เขียนข่าวซุบซิบดารางี่เง่าไร้สาระส่งมาให้ ขนาดนั้นก็เป็นเงินเป็นทอง


ที่เล่ามาทั้งหมดนี้คือผลประโยชน์ในวงการสื่อตั้งแต่อดีต ซึ่งมีทั้งผลประโยชน์ส่วนตัวและบางส่วนก็เป็นผลประโยชน์เจ้าของหนังสือด้วย สภาพเช่นนี้ปัจจุบันก็ยังมีอยู่บ้าง แต่สื่อหลายๆ ค่ายและองค์กรสื่อคุมเข้มกวดขันมากขึ้น ผลประโยชน์หลายอย่างมีลักษณะ “ทางการ” มากขึ้น เช่น นักข่าวไปทำข่าวจนสนิทสนมกับแหล่งข่าวแล้วได้โฆษณามา ก็ได้เปอร์เซ็นต์ไปเหมือนเซลส์ขายโฆษณาคนหนึ่ง


อย่างนี้ผมก็เคยได้ ปี 50 ผมสัมภาษณ์ทุกพรรคการเมืองก่อนเลือกตั้ง แล้วมีพรรคหนึ่งให้โฆษณา บริษัทให้เปอร์เซ็นต์มาแบ่งกับน้องๆ ถามว่าผิดไหม ก็เราไม่ได้เรียกรับ ไม่ได้บอกว่าต้องลงโฆษณาถึงจะสัมภาษณ์ เพราะพรรคอื่นๆ ก็ไม่ได้ให้โฆษณา และไม่ใช่ว่าให้ค่าโฆษณาแล้วจะเขียนให้ดีกว่าคนอื่นๆ


แต่ถ้าเกิดความผูกพัน เรารับโฆษณาพรรคนี้บ่อยๆ มีอะไรก็ยกหูกริ๊งกร๊างกัน อันนั้นละเป็นเรื่อง ดังจะกล่าวต่อไป



โฆษณารัฐ

PR องค์กร


ค่าโฆษณา-รายได้หลักของสื่อ ในอดีตสมัยที่ยังโฆษณายาแก้ไอชวนป๋วยปี่แป่กอตราลูกกตัญญูหรือน้ำปลาทั่งซังฮะ ไม่เคยเป็นปัญหากับจุดยืนของสื่อ เว้นแต่จะมีจิ้งจกตกลงไปตายในขวดน้ำปลา


แต่ที่มันเริ่มมีปัญหา ก็เมื่อมีการใช้งบประมาณแผ่นดินมาโฆษณาประชาสัมพันธ์หน่วยงานของรัฐ โครงการของรัฐ ซึ่งเริ่มมีมากในยุคชวน 2 (สนธิ ลิ้ม เคยโวยว่าไม่ได้โฆษณาของรัฐบาลซักชิ้น เพราะด่าธารินทร์ นิมมานเหมินทร์)


งบก้อนนี้เพิ่มขึ้นมหาศาลในยุคทักษิณ ผู้เชี่ยวชาญโปรโมชั่น แล้วก็ยิ่งทุ่มไม่อั้นในยุค “ไทยเข้มแข็ง” ที่เคยด่าทักษิณว่าซื้อสื่อ


ขณะเดียวกัน เมื่อธุรกิจการเมืองเติบโตขึ้น ธุรกิจยักษ์ใหญ่ก็เลี่ยงไม่พ้นความผูกพันกับการเมือง ยกตัวอย่าง AIS แบงก์กรุงเทพฯ แบงก์กสิกร ซีพี สหพัฒน์ ฯลฯ (ทีพีไอคงไม่ต้องพูดถึง) แม้กลุ่มธุรกิจส่วนใหญ่จะยังไม่ถึงกับแยกค่ายแบ่งสีลงโฆษณา


ยิ่งไปกว่านั้นคือ วิธีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ในยุคนี้ เขาไม่ใช้การโฆษณาทื่อๆ ว่าสินค้าของตัวเองดี ใช้นาน ทนทานกว่าเพื่อน แบบถ่านไฟฉายตรากบ แต่มันเปลี่ยนมาเป็นการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ขององค์กร ที่เรียกว่า CSR โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย


ยกตัวอย่างเช่นเมื่อก่อน “เป๊ปซี่ดีที่สุด” แต่สมัยนี้ “เป๊ปซี่ จิตอาสา” น้ำดำที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการเลย โฆษณาว่าไปสร้างที่อยู่อาศัยให้ผู้ยากไร้ ปตท.หลบเสียงด่าน้ำมันแพงด้วยการปลูกป่า “1 ล้านกล้าถวายพ่อ” ซีพีไก่แ-กด่วน ก็โปรโมท “CPF เพื่อชีวิตยั่งยืน” เป็นต้น


โฆษณาพวกนี้มันเป็น “ข่าว” ได้ด้วย สามารถสอดแทรกโฆษณาเข้ามาในการนำเสนอข่าวได้ “เนียน” กว่าเดิม เช่น สื่อสามารถไปสัมภาษณ์เจ้าสัวซีพีว่าด้วย “ชีวิกที่ยั่งยืง” ปตท.พาทัวร์ไปดูพื้นที่ปลูกป่าแล้วกลับมาเขียนเชียร์ (คือเชียร์ปลูกป่า แต่เท่ากับเชียร์ ปตท.ไปในตัว)


ปัญหาคือมันทำให้ยิ่งสับสน ว่าสื่อได้ตังค์หรือเปล่า กับข่าว PR พวกนี้ ฉบับเล็กๆ อาจจะไม่ได้ อาจจะพ่วงมากับสัญญาโฆษณา แต่ฉบับใหญ่หรือรายการทีวีที่เวลาเป็นเงินเป็นทองยิ่งไม่แน่ใจ


เอ้า ยกตัวอย่าง พิธีกรเล่าข่าวพูดปิดท้ายรายการ เชิญชวนไปงานวันเด็กของธนาคารออมสิน คุณคิดว่าไม่มีอะไรใช่ไหม น่าจะเป็นเรื่องธรรมดาๆ แต่อย่าลืมนะว่า ธนาคารออมสินเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งปัจจุบันมีงบโฆษณาประชาสัมพันธ์องค์กร และงานวันเด็กก็เป็นงาน event สำคัญที่เชิญชวนคนมาเยอะๆ จะได้เพิ่มจำนวนลูกค้า


ข่าวแบบนี้ถ้าเป็นหนังสือพิมพ์เล็กๆ เราเรียกว่า “ข่าวแจก” ลงให้บรรทัดสองบรรทัด แลกกับมิตรจิตมิตรใจ แต่เวลาสามสิบวิ ของรายการทีวีเป็นเงินเป็นทองนะครับ


ยิ่งถ้าพูดถึงการจัดงาน event ของเอกชน ก็ยิ่งน่าสงสัยเข้าไปใหญ่ ส่วนข่าวธุรกิจประเภทเปิดตัวสินค้าใหม่คงไม่ต้องพูดถึง ถ้าผู้ชมไม่โง่เกินไปคงเดาได้


