ชีวิตคน ไม่ยืนยาว เหนือกาลเวลา จงทำดี มีธรรมา ติดตัวเอย
Group Blog
 
<<
มกราคม 2561
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
1 มกราคม 2561
 
All Blogs
 
การออกแบบบ้านและต่อเติมอาคาร

 

คำอุทิศ
                ด้วยอานิสงส์ของการเผยแพร่ความรู้ ข้าพเจ้าขออุทิศให้มารดา บิดา ญาติพี่น้อง ครูอาจารย์ ผู้มีพระคุณ เพื่อนทั้งหลาย เทวดาทั้งหลาย เปรตทั้งหลาย เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย จงได้บุญกุศลโดยถ้วนหน้ากัน ท่านจะอยู่ภพใดหรือภูมิใด หากมีทุกข์ขอให้พ้นทุกข์ หากมีสุขขอให้มีสุข ยิ่งๆ ขึ้นไป เทอญ
 

                จากเรื่องราว ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาคารและบ้านพักอาศัย ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ ที่มีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์ มักจะมีปัญหา เรื่องการออกแบบ ก่อสร้าง และความขัดแย้งกับผู้เกี่ยวข้องหรือเพื่อนบ้าน เป็นต้น
                ปัญหาเหล่านี้ เป็นปัญหาทางวิชาชีพ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและก่อสร้างอาคาร ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ความปลอดภัย สุขอนามัย และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม
                สาเหตุที่เกิดปัญหา มักเกิดจากผู้ประกอบวิชาชีพ หรือเจ้าของอาคาร หรือผู้รับเหมา ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทำให้มีอาคารที่ก่อสร้างผิดกฎหมาย เกิดขึ้นมากมายในสังคม
                ดังนั้น การแก้ไขปัญหาดังกล่าว ผู้เกี่ยวข้อง จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายวิชาชีพ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและก่อสร้างอาคาร
                เมื่อทุกฝ่าย ปฏิบัติตามกฎหมาย ย่อมส่งผลดีต่อสังคม ดังนี้
                1 ประชาชนหรือเจ้าของอาคาร ได้รับความรู้เบื้องต้น ในกฎหมายวิชาชีพ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและก่อสร้างอาคาร
                2 ลดปัญหาจากการก่อสร้างอาคาร ที่ผิดกฎหมาย
                3 ประชาชนหรือเจ้าของอาคาร มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัย มีสุขอนามัยที่ดี ในการใช้งานอาคาร และมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม
                การออกแบบบ้านหรือต่อเติมอาคาร จะต้องปฏิบัติตาม พรบ. วิศวกร พ.ศ. 2542 พรบ. สถาปนิก พ.ศ. 2543 พรบ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กฎกระทรวง และข้อกำหนดของท้องถิ่น เช่น พื้นที่ว่างของที่ดิน และระยะห่างของตัวอาคาร เป็นต้น เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของชุมชน และป้องกันความขัดแย้งกับผู้เกี่ยวข้องหรือเพื่อนบ้าน เป็นต้น หากเป็นไปตามข้อกำหนด ไม่มีข้อห้าม ก็ขออนุญาตก่อสร้าง ได้
                การออกแบบบ้าน ประกอบด้วยการออกแบบด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม และการทำแบบรูป รายการ และข้อกำหนด
                การต่อเติมอาคาร ประกอบด้วยการตรวจสอบโครงสร้างเดิม การกำหนดประเภทของฐานราก การกำหนดระยะห่างของฐานราก การออกแบบด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม และการทำแบบรูป รายการ และข้อกำหนด
                การออกแบบบ้านและต่อเติมอาคาร มีรายละเอียด ดังนี้
 
การออกแบบบ้าน

                การออกแบบบ้าน ประกอบด้วยการออกแบบด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม และการทำแบบรูป รายการ และข้อกำหนด ให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ ความต้องการ และงบประมาณของเจ้าของบ้าน และถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อความสะดวก สบาย สุขอนามัย และคุณภาพชีวิตที่ดี ในการอยู่อาศัย และมีความคุ้มค่าของเงิน ที่ใช้ในการปลูกบ้าน ดังรายละเอียดต่อไปนี้
การออกแบบด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม
                1 แบ่งพื้นที่และวางตำแหน่ง ของห้อง ต่างๆ ให้ถูกต้อง กับทิศทางของแสงแดด ลม และกิจกรรมของแต่ละห้อง แบ่งส่วนพักผ่อนและกิจกรรม ไม่ให้ปะปนกัน
                2 วางตำแหน่งด้านยาวของบ้าน ให้อยู่ในแนวตะวันออกและตะวันตก เพื่อลดพื้นที่ด้านมากของผนังบ้าน ไม่ให้โดนแสงแดด จะช่วยลดความร้อนจากแสงแดด ลงได้
 
