ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
 
สิงหาคม 2554
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
29 สิงหาคม 2554
 
All Blogs
 
พระองคุลีมาลเถระ (บุพกรรม ๔)

มหาสุตโสมชาดก ๐๔
พระเจ้าสุตโสมเว้นบาปเพราะฟังธรรมของกาฬหัตถี


เจ้าโปริสาทได้สดับดังนั้น ตกใจกลัวว่า พระเจ้าสุตโสมมหาราชนี้เป็นสัตบุรุษพร้อมด้วยความรู้ แสดงธรรมอันไพเราะ ถ้าเราจะกินเธอเสียแม้ศีรษะของเราก็จะต้องแตกออกเป็น ๗ เสี่ยง หรือถูกแผ่นดินสูบ แล้วทูลว่า ข้าแต่พระสหายสุตโสมเอ๋ย พระองค์เป็นคนที่ข้าพเจ้าไม่ควรกิน แล้วกล่าวว่า
ข้าแต่พระสหาย พระองค์เป็นเหมือนยาพิษที่ร้ายแรง ใครจักกินพระองค์ได้ด้วยประการฉะนี้ แล้วใคร่จะสดับสตารหาคาถา จึงทูลพระมหาสัตว์ แม้จะถูกพระมหาสัตว์ตรัสห้ามว่า พระองค์ไม่ใช่ภาชนะของคาถาที่หาโทษมิได้เห็นปานนี้ เจ้าโปริสาทคิดว่า คนในชมพูทวีปทั้งสิ้นจะหาใครชื่อว่าเป็นบัณฑิตเทียบกับท่านสุตโสมนี้ไม่มี เธอรอดพ้นไปจากมือเราแล้ว ได้สดับคาถาเหล่านั้น ทำสักการะแก่พราหมณ์แล้ว ยังกลับมาเพื่อรับเอาความตายได้ พระคาถานั้นเห็นจะเป็นพระคาถาที่ศักดิ์สิทธิ์ ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง คิดดังนั้นแล้วก็เกิดความเคารพในการฟังธรรมหนักขึ้น จึงได้ทูลอ้อนวอนพระมหาสัตว์ว่า
นรชนทั้งหลายได้สดับธรรมแล้ว ย่อมรู้จักบุญบ้าง บาปบ้าง แม้ใจของข้าพเจ้าได้ฟังคาถานั้นแล้ว จะพึงยินดีในธรรมคือกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการได้บ้างเป็นแน่.
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทรงดำริว่า บัดนี้เจ้าโปริสาทต้องการจะฟังธรรม เราจะแสดงดังนี้ แล้วตรัสว่า ดูก่อนสหาย ถ้าเช่นนั้นท่านจงตั้งใจสดับให้ดี ครั้นเตือนเจ้าโปริสาทให้เงี่ยโสตสดับแล้ว ตรัสสรรเสริญพระคาถาอย่างเดียวกันกับที่นันทพราหมณ์กล่าวแล้ว เมื่อนั้นพวกเทวดาในชั้นกามาวจรทั้ง๖ ให้สาธุการพร้อมเพรียงเป็นเสียงเดียวกัน
เมื่อเจ้าโปริสาทได้ฟังพระคาถานั้นแล้ว ก็เต็มไปด้วยปีติ เธอได้เป็นผู้มีจิตอันเลื่อมใสในพระโพธิสัตว์ สำคัญพระโพธิสัตว์เป็นดุจพระชนกผู้ประทานเศวตฉัตร และคิดว่าเราจะถวายพระพรแก่พระเจ้าสุตโสม คาถาละพร แล้วกล่าวว่า
ข้าแต่พระสหาย ผู้เป็นจอมประชาชน คาถาเหล่านี้มีประโยชน์ มีพยัญชนะดี พระองค์ตรัสไพเราะข้าพเจ้าได้สดับแล้วเพลิดเพลินปลื้มใจ ชื่นใจ อิ่มใจข้าพเจ้าขอถวายพระพร ๔ อย่างแด่พระองค์.
