ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
 
สิงหาคม 2554
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
29 สิงหาคม 2554
 
All Blogs
 
พระอานนท์เถระ (๔)

พระอานนท์เถระ (๔)
พระอานนท์กับพระเถระชั้นผู้ใหญ่
คุณธรรมอีกอย่างหนึ่งของท่านพระอานนท์ คือ เป็นผู้สุภาพอ่อนโยน มีนิสัยละมุนละไมน่ารัก ทั้งมีความเคารพยำเกรงในพระเถระผู้ใหญ่ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงเป็นที่รักของพระมหาเถระทั้งหลาย มีท่านพระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะและท่านพระมหากัสสปเป็นต้น และท่านได้พบปะสนทนากับพระมหาเถระเหล่านี้บ่อยๆ
ในคัมภีร์อังคุตตรนิกาย ได้กล่าวถึงการสนทนาธรรมระหว่างท่านกับพระสารีบุตร ไว้หลายเรื่อง เช่น เรื่องเกี่ยวกับนิพพาน สมาธิ ภิกษุผู้ฉลาด และภิกษุผู้ไม่ได้สดับ
จากการสนทนาธรรมเหล่านี้ ท่านพระสารีบุตรผู้ซึ่งได้รับเอตทัคคะจากพระพุทธองค์ว่า เป็นยอดแห่งภิกษุณีผู้มีปัญญา ได้ยกย่องท่านพระอานนท์ว่า มีคุณธรรม ๖ อย่าง คือ
(๑) เป็นผู้ได้เรียนได้ฟังธรรมมาก
(๒) เป็นผู้แสดงธรรมตามที่ได้เรียนได้ฟังโดยพิสดาร
(๓) เป็นผู้สายธยายธรรมโดยพิสดาร
(๔) เป็นผู้ตรึกตรองเพ่งพิจารณาธรรม
(๕) เป็นผู้อยู่ใกล้กับพระเถระผู้พหุสูต ผู้ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา
(๖) ท่านได้เข้าหาท่านเหล่านั้น เพื่อเรียนถามข้อที่ควรถามนการอันสมควร
ท่านพระอานนท์มีความเคารพรักในท่านพระสารีบุตรมาก ท่านได้เคยเก็บอดิเรกจีวรซึ่งเกิดแก่ท่านไว้ถวายแก่ท่านพระสารีบุตร อันเป็นต้นเหตุให้ทรงอนุญาตให้เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้ ๑๐ วัน
เมื่อท่านได้ทราบข่าวการปรินิพพานของท่านพระสารีบุตรจากสามเณรจุนทะ อุปัฏฐากของท่านพระสารีบุตร ท่านเสียใจมาก ได้นำความกราบทูลพระผู้มีพระภาค บรรยายความเสียใจถวายว่า กายของท่านประหนึ่งจะงอมระงมไป แม้ทิศทั้งหลายก็ไม่ปรากฏแก่ท่าน ธรรมก็ไม่แจ่มแจ้งแก่ท่าน เพราะการปรินิพพานของท่านพระสารีบุตร พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรมแก่ท่านเพื่อปลดเปลื้องความเศร้าเสียใจในโอกาสนี้โดยพิสดาร
ในเถรคาถา กล่าวถึงถ้อยคำของท่านพระอานนท์ไว้ตอนหนึ่งว่าเมื่อท่านพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ผู้เป็นกัลยาณมิตรนิพพานไปแล้วโลกทั้งหมดนี้ปรากฏแก่ท่านเหมือนมืดมน
ท่านพระอานนท์มีความเคารพรักในท่านพระมหากัสสปเถระมากแม้แต่ชื่อของท่านพระมหากัสสป ท่านก็ไม่ยอมระบุ ดังมีเรื่องเล่าไว้ว่าครั้งหนึ่งท่านพระมหากัสสปจะอุปสมบทกุลบุตร จึงส่งทูตให้ไปนิมนต์ท่านพระอานนท์มาสวดอนุสาวนา ท่านไม่รับโดยให้เหตุผลว่า ท่านไม่อาจระบุชื่อของท่านพระมหากัสสปได้ เพราะท่านพระมหากัสสปเป็นที่เคารพของท่าน เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องนี้เข้า ก็ทรงบัญญัติให้สวดอนุสาวนาระบุชื่อโคตรกันได้ และในการสนทนากับท่านพระมหากัสสปเถระท่านใช้คำว่า ภนฺเต เสมอ
พระอานนท์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับปฐมสังคายนา
เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานแล้ว ท่านพระมหากัสสปเถระได้รับอนุมัติจากสงฆ์ให้เลือกพระภิกษุผู้เชี่ยวชาญในพระธรรมวินัย จำนวน ๕๐๐ รูป เพื่อทำปฐมสังคายนา ท่านพระมหากัสสปเถระเลือกได้ ๔๙๙ รูปอีกรูปหนึ่งท่านไม่ยอมเลือก ความจริงท่านต้องการจะเลือกเอาท่านพระอานนท์ แต่ขณะนั้นท่านพระอานนท์ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ครั้นจะเลือกท่านพระอานนท์ก็เกรงจะถูกคหาว่า "เห็นแก่หน้า" เพราะท่านรักพระอานนท์มาก แต่ครั้นจะเลือกภิกษุอื่น ไม่เลือกท่านพระอานนท์ ก็เกรงว่าการทำสังคายนาครั้งนี้จักไม่สำเร็จผลด้วยดี เพราะท่านพระอานนท์ได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นพหุสูตเป็นธรรมภัณฑาคาริก จึงได้ระบุชื่อพระเถระอื่น ๆ ๔๙๙ รูป แล้วนิ่งเสีย ต่อพระสงฆ์ลงมติว่าท่านพระอานนท์ควรจะเข้าร่วมทำสังคายนาครั้งนี้ด้วย ท่านจึงได้รับเข้าเป็นคณะสงฆ์ผู้จะทำสังคายนา ครบจำนวน ๕๐๐ รูป
เมื่อได้รับคัดเลือกแล้ว ท่านได้เดินทางจากนครกุสินารากลับไปยังนครสาวัตถีอีก ในระหว่างทางท่านได้แสดงพระธรรมเทศนาแก่ประชาชนจำนวนมากที่เศร้าโศกเสียใจ เพราะการปรินิพพานของพระพุทธองค์ เมื่อถึงพระเชตวันมหาวิหาร ท่านก็ได้ปฏิบัติปัดกวาดพระคันธกุฏีเสมือนเมื่อพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ นอกจากปฏิบัติพระคันธกุฏีแล้ว ท่านได้ใช้เวลาส่วนมากให้หมดไปด้วยการยืนและนั่ง ไม่ค่อยจะได้จำวัด ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ท่านไม่สบาย ต้องฉันยาระบายเพื่อให้กายเบา ครั้นให้ปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ชำรุดในพระเชตวันสำเร็จแล้ว พอใกล้วันเข้าพรรษาจึงได้ออกเดินทางไปสู่กรุงราชคฤห์ เพื่อร่วมทำสังคายนา เมื่อถึงแล้ว ท่านได้ทำความเพียรอย่างหนักเพื่อให้สำเร็จอรหัตต์ก่อนการทำสังคายนาแต่ก็ยังไม่สำเร็จ เพื่อน ๆ ได้ตักเตือนท่านว่า ในวันรุ่งขึ้นท่านจะต้องเข้าไปนั่งในสังฆสันนิบาตแล้ว ท่านเองเป็นพระเสขบุคคลอยู่ ขอให้ทำความเพียร อย่าประมาท
ในคืนนั้น ท่านได้เดินจงกรม กำหนดกายคตาสติ จนจวบปัจจุสมัยใกล้รุ่ง จึงลงจากที่จงกรม หมายใจจะหยุดนอนพักผ่อนในวิหารสักครู่ก่อน แต่พอเอนกายลงนอน ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอนและเท้าทั้งสองยังไม่พ้นจากพื้น ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
ครั้นถึงเวลาประชุมทำสังคายนา พระเถระอื่น ๆ ก็พากันไปยังธรรมสภา ณ ถ้ำสัตตบรรณคูหากันอย่างพร้อมเพรียง และต่างรูปต่างก็นั่งอยู่ ณอาสนะแห่งตน ๆ แต่อาสนะของท่านพระอานนท์ยังว่างอยู่ เพราะท่านพระอานนท์คิดใครจะประกาศให้พระเถระทั้งหลายได้ทราบว่า ท่านได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว จึงไม่ได้ไปพร้อมกับพระเถระอื่น ๆ เมื่อกำหนดกาลเวลาพอเหมาะแล้ว ท่านจึงแทรกดินลงไป และผุดขึ้น ณอาสนะแห่งตน แต่บางท่านกล่าวว่า ท่านเหาะไปทางอากาศตกลงบนอาสนะของท่าน
ในอรรถกถาคาถากล่าวไว้อีกนัยหนึ่งว่า พรหมสุทธาวาส องค์หนึ่งได้ไปประกาศในที่ประชุมสงฆ์สังคีติกาจารย์ว่า ท่านพระอานนท์ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว
ได้ยินว่า พระอานนท์เถระไม่เคยเหยียดหลังบนเตียงตลอด ๑๕ ปีจนปรินิพพาน.
