ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
 
สิงหาคม 2554
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
27 สิงหาคม 2554
 
All Blogs
 
อสีติมหาสาวก ๒

อสีติมหาสาวก : ตอนที่ ๒

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 29 ธันวาคม 2547

ส่วนปรมัตถทีปนี ซึ่งมีรายนามของพระอสีติมหาสาวกอยู่ครบ ถ้วนนั้น แต่งที่สำนักพทรติตถวิหาร แคว้นทมิฬ ในอินเดียตอนใต้ โดยพระธรรม ปาละ พระอรรถกถาจารย์รูปนี้มีชีวิตอยู่ระหว่างปี พ.ศ.๙๕๐-๑๐๐๐ อันเป็นรุ่น หลังพระพุทธโฆษาจารย์ แต่ท่านก็ได้สร้าง งานรจนาคัมภีร์อรรถกถาฎีกาสืบต่อจากพระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าท่าน จะต้องได้รับแนวความคิดเรื่องพระอสีติมหาสาวกนี้มาจากพระพุทธโฆษาจารย์บ้าง
ส่วนเหตุผลที่กำหนดพระมหาสาวกให้มีจำนวน ๘๐ รูปนั้น ไม่ปรากฏว่ามีกล่าวไว้ในที่ใด แต่เป็นไปได้ที่จำนวน ๘๐ เป็นจำนวนแสดงความมั่งคั่งของคนในสังคมอินเดียโบราณ เพราะบุคคลผู้จะเป็นนครเศรษฐีหรือมหาเศรษฐีได้นั้นต้องมีทรัพย์ตั้งแต่ ๔๐ ถึง ๘๐ โกฏิ
ดังนั้นจึงทำให้สันนิษฐานได้ว่า จำนวน ๘๐ นอกจากจะเป็นจำนวนแสดงความมั่งคั่งของคนในสังคมอินเดียโบราณแล้ว ยัง น่าจะเป็นจำนวนแสดงความยิ่งใหญ่ ความสวยงามและความสำคัญได้อีก และจำนวน ๘๐ นี้ เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าอยู่หลายสถานะด้วยกันคือ
๑. พระพุทธเจ้าทรงมีพระชนมายุ ๘๐ พรรษา
๒. พระพุทธเจ้าทรงมีพระฉัพพรรณรังษีแผ่ซ่านออกจากพระวรกายวนเวียนรอบเนื้อที่ประมาณ ๘๐ ศอก
๓. พระวรกายของพระพุทธเจ้าสง่างาม ด้วยพระอนุพยัญชนะ ๘๐
จากหลักฐานที่กล่าวมา ผู้เขียนจึงสรุป ได้ว่า การกำหนดพระมหาสาวกให้มีจำนวน ๘๐ นั้น น่าจะมีเหตุผลแสดงถึงความยิ่งใหญ่ ความสวยงาม และความสำคัญของพระพุทธเจ้าเกี่ยวข้องอยู่บ้าง
พระอสีติมหาสาวกผู้ได้รับยกย่องไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ

แม้ว่าพระมหาสาวกจะมีอยู่ถึง ๘๐ รูป ดังกล่าวมาแล้ว แต่ก็มีเพียง ๔๑ รูปเท่านั้นที่ได้รับการยกย่องไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะจากพระพุทธเจ้า เพราะตำแหน่ง เอตทัคคะคือ ตำแหน่งที่พระพุทธเจ้าทรงประทานให้แก่พระสาวกผู้มีความสามารถ เป็นเลิศเฉพาะด้านต่างๆ เพื่อเป็นการยกย่อง และพระอสีติมหาสาวก ๔๑ รูปนั้นได้รับยกย่องไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะก็ด้วยเหตุผล ๔ ประการ คือ
๑. ได้รับยกย่องตามเรื่องที่เกิด (อตฺถุป ฺปตฺติโต) หมายความว่า พระอสีติมหาสาวกรูปนั้นๆ ได้แสดงความสามารถออก มาให้ปรากฏโดยสอดคล้องกับเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้น
๒. ได้รับยกย่องตามที่สะสมบุญมาแต่อดีต (อาคมนโต) หมายความว่า พระอสีติมหาสาวกรูปนั้นๆ ได้สร้างบุญสะสมมาแต่ อดีตชาติ พร้อมทั้งตั้งจิตปรารถนาเพื่อบรรลุตำแหน่งเอตทัคคะนั้นด้วย
๓. ได้รับยกย่องตามความเชี่ยวชาญ (จิณฺณวสิโต) หมายความว่า พระอสีติมหาสาวกรูปนั้นๆ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง เป็นพิเศษ สมตามที่ตั้งจิตปรารถนามา
๔. ได้รับยกย่องตามที่มีความสามารถเหนือผู้อื่น (คุณาติเรกโต) หมายความว่า พระอสีติมหาสาวกรูปนั้นๆ มีความสามารถ ในเรื่องที่ทำให้ได้รับตำแหน่งเอตทัคคะเหนือกว่าพระสาวกรูปอื่นๆ ที่มีความสามารถอย่างเดียวกัน
คุณลักษณะสำคัญของพระอสีติมหาสาวก