พระมหาสัตว์เพื่อจะให้เจ้าโปริสารทยืนยันในคำพูดของตนจึงตรัสว่า
พระองค์ให้พรด้วยวาจา แม้ข้าพเจ้ากล่าวอยู่ว่า พระองค์จงให้พรนั้นแก่ข้าพเจ้าพระองค์ จะกลับไม่ให้เสียก็ได้ ใครจะมาเป็นบัณฑิตวินิจฉัยการทะเลาะนี้ได้.
ลำดับนั้น เจ้าโปริสาทดำริว่า ท่านสุตโสมนี้ไม่เชื่อเรา เราจะให้เธอชื่อให้ได้ แล้วกล่าวว่า
คนเราให้พรใดแล้วจะกลับไม่ให้ ไม่ควรให้พรนั้น ดูก่อนสหาย ขอให้พระองค์จงทรงมั่นพระทัยรับพรเถิด แม้ชีวิตของหม่อมฉันก็จะสละถวายได้.
ครั้งนั้น พระมหาสัตว์ทรงดำริว่า เจ้าโปริสาทกล้าพูดหนักอยู่ เธอจักทำตามถ้อยคำของเรา เราจักรับพร แต่ถ้าเราขอพรว่า ท่านจงอย่ากินเนื้อมนุษย์เป็นข้อแรก เธอจักลำบากเกินไป เราจักรับพร ๓ อย่างอื่นก่อนภายหลังจึงรับพรข้อนี้ แล้วตรัสขอพรแรกว่า
พระอริยะกับพระอริยะ ย่อมมีศักดิ์ศรีเสมอกัน ผู้มีปัญญากับผู้มีปัญญา ย่อมมีศักดิ์ศรีเสมอกัน ข้าพเจ้าพึงเห็นท่านเป็นผู้หาโรคมิได้ตลอดร้อยปี นี้เป็นพรข้อที่หนึ่ง หม่อมฉันปรารถนา.
ในพรนั้น พระเจ้าสุตโสมทรงทำเป็นเหมือนปรารถนาให้เจ้าโปริสาทมีชีวิตยืนยาว จึงขอพรคือชีวิตอันประเสริฐข้อแรกก่อน แต่แท้จริงแล้วพระเจ้าสุตโสมทรงขอพรในความหมายที่ว่า ถ้าจะให้ พระเจ้าสุดโสมเห็นเจ้าโปริสารทมีอายุร้อยปี เจ้าโปริสาทก็ต้องให้พระเจ้าสุตโสมมีอายุร้อยปีด้วยเช่นกัน เจ้าโปริสาทฟังคำนั้น คิดว่า เจ้าสุตโสมปรารถนาความไม่มีโรคแก่เราผู้เดียว จึงกล่าวให้พรตามที่พระเจ้าสุตโสมทรงขอ
ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์จึงตรัสต่อไปว่า
พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นกษัตริย์ ได้นามบัญญัติว่ามุทธาภิสิต (ได้รับน้ำมูรธาภิเษกบนเศียรเกล้า) เหล่าใดในชมพูทวีปนี้ พระองค์อย่ากินพระเจ้าแผ่นดินเหล่านั้น นี่เป็นพรข้อที่สอง หม่อมฉันปรารถนา.
เจ้าโปริสาก็ถวายพระพรนั้นแด่พระโพธิสัตว์.
กษัตริย์ ๑๐๑ พระองค์ ที่ถูกพระองค์จับร้อยพระหัตถ์ไว้ มีพระพักตร์นองด้วยพระอัสสุชลกันแสงอยู่นั้น ขอพระองค์จงปล่อยให้กลับไปสู่แคว้นของตน ๆ นี้เป็นพรข้อที่สาม หม่อมฉันปรารถนา.
เมื่อพระมหาสัตว์เจ้าทรงขอให้มอบแคว้นของตน ๆ แก่กษัตริย์เหล่านั้นด้วยทรงมีเหตุผลว่า เจ้าโปริสาทแม้จะไม่กิน แต่ก็อาจจะให้กษัตริย์ทั้งหมดอยู่เป็นทาสในป่านั้นก็เป็นได้ หรืออาจจะฆ่าทิ้งเสียก็ได้ หรืออาจจะนำไปจำหน่ายเสีย ณ ชนบทก็เป็นได้ เพราะฉะนั้น พระมหาสัตว์จึงทรงรับพร คือขอให้มอบแคว้นของตน ๆ แก่กษัตริย์เหล่านั้น ส่วนเจ้าโปริสาทก็ถวายพระพรข้อนั้นแด่พระมหาสัตว์
ครั้นเมื่อพระโพธิสัตว์จะทรงรับพรข้อที่สี่ จึงได้ตรัสพระคาถานี้ว่า
รัฐมณฑลของพระองค์ว่างเปล่า เพราะชนเป็นอันมากต้องทิ้งบ้านช่องแตกกระจายไป หวาดกลัวภัย หนีเข้าที่ซ่อนเร้น ขอพระองค์จงเว้นจากเนื้อมนุษย์เสียเถิด นี้เป็นพรข้อที่สี่ หม่อมฉันปรารถนา.
เมื่อพระโพธิสัตว์ตรัสอย่างนี้แล้ว เจ้าโปริสาทปรบมือหัวเราะทูลว่าพระสหายสุตโสมพูดถึงเรื่องนี้ละหรือ พระพรนี้เท่ากับชีวิต หม่อมฉันเข้าป่าก็เพราะเหตุเนื้อมนุษย์นี้ หม่อมฉันจักถวายแด่พระองค์อย่างไรได้ ถ้าพระองค์ใคร่จะรับ จงรับพรอย่างอื่นเถิด
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์จึงตรัสว่า คนเช่นพระองค์ยังเป็นหนุ่ม มีรูปงาม มียศใหญ่ กระทำตนให้เหินห่างจากความดี ด้วยความโลภในวัตถุอันเป็นที่รัก โดยยึดมั่นอยู่ว่าสิ่งนี้เป็นที่รักของเรา เคลื่อนจากสุคติทั้งหมดและวิสัยแห่งความสุข ตกลงในนรกอย่างเดียว ซึ่งเมื่อเป็นอย่างนั้นแล้วชื่อว่าย่อมไม่ได้เสพสิ่งนั้นอันเป็นที่รักทั้งหลาย
เมื่อพระโพธิสัตว์ตรัสอย่างนี้แล้ว เจ้าโปริสาทหวาดหวั่น ดำริว่าเราไม่อาจให้ท่านสุตโสมยกเลิกพรนี้เสียได้ละกระมัง แม้เนื้อมนุษย์เราก็ไม่อาจอดได้ จักทำอย่างไรดีหนอ ถ้าเธอตรัสขอพรที่สี่อย่างอื่นจักถวายเธอทันทีเราจักเป็นอยู่อย่างไร มีเนตรนองด้วยอัสสุชล กล่าวคว่า
เนื้อมนุษย์เป็นที่รักของหม่อมฉัน ดูก่อนท่านสุตโสม ขอท่านจงทราบความจำเป็น หม่อมฉันไม่อาจงดเว้นได้ ดูก่อนพระสหาย ขอท่านจงเลือกพระพรอย่างอื่นเถิด.
ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ตรัสว่า
ดูก่อนสหายโปริสาท บุรุษใดกระทำตนให้ห่างเหินจากความดีด้วยการกระทำบาป โดยคิดว่าสิ่งนี้เป็นที่รักแก่เราแล้วเสพของรักอยู่ บุรุษนั้นย่อมได้รับความทุกข์ในอบาย มีนรกเป็นต้น ในเบื้องหน้า เพราะกรรมอันเป็นบาปนั้น เปรียบดังนักเลงสุราดื่มสุราอันเจือยาพิษ เพราะว่าตนชอบสุรา ฉะนั้น ส่วนบุคคลใดในโลกนี้ รู้สึกตัว แล้วละของรัก ได้เสพอริยธรรม แม้ด้วยความฝืนใจ เหมือนคนเป็นไข้ดื่มโอสถ ฉะนั้น บุคคลนั้นจะได้สุขในเบื้องหน้าเพราะความประพฤตินั่นแล.
