บทนำ และตอนที่ 1
บทความชุดนี้ บอกเล่าเรื่องราวของทัศนคติ การดำเนินชีวิต
ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น วัฒนธรรมพื้นบ้าน และความเป็นอยู่
ของชุมชนชาวเชียงใหม่และลำพูนกลุ่มหนึ่ง
ระหว่างปี พ.ศ. 2523 - 2540

บทนำ

ตั้งแต่ได้รับ Forward mail ฉบับหนึ่งเมื่อเดือนก่อน เป็นเรื่องราวของเมืองเชียงใหม่ที่ควรรู้ แต่เอาเข้าจริงแล้ว อ่านไปอ่านมาชักเป็นเรื่องที่ควรรู้บ้าง ไม่ควรรู้บ้าง ที่สำคัญคือ รู้จริงบ้าง ไม่รู้จริงบ้าง ทำให้เกิดความคิดที่จะเขียนตอบและส่งต่อเพื่อแก้ไขให้ถูกต้อง ทว่าต้องล้มเลิกไปเพราะไม่มีเวลาและขาด ‘ไฟ’ ไปพักหนึ่ง จนกระทั่งพักหลัง คุณแม่กับคุณน้าท่านก็ชอบเล่าเรื่องเก่า ๆ สมัยก่อนข้าพเจ้าเกิดและหลังจากเกิดแล้วให้ฟังมากขึ้น เลยได้โอกาสซักถามข้อมูลมาพอสมควร ก็ใช้วิธีจำเอาไว้ ไม่ได้จดเป็นบันทึกหรือเอกสารใด ๆ แต่ตั้งใจว่าอยากจะเขียนเรื่องราวเหล่านั้นด้วย เพื่อที่คนรุ่นหลังจะได้เข้าใจถึงรากเหง้าความเป็นมาของชุมชนชาวเชียงใหม่และลำพูนกลุ่มหนึ่ง ว่ามีที่มาและที่ไปอย่างไร ดังนั้น ข้อมูลที่ได้ส่วนใหญ่จึงมาจากครอบครัวของข้าพเจ้าส่วนหนึ่ง ข้อมูลจากบทความและตำราทางวิชาการที่ข้าพเจ้าเก็บสะสมไว้ส่วนหนึ่ง ซึ่งจะระบุไว้ในเอกสารอ้างอิงภายหลังบทความชุดนี้จบลง เพื่อที่ว่าผู้อ่านที่สนใจอาจจะไปค้นคว้ารายละเอียดต่อไปได้ และข้อมูลจากความทรงจำ รวมถึงจดหมายเหตุส่วนตัวของข้าพเจ้าอีกชุดหนึ่ง บทความชุดนี้จึงเป็นการหลอมเอาแก่นสารทั้ง 3 ประการเหล่านี้มาขัดเกลาเสียใหม่ บนพื้นฐานความคิดเห็นหรือข้อสังเกตของข้าพเจ้าโดยส่วนมาก จึงไม่อาจถือว่าเป็นบทความเชิงประวัติศาสตร์ แต่ถือเป็นบทความในลักษณะเกร็ดของประวัติศาสตร์จากนักสังเกตการณ์คนหนึ่งมากกว่า ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักของบทความชุดนี้
ปัจจุบัน เมืองเชียงใหม่และลำพูนเปลี่ยนแปลงไปมาก มีการก่อสร้างถนนหนทาง อาคารสถานที่ และพัฒนาเขตเมืองให้ขยายออกไปกว้างขึ้น ชาวเชียงใหม่รุ่นกลางและรุ่นเก่า จึงไม่ค่อยชินกับเรื่องรถติด และผู้คนอันคับคั่งหนาแน่น มีการอพยพเข้ามาของคนต่างถิ่น ที่พยายามมาปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนเชียงใหม่ให้ทันสมัยทัดเทียมกับที่กรุงเทพ ฯ อะไรที่กรุงเทพ ฯ มีแต่ที่เชียงใหม่ไม่มี มักได้รับการดูถูกว่า ‘ไม่เจริญ’ เช่น ครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าไปทานเค้กที่ร้าน Love At First Bite ตรงห้องกระจกที่มีพนักงานเก็บเงิน นักท่องเที่ยวน่าจะมาจากกรุงเทพ ฯ เข้ามาซื้อเค้กเพื่อเป็นของฝาก ได้ยินเสียงเรียกเก็บเงิน จำนวน 300 กว่าบาท เจ้าของสินค้าหยิบเครดิตการ์ดยื่นให้ พนักงานแจ้งว่า ที่นี่ไม่รับชำระด้วยบัตรเครดิต เจ้าของสินค้าก็ทำสีหน้าผิดหวังและกึ่งดูถูก พลางพูดด้วยเสียงอันดังว่า ร้านออกจะใหญ่โต ทำไมไม่หาไว้สักเครื่องล่ะ เนี่ย ถ้าเป็นที่กรุงเทพ ฯ ร้านนี้ลำบากแย่เลยรู้ไหม แล้วก็หยิบเงินสดออกมานับส่งให้ ก่อนจะเดินออกไปด้วยสีหน้าบอกบุญไม่รับ ข้าพเจ้าก็เอามาเล่าให้เพื่อน ๆ ซึ่งเป็นคนเชียงใหม่ฟัง ทุกคนก็เห็นพ้องต้องกันว่า ส่วนใหญ่แล้ว คนเชียงใหม่นิยมพกเงินสด มักเป็นเศรษฐีตัวจริงที่ไม่โอ้อวดกันทั้งนั้น ชาวสวนบางคนรวยมาก ๆ แต่ใช้เครดิตการ์ดไม่เป็นก็มี นักท่องเที่ยวบางคนติดวัตถุ เลยพลอยตัดสินคนที่ไม่เหมือนตนว่าบ้านนอกไปด้วย และพยายามจะปรับให้อะไร ๆ เหมือนกับที่ตนเคยอยู่ เคยกิน เคยใช้ เหตุการณ์นี้เข้าทำนองเดียวกับที่อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่มีแต่นักธุรกิจต่างถิ่นเข้ามาทำให้สีสันดั้งเดิมของเมืองเสื่อมสลายด้วยความเจริญทางวัตถุ อดคิดขำ ๆ ไม่ได้ว่า วันใดวันหนึ่ง ซาลาเปาร้านวิกุล หรือร้านไก่ทอดเที่ยงคืนคงต้องมีเครื่องรูดเครดิตการ์ดไว้รับรองแขกจากกรุงเทพ ฯ ด้วยกระมัง
ขอขอบพระคุณครอบครัวของข้าพเจ้าที่เป็นกำลังใจอันอบอุ่น และผู้อ่านทุกท่านที่อดทนรอคอยผลงานชุดใหม่ของข้าพเจ้า ที่ว่างเว้นมานานเกือบปี เหนือสิ่งอื่นใด ขอขอบคุณสิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าสามารถค้นหาความทรงจำวัยเยาว์ได้ง่ายขึ้น ทุกครั้งที่เงยหน้าจากการเขียนต้นฉบับ หันไปมองพวกเขาเหล่านั้น นั่นคือ เด็ก ๆ ของข้าพเจ้ามากมายที่อยู่กันมาตั้งแต่เกิด ได้แก่ หมีแดง ปุ้มปุ้ย คราว น้องแพน ลุงคอนโด แรคคูน เป็นต้น พวกเขาเหล่านี้ เป็นเสมือนผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุขของข้าพเจ้าอย่างแท้จริง
มีบางคนกล่าวว่า คนที่ชอบเล่าแต่เรื่องเก่า ๆ มักเป็นคนแก่ แต่ข้าพเจ้าเห็นตรงกันข้ามว่า การที่เราระลึกถึงเรื่องเก่า ๆ อยู่เสมอจะช่วยทำให้เราไม่ลืมตัว และรู้ดีว่า สิ่งต่าง ๆ ล้วนสำคัญ มีอิทธิพลหล่อหลอมเราจนเป็นเราทุกวันนี้ได้อย่างไร

