๑.การคบคน (๑)
อเสวนา จ พาลา นํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ.
การไม่คบคนพาลเป็นความงอกงามของชีวิต



คนพาล


คนผู้หนึ่ง มีชีวิตแปดเปื้อนด้วยการกระทำอันน่ารังเกียจ ๑๐ ประการ มีการผลาญชีวิต เบียดเบียนชีวิตและทรัพย์สินผู้อื่น เป็นต้น หายใจทิ้งไปวันๆ ใช้ชีวิตอยู่โดยปราศจากปัญญาอันจะก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านดีงาม เรียกว่าเป็นคนพาล

คนพาล ครั้นพอคิดก็คิดแต่เรื่องเสื่อม เพราะความเบาปัญญาบ้าง ความประสงค์ร้ายบ้าง ความไม่รู้จักดีชั่วบ้างนั่นทีเดียว

ครั้นทำสิ่งใด ก็จำเพาะแต่เรื่องอันวิญญูชนรังเกียจ มีการฆ่าสัตว์ ลักเล็กขโมยน้อย เป็นต้น เหตุดังนี้เอง ความประพฤติทั้งทางกายทางวาจาทางใจอันต่ำทรามน่ารังเกียจของเขา เป็นตัวบ่งชี้เองว่าเขาเป็นคนพาล

เป็นลักษณะที่ตัวของเขาเป็นผู้กำหนดขึ้นมาเอง


พระพุทธองค์ตรัสไว้ใน พาลปัณฑิตสูตรว่า

"ลักษณะอันชี้ให้รู้ว่าคนผู้หนึ่งเป็นคนพาลนั้น มี ๓ ข้อ คือ คิด พูด และทำแต่สิ่งเสื่อมทรามหาประโยชน์อันดีงามมิได้"



บัณฑิต


ขณะเดียวกัน บัณฑิตนั้นก็จำแนกได้จากพฤติกรรมอันตรงกันข้ามกับคนพาล คือเป็นผู้ดำรงตนอยู่อย่างรู้เท่าทันชีวิต พระพุทธองค์ก็ทรงตรัสรับรองไว้ในที่เดียวกันว่า

"ลักษณะอันชี้ว่าเป็นบัณฑิต ก็คือ เขาเป็นผู้คิด พูดและทำแต่เรื่องอันเป็นประโยชน์สุจริตและสูงสุด"


อีกทั้ง ใครก็ตามมีการกระทำอันก่อให้เกิดประโยชน์ ๒ ทาง คือ ได้รับประโยชน์ทั้งปัจจุบันและผลอันจะเกิดขึ้นตามมาในภายหลัง นั่นเรียกว่า บัณฑิต

ดังพุทธดำรัสในอุโภอัตถสูตร ว่า

"ธีรชนที่เรียกกันว่าบัณทิต เพราะเขาได้กุมประโยชน์ทั้งสองทางคือ ประโยชน์อันจะเห็นผลได้ในปัจจุบัน และเป็นประโยชน์เกื้อหนุนไปในภายหน้า"



คนที่ควรเลือกคบ


เป็นความชัดเจนอยู่ทีเดียวว่า คนเป็นบัณฑิตนั้นสมควรคบหา

ไม่ควรเข้าไปคบหากับคนพาล เพราะคนพาลก็เช่นกับปลาเน่า ผู้คบหากับคนพาลก็เปรียบได้กับใบตองห่อปลาเน่า (แม้ไม่เน่าแต่ก็เหมือนไปด้วยกัน) ซึ่งผู้เห็นผิดเห็นถูกดีแล้วไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับคนประเภทนี้

ขณะที่บัณฑิตนั้น เปรียบดังไม้กฤษณา (ไม้หอมชนิดหนึ่ง สกัดเป็นน้ำหอมได้) และพุ่มพวงดอกไม้ จะเอาของใดมาบรรจุห่อหุ้ม ของนั้นก็คู่ควรกัน บัณฑิตจึงเป็นผู้ที่น่ายกย่องและชื่นชมของผู้คน


