เปิดปม! ศาลเยอรมนีขอเอกสารคดี "ยึดโบอึ้ง 737"
กระทรวงการต่างประเทศ เผยความคืบหน้าคดีโบอิ้ง 737 ศาลเยอรมนีขอเอกสารกรรมสิทธิ์เอกชนเพิ่มเติม ยังไม่ยืนยันจะตัดสินเมื่อใด สื่อนอก คาด 18 ก.ค.นี้ ด้านนายกฯ เชื่อทุกอย่างคลี่คลายได้ เพราะศาลเข้าใจคลาดเคลื่อน

นายเจษฎา กตเวทิน รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยกับสำนักข่าว INN เกี่ยวกับความคืบหน้ากรณีที่รัฐบาลเยอรมนีได้สั่งอายัดเครื่องบินโบอิ้ง 737 สัญชาติไทย แต่ไม่ใช่ทรัพย์สินของทางรัฐบาลว่า หลังจากเมื่อวานนี้ ศาลเยอรมันได้มีการไต่สวน นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และคณะ ซึ่งได้เดินทางไปร่วมรับฟังการพิจารณา พร้อมกับยื่นเอกสารต่าง ๆ เพื่อเป็นการคัดค้านไปแล้ว

โดย นายเจษฎา ระบุว่า ภายหลังจากมีการยื่นเอกสารไปแล้วส่วนหนึ่ง ทำให้ศาลเยอรมนีเลื่อนการตัดสินที่กำหนดไว้ เมื่อวานนี้ออกไป และมีการขอเอกสารกรรมสิทธิ์ของเอกชนจากอัยการของฝ่ายไทยเพิ่มเติม เนื่องจากการแสดงเอกสารที่กองทัพอากาศ ได้ยื่นไปว่า ได้ถวายเครื่องบินลำดังกล่าวไป เมื่อปี 2550 แต่ยังไม่เพียงพอ แต่ก็เป็นสัญญาณที่ดี เนื่องจากแสดงให้เห็นว่า การร้องขอของไทยได้รับการตอบรับที่ดี จนเป็นที่มาของการออกแถลงการณ์ขอโทษเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไปแล้ว

นอกจากนี้ สื่อต่างประเทศ ยังรายงานด้วยว่า ศาลเยอรมนีได้มีการเลื่อนตัดสินเรื่องดังกล่าว หลังจากที่ไทยได้ยื่นเอกสารไปว่า เครื่องบินลำดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินของรัฐบาล แต่ยังไม่เพียงพอและต้องการเอกสารเพิ่ม จึงอาจจะมีการตัดสินในสัปดาห์หน้า แต่ไม่ได้ระบุวันที่ชัดเจน โดยคาดกันว่า อาจจะตัดสินในวันที่ 18 กรกฎาคมนี้

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า หลังจากทางอัยการสูงสุดได้เดินทางไปชี้แจงข้อเท็จจริงที่ศาลเยอรมนีแล้ว ทางฝ่ายไทยหวังว่าศาลจะเปลี่ยนแปลงคำตัดสิน เพราะที่ผ่านมา ศาลเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเครื่องบินลำนี้เป็นของรัฐบาล ซึ่งความจริงไม่ใช่ และเชื่อว่าทุกอย่างน่าจะคลี่คลายได้

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนคดีหลักเรื่องการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลไทยนั้น อยู่ระหว่างที่กำลังยื่นอุทธรณ์ที่ศาลนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ไม่ทราบว่าจะใช้เวลามากน้อยแค่ไหน แต่ที่ผ่านมาคดีจะใช้เวลามากพอสมควร ขณะนี้ทางอัยการสูงสุดมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในชั้นอุทธรณ์

เมื่อถามว่า รัฐบาลจะแก้ไขปัญหาที่จะอาจจะถูกอายัดทรัพย์สินของรัฐบาลอย่างไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่ควรจะมีเรื่องนี้เกิดขึ้น และทางอัยการสูงสุดกำลังดำเนินการ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้เพราะเป็นช่วงรอยต่อของคดีที่ไทยเตรียมยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 29 ก.ค.นี้ ตามข้อเท็จจริงแล้วไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องมาอายัดทรัพย์สิน เพราะเมื่อชั้นสุดท้ายศาลตัดสินอย่างไรหรือให้ประเทศไทยชำระหนี้เราต้องปฏิบัติตามอยู่แล้ว รัฐบาลไม่มีทางหนีไปไหน ทรัพย์สินของรัฐบาลมีอยู่มากมาย และเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการ ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่ปฏิบัติตาม ดังนั้นไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่ทางการเยอรมนีจะต้องมาดำเนินการอะไร

