ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
 
สิงหาคม 2554
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
29 สิงหาคม 2554
 
All Blogs
 
พระมหานามเถระ

ประวัติพระมหานามเถระ


ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถระ-เถรีคาถา มีคาถาชื่อ “มหานามเถรคาถา” ซึ่งได้อธิบายรายละเอียดในอรรถกถา (เล่มที่ ๕๐) ไว้โดยกล่าวถึงประวัติในอดีตของพระเถระที่ชือ “มหานาม” รวมทั้งประวัติในพุทธกาลนี้ด้วย แต่ประวัติของท่านที่กล่าวถึงในอรรถกถานั้นไม่ตรงกับประวัติของ พระมหานามเถระ ที่เป็นหนึ่งในปัญจวัคคีย์ ที่กล่าวไว้ในเรื่องของพระปัญจวัคคีย์ในที่ต่าง ๆ ทั้งในพระไตรปิฎกและทั้งในอรถกถา
โดยในอรรถกถาเล่มที่ ๕๐ ได้กล่าวถึงประวัติของพระเถระที่ชื่อ “มหานามะ” ไว้ว่า

ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านเกิดมาโดยมีชื่อว่า มหานามะ เมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้ว ได้เข้าไปยังสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า ฟังธรรมแล้วได้มีจิตศรัทธา บวชแล้ว เรียนกรรมฐาน และได้ออกไปปฏิบัติธรรมอยู่ที่ ภูเขาชื่อว่า เนสาทกะ โดยที่ท่านนั้นไม่สามารถจะข่มความกลุ้มรุมของกิเลสได้ เพียรปฏิบัติเท่าใดก็ไม่บังเกิดมรรคผล ก็บังเกิดความท้อถอย คิดว่า ชีวิตของเราผู้มีอันเศร้าหมองแล้วนี้ จะมีประโยชน์อะไร แล้วเบื่อหน่ายชีวิต จึงปีนขึ้นสู่ยอดเขาสูง แล้วพูดกับตัวเองว่า
“ดูก่อนมหานาม ถ้าท่านสละกรรมฐาน เพราะความเป็นผู้มากไปด้วยวิตกละก็ ท่านจะต้องไปจากจากภูเขาเนสาทกะ อันเป็นสถานที่อยู่อันสมบูรณ์ร่มรื่นและเป็นที่สบายนี้ ถ้าอย่างนั้นเราจะผลักท่าน ให้ตกจากภูเขานี้ให้ตายไปเสีย ถ้าไม่อยากเป็นอย่างนั้นละก็ ท่านต้องไม่ตกอยู่ในอำนาจของวิตก ดังนี้.”
พระเถระข่มขู่คุกคามตนอยู่อย่างนี้นั่นแหละ จึงมีสติ ขวนขวายปฏิบัติวิปัสสนา จนในที่สุดก็บรรลุพระอรหัต
ส่วนพระมหานามเถระที่จะกล่าวในถึงท่านในเรื่องนี้ เป็นหนึ่งในปัญจวัคคีย์ เป็นภิกษุรูปที่สี่ในหมู่ปัญจวัคคีย์ คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ที่ได้ดวงตาเห็นธรรม
ท่านเป็นภิกษุรูปที่ ๔ แห่งพุทธกาลนี้ ประวัติของท่านจะเริ่มกล่าวความตั้งแต่เจ้าชายสิทธัตถะทรงประสูติได้ ๕ วัน
โกณฑัญญพราหมณ์เข้าทำนายพุทธลักษณะ