งาน event ก็เป็นรูปแบบใหม่ของการโฆษณา เพราะสามารถทำให้เป็นข่าว งาน event ยังเป็นไลน์ธุรกิจใหม่ของสื่อบางสำนัก ที่แยกไปตั้งบริษัทลูกรับจัดงาน event ให้บริษัทห้างร้านและหน่วยงานราชการ รับเหมาครบวงจร ประชาสัมพันธ์ ตัดริบบิ้นเปิดงาน ทำวีดิทัศน์ให้เสร็จสรรพ สื่อบางค่ายว่ากันว่ารายได้งาน event แซงยอดขายหนังสือพิมพ์ไปแล้ว


ภายใต้รูปแบบการโฆษณาแบบ CSR นี้ เมื่อรัฐทุ่มเงิน PR ไม่อั้น มันก็ทำให้การรับผลประโยชน์ของสื่อ “เนียน” กว่ายุค 18 อรหันต์ หรือนักข่าวผี ช่างภาพปีศาจ


เพราะโฆษณา CSR มันคือการรับหน้าที่สร้างภาพลักษณ์ ไม่ใช่ให้ตังค์ไปลงสี่สีเต็มหน้าหรือออกสปอตโฆษณาเฉยๆ สมมติ จส.100 ออกอากาศทุกวันว่า Easy Pass ทำให้รถติดมากขึ้น (เพราะต้องแบ่งช่องเป็น easy กับ difficult แล้วไม่สามารถแบ่งให้สมดุลกับปริมาณรถที่เปลี่ยนแปรไปตามวันเวลา) คุณว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจะยังอยากจ่ายค่าสปอตโฆษณา จส.100 ไหม


ประเด็นสำคัญคือ โฆษณาหน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ ไม่ได้ติดต่อซื้อขายตรงไปตรงมา แบบบริษัทเอกชนจ้างเอเยนซี แล้วเอเยนซีไปจัดลำดับให้ว่าเงิน 100 ล้านจะลงช่อง 3 ช่อง 7 เท่าไหร่ ไทยรัฐ บางกอกโพสต์ กรุงเทพธุรกิจ เดลินิวส์ ข่าวสด ฯลฯ เท่าไหร่ ตามบทบาทความสำคัญที่มีต่อสินค้า (เช่น คอนโดหรูขายฝรั่งเขาก็จะลงบางกอกโพสต์ เนชั่น หมู่บ้านจัดสรรลงไทยรัฐ)


แต่โฆษณาของรัฐ อยู่ในอำนาจนักการเมืองโดยตรง ว่าจะจัดสรรปันส่วนให้สื่อไหน เท่าไหร่ แล้วก็ไม่ได้ติดต่อกับฝ่ายขายโฆษณา แต่ส่วนใหญ่ติดต่อกับนักข่าว คอลัมนิสต์ หรือผู้บริหารสื่อโดยตรง


ตรงนี้สิครับ ที่กำลังจะกลายเป็น “แอก” ตัวจริงของสื่อ ถึงแม้ในภาพรวม การทำหน้าที่องครักษ์พิทักษ์ “ระบอบอภิสิทธิ์” จะเป็นเพราะ “อคติ” หรือ “สุคติ” (ตามความเชื่อของสื่อ) ต่อ “ระบอบทักษิณ” มาตั้งแต่เชียร์รัฐประหารตุลาการภิวัตน์ ให้ท้ายพันธมิตร แต่ระยะหลังๆ เริ่มรู้สึกว่าโฆษณา “มาร์คเข้มแข็ง” มีน้ำหนักมากขึ้นเรื่อยๆ


หนังสือพิมพ์ที่ไม่ต้องพึ่งโฆษณารัฐ ดูเหมือนจะมีแค่ไทยรัฐ ที่ใหญ่ยักษ์จนบริษัทห้างร้านแย่งกันจองคิวโฆษณา ส่วนที่เหลือถ้าถูกถอนโฆษณา ก็มีผลกระทบทั้งสิ้น แม้ตอนนี้ รัฐบาลประชาธิปัตย์พยายามสร้างสัมพันธ์กับสื่อทุกฉบับ แต่ก็เริ่มมีสัญญาณน่ากังขา เช่นค่ายมติชนไม่มีโฆษณา “เชื่อมั่นประเทศไทย” เลย ไม่ทราบว่าเกี่ยวกับจุดยืนทางการเมืองหรือเปล่า


โฆษณารัฐส่วนใหญ่อนุมัติโดยรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง แต่บางพรรคก็มีศูนย์รวม มีรัฐมนตรีที่คอนเนคชั่นกับสื่อโดยตรง กระทรวงที่มีงบโฆษณามากที่สุด ดูเหมือนจะเป็นกระทรวงการคลัง เพราะดูแลรัฐวิสาหกิจใหญ่ๆ หลายแห่ง


เมื่อเดือนกว่าๆ ที่ผ่านมา เพิ่งเกิดคดีเด็ด เป็นที่ฮือฮาในวงการสื่อ กล่าวคือ หัวหน้าข่าวเศรษฐกิจหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง เข้าเวรข่าวหน้า 1 ทำงานเสร็จสรรพกลับบ้าน ตื่นเช้าขึ้นมาอ่านหนังสือพิมพ์ตัวเองแทบช็อก เพราะมีข่าวๆ หนึ่งโผล่มาจากไหนไม่รู้ ระบุว่ามีหัวหน้าข่าวเศรษฐกิจรายหนึ่ง อาศัยความใกล้ชิดหนิดหนมกับรัฐมนตรีตั้งแต่สมัยเป็นโบรกเกอร์ แอบอ้างชื่อรัฐมนตรีไปตั้งบริษัทจ้างทำสื่อ


เฮ้ย ก็ปิดข่าวเองกับมือ ตอนสามทุ่ม ไหงตอนเช้ามันมีข่าวนี้โผล่มาได้ ใครวะปฏิบัติการ “เถาถั่วต้มถั่ว”


ข่าวที่ลงจะจริงหรือเปล่าไม่ทราบ แต่เบื้องหลังข่าวเขาเล่าว่าในกอง บก.มีคนเขม่น หน.ข่าวรายนี้มานานแล้ว ไม่ใช่แค่พฤติกรรมที่พัวพันอะไรต่อมิอะไรหลายอย่าง แต่ยังพบว่า บก.ข่าวเงินเดือนแสนนึง ขณะที่ หน.ข่าว (ตำแหน่งต่ำกว่า) รับเดือนแสนสอง เจ้าของหนังสือพิมพ์ชี้แจงว่าเป็นเพราะ หน.ข่าวหารายได้เข้าบริษัท (บก.ข่าวเลย “วีนแตก”)


กรณีแบบนี้เคยเกิดกับนักข่าวกระทรวงสาธารณสุขในยุคหนึ่ง คือนักข่าวรวมหัวกันตั้งบริษัท รับงานพีอาร์ให้หน่วยงานในกระทรวง แล้วกระจายกันไปลงหนังสือพิมพ์ตัวเอง