ภ. ม. ภาคิโน
บ้านศรีบุญยืน
พฤษภาคม 2552

















ความดีของบทความชุดนี้
ขออุทิศแด่

ปัญญา มณีกุล
แม่อุ้ยป้อ - พ่ออุ้ยจักร สินธุปัน
จงรักษ์ วุฒิสรรพ์
จันทร์เพ็ญ จันทโชติ
ผู้ซึ่งมีพระคุณกับข้าพเจ้าในวัยเยาว์มากนัก







ตอนที่ 1
บ้านตรงถนนมนตรี

เชียงใหม่ ราวปี พ.ศ. 2523 ยังไม่มีร้านกาแฟวาวี Starbucks แมนดาริน โอเรียนเต็ล ดาราเทวี แชงกรีล่า เลอเมอริเดียน พันทิพพลาซ่า ร้าน Kanom ไอศกรีม I – Berry Love At First Bite Mont Blanc เชียงใหม่ในตอนนั้น คือ เมืองเก่าที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายอันอุ่นอวลของวัฒนธรรมประเพณีล้านนา ความสงบเงียบแห่งวิถีชีวิต ไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม แต่มีเสน่ห์แห่งความเจริญอยู่ในตัวเอง ยากจะหาใดเหมือน ตัวเมืองเชียงใหม่ คือ ชุมชนในเขตกำแพงเมือง โดยรอบคูเมือง และข้ามฟากมายังอีกฝั่งของแม่น้ำปิง ไปจรดถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ ส่วนชุมชนตรงเชิงดอยสุเทพจะอยู่รายรอบถนนห้วยแก้ว และถนนสุเทพเท่านั้น หากไกลกว่านั้นออกไปถือเป็นเขตนอกเมือง แต่ละชุมชนจะมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง มีความใกล้ชิดสนิทสนม กลมเกลียว แน่นแฟ้น มีขนบธรรมเนียมดั้งเดิมที่ประพฤติปฏิบัติร่วมกันหลายอย่าง ทุกคนอาศัยอยู่ด้วยความสบายใจ
วัยเด็กของข้าพเจ้าอาศัยอยู่ที่ถนนมนตรี ชุมชนบ้านสันป่าข่อย ตำบลวัดเกต ตำบลแห่งนี้เป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมหลายเชื้อชาติ ยามเช้า พระสงฆ์จะออกบิณฑบาต ยามเย็นจะได้ยินเสียงสวดดูอาห์ลอยมาจากสุเหร่า และเพื่อนบ้านบางคนเป็นชาวจีนฮ่อ ถนนมนตรีเป็นถนนสายเล็ก ๆ ที่ตัดออกมาจากถนนบำรุงราษฎร์ หากจะนึกให้ออก ลองจินตนาการตอนที่เราขับรถลงจากสะพานนวรัฐจะตรงไปยังสถานีรถไฟก่อนจะถึงจะมีสี่แยกสันป่าข่อย เลี้ยวซ้ายเพื่อไปตามถนนบำรุงราษฎร์ ซึ่งก็คือถนนที่จะตรงไปยังสี่แยกโรงเรียนปรินส์ ก่อนจะถึงถนนทางแยกเข้าซายูริ อาบ อบ นวด จะเจอสี่แยกที่มีบ้านร้างโบราณหลังใหญ่ตั้งอยู่ ถนนแยกเข้าทางขวามือ ชื่อ ถนนมนตรี บ้านของข้าพเจ้าตั้งอยู่บนถนนเส้นนั้น เลี้ยวเข้าไปไม่เกิน 200 เมตรก็ถึงแล้ว
