ไพบูลย์ บุตรขัน ตอน 4 ค่าน้ำนม
ในสมัยก่อนเรามีความเชื่อกันว่า คนที่ป่วยเป็นขี้ทูดกุดถัง หูหนาตาเล่อนั้น เป็นเพราะทำตัวผิดทำนองคลองธรรม ขัดข้อห้ามทางศาสนา หรือประเพณี
แต่ที่จริงแล้วโรคเรื้อนเป็นแค่โรคติดเชื้อธรรมดาชนิดหนึ่งเท่านั้น ถึงจะเป็นเชื้อในกลุ่มเดียวกับวัณโรค แต่มักจะไม่อันตรายถึงตายเหมือนวัณโรค ที่เหมือนกันคือ ในสมัยก่อน รักษาไม่ได้ หรือรักษาได้ยากมาก โรคเรื้อนฟักตัวช้าๆ 3-5 ปี หรืออาจจะถึง 10 ปี กว่าจะแสดงอาการ
และถ้านิ่งนอนใจ ขาดทุนทรัพย์ในการรักษาพยาบาล หรือกลัวคนรังเกียจจนไม่กล้ารักษาก็ตาม จากอาการด่างขาวที่ผิวหนัง จะกลายเป็นสีแดงก่ำเป็นมัน ขนคิ้ว หรือขนในร่างกายจะร่วง กระดูกอ่อนถูกทำลาย ทำให้จมูกยุบ ใบหูบิดเบี้ยว อาจจะเปลือกตาบวมเป่งตาหลับไม่สนิท ผิวหนังเป็นแผลเฟะ เป็นน้ำเหลือง
ถ้าเคยได้ยินคำโบราณเปรียบเทียบว่า คุดทะราดเหยียบกรวด ก็แสดงภาพถึงอาการคนเป็นโรคเรื้อนเดินสะดุ้ง ต้องกระย่องกระแย่งเพราะเจ็บปวดแผลที่เท้าเวลาเดินไปไหนมาไหน
หากทิ้งไว้นานไปเชื้อโรคจะทำลายเส้นประสาทจนทำให้กล้ามเนื้อลีบ นิ้วหงิกงอ แม้จะหายแล้วก็จะยังมีอาการมือเท้าพิการ

เมื่อครูไพบูลย์ไปติดเชื้อโรคเรื้อนเมื่อครั้งเดินสายไปกับคณะละครจันทโรภาส ของพรานบูรพ์ และโรคแสดงอาการออกมา พยัคฆ์หนุ่มที่ใช้ชีวิตหมดเปลือง ตระเวณเผชิญโชคไปทั่วร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ ต้องซมซานกลับบ้านที่ปทุมวันแบบเสือสิ้นลาย หมดเงิน หมดงาน ไม่เหลือเกียรติยศ ชื่อเสียง เพื่อนฝูงหนีหน้า หลายสตรีที่เคยบอกรักจนชั่วฟ้าดินสลาย ก็อันตรธารหายไปหมด เหลือแต่เพียงนางพร้อม ประณีต ผู้หญิงคนเดียวที่อยู่เคียงข้างกับครูไพบูลย์ คอยดูแลตั้งแต่วันที่เขาเกิด เจ็บไข้ด้วยโรคร้าย จวบจนวันสุดท้ายของความเป็นแม่ ในวันที่ 30 เมษายน 2508

ไพบูลย์ บุตรขัน เป็นบุตรของนายขัน และนางพร้อม ประณีต ครอบครัวชาวนา จากบ้านท้องคุ้ง ตำบลเชียงรากใหญ่ อำเภอสามโคก ปทุมธานี แต่พออายุได้เพียงประถมต้น บิดาก็เสียชีวิต คุณอา เจน บุตรขัน จึงรับอุปการะเลี้ยงดู ‘ไพบูลย์ ประณีต’ ไว้ที่บ้านแถบปทุมวัน เด็กชายไพบูลย์ ประณีต ที่กำลังจะเรียนประถมปลาย จึงได้นามสกุลใหม่เป็น บุตรขัน เพื่อที่จะได้รับสิทธิ์ต่างๆ ในการศึกษาเล่าเรียนที่โรงเรียนสตรีปทุมวัน (เคยตั้งอยู่ ณ พื้นที่ที่เป็นห้าง MBK ในปัจจุบัน) ต่อมาก็ศึกษาจนจบ ม.8 ที่โรงเรียนสวัสดิ์อำนวยเวช ก่อนที่จะได้เป็นครูภาษาไทยที่โรงเรียนกว๋องสิว