ได้ทราบมาแล้วว่า พระอสีติมหาสาวก มีทั้งที่ได้รับยกย่องไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะและที่มิได้รับยกย่องไว้ในตำแหน่ง เอตทัคคะซึ่งเป็นไปตามความปรารถนา แต่ถึงอย่างไรพระอสีติมหาสาวก ๒ กลุ่มนี้ก็มีความสำคัญที่ควรกล่าวถึงไว้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา และความสำคัญของพระอสีติมหาสาวกนั้นแยกกล่าวได้เป็น ๒ ประการ คือ
๑. คุณลักษณะสำคัญส่วนตน ได้แก่ คุณลักษณะสำคัญที่เกิดจากความเป็นผู้ได้บำเพ็ญบารมีมามาก การได้บรรลุอภิญญา และความเป็นผู้มีเถรธรรม
ก. ความเป็นผู้ได้บำเพ็ญบารมีมามาก หมายถึง การได้บำเพ็ญบารมีมาเพื่อเป็นพระมหาสาวกไว้หลายต่อหลายชาติ ปรมัตถทีปนี กล่าวว่า “พระสาวกของพระพุทธเจ้าใช่ว่าจะเป็นพระมหาสาวกได้ทุกรูป ท่านที่บำเพ็ญบารมีมาเพื่อการนี้เท่านั้นจึงจะเป็นได้ และต้องบำเพ็ญบารมีสิ้น ระยะเวลา ๑๐๐,๐๐๐ กัป”
อนึ่ง นอกจากบำเพ็ญบารมีสิ้นระยะเวลา ๑๐๐,๐๐๐ กัปแล้ว พระอสีติมหาสาวกยังต้องบำเพ็ญ ‘คตปัจจาคตวัตร’ อยู่ตลอดเวลาประกอบอีกด้วย ปรมัตถทีปนี กล่าวว่า “วัตรนี้ผู้ที่ปรารถนาเป็นพระมหาสาวกต้องบำเพ็ญ มิเช่นนั้นแล้วก็ไม่ สามารถบรรลุถึงความเป็นพระมหาสาวก ได้เลย”
ข. การได้บรรลุอภิญญา หมายถึง การ ได้บรรลุความรู้ชั้นสูง ความรู้ชั้นสูงเรียก ว่า อภิญญา มี 6 คือ
๑. อิทธิวิธี ความรู้ที่ทำให้สามารถแสดง ฤทธิ์ได้
๒. ทิพพโสต ความรู้ที่ทำให้เกิดหูทิพย์
๓. เจโตปริยญาณ ความรู้ทำให้รู้ใจผู้อื่นได้
๔. ปุพเพนิวาสานุสติ ความรู้ทำให้ระลึกชาติได้
๕. ทิพพจักขุ ความรู้ทำให้เกิดตาทิพย์
๖. อาสวักขยญาณ ความรู้ทำอาสวะให้สิ้นไป
ค. ความเป็นผู้มีเถรธรรม หมายถึงความเป็นผู้มีธรรมที่ทำให้เป็นผู้มั่นคง ประกอบด้วย
๑. รัตตัญญู เป็นผู้รู้ราตรี หมายถึง บวชมานานและรู้เห็นกิจการทรงจำเรื่องราวต่างๆ ไว้ได้มาก
๒. สีลวา เป็นผู้มีศีล หมายถึง เคร่งครัดในสิกขาบททั้งหลายและสำรวมกายวาจาใจ
๓. พหุสสุตะ เป็นพหูสูต หมายถึง ทรงความรู้ไว้มาก
๔. สวาคตปาฏิโมกขะ เป็นผู้ทรงจำปาฏิโมกข์ได้ดี หมายถึง ทรงจำพระวินัยได้คล่องแคล่ว ชำนิชำนาญ สามารถวินิจฉัยได้ดี
๕. อธิกรณสมุปปาทวูปสมกุสละ เป็นผู้ฉลาดในการระงับอธิกรณ์ที่เกิดขึ้น หมายถึง เมื่อเกิดเรื่องราวไม่สงบขึ้นในสงฆ์ สามารถหาทางระงับปัญหานั้นได้
๖. ธัมมกามะ เป็นผู้ใคร่ในธรรม หมายถึง รักความรู้ รักความจริง ยินดีในการพิจารณาธรรม
๗. สันตุฏฐะ เป็นผู้ยินดีในของที่ตนมี หมายถึง ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้
๘. ปาสาทิกะ เป็นผู้น่าเลื่อมใส หมายถึง เป็นผู้มีอิริยาบถ รวมทั้งกิริยาอาการเรียบร้อย ทำให้ผู้พบเห็นเกิดความเลื่อมใส
