"ทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้หรือในโลกอื่น หรือรัตนะใดอันประณีตในสวรรค์ ทรัพย์และรัตนะนั้นเสมอด้วยพระตถาคตย่อมไม่มี พระพุทธเจ้าแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยการกล่าวคำจริงนี้ ขอความสวัสดีจงมี....." "พระไตรปิฏก เป็นตาที่วิเศษยิ่ง, เป็นหูที่วิเศษยิ่ง, เป็นจมูกที่วิเศษยิ่ง, เป็นลิ้นที่วิเศษยิ่ง, เป็นกายที่วิเศษยิ่ง, เป็นใจที่วิเศษยิ่ง, เป็นครู-อาจารย์ที่วิเศษยิ่ง, เป็นพ่อ-แม่ที่วิเศษยิ่ง, เป็นมิตรและเข็มทิศที่วิเศษยิ่ง, เป็นแผนที่และป้ายบอกทางที่วิเศษยิ่ง, เป็นแสงสว่างส่องทางสู่นิพพานที่วิเศษยิ่ง"จากวัดสามแยก
Group Blog
 
 
กุมภาพันธ์ 2555
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
26272829 
 
18 กุมภาพันธ์ 2555
 
All Blogs
 
เรียนรู้เรื่อง ศีล จากพระไตรปิฏก 2

สิกขาบทของสามเณรมี 10 ประการ (มหาขันธกะ) เล่ม6หน้า 284-285
[๑๒๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตสิกขาบท ๑๐ แก่สามเณรทั้งหลาย
และให้สามเณรทั้งหลายศึกษาใน

สิกขาบท ๑๐ นั้น คือ:-
๑. เว้นจากการทำสัตว์ที่มีชีวิตให้ตกล่วงไป.
๒. เว้นจากถือเอาพัสดุอันเจ้าของมิได้ให้.
๓. เว้นจากกรรมอันเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์.
๔. เว้นจากการกล่าวเท็จ.
๕. เว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท.
๖. เว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล.
๗. เว้นจากฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่นที่เป็นข้าศึก.
๘ เว้นจากการทัดทรงตกแต่งด้วยดอกไม้ของหอม และเครื่องลูบไล้อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว.
๙. เว้นจากที่นั่งและที่นอนอันสูงและใหญ่.
๑๐. เว้นจากการรับทองและเงิน.

องค์ประกอบที่ทำให้ละเมิดศีล (พรรณาสิกขาบท10) เล่ม39หน้า 36
ปาณาติบาต มีองค์ ๕ คือ (ฆ่าสัตว์)
๑. สัตว์มีชีวิต
๒. สำคัญว่า สัตว์มีชีวิต
๓. จิตคิดจะฆ่า
๔. พยายาม
๕. สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น

แม้อทินนาทาน ก็มีองค์ ๕ เหมือนกัน คือ (ลักทรัพย์)
๑. ของมีเจ้าของหวงแหน
๒. สำคัญว่าของมีเจ้าของหวงแหน
๓. มีจิตคิดจะจะลัก
๔. พยายาม
๕. ลักของได้มาด้วยความพยายามนั้น

มิจฉาจารนั้นมี องค์ ๔ คือ (เล่ม 75 หน้า 291) ประพฤติผิดในการร่วมเพศ
๑. สิ่งที่ไม่ควรเกี่ยวข้อง
๒. มีจิตคิดเสพในสิ่งที่ไม่ควรเกี่ยวข้องนั้น
๓. พยายามเสพ
๔. การยังอวัยวะเพศให้ถึงอวัยวะเพศ

มุสาวาท ก็มีองค์ ๔ เหมือนกัน คือ (โกหก)
๑. เรื่องเท็จ
๒. จิตคิดจะพูดเท็จ
๓. พยายามเกิดแต่จิตนั้น
๔. พูดเท็จต่อคนอื่นและเขารู้เรื่องเท็จ

สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน ก็มีองค์ ๔ คือ (ดื่มน้ำเมา)
๑. ของมึนเมามีสุราเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง
๒. จิตคิดอยากจะดื่มของมึนเมา
๓. ความพยายามเกิดแต่จิตนั้น
๔. ดื่มเข้าไปในลำคอ

