Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2560
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
13 ธันวาคม 2560
 
All Blogs
 
อบรมยูโด kodokan koshukai in thailand (jita kyoei project) 1/4



อบรมโคโดกัง+สอบสาย
ระยะเวลาสี่วัน วันที่7-10 ธันวาคม+ สอบสายเลื่อนดั้ง วันจันทร์ที่11ธันวาคม
เซนเซที่มาสองท่านคือ นัมโบเซนเซ กับ ฟูจิตะเซนเซ นัมโบเซนเซมาไทยเรื่องอบรมครั้งนี้เป็นครั้งที่สามแล้ว ส่วนฟูจิตะเซนเซเคยแวะเวียนมาไทยเมื่อสมัยสามสิบปีก่อน เคยสอนมาหลายครั้งแล้วคราวนี้ก็เป็นโอกาสอันดีที่กลับมาเป็นเซนเซในการอบรมครั้งนี้
ก่อนเริ่มอบรม วันที่หกธันวาคม ช่วงเย็นเซนเซมีติดต่อมาว่าลงจากเครื่องบินและกำลังเดินทางไปโรงแรมที่พัก พอดีซ้อมอยู่ที่กกท โรงแรมอยู่ไม่ไกล ซ้อมเสร็จเลยถือโอกาสแวะไปหาเซนเซและถือโอกาสพาไปทานข้าวแถวใกล้ๆโรงแรมซะเลย
เซนเซสองท่านนี้ ตอนไปซ้อมที่โคโดกังก็เรียกได้ว่าสนิทกันพอสมควร ไปทุกครั้งก็ต้องไปทานข้าวกับสังสรรค์กับนัมโบเซนเซตลอด ล่าสุดตอนได้มีโอกาสไปซ้อมที่มหาลัยโคคุชิกัง ก็ได้นัมโบเซนเซคนนี้แหละที่เป็นยากูซ่าขาใหญ่ช่วงฝากฝังและให้นักเรียนรุ่นน้องในโคคุชิกังช่วยดูแลในเรื่องการซ้อม
ฟูจิตะเซนเซ เป็นญี่ปุ่นดูใจดีแต่ตอนซ้อมถือว่าเข้มงวดมาก สมัยอยู่โคโดกังมีหลายๆครั้งที่มีโอกาสไปเรียนรู้และซ้อมยูโดกับฟูจิตะเซนเซ การฝึกซ้อมถูกต้องตามตำราพื้นฐานของยูโดแบบไม่ผิดเพี้ยน คราวนี้จับคู่กันมาก็ต้องคอยดูว่าการเรียนการซ้อมจะออกมาในรูปแบบไหน
การซ้อมตลอดสี่วันนี้ เริ่ม9:00-12:00 พักสองชั่วโมง ช่วงบ่ายเริ่ม14:00-17:00
สองวันแรกเป็นเนื้อหาในส่วนของเทคนิคท่า สองวันหลังเป็นเนื้อหาในส่วนของกาต้า วันเสาร์ที่เก้าเป็นเนื้อหาในส่วนของนาเกะโนะคาตะกับยูโนะคาตะ วันอาทิตย์ที่สิบเป็นเนื้อหาที่ใหม่สำหรับคนไทยคือ คาตาเมะโนะคาตะกับคิเมะโนะคาตะ
เริ่มต้นวันนี้ช่วงเช้า กับอุจิโกมิอุจิคือตอก(ตะปู)โกมิคือต่อเนื่องรวมกันแล้วคือการตอกอะไรซักอย่างแบบต่อเนื่อง สิ่งสำคัญของการตอกต่อเนื่องมีอยู่สี่อย่าง1.ความถูกต้องของท่า2.ความเร็ว3.ความแรง4.ความต่อเนื่อง