ลูกศิษย์ลูกหา หรือใครก็ตามที่เคยได้รู้จักครูไพบูลย์ บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ท่านรัก และเคารพคุณแม่ของท่านมาก ด้วยความที่คุณแม่ของท่านเอาใจใส่ดูแลท่านอย่างใกล้ชิด ทำแผล เปลี่ยนเสื้อผ้า ถึงแม้ท่านจะป่วยเป็นโรคที่สังคมรังเกียจก็ตาม ครูไพบูลย์ได้แต่งเพลงบูชาเชิดชูพระคุณแม่ของท่านเอาไว้หลายเพลง ผมไม่แน่ใจเรื่องจำนวน ในเว็บข้อมูลต่างๆ บอกว่า 5-6 เพลง (เข้าใจว่าทั้งหมดลอกมาจากวิกิพีเดีย ซึ่งก็อ้างอิงมาจากหนังสือของวัฒน์ วรรลยางกูลอีกที) แต่เท่าที่ผมไล่ฟังดูเชื่อว่าถ้านับเอาตามเนื้อหาที่แทรกอยู่ในเพลงอื่น น่าจะนับได้มากกว่านั้นอีกเยอะ

และในบรรดาเพลงเชิดชูพระคุณแม่ของไพบูลย์ บุตรขัน จะมีเพลงไหนเหนือกว่าเพลงนี้เป็นไม่มี



ค่าน้ำนม
ต้นฉบับโดย ชาญ เย็นแข บันทึกเสียงไว้เมื่อปี พ.ศ. 2492 ก่อนหน้าเพลงมนต์เมืองเหนือเล็กน้อย




แม่นี้มีบุญคุณอันใหญ่หลวง
ที่เฝ้าหวงห่วงลูกแต่หลัง
เมื่อยังนอนเปล
แม่เราเฝ้าโอ้ละเห่
กล่อมลูกน้อยนอนเปลไม่ห่างหันเห
ไปจนไกล

เมื่อเล็กจนโตโอ้แม่ถนอม
แม่ผ่ายผอมย่อมเกิดจากรักลูกปักดวงใจ
เติบ โตโอ้เล็กจนใหญ่
นี่แหละหนาอะไร มิใช่ใดหนา
เพราะค่าน้ำนม

ควร คิดพินิจให้ดี
ค่าน้ำนมแม่นี้ จะมีอะไรเหมาะสม
โอ้ว่าแม่จ๋า ลูกคิดถึงค่าน้ำนม
เลือดในอกผสม กลั่นเป็นน้ำนม
ให้ลูกดื่มกิน

ค่าน้ำนมควรชวนให้ลูกฝัง
แต่เมื่อหลังเปรียบดังผืนฟ้า
หนักกว่าแผ่นดิน
บวช เรียนพากเพียรจนสิ้น
หยดหนึ่งน้ำนมกิน ทดแทนไม่สิ้น
พระคุณแม่เอย



เพลง ค่าน้ำนม เป็นเพลงแจ้งเกิดให้ ชาญ เย็นแข ให้เป็นที่รู้จักในวงการเพลง ทั้งที่เขาไม่ใช่คนที่ถูกวางตัวไว้ให้ร้องเพลงนี้แต่แรก แต่บังเอิญว่า บุญช่วย หิรัญสุนทร ที่ถูกวางตัวให้ร้องเพลงนี้ไม่มาห้องอัดเสียง ตามนัดไว้ให้มาที่ห้องอัดเสียงกมลสุโกศล ชั้นบนของโรงภาพยนต์เฉลิมไทย เวลา 10 นาฬิกา ในวันที่ 4 มิถุนายน 2492 (ตามสัมภาษณ์สง่า อารัมภีรบอกว่าเป็นวันบันทึกเสียง แต่หนังสืออนุสรณ์งานศพของชาญเย็นแข บอกว่าเป็นวันจำหน่าย ผมไม่แน่ใจว่าอันไหนถูก ขอหมายเหตุไว้ตรงนี้ทั้งคู่เลยละกัน) เนื่องจากบุญช่วยเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่
แพ็ท ซิเกรา ผู้อำนวยการอัดแผ่นเสียงบริษัทนำไทย แผ่นเสียงตราสุนัข ต้องการปรึกษากับไพบูลย์ บุตรขัน เรื่องหาคนร้องแทน แต่ติดต่อไม่ได้ จึงหันไปปรึกษาสง่า อารัมภีร นักเปียโน และผู้ควบคุมวงดนตรีศิวารมณ์ ที่เป็นฝ่ายดนตรีในห้องอัดในเวลานั้น
สง่า อารัมภีร ตัดสินใจเสนอให้ ชาญ เย็นแข ลูกศิษย์ของเขาที่ฝึกซ้อมเพลงนี้มาด้วยกันตอนทำงานที่คณะละครศิวารมณ์ เป็นผู้ร้องแทน
แต่เนื่องจากเห็นว่าเป็นเด็กใหม่ แพ็ท ซิเกรา ผู้อำนวยการอัดเสียง กลัวว่าแผ่นจะขายไม่ได้เหมือนใช้ชื่อของ บุญช่วย หิรัญสุนทร ที่โด่งดังอย่างมากจากเพลง ‘น้ำตาแสงไต้’ จึงให้ ชาญ เย็นแข ร้องเป็นตัวอย่างให้ฟังก่อน หลังจากร้องไปแค่ท่อนเดียว แพ็ท ซิเกรา ก็ตกลงใจให้ชาญ เย็นแข เจ้าของเสียงร้องปนสะอื้น เป็นคนร้องบันทึกแผ่นในครั้งนี้ทันที