งบโฆษณาประชาสัมพันธ์หน่วยงานของรัฐยังเป็นบ่อน้ำมันให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นง่ายที่สุด เพราะอัตราค่าโฆษณาหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ มีอัตราเต็มกับอัตราลด สมมติโฆษณาเต็มหน้า 2 แสน เอาเข้าจริงอาจลดให้ 30% แต่เขียนบิลเต็ม นี่เป็นตลกร้าย เพราะสื่อถือตัวเป็นแนวหน้ารณรงค์ต่อต้านทุจริตคอรัปชั่น ตรวจสอบ ขับไล่คนโกง แต่ถึงคราวตัวเองบ้าง ทำไงได้


วิธีที่จะ “ปลดแอก” สื่อจริงๆ จึงต้องกำหนดระเบียบเปิดเผยข้อมูลการจ้างทำสื่อ จ้างโฆษณาประชาสัมพันธ์หน่วยงานของรัฐ แต่ละปี เอามาขึ้นเว็บไซต์ของกระทรวง ของกรม ของทั้งรัฐบาล ว่าคุณใช้งบโฆษณาไปเท่าไหร่ ใช้ผ่านใคร ลงหนังสือพิมพ์ฉบับไหนบ้าง วิทยุ ทีวี ช่องไหนบ้าง สังคมจะได้ตรวจสอบซักถาม สมมติเช่น ถาม ฯพณฯ รัฐมนตรี “อู๊ดด้า” ว่าทำไมกระทรวงสาธารณสุขถึงต้องลงโฆษณาเดลินิวส์ตะบี้ตะบัน


ข้อสำคัญคือต้องดูความคุ้มค่าของโฆษณานั้นด้วย รัฐบาลจำเป็นต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจ เข้าถึง โครงการต่างๆ ของรัฐบาล สมมติเช่นโฆษณาโครงการเรียนฟรี ก็คือให้เข้าใจว่าอย่างไหนฟรี อย่างไหนไม่ฟรี เด็กและผู้ปกครองมีสิทธิอะไรบ้าง ไม่ใช่โฆษณาเอาหน้าชินวรณ์มาโชว์ให้ชาวบ้านเห็น หรืออยู่ๆ ก็เอารูปอภิสิทธิ์เก๊กหล่อมาให้ดู แล้วบอกว่า “เชื่อมั่นประเทศไทย”


แบบนี้มันเป็นการล้างผลาญงบประมาณแผ่นดิน ไม่ต่างจากที่ด่ารัฐบาลทักษิณไว้ ยิ่งหนักข้อกว่าด้วยซ้ำ เพราะทักษิณ “ซื้อสื่อ” ส่วนหนึ่งยังใช้โฆษณา AIS ของตัวเอง


ใบตองแห้ง

11 ม.ค.54
-----------------
อุดมการณ์สื่อ SAGA: สื่อสร้างสรรค์ กรณีศึกษา: สถาบันอิศรา
Thu, 03/03/2011 - 07:06 — ใบตองแห้ง
"กองทุนพัฒนาสื่อ” ขจัดสื่อตัวร้ายให้เป็นสื่อสร้างสรรค์

ปลุกรัฐหันมอง “กองทุนสื่อสร้างสรรค์” ฝันอันยาวนานของเด็กไทย


ระดมสมอง “อยากเห็น อยากให้” กองทุนสื่อฯ เป็นอย่างไร


เสนอ 4 ประเด็นผลักดันกองทุนสื่อสร้างสรรค์


กองทุนสื่อ เครื่องมือหนุนอนาคตชาติ


ฯลฯ


ที่ยกมาข้างต้นคือหัวข้อเอกสารเผยแพร่ของ “โครงการจับตากองทุนสื่อ เครื่องมือหนุนอนาคตชาติ” ภายใต้การสนับสนุนของแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) ซึ่งหลายคนคงเคยเห็นเคยอ่านผ่านตากันบ้างแล้ว ฟังชื่อโครงการอาจจะงงว่าเป็นใครมาจากไหน แต่พอเห็นชื่อผู้เกี่ยวข้องก็ถึงบางอ้อ อาทิเช่น ผู้จัดการ สสส.หมอโนบิตะ ณ ฟิตเนส (อิอิ หัวร่ออย่างลี้ลับ) หรือว่า รศ.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สสส.ที่ยังไปเป็นประธานคณะกรรมการสื่อสารเพื่อการปฏิรูป ภายใต้คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย ของหมอประเวศนั่นเอง


อ่านเอกสารทั้งหมดแล้ว สรุปความได้ว่า สสส. เครือข่ายลัทธิประเวศ ร่วมกับคนดีเรื่องดีทั้งหลายในสังคม ผู้ผลิตรายการเด็ก NGO ด้านการพัฒนาเด็ก ที่ล้วนมองว่าสื่อทุกวันนี้มีแต่ “ตัวร้าย” หนังสือพิมพ์ถ้าไม่ลงข่าวฆ่ากันตายก็ลงรูปดาราในชุดว่ายน้ำ ทีวีก็มีแต่ละครน้ำเน่าตบตีกัน ไม่มีที่ว่างให้สื่อดีมีคุณค่า สื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็ก จึงช่วยกันผลักดันร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งมีกระทรวงวัฒนธรรมเป็นเจ้าภาพ จนผ่านความเห็นชอบของ ครม.ไปแล้วเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 ตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของกฤษฎีกา และขั้นตอนของการตีฆ้องร้องป่าว เปิดเวทีสาธารณะ


ในความคาดหวังของคนดีเรื่องดีทั้งหลาย กองทุนนี้จะนำไปสนับสนุนการผลิตสื่อสร้างสรรค์ รายการสำหรับเด็ก วรรณกรรมสำหรับเด็ก สื่อทางเลือก สื่อพื้นบ้าน โดยไม่ใช่สนับสนุนการผลิตอย่างเดียว แต่ยังช่วยพัฒนาสื่อ พัฒนาศักยภาพผู้ผลิต จัดฝึกอบรม จัดกิจกรรม และที่ขาดไม่ได้คือ ให้ชุมชนมีส่วนร่วม สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง (คาถาประจำ)


นอกจากนี้ กองทุนสื่อสร้างสรรค์ยังควรจะเป็นกองทุนที่บริหารจัดการโดยภาคสังคม ซึ่งจะ “เปิดกว้าง” กว่าภาคราชการ ไม่ควรอยู่ในระบบราชการ


ตีความได้อย่างตรงไปตรงมาว่า ต้องบริหารจัดการโดยเครือข่ายลัทธิประเวศ ไม่ใช่โดยกระทรวงวัฒนธรรม


ซึ่งฟังแล้วดูเหมือนจะเข้าที ให้ “ภาคประชาสังคม” บริหารจัดการ ดีกว่าให้นักการเมืองหรือข้าราชการเข้ามายุ่มย่าม (แต่ “ภาคประชาสังคม” นี้ไม่ใช่หรือ ที่ “เปิดกว้าง” กับคนในเครือข่ายตัวเอง แต่ไม่ “เปิดกว้าง” กับคนที่มีความเห็นต่าง - อย่าง “ประชาไท” โดนมาแล้ว)