ฆ่าสัตว์มาตลอด50ปี...ตอนใกล้ตายตั้งใจจะสมาทานศีล.....แต่ได้เพียงสรณะก็สิ้นใจได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นจาตุม (อ.นิทานสูตร) เล่ม34 หน้า 128-129
เรื่องคนเฝ้าประตูชาวทมิฬ

เล่ากันมาว่า ในบ้านมธุอังคณะ. มีนายประตูชาวทมิฬคนหนึ่งถือเอาเบ็ดไปแต่เช้า ตกปลาได้แล้วแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน ส่วนหนึ่งเอาแลกข้าวสาร
ส่วนหนึ่งแลกนม ส่วนหนึ่งต้มแกงกิน. โดยทำนองนี้ เขาทำปาณาติบาตอยู่ถึง๕๐ ปี ต่อมาแก่ตัวลง ล้มหมอนนอนเสื่อ ในขณะนั้น พระจุลลปิณฑปาติกติสสเถระ ชาวคิรีวิหาร รำพึงว่า คนผู้นี้ เมื่อเรายังเห็นอยู่อย่าพินาศเสียเลย แล้วไปยืนอยู่ที่ประตูเรือนของเขา. ขณะนั้นภริยาของเขาจึงบอกว่า นี่ ! พระเถระมาโปรดแล้ว

เขาตอบว่า ตลอดเวลา ๕๐ ปี เราไม่เคยไปสำนักของพระเถระเลย ด้วยคุณความดีอะไรของเรา ท่านจึงต้องมา เธอจงไปนิมนต์ให้ท่านไปเสียเถิด.นางบอกพระเถระว่า นิมนต์ไปโปรดสัตว์ข้างหน้าเถิดเจ้าข้า พระเถระถามว่า อุบาสกมีพฤติการทางร่างกายอย่างไร.
นางตอบว่า อ่อนแรงแล้ว เจ้าข้า. พระเถระเข้าไปยังเรือนให้สติ แล้วกล่าวว่า
โยมรับศีล (ไหม). เขาตอบว่า รับ ขอรับพระคุณเจ้า นิมนต์ให้ศีลเถิด.

พระเถระให้สรณะ ๓ แล้ว เริ่มจะให้ศีล ๕. ในขณะที่อุบาสกนั้น ว่า ปญฺจ
สีลานิ นั่นแหละ ลิ้นแข็งเสียแล้ว. พระเถระคิดว่า เท่านี้ก็พอควร แล้วออกไป.ส่วนเขาตายแล้วไปเกิดในภพจาตุมหาราชิกะ. ก็ในขณะที่เขาเกิดนั่นนแหละ

รำลึกว่า เราทำกรรมอะไรหนอ จึงได้สมบัตินี้ รู้ว่าได้เพราะอาศัย
พระเถระ จึงมาจากเทวโลก ไหว้พระเถระแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่งเมื่อพระเถระถามว่า นั่นใคร ตอบว่า กระผม (คือ) คนเฝ้าประตูชาวทมิฬครับพระคุณเจ้า.

พระเถระถามว่า ท่านไปเกิดที่ไหน ตอบว่า ผมเกิดที่ชั้นจาตุมหาราชิกภพ ครับพระคุณเจ้าถ้าหากพระคุณเจ้าได้ให้ศีล ๕ แล้วไซร้ ผมคงได้เกิดในชั้นสูงขึ้นไป ผมจักทำอย่างไร
พระเถระตอบว่า ดูก่อน (เทพ)บุตร ท่านไม่สามารถจะรับเอาได้เอง เทพบุตรไหว้พระเถระแล้วกลับไปยังเทวโลก. นี้เป็นเรื่อง (ตัวอย่าง) ในกุศลกรรมก่อน.

