Welcome to my planet, and enjoy taking a wonderful journey

<<
กันยายน 2554
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
28 กันยายน 2554
 

วิธีคิดแบบหนึ่งนำพาสู่ความสำเร็จ SME

อนุพงษ์ อัศวโภคิน
//www.manager.co.th/mgrweekly/viewnews.aspx?newsID=9540000120725
๐ วิธีคิดแบบหนึ่งนำพาสู่ความสำเร็จ วิธีคิดอีกแบบหนึ่งชักพาสู่ความล้มเหลว

๐ ต้องคิดอย่างไรเมื่อภัยมาถึงธุรกิจ ?

๐ “อนุพงษ์ อัศวโภคิน” ผู้ประกอบการมากประสบการณ์ชี้ช่องทาง

๐ หลากหลายบทพิสูจน์ที่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจสู่ทางรอดและทางรุ่ง

ปัญหาหรืออุปสรรคหรือโจทย์ใหญ่อะไรก็ตาม เมื่อก้าวผ่านข้ามพ้นมาได้ ย่อมทำให้คนๆ หนึ่งแข็งแกร่งจากสิ่งที่ได้เรียนรู้และเผชิญมาอย่างท้าทาย การได้รับรู้เรื่องราว ความคิด และประสบการณ์ที่มีคุณค่าเช่นนี้ จากผู้ประกอบการที่มีบทพิสูจน์มาแล้ว จึงเป็นเหมือนทางลัดที่ให้ประโยชน์กับผู้ประกอบการอื่นๆ ที่แม้จะไม่ได้อยู่ในธุรกิจเดียวกันก็ตาม แต่สามารถนำไปใช้ได้อย่างง่ายๆ เพราะเพียงแค่ “คิด” ไปในแนวทางนี้ก็เป็นจุดเริ่มของเส้นทางที่ถูกต้องแล้ว

๐ อย่าตีบตันกับปัญหา

“ผู้จัดการ 360 องศารายสัปดาห์” ฉบับนี้ จึงนำเสนอแนวความคิด มุมมอง และประสบการณ์ดีๆ ของ “อนุพงษ์ อัศวโภคิน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ที่มีความเป็นผู้ประกอบการอยู่เต็มเปี่ยม เขาเห็นว่าจุดเริ่มต้นของการเป็นผู้ประกอบการมาจากการมี “คนต้นแบบ” หรือ Role Model ที่เป็นเหมือนฮีโร่ในดวงใจ แต่หลายคนที่ล้มเหลวเป็นเพราะคิดและทำตามโดยไม่ได้มองว่า Role Model นั้นเหมาะกับตนเองหรือไม่ ในเบื้องต้นส่วนตัวเขามีพี่ชาย- อนันต์ อัศวโภคิน ผู้สร้างอาณาจักรธุรกิจบ้านจัดสรร “แลนด์แอนด์เฮ้าส์” ที่ไม่มีใครไม่รู้จัก เป็นคนที่เขาชื่นชม แต่ก็กลับพบว่า ชอบได้รักได้แต่ไม่ใช่เดินตามโดยลืมมองตัวเอง

“เมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว ผมตั้งบริษัทแบบละเมอวางโครงสร้างองค์กรเหมือนแลนด์ฯ ผลคือเกือบเจ๊งเพราะคนของเรายังไม่รู้ลึกไม่เก่งพอ จึงต้องปรับโครงสร้างใหม่ พอดีกับการเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ในเวลาต่อมา จึงมีการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการภายในให้เหมาะกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เช่น การจ่ายค่าคอมมิชชั่นให้เซล เพื่อกระตุ้นให้เกิดรายได้เข้ามามากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และลดเวลาทำงานของแบ็กออฟฟิศเพื่อลดรายจ่ายของบริษัท แต่เป็นการมองต่างมุมกับพี่ชายของผมเขาบอกว่าต้องสร้างให้คนรักองค์กร จ่ายค่าคอมฯ เซลไม่ได้เพราะจะไม่รักองค์กร ต้องจ่ายเป็นเงินเดือนกับโบนัส แต่เซลของแลนด์ฯ อยู่มาเป็นสิบปี ธรรมชาติต่างกับเซลของเรา ผมบอกว่าของผมถ้าทำแบบนั้นจะไม่มีองค์กรให้รัก”