เมื่อท่านไปปรากฏตัวในสังฆสันนิบาตนั้นแล้ว ท่านพระมหากัสสปก็ปรึกษากับสงฆ์ทั้งปวงว่าจะสังคายนาอะไรก่อน? และจะให้ใครวิสัชชนาอะไร? ที่ประชุมตกลงให้สังคายนาวินัยก่อนและเสนอให้ท่านพระอุบาลีวิสัชนาพระวินัยปิฏก และให้ท่านพระอานนท์ วิสัชชนาพระธรรม
ท่านพระอานนท์ถูกพระเถระปรับอาบัติ
ในการประชุมสังฆสันนิบาตครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ถูกพระเถระทั้งหลายปรับอาบัติทุกกฏ ๕ กระทง ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่าท่านไม่ผิด แต่ท่านก็ยอมรับ และยอมแสดงอาบัติทุกกฎนั้น ๆ ทุกกระทง คือ
(๑) พระเถระทั้งหลายโจทท่านว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสให้ถอดถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้บ้าง แต่ท่านไม่ทูลถามว่า ได้แก่อะไรบ้าง นี่แหละเป็นอาบัติทุกกฎ ขอให้ท่านแสดงอาบัติเสียท่านตอบว่า "กระผมระลึกไม่ได้" และไม่เห็นว่าการไม่ทูลถามนี้จะเป็นอาบัติทุกกฎ แต่กระผมเชื่อท่านทั้งหลาย จึงยอมแสดงอาบัติ"
(๒) พระเถระทั้งหลายโจทว่า เวลาท่านเย็บผ้าวัสสิกสาฏกยองพระผู้มีพระภาค ท่านเอาเท้าเหยียบผ้าวัสสิกสาฏกนั้น ข้อนี้เป็นอาบัติทุกกฎ ขอให้แสดงอาบัตินั้นเสีย ท่านตอบว่า "กระผมเหยียบโดยความไม่เคารพก็หามิได้ จึงเห็นว่าไม่เป็นอาบัติ แต่เพราะเชื่อท่านทั้งหลาย กระผมยอมแสดงอาบัตินั้น"
(๓) พระเถระทั้งหลายโจทว่า ข้อที่ท่านให้มาตุคามเข้าถวายบังคมพระสรีระของพระผู้มีพระภาคก่อน พระสรีระย่อมเปื้อนด้วยน้ำตาของพวกนางที่ร้องไห้นั้น เป็นอาบัติทุกกฎด้วย ขอให้แสดงเสีย ท่านตอบว่า "กระผมคิดว่า มาตุคามนี้จะได้ไม่ต้องกลับบ้านค่ำเกินไป จึงให้เข้าก่อนและเห็นว่าไม่เป็นอาบัติ แต่เพราะเชื่อท่านทั้งหลาย กระผมจึงยอมแสดงอาบัตินั้น"
(๔) พระเถระทั้งหลายโจทว่า ข้อที่ท่านไม่ทูลนิมนต์ให้พระผู้มีพระภาคทรงอยู่ต่อไปจนตลอดกัป เมื่อพระองค์ทรงทำนิมิตโอภาสนั้น เป็นอาบัติทุกกฎ ขอให้แสดงเสีย ท่านตอบว่า "กระมถูกมารดลใจจึงไม่ได้ทูลอ้อนวอน... และเห็นว่าไม่เป็นอาบัติ แต่เพราะเชื่อท่านทั้งหลายกระผมจึงยอมแสดงอาบัตินั้น"