นัยว่า คนเราคบคนเช่นใด ก็เป็นคนเช่นนั้น



นิทานประกอบ



นกแขกเต้า


นานมาแล้ว มีนกแขกเต้าสองตัวพี่น้อง อาศัยอยู่ในป่าไม้งิ้วติดกับเขาหัวด้วนแห่งหนึ่ง ด้านเหนือลมเป็นที่อยู่ของพวกโจรกลุ่มหนึ่ง ใต้ลมนั้นเป็นอาศรมของพวกฤษี

คราวนั้น ลูกนกแขกเต้ายังไม่มีขนปีก วันหนึ่งก็เกิดลมบ้าหมูหมุ่นติ้วเข้ามาหอบเอาลูกนกทั้งสองตัวไปตกกันตัวละทิศละทาง

ตัวหนึ่งตกลงยังกองอาวุธในบ้านของโจร ครั้นพวกโจรพบเอาก็เก็บมาเลี้ยงไว้ ตั้งชื่อให้ว่า เจ้าสัตติคุมพ์ แปลว่า กองหอก ตามลักษณาการที่มันตกไปในกองหอกกองดาบ

ฝ่ายนกน้อยอีกตัวก็ลอยละลิ่วไปตกกลางกองดอกไม้ริมชายหาด ใกล้อาศรมของฤษี พวกฤษีเห็นก็เก็บเอาไว้เลี้ยงด้วยความกรุณา แล้วตั้งชื่อให้ว่า เจ้าปุปผกะ แปลว่า ดอกไม้

นกแขกเต้าสองพี่น้องก็เติบโตขึ้นท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ต่างกันสุดขั้ว


วันหนึ่ง พระเจ้าปัญจาละ แห่งนครอุตรปัญจาล์ เสด็จออกประพาสป่าล่าสัตว์ มีรับสั่งว่า สัตว์ป่าวิ่งฝ่าออกไปได้ทางด้านของใคร คนนั้นจะต้องถูกปรับ ครั้นแล้วก็ทรงลงจากรถพร้อมกับธนู หลบเข้าที่กำบัง

พอพวกพวกองครักษ์ฟาดพุ่มไม้ไล่ เนื้อทรายตัวหนึ่งก็ลุกขึ้นอย่างแตกตื่น แล้วเตลิดหนีมาด้านที่พระราชาประทับซุ่มอยู่ ลูกธนูของพระองค์พลาดเป้าปล่อยให้เนื้อทรายตัวนั้นรอดชีวิตไปได้อย่างน่าเสียดาย พวกองครักเห็นเช่นนั้นก็เย้าเหย่พระองค์เป็นที่สนุกสนาน

ท้าวเธอตั้งใจว่าจะจับให้ได้จึงเสด็จขึ้นรถตามเนื้อทรายตัวนั้นไป ทิ้งพวกข้าราชบริพารไว้เบื้องหลัง แต่เนื้อทรายตัวนั้นก็หายไปจนไร้ร่องรอย พระองค์จำต้องเสด็จกลับ

ระหว่างทางทรงสนานและเสวยน้ำในลำธาร แล้วบรรทมพักใต้ร่มไม้ใกล้บ้าน (ซึ่งไม่ทราบว่าเป็น) ของโจร

วันนั้น พวกโจรเข้าไปในป่ากันหมด ภายในบ้านจึงเหลือเพียงนกแขกเต้าสัตติคุมพ์กับคนทำครัวคนหนึ่ง ระหว่างที่เจ้านกออกมาเดินเล่นนอกบ้านก็พลันพบพระราชาเข้า จึงรีบกลับเข้าบ้านไปรายงานคนทำครัวด้วยภาษามนุษย์ แล้วว่า

"พวกเราช่วยกันปลงพระชนม์พระองค์ ถอดเอาเครื่องทรงให้หมดแล้วลากไปทิ้งดีไหม"

ขณะเดียวกัน พระราชาก็ตื่นบรรทม ทรงได้ยินทุกถ้อยคำของมันเข้าก็ตกพระทัยอุทานของหวาดเสียวพระทัยว่า อันตรายมาถึงตัวเสียแล้ว