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ทางกระทรวงการต่างประเทศตั้งข้อสังเกตว่ากระบวนการไต่สวนของเยอรมนีทำไมไต่สวนฝ่ายเดียว นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนไม่อยากไปวิจารณ์กระบวนการยุติธรรม แต่เราข้องใจว่าทำไมถึงไต่สวนฝ่ายเดียว เข้าใจว่าฝ่ายผู้ร้องคงจะอ้างว่าเป็นเรื่องฉุกเฉิน และเป็นมาตรการชั่วคราวที่จะดำเนินการอย่างเร่งด่วน อย่างไรตาม ขณะนี้ภารกิจสำคัญคือให้มีการถอนอายัดเครื่องบินของพระองค์ท่านเสียก่อน และต่อไปไม่ควรมีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องของเอกชน

เปิดปมร้อน เหตุเครื่องบินไทยถูกอายัด

สำหรับกรณีที่บริษัท วอลเตอร์ บาว ของเยอรมนี สั่งอายัดเครื่องบินโบอิ้ง 737 สัญชาติไทยนั้น เป็นผลมาจากความขัดแย้งเรื่องสัมปทานดอนเมืองโทลล์เวย์เมื่อปี พ.ศ.2548 ที่บริษัท วอลเตอร์ บาว ผู้ถือหุ้นบริษัททางยกระดับดอนเมือง จำกัด มหาชน ในสัดส่วนร้อยละ 9.87 ยื่นฟ้องรัฐบาลสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้จ่ายค่าชดเชยที่ผิดสัญญาโครงการก่อสร้างทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ ผ่านกระบวนการอนุญาโตตุลาการไทยและอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ

จากนั้นเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2552 อนุญาโตตุลาการได้มีคำสั่งให้ไทยผิดพันธกรณีภายใต้ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างไทย-เยอรมนี ปี 2545 และให้ไทยต้องจ่ายค่าชดเชย 29.21 ล้านยูโรพร้อมดอกเบี้ย รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีอีกกว่า 1,800,000 ยูโร

ก่อนที่เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2553 บริษัท วอลเตอร์ บาว จะยื่นคำร้องต่อศาลสหรัฐอเมริกา บังคับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งศาลสหรัฐฯ ก็ได้พิพากษารับรองคำสั่งดังกล่าว และสั่งให้ไทยต้องจ่ายค่าชดเชยดังกล่าว ซึ่งหากไทยไม่ยอมชำระตามคำตัดสิน อาจขอให้ศาลบังคับเอากับทรัพย์สินของรัฐบาลไทยที่อยู่ในเขตอำนาจได้

คำสั่งดังกล่าว ส่งผลให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประชุมเป็นวาระเร่งด่วนในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว เพราะมีกระแสข่าวว่า บริษัท วอลเตอร์ บาว เตรียมจะอายัดทรัพย์สินของรัฐบาลไทยในต่างแดน แต่สุดท้าย ทางรัฐบาลตั้งคณะทำงานขึ้นมาต่อสู้คดี เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตั้งแต่ต้น เพราะมองว่า บริษัท วอลเตอร์ บาว ฟ้องเรียกค่าเสียหายด้วยเจตนาไม่สุจริต และคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไม่ยุติธรรม

นอกจากนี้ ทางรัฐบาลยังมองว่า บริษัท วอลเตอร์ บาว ไม่ใช่คู่สัญญากับรัฐบาลโดยตรง เพราะเป็นเพียงแค่ผู้ถือหุ้นของบริษัททางยกระดับดอนเมืองเท่านั้น และรัฐบาลเคยชดใช้ค่าชดเชยให้กับดอนเมืองโทลล์เวย์ไปแล้ว ทั้งการขยายสัมปทานออกไปถึงปี พ.ศ.2577 รวมทั้งให้ปรับขึ้นค่าผ่านทาง เมื่อปี พ.ศ.2552 ขณะที่ค่าชดเชยรายได้จากการให้ลดค่าผ่านทางเหลือ 20 บาทตลอดสาย กรมทางหลวงได้จ่ายเงินชดเชยไปแล้ว 30 ล้านบาท ดังนั้น บริษัท วอลเตอร์ บาว จึงไม่มีสิทธิฟ้องร้องรัฐบาลไทย

อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะทำงานฝ่ายไทยเสนอคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการให้ศาลปกครองกลางของไทยชี้ขาด แต่ศาลปกครองได้วินิจฉัยว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ทำให้กระบวนการต่อสู้หยุดชะงักตั้งแต่นั้นมา และรัฐบาลไทยก็ยังไม่ได้จ่ายค่าเสียหายใด ๆ ให้บริษัท วอลเตอร์ บาว ซึ่งปัจจุบันนี้ บริษัทสัญชาติเยอรมนีรายนี้ล้มละลายไปแล้ว ทำให้บรรดาเจ้าหนี้ต้องเร่งแปรทรัพย์สินที่หลงเหลืออยู่ให้เกิดมูลค่า นำไปสู่การอายัดเครื่องบินสัญชาติไทยในครั้งนี้





[15 กรกฎาคม] เยอรมนี อายัดเครื่องบินไทย เหตุรัฐบาลไทยไม่จ่ายหนี้

กษิต จวกศาลเยอรมนี อายัดเครื่องบินส่วนพระองค์ ชี้เป็นความผิดพลาดใหญ่หลวง เพราะไม่ใช่เครื่องบินของรัฐ เผยเหตุเป็นเพราะรัฐบาลไทยไม่ยอมจ่ายหนี้ที่ยืดเยื้อมานาน