(๕) พระเถระทั้งหลายโจทว่า ข้อที่ท่านขวนขวายให้มาตุคามบวชในธรรมวินัยนั้นเป็นอาบัติทุกกฎ ขอให้แสดงเสีย ท่านตอบว่า "ที่ท่านขวนขวายให้มาตุคามบวชในธรรมวินัยนี้ ก็เพราะเห็นว่า พระนางปชาบดีโคตมีนี้เป็นพระเจ้าแม่น้าของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ประคับประคองเลี้ยงดูทรงประทานขีรธาราแก่พระผู้มีพระภาค เมื่อพระพุทธมารดาทิวงคต กระผมเห็นว่าไม่เป็นอาบัติ แต่เพราะเชื่อท่านทั้งหลายจึงยอมแสดงอาบัตินั้น"
ลงพรหมณทัณฑ์แก่พระฉันนะ
หลังจากทำปฐมสังคายนาแล้ว ท่านพระอานนท์ได้แจ้งให้พระเถระทั้งหลายทราบว่า พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งกับท่านว่า ให้สงฆ์ลงพรหมณทัณฑ์แก่พระฉันนะ พระเถระทั้งหลายจึงมอบให้ท่านไปลงพรหมทัณฑ์ตามรับสั่งพร้อมกับภิกษุ ๕๐๐ รูป ท่านได้โดยสารเรือไปจนถึงนครโกสัมพี ที่ที่พระฉันนะอาศัยอยู่ เมื่อลงจากเรือแล้ว ได้เข้าพักอาศัยอยู่ใต้โคนไม้ ใกล้พระราชอุทยานของพระเจ้าอุเทน ราชาแห่งนครโกสัมพี ขณะนั้น พระเจ้าอุเทนกับพระมเหสีประทับอยู่ในพระราชอุทยาน พระมเหสีของพระเจ้าอุเทนพอทรงทราบว่า ท่านพระอานนท์มา ก็ทรงโสมนัสทูลลาพระสามีไปเยี่ยมท่าน และเมื่อได้ฟังธรรมจากท่านแล้ว มีจิตเลื่อมใสได้ถวายจีวร ๕๐๐ ผืน ครั้นพระเจ้าอุเทนทราบเรื่องนี้ก็ไม่ทรงพอพระทัยทรงติเตียนว่า ท่านพระอานนท์จะไปตั้งร้านค้าจีวรหรืออย่างไร? แล้วเสด็จไปหาท่าน ตรัสถามว่า จะเอาผ้าเหล่านี้ไปทำอะไร?
ท่านพระอานนท์ทูลถวายว่า
"จะถวายแก่ภิกษุทั้งหลาย ผู้มีจีวรเก่าคร่ำคร่า"
"จะเอาจีวรเก่าคร่ำคร่านี้ไปทำอะไร?"
"จะเอาไปทำเพดาน"
"จะเอาเพดานเก่าไปทำอะไร?"
"จะเอาไปทำผ้าปูฟูก"
"จะเอาผ้าปูฟูกเก่าไปทำอะไร?"
"จะทำเป็นผ้าปูพื้น"
"จะเอาผ้าปูพื้นเก่าไปทำอะไร?"
"เอาไปทำผ้าเช็ดเท้า"
"เอาผ้าเช็ดเท้าเก่าไปทำอะไร?"
"เอาไปทำผ้าเช็ดธุลี"
"จะเอาผ้าเช็ดธุลีเก่าไปทำอะไร?"