ครั้นเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้ ๕ วัน พระประยูรญาติก็ได้จัดพระราชพิธีเฉลิมพระนาม โดยได้เชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คน มาประกอบพิธี โดยถวายผ้าใหม่ให้ครอง และถวายภัตตาหาร ครั้นเสร็จภัตกิจแล้วจึงได้เลือกพราหมณ์ ๘ คน จากพราหมณ์ทั้ง ๑๐๘ คนนั้น พราหมณ์ ๘ คนเหล่านี้คือ พราหมณ์ชื่อรามะ ชื่อธชะ ชื่อลักขณะ ชื่อสุชาติมันตี ชื่อโภชะ ชื่อสุยามะ ชื่อโกณฑัญญะ ชื่อสุทัตตะ ซึ่ง่พราหมณ์เหล่านี้ก็เป็นกลุ่มที่ได้ทำนายพระสุบินในวันที่ทรงประสูตินั่นเอง
ครั้นเมื่อพราหมณ์ทั้ง ๘ ได้ตรวจดูพระสรีระของพระมหาบุรุษแล้ว มีพราหมณ์ ๗ คน (อรรถกถาบางแห่งบอกว่า ๓ คน) ได้ทำนายออกเป็น ๒ แนว ว่า ถ้าอยู่ครองฆราวาส จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ถ้าเสด็จออกทรงผนวช จะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลกส่วนโกณฑัญญมาณพ ซึ่งอายุน้อยที่สุดในหมู่พราหมณ์ทั้ง ๑๐๘ คนนั้นทำนายเป็นทางเดียว (อรรถกถาบางแห่งบอกว่า ๕ คน ทำนายเป็นทางเดียว ซึ่งทั้ง ๕ พราหมณ์นี้ก็คือปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ นั่นเอง) ว่าพระองค์จะเสด็จออกทรงผนวช แล้วจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลกแน่นอน พวกพราหมณ์เหล่านั้น เมื่อกลับไปสู่เรือนของตัวเองแล้วก็ได้ปรารภกับบุตรทั้งหลายว่า ตัวพ่อนั้นอายุมากแล้ว คงจะไม่ได้อยู่ชมพระบารมีของพระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนมหาราช ผู้จะบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ พวกเจ้าเมื่อพระกุมารทรงตรัสรู้แล้วเจ้าจงบวชในพระศาสนาของพระองค์เถิด
กำเนิดปัญจวัคคีย์

อีก ๒๙ ปีต่อมา เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงเห็นโทษในกาม เห็นอานิสงส์ในการออกจากกาม ในวันที่พระราหุลกุมารประสูติ จึงได้เสด็จออกทรงผนวช ในครั้งนั้นพราหมณ์ ๗ คน ได้สิ้นชีวิตไปตามกรรมแล้ว ส่วนโกณฑัญญมาณพ ซึ่งอายุน้อยกว่าเขาทั้งหมด เมื่อท่านทราบว่า พระมหาบุรุษทรงผนวชแล้ว จึงเข้าไปหาพวกบุตรพราหมณ์ของพราหมณ์ทั้ง ๗ และชักชวนให้ออกบวชตามเสด็จ แต่ก็มีบุตรพราหมณ์เพียง ๔ คนเท่านั้นที่เห็นดีด้วย บุตรพราหมณ์ทั้ง ๔ คน เหล่านี้ คือ ท่านภัททิยะ ท่านวัปปะ ท่านมหานาม และท่านอัสสชิ และท่านโกณฑัญญพราหมณ์จึงได้บวช
เมื่อบวชแล้วบรรพชิตทั้ง ๕ นี้อันมีท่านโกณฑัญญะเป็นหัวหน้า จึงได้มีชื่อว่า พระปัญจวัคคีย์เถระ ก็ได้เที่ยวบิณฑบาตในคามนิคมและราชธานี และได้เดินทางไปอุปัฎฐากพระโพธิสัตว์ ตลอด ๖ ปีที่พระโพธิสัตว์ทรงเริ่มกระทำทุกรกิริยา ด้วยหวังว่า พระสมณโคดมจักบรรลุธรรมใดก็จักบอกธรรมนั้นแก่เราทั้งหลาย ครั้นพระโพธิสัตว์ทรงพิจารณาเห็นว่าการบำเพ็ญทุกรกิริยามิใช่หนทางไปสู่อริยธรรม จึงทรงกลับมาเสวยพระกระยาเช่นเดิม หมู่ปัญจวัคคีย์คิดว่าพระมหาสัตว์ทรงละความเพียรเสียแล้ว จึงหมดความเลื่อมใส เกิดความเบื่อหน่าย พากันละพระองค์เสีย ไปอยู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี
ครั้นเมื่อพระโพธิสัตว์ ทรงกลับมาเสวยพระกระยาหารดังปกติ ล่วงมาถึงวันวิสาขบุรณมี ทรงเสวยโภชนะอย่างดีที่นางสุชาดาถวาย ทรงลอยถาดทองไปให้ทวนกระแสแม่น้ำตามที่ทรงอธิษฐาน จึงตกลงพระทัยที่จะปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุพระมหาอมตธรรมให้ได้ในวันนั้น จึงทรงประทับใต้ร่มมหาโพธิ บ่ายพระพักตร์ไปสู่ด้านตะวันออก นั่งขัดสมาธิ อธิษฐานความเพียร ทรงกำจัดมารและพลมารและบรรลุธรรมเป็นลำดับ จนกระทั่ง ทรงตรัสรู้เป็นพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าในปัจฉิมยามแห่งราตรีนั้นเอง
ครั้นเมื่อทรงตรัสรู้แล้ว ก็ทรงพิจารณาถึงบุคคลที่พระองค์สมควรจะแสดงธรรมให้ก่อน จึงทรงพิจารณาถึง อาฬารดาบสและอุททกดาบส ก็ทรงทราบด้วยพระญาณว่าบุคคลทั้งสองสิ้นชีวิตไปแล้ว เมื่อทรงพิจารณาต่อไปก็ทรงเห็นว่า ภิกษุปัญจวัคคีย์ผู้อุปัฏฐากครั้งเมื่อทรงตั้งความเพียรนับว่าเป็นผู้มีอุปการะมากแก่เรา อีกทั้งโกณฑัญญพราหมณ์ก็เป็นผู้กระทำกรรมสะสมบารมีมาถึง๑๐๐,๐๐๐ กัป ก็เพื่อประสงค์จะเป็นผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้สามารถบรรลุธรรมก่อนผู้อื่น
ลำดับนั้น พระศาสดา จึงเสด็จไปยังป่าอิสิปตมฤคทายวัน ที่ปัญจวัคคีย์อาศัยอยู่ เสด็จเข้าไปหาพระปัญจวัคคีย์
ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