เมื่อพระโพธิสัตว์ตรัสอย่างนี้แล้ว เจ้าโปริสาทคร่ำครวญร่ำพันอยู่กล่าวว่า
หม่อมฉันทิ้งพระชนกพระชนนี ทั้งเบญจกามคุณที่น่าเพลิดเพลินเจริญใจเข้าป่า ก็เพราะเหตุแห่งเนื้อมนุษย์ หม่อมฉันจะถวายพระพรนั้นแก่พระองค์อย่างไรได้.
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ จึงตรัสว่า
พวกบัณฑิตไม่กล่าววาจาเป็นสอง พวกสัตบุรุษย่อมมีปฏิญาณเป็นสัตย์ทีเดียว ท่านได้กล่าวกับข้าพเจ้าว่า พระสหายจงรับพร ท่านได้กล่าวไว้อย่างนี้ ที่ท่านกล่าวในบัดนี้จึงไม่สมกัน.
เจ้าโปริสาทร้องไห้อีก กล่าวว่า
หม่อมฉันเข้าถึงบาปทุจริต ความเศร้าหมองมาก หาบุญลาภมิได้ เสื่อมยศ เสื่อมเกียรติ ก็เพราะเนื้อมนุษย์เป็นเหตุ หม่อมฉันถวายพระพรนั้นแก่พระองค์อย่างไรได้ พระองค์อย่าได้ห้ามหม่อมฉันเสียเลยจงทรงกระทำความอนุเคราะห์ ความกรุณาในหม่อมฉันเถิด จงทรงรับพรอย่างอื่นเถิด.
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทรงนำคาถาที่เจ้าโปริสาทนั้นกล่าวไว้ก่อนแล้ว มาแสดงอย่างนี้ว่า
คนเราให้พรใดแล้วกลับไม่ให้ ไม่ควรจะให้พรนั้น ท่านให้พรแก่เราว่า “ขอพระสหายจงมั่นพระทัยรับพรเถิด แม้ชีวิตของหม่อมฉันก็จักสละถวายแล” การเสียสละชีวิตได้ นั่นเป็นธรรมของสัตบุรุษสัตบุรุษย่อมมีปฏิญาณเป็นสัตย์ทีเดียว พรอันพระองค์ประทานไว้แล้ว จงประทานเสียฉับพลัน ดูก่อนพระองค์ผู้เป็นพระราชาอันประเสริฐสุด พระองค์จงสมบูรณ์ด้วยธรรมของสัตบุรุษนั้นเถิด.
นรชนพึงสละทรัพย์ เพราะเหตุแห่งอวัยวะอันประเสริฐ เมื่อรักษาชีวิตพึงสละอวัยวะ เมื่อนึกถึงธรรมพึงสละอวัยวะทรัพย์แม้ชีวิตทั้งหมดเถิด.
พระมหาสัตว์ครั้นตรัสชักนำให้เจ้าโปริสาทนั้นตั้งอยู่ในความสัตย์ด้วยเหตุผลเหล่านี้อย่างนี้แล้ว ก็ยกความที่พระองค์เป็นครูขึ้นสนับสนุนต่อไป จึงตรัสต่อไปว่า
บุรุษรู้ธรรมจากบุคคลใด และบุคคลเหล่าใดเป็นสัตบุรุษ บันเทาความสงสัยของบุรุษนั้นได้ ข้อนั้นเป็นที่พึ่งพำนักของสัตบุรุษนั้นได้ เป็นบัณฑิตไม่พึงทำลายไมตรีจากจากบุคคลนั้นเลย.