แล้วรีบขึ้นรถบ่ายหน้าหนีไปถึงอาศรมของพวกฤษี


ฝ่ายพวกฤษีก็ออกหาผลไม้ในป่ากันหมด ทั้งอาศรมมีจึงเพียงนกปุปผกะเฝ้าอยู่ตัวเดียว ครั้นเห็นพระราชาเสด็จผ่านมา มีท่าทีร้อนรนเล็กน้อยก็เอ่ยทักทายต้อนรับพระองค์ว่า

"ขอเดชะองค์เหนือเกล้า พระองค์เสด็จมาโดยเกษมสำราญเถิดพ่ะย่ะค่ะ"

พระราชาสดับดังนั้นก็ทรงพอพระทัย รำพึงขึ้นว่า

"นกตัวนี้ดีจริง เกิดเป็นนก แต่ยังมีธรรมประจำใจ เจ้านกแขกเต้าตัวเมื่อกี้เล่า พูดแต่เรื่องเห็นแก่ได้"

นกแขกเต้าปุปผกะฟังแล้วจึงทูลว่า

"ขอเดชะ ข้าพระองค์เป็นพี่น้องกับนกตัวนั้น แต่เขาเติบโตมากับคนไม่ดี ถูกคนพวกนั้นเสี้ยมสอนอย่างโจร ส่วนข้าพระองค์เติบโตอยู่ในอาศรมของฤษี พวกท่านทั้งหลายอบรมด้วยธรรมของฤษี เราสองพี่น้องจึงแตกต่างกันโดยคุณธรรม"


ครั้นแล้วก็เอื้อนโศลกว่า


"คนคบคนประเภทใด เยือกเย็นหรือไม่เยือกเย็น มีการควบคุมตนเองดีหรือไม่ดี เขาย่อมเป็นอย่างคนประเภทนั้นไปด้วย

คนทำความรู้จักมักคุ้นกับคนชนิดใด ก็กลายเป็นคนชนิดนั้น เพราะสภาพแวดล้อมเป็นเช่นนั้น คนต่ำทราม ใครคบเข้าก็พลอยล่มจม ใครแตะต้องก็เปื้อนคนนั้น ดุจศรอาบยาพิษพลอยทำให้แล่งมีพิษไปด้วย

ธีรชนผู้กลัวตนเองจะแปดเปื้อน จึงไม่คบคนพาลเด็ดขาด

นัยว่า ใบไม้ที่ห่อปลาเน่า แม้ใบไม้ไม่เน่าแต่ก็พลอยเหม็นไปด้วยเฉกใด การคบหาคนพาลก็เฉกนั้น

คบคนพาล พาลไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล"


จบโศลกของนกแขกเต้า พระราชาทรงชื่นชมโสมนัสเป็นที่สุด ครั้นเสด็จกลับพระนครก็มีราชโองการอภัยทานแก่นกแขกเต้าทั้งหมด ห้ามผู้ใดล่านกแขกเต้าเด็ดขาด ฝ่ายบรรดาฤษีก็ทรงนิมนต์เข้ามาตั้งอาศรมอยู่ในพระอุทยาน ทรงให้การอุปัฏฐากบำรุงอย่างดี

พระองค์เองก็ทรงดำรงอยู่ในความดีตลอดพระชนม์ชีพ
(มาในอรรกถา สัตติคุมพชาดก วีสตินิบาต)




ช้างมหิฬามุข



นานมาแล้ว ณ กรุงพาราณสี ช้างเชือกหนึ่งชื่อว่า มหิฬามุข มันถูกฝึกมาอย่างดี ไม่เคยทำร้ายใคร

คืนหนึ่ง มีพวกโจรมาซุ่มวางแผนกันที่ข้างโรงช้าง ครั้นนัดแนะกันเรียบร้อยก็ผละไป ทำอยู่อย่างนั้นหลายวัน แต่ละวันวางแผนเป็นต่างๆ บ้างก็ว่าจะปล้นด้วยวิธีใด บ้างก็ว่าแล้วจะทำอย่างไรกับเจ้าทรัพย์ ต้องแสดงตัวข่มขวัญเจ้าทรัพย์อย่างไร