รอบแรกสุดซ้อมเข้าท่า50ครั้ง การเข้าท่าอุจิโกมิสำหรับญี่ปุ่นคือการเข้าท่าที่จะทุ่ม เอาท่าที่ต้องการซ้อม ต้องการให้ติดตัว มาเข้าท่า ไม่ใช่การฝึกซ้อมในเรื่องการดึงเพียงอย่างเดียว
สไตล์การสอนของนัมโบเซนเซจะเน้นการลองผิดลองถูก เน้นให้เรียนรู้ คิด ด้วยตนเองมากกว่าการที่เซนเซบอกทุกอย่างชนิดป้อนเข้าปาก 50ครั้งแรกของการเข้าท่าเป็นตัวล่อ เป็นตัวเช็คในเรื่องของท่าที่พื้นฐานผู้ซ้อมมีอยู่ในตัว
50ครั้งแรก เกือบทั้งหมดเข้าท่าเป็นแบบฝึกเรื่องการดึง มีจำนวนน้อยมากที่เข้าเป็นท่าที่อยากซ้อม อย่างเซโอนาเกะ ฮาไรโกชิ 50ครั้งถัดไปจึงเน้นเป็นการเข้าที่เป็นท่าที่อยากทุ่ม โดย50ครั้งที่สองทุกคนใส่ใจในรายละเอียดของการเข้าท่ามากขึ้น โดยหลักๆคือดึงให้หุ่นเสียหลักก่อน(คุสุชิ) มีความแรง ความเร็ว และเข้าไปอย่างต่อเนื่อง
ถัดมาเป็นการเข้าท่าเคลื่อนที่ การเข้าท่าเคลื่อนที่ก็จะต่อเนื่องไปจนถึงการเข้าท่าสองจังหวะ
ต่อจากนั้นเป็นการเข้าท่าสามคน แบบสามคนทุกคนจะไม่ว่างพัก มีหน้าที่แตกต่างกันไป คนเข้าท่าก็เข้าไป คนตรงกลางก็เป็นหุ่นที่ไม่ห่อและไม่ต้าน คนหลังสุดก็เป็นคนประคองถ่วงไว้ คนที่เข้าท่าในใจคิดไว้ถึงต้องทุ่มให้ได้ คนกลางจะไม่ต้านในตอนแรกปล่อยให้เกิดคุสุชิ ส่วนคนท้ายถ่วงให้ไม่โดนทุ่ม ท่าแต่ละท่ามีการเล่นที่แตกต่างกัน บางท่าทุ่มไปหน้า บางท่าทุ่มไปหลัง สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ คนเข้าท่าจะไม่ทิ้งตัวทรุดลงเพราะอันนี้คือฝึกในเรื่องคุสุชิกับออกแรงทุ่ม ไม่ได้ต้องการเอาน้ำหนักตัวทรุดทิ้งลงมาใช้ในการทุ่ม และถ้าล้มตัวทิ้งเข่าหรือทรุดลง การเข้าท่าครั้งถัดๆไปจะเสียเวลากลับขึ้นมายืนทำให้เวลาในการซ้อมหายไปโดยใช่เหตุ
ต่อไปเป็นการฝึกสเตมิน่า เข้าท่าสิบครั้ง เอาเร็ว วิ่งไปสุดเบาะ วิ่งกลับมาเข้าท่าอีกสิบครั้ง ทำห้ารอบ สร้างความอึด
ท้ายสุดก่อนพักเที่ยง เอาเข้าท่าช้าๆ แค่20ครั้ง ทำให้ช้า เพื่อปรับตัวท่าให้กลับมาลงล๊อคที่ถูกต้องของเรา หลังจากที่ใช้แรงและความเร็วในการซ้อมมาระยะนึง ถ้าไม่กลับมาคิดหรือสนใจในตัวท่า อาจจะทำให้ตัวท่าค่อยๆเพี้ยนออกไปได้
