ธรรมะของท่านพุทธทาสในทัศนะของข้าพเจ้า
ธรรมะของท่านพุทธทาสในทัศนะของข้าพเจ้า
๑๐๐ ปี ชาตกาล พุทธทาสภิกขุ (๒๗ พฤษภาคม ๒๔๔๙ – ๒๕๔๙)

ภ.ม. ภาคิโน

ข้าพเจ้ารู้จักท่านพุทธทาสตั้งแต่ครั้งสมัยยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษา ซึ่งขณะนั้นท่านยังมีชีวิตอยู่และจำพรรษาอยู่ที่สวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี รู้จักเพียงผิวเผินว่าท่านเป็นพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงมาก แต่ไม่ได้สนใจอะไรจนกระทั่งได้อ่านข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับงานฌาปนกิจของท่านอันเรียบง่าย จึงได้รู้ว่าท่านสิ้นไปเสียแล้ว
เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๘ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสบวชศึกษาพระธรรม ประกอบกับช่วงนั้นกำลังอ่านพระไตรปิฎกฉบับประชาชน ของสุชีพ ปุญญานุภาพ เลยเกิดวิจิกิจจา กล่าวคือ สงสัยไปหมด มีปริยัติมากมาย ทว่าปฏิบัติไม่ได้เลยไม่เกิดปฏิเวช เหตุเพราะในพระไตรปิฎกนั้นส่วนใหญ่จะแปลมาจากบาลีล้วน ๆ เป็นธรรมะที่คัดกรองต่อเนื่องกันมาหลายพันปี อ่านไปอ่านมาชักงง จับจุดไม่ถูก ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงไปเรียนปรึกษาตุ๊ลุงซึ่งเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้าว่า มีหนังสือหรือตำราเล่มไหนที่พอจะอ่านได้โดยใช้เวลาอันสั้นแต่เข้าใจธรรมะครบถ้วน ท่านจึงแนะนำหนังสือชุดของท่านพุทธทาสให้อ่าน ซึ่งมีอยู่ในตู้ประมาณเกือบสิบเล่ม ทุกเล่มเป็นพ็อกเกตบุ๊คสั้น ๆ พิมพ์ด้วยกระดาษอย่างดี จัดรูปเล่มสวยงาม เมื่อข้าพเจ้าเปิด “คู่มือมนุษย์” ออกอ่านแค่นั้นแหละ ข้าพเจ้าจึงได้เริ่มทำความรู้จักกับท่านพุทธทาสอย่างเป็นทางการเสียที
ท่านพุทธทาสมักเน้นธรรมะของท่านไปในทางแนะแนวทางปฏิบัติอันจะนำไปสู่การหลุดพ้นจากความเป็นอัตตา หรือความถือตนของคนเรา มนุษย์เราถูกห่อหุ้มด้วยอวิชชา กิเลสตัณหา เกิดความอยากได้ถือมี ไม่ต่างอะไรจากพระพุทธศาสนาที่ท่านพุทธทาสเห็นว่า กลายเป็นติ่งของธรรมะที่แท้จริงไปเสียแล้ว หาใช่แก่นแท้หรือ “พุทธะ” แต่ดังเดิมไม่ พิธีหรือประเพณีทางพระพุทธศาสนานั้นหาได้เกิดขึ้นพร้อมกับพระพุทธเจ้าในสมัยพุทธกาลไม่ หากเกิดขึ้นภายหลัง นานเข้าจึงเริ่มขยายอิทธิพลความเชื่อที่ว่าพิธีเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งอันจะนำไปสู่ “นิพพาน” ได้ ท่านพุทธทาสชี้ให้เห็นว่า การปฏิบัติตัวของเราให้ทำแต่ความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้ผ่องใส ตามโอวาทปาฏิโมกข์ซึ่งถือเป็นประธานคำสอนของคำสอนทั้งมวลพระพุทธองค์นั้น สามารถขัดเกลาให้เราเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีได้ และโอวาทปาฏิโมกข์ประการสุดท้ายเท่านั้น ที่จะนำเราไปสู่หนทางแห่งนิพพานที่แท้จริง
พุทธะที่แท้ ไม่มีพระศาสดา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เคยทรงตรัสให้พระสงฆ์หรือพุทธศาสนิกชนทั้งมวลยึดพระองค์เป็นพระศาสดา แต่พระองค์ทรงตรัสไว้ชัดเจนในพระไตรปิฎกว่า พระธรรมวินัย (หมายถึงพระไตรปิฎก) จะเป็นศาสดาของศาสนาพุทธสืบไป และบทสรุปสั้น ๆ ของพระพุทธศาสนาที่ท่านพุทธทาสเคยกล่าวไว้ในหนังสือ “แก่นพุทธศาสน์” คือ สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น สฺพฺเพ ธฺมมา นาลํ อภินิเวสาย