ช้างได้ยินก็เข้าใจว่าเป็นเรื่องที่ควรทำ คิดว่าตนเองก็ควรทำตัวเช่นนั้นบ้าง

วันรุ่งขึ้นมันก็จับคนเลี้ยงช้างฟาดกับพื้นจนตาย

คนอื่นๆ ที่เห็นเหตุการณ์รีบนำความกราบทูลพระราชาทรงทราบ ครั้นแล้วพระราชามีรับสั่งให้อำมาตย์คนหนึ่งไปดูว่า เกิดอะไรขึ้นกับช้างตัวนี้ จึงได้กลายเป็นสัตว์ดุร้ายไป

ครั้นอำมาตย์ไปสังเกตการณ์ก็ไม่เห็นว่าจะเกิดโรคอะไรกับช้าง เมื่อพินิจดูก็เข้าใจได้ว่า ช้างนี้คงสำคัญผิดอะไรสักอย่างแน่แล้ว จึงถามพวกควาญช้างว่า มีใครมาพูดคุยเรื่องไม่ดีกันในบริเวณนี้บ้างไหม

พวกควาญช้างก็ว่า "มีขอรับ ไม่นานมานี้มีร่องรอยคนมาป้วนเปี้ยนอยู่ข้างโรงช้าง เข้าใจว่าเป็นพวกโจรมาแอบซุ่มหารือกันขอรับ"

อำมาตย์สืบจนได้ความชัดแล้วก็นำความขึ้นกราบทูลพระราชาว่า

"ขอเดชะ ในตัวช้างไม่มีอาการแปลกอย่างอื่น แต่มันฟังคำพูดของพวกโจร จึงสำคัญผิดคิดจากสิ่งที่ไม่ควรทำเป็นสิ่งที่สมควรทำ ก็กลายเป็นสัตว์ดุร้ายไป ทางแก้ก็คือ ต้องนิมนต์สมณพราหมณ์ผู้ทรงศีลมานั่งใกล้โรงช้าง แล้วสนทนาเรื่องศีลธรรมจรรยากันให้มันได้ยินพ่ะย่ะค่ะ"

พระราชาก็ทรงมีรับสั่งให้ปฏิบัติตามนั้น

นับแต่นั้นสมณพรามหณ์หลายท่านก็มานั่งสนทนากันในโรงช้าง ปรารภถึงการไม่กระทบกาย ไม่ทำร้ายหมายชีวิตใครๆ เรื่องศีลธรรมจรรยา มีความอดทด มีเมตตาและเอ็นดู เป็นต้น

ครั้นช้างได้ฟังอยู่เป็นนิจก็ซึมซาบเอาคุณธรรมเหล่านี้ไว้ สำเหนียกตนอยู่ในความดีดังเดิม
(มาในอรรถกามหิฬามุขชากด เอกนิบาต)




ม้าปัณฑพ


นานมาแล้ว ครั้งพระโพธิสัตว์เป็นอำมาตย์ มีศักดิ์เป็นอาจารย์ของพระเจ้าสามะ เจ้ากรุงพาราณสี

มีม้าทรงตัวหนึ่งชื่อ ปัณฑพ คนเลี้ยงม้าของพระองค์ชื่อว่าคิริทัต เป็นคนขาเขยก ม้าเห็นเขาจับบังเหียนเดินเขยกๆ นำหน้า ก็เข้าใจว่าคนเลี้ยงม้าสอนตน จึงเดินตามอย่าง กลายเป็นม้าขาเขยกไป


พระราชาทรงเห็นว่าม้าของพระองค์เดินเขยก ก็รับสั่งให้หมอไปตรวจอาการ ครั้นหมอตรวจดูก็ไม่เห็นว่าจะมีโรคอะไรเกิดกับม้า จึงได้กราบทูลไปตามนั้น พระราชาจึงให้พระโพธิสัตว์ไปดูให้รู้แน่ ว่าแท้จริงม้าเกิดเดินขาเขยกด้วยเหตุผลกลใด