บุคคลผู้เป็นอาจารย์นั้น ชื่อว่าเป็นที่พึ่ง บุคคลผู้เป็นบัณฑิตไม่พึงทำลายไมตรี ไม่ว่าด้วยเหตุใดกับบุคคลผู้เป็นอาจารย์นั้น
ก็พระโพธิสัตว์ ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว จึงตรัสต่อไปว่า ดูก่อนสหายโปริสาท ขึ้นชื่อว่าถ้อยคำของอาจารย์ผู้มีคุณ ไม่ควรจะทำลาย เราเป็นปฤษฏาจารย์ของพระองค์ ให้พระองค์ศึกษาศิลปะเป็นอันมาก แม้ในเวลาที่ยังทรงพระเยาว์ บัดนี้ก็ได้กล่าวสตารหคาถาแก่พระองค์ เพราะฉะนั้น พระองค์ควรจะทำตามถ้อยคำของเรา.
เจ้าโปริสาทได้สดับดังนั้น จึงดำริว่า ท่านสุตโสมเป็นอาจารย์ของเราและพรเราก็ได้ถวายแก่พระองค์ เราอาจจะทำอะไรได้ อันธรรมดาความตายในอัตภาพหนึ่ง ย่อมเป็นของแน่นอน เราจักไม่กินเนื้อมนุษย์ เราจะถวายพระพร ดังนี้ มีสายอัสสุชลนองหน้า ลุกขึ้นถวายบังคมพระบาทพระเจ้าสุตโสมจอมนรินทร์ แล้วกล่าวถวายพระพรว่า
เนื้อมนุษย์เป็นอาหารที่ชอบใจของหม่อมฉันมานานทีเดียว หม่อมฉันเข้าป่าก็เพราะเหตุแห่งอาหารนี้ แต่ถ้าพระสหายตรัสขอหม่อมฉันในเรื่องนี้ หม่อมฉันก็ยอมถวายพระพรนี้แด่พระองค์ได้.
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ตรัสว่า ดูก่อนสหาย คนที่ตั้งอยู่ในศีลถึงจะตายก็ประเสริฐ เราขอรับพรที่ท่านประทาน และท่านได้ตั้งอยู่ในทางของพระอริยะตั้งแต่วันนี้แล้ว แม้ถึงอย่างนั้น เราต้องทูลขอท่าน ถ้าความรักในตัวเราของท่านยังมีอยู่ ขอท่านจงรับศีล ๕ เถิดนะมหาราช เจ้าโปริสาททูลว่า ดีละสหาย ขอพระองค์จงประทานศีล ๕ แก่หม่อมฉัน พระมหาสัตว์ตรัสว่า เชิญรับเถิดมหาราช
เจ้าโปริสาทถวายบังคมพระมหาสัตว์ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ นั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง พระมหาสัตว์ได้ให้เจ้าโปริสาทตั้งอยู่ในศีล ๕ แล้ว ขณะนั้นภุมเทวดาผู้ประชุมกันในสถานที่นั้น เกิดความชื่นบานในพระมหาสัตว์ ได้กระทำสาธุการทำให้ทั่วทั้งป่ามีเสียงสนั่นโกลาหลว่า คนอื่นตั้งแต่อเวจีตลอดถึงภวัครพรหม ชื่อว่าสามารถจะห้ามเจ้าโปริสาทจากเนื้อมนุษย์ได้เป็นไม่มี พระเจ้าสุตโสม ได้ทำกิจที่บุคคลอื่นทำได้อย่างแสนยาก น่าอัศจรรย์