พักสองชั่วโมง กินข้าวเสร็จหามุมสงบนอนนิดๆ ต่อกันช่วงบ่าย เป็นส่วนของเทคนิคท่า วันนี้นัมโบเซนเซ ปล่อยของออกมาเยอะมาก แล้วสิ่งที่ปล่อยออกมาเป็นสไตล์โคคุชิกังแทบทั้งหมด เป็นแนวใช้จริงตอนแข่งขัน เทคนิควันนี้มีค่าถ้าเอาไปฝึกซ้อมจนใช้ได้จริง หรือจะเป็นเพียงสิ่งที่ผ่านมาแล้วผ่านไปถ้าไม่ได้ใส่ใจ เพราะเทคนิคพวกนี้แต่ละคนที่ยังไม่คุ้นเคยจะรับเอามาทั้งหมดทุกท่ามันเป็นไปไม่ได้ นัมโบสไตล์คือการเรียนรู้ด้วยตนเอง ท่าของเรา ท่าที่อยากใช้ ท่าที่ต้องการซ้อม ก็โฟกัสลงไปในจุดนั้น รวมถึงมีการคิดวิเคราะห์แยกแยะ เพื่อให้ท่าพวกนั้นมาลงล๊อคกับสรีระของเรา และปรับแต่งให้ท่าเป็นของเราโดยเฉพาะ เนื้อหาวันนี้จึงมีเยอะมาก (จะพยายามรวบรวมความคิดในสิ่งที่ซ้อมไปทั้งหมด)
① ซาซาเอะทรึริโกมิโกชิ- แบบแรก เป็นแบบไอโยตสึ (จับขวากับขวา, หรือจับซ้ายเจอซ้าย) เอาแบบขวากับขวาละกัน (เพราะผมจับขวาเลยต้องคิดให้มันเป็นการจับขวาทั้งหมด) จับขวาขาขวานำ อีกฝั่งก็ขวานำเช่นกัน เอาขาซ้ายของเราไปแซะขาขวาของหุ่น แซะนิดๆแต่วางให้ลึก ท้องกับหลังไม่งอ พยายามให้ชิดกับหุ่นทันทีหลังจากเอาขาซ้ายไปแซะขาขวาของหุ่น พอท้องชิดติดกันก็หมุนไปทางขวามือ ขาปัดทำซาไซ ขาปัดไม่ใช่เรื่องสำคัญว่าจะต้องเอาฝ่าเท้าไปปัดที่แข้งหรือข้อเท้า แต่ถ้าทำถูกจังหวะต้นขาไปขวางก็หมุนทุ่มได้
มาดูกันที่เรื่องมือบ้าง มือขวาจับคอเสื้อ ช่วงที่ท้องชนกับหุ่น เปลี่ยนจากคอเสื้อไปรวบที่แขนซ้ายของหุ่นแทน จุดประสงค์ที่เอาแขนขวาของเราจากคอเสื้อไปรวบแขนซ้ายของหุ่นคือ หนึ่งป้องกันไม่ให้หุ่นเอามือยันขณะทุ่ม (เดี๋ยวจะหักหรือเจ็บได้) สองการรวบลักษณะนี้หุ่นจะตัวแข็งขึ้นมากลายเป็นท่อนไม้ท่อนนึง พอมีแรงชนจากท้องจะทุ่มได้ง่ายขึ้น มือซ้ายของเราที่จับแขนเสื้อพอท้องชิดติดเข้าไปก็ดันตามเข้าไปด้วย อาศัยจังหวะที่ท้องกับสะโพกเราเหวี่ยงหุ่น แขนข้างซ้ายของเราจะช่วยพาแรงควบคุมทิศทางหุ่นขณะทุ่มได้ดีขึ้น
