ไพบูลย์ บุตรขัน ตอน 2 เพลงดังเพลงแรก
เพลง มนต์เมืองเหนือ เสียงร้องต้นฉบับโดย สมยศ ทัศนพันธ์ พ.ศ. 2492



ป่าเหนือเมื่อหน้าดอกไม้บาน
ลมฝนบนฟ้าผ่าน ฟ้ามองดั่งม่าน น้ำตา
น้ำฝนหล่นจากฟากฟ้า
ขังแก่งเหมือนแอ่งน้ำตา ไหลตกจากผา แว่วฟัง
ป่าเหนือเมื่อไปได้พบมา
เมืองเหนือเมื่อน้ำบ่า เลาะธารซ่านซ่า เคล้าดัง
น้ำไหลไป่หลากมากครั้ง
หมุนวนสายชลเหมือนดัง ไหลหลั่งเป็นวัง น้ำวน

ริมฝั่งวังน้ำค่ำลงคงมีแสงจันทร์
คืนหนึ่งคืนนั้นพบกันน้องเอย สองคน
เมืองเหนืออนงค์นั้นคงมีมนต์
เป่าหัวใจเสียจนก่นไห้ ใฝ่ฝัน

แอ่วเว้าเจ้าวอนอ้อนน้ำคำ
จนสูรย์ลอยคล้อยต่ำ สายัณห์เย็นย่ำ ทุกวัน
แล้วไฉนจะให้ลืมนั้น
แม้นใครได้ไปเที่ยวพลัน หลงมั่นในเมือง เหนือเอย



ก่อนหน้าเพลงมนต์เมืองเหนือ ครูไพบูลย์ ก็มีผลงานก่อนหน้านี้จำนวนหนึ่ง แต่ไม่ดังขนาดนี้ หรือบางเพลงที่แต่งไว้ก่อน ก็มาดังเอาหลังจากนี้ก็มี
เรื่องหนึ่งที่ไม่น่าเชื่อก็คือแม้ว่าเพลงนี้เมื่อฟังแล้วหลายคนอาจจะนึกถึงจังหวัดเชียงใหม่ แต่ในความเป็นจริง ครูไพบูลย์ ไม่เคยไปเชียงใหม่เลยแม้แต่ครั้งเดียวในชีวิต
ใกล้สุดที่เคยได้ไปคือจังหวัดลำปาง ตอนไปเดินสายกับพรานบูรพ์ เปิดการแสดงละครเวทีที่สถานีรถไฟเกาะคา จังหวัดลำปาง ครูไพบูลย์หันไปทางเหนือก็จินตนาการเอาว่า เมืองเหนือจะเป็นอย่างไร จนได้เพลงนี้มา

การใช้โน้ตในเพลงนี้โลดโผนพิสดารมาก แค่สองคำแรก “ป่าเหนือ” ก็ห่างกัน 1 Octeve เต็มๆ แล้ว
และจะเป็นแบบนี้ตลอดเพลง

และมีการวาดภาพน้ำไหลโดยใช้เสียงด้วย อย่างวรรคนี้
“น้ำฝน หล่นจาก ฟากฟ้า ขังแก่งเหมือนแอ่งน้ำตา ไหลตกจากผาแว่วฟัง”
เสียงจะค่อยๆ ไล่ระดับจากเสียงสูงเมื่อฝนตก ต่ำลงมาเรื่อยๆ จนมาต่ำสุดเมื่อขังใน ‘แอ่งน้ำตา’
และทิ้งดิ่งลงมาเมื่อไหลตก ’จากผา’ แล้วก็ทอดเสียงกังวาน แว่วดัง มาให้ได้ยินในคำสุดท้าย
ตรง ‘ไหลตกจากผา’ นี่แหละที่โหดที่สุดในเพลง เพราะเสียงจะลงต่ำสุด แล้วดันขึ้นสูงสุดในคำต่อไป
นักร้องไม่แน่จริง จะเอาเพลงนี้ไว้ไม่อยู่