รักษาศีลไม่ถึงครึ่งวัน....ตายไปสวรรค์ (อ.ฉัตตมาณวกวิมาณ) เล่ม48หน้า 451-458
เมื่อมาณพมีจิตเลื่อมใส ตั้งอยู่ในสรณะทั้งหลายด้วยความเป็นผู้มี
จิตตุปบาทเป็นไปว่า ข้าพเจ้าเข้าถึงสรณะ ดังนี้ โดยกำหนดคุณพระรัตนตรัย และทิ้งอยู่ในศีลทั้งหลาย ด้วยอธิฐานศีล ๕ ตามนัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้นั้นแล กำลังเดินระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยตามนัยนั่นแล พวกโจรก็กรูกันมาที่หนทาง มาณพไม่ใส่ใจพวกโจรเหล่านั้น เดินระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยอย่างเดียว โจรคนหนึ่งยืนซ่อนในระหว่างพุ่มไม้ เอาลูกธนูอาบยาพิษแทงอย่างฉับพลัน ทำให้เขาสิ้นชีวิต แล้วยึดห่อกหาปณะหลีกไปพร้อมกับพวกสหายของตน ฝ่ายมาณพทำกาละแล้วตายไปบังเกิดในวิมานทอง ๓๐ โยชน์ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นเหมือนหลับแล้วตื่นขึ้น มีอัปสรพันหนึ่งแวดล้อม มีอัตภาพประดับด้วยเครื่องประดับ มีภาระ ๖๐ เล่มเกวียน รัศมีของวิมานนั้นแผ่ไปกว่า ๒๐ โยชน์.

ลำดับนั้น เทพบุตรได้พยากรณ์ด้วยคาถาเหล่านี้ว่า

พระศาสดาเสด็จมาพบมาณพในทางนี้ ด้วยพระองค์เอง เมื่อทรงอนุเคราะห์ ได้ตรัสสอนแล้ว ฉัตตมาณพฟังธรรมของพระองค์ผู้เป็นรัตนะอันประเสริฐ ได้กราบทูลว่าข้าพระองค์จักกระทำตาม

พระองค์ตรัสสอนว่า เธอจงเข้าถึงพระชินวรผู้ประเสริฐ ทั้งพระธรรมและภิกษุสงฆ์ เป็นสรณะ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทีแรกข้าพระองค์ได้กล่าวว่า ไม่รู้ แต่ภายหลังได้กระทำตามพระดำรัสของพระองค์ อย่างนั้นทีเดียว

พระองค์ตรัสสอนว่า จงอย่าฆ่าสัตว์ อย่าประพฤติกรรมไม่สะอาดต่าง ๆ ผู้มีปัญญาทั้งหลายไม่สรรเสริญความไม่สำรวมในสัตว์ทั้งหลายเลย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทีแรกข้าพระองค์ได้กล่าวว่า ไม่รู้ แต่ภายหลังได้กระทำตามพระดำรัสของพระองค์ อย่างนั้นทีเดียว

พระองค์ตรัสสอนว่า อย่าเป็นผู้มีความสำคัญของที่เจ้าของมิได้ให้แม้ที่ชนอื่นรักษาไว้ ว่าเป็นของควรถือเอา ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทีแรกข้าพระองค์ได้กล่าวว่า ไม่รู้ แต่ภายหลังได้กระทำ ตามพระดำรัสของพระองค์อย่างนั้นทีเดียว

พระองค์ตรัสสอนว่า อย่าได้ล่วงเกินภริยาของคนอื่นที่คนอื่นรักษา นั่นเป็นสิ่งไม่ประเสริฐ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทีแรกข้าพระองค์ได้กล่าวว่า ไม่รู้ แต่ภายหลังได้กระทำตามพระดำรัส ของพระองค์อย่างนั้นทีเดียว

พระองค์ตรัสสอนว่า อย่าได้กล่าวเรื่องจริงเป็นเท็จ ผู้มีปัญญาทั้งหลายไม่สรรเสริญมุสาวาทเลย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทีแรกข้าพระองค์ได้กล่าวว่า ไม่รู้ แต่ภายหลังได้กระทำตามพระดำรัส ของพระองค์ อย่างนั้นทีเดียว