แบบที่สองเก็งกังโยตสึ (ขวาเจอซ้าย) หลอกเริ่มต้นด้วยท่าอุจิมาตะ ถ้าหุ่นใช้สะโพกเบรคก็เปลี่ยนเป็นซาไซ ถ้าหุ่นไม่เบรคก็ทุ่มอุจิมาตะไป ท่านี้ตัวเอกคือซาไซ หุ่นก็คือต้องเบรคอุจิมาตะ หลังจากจับขวาเข้าอุจิมาตะแล้วหุ่นเบรค ให้ขยับขาซ้ายเดินหน้าตรงหนึ่งก้าวแล้วหมุนพลิกตัวมาทางขวามือ ใช้ฝ่าเท้าขวาไปแปะที่ขาซ้ายของหุ่นทุ่มเป็นซาไซ คีย์ของท่าคือจับแบบเก็งกัง+หุ่นเบรคท่าอุจิมาตะ(จะเป็นท่าอื่นที่หมุนตัวทุ่ม ก็เอามาปรับใช้ได้)สรุปแบบที่สองจะไม่ยุ่งกับขาขวาของหุ่น แต่เน้นที่ขาซ้ายของหุ่นเพียงอย่างเดียว (จับขวา หุ่นจับซ้าย - ขาซ้ายของหุ่นคือขาที่อยู่ทางด้านขวาถ้ามองจากมุมจองเราที่เป็นคนเข้าท่า....ไม่งงนะ)
② เซโอนาเกะแบบแรก จับแบบเก็งกัง ท่านี้อาศัยหลักการหมุนตัวเป็นวงกลมวงเล็ก ท่านี้เซนเซเคยสอนที่โคโดกังแล้ว ตอนนั้นรายละเอียดเยอะกว่าของวันนี้ (ในยูทูปก็เคยมีคนเอาลงไว้ สงสัยเซนเซสอนท่านี้บ่อยจนมีรอบนึงที่คนเรียนเอาไปลงในยูทูป) จับขวาก้าวขาซ้ายนำเพื่อหลอกแล้วหมุนกลับมาเข้าท่าเซโอนาเกะตามปกติ เป็นแบบโมโรเทะเสียบ
แบบสอง ท่าทิ้งเข่าสองข้างจับแบบเก็งกังแล้วเข้าท่าทิ้งเข่า สไตล์นี้เห็นในการแข่งขันบ่อย แต่มันมีวงจรทุ่มของมัน คีย์คือไม่ขยับขาแต่ขยับเข่ากับสะโพกบิดทิ้งตัวลงด้านหน้าของหุ่น แขนที่จับแขนเสื้อยังดันออกไปด้านหน้าตลอดจนจังหวะที่ทุ่มค่อยพับเก็บมาที่เอว ท่านี้ไม่ลงลึก ไม่ได้ใช้อยู่แล้ว มันไม่ตรงคอนเซ็ปท์ โดยเฉพาะการทิ้งเข่า (อย่างที่บอกว่าท่าที่เซนเซสอน มันไม่ใช่ว่าจะต้องทำได้ทุกท่า เลือกเอาสิ่งที่สนใจ เลือกเอาท่าที่อยากซ้อม และเลือกเอาท่าที่เหมาะสมกับตัวเรา มาตั้งใจฝึกซ้อม และท่านี้ผมเลือกที่จะตัดออกไป)
แบบสามยังเป็นการจับแบบเก็งกัง (จับแบบเก็งกังปกติจะอยู่หันเป็นมุมฉาก) เราจับขวาหุ่นจับซ้าย ก้าวขาซ้ายออกไปด้านหน้า เอามือซ้ายไปดันแขนขวาของเราเพื่อให้มือซ้ายของหุ่นเลื่อนออกจากตำแหน่งคอเสื้อของเรา ส่วนมือขวาที่จับคอเสื้อของหุ่น ช่วยดึงเพิ่ม พยายามใช้ไทซาบากิจากการขยับขาซ้ายก้าวออกไป+แรงปัดจากมือซ้าย+แรงดึงจากมือขวา สร้างแรงเหวี่ยงให้หุ่นขยับเป็นวงกลม ไม่ถึงกับลอยหมุนไปแต่ให้ขยับนิดนึงในการสร้างจังหวะ เราใส่ท่าเซโอนาเกะแบบจับขวาแต่เข้าซ้ายออกไป หุ่นกับเราจะเคลื่อนที่เป็นวงกลมสองวง โดยตัวเราเป็นวงกลมเล็กอยู่ด้านใน หุ่นเป็นวงกลมใหญ่อยู่ด้านนอก ตามทฤษฏียูโดทั่วๆไปแล้ว วงกลมเล็กที่อยู่ในวงกลมใหญ่จะเป็นตัวควบคุมวงกลมวงใหญ่ที่อยู่ด้านนอก ท่านี้เซโอนาเกะจะจับคอเสื้อฝั่งเดียวกันด้วยสองแขน จะไปเป็นอิปปงหรือไทโอโตชิก็ได้ตามสะดวก