“ตอนที่เศรษฐกิจแย่ผมมีหนี้มากกว่าทรัพย์สินหลายเท่า แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเรียนรู้สำหรับการเป็นผู้ประกอบการคืออย่าตันกับปัญหา เพราะคนเราเมื่อเจอปัญหา มักจะเจอทางตัน เพราะมักจะคิดวนไปวนมา คิดแต่เรื่องแก้หนี้เรื่องจ่ายดอกเบี้ย เคยเป็นเศรษฐีพันล้าน กลายเป็นหนี้พันล้าน เพราะฉะนั้น แทนที่จะเน้นแก้ปัญหา ต้องกลับไปดูภาพใหญ่ว่าจะเดินอย่างไรดีกว่า ต้องคิดว่าเมื่อเศรษฐกิจย่ำแย่อะไรเป็นประโยชน์ที่สุดกับเรา”

๐ หนทางปลดหนี้

สำหรับธุรกิจพัฒนาที่ดินในตอนนั้นเจ้าของที่ดินหลายแห่งอยากขาย และราคาที่ดินโดยภาพรวมลดลง ซึ่งเมื่อคิดคำนวณแล้วการลงทุนกับที่ดินในเมืองมีความน่าสนใจมากกว่าที่ดินชานเมือง เพราะราคาที่ดินในเมืองลดลงอย่างมากในขณะที่ราคาที่ดินในเมืองเป็นต้นทุนส่วนใหญ่ของต้นทุนทั้งหมด แม้ว่าค่าก่อสร้างจะเพิ่มขึ้น การพัฒนาสินค้าในขณะนั้นจึงมุ่งเน้นไปที่สินค้าซึ่งมีต้นทุนที่ดินเป็นหลักอย่างทาวน์เฮ้าส์ในเมือง และเป็นที่มาของโครงการบ้านกลางกรุงที่ทองหล่อ เนื่องจากผู้ประกอบการในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายอื่นๆ ไม่คิดจะทำหรือไม่มีเงินทุนมากพอที่จะทำเพราะส่วนมากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในเวลานั้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เขาคิดตลอดเวลาคือ “เราจะรอดอย่างไร” ไม่ได้คิดว่าจะหาเงินมาจ่ายดอกเบี้ยได้อย่างไร เมื่อไรจะคืนเงินต้นได้ เพราะการจมอยู่กับปัญหาไม่ได้ทำให้รอด แต่ต้องคิดว่า วันนี้มีเงินเท่าไรจะลงทุนอย่างไร เพราะเมื่อจะเดินไปข้างหน้าอย่าเอาปัญหามาคิด เนื่องจากสิ่งที่ยากที่สุดเมื่อสถานการณ์ย่ำแย่คือการรับมือกับอารมณ์และความรู้สึกของตัวเอง ซึ่งบทเรียนที่ได้ในวันนั้นคือ เวลาจะเดินชนอะไร อย่าคิดว่าจะชนอย่างไร หรือจะเดินอ้อมอย่างไร แต่ต้องเลิกคิดและไปหาทางเดินใหม่ดีกว่า เพราะคนที่เจอปัญหาและคิดแต่จะแก้ปัญหาจะจมลงไปกับปัญหาทุกวัน เพราะเมื่อเจอปัญหาหนึ่งจะตามด้วยอีกปัญหา และจะตายตอนที่คิดแต่จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทั้งที่แท้จริงมีปัญหาที่เป็นต้นตอของปัญหานี้อยู่

“เวลาที่ผมเจอปัญหา ผมจะพยายามดึงตัวเองกลับมาถามว่า จริงๆ เราอยากทำอะไร บอกให้ทุกคนดูที่โจทย์และเป้าหมายจริงๆ เช่น พนักงานบอกว่าทำไม่ได้ เพราะถ้าทำจะกลายเป็นให้ประโยชน์คนนี้ ผมก็บอกว่าแล้วใช่ทางออกหรือเปล่า ถ้าใช่ทำแล้วจบจะคิดอะไรมากเกิน เสียเปรียบนิดเดียวแต่แก้ปัญหาได้”

“วันนั้นหนี้ของผมไม่ใช่น้อยๆ มีหนี้สินต่อทุน 8-9 เท่า ทรัพย์สินประมาณพันล้านบาท แต่หนี้สินประมาณสองพันล้าน แม้ว่าดอกเบี้ยสูงมากแต่ผมจ่ายหมด ใช้เวลาฟื้น 2 ปี เริ่มมีเงินและรู้ว่ารอดแล้ว ตอนนั้น วิธีคิดของผู้ประกอบการทุกคนคือต้องเก็บหรือสะสมแลนด์แบงก์ ซึ่งเป็นแนวความคิดแบบเก่า คิดว่าเมื่อซื้อที่ดินแล้วทิ้งเอาไว้ราคาจะเพิ่มขึ้นได้เอง เพราะฉะนั้น ซื้อแปลงใหญ่ร้อยไร่สองร้อยไร่แล้วอยู่กับมัน และทุกคนมองมาร์จิ้น 40% ขึ้นไป แต่เพราะตอนนั้นราคาที่ดินเหลือแค่ 1 ใน 3 ยังไม่มีใครซื้อ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกลัวว่าจะซื้อที่ดินไมได้ วิธีคิดใหม่คือซื้อที่ดินแปลงเล็กทำโครงการเล็กๆ ทำเร็ว จบเร็ว และขอมาร์จิ้นแค่ 30-35% ก็พอ ไม่มากแต่ได้เร็ว”