การที่ข้าพเจ้าได้อาศัยอยู่ในย่านละแวกนั้น นับเป็นความโชคดีอย่างหนึ่ง นั่นคือ เป็นย่านที่มีการค้าขายและความเจริญเป็นลำดับต้น ๆ ของเมืองเชียงใหม่ในขณะนั้น อาหารการกินก็สมบูรณ์ เพราะมีตลาดสันป่าข่อย และภายหลังก็มีตลาดทองคำได้สร้างขึ้นใกล้กัน เวลาไปตลาด คุณแม่มักจะเดินไป หากข้าพเจ้าไปด้วย ขากลับเราจะแวะร้านข้าวมันไก่แสนอร่อยร้านหนึ่งที่อยู่ตรงตึกแถวใกล้กับหัวมุมถนนบำรุงราษฎร์ แล้วข้าพเจ้าก็จะได้กินข้าวมันไก่เนื้ออกล้วนห่อใหญ่ ราคา 10 บาท ติดไม้ติดมือกลับบ้านด้วย ตึกแถวฝั่งตรงข้ามเยื้องกับร้านข้าวมันไก่ จะมีร้านขายน้ำแข็ง ซึ่งสองสามีภรรยาอยู่ในวัยชราทั้งคู่แต่ใจดีมาก มีไอศกรีมใส่กล่องโฟมขายอร่อยมากเช่นกัน ตรง สามแยกที่จะเลี้ยวเข้าบ้านมีตึกไม้ 2 ชั้นตั้งอยู่ และทำประตูทำนองประตูศาลเจ้าของญี่ปุ่นสีแดงอันใหญ่ ติดกันจะเป็นร้านขายส้มตำครบรส ถ้าหากตรงไปอีกนิด เลยทางเข้าซายูริ อาบอบนวด จะมีร้านขายก๋วยเตี๋ยวเนื้ออยู่ตรงนั้น จำได้ว่า ลูกค้าเยอะพอสมควร ในตลาดสันป่าข่อยเอง ก็มีของกินอร่อย ๆ หลายเจ้า เช่น ไส้อั่วป้าเหรียญ หมูทอดพี่ต้อย เป็นต้น ที่ข้าพเจ้าจำได้ดี คือร้านขนมหวานร้านหนึ่งที่มีถาดใส่ขนมอันหอมหวนเรียงเป็นแถว ราคาชิ้นละ 5 บาท หลังตลาดจะมีถนนที่ตัดไปทะลุสถานีรถไฟเชียงใหม่ หน้าคูหาตึกแถวร้านหนึ่ง จะเป็นที่ขายกล้วยทอดที่คนแน่นมาก ๆ ต้องรอคิวซื้อกันยาวเหยียด เลยโรงพยาบาลหมอวงศ์ไปเล็กน้อย จะมีก๋วยเตี๋ยวเนื้ออีกเจ้าที่กลิ่นของมันยั่วยวนข้าพเจ้าได้เป็นอย่างดี ทั้งยังจำได้ติดตา ถึงภาพก๋วยเตี๋ยวแห้งใส่ใบตองห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ภาษาจีน ขนมปัง ปิ้งเนยราดน้ำตาลที่อยู่หน้าร้านก็อร่อยไม่แพ้กัน ดังนั้น ชุมชนสันป่าข่อยจึงมีของกินให้เลือกมากมาย
