pinestand = stand of pine
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2552
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
 
15 กุมภาพันธ์ 2552
 
All Blogs
 
ชำระใจให้หายแค้น

ชำระใจให้หายแค้น

สวัสดีครับ ไม่ได้ update blog ตั้งแต่ปีที่แล้วนะเนี่ย

วันนี้ว่างๆ หลังจากเหนื่อย/เพลีย/ระเหี่ยใจ/กับงานมาพอสมควร(เมื่อวานก็ยังเพลีย)

วันนี้หลังจากภาระกิจประจำสัปดาห์ แวะเข้าไปอ่านหนังสือพิมพ์มติชนรายวันบน web มาครับ เจอะคอลัมน์นี้ ชอบใจ/ติดใจ กับข้อเขียนของผู้เขียนท่านนี้มานานแล้วครับ เลยขออนุญาตเอามาแบ่งๆกันอ่านนะครับ มองไปรอบๆตัวก็คงเห็นอะไรๆ หลายๆอย่างนะครับ (อย่างที่ใกล้ๆตัวก็เสื้อแดง/เหลือง หรือไม่ก็ สถาบันอะไรแถวๆมาบุญครองเป็นต้น)

ขอ อ้างอิงก่อนนะครับว่ามาจาก
มติชนราวันประจำวันที่ 15-02-2009 linkนี้ครับ

//www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01bud02150252§ionid=0121&day=2009-02-15

เอาเนื้อเรื่องมาลงเลยละกัน


ชำระใจให้หายแค้น

คอลัมน์ มองอย่างพุธ

โดย พระไพศาล วิสาโล เครือข่ายพุทธิกา //budnet.info

Photobucket

การแก้แค้นเป็นพฤติกรรมที่ติดมากับมนุษย์ตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ก็ว่าได้ มันเป็นยิ่งกว่าปฏิกิริยา "สู้หรือหนี" อันเป็นสัญชาตญาณดั้งเดิมของสัตว์ทุกชนิดเมื่อเผชิญกับภัยคุกคาม คนเราไม่ได้อยากแก้แค้นเพียงเพราะโกรธที่ถูกทำร้ายเท่านั้น หากยังเพราะมีความอาฆาตพยาบาทซึ่งหล่อเลี้ยงด้วยความทรงจำ สัตว์บางชนิดอาจมีความอาฆาตพยาบาทเช่นเดียวกับมนุษย์ แต่นั่นเพราะมันหรือลูกของมันถูกทำร้าย ส่วนมนุษย์นั้นเพียงแค่เสียหน้าหรือถูกดูหมิ่นศักดิ์ศรีก็เป็นเหตุผลมากพอแล้วที่จะลงมือล้างแค้นจนถึงตาย

Photobucket

อย่างไรก็ตาม การแก้แค้นไม่ใช่เป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกล้วนๆ มนุษย์ตั้งแต่ยุคบรรพกาลมีเหตุผลที่ต้องแก้แค้น ไม่ใช่เพื่อความสะใจเท่านั้น แต่เพื่อส่งสัญญาณให้คู่กรณีรวมทั้งคนอื่นๆ ได้รู้ว่าตนจะไม่ยอมถูกกระทำฝ่ายเดียว ใครที่มาล่วงล้ำ กล้ำเกิน หรือทำร้ายตนย่อมถูกโต้ตอบกลับคืน กล่าวอีกนัยหนึ่งนี้เป็นวิธีป้องปรามหรือกลไกป้องกันตัวอีกแบบหนึ่ง ซึ่งจำเป็นในยุคที่ผู้คนอยู่กันด้วย "กฎป่า" หรือใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือ การไม่แก้แค้นหมายถึงการแสดงความอ่อนแอ ซึ่งเท่ากับเชื้อเชิญให้ใครต่อใครมาเอาเปรียบเบียดเบียนไม่หยุดหย่อน

Photobucket

การป้องกันตนเองด้วยวิธีการดังกล่าวมิใช่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความอยู่รอดของปัจเจกบุคคลและครอบครัวเท่านั้น แต่ยังจำเป็นสำหรับกลุ่มชนหรือเผ่าพันธุ์ด้วย เผ่าจะอยู่รอดไม่ได้หากคนอื่นนิ่งดูดายปล่อยให้เพื่อนพ้องในเผ่าถูกทำร้าย การแก้แค้นให้กับเพื่อนร่วมเผ่าเป็นทั้งการป้องปรามไม่ให้ใครมาทำเช่นนั้นอีก ขณะเดียวกันก็เป็นการส่งสัญญาณแสดงถึงความสามัคคีกลมเกลียวของเผ่าตน ด้วยวิธีนี้เผ่าจึงจะมีโอกาสอยู่รอดและปลอดพ้นจากภัยคุกคามได้