พระองค์ตรัสสอนว่า จงงดเว้นนำเมา ซึงเป็นเครื่องให้คนปราศจากสัญญานั้นทั้งหมด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทีแรกข้าพระอค์ได้กล่าวว่า ไม่รู้ แต่ภายหลังได้กระทำตามพระดำรัสของพระองค์ อย่างนั้นทีเดียว ข้าพระองค์นั้นถือสิกขาบท ๕ ในศาสนานี้ ปฏิบัติในธรรมของพระตถาคต ได้ไปยังทางสองแพร่ง ท่ามกลางพวกโจร พวกโจร เหล่านั้นฆ่าข้าพระองค์ ที่ทางนั้น เพราะโภคะเป็นเหตุ ข้าพระองค์ระลึกถึงกุศลนี้เพียงเท่านี้ กุศลอื่นนอกจากนั้น ของข้าพระองค์ไม่มี ด้วยกรรมอันสุจริตนั้น ข้าพระองค์จึงเกิดในหมู่ เทวดาชาวไตรทิพย์พรั่งพร้อมด้วยสิ่งที่น่าปรารถนา ขอพระองค์โปรดดูธรรมตามสมควร ซึ่งเหมือนรุ่งเรืองอยู่ด้วยยศ คนเป็นอันมากผู้มีกรรมต่ำทรามเพ่งดูข้าพระองค์ ก็นึกกระหยิ่ม โปรดดูเถิด ข้าพระองค์ถึงสุคติ และถึงความสุข ด้วยเทศนาเล็กน้อย ก็เหล่าสัตว์ผู้ที่ ฟังธรรมของพระองค์ติดต่อกันเหล่านั้น เห็นทีจะสัมผัสพระนิพพานอันเป็นแดนเกษมเป็นแน่ กรรมที่ทำแม้น้อย ก็มีวิบากใหญ่ไพบูลย์ เพราะธรรมของพระตถาคตแท้ ๆ

โปรดดูเถิดเพราะเป็นผู้ได้ทำบุญไว้ ฉัตตมาณพจึงเปล่งรัศมีสว่างตลอดแผ่นปฐพี เหมือนดังดวงอาทิตย์ คนพวกหนึ่งประชุมปรึกษากันว่า กุศลนี้เป็นอย่างไร พวกเราจะประพฤติกุศลอะไร พวกเรานั้นได้ความเป็นมนุษย์แล้ว พึงปฏิบัติมนุษยธรรม มีศีลกันอยู่อีกทีเดียว พระศาสดาทรงมีอุปการะมาก ทรงอนุเคราะห์อย่างนี้

เมื่อข้าพระองค์ถูกโจรฆ่าชิงทรัพย์ ยังกลางวันแสก ๆ อยู่เลย ข้าพระองค์นั้นเป็นผู้เข้าถึงพระผู้มีพระนามอันเป็นสัจจะ ขอพระองค์โปรดอนุเคราะห์เถิด พวกข้าพระองค์ทั้งหลายขอฟังธรรมอีก ชนเหล่าใดในศาสนานี้ละกามราคะ อนุสัย คือภวราคะ และโมหะละได้ขาด ชนเหล่านั้นย่อมไม่ต้องนอนในครรภ์ คือ เกิดอีก เพราะถึงปรินิพพานดับทุกข์ เย็นสนิทแล้ว.

พึ่งศีลดีกว่าพึ่งเทวดา (อ.สัพภิสูตร) เล่ม24หน้า 153-154
เรื่องผู้เทิดทูนธรรมสัตบุรุษ

ได้ยินว่า ชนจำนวนมากด้วยกันได้ทำการค้าทางทะเล ใช้เรือแล่นไปสู่ทะเล.
เมื่อเรือแห่งชนเหล่านั้นไปอยู่โดยเร็วปานลูกธนูอันบุคคลซัดไปแล้ว
ในวันที่ ๗ จึงเกิดเหตุร้ายใหญ่ในท่ามกลางทะเล คือ คลื่นใหญ่ตั้งขึ้นแล้ว
ก็ยังเรือให้เต็มไปด้วยน้ำ. เมื่อเรือกำลังจะจมลง มหาชนจึงนึกถึงชื่อเทวดา
ของตน ๆ แล้วกระทำกิจมีการอ้อนวอนเป็นต้น คร่ำครวญแล้ว.

ในท่ามกลางแห่งชนเหล่านั้น บุรุษคนหนึ่งนึกว่า เราต้องประสบภัยร้ายเห็นปานนี้แน่จึงนึกถึงธรรมของตน เห็นแล้วซึ่งสรณะทั้งหลาย และศีลทั้งหลายก็บริสุทธิ์แล้ว จึงนั่งขัดสมาธิ ดุจพระโยคี. พวกชนทั้งหลายจึงถามท่านถึงเหตุอันไม่กลัวนั้น. บุรุษผู้เป็นบัณฑิตนั้นจึงกล่าวว่า

ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย ใช่แล้ว เราไม่กลัวภัยเห็นปานนี้ เพราะเราถวายทานแก่หมู่แห่งภิกษุ ในวันที่ขึ้นเรือ เราได้รับสรณะทั้งหลาย และศีลทั้งหลาย ด้วยเหตุนั้น เราจึงไม่กลัว ดังนี้.