ยุคปัจจุบัน เด็กวัยรุ่นมักจะรู้จักชุมชนสันป่าข่อยแค่เพียงเป็นที่ตั้งของร้าน Love At First Bite กับขนมจีนที่ขายถ้วยละ 10 บาท สำหรับนักท่องเที่ยวยามราตรีที่กำลังเลิกจากเธคมาใหม่ ๆ เท่านั้น ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้ สมัยข้าพเจ้า ยังไม่มี เมื่อข้าพเจ้าโตและย้ายมาอยู่ลำพูนได้สัก 5 ปี ขณะนั้นกำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย ก็มีเพื่อนพาไปเที่ยวเธค พอเธคเลิกก็ชวนกันไปกินขนมจีน สันป่าข่อย ยอมรับว่าตอนนั้นไม่รู้จักร้านนี้เลย แม้ว่าจะเคยอยู่ในชุมชนแห่งนั้นมาก่อน พอมาถึงร้านจริง ๆ เลยถึงบางอ้อเพราะมันไม่ใช่ขนมจีนตลาดสันป่าข่อยสักหน่อย แต่เป็นขนมจีนตลาดทองคำที่อยู่หลังตลาดสันป่าข่อย ติดกำแพงค่ายกาวิละนั่นเอง ส่วนร้าน Love At First Bite นั้น ก็ตั้งอยู่ในละแวกที่เมื่อก่อนไม่ใคร่จะมีใครใช้ถนนเส้นนั้นกันนัก (ถนนข้างโรงเรียนเชียงใหม่คริสเตียน) เนื่องจากเปลี่ยวและเงียบสงัด ชาวบ้านแถบนั้น ถ้ามีธุระกันจริง ๆ จะใช้ถนนที่เชื่อมระหว่างถนนเชียงใหม่ลำพูนสายเก่า กับถนนทางที่ตรงไปวัดท่าสะต๋อย ซึ่งตัดผ่านบริเวณที่มีห้างริมปิงซุปเปอร์สโตร์ตั้งอยู่นั่นเอง เรียกชื่อ ถนนโอสถาพันธุ์ ซึ่งเป็นถนนส่วนบุคคล ปัจจุบัน พอ ร้าน Love At First Bite เริ่มมีชื่อเสียง ชุมชนแถวนั้นก็พัฒนาขึ้นมาก มีหอพัก และร้านอาหารสไตล์ Antique house เปิดขายด้วย
บ้านของข้าพเจ้าตรงถนนมนตรี จึงถือได้ว่ามีความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตพอสมควร จะไปไหนมาไหนก็สะดวก เจ้าของบ้านเดิม คือ แม่นางบัวคำ จันทโชติ ซึ่งภายหลังสมรสกับหม่อนแดง วุฒิสรรพ์ แล้วแปรสภาพบ้านหลังดังกล่าวมาเป็นโรงงานเชียงใหม่สังคโลก เป็นบ้านไม้หลังใหญ่ที่มีช่องระบายลมทุกห้อง ทำให้อากาศถ่ายเทสะดวก มีห้องหับทั้งชั้นบนและชั้นล่างกว่า 10 ห้อง หลังคามุงกระเบื้องซีเมนต์สีแดงแบบโบราณ และมียุ้งข้าว หรือหลองข้าวที่มุงด้วยกระเบื้องดินเผาแบบบางสวยมาก ภายหลังพอแม่คำ ถึงแก่กรรม หม่อนแดงจึงย้ายโรงงานไปตั้งอยู่ที่ถนนเชียงใหม่ – หางดง ครอบครัวของข้าพเจ้าก็ได้อยู่อาศัยที่นั่นต่อมา จนกระทั่งย้ายมาที่ลำพูน ช่วงปี พ.ศ. 2536 ปัจจุบัน บ้านหลังดังกล่าวได้ขายให้แก่ผู้รับซื้อไม้เก่า ที่ดินก็ถูกขายไปให้เจ้าของคนปัจจุบันที่ปลูกสร้างตึกสูง 3 ชั้นทดแทน น่าเสียดายว่า หากบ้านหลังดังกล่าวยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน จะมีอายุเกือบ 60 ปีแล้ว