ก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2553 ก็มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.การส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน ที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ สาระสำคัญคือจะจัดตั้ง “กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)” ขึ้นมาดูแลปฏิรูปการศึกษา โดยใช้เงินทุนจาก “ภาษีบาป” เหล้า บุหรี่ อภิสิทธิ์พูดไว้ในรายการเชื่อมั่นประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2553 ว่าจะให้หมอศุภกร บัวสาย อดีตผู้จัดการ สสส.มาดูแล กองทุนนี้จึงเรียกกันง่ายๆ ว่า “สสส.การศึกษา”


ถ้าอภิมหาโปรเจกท์นี้สำเร็จ เราจะได้เห็นว่า เครือข่ายลัทธิประเวศ นอกจากคุม 4 ส.ในกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ยังจะมี สสส.การศึกษา ไทยพีบีเอส (ปัจจุบันหมอพลเดช ปิ่นประทีป เป็นประธานบอร์ด) กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (ที่มองไปมองมาก็คงจะหาบุคลากรโดดเด่นเท่า รศ.วิลาสินีเป็นไม่มี) ถือเงินรวมกันร่วมหมื่นล้านบาทต่อปี (ไม่นับ สปสช.ที่รับเงินค่ารักษาพยาบาลรายหัวมาจากรัฐบาล) เพื่อทำงานรณรงค์ด้านการศึกษา สาธารณสุข ความคิด วัฒนธรรม ผ่านสื่อสารมวลชน


แถมยังเป็นเงินที่รัฐบาลไหนก็แตะต้องไม่ได้ สภาผู้แทนราษฎรก็ตัดทอนไม่ได้ เพราะกำหนดไว้ชัดเจนในกฎหมาย งบ สสส.สสค.ไทยพีบีเอส มาจาก “ภาษีบาป” ส่วนกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ให้ กสทช.จัดสรรรายได้ให้ทุกปี


นี่คืออภิมหาโปรเจกท์ ว่าด้วยการสร้างรัฐซ้อนรัฐ นอกจากมีรัฐทหารซ้อนรัฐ รัฐตุลาการซ้อนรัฐ เรายังมีรัฐหมอประเวศซ้อนอยู่ในองค์กรทางสังคม


อันที่จริงก็น่าจะเป็นเรื่องดี ที่หมอประเวศดึงเงินเป็นหมื่นๆ ล้านมาใช้งาน “ภาคประชาสังคม” ถ้าไม่ใช่เพราะเครือข่ายของท่านเป็นเครือข่ายคนดีที่คับแคบ มองเห็นแต่พวกตัวเอง จำกัดความคิด อยู่กับลัทธิชุมชนนิยม หน่อมแน้มนิยม ภาพสะท้อนจึงออกมา 2 ด้านคือ สสส.ให้เงินซ้ำซากกับ NGO หน้าเดิมๆ ไม่ทุจริตคดโกง-แต่สิ้นเปลือง งานไม่ขยาย ไม่มีอะไรใหม่ ขณะที่คนทำงาน NGO นอกเครือข่าย เลือดตาแทบกระเด็นกว่าจะหาเงินได้


การที่เครือข่ายหมอประเวศผลักดันให้ตั้งกองทุนสื่อสร้างสรรค์ จึงมีคำถามว่า จะเข้าอีหรอบเดิมหรือไม่ คือให้เงินไป 10 ล้านเพื่อสร้างสรรค์สื่อปลอดภัยที่ไม่มีใครดู เด็กไม่อยากดู มีแต่ผู้ใหญ่คนดีเรื่องดีบอกว่านี่แหละสิ่งที่เด็กควรดู ถามว่ามันจะต่างอะไรกับ TPBS “ทีวีของคนชายขอบ” (ที่คนทั่วไปเขาไม่ดูกัน) เออ แล้วทำไมไม่เอา “สื่อสร้างสรรค์” ไปออก TPBS เสียเลยจะได้สร้างเองดูกันเอง



สสส.สร้างสรรค์

สถาบันอิศรา


เนื่องในวโรกาสที่ใกล้จะถึงวันนักข่าว 5 มีนาคม ก็ใคร่ขอยกสถาบันอิศรามาเป็นกรณีศึกษา ว่าเมื่อ สสส.เข้าไปที่ไหน บ่อนแตกที่นั่น (ก็ สสส.ไม่สนับสนุนการพนัน-ฮา)


ผู้อ่านหนังสือพิมพ์ทั้งหลายคงพอรู้เห็นว่า สสส.เป็นสปอนเซอร์รายใหญ่รายหนึ่ง ซื้อโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ ทั้งโฆษณาตรง โฆษณาแฝง แต่โฆษณาแฝงของ สสส.ไม่มีใครด่าเหมือนที่นิตยสารสารคดีโดนด่าฐานรับโฆษณาแฝง ปตท.เพราะ สสส.ลงโฆษณาแฝงในรูปของข้อเขียน บทความ รายงานพิเศษ เกี่ยวกับเรื่องดีๆ คนดีๆ ทั้งหลาย เช่น การรวมตัวของชุมชน กิจกรรมชุมชน การส่งเสริมคุณภาพชีวิต กิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็ก ฯลฯ โดยบางครั้งก็ไม่พะโลโก้ สสส.ทำเหมือนกับหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นเขียนเอง


ถามว่าผิดตรงไหน ไม่ผิดหรอกครับ เพราะเป็นเรื่องที่น่าส่งเสริม เพียงมีข้อพึงสังวรณ์ว่า ในภาพรวมมันก็คือการนำเสนอแนวคิดลัทธิประเวศ มาครอบงำชี้นำสังคมในเรื่องแนวทางการพัฒนาประเทศแต่ผู้เดียว ในแง่ของสื่อ มันสร้างความเคยชินว่า จากเมื่อก่อนที่เราเคยเสนอข่าวเรื่องดีคนดีอย่างมีอิสระ ไม่หวังผลตอบแทน ตอนนี้เราได้ค่าโฆษณาด้วย ในแง่ของ สสส.มันก็คือการ “ซื้อสื่อ” จนทำให้ไม่มีสื่อหน้าไหนกล้าวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ สสส.(ลองพูดสิว่า สสส.ใช้เงินสิ้นเปลือง จะได้ลดงบโฆษณา)


แต่ผู้อ่านหนังสือพิมพ์ทั้งหลาย หรือแม้แต่คนในวงการสื่อที่ไม่ค่อยได้ร่วมกิจกรรมสมาคมนักข่าว คงไม่รู้หรอกว่า สสส.ยังเป็นสปอนเซอร์รายใหญ่ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ โดยผ่านการให้ทุนสถาบันอิศรา ทำโครงการที่ชื่อว่า “ปฏิรูประบบสื่อสารเพื่อสุขภาวะ” ให้ทุนกันมาแล้ว 14 ล้านบาทเศษ ตั้งแต่ต้นปี 2551 ถึงกลางปี 2552 เป็นเวลาปีครึ่ง รอบสองก็ต่ออีกปีครึง เข้าใจว่าได้งบประมาณใกล้เคียงกัน (เพราะผู้จัดการ สสส.มีอำนาจอนุมัติงบไม่เกิน 20 ล้าน เกินนั้นต้องเข้าบอร์ด)