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ที่ผ่านมา นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เปิดแถลงข่าวถึงกรณีที่เครื่องโบอิ้ง 737 เครื่องบินสัญชาติไทย ที่ตามรายงานข่าวระบุว่า เป็นเครื่องบินของกองทัพอากาศไทยซึ่งเป็นพระราชพาหนะของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ได้ถูกทางการเยอรมนีอายัดที่ท่าอากาศยานเมืองมิวนิค เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 12 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ว่า เป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากการขัดแย้งสัมปทานโทลเวย์ดอนเมือง เมื่อปี พ.ศ.2548 และได้มีการดำเนินการผ่านกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศแล้ว โดยไทยต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับ บริษัท วอลเตอร์ บาว คู่กรณี เป็นเงินประมาณ 30 ล้านเหรียญยูโร รวมกับค่าดอกเบี้ยอีกประมาณ 2 ล้านเหรียญยูโร เนื่องจากรัฐบาลไทยในช่วงนั้นผิดพันธะสัญญา แต่ยังไม่มีการดำเนินการจ่ายค่าเสียหายใด ๆ ทางศาลของเยอรมนี จึงได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ให้อายัดเครื่องบินสัญชาติไทย ที่จอดอยู่ที่นครมิวนิค ประเทศเยอรมนี

นายกษิต กล่าวต่อว่า ทางเจ้าทุกข์และศาลเยอรมนีสามารถอายัดทรัพย์สินของรัฐบาลไทยได้ แต่เครื่องบินลำนี้เป็นของส่วนบุคคล ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สินของรัฐบาลไทย จึงถือเป็นการกระทำที่ผิดพลาด ซึ่งตนได้ยืนยันเรื่องนี้ผ่านทางการทูตแล้ว โดยได้ทำหนังสืออย่างเป็นทางการถึง รมว.ต่างประเทศของเยอรมนี ขณะเดียวกันสถานเอกอัครราชทูตไทยฯ ได้ติดต่อกับกรมสนธิสัญญา กระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีอย่างใกล้ชิด และได้ยื่นหลักฐานคือ ใบทะเบียนแสดงความเป็นเจ้าของเครื่องบินลำนี้แล้ว

รมว.ต่างประเทศ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า คณะทำงานฝ่ายกฎหมายของไทย ได้เดินทางไปยังนครมิวนิคแล้ว พร้อมกันนี้ ตนจะเดินทางไปยังกรุงเบอร์ลิน เพื่อพบปะกับรัฐบาลเยอรมนี โดยจะแสดงความกังวลใจและไม่สบายใจอย่างยิ่งต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และถือเป็นความผิดพลาดอันใหญ่หลวงของกระบวนการยุติธรรมของเยอรมนี ที่ไต่สวนแต่เพียงฝ่ายโจทก์เพียงฝ่ายเดียว อีกทั้งยังได้รับข้อมูลที่คาดเคลื่อนจากทนายฝ่ายโจทก์ ทั้งนี้ตนเชื่อว่าเมื่อทางการเยอรมันได้รับข้อมูลที่ถูกต้องจากทางฝั่งไทย คงจะสามารถหาข้อยุติได้ภายในเร็ว ๆ นี้

ส่วนกรณีที่ถามว่าเรื่องดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือไม่ นายกษิต กล่าวว่า แน่นอน ประเทศไทยถูกโลกตะวันออกเพ่งเล็งมาตลอด แต่ทางไทยก็ได้ดำเนินการทุกอย่างอย่างโปร่งใส และไทยก็อยากมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อเยอรมนีต่อไป

ทั้งนี้ ตามรายงานข่าวของสำนักข่าวเอพี ระบุว่า รัฐบาลไทยติดหนี้บริษัทก่อสร้าง วอลเตอร์ บาว ซึ่งปัจจุบันบริษัทนี้ล้มละลายไปแล้ว หลังจากที่รัฐบาลได้ทำสัญญาให้บริษัทดังกล่าวก่อสร้างและบริหารเส้นทางโทลเวย์ระหว่างกรุงเทพฯ กับสนามบินดอนเมือง เมื่อ 20 ปีที่แล้ว การยึดเครื่องบินของกองทัพอากาศไทยครั้งนี้ จึงถือเป็นหนทางสุดท้ายที่บริษัทจะนำมาเป็นหลักประกันในการจ่ายหนี้ และเป็นไปตามคำสั่งของคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศที่ศาลแต่งตั้งขึ้น





ที่มาkapook.com



Create Date : 16 กรกฎาคม 2554
Last Update : 16 กรกฎาคม 2554 12:47:08 น.
Counter : 940 Pageviews.

0 comments

Caffein Dog
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 14 คน [?]



Group Blog
กรกฏาคม 2554

 
 
 
 
 
8
9
15
19
20
21
30
 
 
All Blog