Welcome to my planet, and enjoy taking a wonderful journey

<<
มิถุนายน 2553
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
11 มิถุนายน 2553
 

ความสงสัยในเรื่อง วินัยสงฆ์ เกี่ยวกับ จีวร

สงฆ์? เจ้าหน้าที่แห่งคลังจีวร

จีวร เป็นชื่อเรียกผ้าที่พระสงฆ์ใช้สอย ใช้เรียกทั้งผ้านุ่ง ผ้าห่ม
คำว่า ไตรจีวร หมายถึง ผ้า 3 ผืน ซึ่งมีทั้งผ้านุ่งและผ้าห่ม

จีวรเป็นปัจจัย หรือบริขาร ของพระสงฆ์อย่างหนึ่งในจำนวน 4 อย่าง นอกจากคำว่า "จีวร"
ยังใช้หมายถึงเฉพาะผ้าห่มของพระสงฆ์อย่างเดียวก็ได้ จีวร ที่ใช้ในความหมายว่าผ้าห่มอย่างเดียว
มีชื่อเรียกเฉพาะว่า อุตราสงค์

จีวรของพระสงฆ์ ประกอบด้วยผ้า ที่ตัดเป็นสี่เหลี่ยมผืนเล็กๆ มาต่อกัน จึงมีลักษณะเป็นผ้าที่เศร้าหมอง
คือผู้อื่นมักไม่ต้องการไปตัดเย็บอีก เหมาะสมกับสมณะ ผ้าสี่เหลี่ยมผืนเล็ก ๆ ที่เย็บต่อกันนั้นปรากฏลวดลาย
เป็นลายคันนา ออกแบบโดยพระอานนท์ ดังปรากฏข้อความในพระวินัยปิฏก ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
"อานนท์เธอเห็นนาของชาวมคธ ซึ่งเขาพูนดินขึ้นเป็นคันนาสี่เหลี่ยม พูนคันนายาวทั้งด้านยาว
และด้านกว้าง พูนคันนาคั่นในระหว่างๆ ด้วยคันนาสั้นๆ พูนคันนาเชื่อมกับทาง ๔ แพร่ง ตามที่ซึ่ง
คันนากับคันนา ผ่านตัดกันไปหรือไม่? ...เธอสามารถแต่งจีวรของภิกษุทั้งหลาย ให้มีรูปอย่างนั้นได้หรือไม่”
พระอานนท์ตอบว่า "สามารถ พระพุทธเจ้าข้า"

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ทักขิณาคิรีชนบทตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จกลับมาพระนครราชคฤห์อีก
ครั้งนั้นท่านพระอานนท์แต่งจีวรสำหรับภิกษุหลายรูป ครั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ได้กราบทูลว่า
ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงทอดพระเนตรจีวรที่ข้าพระพุทธเจ้าแต่งแล้ว พระพุทธเจ้าข้า

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่ง
กะภิกษุทั้งหลายว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานนท์เป็นคนฉลาด อานนท์ได้ซาบซึ้ง ถึงเนื้อความแห่งถ้อยคำที่เรากล่าวย่อ
ได้โดยกว้างขวาง ...จีวรจักเป็นผ้าที่ตัดแล้ว เศร้าหมองด้วยศัสตรา สมควรแก่สมณะ
และพวกศัตรูไม่ต้องการ”

หลังจากพระอานนท์ถวายจีวรที่ตัดแต่งแล้วให้ทอดพระเนตร พระพุทธองค์ทรงพอพระทัย และอนุญาตให้ใช้
ผ้า ๓ ผืน คือ สังฆาฏิชั้นเดียว จีวร และสบง ต่อมาทรงอนุญาต ไตรจีวร คือ ผ้าสังฆาฏิสองชั้น จีวร และสบง
ทั้งนี้เพื่อให้พระสงฆ์ ใช้ป้องกันความหนาวเย็นและรับสั่งว่า ภิกษุไม่พึงมีจีวรมากกว่านี้ (รูปใดมีมากกว่านี้
เป็นอาบัติ)
อติเรกจีวร คือ จีวรที่มีเกินกว่าผ้าที่อธิษฐานเป็นไตรจีวร ตามพระวินัย ภิกษุสามารถเก็บไว้ได้ไม่เกิน
๑๐ วัน สามารถทำเป็น วิกัปอติเรกจีวร คือ ทำให้เป็นสองเจ้าของ เพื่อจะได้ไม่ต้องอาบัติ เพราะเก็บไว้เกินกำหนด