เทพยดาชั้นจาตุมหาราช ได้สดับต่อภุมเทวดาเหล่านั้น ก็กระทำสาธุการบันลือลั่นต่อ ๆกันไปอย่างนี้ ได้เกิดโกลาหลเป็นอันเดียวกันตลอดพรหมโลก แม้พระราชาที่ถูกแขวนอยู่ ณ ต้นไม้ ก็พลอยได้ยินเสียงสาธุการของเทพยดาเหล่านั้นด้วย แม้รุกขเทวดาผู้อยู่ในวิมานนั้น ๆ ก็ให้สาธุการ
พวกพระราชาได้ทรงสดับเสียงสาธุการของพวกเทพยดา จึงทรงดำริว่า พวกเราได้ชีวิตเพราะพระเจ้าสุตโสม พระเจ้าสุตโสมทรงทรมานเจ้าโปริสาทได้ นับว่าชื่อว่าทำกิจที่คนอื่นทำได้แสนยาก แล้วพากันสรรเสริญพระโพธิสัตว์
ฝ่ายเจ้าโปริสาทถวายบังคมพระบาทยุคลของพระมหาสัตว์แล้ว ยืนอยู่ส่วนข้างหนึ่ง ลำดับนั้นพระโพธิสัตว์ตรัสกะเจ้าโปริสาทว่า ดูก่อนพระสหาย ท่านจงปลดปล่อยกษัตริย์เหล่านี้เสียเถิด เจ้าโปริสาทดำริว่า เราเป็นศัตรูของกษัตริย์เหล่านี้ กษัตริย์เหล่านี้เมื่อเราปลดปล่อยไปแล้ว จะช่วยกันจับเราไว้ แล้วจักทำร้ายเรา แต่ถึงแม้เป็นเช่นนั้น เราก็ไม่อาจทำร้ายกษัตริย์เหล่านนั้นตอบได้ เราไม่อาจจะทำลายศีลที่เรารับจากสำนักท่านสุตโสมได้ แต่ถ้าเราไปปลดปล่อยด้วยกันกับท่านสุตโสม อย่างนี้จักไม่เป็นภัยแก่เรา แล้วถวายบังคมพระโพธิสัตว์ทูลว่า ข้าแต่ท่านสุตโสม เราทั้งสองจะไปปลดปล่อยกษัตริย์ทั้งหลายด้วยกัน
พระมหาสัตว์ทรงรับคำเจ้าโปริสาทว่า แม้เราทั้งสองจงไปปลดปล่อยพวกกษัตริย์ด้วยกันดังนี้ แล้วทรงดำริว่า ธรรมดากษัตริย์เป็นผู้กระด้างด้วยมานะ พอหลุดได้อาจจะโบย หรือฆ่าเจ้าโปริสาทเสียด้วยความอาฆาตว่า พวกเราถูกเจ้าโปริสาทนี้ เบียดเบียนแล้วดังนี้ก็ได้ แต่เจ้าโปริสาทจะไม่ประทุษร้ายกษัตริย์เหล่านั้นเป็นแน่ เราแต่เพียงผู้เดียวจะไปรับปฏิญาณต่อกษัตริย์เหล่านั้นก่อน แล้วเสด็จไปยังสำนักกษัตริย์เหล่านั้น ทรงเห็นกษัตริย์เหล่านั้นถูกร้อยฝ่าพระหัตถ์แขวนอยู่ที่กิ่งไม้ ปลายนิ้วพระบาทพอจรดพื้นดินดิ้นรนอยู่ ดุจพวงดอกหงอนไก่ ซึ่งเขาห้อยไว้ในเวลาที่ต้องลม แม้กษัตริย์เหล่านั้น พอได้เห็นพระโพธิสัตว์แล้วร้องขึ้นพร้อมกันว่า พวกเราปลอดภัยแล้ว ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ตรัสปลอบกษัตริย์เหล่านั้นว่า อย่ากลัวเลย แล้วตรัสว่า พวกท่านได้รับอภัยโทษจากเจ้าโปริสาทแล้ว แต่พวกท่านต้องทำตามถ้อยคำของหม่อมฉันด้วย .
กษัตริย์เหล่านั้น ตรัสตอบว่า
พวกหม่อมฉันจะไม่คิดประทุษร้ายต่อเจ้าโปริสาทนี้ด้วยความแค้นเป็นอันขาด หม่อมฉันขอรับสัจปฏิญาณต่อพระองค์ ดังนี้.