พระโพธิสัตว์ไปถึงก็ทราบทันทีว่าที่ม้าเดินขาเขยกเช่นนั้นก็เพราะข้องเกี่ยวอยู่แต่กับคนเลี้ยงซึ่งขาเขยก จึงนำความขึ้นทูลว่า

"ขอเดชะ ที่ม้าเป็นเช่นนี้ก็เพราะไปข้องเกี่ยวอยู่กับคนไม่ปกตินั่นเอง" แล้วจึงว่า "ถ้าหาคนขาปกติมาเลี้ยงเสีย ม้าก็จะเดินได้อย่างเดิมพ่ะย่ะค่ะ"

เมื่อเจ้ากรุงพาราณสีมีฉันทานุมัติตามนั้น ม้าก็กลับเดินเป็นปกติ




(เชิงอรรถ การเกี่ยวข้องมี ๕ ประการ คือ ๑. การฟัง ๑ การเห็น ๑ การสนทนาปราศรัย ๑ การกินอยู่ร่วม ๑ เกี่ยวข้องด้วยกาย ๑ แต่ในเรื่องนี้หมายถึงเกี่ยวข้องด้วยการเห็น. มาใน ปปญฺจสูทนี ๒/๑๙๒. ๒. ขุ. ชา. ๒๗/๖๕ ตทฏฺกถา. ๓/๑๒๙.)




ผลมะม่วง


นานมาแล้ว คราวที่พระเจ้าทธิวาหนครองราชย์ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เป็นอำมาตย์ถวายการสอนอรรถสอนธรรมนั้น วันหนึ่ง พระราชารับสั่งให้กั้นตาข่ายในแม่น้ำทั้งด้านเหนือและด้านใต้ แล้วก็ทรงลงสรงสนาน

ขณะนั้นเองก็มีมะม่วงสุกผลหนึ่ง จากสระกรรณมุณฑ์ (แปลว่า มุมมน) อันเป็นต้นน้ำ ลอยมาติดตาข่าย ครั้นข้าราชบริพารสาวตาข่ายขึ้นฝั่งก็เห็นมะม่วงผลนั้น จึงได้ทูลถวายแด่เจ้าเหนือหัว


เจ้ากรุงพาราณสีทอดพระเนตรแล้วตรัสถามชาวป่าว่า เป็นผลของไม้ชนิดใดกัน ก็ได้คำตอบว่าเป็นมะม่วง จึงเสวยเนื้อมะม่วงแล้วรับสั่งให้เพาะเมล็ดไว้ในอุทยานของพระองค์ และรดด้วยน้ำผสมน้ำนม

เข้าปีที่สาม มะม่วงก็ออกผลเป็นครั้งแรก ชาวเมืองทราบก็ดูแลเอาใจใส่มะม่วงต้นนี้อย่างเต็มที่ ลูกที่สุกนั้นปรากฏว่าสีเหลืองอร่ามดุจทองคำ รสชาติก็หอมหวานสุดประมาณ

พระราชาครั้นจะส่งมะม่วงไปถวายเจ้านครอื่นๆ ก็ให้แทงหน่องอกด้วยเงี่ยงกระเบนเสียแล้วค่อยส่งไป เมล็ดที่พวกเจ้านครต่างๆ เสวยแล้วโปรดให้เพาะจึงไม่งอก


ต่อมา มีพระราชาองค์หนึ่งทราบเรื่องก็ทรงประทานสินบนแก่คนดูแลอุทยานคนหนึ่ง รับสั่งว่า

"เจ้าจงไปจัดการมะม่วงของพระเจ้าทธิวาหนเสีย ให้มันขมปี๋ไปเลยยิ่งดี"
ชายผู้นั้นรับพระราชโองการแล้วก็เดินทางเข้าไปเฝ้าพระเจ้าทธิวาหน กราบทูลว่าตนเองเป็นคนสวนมีความสามารถทางในการทำส่วนอย่างดีเยี่ยม