ครั้นทรงพระดำริอย่างนี้แล้ว จึงเสด็จพุทธดำเนินไปสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ฯ ฝ่ายปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาแต่ไกล เข้าใจว่าพระองค์เสด็จมาเพื่อแสวงหาผู้อุปฐาก จึงได้ตกลงกันว่า พระสมณโคดมนี้คลายความเพียรเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมากแล้ว เสด็จมา ณ บัดนี้ พวกเราทั้งหลายไม่พึงไหว้ ไม่พึงลุกขึ้นต้อนรับ ไม่พึงรับบาตรและจีวรของพระองค์เลย แต่ว่าท่านนี้เกิดในตระกูลใหญ่ เป็นวรรณกษัตริย์ เราควรปูลาดอาสนะที่นั่งไว้ เพื่อพระองค์ปรารถนาก็จักประทับนั่ง ฯ ครั้นพระองค์เสด็จเข้าไปถึงแล้ว อาศัยความเคารพที่เคยประพฤติต่อพระองค์ มาบันดาลให้ลืมข้อตกลงที่ทำกันนั้นไว้จนหมดสิ้น ลุกขึ้นต้อนรับพระพุทธองค์ รูปหนึ่งรับบาตรจีวรของพระผู้มีพระภาค รูปหนึ่งปูอาสนะ รูปหนึ่งจัดหาน้ำล้างพระบาท รูปหนึ่งจัดตั้งตั่งรองพระบาท รูปหนึ่งนำกระเบื้องเช็ดพระบาทเข้าไปถวาย ดังที่เคยทำมา แต่ยังพูดกับพระองค์ด้วยถ้อยคำไม่เคารพ คือ เรียกโดยการเอ่ยพระนามโดยตรง หรือเรียกโดยใช้คำแทนพระพุทธองค์ว่า อาวุโส ฯ
พระพุทธองค์ทรงห้ามพวกปัญจวัคคีย์ มิให้เรียกพระองค์เช่นนั้น (ซึ่งถือว่าเป็นการไม่เคารพ ที่ทรงห้ามก็เพื่อจะมิให้เกิดโทษแก่เหล่าปัญจวัคคีย์เหล่านั้น) และทรงตรัสต่อไปว่า ตถาคตได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบแล้ว ท่านทั้งหลายจงตั้งใจฟังธรรมเถิด เราจะสั่งสอนอมตธรรมที่เราบรรลุแล้ว เพื่อที่เมื่อท่านทั้งหลายปฏิบัติตามที่เราสั่งสอนอยู่ ไม่ช้า ก็จักบรรลุถึงที่สุดแห่งพรหมจรรย์
เหล่าปัญจวัคคีย์ก็ยังไม่เชื่อ ได้กล่าวเป็นเชิงสงสัยในจริยาของพระพุทธองค์ว่า แต่เดิมที่ท่านปฏิบัติ แม้โดยการอดอาหาร กระทำทุกรกิริยาอย่างยิ่งยวด ถึง ๖ ปี ก็ไม่สามารถแทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณได้ มาบัดนี้เมื่อท่านคลายความเพียรนั้น กลับมาเป็นผู้มักมาก ท่านจะบรรลุธรรมใด ๆ อย่างไรได้
พระพุทธองค์ทรงมีพระดำรัสว่า ท่านไม่ได้เป็นคนมักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมากเลย ท่านบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบแล้ว และทรงขอให้เหล่าปัญจวัคคีย์ตั้งใจฟังธรรมที่ท่านจะแสดง แต่ปัญจวัคคีย์เหล่านั้นก็ยังได้กล่าวสงสัยในจริยาของพระพุทธองค์อีกถึง ๒ ครั้ง
จนในครั้งที่ ๓ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสเตือนให้เหล่าปัญจวัคคีย์ทั้งหลาย นึกถึงถ้อยคำของพระพุทธองค์ในครั้งก่อนว่า วาจาที่ท่านกล่าวว่าท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบแล้ว เช่นนี้ ท่านได้เคยพูดออกมาในกาลก่อนหรือไม่ พวกภิกษุปัญจวัคคีย์จึงระลึกขึ้นได้ว่าพระวาจาเช่นนี้พระองค์ไม่เคยได้ตรัสมาก่อนเลย จึงพากันตั้งใจฟังพระธรรมเทศนาที่พระองค์จะตรัสเทศนาสั่งสอนสืบไป
ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสแสดง พระปฐมเทศนาประกาศพระสัมโพธิญาณ ชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่พระปัญจวัคคีย์ ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสพระธรรมเทศนาจบ ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลีปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวล มีความดับเป็นธรรมดา ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ในวันอาสาฬหปุรณมี เพ็ญกลางเดือน ๘ นั่นเอง
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบด้วยพระญาณว่า ท่านโกณฑัญญะ ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันแล้ว จึงได้ทรงเปล่งพระอุทานว่า โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ, โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ (อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ, อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ) เพราะเหตุนั้น คำว่า อัญญาโกณฑัญญะนี้ จึงได้เป็นชื่อของท่านตั้งแต่นั้นมา
ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา

ครั้นเมื่อท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ได้บรรลุธรรม ดำรงอยู่ในโสดาปัตติมรรคแล้ว จึงได้ทูลขอบรรพชาต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งสมเด็จพระบรมศาสดาก็ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยตรัสว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ดังนี้ แล้วตรัสต่อไปว่าธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด.
บัดนั้น ถือว่าโลกมี พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ครบองค์สาม เป็นครั้งแรก
ในวันต่อมา เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงประทานโอวาทสั่งสอนด้วยธรรมีกถา ทรงให้พระภัททิยเถระตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล.และประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นเอหิภิกษุรูปที่ ๒ ในวันแรม ๑ ค่ำ
ในวันแรม ๒ ค่ำ ทรงให้พระวัปปเถระตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล.และประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นเอหิภิกษุรูปที่ ๓
ในวันแรม ๓ ค่ำ ทรงให้พระมหานามเถระตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล.และประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นเอหิภิกษุรูปที่ ๔
ในวันแรม ๔ ค่ำ ทรงให้พระอัสสชิเถระตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล.และประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นเอหิภิกษุรูปที่ ๕
อนึ่งในวันแรม ๕ ค่ำ ทรงเทศนาอนัตตลักขณสูตร ให้พระปัญจวัคคีย์ทั้งหมดตั้งอยู่ในพระอรหัตด้วย ครั้งนั้น มีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖ องค์.
พระมหานามเถระเทศน์โปรดจิตตคฤหบดี

