ไพบูลย์ บุตรขัน ตอน 12 รังรักในจินตนาการ

เพิ่งนึกได้ ว่าเขียนมาเป็นสิบตอนแล้ว ผมลืมอะไรไปอย่างหนึ่ง
คือเรื่องของลำดับเวลา ว่าเมื่อไหร่ เกิดอะไรขึ้น
ก่อนจะไปเล่าเรื่องเพลงอื่นๆ มาเล่าเรื่องลำดับเวลาก่อน ในยุคของครูไพบูลย์ ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง


ในยุคแรก ที่ครูไพบูลย์อยู่กับคณะละครจันทโรภาศของพรานบูรพ์นั้น น่าจะอยู่ในช่วงหลังจากปี พ.ศ. 2481 จนถึงปี 2490 (โดยประมาณ เพราะไม่มีการบันทึกเวลาไว้แน่นอน) ในยุคนั้น เพลงลูกทุ่งยังไม่มี ที่มีในตอนนั้นคือ สุนทราภรณ์ ที่เรียกกันว่าเป็นเพลงผู้ดี และมีเพลงรำวง ที่เป็นเพลงตลาด
ในยุคปี พ.ศ. 2484-2488 นั้น เบญจมินทร์ ถือว่าโด่งดังสุดๆ ในแนวเพลงรำวง จนเรียกได้ว่าเป็นราชาเพลงรำวง


ในระยะที่ครูไพบูลย์เริ่มมีผลงานแต่งเพลงให้นักร้องจนโด่งดัง จะประมาณปี พ.ศ. 2492-2500 ไม่ว่าจะเป็น สมยศ ทัศนพันธ์, ทูล ทองใจ, คำรณ สัมบุณนานนท์ เป็นยุคทองของไพบูลย์ บุตรขัน แต่งเพลงให้ใคร คนนั้นเป็นดัง ถ้าดังอยู่แล้ว จะยิ่งดังค้างฟ้าไปอีก
ทำให้นักร้องในเวลานั้น ต่างอยากจะได้เพลงของครูไพบูลย์ ไปร้อง เช่น  ชาญ  เย็นแข,  ปรีชา  บุญยะเกียรติ, คำรณ  สัมปุณณานนท์, สมจิตร์  ตัดจินดา, นริศ  อารีย์, ลัดดา  ศรีวรนันท์, ศิริจันทร์  อิศรางกูร  ณ อยุธยา, บุญช่วย  หิรัญสุนทร  แม้กระทั่งครู ป. ชื่นประโยชน์ ยังขอเพลง "สาวชาวสวน" ไปให้ ศิริจันทร์  อิศรางกูร ณ อยุธยา  ร้องจนโด่งดัง จนต้องมีเพลง สาวชาวทุ่ง รุ่นใหญ่อย่างครูเบญจมินทร์ที่เป็นเพื่อนกัน ก็ยังได้เพลง ทูนหัวอย่าร้องไห้ ไปร้อง
ซึ่งผมเล่าให้ฟังไปบางเพลง บางท่านแล้ว เดี๋ยวนึกได้จะทะยอยเล่าต่อไปนะครับ


ก่อนข้ามไปช่วงเวลาต่อไปในประวัติศาสตร์ มาดูเพลงน่าสนใจเพลงนี้ก่อน เพลง สาวชาวสวน
เพลงต้นฉบับนี้ ศิริจันทร์ ร้องได้แบบไร้มารยา เป็นเด็กใสซื่อบริสุทธิ์มาก ได้อารมณ์เพลงเหมือนเด็กสาวบ้านนอกอายุ 18 ที่ไม่เคยเห็นโลกภายนอกจริงๆ เลย น่าฟังมากครับ




ในตอนก่อนหน้านี้ เวลายกเพลงเวอร์ชั่น Cover มาเป็นตัวอย่าง ผมใช้เวอร์ชั่น อรวี สัจจานนท์ มาเป็นตัวอย่างให้ฟังหลายเพลง แต่เพลงนี้ อรวีร้องได้อารมณ์สาวชาวสวนกร้านโลกไปนิดครับ ผมขอผ่าน