 
วงโคจรพระอาทิตย์
 
 
                3 แผงกันแดดด้านตะวันออก ควรเป็นแผงในแนวนอน เพื่อให้แสงแดดบางส่วนเข้ามาในบ้าน เพื่อเพิ่มแสงสว่างตามธรรมชาติ ให้กับบ้าน แผงกันแดดด้านตะวันตก ควรเป็นแผงในแนวตั้ง เพื่อป้องกันแสงแดดทั้งหมดไม่ให้เข้ามาในบ้าน เพื่อลดความร้อนในตัวบ้าน
 
 
 
แผงกันแดดด้านตะวันออก
 
 
แผงกันแดดด้านตะวันตก
 

                4 ด้านหน้าของบ้าน ควรอยู่ทิศเหนือ เพื่อรับลมและหลบแสงแดด
                5 ควรแบ่งพื้นที่ภายใน สำหรับสมาชิกภายในบ้าน เช่น ห้องนั่งเล่น และพื้นที่ภายนอก สำหรับบุคคลภายนอก เช่น ห้องรับแขก ออกจากกัน เพื่อความเป็นส่วนตัว
                6 ก่อนเข้าในตัวบ้าน ควรมีพื้นที่โล่ง ปราศจากสิ่งปกคลุม เช่น นอกชาน เพื่อเป็นส่วนต่อเชื่อม ระหว่างพื้นที่โล่ง ด้านนอกบ้าน กับพื้นที่ภายในบ้าน โดยให้ นอกชาน อยู่ด้านหน้าของบ้าน
                7 ทางเข้าบ้าน ควรมีมากกว่า 1 ทาง เพื่อแยกพื้นที่ สำหรับสมาชิกในบ้านและบุคคลภายนอก เช่น ทางเข้าด้านหน้า ควรเข้าทางนอกชาน ต่อเนื่องกับโถงโล่ง ภายในบ้าน และทางเข้าด้านหลัง ควรเข้าทางลานซักล้าง ต่อเนื่องกับห้องครัว เป็นต้น เพื่อความสะดวก
                8 ทางเข้าบ้าน ที่เป็นทางหลัก ไม่ควรผ่านห้องรับแขก ทำให้ ไม่มีอิสระ ในการรับแขก ซึ่งบางครั้ง เราไม่ต้องการรับแขกที่มา
                9 พื้นที่ส่วนแรก เมื่อเข้ามาในตัวบ้าน ควรเป็นโถงโล่ง เพื่อเป็นส่วนต่อเชื่อม ไปสู่พื้นที่ส่วน ต่างๆ ของบ้าน ได้โดยสะดวก เช่น ห้องนั่งเล่น ห้องทำงาน หรือห้องน้ำ เป็นต้น ซึ่งเป็นพื้นที่ภายใน สำหรับสมาชิกในบ้าน โดยไม่ต้องผ่าน ห้องรับแขก ซึ่งเป็นพื้นที่ สำหรับรับรองบุคคลภายนอก
                10 ห้องนอน ไม่ควรอยู่ติดห้องครัวและโรงรถ เพราะจะได้กลิ่นและเสียง จากการประกอบอาหารและการติดเครื่องของรถยนต์
                11 ห้องอาหาร ไม่ควรอยู่บริเวณหน้าห้องน้ำ
                12 ห้องน้ำและห้องครัว ควรอยู่ทิศตะวันตก เพื่อรับแสงแดดตอนบ่าย จะช่วยลดความชื้นและกลิ่น ห้องน้ำแต่ละชั้น ควรอยู่ตรงกัน เพื่อความสะดวก ในการเดินท่อ และป้องกันไม่ให้ พื้นที่ของห้อง อื่นๆ มาอยู่ใต้ห้องน้ำ
                13 บันไดขึ้นชั้นบน ไม่ควรอยู่ทิศตะวันตก เพราะแสงแดดตอนบ่าย จะแยงตา เวลาขึ้น ลง บันได อาจเกิดอันตราย ได้ และควรวนขวา ตามคตินิยม ของชาวพุทธ
                14 พื้นที่ชั้นบน ควรแบ่งพื้นที่ส่วนสงบ เช่น ห้องพระ ห้องนอน เป็นต้น ออกจากพื้นที่ส่วนกิจกรรม เช่น ห้องนั่งเล่น ห้องทำงาน เป็นต้น ไม่ให้ปะปนกัน เพื่อประสิทธิภาพ ของการใช้งาน ในพื้นที่แต่ละส่วน
แบบรูป รายการ และข้อกำหนด
                การทำแบบรูป รายการ และข้อกำหนด คือ การออกแบบรายละเอียดด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม จะดำเนินการโดยวิศวกรและสถาปนิก ให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ ความต้องการ และงบประมาณของเจ้าของบ้าน และถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อทุกอย่าง มีความเหมาะสมและถูกต้อง แล้ว จึงทำแบบร่างที่สมบูรณ์แบบ ให้ช่างเขียนแบบ เขียนแบบขึ้นมา เพื่อใช้เป็นเอกสาร สำหรับงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
                -- ขออนุญาตก่อสร้าง เพื่อให้ถูกกฎหมาย
                -- คิดปริมาณงาน ( Bill of Quantity ; BOQ ) เพื่อคำนวณราคากลาง
                -- ประกวดราคา เพื่อคัดเลือกผู้รับเหมา
                -- ควบคุมงานผู้รับเหมา เพื่อให้เป็นไปตามแบบรูป รายการ และข้อกำหนด
                หากแบบรูป รายการ และข้อกำหนด ยังไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ต้องแก้ไขให้ถูกต้อง ก่อนดำเนินการขออนุญาตก่อสร้างและก่อสร้าง ราคาของการปลูกบ้าน เป็นแสน เป็นล้าน เป็นเงินก้อนใหญ่ ไม่ใช่หามาได้ ง่ายๆ ดังนั้น ต้องรอบครอบ และให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อความคุ้มค่าของเงิน ที่ใช้ในการปลูกบ้าน และคุณภาพชีวิตที่ดี ในการอยู่อาศัย
 