"เอาไปโขลกขยำกับโคลน แล้วฉาบทาฝา"
พระเจ้าอุเทนทรงเลื่อมใสว่า พระศากยบุตรทั้งหลายรู้จักประหยัดในการใช้ผ้าดีมาก จึงได้ถวายจีวรอีก ๕๐๐ ผืน แล้วทรงลาท่านพระอานนท์เสด็จกลับ
จากนั้น ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปหาพระฉันนะ ที่โฆสิตาราม พูดกับท่านว่า สงฆ์ลงพรหมทัณฑ์แก่ท่านแล้ว พระฉันนะ พอได้ยินก็เสียใจเป็นลมล้มลงกับพื้น แต่ต่อมาไม่นาน พระฉันนะก็ได้สำเร็จอรหัตต์และพ้นจากพรหมทัณฑ์
ความจริง เมื่อเอกลาภเกิดขึ้น ท่านพระอานนท์ก็มักจะแจกแบ่งถวายแก่พระเถระอื่นๆ เช่น ถวายแก่ท่านพระสารีบุตร เป็นต้น หรือไม่ก็ถวายแก่สัทธิวิหาริกของท่านเอง ผู้ซึ่งได้มีอุปการะต่อท่านดังเช่นมีเรื่องเล่าไว้ว่า ท่านมีสัทธิวิหาริกประมาณ ๕๐๐ รูป ในจำนวนนี้ มีภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งได้อุปัฏฐากท่านด้วยดี เช่น กวาดบริเวณ ถวายปานียะ โภชนียะ ถวายไม้สีฟัน และน้ำล้างหน้า ปัดกวาดเวจกุฏี เรือนไฟ และเสนาสนะทั้งหลาย นวดมือเท้าและหลัง เป็นต้น ท่านเห็นว่า ภิกษุรูปนี้มีอุปการะต่อท่านมาก ท่านจึงถวายจีวร ๕๐๐ ผืน ซึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงถวายท่าน ให้แก่ภิกษุหนุ่มรูปนี้ แล้วภิกษุหนุ่มรูปนี้ก็นำจีวรเหล่านี้ไปแจกแบ่งแก่ภิกษุทั้งหลายผู้บวชร่วมอุปัชฌาย์เดียวกัน ภิกษุทั้งหลายจึงกล่าวหาว่า ท่านให้ของด้วยเห็นแก่หน้า จึงนำความขึ้นกราบทูลพระผู้มีพระภาค พระองค์ตรัสเล่าเรื่องที่เป็นจริงให้แก่ภิกษุเหล่านั้นฟัง พวกเขาจึงหมดสงสัย
ในบั้นปลายแห่งชีวิต ท่านพระอานนท์ดูเหมือนจะใช้เวลาส่วนมากให้หมดไปด้วยการอบรมสั่งสอนประชาชน และฝึกฝนชายหนุ่มทั้งหลายในจำนวนนี้ก็มี ทสมะ แห่งอัฏฐกนคร โคปกโมคคัลลนานะ และสุภโตเทยยบุตร เป็นต้น
พระอานนท์ปรินิพพาน
เมื่อท่านพระอานนท์มีอายุได้ ๑๒๐ พรรษา ก็ทราบว่า ท่านหมดอายุขัยลงแค่นี้แล้ว จึงแจ้งแก่คนทั้งหลายว่า นับจากวันนั้นไปอีก ๗ วันท่านจะปรินิพพาน เมื่อประชาชนทั้งหลายที่อยู่ทางฝั่งแม่น้ำโรหิณีทั้งสองฝั่งได้ทราบเข้า จึงพากันไปยังฝั่งแม่น้ำโรหิณี ต่างฝ่ายต่างก็แสดงความจำนงให้ท่านพระอานนท์ไปปรินิพพานที่ฝั่งของพวกตนแต่ฝ่ายเดียวโดยอ้างเหตุว่า พระเถระมีอุปการะมากแก่พวกตน แต่อีกฝ่ายไม่ยอมโดยอ้างเหตุผลเช่นเดียวกัน ท่านเห็นว่าจะเกิดโกลาหลกันขึ้นแน่ หากจะไปปรินิพพานฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จึงได้เข้าเตโชกสิณเหาะขึ้นบนอากาศเหนือแม่น้ำโรหิณี แสดงธรรมแก่ประชาชนทั้งสองฝั่งน้ำ แล้วอธิษฐานให้สารีริกธาตุของท่านแตกออกเป็น ๒ ส่วน ตกลงบนฝั่งแม่น้ำฝั่งละหนึ่งส่วน พอขาดคำอธิษฐานเปลวไฟได้ลุกขึ้น สรีระของท่านก็แตกออกเป็น ๒ ส่วนตกลงบนฝั่งทั้งสอง มหาชนได้พากันเศร้าโศกปริเทวนาการดุจแผ่นดินจะถล่มทลาย คล้ายเมื่อกาลที่พระผู้มีพระภาคปรินิพพาน ฉะนั้น