ความไพเราะของเพลงนี้ นอกจากจะอยู่ที่ท่วงทำนองแล้ว เนื้อเพลงก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง
ครูไพบูลย์นั้น เป็นกวีแท้ๆ คนหนึ่ง ที่แตกฉานอย่างมากในด้านภาษาไทย วรรณกรรมไทย เคยเป็นครูสอนภาษาไทยมาด้วย ในยุคสงครามมหาเอเชียบูรพา ช่วงปี 2482
ความแตกฉานนี้ ทำให้มีคลังศัพท์อย่างมากมาย ที่จะจับเอามาใช้ ในการบรรยายเนื้อหา
มีความรู้ในเรื่องการวางสัมผัส กลบททางร้อยแก้วอย่างดี ในเพลงนี้จะใช้กลบท หรือร้อยกรองใดไม่ทราบได้ เพราะผมไม่ค่อยแตกฉานเรื่องนี้
แต่ที่จับความได้คือเพลงนี้จะแบ่งเนื้อหาเป็น 4-2-2 ส่วนแรกกับส่วนสุดท้าย เป็นร้อยกรองแบบเดียวกัน ท่อนกลางจะต่างไป เนื้อหาเพลงนี้มีสัมผัสแพรวพราวไปหมดทั้งสัมผัสนอกสัมผัสใน

ถ้าลองดูในเนื้อหาดีๆ จะอ่านได้ว่าผู้ประพันธ์แตกฉานในวรรณกรรมไทยอย่างสูง
การที่จะบอกว่าประทับใจสาวเหนือจนเก็บไปคิดถึง ใครๆ ก็พูดได้ แต่การที่จะบอกว่า
‘เมืองเหนืออนงค์นั้นคงมีมนต์ เป่าหัวใจเสียจนก่นไห้ ใฝ่ฝัน’ (ท่อนนี้ขอย้ำว่าต้องเป็น ‘ไห้’ มิใช่ ‘ให้’)
ก่นไห้ใฝ่ฝัน หมายถึง ร้องไห้คร่ำครวญ อาลัยอาวรณ์ ใฝ่ฝันถึง
เพื่อให้ผู้ฟังได้เห็นภาพว่า สาวเหนือนั้นมีสเน่ห์ ทำให้หัวใจต้องร้องไห้อาลัยหา
ไม่ใช่ความสามารถในการเลือกใช้คำในระดับที่มนุษย์ธรรมดาจะสามารถคิดได้

อีกคำหนึ่งอย่างเช่น สูรย์ ที่หมายถึงดวงอาทิตย์
มีกี่ครั้งที่เราเห็นคำนี้ในบทประพันธ์ใดๆ อย่าว่าแต่คิดจะใช้อย่างไรเลย คำนี้เป็นคำที่นักประพันธ์ค่อนประเทศ ไม่มีอยู่ในคลังศัพท์ส่วนตัวด้วยซ้ำ

---------------------------------------

สง่า อารัมภีร เล่าตำนานเบื้องเพลงการบันทึกเสียงเพลง มนต์เมืองเหนือ เมื่อปี 2492 ให้ วัฒน์ วรรลยางกูร ฟัง…ว่า

สง่า อารัมภีร เป็นผู้คุมทีมดนตรีศิวารมย์ รับงานทำดนตรีให้กับผลงานเพลงชุดแรกสุดของไพบูลย์ บุตรขัน ในสังกัดห้างแผ่นเสียงนำไทย
เรื่องนี้ลุงแจ๋ว (สง่า อารัมภีร) เคยเล่าบรรยากาศเบื้องหลังการบันทึกเสียงไว้ว่า
ทีมดนตรีท่านเลือกใช้ทีมเดียวกัน เพราะจะรู้ทางกัน หายใจลมเดียวกัน บทบาทของทีมดนตรีคืออุ้มเสียงร้อง อุ้มเนื้อร้องทำนองให้โดดเด่น ไม่ใช่โชว์ตัวเองเด่นเหนือกว่า
นักดนตรีทีมศิวารมย์ของลุงแจ๋วมาจากดุริยางค์ทหาร เงินเดือนไม่มาก ต้องออกมาหารายได้พิเศษ มิฉะนั้นก็ต้องไปช่วยเมียทำห่อหมกขาย จึงจะพออยู่ได้
สมยศ ทัศนพันธ์ คนร้องเพลง มนต์เมืองเหนือ คือสมยศนั้น ติดยานัตถุ์ ก่อนอัดเสียงหรือก่อนขึ้นร้องสดหน้าเวที จะต้องเป่ายานัตถุ์จนแน่ใจว่าจมูกโล่ง ร้องเพลงได้ไม่สะดุด