ผมขอใช้เวอร์ชั่นที่น่าฟังที่สุดในความคิดเห็นของผมคือ เวอร์ชั่นขับร้องใหม่โดย ผ่องศรี วรนุช เวอร์ชั่นนี้แม่ผ่องศรี ที่ขณะร้อง อายุเกิน 60 แล้ว แสดงฝีมือการร้อง ใส่จริตของสาวบ้านนอกอายุ 18 ลงไปในเพลง ทำให้ได้เพลงสาวชาวสวน ที่ถึงจะไม่ใสซื่อเท่าเวอร์ชั่นของศิริจันทร์ แต่ก็ สวยกว่า สาวกว่า และมีเสน่ห์น่าดึงดูดใจกว่ามากมายนัก
ฟังเพลงนี้แล้ว จะรู้ว่าฉายา ราชินีลูกทุ่ง ของ ผ่องศรี วรนุช ไม่ใช่คำยกย่องเกินจริงเลย

สาวชาวสวน
ขับร้องใหม่โดย ผ่องศรี วรนุช
อัลบั้ม มนต์เพลงครูไพบูลย์ บุตรขัน แผ่นที่ 5 เพลงลำดับที่ 7




ยุคทองของครูสุรพล และของเพลงลูกทุ่งยุคนั้นก็อยู่ในช่วงเดียวกับ นักร้องนักแต่งเพลงอื่นๆ อย่าง พยงค์ มุกดา และเป็นยุคเดียวกับแนวเพลงที่เรียกว่า เพลงผู้ดี อย่างเพลงของ ชรินทร์ นันทนาคร หรือ สุเทพ วงกำแหง และรวมถึง สุนทราภรณ์
ผู้คนเรียกเพลงทั้งสองแบบรวมๆ กันว่า เป็นเพลงไทยสากล แยกออกมาจากเพลงพื้นบ้าน และเพลงไทยเดิม


ประมาณปี พ.ศ. 2498
ป.วรานนท์ นักจัดรายการวิทยุ น่าจะเป็นคนแรก ที่แบ่งประเภทเพลงไทยสากลเป็นเพลงตลาด คือกลุ่มของเพลง ลูกทุ่ง เพลงรำวง เพลงชีวิต เพลงการเมือง
และเรียกเพลงแนวโรแมนติก สุนทราภรณ์ และเพลงที่เป็นเพลงลูกกรุงในปัจจุบันนี้ว่า เพลงผู้ดี


หลังจากปี พ.ศ. 2500 เป็นช่วงที่เปลี่ยนรัฐบาลจาก จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม มาเป็น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพลงการเมืองที่เคยเฟื่องฟู ถูกแบน เพลงชีวิต เพลงที่มีแนวเนื้อหาสาระหนักๆ ของครูไพบูลย์ ก็หมดความนิยม รสนิยมคนฟังก็เปลี่ยนไป แนวเพลงรักโรแมนติกมากขึ้น และเพลงสนุกๆ ที่เนื้อหาเบาๆ ก็มากขึ้น เพราะได้รับอิทธิพลจากเพลงตะวันตกอย่างมาก ทำนองลูกทุ่งเนื้อหาสร้างสรร จรรโลงสังคม แต่เดิมมาของครูไพบูลย์เริ่มขายไม่ได้
เป็นช่วงที่ตกต่ำที่สุดในชีวิตการเขียนเพลงของครูไพบูลย์ เขียนเพลงอะไรก็แป้ก โรคก็กำเริบหนัก จนต้องใช้ยาฝิ่น เพื่อรักษาอาการเจ็บปวดจากโรค ภายหลังมารดาก็เสียชีิวิตอีกในช่วงปี พ.ศ. 2508
แต่เรื่องเล่าว่าตกต่ำขนาดไม่มีเงินจะเผาศพมารดา อันนั้นก็เกินจริงไปหน่อย ที่จริงก็ไม่ได้ลำบากอะไรขนาดนั้น แค่เพลงส่วนมากไม่ดังเหมือนเดิม รายได้ก็ลดน้อยลงไปหน่อย รายจ่ายค่ายาก็เพิ่มขึ้นตามประสา