ความเป็นมาของเรื่องอติเรกจีวรนี้ เนื่องจากมีผู้ถวายจีวรแก่พระอานนท์ แล้วท่านประสงค์จะเก็บไว้ถวาย
พระสารีบุตรซึ่งขณะนั้นอยู่ต่างเมือง ประมาณ 10 วัน จึงจะเดินทางมาถึง พระอานนท์ได้เข้าไปทูลถาม
พระพุทธองค์ว่าจะปฎิบัติอย่างไรกับอติเรกจีวรดี จึงทรงมีพุทธบัญญัติ ให้เก็บรักษาอติเรกจีวร
ไว้ได้ไม่เกิน 10 วัน

ผ้าที่ใช้ทำจีวร

สมัยต่อมา มีจีวรหลายประเภทเกิดขึ้น ภิกษุทั้งหลายไม่แน่ใจว่า จีวรชนิดใดที่ทรงอนุญาต
จึงกราบทูลเรื่องนั้นต่อพระศาสดา พระพุทธองค์ทรงอนุญาตจีวร 6 ชนิด คือ

๐ จีวรทำด้วยเปลือกไม้
๐ ทำด้วยฝ้าย
๐ ทำด้วยไหม
๐ ทำด้วยขนสัตว์
๐ ทำด้วยป่าน
๐ ทำด้วยของเจือกัน

สีจีวร
ไม่ได้มีกล่าวไว้แน่นอน แต่มีการกำหนดห้ามในสีต่างที่กาววาว เช่นสีแดง สีเขียว สีเหลือง สีขาว สีดำ
แต่มีคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ทรงอุทานเมื่อครั้งพระสงฆ์มาประชุมกันเป็นจำนวนมากว่า "ภิกษุเหล่านี้
ดูช่างงดงามราวกับผ้ากัมพล(ผ้าสักหลาดหรือผ้าขนสัตว์) ที่มีสีเพียงดังสีใบไม้แห้ง (ปัณฑุปลาโส ใบไม้แห้ง)

เจ้าหน้าที่สงฆ์ผู้มีหน้าที่รักษาคลังแห่งจีวร
ตามวินัยสงฆ์แล้ว ภิกษุมีวินัยบังคับให้ใช้สอยจีวรได้เพียงชุดเดียว เรียกว่า ไตรจีวร คือ ผ้า ๓ ผืน คือ จีวร สบง และสังฆาฏิ เท่านั้น ที่อนุญาตให้อธิฐานใช้นุ่งห่มได้ตลอด ถ้าได้จีวรผืนใหม่มานอกจากผ้า ๓ ผืนนั้น ผ้าเหล่านั้นจัดเป็น อติเรกจีวร จะเก็บผ้านั้นไว้ได้นานเพียง ๑๐ วันเท่านั้น ถ้าเกินเวลานั้นไปต้องอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์ ในอติเรกจีวรทั้งมวลนั้นเมื่อภิกษุที่ได้รับการถวายมาได้สละแล้วและมิประสงค์จะใช้ผ้าผืนนั้นก็สละผ้าเหล่านั้นเป็นอติเรกจีวร เจ้าหน้าที่ทำการสงฆ์ผู้ได้รับมอบหมายในการดูแลคลังต้องเก็บผ้าเหล่านั้นไว้ในคลังแห่งจีวร ในแต่ละอารามหรือในเขตพัทธสีมาเมื่อได้อติเรกจีวรมานั้น พึงแต่งตั้งภิกษุหรือมอบหมายให้ดูแลในส่วนของจีวรหรือเรียกว่า เจ้าอธิการแห่งจีวรซึ่งมีหน้าที่จำแนกไว้ ๓ ประการ คือ