คงเพราะเหตุนี้จึงมีการส่งเสริมค่านิยมการล้างแค้นในหมู่เผ่าพันธุ์และกลุ่มชนต่างๆ จนกลายเป็นวัฒนธรรมไปทั่วโลก และในบางแห่งก็ถึงกับกลายเป็นข้อบัญญัติหรือเป็นที่รับรองของศาสนาด้วยซ้ำ มองในแง่นี้ก็เหมือนกับจะยืนยันว่าการล้างแค้นเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ที่ติดมาในยีนเลยก็ว่าได้ แต่มองอีกมุมหนึ่งการที่หลายชุมชนหลายเผ่าพันธุ์พยายามตอกย้ำเหตุการณ์อันน่าขมขื่นเจ็บปวดในอดีต (ผ่านบทเพลง บันทึกประวัติศาสตร์ และเรื่องเล่าปากต่อปาก ฯลฯ)เพื่อกระตุ้นให้เกิดความอาฆาตพยาบาทและอยากแก้แค้นนั้น ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า ถ้าการแก้แค้นเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์จริง ทำไมจึงต้องตอกย้ำและปลุกเร้าให้เกิดความโกรธเกลียดและอาฆาตพยาบาทไม่หยุดหย่อน ราวกับกลัวว่าผู้คนจะลืมเหตุการณ์เหล่านั้นหรือไม่อาฆาตพยาบาทมากพอ

มีผู้คนเป็นอันมากที่พยายามหล่อเลี้ยงความอาฆาตพยาบาทด้วยการเตือนตนให้ระลึกถึงความเจ็บแค้นในอดีต เช่น นึกถึงมันบ่อยๆ หรือบันทึกเอาไว้ บ้างก็ถึงกับทำรายชื่อศัตรูเหมือนกับจดรายการจ่ายตลาด ทั้งนี้ก็เพราะเขากลัวลืม แต่ยิ่งนึกย้ำซ้ำทวนก็ยิ่งถูกไฟโทสะเผาลนจิตใจ การพยายามปกป้องตนเองด้วยการแก้แค้นกลับกลายเป็นการบั่นทอนทำร้ายตนเองตั้งแต่เริ่มคิดแก้แค้นด้วยซ้ำ

แต่การแก้แค้นก่อผลเสียยิ่งกว่านั้น มันสามารถชักนำครอบครัวและกลุ่มชนของตนให้ตกอยู่ในวังวนแห่งความรุนแรง ติดกับดักแห่งการแก้แค้นไม่รู้จบ เพราะอีกฝ่ายย่อมไม่อยู่นิ่งเฉยหากพยายามแก้แค้นเอาคืน การแก้แค้นให้กับคนคนหนึ่งที่ถูกฆ่าตายอาจตามมาด้วยการสังหารผู้คนอีกเกือบ 30 คน (ดังที่เกิดกับ 2 ชนเผ่าในนิวกินีเมื่อหลายปีก่อน) หรือมีการจองล้างจองผลาญติดต่อกันนานถึง 270 ปี (ดังกรณีที่เกิดในแอลเบเนีย) แต่นั่นก็ยังเทียบไม่ได้กับการแก้แค้นระหว่างเซิร์บกับเติร์กซึ่งยืดเยื้อมา 600 ปี หรือระหว่างยิวกับอาหรับซึ่งสาวไปได้ถึงพันปีที่แล้ว

ทุกวัฒนธรรมที่ส่งเสริมการแก้แค้นย่อมรู้ดีว่าการแก้แค้นที่ปล่อยให้เกิดขึ้นตามอำเภอใจย่อมนำมาซึ่งความโกลาหลวุ่นวาย ทำลายความสามัคคีและบั่นทอนเสถียรภาพของสังคม จึงพยายามสร้างกติกาหรือข้อกำหนดขึ้นมาเพื่อให้การแก้แค้นอยู่ในขอบเขต (เช่น อนุญาตให้แก้แค้นได้ภายใน 24 ชั่วโมง หรือกันเด็ก ผู้หญิง ชายชราจากหน้าที่แก้แค้น หรืออนุญาตให้ดวลปืนยิงกันด้วยกระสุนนัดเดียว) แต่นั่นก็ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด หลายชุมชนจึงหันมาส่งเสริมการปรับหรือเรียกค่าสินไหมแทนการแก้แค้น หรือไม่ก็มอบหมายให้รัฐหรือผู้ปกครองทำการแก้แค้นแทน โดยมีมาตรการต่างๆ ตั้งแต่ปรับ จำคุก ไปจนถึงประหารชีวิต (ในอดีตอนุญาตให้รัฐใช้วิธีทรมานได้ด้วย)