สุรพล สมบัติเจริญ นักร้องรำวง ที่ที่มีชื่อดัง สุรพลนั้นโด่งดังมาจากเพลงรำวงจังหวะสนุกๆ เนื้อหาง่ายๆ เนื้อเพลงตรงไปตรงมา จนมีคนปรามาสว่า ครูไพบูลย์ ไม่มีทางเขียนเพลงแนวนี้ได้หรอก
เพราะเพลงครูไพบูลย์นั้น ทั้งทางดนตรีที่ซับซ้อน และการใช้คำในเนื้อเพลงนั้นมีลีลากวี เหมือนกับเพลงลูกกรุง หรือสุนทราภรณ์ เพียงแต่เนื้อหาเพลง กับการร้องเอาแนวเพลงตลาดมาสวมเฉยๆ และ ทูล ทองใจ ที่ได้รับเพลงครูไพบูลย์ไปร้องเยอะมาก และดังคู่คี่มากับสุรพลงในช่วงนั้น จะเป็นเพลงหนักๆ เศร้า ซึ้ง เสียเป็นส่วนมาก
ปี พ.ศ. 2503 ไพบูลย์ บุตรขัน เขียนเพลงให้ สุรพล สมบัติเจริญ เพลงหนึ่ง ชื่อเพลง

น้ำค้างเดือนหก




ในทางกวีนั้น จะเห็นว่าต่างไปจากเพลงอื่นๆ ของสุรพลเยอะอยู่ แต่ก็ยังคงความสนุกสนาน ไม่ต้องมีศัพท์แสงยากเกินไป ตามแนวทางของสุรพลไว้ โดยไม่ทิ้งลายกวีของ ไพบูลย์ บุตรขัน ไม่ว่าการใช้สัมผัสแพรวพราว การเปรียบเปรย การเลือกใช้คำ ถึงจะเป็นคำง่ายๆ ก็ตาม

ครั้งนั้น ครูไพบูลย์ ใช้นามแฝงว่า สาโรช ศรีสำแล สาเหตุนั้น นคร ถนอมทรัพย์ บอกว่าต้องการขายเพลงในราคาถูก เพราะช่วงดวงตก ชื่อ ไพบูลย์ บุตรขัน ขายไม่ได้ อันนี้ผมไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ เพราะชื่อ สาโรช ศรีสำแล ก็ไม่ใช่จะขายได้ และราคาเพลงในชื่อ ไพบูลย์ บุตรขัน ก็มีตั้งแต่ฟรี ไปจนถึงแพงระยับ ไม่ได้มีราคาเดียว
จะว่าเพื่อรักษาสไตล์ของเพลงไว้กับชื่อก็ไม่ใช่ เพราะในยุคทั้งก่อนหน้า และหลังจากนั้น ก็แต่งสารพัดแนว ไม่ได้ต่างอะไรกับชื่อ สาโรช ศรีสำแล เลย

มีคำสัมภาษณ์ของ ศรีไพร ใจพระ นักจัดรายการ และเคยอยู่วง จุฬารัตน์ ว่า พอสุรพลออกเพลงใหม่จะต้องวิ่งมาให้ศรีไพรเปิดเป็นคนแรก ก็เลยมีคนไปฟ้องครูมงคล อมาตยกุล นายวงจุฬารัตน์ว่า ศรีไพรเปิดเพลงข้ามค่าย จนเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา สุดท้ายศรีไพรก็เลยหอบ บุปผา สายชล ออกจากวงจุฬารัตน์มาตั้งวงดนตรีเอง
หรือ ชาย เมืองสิงห์ ก็เคยให้สัมภาษณ์ว่า วงจุฬารัตน์ เคยต้องถูกมัดมือชกให้ประชันกับสุรพล ชนิดที่สุรพลได้เปรียบทุกประตู โดยสุรพลให้แฟนเพลงมาซื้อพวงมาลัยไว้หมดแล้ว

ซึ่งแสดงให้เห็นว่าวงจุฬารัตน์ และวงของสุรพล นั้น เป็นคู่แข่งกันอยู่ ประมาณ RS กับ Grammy ยังไงยังงั้น ครูไพบูลย์ที่สนิทอยู่กับครูมงคล และเคยเขียนเพลงให้นักร้องของจุฬารัตน์หลายคน อาจจะเกรงใจเวลาขายเพลงข้ามค่าย เลยจำเป็นต้องใช้ชื่ออื่นเวลาเขียนเพลงมากกว่า