๑. มีหน้าที่รับจีวร เรียกว่า จีวรปฏิคคาหกะ
๒. มีหน้าที่เก็บจีวร เรียกว่า จีวรนิทหกะ
๓. มีหน้าที่แจกจีวร เรียกว่า จีวรภาชกะ

จีวรปฏิคคาหกะ คือ ภิกษุผู้มีหน้าที่รับจีวร นอกจากต้องเว้นจากอคติ ๔ แล้ว
ต้องเป็นผู้รู้จักประเภทแห่งจีวรที่ควรรับและมิควรรับ ดังนี้

๐ จีวรที่เขาถวายแก่สงฆ์ที่ตนสังกัดอยู่ ควรรับ
๐ จีวรที่เขาถวายแก่สงฆ์ที่ตนไม่ได้สังกัด ไม่ควรรับ
๐ จีวรที่เขาถวายเป็นปาฏิปุคคลิก หรือเจาะจง ไม่ควรรับ
๐ จีวรประเภทใด มีจำนวนเท่าไร รับไว้หรือมิได้รับไว้ ควรจำไว้ด้วย

การถวายจีวรแก่สงฆ์นั้น ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ว่าถวายเช่นไร โดยมีคำถวายว่า ข้าพเจ้าถวายในสีมาหรือแก่สีมา ข้าพเจ้าถวายตามกติกาของสงฆ์ ข้าพเจ้าถวายแก่สงฆ์ ข้าพเจ้าถวายแก่สงฆ์ผู้จำพรรษาแล้ว ส่วนจีวรที่ถวายเป็นปาฏิปุคคลิก คือ ถวายเฉพาะแก่ภิกษุโดยเจาะจงเฉพาะรูป ๆ ถวายแก่ภิกษุผู้ได้รับภัตตาหารของเขา ถวายแก่ภิกษุผู้อยู่ในเสนาสนะของเขา ถวายแก่ภิกษุผู้ได้รับอุปัฏฐากอย่างอื่นของเขา หรือถวายแก่ภิกษุเฉพาะรูป

จีวรนิทหกะ คือ ภิกษุผู้มีหน้าที่เก็บจึวร พึงเว้นจากอคติ ๔ ประการ แล้ว
พึงรู้จักจีวรที่ควรเก็บและมิควรเก็บ ดังนี้

๑. ผ้าอัจเจกจีวรที่เขาถวาย ควรเก็บไว้จนกว่าจะออกพรรษาแล้วจึงแจกแก่ภิกษุผู้อยู่จำพรรษา
๒. จีวรที่เขาถวายไม่พอแจกกัน ควรเก็บไว้จนกว่าจะได้มาพอแจก
๓. จีวรที่เขาถวายพอแจกทั่วกัน ซึ่งไม่ใช่ผ้าอัจเจกจีวร ไม่ควรเก็บ
๔. จีวรมีจำนวนเท่าไร เก็บไว้ หรือไม่ได้เก็บไว้ ควรจำไว้ให้แม่นยำ

ผ้าอัจเจกจีวร คือผ้าที่ทายกมีเหตุรีบร้อนขอถวายไว้ก่อนถึงเขตจีวรกาล เช่น มีเหตุต้องย้ายสถานที่ ต้องไปศึกสงคราม หรือเจ็บไข้ได้ป่วยไม่ไว้ใจในชีวิตแห่งตนว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อหรืออาจต้องตายไปก่อนกำหนดที่จะถึงเขตจีวรกาล หรือมีศรัทธาเลื่อมใสเกิดขึ้นโดยทันทีกระทันหันประสงค์จะถวายจีวร พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ภิกษุรับจีวรได้ก่อนวันปวารณา ๑๐ วันเป็นอย่างมาก คือ ตั้งแต่วันขึ้น ๖ ค่ำ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ก่อนเขตจีวรกาล (การกรานกฐินหลังออกพรรษา)

จีวรภาชกะ คือ ภิกษุผู้มีหน้าที่แจกจีวรพึงเว้นจากอคติ ๔ ประการ
และพึงรู้จักจีวรที่ควรแจกและมิควรแจก ดังนี้