ชนเหล่านั้น จึงกล่าวว่า ข้าแต่นาย ก็สรณะและศีลเหล่านี้สมควรแก่ชนพวกอื่นบ้างหรือไม่.

บัณฑิตนั้นตอบว่า ใช่แล้ว ธรรมเหล่านี้ย่อมสมควรแม้แก่พวกท่าน.

ชนเหล่านั้น จึงกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น ขอท่านบัณฑิตจงให้แก่พวกเราบ้าง.

ชนผู้เป็นบัณฑิตนั้น จึงจัดทำพวกมนุษย์เหล่านั้นให้เป็นพวกละรู้อยู่คน รวมเป็น ๗ พวกด้วยกัน.
ต่อจากนั้นก็ให้ศีล ๕. ในบรรดาชน ๗ พวกนั้น ชนจำนวนร้อยคนพวกแรกตั้งอยู่ในน้ำมีข้อเท้าเป็นประมาณ จึงได้รับศีล.
พวกที่ ๒ ตั้งอยู่ในน้ำมีเข่าเป็นประมาณ...
พวกที่ ๓ ตั้งอยู่ในน้ำมีสะเอวเป็นประมาณ...
พวกที่ ๔ ตั้งอยู่ในน้ำมีสะดือเป็นประมาณ...
ชนพวกที่ ๕ ตั้งอยู่ในน้ำมีนมเป็นประมาณ....
พวกที่ ๖ ตั้งอยู่ในน้ำมีคอเป็นประมาณ...
พวกที่ ๗ น้ำทะเลกำลังจะไหล่เข้าปาก จึงได้รับศีล ๕ แล้ว.

ชนผู้เป็นบัณฑิตนั้น ครั้นให้ศีล ๕ แก่ชนเหล่านั้นแล้ว จึงประกาศ เสียงกึกก้องว่า สิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเฉพาะของพวกท่านไม่มี พวกท่านจงรักษาศีลเท่านั้น ดังนี้.

มีทุกข์เพราัะไม่มีศีล (ราชสูตร) เล่ม36 หน้า 377-381
ว่าด้วยการมีศีลไม่เป็นเหตุให้ได้รับโทษ

[๑๗๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายย่อมเข้าใจความข้อนั้น ป็นไฉน คือว่า ท่านทั้งหลายได้เห็นหรือได้ฟังมาแล้วบ้างหรือว่า คนผู้นี้ เป็นผู้ละปาณาติบาต งดเว้นจากปาณาติบาต พระราชาจับเขาประหาร จองจำเนรเทศ หรือกระทำตามปัจจัย เพราะเหตุแห่งการงดเว้นจากปาณาติบาต ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า มิได้เห็นหรือมิได้ฟังมาเลย พระเจ้าข้า.

พ. ดีละ ภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็มิได้เห็น มิได้ฟังมาแล้วว่า คนผู้นี้เป็นผู้ละปาณาติบาต งดเว้นจากปาณาติบาต พระราชาจับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ หรือกระทำตามปัจจัย เพราะเหตุแห่งการงดเว้นจากปาณาติบาต แต่ว่าบาปกรรมของเขานั่นแหละย่อมบอกให้ทราบว่า คนผู้นี้ฆ่าหญิงหรือชายตาย พระราชาจับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ หรือกระทำตาม ปัจจัย เพราะเหตุแห่งปาณาติบาต ท่านทั้งหลายได้เห็นหรือได้ฟังบาปกรรม เห็นปานนี้บ้างหรือไม่.

ภิ. พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ทั้งหลายได้เห็นมาแล้ว ได้ฟังมาแล้วและจักได้ฟังต่อไป.

พ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายย่อมเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน
คือว่า ท่านทั้งหลายได้เห็นหรือได้ฟังมาแล้วบ้างหรือว่า คนผู้นี้เป็นผู้ละอทินนาทาน งดเว้นจากอทินนาทาน พระราชาจับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ หรือกระทำตามปัจจัย เพราะเหตุแห่งการงดเว้นจากอทินนาทาน.

ภิ. มิได้เห็นหรือมิได้ฟังมาเลย พระเจ้าข้า.