เพลงอื่นในนามปากกา สาโรช ศรีสำแล ที่แต่งให้สุรพลได้แก่เพลง

รักจริงหรือเล่น




นามปากกา สาโรช ศรีสำแล เพลงอื่นที่แต่งให้นักร้องคนอื่นก็มี อย่างเช่น รักน้องขอมองหน่อย แต่งให้กับ ยงยุทธ เชี่ยวชาญชัย บอกตามตรง ไม่เพราะอ้ะ มันทื่อๆ ตรงๆ แปลกๆ เพลงที่เพราะกว่าหน่อยหนึ่งคือ ข้าวแตกรวงทรวงแตกรัก แต่เป็นเพลงที่ไม่ดัง และนักร้องก็ไม่ดัง
ว่ากันตามจริง ช่วงปี พ.ศ. 2503-2504 เพลงในนาม สาโรช ศรีสำแล ก็แต่งออกมาไม่ดีจริงๆ นะ จะโทษดวงไม่ดี ก็ไม่ได้ โทษว่ามือตกจะเข้าท่ากว่า หรือจะโทษฝิ่นที่ท่านติดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 ก็ได้


2505-2515 ยุคลูกทุ่งคลาสสิก เรียกว่า All Time Greatest Hits หรือยุคทองลูกทุ่งไทย เหตุการณ์ตอนนั้น เริ่มมาจากปี พ.ศ. 2505ที่สุรพลดังมากจากเพลง เสียวไส้ หลังจากนั้น นักร้องลูกทุ่งจำนวนมากก็แจ้งเกิดตามมา ถือได้ว่าเป็นยุคทองของลูกทุ่ง ยุคที่ 2 และเป็นครั้งแรกที่มีการใช้คำว่า เพลงลูกทุ่ง ในวงการเพลงไทย


พ.ศ. 2507
จำนง รังสิกุล จัดรายการ "ลูกทุ่งกรุงไทย" ช่อง 4 บางขุนพรหม 6 โมงเย็นวันจันทร์ ได้เชิญ ชาย เมืองสิงห์ นักร้องดาวรุ่ง แห่งวงจุฬารัตน์ ไปออกรายการโทรทัศน์ กล่าวได้ว่า ชาย เมืองสิงห์ เป็นนักร้องลูกทุ่งคนแรกที่ได้ออกทีวี (แต่รายการก็ได้รับจดหมายต่อว่าจากผู้ชมจำนวนมาก ถ้าพูดให้เห็นภาพในสมัยนี้ก็ต้องบอกว่า ผู้ชมไม่พอใจ ที่เอาเพลงชั้นต่ำ หรือเพลงไพร่ มาออกอากาศเผยแพร่ทางทีวีไฮโซ หรือโทรทัศน์อำมาตย์)
ประกอบกับช่วงนั้นมีภาพยนต์ Your cheating heart ที่เป็นเรื่องราวของ Hank William นักร้อง Country ชื่อดัง ตำนานของอเมริกา ซึ่งภาพยนต์เรื่องนี้ใช้ชื่อไทยว่า "เพลงลูกทุ่ง" กำลังเข้าฉายพอดี
คำว่า ลูกทุ่ง จากทั้งทีวี และภาพยนต์ จึงถูกนำมาใช้เรียกแทนชื่อเพลงแนวตลาด หรือแนวรำวง ตั้งแต่นั้น


พ.ศ. 2508 หลังจากเสร็จงานศพของคุณแม่ และครูไพบูลย์เลิกฝิ่นที่ถ้ำกระบอกแล้ว ฝีมือก็กลับคืนมาอีกครั้ง คราวนี้ครูไพบูลย์ ปรับตัวใหม่ให้เข้ากับแนวเพลงที่เปลี่ยนไป รับเอาทำนองเพลงต่างประเทศมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นบลูส์ โซล หรือเพลงพื้นบ้านภาคกลาง ลิเก ฉ่อย เพลงพื้นบ้านภูมิภาค อีสาน เหนือ ใต้ ปรับเนื้อหาใหม่ให้สนุกสนานมากขึ้น โดยคงแนวทางกวีเอาไว้