③ โอโซโตการิแบบแรกจับแบบเก็งกัง จับขวาขาขวานำ ขาขวาไม่ขยับแต่วนขาซ้ายด้านหลัง วนแบบแคบๆ ช่วงที่วนเอาท้องเข้าไปติดกับหุ่น มือขวาดันออกไป มือซ้ายดึงมาเก็บที่เอว คีย์สำคัญคือทันทีที่วนขาซ้ายลงไปขาขวาขยับไปแปะที่เข่าขวาของหุ่น (นิ้วเท้าขาซ้ายชี้ไปในทิศทางที่จะทุ่ม ทิศทางที่จะทุ่มคือด้านข้างของหุ่น) กระดึบเข้าไปสองก้าว ทิศทางของท่าคือเป็นเส้นตรงดันออกไป ให้หุ่นเสียหลักไปทางด้านขวา) ขาขวาพอแปะที่เข่าของหุ่นช่วงกระดึบ ต้องมีคุสุชิ ถ้าไม่มีคุสุชิ หุ่นจะขยับหนีได้ (ถ้ามีคุสุชิขาขวาหุ่นจะถูกตรึงขยับไม่ได้) กระดึบสองก้าวได้ระยะค่อยปัดโอโซโตการิ
แบบสองขับแบบเก็งกัง เป็นมุมฉาก ขาขวาเราอยู่เป็นมุมฉากกับขาซ้ายของหุ่น หมุนฝ่าเท้าขาขวาไปทางด้านขวา ช่วงที่หมุนขวาตรงนี้ทำคุสุชิให้ตัวหุ่นเสียหลักมาทางขาซ้ายของหุ่น (ทางด้านขวาถ้ามองจากมุมของเรา) มือซ้ายมาใส่อิปปงทางด้านแขนซ้ายของหุ่น แล้วตัดโอโซโตการิ (คือเป็นโอโซโตที่จับขวาแต่เข้าทางซ้าย)
④ อุจิมาตะ(ตอนแรกอุจิมาตะถูกหยิบยกมาเป็นตัวประกอบตอนซ้อมท่าซาไซ แต่คราวนี้ตัวเอกเป็นอุจิมาตะละ)แบบแรกจับเก็งกัง ขาขวาไม่ขยับ หมุนขาซ้ายวนหลัง เอาวงเล็กๆเน้นความเร็ว พอหมุนวนขาซ้ายลงไป ขาขวาปัดตามขึ้นไป ท่าทุ่มแนวนี้เป็นลักษณะวงกลม (ขยับเหมือนโอโซโตที่เอาขาไปล็อคแล้วกระดึบเข้าไปตัดโอโซโต แนวทุ่มโอโซโตเป็นเส้นตรง แต่แนวทุ่มอุจิมาตะเป็นวงกลม)
แบบสองอันนี้ใช้อยู่ประจำกับท่าฮาเนโกชิ เป็นอุจิมาตะสเต็ปเดียว จับขวาแต่ขยับขาซ้ายเข้าอุจิมาตะ ไม่มีอะไรเพิ่มเติมมากมายของท่านี้ เพียงแต่ขาซ้ายที่วางออกไปก้าวแรก ถ้าไม่ย่อเข่า เอ็นเข่าซ้ายจะพังอย่างรวดเร็ว ยิ่งน้ำหนักเยอะยิ่งพังเร็ว