อันที่จริง บนที่ดินผืนเดียวกันกับบ้านของข้าพเจ้านั้น ยังมีบ้านอื่น ๆ อีก 3 หลังปลูกอยู่ด้วย ซึ่งหลังหนึ่งเป็นบ้านที่คุณตากับคุณยายของข้าพเจ้าอาศัยอยู่ เป็นเรือนชั้นเดียวยกสูงสักบันได 3 ขั้น ส่วนบ้านที่อยู่ด้านหน้าสุด ติดถนนมนตรี มีคนมาเช่าหลายครอบครัว ซึ่งข้าพเจ้าเกิดทัน 3 ครอบครัวสุดท้าย ต่อมาลูก ๆ ของพวกเขาก็กลายมาเป็นเพื่อนสมัยเรียนโรงเรียน มหาวิทยาลัย และกลับมาเจอกันที่นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนืออีกครั้ง ส่วนข้างบ้านมีบังกะโลหลังเล็ก ซึ่งกั้นเป็นซอยเฉพาะเข้า – ออกส่วนตัวได้ มีหลายครอบครัวมาเช่าเช่นกัน ครอบครัวที่อยู่นานที่สุด เห็นจะเป็นครอบครัวของ คุณป้าซึ่งมีอาชีพทำแหนมขาย มีลูกสาวคนหนึ่งเป็นครูสอนพิเศษ เนื่องจากหน้าต่างตรงโต๊ะหนังสือของข้าพเจ้าบนเรือนใหญ่ จะสามารถมองเห็นเพิงหน้าบ้านที่แกใช้สอนพิเศษพอดี ทำให้เห็นลีลาการสอนของแกบ่อยครั้ง ซึ่งเอกลักษณ์ที่จำคุ้นหู คือ น้ำเสียงของเธอที่ดุนักเรียนได้ขยาดมาก
ที่ดินตรงข้ามบ้านของข้าพเจ้าแต่เดิมมีสภาพเป็นสวนห่าง หรือที่ดินรกร้างว่างเปล่า ก่อนหน้าที่จะย้ายมาลำพูนสัก 3 ปีนั้น มีการถมดินและปรับสภาพเป็นโรงสนุ๊กเกอร์ และร้านขายเหล้าเล็ก ๆ ดูคึกคัก ข้างบ้านของข้าพเจ้าทางทิศตะวันตกเป็นสวนลำไยรก ๆ และเต็มไปด้วยไมยราพ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนพิงครัตน์ อีกด้านหนึ่งทางทิศตะวันออก ติดกับบ้านเจ้าของกิจการรถสิบล้อ ที่ครอบครัวเราเรียกกันว่าเจ๊ ส่วนด้านหลังติดกับที่ดินถมแล้วซึ่งกว้างมาก ๆ ชอบมีคนมาหัดขับรถ เล่นว่าว หรือปั่นจักรยาน ออกกำลังกายเสมอ