Photobucket

แต่ความรุนแรงควรยุติด้วยการแก้แค้นเท่านั้นหรือ? หากเราไม่ลงมือแก้แค้นเอง เราควรพอใจที่รัฐแก้แค้นแทนเราเท่านั้นหรือ? มีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้หรือไม่ที่เราสามารถทำได้? คำตอบคือมี ได้แก่ "การล้างแค้นอย่างสร้างสรรค์" คือ การล้างแค้นด้วยการยกระดับตัวเองแทนที่จะไปเหยียบย่ำคนอื่นให้ตกต่ำลง เมื่อเราโกรธหรือเกลียดใครสักคน เราอยากทำกับเขาเหมือนกับที่เขาทำกับเรา หากเขาด่าว่าเรา เราก็ต้องด่าเขากลับคืน หากเขาทำร้ายเรา เราก็ต้องเล่นงานเขาให้สาสม วิธีนี้ก็คือการทำตัวเองให้ต่ำลงเหมือนเขา แต่ผู้ที่มีปัญญาย่อมรู้ดีว่าการทำให้เขาเจ็บปวดที่ดีกว่านั้นก็คือการทำตนให้ดีกว่าเขา เก่งกว่าเขา ประสบความสำเร็จมากกว่าเขา หรือเป็นสุขเบิกบานใจยิ่งกว่าเขา

อย่างไรก็ตาม การล้างแค้นแบบสร้างสรรค์สามารถนำความทุกข์มาให้แก่เราได้ตราบเท่าที่เรายังไม่เก่งกว่าเขาหรือประสบความสำเร็จมากกว่าเขา เบื้องหลังการล้างแค้นดังกล่าวคือความโกรธเกลียดซึ่งสามารถเผาลนจิตใจเราได้ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้จึงมีวิธีที่ดีกว่านั้นอีก นั่นคือ การให้อภัย การให้อภัยมิได้หมายถึงยอมรับการกระทำไม่ดีของเขา แต่หมายถึงการปลดเปลื้องความโกรธเกลียดและอาฆาตพยาบาทออกไปจากจิตใจของเรา แม้เราจะยอมรับการกระทำของเขาไม่ได้ แต่เราสามารถยอมรับเขาในฐานะมนุษย์ได้ การฆ่า การหลอกลวง หรือการดูหมิ่นเหยียดยาม เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องวันยังค่ำ แต่คนเราอาจทำสิ่งนั้นเพราะความพลั้งเผลอ เพราะความไม่รู้ เพราะความเข้าใจผิด หรือเพราะอารมณ์ชั่ววูบ เขาอาจทำเพราะแรงบีบคั้นจากความเจ็บปวดในอดีต หรือเพราะเคยถูกกระทำย่ำยีมาก่อนก็ได้ ในฐานะที่เป็นเพื่อนทุกข์ เขาควรได้รับการให้อภัยจากเรา ในฐานะที่เรามีหน้าที่ทำตนให้เป็นสุข เราควรปลดเปลื้องความอาฆาตพยาบาทไปจากจิตใจ

มิใช่แต่การล้างแค้นเท่านั้นที่อยู่คู่กับมนุษย์ การให้อภัยและการสมานไมตรีก็เป็นส่วนหนึ่งของมนุษยชาติมาช้านาน อย่าว่าแต่คนเลย แม้แต่สัตว์ก็รู้จักคืนดี นักสัตววิทยาที่สังเกตพฤติกรรมของลิงในสวนสัตว์และป่าธรรมชาติพบว่า เมื่อลิงทะเลาะเบาะแว้งกัน จะมีความพยายามคืนดีกันเสมอ หากไม่ "วาน" ตัวกลางให้ช่วยไกล่เกลี่ย คู่กรณีตัวใดตัวหนึ่งก็จะเป็นฝ่ายริเริ่มเข้าหา งอนง้อ หรือทำดีด้วย ไม่ว่าอีกฝ่ายจะเคยกราดเกรี้ยวคู่กรณีเพียงใด แต่ในที่สุดก็จะคืนดีด้วยการเกาหลังให้กันและกัน