“แต่ต้องอดทนต่อสิ่งยั่วยวน ต้องนึกภาพว่าวันนั้นผมซื้อที่ดินทองหล่อตารางวาละ 79,000 บาท ถ้าปล่อยไว้เฉยๆ จนถึงวันนี้ไม่ต้องทำอะไรขายได้ตารางวาละ 5 แสนบาท สบายๆ แต่ถ้าทำอย่างนั้นผมไม่มาถึงวันนี้ เพราะซื้อชื่อเสียงบริษัทไม่ได้ เป็นแค่คนเก็งกำไรที่ดินธรรมดาๆ คนหนึ่ง ไม่ใช่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ผมคิดว่าการเป็นผู้ประกอบการต้องถามตัวเองว่าเป็นใคร ถ้าบอกว่าเป็นนักพัฒนาที่ดิน ที่ดินไม่ใช่สินค้าสำเร็จรูปที่เอาไว้ขาย หลายคนตกม้าตายเพราะหาตัวตนไม่เจอหรือทนสิ่งยั่วยวนไม่ไหว หลายรายที่เป็นผู้ส่งออก สิ่งที่ต้องทำคือตอนที่เงินบาทอ่อนต้องล็อกเงินบาท และกำไรเท่าไรก็เท่านั้น ขณะที่ถ้าเป็นนักปริวรรตเงินตราก็ยังไม่ยอมแลก เพราะคิดเรื่องกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ผมบอกตัวเองเสมอว่าเป็นนักพัฒนาที่ดิน ไม่ใช่นักเก็งกำไรที่ดิน”

๐ เสียเปรียบเล็กน้อยเท่ากับยุติธรรม

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าคิดสำหรับผู้ประกอบการคือ เมื่อได้วิธีคิดหนึ่งมาแล้ว แทนที่จะคิดว่าหนีไปเรื่อยๆ แต่มาทำรายละเอียดให้ลึกขึ้นในวิธีคิดแบบที่ได้มา เช่น ฟังก์ชั่นของทาวน์เฮ้าส์ซึ่งมีขนาดความกว้าง 5 เมตร ลึก 17 เมตร ซึ่งเป็นขนาดที่เหมาะสมดีอยู่แล้ว จึงควรจะคิดในรายละเอียดของห้องต่างๆ ที่จะทำให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ดีกว่าเดิม และเป็นวิธีคิดที่ดีกว่า

เขาย้ำว่า การเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องยอมรับว่าคือการที่มีคนไม่กี่คนที่ลากหัวขบวนไปแล้วมีมือที่ลงไปจัดการให้สิ่งที่คิดที่เริ่มเอาไว้เกิดขึ้นได้ บริษัทนี้มี 2 หัวคือตัวเขากับพิเชษฐ์ วิภวศุภกร หุ้นส่วนที่ร่วมกันขับเคลื่อนธุรกิจมาตั้งแต่ตอนที่เริ่มบุกเบิก ทั้งๆ ที่เป็นคนละแบบ คนละขั้ว แต่การก้าวมาด้วยกันได้นั้นเป็นเพราะ “การเคารพซึ่งกันและกัน” โดยธรรมชาติพิเชษฐ์เป็นคนที่ทำอะไรรวดเร็ว กล้าได้กล้าเสีย มีจิตวิญญาณของความเป็นผู้ประกอบการอย่างมาก ขณะที่ เขาเป็นคนคิดรอบด้าน อย่างระมัดระวังที่สุด