๙. ฌานลาภี เป็นผู้ได้ฌาน หมายถึง เป็นผู้บรรลุฌานและมีความคล่องแคล่วในฌาน ๔ อันเป็นเครื่องทำให้อยู่เป็นสุขในชีวิตประจำวัน
๑๐. อนาสวเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ เป็นผู้บรรลุเจโตวิมุติและปัญญาวิมุติ สิ้นอาสวะ หมายถึง ละราคะและอวิชชาได้จนทำให้กิเลสสิ้นไป
พระอสีติมหาสาวกแม้จะมีเถรธรรมไม่ครบหรือมีแตกต่างกัน แต่ที่ต้องมีเหมือนกันคือข้อ ๑๐ ซึ่งก็หมายความว่า พระอสีติมหาสาวกทุกรูปต้องเป็นพระอรหันต์ แม้ว่าบางรูปขณะที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ยังไม่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แต่ก็สำเร็จได้ภายหลังพุทธปรินิพพาน
๒. คุณลักษณะสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม คุณลักษณะข้อนี้เป็นผลมาจากความสามารถเฉพาะตัวของพระอสีติมหาสาวก และเกิดจากผลงานที่ส่งผลต่อ ความเจริญมั่นคงของพระพุทธศาสนา
ก. ความสามารถเฉพาะตัว พระอสีติมหาสาวกแต่ละรูปมีความสามารถเฉพาะตัวแตกต่างกันออกไป จนดูเหมือน ว่าจะเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าในด้านต่างๆ ได้ อาทิ
พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าด้านรัตตัญญู
พระสารีบุตร เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า ด้านมีปัญญามาก
พระมหาโมคคัลลานะ เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าด้านมีฤทธิ์มาก
ความสามารถดังกล่าวนี้แม้จะเป็นความสามารถเฉพาะตัว แต่ก็เป็นไปเพื่อส่วนรวม เพราะพระอสีติมหาสาวกได้ใช้ความสามารถนี้ช่วยรับภารกิจของพระพุทธเจ้าในการประกาศพระพุทธศาสนา
เพราะเหตุที่มีความสามารถเฉพาะตัวนี้เอง พระอสีติมหาสาวกจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ตามเสด็จที่ดีเลิศ ตามปกติพระพุทธเจ้าเมื่อเสด็จไปในที่ใด ย่อมมีพระสาวกแวดล้อมตามเสด็จไปด้วยเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนั้นมีพระอสีติมหาสาวกรวมอยู่ด้วย ดังปรากฏในอรรถกถาธรรมบทว่า
“วันหนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์พร้อมด้วยพระอสีติมหาเถระ โดยมีภิกษุ ๕๐๐ รูปเป็นบริวาร”
และว่า
“คราวหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับจำ พรรษาอยู่ในปราสาทของมิคารมารดา ครั้นถึงวันมหาปวารณาเสด็จมาประทับอยู่ ที่ชั้นล่างของปราสาท โดยมีพระมหาสาวก นั่งแวดล้อม”


Create Date : 27 สิงหาคม 2554
Last Update : 27 สิงหาคม 2554 11:34:41 น. 1 comments
Counter : 433 Pageviews.

 
ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always be love. _/|\_



โดย: ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก วันที่: 15 ธันวาคม 2563 เวลา:11:29:31 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.