พ. ดีล่ะ ภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็มิได้เห็น มิได้ฟังมาแล้วว่า คนผู้นี้เป็นผู้ละอทินนาทาน งดเว้นจากอทินนาทาน พระราชาจับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ หรือกระทำตามปัจจัย เพราะเหตุแห่งการงดเว้นจากอทินนาทาน แต่ว่าบาปกรรมของเขานั่นแหละย่อมบอกให้ทราบว่า คนผู้นี้ลักทรัพย์เขามาจากบ้านหรือจากป่า พระราชาจับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ หรือกระทำตามปัจจัย เพราะเหตุแห่งอทินนาทาน ท่านทั้งหลายได้เห็นหรือได้ฟังบาปกรรม
เห็นปานนี้บ้างหรือไม่.

ภิ. พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ทั้งหลายได้เห็นมาแล้ว ได้ฟังมาแล้ว
และจักได้ฟังต่อไป.

พ.ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายย่อมเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน
คือว่า ท่านทั้งหลายได้เห็นหรือได้ฟังมาแล้วบ้างหรือว่า คนผู้นี้เป็นผู้ละ
กาเมสุมิจฉาจาร งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร พระราชาจับเขามาประหาร
จองจำ เนรเทศ หรือกระทำตามปัจจัย เพราะเหตุการงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร.

ภิ. มิได้เห็น หรือมิได้ฟังมาเลย พระเจ้าข้า.

พ. ดีละ ภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็มิได้เห็นมิได้ฟังมาแล้วว่า คนผู้นี้เป็นผู้ละกาเมสุมิจฉาจาร งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร พระราชาจับเขามาประหารจองจำ เนรเทศ หรือกระทำตามปัจจัย เพราะเหตุแห่งการงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร แต่ว่าบาปกรรมของเขานั่นแหละย่อมบอกให้ทราบว่า คนผู้นี้ละเมิดประเพณีในหญิงหรือบุตรีของผู้อื่น พระราชาจับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ หรือกระทำตามปัจจัย เพราะเหตุแห่งกาเมสุมิจฉาจาร ท่านทั้งหลาย
ได้เห็นหรือได้ฟังบาปกรรมเห็นปานนี้บ้างหรือไม่.

ภิ. พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ทั้งหลายได้เห็นมาแล้ว ได้ฟังมาแล้วและจักได้ฟังต่อไป.

พ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายย่อมเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน
คือว่า ท่านทั้งหลายได้เห็นหรือได้ฟังมาแล้วบ้างหรือว่า คนผู้นี้เป็นผู้ละ
มุสาวาท งดเว้นจากมุสาวาท พระราชาจับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ
หรือกระทำตามปัจจัย เพราะเหตุแห่งการงดเว้นจากมุสาวาท.

ภิ. มิได้เห็น หรือมิได้ฟังมาเลย พระเจ้าข้า.

พ. ดีละ ภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็มิได้เห็นมิได้ฟังมาแล้วว่า คนผู้นี้เป็นผู้ละมุสาวาท งดเว้นจากมุสาวาท พระราชาจับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ หรือกระทำตามปัจจัย เพราะเหตุแห่งการงดเว้นจากมุสาวาท แต่ว่าบาปกรรมของเขานั่นแหละย่อมบอกให้ทราบว่า คนผู้นี้ทำลายประโยชน์ของคฤหบดี หรือบุตรคฤหบดีด้วยมุสาวาท พระราชาจังเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ หรือกระทำตามปัจจัย เพราะเหตุแห่งมุสาวาท ท่านทั้งหลายได้เห็น หรือได้ฟังบาปกรรมเห็นปานนี้บ้างหรือไม่.

ภิ. พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ทั้งหลายได้เห็นมาแล้ว ได้ฟังมาแล้วและจักได้ฟังต่อไป.

พ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลาย่อมเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน
คือว่า ท่านทั้งหลายได้เห็นหรือได้ฟังมาแล้วบ้างหรือว่า คนผู้นี้เป็นผู้ละการ
ดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท งดเว้นจากการ
ดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท พระราชาจับเขา
มาประหาร จองจำ เนรเทศ หรือกระทำตามปัจจัย เพราะเหตุแห่งการงด
เว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท.

ภิ. มิได้เห็น หรือมิได้ฟังมาเลย พระเจ้าข้า.