แต่หลักฐานบางแห่งเล่าความตอนนี้ต่างออกไปว่า เมื่อท่านทราบวันที่จะปรินิพพานแน่แล้ว จึงได้ออกเดินทางจากแคว้นมคธผ่านไปทางนครเวสาลีเพื่อไปนิพพานที่ฝั่งแม่น้ำโรหิณี พอพระเจ้าอชาตศัตรูทรงทราบข่าวนี้ก็เสด็จติดตามท่านไปจนถึงฝั่งแม่น้ำโรหิณีพร้อมด้วยราชบริพารจำนวนมาก ข้างฝ่ายพวกเจ้าลิจฉวีแห่งแคว้นวัชชีเมื่อทรงทราบข่าวนี้ ก็เสด็จติดตามไปจนถึงฝั่งแม่น้ำโรหิณีพร้อมด้วยราชบริพารจำนวนมากเช่นเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายได้ทรงพักอยู่คนละฝั่งแม่น้ำ ต่างมุ่งมาดปรารถนาจะได้พระสารีริกธาตุของพระเถระไปบูชาสักการะเฉพาะพวกของตนท่านพระอานนท์มองเห็นว่าเหตุการณ์วุ่นวายโกลาหลจะเกิดขึ้น จึงได้เข้าเตโชกสิณลอยขึ้นบนอากาศเหนือแม่น้ำโรหิณี แล้วเปลวไฟก็ลุกขึ้นสารีริกธาตุได้แตกออกเป็นสองส่วนตกลงสู่ฝั่งแม่น้ำทั้งสองฝั่ง ๆ ละ๑ ส่วน กษัตริย์และประชาชนทั้งสองฝั่งจึงได้สร้างพระเจดีย์ขึ้นไว้เพื่อสักการบูชา ณ ฝั่งของตน ๆ
อดีตชาติของพระอานนท์
ในคัมภีร์อปทานบอกไว้ว่า ท่านเคยเกิดเป็นท้าวสักกเทวราชมาแล้ว๓๔ ชาติ เคยเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิมาแล้ว ๕๘ ชาติ เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ๘๐๐ ชาติ
ในชาดกได้กล่าวถึงชาติกำเนิดในอดีตชาติของท่านไว้มากมายทั้งที่เป็นมนุษย์ เทวดาและสัตว์เดรัจฉาน คือ
ก. เคยเกิดเป็นเทวดาและมนุษย์ เช่น (๑) เป็นสุริยกุมาร (ในเทวธัมมชาดก) (๒) เป็นจุฬโลหิตะ (ในมุฌิกชาดก) (๓) เป็นปัชชุนะ(ในมัจฉชาดก) (๔) เป็นกาฬกัณณิ (ในกาฬกัณณิชาดก) (๕) เป็นราธะ (ในราธชาดก) (๖) เป็นโปฏฐปาทะ (ในราธชาดก ๒) (๗) เป็นคามณิจัณฑะ (ในคามณิจัณฑชาดก) (๘) เป็นจุลลโลหิตะ (ในสาลูกชาดก) (๙) เป็นทุพภิเสนะ (ทัพพเสนะ) (ในเอกราชชาดก) (๑๐) เป็นโปฏฐปาทะ (ในกลาพุชาดก) (๑๑) เป็นพาราณสีเศรษฐี(ในปีฐชาดก) (๑๒) เป็นวิเทหดาบส (ในคันธารชาดก) (๑๓) เป็นสุมังคละ (ในสุมังคชาดก) (๑๔) เป็นอนุสิสสะ (ในอินทรียชาดก) (๑๕) เป็นมัณทัพยะ (ในกัณหทีปายนชาดก) (๑๖) เป็นโปติกะ (ในนิดครธชาดก) (๑๗) เป็นปัญจสิขะ (ในพิฬารโกสิยชาดก) (๑๘)เป็นโรหิเนยยะ (ในฆตชาดก) (๑๙) เป็นยุธิฏฐิละ (ในยุวัญชนชาดก) (๒๐) เป็นภรตกุมาร (ในทสรถชาดก) (๒๑) เป็นมาตลิ (ในมหากัณหาชดก, สุธาโภชนชาดก, เนมีราชชาดก, กุลาวกชาดก, สาธินราชชาดกา) (๒๒) เป็นกาลิงคะ (ในกาลิคโพธิชาดก, สาธินราชชกดก) (๒๓) เป็นวิสสุกัมมะ (ในสุรุจิชาดก) (๒๔) เป็นสัมภูตดาบส (ในจิตตสัมภูตชาดก) (๒๕) เป็นจิตตมิคะ (ในโรหนมิคชาดก) (๒๖) เป็นสุมุขะ (ในหังสชาดก) (๒๗) เป็นอนุสิสสดาบส (ในสรภังคชาดก) (๒๘) เป็นโสมทัตตกุมาร (ในจุลลสุตโสมชาดก) (๒๙) เป็นสุนันทสารภี (ในอุมมทัสตีชาดก) (๓๐) เป็นชยัมบดีราชกุมาร (ในกุสชาดก) (๓๑) เป็นนันทะ (ในโสณนันทชาดก) (๓๒) เป็นสุมุขะ (ในจุลหังสชาดก มหาหังสชาดก) (๓๓) เป็นนันทพราหมณ์ (ในมหาสุตโสมชาดก) (๓๔) เป็นโสมทัตตะ (ในภูมิทัตตชาดก) (๓๕) เป็นช่างตัดผม (ในมฆเทวชาดก) (๓๗) เป็นศิษย์ของอาจารย์ทิศาปาโมกข์ (ในอสาตมันตชาดก) (๓๗) เป็นหัวหน้าโจร(ในตัตถชาดก) (๓๘) เป็นพราหมณ์ (ในสารัมภชาดก, นานาฉันทชาดก,ปลาสชาดก, ชุณหชาดก สาลิเกทารชาดก, เสนกชาดก, นันทิวิสาลชาดก,ปีฐชาดก, คามมณีจันทชาดก) (๓๙) เป็นรุจาเทวดา (ในกุสนาฬิชาดก) (๔๐) เป็นนายหัตถาจารย์ (ในสุเมธชาดก) (๔๑) เป็นน้องชายของพระโพธิสัตว์ (ในมณิคัณฐชาดก) (๔๒) เป็นคนชาวปัจจันตชนบท (ในมหาอัสสาโรหชาดก) (๔๓) เป็นอุปัฏฐาก (ในสังขชาดก) (๔๔) เป็นชายคนหนึ่งในจำนวนพี่น้อง ๗ คน (ในภสกชาดก) (๔๕) เป็นนายแพทย์สีวกะ(ในสีวิราชชาดก) (๔๖) เป็นช่างศร (ในมหาชาดก) (๔๗) เป็นปุโรหิต(ในปรันตปชาดก)
ข. เคยเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานหลายชาติ เช่น (๑) เป็นนกแขกเต้า(ในสังจังกีรชาดก, มโหสถชาดก, ราธชาดก) (๒) เป็นสุนัขจิ้งจอก(ในคุณชาดก) (๓) เป็นหงษ์บิดา (ในวีนีลกชาดก) (๔) เป็นเต่า (ในกัจฉปชาดก) (๕) เป็นพญาเหี้ย (ในจุลลปทุมชาดก) (๖) เป็นนาก(ในสสบัณฑิตชาดก) (๗) เป็นหงษ์หนุ่ม (ในเนรุชาดก) (๘) เป็นปู(ในสุวรรณกักกฏกชาดก) (๙) เป็นพญานาค (ในมหาปทุมชาดก) (๑๐) เป็นสุนัขสีเหลือง (ในมหาโพธิชาดก) (๑๑) เป็นพญาแร้ง (ในกุณาลชาดก) (๑๒) เป็นวานรจุลลนันทิยะ (ในจุลลนันทิยชาดก) (๑๓) เป็นโปฏฐปาทวานร (ในกาฬพาหุชาดก) (๑๔) เป็นช้างโอฏฐิพยาธิ (ในทัฬหธรรมชาดก)