หากขับรถมาตามถนนมมนตรีตรงไปเรื่อย ๆ จนถึงทางโค้งที่เมื่อเลี้ยวขวาจะไปทะลุถนนเจริญเมือง สังเกตทางซ้ายมือจะมีตึกแถวขนาดใหญ่ตรงมุมโค้งนั้น เปิดเป็นร้านผลิตเฟอร์นิเจอร์ ชื่อ พจนศิลป์เฟอร์นิเจอร์ ดูครอบครัวของข้าพเจ้าจะสนิทสนมกับเจ้าของดีทีเดียว ถ้าหากมีการเลือกตั้งเมื่อใด ที่นี่จะกลายเป็นหน่วยเลือกตั้งสำหรับคนในชุมชมอีกด้วย ตรงมุมถนนด้านที่จะออกไปทะลุถนนเจริญเมือง ปัจจุบันคือ ธนาคารนครหลวงไทย เดิมเคยเป็นโรงภาพยนตร์ ชื่อ ชินทัศนีย์ สี่แยกตรงนี้เลยได้ชื่อว่า สี่แยกชินทัศนีย์ด้วย เจ้าของคือ ตระกูลชินวัตร คุณแม่เล่าให้ฟังว่า สมัยเรียนมัธยมที่โรงเรียนดาราวิทยาลัย เป็นเพื่อนกันกับคุณเยาวเรศ ชินวัตร ซึ่งมักจะเอาตั๋วหนังมาแจกและไปดูด้วยกันเป็นกลุ่มสนุกมาก โดยเฉพาะถ้าเมื่อไหร่มีหนังใหม่ ๆ เข้าฉาย มักจะได้ดูเป็นกลุ่มแรก ๆ เลยก็ว่าได้
ด้วยเหตุนี้ ถนนมนตรีจึงเป็นทางลัดไป – มา ระหว่างยังถนนเจริญเมือง และถนนบำรุงราษฎร์ ทำให้ถนนหน้าบ้านจะคึกคักช่วงที่รถจะติดในงานเทศกาลต่าง ๆ เพราะถนนเจริญเมืองจะเป็นจุดตั้งขบวนแห่ เนื่องในเทศกาลสำคัญ เช่น ขบวนแห่พระพุทธสิหิงค์เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ขบวนบุปผาชาติเนื่องในเทศกาลงานไม้ดอกไม้ประดับ เป็นต้น (ยกเว้นปีหนึ่งที่ผู้ว่าราชการในขณะนั้น อุตริยกขบวนงานบุปผาชาติ ไปเริ่มต้นที่ถนนห้วยแก้ว) คุณแม่จะพาข้าพเจ้าไปชมขบวนต่าง ๆ ด้วยการเดินลัดสวนห่างหน้าบ้านไปทะลุซอยเล็ก ๆ ที่โผล่ออกใกล้กับสี่แยกสันป่าข่อยได้ หรือจะออกไปตรงสี่แยกชินทัศนีย์เก่าก็ได้ เวลาไปไหนแล้วจะบอกรถสี่ล้อแดงกลับบ้าน ก็จะบอกคนขับรถสี่ล้อว่า ถนนมนตรี ถนนข้างบ้านคุณแสวง เลิศพฤกษ์ คนขับรถที่มีอายุหน่อยก็จะรู้จักแทบทั้งสิ้น บ้านที่ว่านี้ คือ บ้านหลังใหญ่ตรงหัวมุมถนนนั่นเอง เห็นคุณแม่เล่าว่า สมัยเด็กเคยมุดรั้วเข้าไปเล่นซนตามประสา ดูวังเวงชอบกล เจ้าของเป็นเศรษฐีเก่าที่รวยมาก ๆ ทำให้คนเชียงใหม่รู้จักกันทั่วไป
ถนนมนตรีในปัจจุบันเจริญขึ้นมาก และยังเหลือร่องรอยกลิ่นอายของวันวานไว้บ้าง เมื่อข้าพเจ้าผ่านไปทีไร ก็อดคิดถึงวัยเด็กของตนเองที่ไม่ได้ทิ้งไว้บนถนนสายนั้นในวันที่ย้ายบ้าน แต่กลับติดตรึงฝังใจอยู่กับตัวมาจนกระทั่งทุกวันนี้