สมัยก่อนโน้น เวลาอัดเสียงทั้งนักร้อง นักดนตรี ผู้ควบคุมวง มีกี่คนกี่คนก็จะต้องอัดเข้าไปอยู่ในห้องเดียวกัน ทีนี้เวลาสมยศ ทัศนพันธ์ อัดยานัตถุ์ก็เป็นเรื่องสิครับ
คือสมยศจะต้องเทสต์เสียงตัวเองในเพลงมนต์เมืองเหนือว่า “ป่า-ป่า-ป่า” ถ้ายังรู้สึกไม่ได้ที่ก็เป่ายานัตถุ์พรวด แล้วก็ “ป่า-ป่า-ป่า” พอได้ที่เมื่อไรจึงค่อยร้องว่า “ป่าเหนือเมื่อหน้าดอกไม้บาน”
ลุงแจ๋ว เล่าให้ผม (วัฒน์ วรรลยางกูร) ฟังเมื่อปี 2539 ว่า กว่าป่าเหนือของสมยศ ดอกไม้จะบานได้ ปรากฏว่า นักดนตรีทั้งห้องอัดก็สำลักยานัตถุ์กันเป็นแถว จามฮัดเช้ยกันไปมา ผม (วัฒน์ วรรลยางกูร) ฟังลุงแจ๋วเล่า นึกภาพนักร้องดังหน้าผากกว้าง สมยศเป่ายานัตถุ์ทีไร เป็นได้ขำเงียบๆ ทีนั้น

---------------------------------------

ในยุคนั้น สมัยนั้น เส้นแบ่งระหว่างเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุงยังไม่ชัดเจน เสียงของทูล ทองใจไม่ใช่เสียงลูกทุ่งแท้ๆ จะก้ำกึ่งอยู่ระหว่างลูกทุ่ง และลูกกรุง
แม้จะมีบางคนจัดทูล ทองใจว่าเป็นนักร้องลูกกรุง แต่ผมคิดว่าเนื้อหา ท่วงทำนอง และการออกเสียงใกล้เคียงกับลูกทุ่งในยุคนั้นมากกว่า
ในการบันทึกเสียงครั้งนี้ ที่ให้ทูลทองใจร้อง มีการดัดแปลงเนื้อร้องนิดหน่อย
หลังจาก ครูพยงค์ มุกดา ทักครูไพบูลย์ว่า คำว่า ‘เว้า’ ในเนื้อเพลง มันไม่ใช่คำเหนือ มันเป็นคำอีสาน
มนต์เมืองเหนือ โดย ทูล ทองใจ ขุนพลเพลงหวาน บันทึกเสียงหลังปี 2500 จึงเป็นแบบนี้ครับ





ครูพยงค์ มุกดา เขียนไว้ในหนังสือ ราชานักแต่งเพลงลูกทุ่งไทย : ไพบูลย์ บุตรขัน (ไพบูลย์ สำราญภูติ : 2543) ว่า
  "...ผมคุยกับพี่ถึงเนื้อร้องท่อนสุดท้ายที่ว่า "แอ่วเว้าเจ้าวอนน้ำคำ..." แล้วบอกพี่อย่างเคารพและเกรงใจว่า "เว้า" ไม่ใช่คำที่แปลว่า "พูด" ของคนเมืองเหนือ แต่เป็นคำของชาวอีสาน เช่นเหนือเรียกตัวเองว่า "ข้าเจ้า" อีสานจะเรียกตัวเองว่า "ข้อย" ฯลฯ
       พี่บูลย์มองผมอย่างรักใคร่..."แล้วจะเปลี่ยนอย่างไรดี?"...ท่านย้อน
       ผมไม่กล้าบังอาจจึงบอกไปว่า "พี่ลองนึกดูสิครับ"
       พี่บูลย์นิ่งไปครู่เดียว จึงกลับมาถามผมว่า..."ถ้าเป็น แอ่วสาวเจ้าสอนอ้อนน้ำคำ ได้ไหม?"
ผมแทบจะกราบพี่บูลย์ที่ให้เกียรติเหมือนขอความเห็นและไม่มีท่าทีถือสาว่าผมอวดรู้ อวดดี มันยิ่งทำให้ผมรักและนับถือทั้งอัจฉริยะและอัธยาศัยของท่าน



Create Date : 01 ตุลาคม 2554
Last Update : 18 กรกฎาคม 2555 10:35:22 น.
Counter : 2280 Pageviews.