 
การต่อเติมอาคาร
 

                งานต่อเติม หลายคน คิดว่าง่าย            อาจจะใช่ ถ้าคิด แบบพ่อค้า
                แต่ถ้าคิด แบบผู้ มีวิชชา                      ผมก็ว่า ไม่ใช่ เสมอไป

                งานต่อเติม จะต้องมี ข้อมูลเดิม            เพื่อออกแบบ ส่วนต่อเติม เพิ่มขึ้นใหม่
                หากไม่มี จะต้องวัด ระยะไว้                 ทำเป็นแบบ ทั่วไป เพื่อใช้งาน

                ใช้เวลา มากกว่า ก่อสร้างใหม่              ต้องใส่ใจ ทุกส่วนสอด คล้องประสาน
              ทุกรอยต่อ ต้องทนทาน การใช้งาน         คือผลงาน ของผู้มี วิชชาเอย
 

                การต่อเติมอาคาร จะต้องปฏิบัติตาม พรบ. วิศวกร พ.ศ. 2542 พรบ. สถาปนิก พ.ศ. 2543 พรบ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กฎกระทรวง และข้อกำหนดของท้องถิ่น เช่น พื้นที่ว่างของที่ดิน และระยะห่างของตัวอาคาร เป็นต้น เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของชุมชน หากเป็นไปตามข้อกำหนด ไม่มีข้อห้าม ก็ขออนุญาตก่อสร้าง ได้
                เมื่อผลการตรวจสอบเบื้องต้น สามารถต่อเติมได้ ไม่มีข้อห้าม จึงเริ่มดำเนินการออกแบบรายละเอียดของงานต่อเติมอาคาร
                การต่อเติมอาคาร ประกอบด้วยการตรวจสอบโครงสร้างเดิม การกำหนดประเภทของฐานราก การกำหนดระยะห่างของฐานราก การออกแบบด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม และการทำแบบรูป รายการ และข้อกำหนด ให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ ความต้องการ และงบประมาณของเจ้าของอาคาร และถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อความสะดวก สบาย สุขอนามัย และคุณภาพชีวิตที่ดี ในการใช้งานอาคาร และมีความคุ้มค่าของเงิน ที่ใช้ในการต่อเติมอาคาร ดังรายละเอียด ต่อไปนี้
การตรวจสอบโครงสร้างเดิม
                การต่อเติมอาคาร มีทั้งต่อเติมบนอาคารเดิมและสร้างขึ้นมาใหม่ การต่อเติมบนอาคารเดิม จะต้องตรวจสอบโครงสร้างของอาคารเดิม ก่อน ว่าสามารถรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมา ได้หรือไม่ หากรับได้ จึงจะเริ่มดำเนินการ ในส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง
                การต่อเติมอาคาร ที่สร้างขึ้นมาใหม่ ห้ามต่อเชื่อมโครงสร้างใหม่ กับโครงสร้างเดิม เพื่อให้การทรุดตัว มีอิสระต่อกัน ไม่ดึงรั้งโครงสร้างเดิม
                สิ่งสำคัญที่สุดของการต่อเติมอาคาร คือ การกำหนดประเภทของฐานราก และระยะห่างระหว่างฐานรากใหม่และฐานรากเดิม เพื่อป้องกันฐานรากเกยกัน การออกแบบอาคารต่อเติม จะมีกระบวนการออกแบบ เช่นเดียวกับการออกแบบอาคารใหม่ทั้งหลัง แต่สิ่งที่ต่างกัน คือ
                -- อาคารต่อเติมจะอยู่ชิดกับอาคารเดิม เสมือนเป็นอาคารหลังเดียวกัน แต่ไม่เชื่อมต่อโครงสร้างกับอาคารเดิม ดังนั้น โครงสร้างพื้น บริเวณชิดอาคารเดิม จะเป็นโครงสร้างแบบคานยื่นและเสาลอย และ