จิตตคฤหบดีนี้เป็นเศรษฐี อยู่ใน นครมัจฉิกาสัณฑะ แคว้นมคธ โดยได้ตำแหน่งเศรษฐีแทนที่บิดาที่ล่วงลับไป ครั้งหนึ่งพระมหานามเถระ หนึ่งในจำนวนพระเถระปัญจวัคคีย์ ได้จาริกไปถึงนครมัจฉิกาสัณฑะ จิตตคฤหบดี เห็นพระเถระก็เกิดความเลื่อมใสในอิริยาบถของท่าน จึงรับบาตรแล้วนิมนต์มายังเรือน ทำการถวายภัตตาหาร เมื่อท่านฉันเสร็จแล้ว ก็นำท่านไปยังสวนชื่ออัมพาฏกวัน ซึ่งเป็นของจิตตคฤหบดี ทำการสร้างกุฏิถวายพระเถระ ณ ที่สวนนั้น และนิมนต์ขอให้ท่านอาศัยอยู่เพื่อรับบิณฑบาตในเรือนตนเป็นนิตย์
พระเถระเห็นอุปนิสัยของจิตตคฤหบดีนั้น ว่าในสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ เขาได้เกิดเป็นนายพรานเนื้อ เคยได้รับกรรมฐานมีอาการ ๓๒ เป็นอารมณ์ จากพระเถระรูปหนึ่งมาก่อน เมื่อแสดงธรรมท่านจึงเจาะจงแสดงเฉพาะ สฬายตนวิภังค์ (ว่าด้วยอายตนะ ๖ ตามแนวไตรลักษณ์) เท่านั้น ไม่ช้านัก จิตตคฤหบดีก็บรรลุโสดาปัตติผล เพราะได้พิจารณาเห็นสังขารอันเป็นทุกข์ดังกล่าว ต่อมาเมื่อฟังธรรมของพระสารีบุตรในภายหลังจึงได้บรรลุพระอนาคามิผล
ต่อมาท่านคฤหบดีได้สร้างวิหารใหญ่ในอุทยาน ถวายสงฆ์เป็นพระอารามชื่อว่าอัมพาตการาม ตามชื่อสวน สำหรับพวกภิกษุผู้มาจากทิศทั้งปวง โดยมีพระสุธรรมเถระเป็นเจ้าอาวาส
จิตตคฤหบดีนี้ ต่อมาพระบรมศาสดาทรงสถาปนาท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นเลิศกว่าพวกอุบาสก ผู้เป็นธรรมกถึก
อรรถกถาเล่มที่ ๓๓ เรื่องประวัติจิตตคฤหบดีกล่าวถึงพระมหานามเถระไว้อีกตอนหนึ่งว่า
ในต่อมาวันหนึ่ง ท่านพระอิสิทัตตเถระมาพักอยู่ในอัมพาตการาม นั้น วันหนึ่ง จิตตคฤหบดีนิมนต์พระทั้งอารามมาฉันในเรือน ของท่าน และเมื่อฉันเสร็จแล้ว จิตตคฤหบดีได้ถามปัญหาธรรมแก่พระเถระผู้เป็นประธาน แต่พระเถระนั้นตอบปัญหาไม่ได้ ซึ่งในอรรถกถาเล่มที่ ๓๓ กล่าวว่า พระเถระที่ตอบปัญหาไม่ได้นั้นคือพระมหานามเถระ ท่านพระอิสิทัตตเถระจึงเป็นผู้วิสัชชนาปัญหานั้นแก่จิตตคฤหบดี แต่ถ้าอ่านอรรถกถาเล่มที่ ๔๑ เรื่องพระสุธรรมเถระ แล้วก็จะทราบว่า พระเถระผู้ไม่อาจแก้ปัญหาของจิตตคฤหบดีได้นั้น น่าจะเป็นพระสุธรรมเถระมากกว่า ซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้าอาวาสของอัมพาตการามนั้น และยังไม่บรรลุพระอรหัตผล จึงไม่สามารถตอบปัญหาที่ลึกซึ้งของจิตตคฤหบดีได้ ส่วนพระมหานามเถระในขณะนั้นคงจะไม่ได้พักอยู่ที่อารามดังกล่าวแล้ว เพราะถ้าท่านอยู่จิตตคฤหบดีก็คงจะถามปัญหาจากท่านโดยตรง เพราะท่านมีอาวุโสทางพรรษามากกว่าพระสุธรรมบดีแน่นอน เพราะท่านเป็นพระภิกษุรูปที่ ๔ ของโลก และเป็นพระอรหันต์แล้ว ส่วนท่านพระอิสิทัตตเถระนั้นขณะนั้นท่านเป็นพระใหม่ แต่บรรลุพระอรหันต์แล้วท่านจึงสามารถตอบปัญหานั้นได้


Create Date : 29 สิงหาคม 2554
Last Update : 29 สิงหาคม 2554 12:51:08 น. 1 comments
Counter : 391 Pageviews.

 
ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always be love. _/|\_



โดย: ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก วันที่: 22 ธันวาคม 2563 เวลา:14:01:55 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.