“เขาเป็นคนลากไปข้างหน้า ผมเป็นคนดูข้างหลังว่ามีรูโหว่อะไร แรกๆ เราทำงานกันแบบไม่ได้แบ่งหน้าที่ เป็นเหมือนคอกับลูกกะเดือก เรื่องนี้เขาคอมเม้นต์คนทำคือผม อีกเรื่องผมคอมเม้นต์คนทำคือเขา เมื่อเขามีไอเดียมาผมมักจะคิดแบบฝั่งตรงข้ามจะโต้แย้งจนถึงที่สุด เพราะเขาเป็นคนตัดสินใจเร็ว แต่เมื่อผมดีไซน์แบบบ้านแปลกๆ เขามักจะสนับสนุนเพราะมันต่างจากที่มีอยู่ในตลาด แต่ใช้วิธีการเทียบกับของคู่แข่งและถามตัวเองว่าจะซื้อหรือไม่ เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีพอ และถึงจะทำเสียหายกันหลายครั้ง แต่ต่างคนต่างยอมรับกันได้ ที่คบกันมา 17-18 ปี ไม่มีช่วงเวลาที่กินข้าวด้วยกันหรือไปเที่ยวด้วยกัน คุยเรื่องส่วนตัวกันบ้าง แต่เมื่อเลิกงานก็บ้านใครบ้านมันตัวใครตัวมัน เพราะชอบต่างกัน วิถีชีวิตก็ต่างกัน ผมมักจะสร้างภาพที่น่ากลัวต่างๆ เพื่อให้คิดว่าว่าเลวร้ายที่สุดเราจะทำอย่างไรได้บ้าง ทั้งเพื่อป้องกันความเสี่ยงและเผื่อใจเอาไว้สำหรับสิ่งที่คาดไม่ถึง”

เขาเห็นว่าการเป็นหุ้นส่วนกันโดยไม่ได้สนิทสนมหรือเป็นเพื่อนกันมาก่อนเป็นสิ่งที่ดี เพราะการเป็นเพื่อนกันและมาเป็นหุ้นส่วนในเวลาต่อมามักจะเริ่มต้นด้วยการไม่คิดอะไรมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปจะเริ่มรู้สึกว่ามีการเอาเปรียบกัน และธุรกิจที่ร่วมกันจะไปไม่รอด ในทางตรงกันข้าม การเป็นหุ้นส่วนจะยืนยาวได้จากประสบการณ์ของเขาพบว่าต้องใช้ภาษิตหรือหลักคิดว่า “การเสียเปรียบเล็กๆ น้อยๆ เท่ากับยุติธรรม แต่เมื่อไรที่รู้สึกว่ายุติธรรมแปลว่ามีการเอาเปรียบ” ซึ่งจะทำให้ฝ่ายหนึ่งเกิดความหงุดหงิดไม่พอใจกันตามมา เพราะคนเรามักจะคิดเข้าข้างตัวเอง

“เมื่อเป็นหุ้นส่วน สมมุติคุณเป็นคนทำงาน ทำไปเรื่อยๆ แล้วเอากำไรมาแบ่งกัน คุณจะรู้สึกว่าผมเอาเปรียบคุณ เพราะคุณทำงานแต่ไม่มีเงินเดือน แต่ถ้าผมตั้งเงินเดือนให้ 3 หมื่นก็จะโกรธว่าน้อยไป เพราะฉะนั้น วิธีการคือให้คุณตั้งเงินเดือนเอง เมื่อตั้งมา 7 หมื่น ผมอาจจะรู้สึกว่าสูงไป แต่คุณจะรู้สึกว่าไม่คุ้มกับการที่ต้องมาทำงาน แต่คิดว่าเอาก็เอา ซึ่งจะทำให้อยู่กันได้ เพราะคุณทำใจกับการรู้สึกเสียเปรียบ แต่ละคนจะรู้สึกว่าบางเรื่องเสียเปรียบหน่อยๆ แต่เพราะมันผลัดกันไปผลัดกันมา และเมื่อเวลาผ่านไป สุดท้ายเรื่องเสียเปรียบกันไม่มีอยู่ในหัว แต่จะคิดว่าอะไรคือผลประโยชน์ของบริษัท” อนุพงษ์ บอกเล่าถึงเคล็ดลับการบริหารความสัมพันธ์ที่เป็นจุดชี้เป็นชี้ตายของธุรกิจซึ่งหลายๆ คนมองข้าม

เห็นได้ว่า วิธีการคิดที่เล่ามาทั้งหมดนี้ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการคนหนึ่งซึ่งมุ่งหวังที่จะประสบความสำเร็จในธุรกิจสามารถเดินไปสู่เป้าหมายได้อย่างที่เห็นกันอยู่ในวันนี้




 

Create Date : 28 กันยายน 2554
0 comments
Last Update : 28 กันยายน 2554 19:01:54 น.
Counter : 1402 Pageviews.

 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

oozingplanet
 
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




ร้อนหนาวอยู่ที่กาย สุขทุกข์อยู่ที่ใจ
[Add oozingplanet's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com