14 ล้าน อุแม่เจ้า ถ้าอิศรา อมันตกุล ฟื้นคืนชีพขึ้นมาคงร้องอุทาน


สมาคมนักข่าวก่อตั้งขึ้นในปี 2498 โดยมีอิศรา อมันตกุล เป็นนายกสมาคมคนแรก แน่นอนว่าภารกิจสำคัญในยุคนั้นต่อเนื่องมาจนถึงยุคสฤษดิ์ ถนอม ประภาส จนรัฐบาลหอย และรัฐบาลครึ่งใบ ก็คือต่อสู้เผด็จการ


แต่ล่วงมาถึงสมัยเมื่อ 20 กว่าปีก่อนที่ผมเข้ามาทำหนังสือพิมพ์ สมาคมนักข่าวไม่ได้มีกิจกรรมอะไรมาก นอกจากออกคำแถลงเวลาสื่อถูกคุกคามละเมิดสิทธิ กับให้สวัสดิการสมาชิก เช่นให้ทุนการศึกษาบุตร ให้พวงหรีดและเงินช่วยงานศพ เชื่อมความสัมพันธ์กับสื่อต่างประเทศ (แบบว่าเขามาเยือนมั่ง เขาเชิญไปเยือนมั่ง นักข่าวบางคนที่เป็นกรรมการสมาคมต่อเนื่อง และชอบเสนอตัวเอง สะสมไมล์กระทั่งได้ตั๋วฟรีพาลูกเมียไปเที่ยวเมืองนอก)


นอกนั้นก็มีจัดประกวดภาพข่าวยอดเยี่ยมประจำปี กับจัดทำหนังสือรายงานประจำปี (ซึ่งดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่ปัจจุบันได้สปอนเซอร์เข้าสมาคมปีละ 2-3 ล้านบาท ไม่ใช่อี้ๆ นะครับ โดยค่ายมติชนผูกขาดเป็นผู้หาโฆษณา จัดทำ และตัดพิมพ์ มานานปีดีดัก มติชนได้ไปเท่าไหร่ไม่รู้ รู้แต่ว่าหักกลบลบแล้วส่งเงินให้สมาคมปีละ 2-3 ล้าน)


สมาคมนักข่าวไม่เคยทำงานด้านการฝึกอบรม ในปี 2527 เคยมีผู้ก่อตั้งสถาบันพัฒนาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แต่ก็ไปไม่รอด มีปัญหาทั้งเงินทุน การบริหารจัดการ (ทั้งยังมีข่าวลืออื้อฉาวระหว่างผู้บริหารกับบัณฑิตสาวนิเทศศาสตร์ไฟแรงที่มาทำงาน ฮิฮิ)


จนกระทั่งหลังปี 35 หลังไล่สุจินดา เข้าสู่ยุคทองของหนังสือพิมพ์ ปราโมทย์ ฝ่ายอุประ เป็นนายกฯ ดึงคนรุ่นใหม่ที่เรียกกันว่า “ดรีมทีม” เช่น ภัทระ คำพิทักษ์, ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี (และอีกหลายๆ คนที่ตอนนี้ไปทำอาชีพอื่นแล้ว) เข้ามามีบทบาทเสนอโครงการต่างๆ เช่น ฝึกอบรมนักข่าวใหม่ ฝึกอบรมนักศึกษาด้านสื่อสารมวลชน ที่เรียกว่าโครงการ “พิราบน้อย” (ซึ่งต่อมาได้ทุนสนับสนุนจากซีพี และซีพียังให้เงินสมาคมนักข่าวราว 3-4 ล้านมาปรับปรุงอาคารสถานที่) รวมถึงจัดเพรสคลับให้นักข่าวพบปะชุมนุมกัน มีการแตกตัวตั้งองค์กรต่างๆ เช่น ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ชมรมนักข่าวไอที สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ ซึ่งก็ตั้งอยู่ในสมาคมนักข่าว กล่าวได้ว่าเป็นยุคที่มีกิจกรรมคึกคัก แต่งานสมาคมนักข่าวยุคนั้นก็ยังเป็นงานอาสา คือทำด้วยใจรัก มีแต่พนักงานประจำ 4-5 คนคือผู้จัดการสำนักงาน พนักงานบัญชี แม่บ้าน ที่ได้รับเงินเดือน


กระนั้นก็ต้องเข้าใจว่า คนที่เข้ามาเป็นกรรมการสมาคมแต่ละรายมีฐานะเป็นตัวแทนองค์กรของตนด้วย จึงมีความขัดแย้งภายในอยู่เนืองๆ แม้ไม่ปรากฏออกภายนอก (แมลงวันไม่ตอมแมลงวัน) บางรายก็มาทำงานให้สมาคมเพราะองค์กรต้นสังกัดเปิดไฟเขียวเต็มที่ โดยหวังให้คอยช่วยปกป้องเวลานักข่าวของตนถูกสอบสวนเรื่องจริยธรรม


ความขัดแย้งครั้งใหญ่ที่สุดก็คือตอนข่าวยันตระของหนังสือพิมพ์ข่าวสดไม่ได้รางวัลข่าวยอดเยี่ยม ทำให้ข่าวสดตบเท้าออกจากสมาคม ไม่มาเหยียบอีกเลยจนวันนี้ ทั้งที่มีประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ จากค่ายมติชนเป็นนายกสมาคม


นอกจากนี้ก็มีค่ายหนังสือพิมพ์กีฬา ที่ยัวะสุดขีดตอนสภาการหนังสือพิมพ์ออกแนวปฏิบัติเรื่องการเสนอข่าวกีฬา ว่า “ต้องไม่ชักจูงไปเกี่ยวข้องกับการพนัน” ทั้งที่ก่อนหน้านั้น สภาฯ เพิ่งไปขอกะตังค์มาทำกิจกรรม 2 แสน เจ้าพ่อกีฬาจึงประกาศไม่ให้นักข่าวในสังกัดร่วมสังฆกรรมกับสมาคมนักข่าว และสภาการหนังสือพิมพ์


สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ได้จัดตั้งมูลนิธิสถาบันพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ขึ้นในปี 2547 เพื่อเป็นหน่วยงานจัดการฝึกอบรมทักษะวิชาชีพ ในปีเดียวกันนั้นเกิดปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ สมาคมก็ได้จัดตั้งศูนย์ข่าวอิศราขึ้น ส่งนักข่าวส่วนกลางลงไปร่วมกับนักข่าวภาคใต้ ตั้งศูนย์รายงานสถานการณ์ขึ้นโดยเฉพาะ


ศูนย์อิศราตอนแรกได้เงินทุนที่ อ.โคทม อารียา หามาให้ แต่เป็นช่วงสั้นๆ กระเป๋าเงินตัวจริงคือพระเอกหวีผมเปิดของเรา หมอประเวศ ซึ่งควักมาจากมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ที่ตัวเองเป็นประธาน (หมอสมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เป็นเลขาธิการ) เนื่องจากภัทระ คำพิทักษ์ นายกสมาคมในขณะนั้น มักจะไปเสวนากับหมอประเวศอยู่เนืองๆ ศูนย์อิศราจึงมีเงินให้ใช้จ่ายไม่อั้น หัวหน้าศูนย์ข่าวซึ่งตั้งอยู่ มอ.ปัตตานี ได้เงินเดือนสามหมื่น (นอกเหนือที่ได้จากต้นสังกัด) คนอื่นๆ ได้เบี้ยเลี้ยง เท่านั้นไม่พอ มสช.ยังได้บิลค่าใช้จ่ายตั้งแต่ค่าสบู่ ยาสีฟัน ค่าซักรีด ไปจนค่าอาหารอันครื้นเครงยามเย็นย่ำ