ค. เคยเกิดเป็นพระราชาหลายชาติ ซึ่งมีปรากฏอยู่ในชาดกต่างๆ เหล่านี้ คือ (๑) ในนิโครธมิคชาดก (๒) ในกุกกุรชาดก (๓) ในโภชาชานียชาดก (๔) ในอาชัญญชาดก (๕) ในติฏฐชาดก (๖) ในมหิฬามุขชาดก (๗) ในอภิณหชาดก (๘) ในมหาสุปินชาดก (๙) ในกุททาลชาดก (๑๐) ในอีลลีสชาดก (๑๑) ในมหาสารชาดก (๑๒) ในสาลิตตกชาดก (๑๓) ในพันธนโมกขชาดก (๑๔) ในภัคคชาดก (คัคค) (๑๕)ในชุหนุชาดก (๑๖) ในโมรชาดก (๑๗) ในสุสิมชาดก (๑๘) ในธังกชาดก (๑๙) ในเอกปัณณชาดก (๒๐) ในกัลยาณธัมมชาดก (๒๑) ในติริติวัจฉชาดก (๒๒) ในสังคามาวจรชาดก (๒๓) ในวาโลกทกชาดก (๒๔) ในคิริทันตชาดก (๒๕) ในปัพพตูปัตถรชาดก (๒๖) ในปุณณนทีชาดก (๒๗) ในกัจฉปชาดก (๒๘) ในโกสิยชาดก (๒๙) ในคุตติลชาดก (๓๐) ในสังกัปปราคชาดก (๓๑) ในกุณฑกกุจฉิสินธชาดก (๓๒) ในสิริชาดก (๓๓) ในเอกราชชาดก (๓๔) ในสุปัตตชาดก (๓๕) ในฉวกชาดก (๓๖) ในสัยหชาดก (๓๗) ในพรหมทัตตชาดก (๓๘) ในราโชวาทชาดก (๓๙) ในเกสวชาดก (๔๐) ในสุสันธีชาดก (๔๑) ในตุณฑิลชาดก (๔๒) ในนันทิยมิคชาดก (๔๓) ในอหริตจชาดก (๔๔) ในอัฏฐสัททชาดก (๔๕) ในอัฏฐานชาดก (๔๖) ในจุลลโพธิชาดก (๔๗) ในมาตุโปสกชาดก (มาติโปสกชาดก) (๔๘) ในภัททสาลชาดก (๔๙) ในมิตตามิตตชาดก (๕๐) ในอัมพชาดก (๕๑) ในชวนหังสชาดก (๕๒) ในทูตชาดก (๕๓) ในรุรุชาดก (๕๔) ในสรภชาดก (๕๕) ในอุททาลกชาดก (๕๖) ในอุททาลกชาดก (๕๖) ในทสพราหมณชาดก (๕๗) ในภิกขาปรัมปรชาดก (๕๘) ในสัตติคุมพชาดก (๕๙) ในกุมภชาดก (๖๐) ในเตสกุณชาดก (๖๑) ในสามชาดก (๖๒) ในเสยยชาดก (๖๓) ในอัพภันตรชาดก (๖๔) เคยเกิดเป็นพระเจ้ากรุงพาราณสี มีปรากฏในชาดกต่าง ๆ เช่น ในกากชาดก ในตจสารชาดก ในสังเขปชาดก ในอาวาริยชาดก ในกุกกุชาดก ในสุตนชาดก ในอัฏฐิเสนชาดก ในมหากปิชาดก (๖๕) เป็นพระเจ้ามัลลิกะ (๖๘) เป็นพระเจ้าวังกะ ในฆตชาดก (๖๙) เป็นพระเจ้าโกรัพยะ ในธูมการีชาดก (๗๐) เป็นพระเจ้าอัฑฒมาสกะในคังคมาลชาดก (๗๑) เป็นพระเจ้าชนัญชนะ ในสัมมภวชาดกและวิธูรปัณฑิตชาดก
ง. เคยเป็นหญิงก็มี เช่น ในมหานารทกัสสปชาดก
ในธรรมปทัฏฐกถา เล่าไว้ว่า ท่านพระอานนท์เคยเกิดเป็นหญิงบาทบริจาริกาของชายอื่นอยู่ถึง ๑๔ ชาติ ทั้งนี้ เพราะชาติก่อนหน้านั้น ท่านได้เกิดในตระกูลช่างทอง แล้วทำชู้กับภริยาของชายอื่น ครั้นตายจากนั้นไปเกิดในนรก จากนั้นจึงไปเกิดเป็นหญิง ถึง ๑๔ ชาติ และในชาติที่ ๑๗ ท่านถูกเขาตอน


Create Date : 29 สิงหาคม 2554
Last Update : 29 สิงหาคม 2554 13:47:03 น. 1 comments
Counter : 682 Pageviews.

 
ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always be love. _/|\_



โดย: ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก วันที่: 15 ธันวาคม 2563 เวลา:11:39:31 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.