พ. ดีละ ภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็มิได้เห็นหรือมิได้ฟังมาแล้วว่า
คนผู้นี้เป็นผู้ละการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
พระราชาจับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ หรือกระทำตามปัจจัย เพราะ
เหตุแห่งการงดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท แต่ว่าบาปกรรมของเขานั่นแหละย่อมบอกให้ทราบว่า คนผู้นี้ประกอบการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท แล้วฆ่าหญิงหรือชายตาย ลักทรัพย์เขามาจากบ้านหรือจากป่า ละเมิดประเพณีในหญิงหรือบุตรีของผู้อื่น ทำลายประโยชน์ของคฤหบดี หรือบุตรของคฤหบดีด้วยมุสาวาทพระราชาจับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ หรือกระทำตามปัจจัย เพราะเหตุแห่งการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท .

จบราชสูตรที่ ๘

ว่าด้วยผลของการรักษาศีล ๕ (คิหิสูตร) เล่ม 36หน้า 381-385
[๒๗๙] ครั้งนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีแวดล้อมด้วยอุบาสก
ประมาณ ๕๐๐ คน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกท่านพระสารีบุตรว่า ดูก่อนสารีบุตร ท่านทั้งหลายพึงรู้จักคฤหัสถ์คนใดคนหนึ่ง ผู้นุ่งห่มผ้าขาว มีการงานสำรวมดีในสิกขาบท ๕ ประการ และมีปกติได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันอันมีในจิตยิ่ง ๔ ประการ และคฤหัสถ์ผู้นั้น เมื่อหวังอยู่ ก็พึงพยากรณ์ตนด้วยตนเองว่า เราเป็นผู้มีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เปรตวิสัย อบาย ทุคติ วินิบาตสิ้นแล้ว เป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า คฤหัสถ์ย่อมเป็นผู้มีการงานสำรวมดีใน

สิกขาบท ๕ ประการเป็นไฉน ? ดูก่อนสารีบุตร อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต ๑
อทินนาทาน ๑
กาเมสุมิจฉาจาร ๑
มุสาวาท ๑
การดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ๑

คฤหัสถ์ เป็นผู้มีการงานสำรวมดีในสิกขาบท ๕ ประการนี้.

คฤหัสถ์เป็นผู้มีปกติได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก
ซึ่งธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันอันมีในจิตยิ่ง ๔ ประการเป็นไฉน ?

ดูก่อนสารีบุตร อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์. . . เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม นี้เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน อันมีในจิตยิ่ง ข้อที่ ๑ อันอริยสาวกนั้นได้ถึงแล้วเพื่อความหมดจดแห่งจิตที่ยังไม่หมดจด เพื่อความผ่องแผ้วแห่งจิตที่ยังไม่ผ่องแผ้ว.

อีกประการหนึ่ง อริยสาวกเป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า ธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว. . .อันวิญญูชนพึงจะรู้เฉพาะตน.นี้เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน อันมีในจิตยิ่งข้อที่ ๒. . .

อีกประการหนึ่ง อริยสาวกเป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่าพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว...เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า นี้เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันอันมีในจิตยิ่ง ข้อที่ ๓. . .

อีกประการหนึ่ง อริยสาวกเป็นผู้ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะใคร่แล้ว
ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท วิญญูชนสรรเสริญ เป็นไปเพื่อสมาธิ นี้เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน อันมีในจิตยิ่ง ข้อที่ ๔

อันอริยสาวกนั้นได้ถึงแล้ว เพื่อความหมดจดแห่งจิตที่ยังไม่หมดจด เพื่อความ ผ่องแผ้วแห่งจิตที่ยังไม่ผ่องแผ้ว คฤหัสถ์ผู้มีปกติได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันอันมีในจิตยิ่ง ๔
ประการนี้.

ดูก่อนสารีบุตร เธอทั้งหลายพึงรู้จักคฤหัสถ์คนใดคนหนึ่ง ผู้นุ่งห่มผ้าขาว มีการงาน สำรวมดีในสิกขาบท ๕ ประการ และมีปกติได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันอันมีในจิตยิ่ง ๔ ประการนี้ และคฤหัสถ์นั้น เมื่อหวังอยู่ ก็พึงพยากรณ์ตนด้วยตนเองว่า เราเป็นผู้มีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เปรตวิสัย อบาย ทุคติ และวินิบาตสิ้นแล้ว เป็นพระโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา
เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า.