อย่างไรก็ดี เมื่อภัทระกระโดดเข้าไปเป็น สนช.หลังรัฐประหาร ซึ่งคนในวงการสื่อฮือค้านไม่เห็นด้วย ภัทระลาออก ก็เกิดการ “เปลี่ยนขั้วอำนาจ” ในสมาคม และมีการสะสางเรื่องศูนย์อิศรา ปัจจุบันสมาคมก็ยังมีศูนย์ข่าวภาคใต้ มี บก.ข่าว 1 คนกินเงินเดือน (นอกเหนือที่ได้จากต้นสังกัด) แต่ยุบศูนย์ที่ มอ.ปัตตานี มีนักข่าวท้องถิ่นทำข่าวส่งให้โดยได้ค่าตอบแทนรายชิ้น



ยุคอู้ฟู่


ในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ สภาการหนังสือพิมพ์ และมูลนิธิสถาบันพัฒนาสื่อมวลชน ได้ตัดสินใจยุบรวมสถาบันกับศูนย์ข่าวอิศรา ใช้ชื่อใหม่ว่า “สถาบันอิศรา” หน้าที่หลักคืองานฝึกอบรม งานสำนักข่าวเหลืออยู่ 2 อย่างคือ โต๊ะข่าวภาคใต้ กับโต๊ะข่าว “เพื่อชุมชน”


ในช่วงที่ทักษิณเรืองอำนาจและแทรกแซงสื่อ สสส.ยังให้ทุนสมาคมนักข่าวทำโครงการสำรวจวิจัยว่าจะปฏิรูปสื่ออย่างไร โครงการนี้มีกำหนด 1 ปี โดย รศ.วิลาสินี อดุลยานนท์ อ.นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ผู้มุ่งมั่นกับการพัฒนาสื่อ ซึ่งลาออกไปเป็นผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สสส.เป็นตัวเชื่อมผลักดัน โครงการนี้ได้งานวิจัยมา 1 ชุด เป็นพื้นฐานของการตัดสินใจให้ทุนก้อนใหญ่กับสมาคมนักข่าว โดยผ่านทางมูลนิธิและสถาบันอิศรา


ต้องทำความเข้าใจตรงนี้ก่อนว่า สมาคม และสถาบันอิศรา เป็น 2 องค์กรที่แยกกัน สมาคมมีนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งของสมาชิก ปัจจุบันคือประสงค์ จะครบวาระและมีการเลือกตั้งใหม่วันที่ 4 มี.ค.นี้ ส่วนสถาบันอิศรามีคณะกรรมการบริหารที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการมูลนิธิ ซึ่งมี 13 คน เป็นผู้แทนสมาคมนักข่าว 3 คน สภาการหนังสือพิมพ์ 3 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสายวิชาชีพ 3 คน ผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีก 4 คน ส่วนกรรมการสถาบันมี 7 คน เป็นผู้แทนสมาคม 2 ผู้แทนสภา 1 ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 และ ผอ.ซึ่งปัจจุบันชวรงค์เป็น ผอ.


นายกสมาคมฯ เป็นงานอาสา ไม่มีเงินเดือน ขณะที่ ผอ.สถาบันอิศราอันที่จริงต้องการคนทำงานเต็มเวลา อัตราเงินเดือน 60,000 บาท แต่ยังหาไม่ได้ เลยให้ชวรงค์มาทำงานกึ่งอาสา รับเงินเดือนครึ่งเดียวโดยยังทำไทยรัฐอยู่ด้วย


พูดง่ายๆ ว่าเงินทุนทั้งหมดเข้ามาทางศูนย์อิศรา สมาคมไม่มีกะตังค์ (มีแค่รายได้จากหนังสือรายงานประจำปี) ฉะนั้นเวลาจัดกิจกรรมต่างๆ ช่วงหลังก็จะจัดในนามศูนย์อิศรา


ศูนย์อิศรายุคเริ่มแรก มีเงินทุนระยะสั้นๆ เข้ามา เช่น ทุนจากยูนิเซฟ ให้จัดกิจกรรมอบรมด้านสิทธิเด็กและประกวดการทำข่าวด้านสิทธิเด็ก ผู้มอบรางวัลคือ อานันท์ ปันยารชุน (พ่ออานันท์เป็นนายกฯสมาคมหนังสือพิมพ์คนแรก ที่ก่อตั้งโดยกุหลาบ สายประดิษฐ์) ทุนจาก มสช.ที่ให้ทำข่าวเชิงสืบสวน 10 ทุนๆ ละ 2 หมื่นบาท ทำเสร็จก็รวมเล่มชื่อ เจาะข่าวนโยบายสาธารณะ


แต่ทุนก้อนใหญ่ยิ่งกว่าถูกหวยก็คือ เงินทุน สสส.ดังกล่าว ภายใต้ชื่อโครงการ “ปฏิรูประบบสื่อสารเพื่อสุขภาวะ” งบประมาณ 14 ล้านกว่าบาท ต่อช่วงเวลาดำเนินการปีครึ่ง โดยมีโครงการย่อยๆ รวม 5 โครงการ มีผอ.สถาบันเป็นผอ.โครงการ รองลงมามีผู้จัดการโครงการ 2 คน ผู้ประสานงานโครงการ 4 คน มีคณะที่ปรึกษาด้านวิชาชีพ ด้านวิชาการ


โครงการเหล่านี้เขียนไว้สวยหรูตามแบบฉบับ สสส. เช่น โครงการสร้างระบบการพัฒนาองค์ความรู้และฐานข้อมูล โดยผ่านกระบวนการส่งเสริมงานวิจัยทางด้านสื่อสารมวลชนในลักษณะของงานวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ผู้บริหารองค์กรสื่อมวลชน และผู้ปฏิบัติงานในองค์กรสื่อมวลชน, โครงการพัฒนาศักยภาพด้านองค์ความรู้ในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและกฎหมายที่จำเป็นแก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง, โครงการสร้างระบบการเข้าถึงและนำเสนอข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างธรรมาภิบาลโดยใช้กระบวนการส่งเสริมการสื่อข่าวเชิงสืบสวน (Investigative Reporting) โครงการสร้างศักยภาพด้านการสื่อสารแก่สื่อภาคประชาชนและสื่อท้องถิ่น, โครงการสร้างเครือข่ายการประสานความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน นักสื่อสารภาคประชาชน ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น


อธิบายง่ายๆ ดีกว่าว่า เช่นโครงการที่ 5 มีการเดินสายไปจัดประชุมบรรณาธิการสื่อท้องถิ่น 4 ภาคให้มีการรวมตัวกันทำกิจกรรม ในส่วนกลางก็มีการจัดเวทีราชดำเนินเสวนา เชิญบุคคลที่อยู่ในสถานการณ์ร้อนแต่ละสัปดาห์มานั่งคุยกับนักข่าว