มนุษย์ไม่ได้มีแต่ความโกรธเกลียดเท่านั้น เรายังมีเมตตา กรุณา และความเข้าใจด้วย ความสามารถในการให้อภัยจึงอยู่ในใจของเราทุกคน จะว่าไปการให้อภัยเป็นกลไกอย่างหนึ่งในการปกป้องตนเอง มิใช่ปกป้องจากศัตรูภายนอก แต่ปกป้องจากศัตรูภายใน ได้แก่ความโกรธ เกลียด และอาฆาตพยาบาทนั่นเอง หากความโกรธ เกลียด และอาฆาตพยาบาทคือมีดกรีดใจ การให้อภัยก็คือยาสมานใจนั่นเอง ใจที่ไร้ยาสมานย่อมมีแผลเรื้อรัง ชีวิตที่ให้อภัยไม่เป็น ย่อมหาความสุขได้ยาก

Photobucket

เราจะสุขหรือทุกข์มิใช่เพราะมีใครมาทำให้ หากอยู่ที่ใจของเราเอง ไม่มีใครทำลายศักดิ์ศรีของเราได้นอกจากตัวเราเอง ถึงที่สุดแล้วเราต้องเลือกว่าเราจะมีชีวิตอยู่อย่างไร ระหว่างการหล่อเลี้ยงความโกรธเกลียดเอาไว้ หรือการบ่มเพาะเมตตาและกรุณา ผู้คนเป็นอันมากเลือกอย่างแรกจึงจมปลักอยู่ในความทุกข์ ส่วนผู้มีปัญญาเลือกอย่างหลังจึงเป็นสุขอยู่เสมอ

ความอาฆาตพยาบาทนั้นมีความทรงจำเป็นตัวหล่อเลี้ยง แต่ก็มิได้หมายความว่าเราต้องลืมก่อนถึงจะให้อภัยได้ การให้อภัยมิได้เกิดจากการหลงลืมแต่เกิดจากความตระหนักรู้ถึงโทษของความโกรธ ที่สำคัญก็คือเกิดจากความเข้าใจในคู่กรณี โดยเฉพาะเมื่อเห็นถึงความเป็นมนุษย์ของเขาซึ่งไม่ต่างจากเรา อีกทั้งเห็นถึงความทุกข์ของเขาด้วย เราสามารถจะให้อภัยโดยไม่ลืมได้


คิม ฟุค ถูกไฟจากระเบิดนาปาล์มของอเมริกาเผาลวกทั้งตัวจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด อีกทั้งยังสูญเสียลูกพี่ลูกน้อง 2 คนจากเหตุการณ์ แม้แผลจะหายหลังจากผ่าตัดถึง 17 ครั้ง แต่ความแค้นฝังใจเธอร่วม 20 ปี แต่ในที่สุดเธอก็ให้อภัยทหารอเมริกันเมื่อเธอประจักษ์แก่ใจว่า "การบ่มเพาะความเกลียดเอาไว้สามารถฆ่าฉันได้" เธอพบว่าสิ่งที่ทำร้ายเธอจริงๆ มิใช่ใครที่ไหน หากได้แก่ความเกลียดที่ฝังแน่นในใจเธอนั่นเอง

อาซิม กามิซา สูญเสียทาริก ลูกชายคนเดียววัย 14 ปีเพราะความคิดชั่วแล่นของวัยรุ่นอีกคนหนึ่งที่ต้องการอวดความเก่งกล้าสามารถของตนให้เพื่อนร่วมแก๊งได้เห็น แม้จะเจ็บปวดแต่เขาก็ให้อภัยวัยรุ่นคนนั้น เพราะเห็นว่า "การแก้แค้นไม่อาจช่วยอะไรได้ เอาชีวิตทาริคกลับมาได้ไหม การแก้แค้นมีแต่จะทำให้ความรุนแรงที่คร่าชีวิตทาริคยืดยาวต่อไป" เขาพบว่าตัวการที่ฆ่าลูกเขาไม่ใช่ใครอื่น หากคือวัฒนธรรมแห่งความรุนแรงในหมู่วัยรุ่นต่างหาก เขาจึงต้องต่อสู้กับความรุนแรงนี้ด้วยการตั้งมูลนิธิในนามลูกของตนเพื่อส่งเสริมให้คนหนุ่มสาวเห็นโทษของความรุนแรงในการแก้ปัญหา