เพลงในชุดนี้ที่บันทึกเสียงใกล้เคียงกัน นอกจากค่าน้ำนมแล้ว ก็ยังมี มนต์เมืองเหนือ คนจนคนจร ดอกไม้หน้าพระ ดอกไม้หน้าฝน ซึ่งแต่ละเพลงก็ตัดแผ่นขายแยกกันไปเป็นแผ่นครั่ง 10 นิ้ว สปีด 78 หน้าละ 1 เพลง (สมัยนั้นเอาไปทำแผ่นที่อินเดีย) เพลงที่ดังเปรี้ยงก่อนใครคือมนต์เมืองเหนือที่ถึงจะแต่งก่อนแต่ขายทีหลัง ดังตามมาติดๆ ด้วยค่าน้ำนมที่แต่งทีหลัง(หลังจากป่วย)แต่วางจำหน่ายก่อนเล็กน้อย
ครูไพบูลย์ได้ค่าแต่งเพลงในชุดนี้ 640 บาท สมยศ ทัศนพันธ์ ที่ร้อง มนต์เมืองเหนือ ได้ค่าร้องมากกว่าใครคือ 80 บาท ชาญ เย็นแข ได้รับค่าจ้าง 50 บาท นักร้องท่านอื่นๆ ได้ 40 บาท ในสมัยที่ราคาทองคำบาทละ 100 บาท

เพลงค่าน้ำนมโด่งดังถึงขนาดที่ว่า ทุกวันแม่ในสมัยนั้น ที่เริ่มกำหนดเอาวันที่ 15 เมษายน ของทุกปี เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 เป็นต้นมา (หลังจากบันทึกเสียงเพลงนี้แค่ปีเดียว) ก็จะได้ยินเพลงค่าน้ำนมดังกระหึ่มไปทั่วทุกสถานีวิทยุตลอดวัน เป็นเพลงประจำวันแม่ แม้ว่าต่อมาใน พ.ศ. 2519 เราจะเปลี่ยนมาใช้วันที่ 12 สิงหาคมเป็นวันแม่ แต่เราก็ยังใช้เพลงค่าน้ำนมเป็นเพลงหลักไม่เปลี่ยนแปลง (สมัยนี้เราคงเพิ่มเพลง อิ่มอุ่น ของ ศุ บุญเลี้ยง อีกเพลงหนึ่งนะ)

หลังจากเพลงชุดนี้ เพลงไทยลูกทุ่ง เริ่มแยกตัวออกมาจากเพลงไทยสากลอย่างชัดเจน สมยศ ชาญ และไพบูลย์ (ขณะนั้นอายุประมาณ 31 ปี และกำลังป่วย) จับมือกันดังติดฟ้าลมบนของยุทธจักรเพลงไทยลูกทุ่ง นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ไพบูลย์ บุตรขัน ที่มีปูมหลังจากครอบครัวชาวนา ก็ใช้สิ่งที่ได้คลุกคลีมาตั้งแต่เกิด เขียนเพลงที่ตอนนั้นสามารถจัดประเภทได้อย่างแน่นอนแล้วว่าเป็นเพลงลูกทุ่ง