โครงการแรกก็มีการทำวิจัยสื่อท้องถิ่น สำรวจหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและวิทยุท้องถิ่นที่มีอยู่ทั่วประเทศ ว่ามีอยู่เท่าไหร่ เลี้ยงตัวเองได้ หรือเลี้ยงตัวเองไม่ได้ เพราะอะไร โดยจ้างคณะวิจัยทั้งที่เป็นคนในและคนนอก นักวิชาการที่เคยทำงานร่วมกับสมาคมนักข่าว มาทำวิจัยแล้วก็จัดประชุมประจำปี


โครงการที่ 3 ก็มีการให้ทุนนักข่าวท้องถิ่น 20 ทุนๆ ละ 2 หมื่นบาท และเบิกค่าพาหนะได้อีก 2 หมื่นบาท ทำข่าวสืบสวนมารวมเล่มเป็นหนังสือเจาะข่าวเล่ม 2 มีบรรณาธิการ 1 คนจากส่วนกลาง ได้ค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน 10 เดือนๆ ละ 25,000 บาท โดยไม่ใช่ว่านักข่าวเขียนข่าวเสร็จส่งมาได้เลยนะครับ ตามแบบ สสส.เขาต้องจัดเวทีสาธารณะ มีบรรณาธิการและวิทยากรมารับฟัง แล้วร่างเรื่องที่เขียนขึ้นมาให้ที่ปรึกษาดูก่อน เขียนเสร็จจึงส่งมาพิมพ์


โครงการที่ 2 มีการจัดอบรมนักข่าว 3 รุ่น เรียกว่า หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง (บสส.) หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง (บสก.) และหลักสูตรการสื่อสารมวลชนระดับต้น (กสต.) โครงการนี้ได้งบไปราว 3 ล้าน


หลักสูตร บสส.บสก.นี่เองที่เกิดเรื่องครื้นเครงหึ่งวงการ (แต่สาธารณชนไม่รับรู้) โดยหลักสูตร บสส.ก๊อปปี้มาจากหลักสูตร บยส.ของกระทรวงยุติธรรม นำเอาผู้บริหารสื่อต่างๆ ซึงส่วนใหญ่เป็นระดับบรรณาธิการข่าวและเจ้าของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น มาอบรมร่วมกับผู้บริหารจากภาคเอกชน ซึ่งก็คือพวก PR บริษัททั้งหลาย เชิญวิทยากรดังๆ มาบรรยาย มีการไปดูงานหนังสือพิมพ์ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น ไปดูงาน PR ของบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น ซีพี ปูนซีเมนต์ไทย


ตอนที่อบรมในประเทศก็ไม่เท่าไหร่ แต่พอจบแล้วสิ มีจัดไปดูงานต่างประเทศด้วย โดยพวกที่มาจากภาคเอกชนเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง เสนอจัดแข่งกอล์ฟหาทุน แม้พวกนักข่าวและ NGO บางคนไม่เห็นด้วยเพราะมันไม่ค่อยสวย ที่จะเอาเครดิตสื่อไปเร่ขอเงินบริษัทห้างร้างหาทุนดูงานเมืองนอก แต่สุดท้ายก็มีการจัดงานจนได้กะตังค์มา 3 ล้านกว่าบาท ยกทีมไปดูงานญี่ปุ่น โดยนักข่าวสายคมนาคมติดต่อการบินไทยได้ตั๋วลดราคาพิเศษ นักข่าวสายตำรวจติดต่อ ตม.ขอห้องรับรองสุดหรูที่สนามบินสุวรรณภูมิ เดินทางไปดูงานที่ NHK ครึ่งวัน จากโปรแกรมทัวร์ทั้งหมด 7 วัน ตอนนั้นเป็นช่วงม็อบเสื้อแดงลุกฮือวันสงกรานต์ 2552 พอดี


หลักสูตร บสก.ก็เหมือนกัน ผู้เข้าอบรมส่วนใหญ่เป็นระดับหัวหน้าข่าว หลายคนไม่เห็นด้วย ที่จะจัดหาทุนไปดูงานต่างประเทศ แต่สุดท้ายก็จัดไปเกาหลีใต้ 5 วัน กระนั้นยังมีหลายคนที่ต่อต้าน ไม่ยอมไป


หลักสูตร บสส. รุ่น 2 ได้เงินมากกว่ารุ่นแรกเสียอีก 5 ล้านกว่า บินไปยุโรปเลย ออสเตรีย เยอรมัน สาธารณรัฐเช็ก แต่ก็เริ่มมีกระแสต่อต้าน มีคนไม่ไปหลายคน จนเรื่องมันแรง วสันต์ ภัยหลีกลี้ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย พูดในที่ประชุมเครือข่ายสภาวิชาชีพ ว่าหลักสูตรนี้ถูกวิจารณ์มากเรื่องจัดกอล์ฟไปดูงานต่างประเทศ ต่อไปถ้าสถาบันอิศราจะจัดอบรมอีก ก็ขอร้องว่าอย่าจัดกอล์ฟหาทุน


หลังจากนั้น หลักสูตร บสก.รุ่น 2 ก็เลยไม่มีการไปดูงานเมืองนอกอีก


หลักสูตร บสส.เนี่ยยังกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพฯ มาพระราชทานประกาศนียบัตรด้วยนะครับ ทั้งที่มีบางคนค้าน โดยสถาบันอิศรามอบให้ “พี่ติ๋ม” วิมลพรรณ ปิตะธวัชชัย เป็นผู้จัดการเดินเรื่อง กระนั้นก็ยังมีผู้เข้าอบรม 2-3 รายไม่ไปรับ ทำเอา “พี่ติ๋ม” ยัวะ ตั้งคำถามว่าไอ้พวกนี้เอียงซ้ายหรือเปล่า แต่บางคนให้เหตุผลว่า พระเทพท่านเหนื่อยมาเยอะแล้ว ทำไมจะต้องขอให้พระองค์ท่านมามอบประกาศฯ ให้เรา



ใช้เงินทำเรื่องดีๆ


สสส.ให้ทุนสถาบันอิศรา 14 ล้าน ในช่วงเวลาปีครึ่ง แล้วก็อีกปีครึ่ง น่าจะไม่น้อยกว่าเดิมเพราะยังเพิ่มโครงการ “ศูนย์ข้อมูลข่าวสารการปฏิรูปประเทศไทย” (//www.thaireform.in.th/) ตามแนวคิดของหมอประเวศ ที่ผลักดันให้ สสส.ทำ แต่ สสส.ส่งมาให้สมาคมนักข่าวทำ ในนามสำนักข่าวสถาบันอิศรา ปัจจุบันมีที่ตั้งอยู่บนชั้นสองของสมาคมนักข่าว มี บก.ข่าว 1 คน นักข่าว 5 คน ทำข่าวเกี่ยวกับหัวข้อปฏิรูปประเทศไทย 10 เรื่อง