พ.ศ. 2511-2515
ครูไพบูลย์ ก็กลับมามีชื่อเสียงอีกครั้ง และดังกว่าเดิม มีลูกศิษย์ชื่อดังมากมาย ทั้ง รุ่งเพชร แหลมสิงห์,  ศรคีรี  ศรีประจวบ,  กาเหว่า  เสียงทอง,  ชบา  เพชรบูรณ์, บุปผา  สายชล, ยุพิน  แพรทอง  ฯลฯ ใครได้เพลงครูไพบูลย์ไป เป็นต้องดัง หนังเรื่องไหนได้เพลงครูไพบูลย์ไปประกอบ ก็ดัง ทำอะไรมือขึ้นไปหมด
วงการลูกทุ่งไทยก็อยู่ในยุคทองที่มีนักร้องดังเกิดขึ้นมากมาย มีเพลงดัง ที่เป็นอมตะจนถึงปัจจุบันมากมาย จากฝีมือนักแต่งเพลง นักแต่งทำนอง นักเรียบเรียงดนตรี และนักดนตรีจำนวนนับร้อย

ตอนนั้นครูไพบูลย์ มีทั้งบ้าน มีทั้งรถ มีทั้งชื่อเสียงเงินทองหลังจากลำบากมาตลอดชีวิต ในวันที่ 9 มกราคม 2515 ก็ขึ้นบ้านใหม่ ที่หมู่บ้านศักดิ์ชัยนิเวศน์ 3 ถนนวิภาวีดีรังสิต และฉลองแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ถือโอกาสฉลองสมรสกับคุณดวงเดือน (ที่แต่งงานอยู่กินกันมาตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2511) พร้อมกันไปในวันเดียวกัน
แม้รังรักในจินตนาการ จะไม่อยู่ริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา เหมือนอย่างบ้านเกิดที่ปทุม แต่ก็เป็นบ้านของตัวเองที่สร้างขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง ที่ใฝ่ฝันมานาน

เพียง 8 เดือนครึ่ง หลังจากนั้น ในวันที่ 29 สิงหาคม 2515  เวลา 13.30  ไพบูลย์  บุตรขัน  มีอาการทางลำไส้ อาเจียนเป็นเลือด และเสียชีวิตที่โรงพยาบาลเปาโล ขณะอายุ  52 ปี


รังรักในจินตนาการ
เสียงร้องต้นฉบับ ทูล ทองใจ
เพลงนี้แม้จะมีเครดิตว่าเป็นผลงานของ ไพบูลย์ บุตรขัน แต่พิจารณาจากทางกลอน การใช้คำ และเนื้อเพลงแล้ว
สัมผัสกระโดดๆ ไม่แพรวพราว ไม่มีกลบท และใช้สีฟ้าชมพู ผมเชื่อว่าในส่วนเนื้อเพลง น่าจะเป็นผลงานของ ครูมงคล อมาตยกุล มากกว่า





Create Date : 21 ตุลาคม 2554
Last Update : 21 ตุลาคม 2554 10:50:13 น.
Counter : 2721 Pageviews.

1 comments
  

ตามมาอ่านต่อค่ะ
โดย: อุ้มสี วันที่: 21 ตุลาคม 2554 เวลา:21:59:46 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

อะธีลาส
Location :
Sydney  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 44 คน [?]



Photographer, photo educator, writer and more.......

อนุญาตให้ ใช้ ดัดแปลง แก้ไข ตัดต่อ ทำสำเนา เผยแพร่ อ้างอิง จำหน่าย จ่ายแจก ภาพ และบทความในบล็อกนี้ ส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด เพื่อสาธารณะประโยชน์ เพื่อการศึกษา เพื่อกิจส่วนตัว และเพื่อการค้าได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต ตามสัญญาอนุญาตใช้งาน Creative Commons: Attribution.


Website
http://mister-gray.bloggang.com
https://twitter.com/nickdhapana
http://500px.com/NickDhapana
https://plus.google.com/+NickDhapana
http://nickdhapana.tumblr.com
http://instagram.com/nickdhapana
https://www.facebook.com/dhapana/about


Skype & Email
cmosmyp@gmail.com


Line
nickdhapana


My Project's Page

Public Telephone
https://www.facebook.com/PublicTelephoneProject

They didn't say that.
https://www.facebook.com/pages/They-didnt-say-that/116827521834600

Exposure to the RIGHT
https://www.facebook.com/pages/Exposure2the_RIGHT/538556252881951

Thailand Perspective Project
https://www.facebook.com/ThailandPerspective

Dead on Arrival
https://www.facebook.com/pages/Dead-on-Arrival/666461363385961
ตุลาคม 2554

 
 
 
 
 
 
2
4
6
7
8
9
10
12
13
14
15
20
22
23
24
26
27
28
29
30
31
 
 
All Blog