๑. จีวรที่เขาถวายไม่นิยมเป็นพิเศษ พอแจกทั่วกัน ควรแจก
๒. จีวรที่เขาถวายเป็นผ้ากฐิน หรือเป็นมูลแห่งเสนาสนะปัจจัย ไม่ควรแจก
๓. จีวรมีจำนวนเท่าไร แจกไปแล้วหรือยังไม่ได้แจก ต้องจดจำไว้

อันภิกษุผู้มีหน้าที่แจกจีวร พีงกำหนดเขต กาล วัตถุ บุคคล และนิยมต่าง ๆ ดังนี้

พึงกำหนดเขต
เขตนั้น โดยปกติกำหนดด้วยอาวาสทั้งหมด ทายกถวายสงฆ์ในอาวาสใด พึงแจกแก่ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่พร้อมหน้ากันในอาวาสนั้น ถ้าสงฆ์หลายอาวาส ทำกติกากันว่า ลาภเกิดขึ้นในอาวาสหนึ่ง สงฆ์ในอาวาสที่เหลือได้ส่วนแจกด้วย เช่นนี้ พึงแจกถึงภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ในเขตกติกานั้นด้วย

พึงกำหนดกาล
กาลนั้น ต้องรู้ว่าเป็นจีวรกาลตามปกติ หรือที่ขยายเขตออกไปตลอดฤดูหนาวด้วย อานิสงส์กฐิน หรือพ้นไปแล้ว
ถ้าเป็นจีวรกาล พึงแจกเฉพาะแก่ภิกษุผู้ได้จำพรรษาแล้ว หรือแม้ได้กรานกฐินแล้วด้วย ถ้าต้องการให้อาคันตุกะได้รับแจกด้วย อปโลกน์ ขออนุมัติต่อสงฆ์ผู้จำพรรษาแล้วนั้น ถ้าพ้นจากจีวรกาลแล้วพึงแจกแม้แก่อาคันตุกะ ด้วย

พึงกำหนดวัตถุ
วัตถุนั้น ได้แก่จีวรนั่นเอง โดยมากเป็นผ้าอาบน้ำฝนและผ้าจำนำพรรษา ต้องรู้ว่าเป็นผ้าเหมือนกันหรือต่างกัน ดีเลวอย่างไร ราคาถูกหรือแพงอย่างไร เป็นจีวรชนดใดในไตรจีวร อย่างไหนมีจำนวนเท่าไร ถ้าผ้ามีจำนวนพอแจกเป็นผืนได้ พึงแจกเป็นผืน การแจกนั้นต้องแจกของดีมีราคา โดยแจกตั้งแต่พระสังฆเถระลงมาตามลำดับ

พึงกำหนดบุคคล
บุคคล ในที่นี้หมายถึงสหธรรมิกผู้รับแจก ถ้าเป็นภิกษุได้เต็มส่วน สามเณรได้กึ่งส่วน ถ้าของมีจำนวนพอแจกรูปละส่วน ให้แจกเสมอกัน ควรอยู่

พึงกำหนดนิยมต่าง
นิยมต่างนั้น ต้องรู้ว่าผ้าที่ทายกถวายเป็นผ้าอะไร ถ้าเป็นผ้ากฐิน ควรให้สงฆ์มอบแก่ภิกษุรูปหนึ่งเพื่อกรานกฐิน ไม่ควรเอามารวมแจกกับผ้าอื่น ผ้าบริวารก็เหมือนกัน ผ้าไตรจีวรของภิกษุหรือสามเณรผู้มรณภาพแล้ว ควรให้สงฆ์ให้แก่ภิกษุสามเณรผู้พยาบาลไข้
*******************************
เครื่องอัฐบริขาร ๘

อัฐบริขาร คือ ของเครื่องใช้ที่จำเป็น ๘ อย่างสำหรับพระภิกษุสงฆ์ได้แก่

๑. ผ้าจีวร
๒. ผ้าสังฆาฎิ
๓. ผ้าสบง
๔. ประคดเอว
๕. มีดโกน
๖. บาตร
๗. เข็มเย็บผ้า
๘. ธมกรก (เครื่องกรองน้ำ)