สนอง need ต่างตอบแทนกันเห็นๆ อิอิ


อย่างไรก็ดี ที่เขียนมาทั้งหมดเนี่ย ผมไม่ได้บอกว่าเป็นเรื่องเลวร้ายนะครับ และไม่ได้มีการทุจริตประพฤติมิชอบ แม้มีเรื่องไม่เหมาะไม่ควรบ้าง ก็เป็นเรื่องเฉพาะส่วน เช่นการอบรม บสส.บสก.ก็เป็นเรื่องของผู้เข้าอบรม ไม่ใช่สมาคมหรือสถาบันเป็นตัวตั้งตัวตี คนที่เอ่ยชื่ออย่างประสงค์ ภัทระ ชวรงค์ ก็เป็นคนที่ทำงานอาสาให้ส่วนรวม ทำงานให้สมาคมมาร่วม 20 ปี


แต่สิ่งที่ผมตั้งข้อสังเกต คือเงินทุนก้อนมหึมาของ สสส.แม้จะเอามาทำเรื่องดีๆ แต่ก็เปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานของสมาคมนักข่าว ที่เคยเป็นสมาคมจนๆ ทุกคนทำงานด้วยใจรัก ไม่มีค่าตอบแทน ให้กลายมาเป็นอีกวัฒนธรรมหนึ่ง ที่ถ้าเปลี่ยนตัวบุคคลจากนักข่าวไปเป็นนักการเมือง มันก็คือการทำงานแบบกรรมาธิการ


เมื่อก่อน หนังสือพิมพ์ฉบับไหนมีนักข่าวมาทำงานให้สมาคม เรามักถือว่าเขามาอาสาช่วยงานส่วนรวม –พี่ วันนี้ขอลาไปงานสมาคมนะ โอเค ได้เลย ไม่มีปัญหา เพราะหัวหน้าข่าว บก.ข่าว หรือเจ้าของหนังสือพิมพ์คิดว่ามาทำงานฟรี ไม่มีค่าตอบแทน อย่างมากก็ได้เบี้ยประชุมเล็กๆ น้อยๆ


แต่ตอนหลังมันชักจะยังไงละครับ เพราะนักข่าวที่มาทำงานให้สถาบันอิศรา มีเงินเดือนเพิ่ม ถ้าคุณลางาน เลี่ยงงาน มาทำงานให้สถาบัน เพื่อนฝูงรู้ก็เริ่มเขม่น หัวหน้าก็อึดอัด เช่นนักข่าวบางคน ค่ายยักษ์ใหญ่เขาซื้อตัวมาจากอีกค่ายหนึ่งด้วยอัตราเงินเดือนสูงลิบ เขาห้ามรับจ็อบ แต่เธอยังมาทำงานสถาบันอิศรา ต้นสังกัดก็พูดไม่ออก


นักข่าวบางคนไม่ได้เงินเดือน แต่เข้าไปเป็นกรรมการ อนุกรรมการ ที่ปรึกษาโครงการ ซึ่งต้องเข้าประชุมบ่อยๆ อัตราค่าประชุมมาตรฐานโครงการ สสส.คือคนละ 1,000 บาท บางคนตอนเช้าประชุมอนุฯ ของสมาคมได้เบี้ยประชุม 500 เข้าประชุมยังไม่เลิกขอออกมาก่อน แล้ววกขึ้นไปประชุมที่สถาบันอิศรา ได้อีก 1,000 สบายไป


พูดในภาพรวมก็คือมันเกิดความสับสนระหว่างงานอาสาด้วยใจรัก กับการรับจ็อบหารายได้พิเศษ ซึ่งถ้าไม่ระวัง มันก็จะพัฒนาไปอีก เช่นการเล่นพรรคเล่นพวก ดึงเอาคนนั้นคนนี้เข้ามาทำงานที่ได้ค่าตอบแทนสูง


นี่คือปัญหาในการสนับสนุนเรื่องดีคนดีของลัทธิประเวศ ซึ่งผมสันนิษฐานว่าหมอประเวศแกเชื่อภาษิตจีนโบราณที่ว่า เงินทองใช้ภูตผีโม่แป้งได้ แกก็เลยเอาเงินเป็นตัวตั้ง มาจ้างคนทำความดี


ถ้าให้พูดแบบ extreme เชิงล้อเลียนหน่อยๆ ผมก็มองการทำงานของ สสส.ว่า สมมติมีสามล้อหรือแมงกะไซค์รับจ้างตั้งวงเตะตะกร้อออกกำลังกายกันปากซอย สนุกสนานเฮฮาตามอัตภาพ สสส.มาเห็นเข้า ก็จะกระโดดเข้าไปส่งเสริมสนับสนุน ทำโครงการ ให้งบประมาณไปซื้อลูกตะกร้อ ซื้อน้ำซื้อน้ำแข็งใส่กระติก ให้เงินบำรุงทีม แจกเสื้อทีม กางเกง รองเท้า จัดหานักวิชาการมาอบรมคุณค่าของการออกกำลังกาย จากนั้นก็ติดป้าย “ห้ามสูบบุหรี่”


จากการออกกำลังกายสนุกสนานเฮฮา มันก็กลายเป็นจ้างออกกำลังกาย และอาจจะวงแตก เพราะความเบื่อ พวกกรูเตะตะกร้อเล่นของกรูอยู่ดีๆ เมริงจะมาทำให้ยุ่งยากอะไรนักหนา เดี๋ยวก็อบรม เดี๋ยวก็วิจัย เดี๋ยวก็จัดเวทีสาธารณะ ฯลฯ หรือไม่ก็วงแตกเพราะผลประโยชน์ จากที่เคยเรี่ยไรกันบาทสองบาทซื้อลูกตะกร้อ พอมีเงินบำรุงทีมกลับทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจ ใครเอาเงินไปทำอะไรบ้าง จ้องจับผิดจนผิดใจกัน


เหมือนอย่างสถาบินอิศราก็เลยถูกผมจ้องจับผิดอยู่นี่ไง ฮิฮิ (ทั้งที่ตัวเองก็ไม่ได้เป็นสมาชิก ไม่เคยไปช่วยงานสมาคมนักข่าวซักนิด)


ก็ฝากไว้ให้สังวรณ์ สำหรับสมาคมนักข่าวที่จะเลือกกรรมการชุดใหม่ โดยเชื่อว่า สสส.คงไม่ถึงกับมีส่วนกำหนดว่าใครจะเป็นนายกสมาคม แต่ไม่แน่เหมือนกัน สมมติผมสมัครสมาชิก หาเสียงชิงตำแหน่งนายกฯ สมัยหน้า สสส.คงยอมไม่ได้ที่จะให้นายกสมาคมนักข่าวสูบบุหรี่ปุ๋ยๆ แถมยังชอบวิจารณ์หมอประเวศวันละ 3 เวลาหลังอาหาร



ใบตองแห้ง

3 มี.ค.54
-------------------




Create Date : 04 สิงหาคม 2554
Last Update : 4 สิงหาคม 2554 0:17:26 น. 0 comments
Counter : 566 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สุริยาอัสดง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




เปิดโลกด้วยแสงแห่งปัญญา
Thaiflood
Friends' blogs
[Add สุริยาอัสดง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.