ในทำนองเดียวกันเมื่อแม่ของ สิบเอก สามารถ กาบกลางดอน ต้องสูญเสียลูกชายในเหตุการณ์นองเลือดที่ปัตตานี (ซึ่งโยงกับกรณีกรือเซะ) เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 แทนที่จะเรียกร้องการล้างแค้น เธอกลับให้อภัยฝ่ายตรงข้าม เพราะไม่ต้องการให้คนอื่นต้องเจ็บปวดเช่นเดียวกับเธอ "ฉันไม่อยากเห็นสิ่งอย่างนี้เกิดขึ้นอีกต่อไป ไม่ว่ากับใครอีก เราควรจะหยุดฆ่ากันได้แล้ว นี่เป็นความสูญเสียของทุกฝ่าย ฉันก็เสียลูกชายเหมือนแม่คนอื่นๆ อีกหลายคน"

Photobucket

"เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่ระงับด้วยการไม่จองเวร" นี้มิใช่เป็นแค่คำสอนทางพุทธศาสนา หากเป็นความจริงที่อยู่เหนือกาลเวลาและเป็นสากล การแก้แค้นไม่เคยชำระปัญหาให้จบสิ้น อีกทั้งไม่สามารถนำความสุขมาสู่ชีวิต การให้อภัยต่างหากที่ทำให้ปัญหายุติได้ ต่อเมื่อชำระใจให้ปลอดจากความแค้น เมื่อนั้นชีวิตจึงจะพบความสงบเย็นอย่างแท้จริง

Photobucket

ขอเชิญร่วมงาน ปาฐกถามูลนิธิโกมลคีมทอง ประจำปี 2552 โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ เรื่อง "อุดมคติที่ยังมีตัวตน : คนเล็กๆ คือความหวังท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง" ในวันอาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2552 ณ ห้องประชุมศรีบูรพา (หอประชุมเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พร้อมฟังดนตรี/พูดคุยกับมาโนช พุฒตาล การแสดงลิเกฮูลู อ่านบทกวีโดยอังคาร กัลยาณพงศ์/สกุล บุณยทัต และเสวนา "กะเทาะเปลือกนิวเคลียร์ : ทางออกของพลังงานทางเลือกจริงหรือ?" ตั้งแต่เวลา 12.00-19.30 น. เป็นต้นไป พร้อมเลือกซื้อหนังสือและสินค้าทางเลือกเพื่อสิ่งแวดล้อม จำหน่ายภายในงาน สอบถามข้อมูลได้ที่ 0-2411-0708, 0-2411-3774 หรือทาง //www.komol.com


Create Date : 15 กุมภาพันธ์ 2552
Last Update : 15 กุมภาพันธ์ 2552 10:20:22 น. 2 comments
Counter : 1621 Pageviews.

 
ดูแล้วบางเรื่องมันระงับยากเหมือนกันค่ะ ขนาดเราไม่โดน
เองเกิดกับคนข้างเคียงเรายังเป็นเดือดป็นแค้นไปด้วยเลย
เฮ้อ กรรมจริงๆ


โดย: PINKRAIN 2519 วันที่: 15 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:11:21:17 น.  

 
ถูกต้อง

มนุษย์ต้องการอยู่อย่างมีอิสระเสรีภาพ ถ้าสูญเสียไปด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ต่างก็เรียกร้องจนกว่าจะได้คืนมา

แม้คนที่รักกัน ถ้าต้องการให้รักนั้นยั่งยืนก็ต้องให้เสรีภาพต่อกัน ไม่ใช่ผูกมัดกดขี่ให้อยู่ในอำนาจของตน

คนดีย่อมไม่เอาเสรีภาพมาเป็นเครื่องป้องกันตนเอง โดยขาดความรับผิดชอบ ขาดความรับผิดชอบเสียแล้ว เสรีภาพนั้นก็ป่าเถื่อน

เสียงเค้าว่ากันพรรณนั้น จ๊ะ


โดย: บ้าได้ถ้วย วันที่: 15 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:17:11:26 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

pinestand
Location :
กาญจนบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




pinestand = stand of pine
แปลว่า ดงสนครับ
หลายคนที่เคยไปเที่ยวภูกระดึงหรือว่้าน้ำหนาว หรือป่าสนวัดจันทร์คงจะเคยเห็นต้้นสน(สนสองใบหรือสามใบ)ที่ขึ้นเป็นป่าโดยไม่มี ไม้ใหญ่ชนิดอื่นขึ้นเลย
> ข้อมูลส่วนตัว Facebook ของ Lam Merison
Friends' blogs
[Add pinestand's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.