---------------------------------------

ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น ในปี 2481 พระเอกรายการวิทยุคนหนึ่ง ได้แสดงละครวิทยุเรื่อง ‘สาวชาวไร่’ และได้ร้องเพลงนำละครชื่อเพลง ‘เจ้าสาวชาวไร่’ ซึ่งเพลงนั้นในยุคต่อมา เราจัดเป็นเพลงลูกทุ่งเพลงแรกของประเทศไทย (เพลงนี้ออกอากาศสดไม่ได้บันทึกเสียงไว้) ในสมัยนั้นเพลงลูกทุ่งยังเป็นส่วนหนึ่งของเพลงไทยสากลอยู่

พระเอกคนนี้นอกจากเป็นพระเอกละครวิทยุแล้ว ยังเป็นพระเอกหนังจอเงิน เป็นพระเอกหนังลูกทุ่ง เคยถูกจับข้อหาเป็นไอ้เสือปล้นธนาคาร เคยถูกสาดน้ำกรดจนเกือบเสียโฉม เป็นนักร้องหน้าม่านละครเวที เป็นนักล่ารางวัลการประกวดร้องเพลงสารพัดเวที เป็นนักร้องลูกทุ่ง เป็นคนบ้ากัญชา เป็นนักร้องเพลงแนวการเมือง และนักร้องเพลงเพื่อชีวิต ก่อนหน้าที่คำว่า ‘เพลงเพื่อชีวิต’ จะเกิดขึ้นใน ประเทศไทย เขาเป็นนักร้องที่ร้องเพลงดังหลายเพลงของไพบูลย์ บุตรขัน ในยุคก่อน พ.ศ. 2500 ที่เป็นยุครุ่งเรืองยุคแรก
และที่สุด มีคนบอกว่าเขาคนนี้ คือ บิดาของเพลงลูกทุ่งไทย เพลงการเมือง และเพลงเพื่อชีวิต

เขาชื่อ คำรณ สัมบุญณานนท์



Create Date : 03 ตุลาคม 2554
Last Update : 3 ตุลาคม 2554 21:15:46 น.
Counter : 1857 Pageviews.

2 comments
  
อ่านแล้วอึ้งๆ

เพิ่งทราบว่าครูไพบูลย์เคยป่วยเป็นโรคร้ายนี่แหละค่ะ
ชีวิตของศิลปินสมัยก่อนน่าสงสารแทบจะทุกคน ;___;

เพิ่งรู้ว่านามสกุลของคำรณ สะกดแบบนี้นะคะ
เราเรียกเป็นคำรณ สัมปุณณานนท์มาตลอดเลย แหะๆ
โดย: =p o o k p u i= วันที่: 3 ตุลาคม 2554 เวลา:18:57:45 น.
  
แวะมาหาหนังน่าดูครับ ^^
โดย: Sahassa วันที่: 18 ตุลาคม 2554 เวลา:5:44:29 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

อะธีลาส
Location :
Sydney  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 44 คน [?]



Photographer, photo educator, writer and more.......

อนุญาตให้ ใช้ ดัดแปลง แก้ไข ตัดต่อ ทำสำเนา เผยแพร่ อ้างอิง จำหน่าย จ่ายแจก ภาพ และบทความในบล็อกนี้ ส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด เพื่อสาธารณะประโยชน์ เพื่อการศึกษา เพื่อกิจส่วนตัว และเพื่อการค้าได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต ตามสัญญาอนุญาตใช้งาน Creative Commons: Attribution.


Website
http://mister-gray.bloggang.com
https://twitter.com/nickdhapana
http://500px.com/NickDhapana
https://plus.google.com/+NickDhapana
http://nickdhapana.tumblr.com
http://instagram.com/nickdhapana
https://www.facebook.com/dhapana/about


Skype & Email
cmosmyp@gmail.com


Line
nickdhapana


My Project's Page

Public Telephone
https://www.facebook.com/PublicTelephoneProject

They didn't say that.
https://www.facebook.com/pages/They-didnt-say-that/116827521834600

Exposure to the RIGHT
https://www.facebook.com/pages/Exposure2the_RIGHT/538556252881951

Thailand Perspective Project
https://www.facebook.com/ThailandPerspective

Dead on Arrival
https://www.facebook.com/pages/Dead-on-Arrival/666461363385961
ตุลาคม 2554

 
 
 
 
 
 
2
4
6
7
8
9
10
12
13
14
15
20
22
23
24
26
27
28
29
30
31
 
 
All Blog