บัณฑิตเห็นภัยในนรกแล้ว พึงเว้น บาปเสีย สมาทานอริยธรรมแล้ว พึงเว้นบาปเสีย ไม่พึงเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายในเมื่อความพยายามมีอยู่ ไม่พึงกล่าวคำเท็จทั้งที่รู้ ไม่พึงแตะต้องของที่เจ้าของไม่ให้ ยินดีด้วยภริยาของตน ไม่พึงยินดีภริยาผู้อื่น และไม่พึงดื่มสุราเมรัยเครื่องยังจิตให้หลงใหล พึงระลึกถึงพระสัมพุทธเจ้าเสมอ และพึงตรึกถึงพระธรรมเสมอ พึงอบรมจิตให้ปราศจากพยาบาท อันเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่เทวโลก ทักษิณาทานที่ผู้ต้องการบุญ แสวงหาบุญให้แล้ว ในสัตบุรุษก่อน ในเมื่อไทยธรรม เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นทักษิณามีผลไพบูลย์.

ดูก่อนสารีบุตร เราจักบอกสัตบุรุษให้ จงฟังคำของเรา ในบรรดาโค ดำ ขาว แดง หมอก พร้อย หม่น หรือแดงอ่อน ชนิดใดชนิดหนึ่ง โคที่ฝึกแล้ว ย่อมเกิดเป็นโคหัวหน้าหมู่ใด หัวหน้าหมู่ ตัวนั้นเป็นโคที่นำธุระไปได้ สมบูรณ์ด้วยกำลัง เดินได้เรียบร้อยและเร็ว คนทั้งหลายย่อมเทียมโคตัวนั้นในการขนภาระ ไม่คำนึงถึงสีของมัน ฉันใด

ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ในชาติอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร จัณฑาล ปุกกฺสะ บรรดามนุษย์เหล่านั้นทุก ๆ ชาติ คนผู้ที่ฝึกแล้ว ย่อมเกิดเป็นผู้มีวัตรดี ตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล กล่าวคำสัตย์ มีใจประกอบด้วยหิริ ละชาติและมรณะได้แล้ว อยู่จบพรหมจรรย์ ปลงภาระลงแล้ว ไม่ประกอบด้วยกิเลส ได้ทำกิจเสร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ
เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง ดับแล้วเพราะไม่ถือมั่น ก็ทักษิณาที่บำเพ็ญในผู้นั้น ผู้ปราศจากความกำหนัด เป็นบุญเขต ย่อมมีผลไพบูลย์.

ส่วนคนพาลผู้ไม่รู้แจ้ง มีปัญญาทราม ไม่ได้สดับ ย่อมให้ทานในภายนอก ไม่คบหาสัตบุรุษ

ส่วนชนเหล่าใด ย่อมคบหาสัตบุรุษผู้มีปัญญาดี ได้รับยกย่อมว่าเป็นนักปราชญ์ ชนเหล่านั้นตั้งศรัทธาไว้ ในพระสุคตเป็นเค้ามูลแล้ว ย่อมไปสู่เทวโลก หรือพึงเกิดในตระกูลสูงในโลกนี้ ชนเหล่านั้นเป็นบัณฑิต ย่อมบรรลุนิพพานโดยลำดับ.

จบคิหิสูตรที่ ๙

วัดป่าสามแยก ศึกษาพระธรรมวินัย เบิกบุญ โอนบุญ อกหัก โดนของ ธรรมะ ธรรมทาน คลายเครียด เจริญรุ่งเรือง //www.samyaek.com


Create Date : 18 กุมภาพันธ์ 2555
Last Update : 19 กรกฎาคม 2555 22:35:23 น. 0 comments
Counter : 471 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Budratsa
Location :
พิจิตร Switzerland

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




สวัสดีค่ะ ยินดีต้อนรับทุกๆคนค่ะ
"ดูก่อนอานนท์ บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า ปาพจน์ (พุทธพจน์) มีพระศาสดาล่วงแล้ว พระศาสดาของพวกเราไม่มี ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมก็ดี วินัยก็ดีอันใดอันเราแสดงแล้ว ได้บัญญัติไว้แล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาแห่งพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา" เล่มที่ ๑๓ : พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ หน้าที่ ๓๒๐
Friends' blogs
[Add Budratsa's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.