ในปัจจุบัน กุลบุตรที่ต้องการจะอุปสมบท จะต้องจัดหาเครื่องอัฐบริขารให้ครบ โดยแบ่งเป็น

๑. ไตรครอง ๑ ชุด
๒. ไตรอาศัย ๑ ชุด
๓. บาตร ๑ ชุด
๔. มีดโกน หินลับมีด เข็มเย็บผ้าพร้อมทั้งกล่องเข็มและด้าย
๕. ตาลปัตร ย่าม ผ้าเช็ดหน้า ร่ม รองเท้า ปิ่นโต จาน ช้อน ส้อม
๖. เสื่อ หมอน ผ้าห่ม มุ้ง ไฟฉาย สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ขันน้ำ
๗. อุปกรณ์อื่น ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ เช่น โคมไฟ กาต้มน้ำ กระติกน้ำร้อน ฯลฯ

ไตรครอง ได้แก่ อันตรวาสก อุตราสงค์ สังฆาฏิ กายพันธน์ ผ้าอังสะ และผ้ารัดอก

อันตรวาสก คือ ผ้าสบง (สำหรับนุ่ง)
อุตราสงค์ คือ ผ้าจีวร (สำหรับห่ม)
สังฆาฏิ คือ ผ้าสำหรับห่มซ้อนนอกเวลาอากาศหนาว ปกติพระสงฆ์ท่านจะพับไว้แล้วพาดซ้อนบ่า
เวลาห่มดอง (เป็นการห่มจีวรอีกแบบหนึ่งของพระ)
กายพันธน์ คือ ผ้าประคดรัดเอว
ผ้าอังสะ คือ ผ้าสีเหลือง ลักษณะคล้ายเสื้อใช้คล้องไหล่เฉียงบ่าปิดไหล่ซ้าย
พระจะใช้เมื่อเวลาอยู่ที่วัดตามลำพัง (ไม่ต้องห่มจีวรคลุมร่างทั้งผืน)
ผ้ารัดอก คือ ใช้สำหรับรัดจีวรเมื่อเวลาห่มดอง นอกจากนี้ยังมีผ้ากราบ
ใช้สำหรับรองเมื่อเวลากราบและใช้ปูรับของเมื่อเวลาผู้หญิงประเคนของถวาย
ไตรอาศัย คือ ไตรสำรองอีกชุดหนึ่ง มีจีวร สบง อังสะ และผ้าอาบน้ำฝน
บาตร จะต้องมีเชิงรองหรือที่สำหรับตั้งบาตรพร้อมฝาบาตร และถลกบาตร สายโยง ถุงตะเคียว
(ได้แก่ ตาข่ายคลุมบาตรและสายโยงสำหรับใช้สะพาย)




Create Date : 11 มิถุนายน 2553
Last Update : 11 มิถุนายน 2553 1:33:45 น. 1 comments
Counter : 2815 Pageviews.  
 
 
 
 
ความรู้ข้างต้น อ้างอิงมาจาก //www.phuttha.com/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%86%E0%B9%8C/%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A3-%E0%B9%98

ผมมีความสงสัย
1.ในอัฐบริขาร มีไตรอาศัย ผมเข้าใจว่า คือ ไตรจีวรสำรอง
ก็อาบัติ มีไตรจีวรมากกว่าหนึ่งอัน ใช่ไหมครับ?
2.หรือข้อ1 ถูก แต่ให้ ไวยวัจจกร (เวยยาวัจจกร?) เป็นผู้ดูแลจัดกการ
3.แล้วเราสามารถถวายไตรจีวร และ อัฐบริขาร ในการถวายสังฆทานได้หรือไม่ และ เหมาะหรือไม่ จะเกิดปัญหาอะไรตามมาหรือไม่ เช่น มีไตรจีวรเหลือมากมาย

รอคำตอบแหล่งที่สอง -> yahoo
 
 

โดย: oozingplanet (oozingplanet ) วันที่: 11 มิถุนายน 2553 เวลา:1:17:37 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

oozingplanet
 
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




ร้อนหนาวอยู่ที่กาย สุขทุกข์อยู่ที่ใจ
[Add oozingplanet's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com