space
space
space
<<
มกราคม 2567
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
space
space
17 มกราคม 2567
space
space
space

[ หมิงกับพี่ปั้น พี่ทิพย์ สองสาวเป็นลูกของน้องสาวผมเองครับ] วันก่อนนั่งอ่านสารคดีเรื่องการสอบ ‘ซู
[ หมิงกับพี่ปั้น พี่ทิพย์ สองสาวเป็นลูกของน้องสาวผมเองครับ]



วันก่อนนั่งอ่านสารคดีเรื่องการสอบ ‘ซูนึง’ (Suneung)
ซึ่งเป็นการสอบวัดระดับเพื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยประเทศเกาหลีใต้
และจัดสอบขึ้นเพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น

(ใครสนใจอ่านรายละเอียดทั้งหมดตามลิ้งค์นี้ไปได้เลยครับ
https://www.thepeople.co/read/social/50726?fbclid=IwAR3giaB43M5Hmja0qZcOZ-iE1S4HdsT6rzwxR9XJ6u0_9BdW0zEFB5vmTdI)

ผมนึกถึงเรื่องราวของตัวเองเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว
ผมถามอาจารย์แนะแนวที่โรงเรียนว่าถ้าผมไม่อยาก ‘เอนทรานซ์’
ผมสามารถเลือกเรียนในระบบอื่นได้หรือไม่
อาจารย์บอกว่า

“งั้นเธอต้องไปเรียนสายอาชีพ เรียน ปวช. ต่อ ปวส. จากนั้นหากอยากเรียน ป.ตรี ก็ค่อยว่ากันอีกที”

ผมจึงไม่ลังเลใจเลยที่จะเลือกสอบเข้าเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคพายัพ สาขาสถาปัตยกรรม


ทำไมผมจึงไม่อยากเอนทรานซ์ ?

เพราะผมเป็นเด็กนักเรียนที่ไม่ชอบการอ่านแบบท่องจำ ไม่ชอบการเรียนพิเศษ
ไม่ชอบภาษาอังกฤษ ไม่ชอบวิชาวิทย์ คณิต
ผมชอบอ่านหนังสือทุกชนิด ยกเว้นหนังสือเรียน

ผมเห็นว่าการคัดคนเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษานั้นมีแต่ความกดดันและความเครียด
กังวลตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้เลย ว่ามหาวิทยาลัยคือความหวังของพ่อแม่
ทุกบ้านล้วนคาดหวังว่าลูกของตนจะต้องเรียนเก่ง ได้เกรดคะแนนสูง ๆ
มีผลงานต่าง ๆ ทั้งดนตรี กีฬา ต้องไปประกวดแข่งขันเยอะแยะมากมาย
เพื่อจะใช้ประกอบการยื่นเข้าเรียนมหาวิทยาลัย

ผมไม่เคยถามลูกชายเลยว่าเขาอยากเรียนอะไร ?
เราคุยกันเกือบทุกวันบนโต๊ะอาหารมื้อเย็น ปกติก็นั่งคุยกันไปเรื่อย ๆ ประมาณหนึ่งชั่วโมง
ถ้าหัวข้อที่คุยนั้นต้องถกกันเข้มข้นก็ลากยาวไปเกือบสองชั่วโมงก็มี

อาทิตย์นี้หัวข้อที่คุยกัน คือ หมิงกลับมาอ่านหนังสืออีกครั้งในรอบหลายปี
รอบนี้เจ้าตัวเกิดอยากอ่านวรรณกรรมรัซเซียและฝรั่งเศส
ผมจึงมีหน้าที่ไปค้นหนังสือที่ตัวเองเคยอ่านมาให้ลูกอ่าน
เล่มไหนไม่มีก็สั่งออนไลน์มาให้ แล้วเราก็นั่งคุยกันถึงเนื้อหาภายในเล่ม

อีกวันหมิงชวนคุยเรื่องปรัชญาอัตถิภาวนิยมซึ่งผมก็ลืมไปหมดแล้ว
สิ่งที่ต้องทำ คือ ผมก็ต้องไปนั่งค้นคว้าหาอ่านเนื้อหาเกี่ยวกับหัวข้อนี้

นี่คือ การเรียนรู้ที่ผมชอบ และผมคิดว่าลูกก็น่าจะชอบ
เหมือนวันที่เรานั่งคุยกันสองชั่วโมง เพื่อวิเคราะห์ว่าศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม
นั้นมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ?
หมิงดูคลิปภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ ส่วนผมใช้ประสบการณ์ตรงเท่าที่ผมมี
ผมฟังลูก ลูกฟังผม ผมแย้งลูก ลูกแย้งผม
การพูดคุยแบบนี้สนุกมาก สนุกจนหมิงบอกว่า

“ทำไมในโรงเรียนถึงไม่สอนศาสนาแบบที่ป่ะป๊าสอน ? ที่โรงเรียนสอนไม่สนุกเลย”

ผมบอกลูกว่ามันยากมาก เพราะอาจารย์ที่สอนอาจไม่ได้สนใจปรัชญาศาสนา
เขาก็จะสอนไปตามหลักสูตรหรือแผนการสอนที่เตรียมไว้
แต่ผมสอนจากการปฏิบัติจริง เรียนรู้จากการศึกษาแบบนอกกรอบ

‘ซูนึง’ และ ‘เอนทรานซ์’ แทบจะไม่ต่างกันเลย
มันตัดสินและพิพากษาเด็กคนหนึ่ง จากการสอบและผลสอบ
การศึกษาและการเรียนรู้ที่เรามีอยู่ ไม่ได้สร้างเด็กที่รักในการเรียนรู้
ไม่ได้ทำให้ผู้เรียนมีความสุขและสนุกกับการใช้ความคิดสร้างสรรค์
ไม่รู้สึกบ้างหรือครับ ว่าเด็กไทยเรียนหนักมาก
ทั้งเรียนในชั้นเรียน เรียนพิเศษ กวดวิชา บางคนเรียน 7 วันไม่มีวันหยุด
แต่เราไม่เคยมีนักคณิตศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์โนเบลเลยสักคน
เราแทบไม่เคยมีผลงานวิจัยระดับโลก ทั้ง ๆ ที่เด็กไทยนั้นสอบอะไรก็ชนะเลิศเกือบทุกรายการแข่งขัน

‘ชีวิต’ มันเป็นทั้งคำถามและคำตอบ
ในบททดสอบเดียวกัน


ผมรู้สึกโชคดีที่ตัวเองไม่ได้ไหลเลื่อนไปตามกฎและกรอบนั้น
ผมเคยเป็นเด็กที่ไม่มีความสุขกับการเรียนรู้ในห้องเรียน
เคยสอบได้เกือบที่โหล่ ไม่ใช่เพราะโง่ แต่ผมแค่ไม่มีความสุขกับวิชาที่ผมไม่ชอบ

30 ปีผ่านไป การศึกษาไทยแทบไม่มีอะไรเปลี่ยน
เรายังกลัว เหมือนที่เคยกลัว
และพร้อมส่งต่อความกลัวให้ลูกของตัวเองต่อไป

เราต่างเดินเข้าสนามสอบแข่งขันทางการศึกษาด้วยความกลัว
และเดินออกมาจากสนามสอบแห่งชีวิตด้วยความกลัว



Create Date : 17 มกราคม 2567
Last Update : 17 มกราคม 2567 7:54:33 น. 0 comments
Counter : 148 Pageviews.
(โหวต blog นี้) 

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 7881572
Location :
ขอนแก่น Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 7881572's blog to your web]
space
space
space
space
space