พระราชาก็รับสั่งให้พาเขาไปพักอยู่กับคนดูแลพระอุทยานของพระองค์

คนสวนคนใหม่พอได้ดูแลส่วน ก็ปลูกดอกไม้ที่มิใช่จะบานในฤดูนั้นให้บานได้ เร่งผลไม้ที่มิใช่จะออกผลในฤดูนั้นให้ออกผลได้ ทำให้ทั้งอุทยานกลายรมณียสถานอันรื่นรมย์ไป

ฝ่ายพระราชาทราบก็ทรงโปรด จึงปลดหัวหน้าคนเดิมออกแล้วพระราชทานตำแหน่งนั้นแก่เขา

ครั้นได้รับความไว้วางใจดังนี้ เขาก็ปลูกสะเดาและบอระเพ็ดล้อมต้นมะม่วงไว้ รอจนสะเดาและบอระเพ็ดโตขึ้น รากของมันซอนไซไปเกี่ยวพันกับรากของมะม่วง ไม่นานรสชาติของมะม่วงซึ่งแต่ก่อนนั้นหวานหอมก็กลับรสเป็นขมอย่างใบสะเดา

คนเฝ้าสวนครั้นรู้ว่ามะม่วงออกรสขมแล้ว ก็หนีออกจากเมืองไป

วันหนึ่ง พระราชาเสด็จไปเสวยมะม่วงในพระอุทยาน แต่พอเนื้อมะม่วงต้องพระชิวหา ก็ต้องขากถ่มทิ้งอย่างรวดเร็ว เพราะรสที่เคยหวานนั้นบัดนี้ขมปี๋ไม่เป็นท่า จึงตรัสถามพระโพธิสัตว์ว่า

"ท่านบัณฑิต ก็มะม่วงต้นนี้ยังได้รับการดูแลอย่างแต่ก่อนมิใช่รึ แล้วทำไมลูกของมันถึงได้ขมเสียล่ะ"

บัดนั้น พระโพธิสัตว์พินิจสภาพแวดล้อมต้นมะม่วงแล้วจึงทูลว่า

"ขอเดชะ มะม่วงของพระองค์นั้นล้อมรอบด้วยต้นสะเดา รากและกิ่งเกี่ยวพันกันอยู่ มันดูดซึมรสชาติกันไปมา มะม่วงจึงได้ขมพ่ะย่ะค่ะ"

สะดับดังนั้น พระราชาจึงมีรับสั่งให้ตัดรากถอดโคนต้นสะเดาและบอระเพ็ดทิ้ง ขุดเอาดินเดิมออกใส่ดินปุ๋ยเข้าไปใหม่ แล้วรดด้วยน้ำผสมน้ำนม น้ำตาล และน้ำหอม สลับกันไป จากนั้นคืนตำแหน่งหัวหน้าแก่คนดูแลพระอุทยานเดิม

ครั้นลูกมะม่วงชุดใหม่ออกมา ก็มีรสชาติหอมหวานดังเดิม
(เรื่องมะม่วง มาในอรรถกถา ทวิวาหนชาดก ทุกนิบาต)



แม้แต่สิ่งอันไร้ชีวิตยังกลับกลายจากของดีเป็นของเสีย จากของเสียเป็นของดีได้ ก็เพราะเอาไปไว้ในสภาพแวดล้อมอันเป็นตรงกันข้าม

นับประสาอะไรกับสิ่งมีชีวิต

ดังนั้น พระพุทธองค์ครั้นจะเล่าเรื่องนี้ จึงตรัสว่า

"ภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าการคบหาคนไม่ดี ก็ย่อมไม่ดี ก่อแต่เรื่องอันไม่เกิดประโยชน์ทั้งสิ้น มะม่วงแม้ไม่มีความคิดจิตใจ (เจตนา) เดิมรสชาติหวานปานรสทิพย์ ครั้นอยู่ติดกับต้นสะเดาเท่านั้น ยังกลับขมได้ นับประสาอะไรกับมนุษย์ หากคบหาคนไม่ดีก็ย่อยยับอัปราเช่นกัน"