ภ. ม. ภาคิโน
บ้านศรีบุญยืน



Create Date : 17 กรกฎาคม 2552
Last Update : 17 กรกฎาคม 2552 14:27:17 น.
Counter : 942 Pageviews.

4 comments
  
อ่านสนุก คิดถึงวันเก่าๆ เพราะเคยอยู่แถวถนนบำรุงราษฎร์สมัยช่วงปี 2500 จนถึงปี 2512 ไปตลาดสันป่าขอยบ่อยๆ ครับ
ตอนนี้มาอยู่ที่อำเภอดอยสะเก็ดคับ คิดถึงบรรยากาศสมัยก่อนบ้านเมืองสงบ เงียบดีคับ
โดย: ดำรงค์ IP: 110.49.248.123 วันที่: 11 มีนาคม 2555 เวลา:10:23:14 น.
  
ดีใจที่ยังมีคน กล่าวถึงคุณ ทวด ตอนนี้ แทบไม่เหลืออะไรละครับ เพราะ การที่มีทรัพย์สมบัติ แล้วไม่รู้จักดูแล รักษา ไม่รู้จักทำงานหามาเพิ่ม ใช้ กัน ที่คิดว่าชาตินี้ก็ไม่หมด ขอบคุณ ที่ยังจำทวดผมได้ T^T
โดย: หลานคุณทวด IP: 118.172.155.208 วันที่: 11 กรกฎาคม 2555 เวลา:15:10:29 น.
  
ดีใจที่มีคนพูดถึงชีวิตบนถนนมนตรีในอดีตอีกครั้งครับ ผมเองก็เป็นลูกหลานขอคนในงชุมชนนี้เหมือนกัน ครอบครัวที่คุณได้อุตส่าห์หล่าวถึงในบทความนี้ ขอบคุณมากๆนะครับผม

อ่านเรื่องราวตรงนี้แล้วมันทำให้ผมดำดิ่งและจมลงไปในห้วงเวลาที่แสนจะอบอุ่นอีกครั้งในวัยเด็ก ถนนเส้นสั้นๆแต่ผมก็เดินเข้าเดินออกจนแทบจะทะลุปรุโปร่ง เดินไปวัดสันป่าข่อยไปร่วมกิจกรรมเด็กพุทธศาสนาวันเสาร์ เดินไปตลาดสันป่าข่อยซื้อผัดไทยตรงแถวสี่แยกสันป่าข่อย ซึ่งอร่อยมาก

น่าเสียดายที่ผมไม่มีโอกาสได้รู้จักกับเด็กๆบนถนนมนตรีทั้งหมดเหมือนพวกผู้หลักผู้ใหญ่ของเราที่เขาต่างรู้จักกันเป็นอย่างดีทั้งย่านทั้งถนน ไม่งั้นพวกเราคงจะมันส์กันมากเลยนะครับ ^^

ลืมบอกไปว่า ผมเป็นลูกของแม่นุช เป็นหลานของตาพจน์เจ้าของร้านพจนศิลป์เฟอร์นิเจอร์ครับ ^^ ยินดีที่ได้อ่านบทความและคอมเม้นท์จากคนบนถนนเส้นเดียวกันครับ
โดย: เอ๋ ยุวศิลป์ IP: 115.67.99.123 วันที่: 26 กันยายน 2555 เวลา:22:12:44 น.
  
คุณแม่น่าจะรู้จักครับ ผมคงไม่ค่อยคุ้นสักเท่าไหร่

ต้องขออภัยที่เพิ่งเข้ามาอ่านคอมเมนท์ในนี้ เพราะปกติจะตามดูอีกเวบหนึ่งครับ

ขอบคุณอีกครั้งหนึ่งครับ
โดย: PeeEm วันที่: 24 ตุลาคม 2555 เวลา:16:25:55 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

PeeEm
Location :
ลำพูน  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



สวัสดีครับ ผมชื่อ ภาคิน มณีกุล ครับ ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ บริษัท ลานนาโปรดักส์ จำกัด เป็นบริษัทผลิตวาซาบิรายใหญ่ของประเทศ งานอดิเรกของผม นอกจากส่วนใหญ่จะเล่นกีฬา คือ ปั่นจักรยานและเล่นแบดมินตัน อ่านหนังสือ ดูภาพยนตร์และชอบเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อถ่ายรูปหรือพักผ่อนแล้ว ผมยังชอบเขียนบทความ เรื่องสั้น และนวนิยายอีกด้วยครับ

เพื่อน ๆ คนไหนเข้ามาอ่านก็สามารถติชมได้นะครับ ขอบคุณครับ
New Comments
กรกฏาคม 2552

 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
17 กรกฏาคม 2552