⑤ เรียกไม่ถูก น่าจะคล้ายทานิโอโตชิ อุระนาเกะ กับอุกิวาซะ อะไรซักอย่างเริ่มกันที่จับแบบเก็งกัง เจอพวกตัวโต ขับสูงลึกไปถึงหลัง ของเราตัวเล็กเปลี่ยนจับไปโอบเอวแทน ออกแรงดันกันทั้งสองฝั่ง (จับแบบเก็งกัง ยังอยู่กันเป็นมุมฉากนิดๆ) ช่วงที่ออกแรงดันกัน ทั้งสองฝ่ายน้ำหนักอยู่ที่ขาด้านนอก ขาด้านในขยับได้อิสระ ค่อยๆขยับขาขวาไปอยู่หลังส้นเท้าซ้ายของหุ่น ปัดขาแซะนิดๆ ให้เสียหลัก (ถ้าไม่เสียหลักท่านี้จะโดนสวนกลับ) พอเสียหลักนิดนึงแล้ว มือซ้ายโอบคอทิ้งให้หุ่นลงด้านหลัง (ท่านี้ดุเดือด ใจนึกอยากเก็บสกิลนี้ไว้ อีกใจก็ยังไม่พร้อมที่จะฝึก)
ในส่วนของเทคนิคที่ซ้อมวันนี้เหมือนกับเซนเซจะรู้ใจ ท่าที่ดูราวกับกระจัดกระจายแต่ถ้าแบ่งเป็นหมวดหมู่แล้ว จะตรงกับสิ่งที่คนส่วนใหญ่ติดขัด นั้นคือจังหวะเข้าท่าในแบบเก็งกังโยตสึ (จับขวาเจอซ้าย หรือจับซ้ายเจอขวา) แต่ละท่าทำแต้มได้ชัดเจน ตามแบบของนัมโบสไตล์ เรารู้ไว้แต่เราไม่จำเป็นจะต้องเชี่ยวชาญทั้งหมด อย่างน้อยสิ่งที่ซ้อมวันนี้ถ้าสามารถฝึกซ้อมจนใช้ได้ชำนาญเพียงแค่ท่าเดียวก็ถือว่าบรรลุเป้าหมายของเซนเซแล้ว ท่าของเราเราเป็นคนเลือก เราเป็นคนใส่ใจในรายละเอียด และเราเป็นคนปรับแต่งให้เหมาะสมกับสรีระและจังหวะของเรา (โลภมากครับ ไม่ได้เลือกเพียงแค่ท่าเดียวแน่นอน)
ซ้อมเสร็จแล้วหมดแรง (ทั้งๆที่แอบโกงตอนซ้อม) ไม่คุยกับใครละ กลับบ้านมาชาร์จแบตร่างกาย เพื่อเตรียมพร้อมกับการเรียนรู้ในวันพรุ่งนี้



Create Date : 13 ธันวาคม 2560
Last Update : 13 ธันวาคม 2560 9:48:34 น. 2 comments
Counter : 898 Pageviews.

 
ชอบมาก ๆ
แต่จะซ้อมยูโดต้องขับรถไปสนามกีฬาตั้งไกล
แถวบ้านไม่มีเลย


โดย: pangloy@hotmail.com IP: 115.87.48.186 วันที่: 5 สิงหาคม 2561 เวลา:6:48:08 น.  

 
สมัยแรกๆที่ผมซ้อม ผมต้องเดินทางข้ามจังหวัง จากชิบะไปโตเกียวซ้อมทุกวัน ถ้าเมืองไทยก็ประมาณ กรุงเทพอยุธยา แต่ถ้ามันได้วิชาแค่นี้ถือว่าไม่ไกลครับ


โดย: ablaze357 วันที่: 9 สิงหาคม 2561 เวลา:10:55:53 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ablaze357
Location :
Chiba Japan

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




「精力善用」「自他共栄」
Maximum efficient use of energy and mutual prosperity for self and others
New Comments
Friends' blogs
[Add ablaze357's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.