                -- แยกโครงสร้างของอาคารแต่ละหลังออกจากกัน เพื่อให้การทรุดตัวของอาคารแต่ละหลัง มีอิสระต่อกัน ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องใช้ระบบโครงสร้างและความแข็งแรงของวัสดุ เช่นเดียวกับอาคารเดิม เนื่องจากเทคโนโลยีของวัสดุ มีการวิจัยและพัฒนา ในด้านการรับกำลังที่สูงขึ้น
การกำหนดประเภทของฐานราก
                ฐานรากของอาคารต่อเติม จะเป็นฐานแผ่ คือฐานรากถ่ายน้ำหนักให้ดิน หรือฐานรากเสาเข็ม คือฐานรากถ่ายน้ำหนักให้เสาเข็มและเสาเข็มถ่ายน้ำหนักให้ดิน นั้น จะขึ้นอยู่กับขนาดของน้ำหนัก ที่ถ่ายลงฐานราก สภาพชั้นดิน และการพิจารณาของวิศวกรโครงสร้าง
                การหาขนาดของฐานแผ่ จะขึ้นอยู่กับขนาดของน้ำหนัก ที่ถ่ายลงฐานราก เทียบกับความสามารถในการรับแรงแบกทาน ( bearing ) ของดิน
                กรณีไม่มีเอกสารรับรองผลการทดสอบ ให้ปฏิบัติตาม กฎกระทรวง ฉบับที่ 6 ( พ.ศ. 2527 ) ออกตามความใน พรบ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ผมขอยกรายละเอียดมา เฉพาะข้อที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
                ข้อ 18 น้ำหนักบรรทุกบนดินที่ฐานรากของอาคารนั้น ต้องคำนวณให้เหมาะสม เพื่อความมั่นคงและปลอดภัย ถ้าไม่มีเอกสารที่รับรองโดยสถาบันที่เชื่อถือได้แสดงผลการทดลองหรือการคำนวณ จะต้องไม่เกินกำลังแบกทานของดินประเภท ต่างๆ ดังต่อไปนี้
                ( 1 ) ดินอ่อนหรือดินถมไว้แน่นตัวเต็มที่ 2 ตัน / ตารางเมตร
                ( 2 ) ดินปานกลางหรือทรายร่วน 5 ตัน / ตารางเมตร
                ( 3 ) ดินแน่นหรือทรายแน่น 10 ตัน / ตารางเมตร
                ( 4 ) กรวดหรือดินดาน 20 ตัน / ตารางเมตร
                ( 5 ) หินดินดาน 25 ตัน / ตารางเมตร
                ( 6 ) หินปูนหรือหินทราย 30 ตัน / ตารางเมตร
                ( 7 ) หินอัคนีที่ยังไม่แปรสภาพ 100 ตัน / ตารางเมตร
                การหาจำนวนเสาเข็มของฐานรากเสาเข็ม จะขึ้นอยู่กับขนาดของน้ำหนัก ที่ถ่ายลงฐานราก เทียบกับความสามารถในการรับน้ำหนักปลอดภัยของเสาเข็ม ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพของชั้นดิน
                การใช้เสาเข็มตอกหรือเสาเข็มเจาะ ของอาคารต่อเติม ไม่จำเป็นต้องใช้ขนาดและความยาวเท่าอาคารเดิม เนื่องจากการแยกโครงสร้างของอาคารแต่ละหลังออกจากกัน เพื่อให้การทรุดตัวของอาคารแต่ละหลัง เป็นอิสระต่อกัน ดังกล่าวไว้ข้างต้นแล้ว
การกำหนดระยะห่างของฐานราก
                การกำหนดระยะห่างระหว่างฐานรากอาคารต่อเติมและฐานรากอาคารเดิม จำเป็นต้องมีแบบก่อสร้างเดิม เพื่อตรวจสอบขนาดและตำแหน่งของฐานราก รวมทั้งเสาเข็มของอาคารเดิม เพื่อป้องกันฐานรากเกยกัน ดังกล่าวไว้ข้างต้นแล้ว
                กรณีฐานแผ่ จะกำหนดจากเส้นมุมลาดของมวลดิน ที่ระดับฐานแผ่ของอาคารเดิม ซึ่งมุมลาดของมวลดิน คือ มุมที่มากที่สุด วัดจากแนวนอน ซึ่งมวลดินสามารถคงรูปอยู่ได้ตามธรรมชาติ โดยไม่พังทลายลงมา เรียกว่า มุมลาดของมวลดินตามธรรมชาติ ( angle of repose ) โดยปกติ มีค่าเท่ากับมุมเสียดทานภายในระหว่างเม็ดดิน ( มุม Ø ) ตำแหน่งของฐานแผ่และการขุดหลุมฐานราก จะต้องอยู่เหนือแนวเส้นมุมลาด นี้
 