คนพาลจึงเปรียบดังศัตรูผู้ถือดาบ บัณฑิตก็เปรียบเหมือนญาติสนิท

ครั้งที่พระโพธิสัตว์เป็นดาบสอยู่ในป่า (๑. ขุ. ชา. ๒๗/๒๖๔. ตทฏฺกถา. ๕/๓๙๔.) ก็สั่งเสียศิษย์ซึ่งมากราบลาว่า

"เมื่อเจ้าไปจากที่นี่แล้ว จงเลือกคบหาแต่คนที่ทำดี พูดดี คิดดีเท่านั้น

และคนดีจริงนั้น ทำดีแต่จะไม่อวดดี เจ้าจงคบหาคนผู้นั้นเถิด เขาเป็นคนจริงใจและมีปัญญาอย่างแท้จริง

ลูกเอ๋ย แม้ทั้งโลกจะไร้มนุษย์ (คนดี) เจ้าก็อย่าคบหาคนตลบแตลงอย่างเด็ดขาด เจ้าจงเลี่ยงให้ไกล เหมือนคนกลัวงูพิษ คนเกลียดอุจาระ และคนหลีกทางขรุขระนั่นทีเดียว

ลูกรัก หากคบคนพาลความฉิบหายก็จะเกิดตามมา

คบคนพาลก็เหมือนอยู่ร่วมกับศัตรู มีแต่จะหาเรื่องเดือดร้อนมาให้

พ่อจะย้ำ จำคำของพ่อเอาไว้...

ถ้าไม่อยากเดือดร้อน อย่าคบคนพาลเด็ดขาด


นัยว่า อุปัทวภัยและอุปสัคปัญหาที่มีอยู่ทั้งมวล มีต้นเหตุจากคนพาลทั้งสิ้น

ดังนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสไว้ในลักขณสูตร (องฺ.ติก.) ว่า

"เพลิงจากกระท่อมมุงหญ้า ย่อมลุกลามไปสู่อาคารบ้านเรือนหลังใหญ่ได้ เช่นเดียวกับปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด (ภัย อุปัทวะและอุปสัค) ก็เกิดจากคนพาล หาได้เกิดจากบัณฑิตไม่

ภิกษุทั้งหลาย คนพาลมีแต่สร้างปัญหาเท่านั้น..."

(ภัย คือ ความหวาดผวา หวาดระแวง, อุปัทวะ คือ อันตราย)


(ยังมีต่อ)





หมายเหตุ

เนื้อหาทั้งหมดในหมวดนี้ ผู้เขียนแปลและเรียบเรียงจากคัมภีร์ มงฺคลตฺถทีปนี ว่าด้วยข้อคิดในการใช้ชีวิตอย่างเป็นสุข ที่นักเรียนพระปริยัติธรรม ชั้น ป.ธ.๔ เรียนกัน ซึ่งผู้แปลก็เคยเรียนและเคยสอนมา (นานแล้ว) เห็นว่าเป็นคัมภีร์ที่ให้ประโยชน์ในหลายด้าน
ในการทำแปลและเรียบเรียงครั้งนี้ เน้นในทางร้อยเรียงให้เป็นคำไทยให้มากที่สุด อ่านง่ายที่สุด และมีความสละสลวยทางภาษาควบคู่ไปด้วย และตัดส่วนที่เป็นการอธิบายศัพท์แสงต่างๆ หรือส่วนที่ขาดเอกภาพซึ่งเป็นความเห็นปลีกย่อยของผู้แต่งตำราทิ้ง รวบรัดเอาเฉพาะส่วนที่เป็นเนื้อหาหลักจริงๆ เท่านั้น



Create Date : 01 พฤศจิกายน 2552
Last Update : 15 กันยายน 2556 0:17:54 น.
Counter : 1807 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

รวี_ตาวัน
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]



พฤศจิกายน 2552

2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
 
 
1 พฤศจิกายน 2552