4 comments
  

แหล่มเลยค่ะชอบเพลงมนต์เมืองเหนือ
ชอบๆ แวะมาเจิมบอกก่อนนอนค่ะ
โดย: อุ้มสี วันที่: 1 ตุลาคม 2554 เวลา:22:36:50 น.
  
ชอบเพลงนี้มาก
และฝันว่าจะต้องไปทำงานทางเหนือให้ได้

ความฝันเป็นจริง โชคดีสอบบรรจุได้ เขาก็ให้เราไปเลือกหน่วยงานที่จะไปบรรจุ มีจังหวัดทางภาคเหนือให้เราเลือกด้วย ใครๆก็บอกว่าเราโชคดี
ทำอยู่หลายปี ไม่อยากย้ายกลับบ้านเลย แต่ก็ต้องย้ายกลับเพราะมีพ่อแม่ที่ต้องดูแล ปัจจุบันยังคิดถึงที่นั่นอยู่เสมอ

โดย: ใบไม้ไร้สี วันที่: 1 ตุลาคม 2554 เวลา:22:54:15 น.
  
เพลงโปรดเลยยยยยย

เรามีความรู้เรื่องดนตรีต่ำต้อย ฟังได้แค่เพราะไม่เพราะ แต่เล่นโน้ตอย่างไรเราไม่รู้
เนื้อเพลงเพลงนี้นี่กวีศรีสวรรค์มากๆ

ปล. ยกมืออีกหนึ่งเสียงว่าทูลทองใจเป็นนักร้องเพลงลูกทุ่งในความรู้สึกของเรา (และพ่อ)
เพราะพ่อเราเป็นเด็ก ตจว. เข้ามาเมืองกรุง พ่อไม่ค่อยนิยมฟังสุนทราภรณ์ เพลงของผู้ดีเมืองกรุงใดๆ (กร่ากกก)
พ่อยังบ่นด้วยซ้ำค่ะว่าเพื่อนๆเมืองกรุงเขาไม่ฟังกันหรอก อย่างทูลที่พ่อชอบเนี่ย เขาไม่ฟัง

เราเลยได้ฟังสุนทราภรณ์น้อยมาก มาหาฟังเองเอาบ้างอะไรบ้างภายหลัง

ดังนั้น ในความรู้สึกของคนทั่วไป รวมถึงเด็กบ้านนอกชาวสวนชาวไร่เช่นพ่อเรา ทูลเป็นนักร้องบ้านทุ่งค่ะ
โดย: =p o o k p u i= วันที่: 2 ตุลาคม 2554 เวลา:16:03:52 น.
  
เข้ามาเยี่ยมชมครับ
โดย: BoonsermLover วันที่: 16 ตุลาคม 2554 เวลา:6:05:05 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

อะธีลาส
Location :
Sydney  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 44 คน [?]



Photographer, photo educator, writer and more.......

อนุญาตให้ ใช้ ดัดแปลง แก้ไข ตัดต่อ ทำสำเนา เผยแพร่ อ้างอิง จำหน่าย จ่ายแจก ภาพ และบทความในบล็อกนี้ ส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด เพื่อสาธารณะประโยชน์ เพื่อการศึกษา เพื่อกิจส่วนตัว และเพื่อการค้าได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต ตามสัญญาอนุญาตใช้งาน Creative Commons: Attribution.


Website
http://mister-gray.bloggang.com
https://twitter.com/nickdhapana
http://500px.com/NickDhapana
https://plus.google.com/+NickDhapana
http://nickdhapana.tumblr.com
http://instagram.com/nickdhapana
https://www.facebook.com/dhapana/about


Skype & Email
cmosmyp@gmail.com


Line
nickdhapana


My Project's Page

Public Telephone
https://www.facebook.com/PublicTelephoneProject

They didn't say that.
https://www.facebook.com/pages/They-didnt-say-that/116827521834600

Exposure to the RIGHT
https://www.facebook.com/pages/Exposure2the_RIGHT/538556252881951

Thailand Perspective Project
https://www.facebook.com/ThailandPerspective

Dead on Arrival
https://www.facebook.com/pages/Dead-on-Arrival/666461363385961
ตุลาคม 2554

 
 
 
 
 
 
2
4
6
7
8
9
10
12
13
14
15
20
22
23
24
26
27
28
29
30
31
 
 
All Blog