 

                กรณีฐานรากเสาเข็ม จะกำหนดเป็นระยะห่างจากเสาเข็มของอาคารเดิม โดยปกติ จะกำหนดให้มีระยะห่างไม่น้อยกว่า 3 เท่า ของขนาดเสาเข็มต้นที่ใหญ่กว่า แต่ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงระยะห่างที่เครื่องจักร เช่น ปั้นจั่น หรือเครื่องเจาะ สามารถเข้าทำงานได้
 
 
 
 

                ในกรณีของการต่อเติมอาคาร ที่อยู่ในบริเวณดินอ่อน แนะนำให้ใช้เป็นฐานรากเสาเข็ม จะเหมาะสมกว่า เพื่อตัดปัญหาการทรุดตัวไม่เท่ากัน
การออกแบบด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม
                เป็นการออกแบบรายละเอียดด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม โดยทำเป็นแบบรูป รายการ และข้อกำหนด
แบบรูป รายการ และข้อกำหนด
                การทำแบบรูป รายการ และข้อกำหนด คือ การออกแบบรายละเอียดด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม จะดำเนินการโดยวิศวกรและสถาปนิก ให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ ความต้องการ และงบประมาณของเจ้าของอาคาร และถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อทุกอย่าง มีความเหมาะสมและถูกต้อง แล้ว จึงทำแบบร่างที่สมบูรณ์แบบ ให้ช่างเขียนแบบ เขียนแบบขึ้นมา เพื่อใช้เป็นเอกสาร สำหรับงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
                -- ขออนุญาตก่อสร้าง เพื่อให้ถูกกฎหมาย
                -- คิดปริมาณงาน ( Bill of Quantity ; BOQ ) เพื่อคำนวณราคากลาง
                -- ประกวดราคา เพื่อคัดเลือกผู้รับเหมา
                -- ควบคุมงานผู้รับเหมา เพื่อให้เป็นไปตามแบบรูป รายการ และข้อกำหนด
                หากแบบรูป รายการ และข้อกำหนด ยังไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ต้องแก้ไขให้ถูกต้อง ก่อนดำเนินการขออนุญาตก่อสร้างและก่อสร้าง ราคาของการต่อเติมอาคาร เป็นหมื่น เป็นแสน หรือเป็นล้าน เป็นเงินก้อนใหญ่ ไม่ใช่หามาได้ ง่ายๆ ดังนั้น ต้องรอบครอบ และให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อความคุ้มค่าของเงิน ที่ใช้ในการต่อเติมอาคาร และคุณภาพชีวิตที่ดี ในการงานอาคาร
                ที่กล่าวมานี้ ผมหวังว่า ผู้สนใจที่เข้ามาอ่าน คงได้ความรู้และมีความเข้าใจ ในการออกแบบบ้านและต่อเติมอาคาร ดียิ่งขึ้น
 
 



Create Date : 01 มกราคม 2561
Last Update : 23 ตุลาคม 2562 13:40:35 น. 0 comments
Counter : 3304 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

วิศวกรที่ปรึกษา
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 22 คน [?]




ประกอบอาชีพวิศวกรโครงสร้างและวิศวกรโยธา

ไม่สนับสนุนการออกแบบและก่อสร้างอาคาร รวมทั้งงานต่อเติมที่ผิดกฎหมายต่อพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 และพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522


New Comments
Friends' blogs
[Add วิศวกรที่ปรึกษา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.