เนื่องด้วยคำว่า นิพพาน แปลว่า ปราศจากของเสียดแทง คือ การว่าง นิพพานํ ปรมํ สุญญํ ว่างที่สุดคือนิพพาน ฉะนั้นการยึดมั่นถือมั่นหรืออัตตา จึงเป็นเหตุทำให้เกิดความทุกข์ทั้งสิ้น เพราะของสิ่งนี้ทำให้ทุกอย่างปราศจากความว่าง เต็มไปด้วยอบายมุข อุปาทาน ฯลฯ การที่จะทำให้ตนเราว่างเสมือนประหนึ่งแก้วที่ไม่มีน้ำนั้น อาศัยปัญญาและสมาธิ สมาธิจะทำให้มองเห็นปัญญา และปัญญาจะช่วยให้เกิดสมาธิ จากนั้นเราจึงใช้ทั้งปัญญาและสมาธิตัดทุกข์ทั้งปวงออกเสียโดยพิจารณาทีละขั้นตอนว่า ทุกข์นั้นเกิดจากเหตุใด ก็ให้ดับที่ทุกข์นั้นก่อน เมื่อดับทุกข์นั้นแล้ว ทุกข์ใดที่อาศัยทุกข์นี้เป็นเชื้อก็ย่อมดับลงได้ด้วยเช่นกัน ธรรมะที่ว่าด้วยการพิจารณาเชื้ออันอาศัยซึ่งกันและกันในการเกิดต่อเนื่องกันไป เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท
ตัวอย่างที่ยกมาโดยคร่าวนี้ แสดงถึงความสามารถของท่านพุทธทาสในการแจงพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ได้อย่างลึกซึ้ง แจ่มแจ้ง และแยบคาย ในบางครั้งสิ่งที่ท่านยกมาเปรียบเทียบนั้นช่างฟังดูเสียดสีดีแท้ แต่ตรงไปตรงมากับการดำเนินชีวิตของคนเรา เหตุนี้เองจึงทำให้หนังสือของท่านได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีตลอดมา งานเขียนของท่านมีหลายร้อยเรื่อง ทั้งนี้เป็นความตั้งใจของท่านเองเพื่อให้สมกับคำปรารภของท่านที่เคยกล่าวไว้ว่า เมืองไทยเป็นเมืองพระพุทธศาสนา แต่หาหนังสือธรรมะดี ๆ อ่านสักเล่มยังไม่มี
ข้าพเจ้าเองคงทำได้แต่เพียงยกตัวอย่างธรรมะของท่านมาไว้แต่เพียงเท่านี้ เพื่อให้ท่านทั้งหลายที่เคยได้ยินหรือรู้จักนาม “พุทธทาส” มาบ้างนั้น เกิดแรงบันดาลใจที่จะใฝ่หาธรรมะโดยไม่ได้จำกัดเฉพาะธรรมะของท่านพุทธทาสเพียงอย่างเดียว หากแต่หมั่นแสวงหาสิ่งใด ๆ ก็ตาม อันจะนำไปสู่ความว่างแห่งตน เปรียบประดุจแสงสว่างสำหรับการเดินทางบนถนนชีวิตต่อไป ถ้าสังเกตให้ดีข้าพเจ้าไม่ได้เล่าถึงชีวประวัติของท่าน ไม่ใช่จนด้วยข้อมูล ทว่าการเรียนรู้ที่จรู้จักใครให้ถูกต้อง ข้าพเจ้าเห็นว่าควรเริ่มที่ผลงานของเขาเสียก่อน เหมือนอย่างเรานึกถึงอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ คงนึกถึงสมการพลังงานอันโด่งดังแทนที่จะนึกถึงวัยเด็กของเขาว่า เรียนจบชั้นประถมศึกษาจากที่ไหน เช่นเดียวกัน ท่านพุทธทาสที่เรารู้จัก คือ ผลงานธรรมะอันบรรลือโลก ซึ่งเราทุกคนควรศึกษาอย่างถ่องแท้และนำมาประยุกต์ใช้กับตัวเราเพื่อบังเกิดผลดีต่อไป
ธรรมะใดก็ดี ศาสนาใดก็ดี ล้วนแล้วแต่สอนให้คนบรรลุถึงเป้าหมายศรัทธาเดียวกัน นั่นคือ ความสุขสงบที่ปราศจากสิ่งทิ่มแทงและหลุดพ้นจากวัฏสงสารทั้งปวง

๒๓ พฤษภาคม 49 ๒๒๒๔ น.
บ้านศรีบุญยืน ลำพูน



Create Date : 03 กันยายน 2551
Last Update : 3 กันยายน 2551 19:23:20 น.
Counter : 755 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

PeeEm
Location :
ลำพูน  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



สวัสดีครับ ผมชื่อ ภาคิน มณีกุล ครับ ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ บริษัท ลานนาโปรดักส์ จำกัด เป็นบริษัทผลิตวาซาบิรายใหญ่ของประเทศ งานอดิเรกของผม นอกจากส่วนใหญ่จะเล่นกีฬา คือ ปั่นจักรยานและเล่นแบดมินตัน อ่านหนังสือ ดูภาพยนตร์และชอบเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อถ่ายรูปหรือพักผ่อนแล้ว ผมยังชอบเขียนบทความ เรื่องสั้น และนวนิยายอีกด้วยครับ

เพื่อน ๆ คนไหนเข้ามาอ่านก็สามารถติชมได้นะครับ ขอบคุณครับ
New Comments
กันยายน 2551

 
1
2
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30