พระมหาสัตว์ทรงรับปฏิญาณของกษัตริย์เหล่านั้นอย่างนี้แล้ว ทรงเรียกเจ้าโปริสาท ตรัสว่า จงมาเถิดสหาย จงมาปลดปล่อยกษัตริย์เหล่านี้เถิด เจ้าโปริสาทจับดาบตัดเชือกที่ผูกพระราชาองค์หนึ่งแล้ว พระราชานั้นอดอาหารได้รับทุกขเวทนามาถึง ๗ วันแล้ว สลบล้มลงที่พื้น
พระมหาสัตว์ทอดพระเนตรเห็นดังนั้นก็เกิดความสงสาร จึงตรัสว่า สหายโปริสาท ท่านอย่าตัดอย่างนั้นเลย คราวนี้เราทั้งสองจะจับพระราชาองค์หนึ่งไว้ให้มั่น แล้วจึงตักเชือกที่ผูก เมื่อเจ้าโปริสาทตัดเชือกด้วยพระขรรค์ พระมหาสัตว์รับพระราชานั้นให้นอนที่พื้น ด้วยพระหฤทัยประกอบไปด้วยเมตตา คล้ายกับประคองบุตรที่เกิดแต่อกฉะนั้น ทรงประคองพระราชาเหล่านั้นทุกพระองค์ ให้นอนลงบนภาคพื้นอย่างนี้แล้ว ทรงชะแผล ค่อย ๆ ดึงเชือกออก ดุจดึงด้ายเส้นน้อยออกจากหูของเด็ก ฉะนั้น ล้างหนอนและเลือดแล้ว ทำแผลให้จนสะอาด ตรัสว่าดุก่อนสหายโปริสาท ท่านจงฝนเปลือกไม้นี้ที่หินแล้วนำเอามา ครั้นเจ้าโปริสาทนำมาให้แล้ว จึงทรงตั้งสัตย์อธิษฐาน ทาที่ฝ่าพระหัตถ์ของกษัตริย์เหล่านั้น แผลนั้นหายในขณะนั้นทันที เจ้าโปริสาทเอาข้าวสารมาต้มเป็นน้ำใส ๆแล้วให้กษัตริย์ ๑๐๑ พระองค์ได้ดื่มน้ำข้าวต้มนั้น
เมื่อพระโพธิสัตว์ และเจ้าโปริสาทให้กษัตริย์เหล่านั้นอิ่มหนำทั่วทุกพระองค์ ดังนี้แล้ว ก็พอพระอาทิตย์อัสดงคต แม้วันรุ่งขึ้นก็ให้ดื่มอย่างนั้น ทั้งในเวลาเช้าเวลาเที่ยงและเวลาเย็น วันที่ ๓ ให้ดื่มยาคูมีเมล็ด ปฏิบัติอย่างนี้จนกษัตริย์เหล่านั้นปลอดภัยแข็งแรงทั้งหมด
ครั้งนั้น พระเจ้าสุตโสมตรัสถามกษัตริย์เหล่านั้นว่า พวกท่านสามารถกลับได้หรือยัง เมื่อกษัตริย์เหล่านั้นกราบทูลว่าไปได้ ก็ทรงตรัสว่า ท่านโปริสาท เชิญเสด็จเถิด เราทั้งหลายจงกลับไปยังแคว้นของตนเถิด เจ้าโปริสาทได้สดับดังนั้น ก็ร้องไห้ฟุบอยู่แทบบาทยุคลของพระมหาสัตว์ทูลว่า พระสหายจงพาพระราชาทั้งหลายเสด็จไปเถิด หม่อมฉันจะกินรากไม้ผลไม้อยู่ในป่านี้ พระมหาสัตว์ตรัสว่า สหายจักทำอะไรในป่านี้แคว้นของพระองค์น่ารื่นรมย์ จงเสด็จไปเสวยราชสมบัติ ณ พระนครพาราณสีนั้นเถิดนะ
เจ้าโปริสาททูลว่า พระสหายตรัสอะไร หม่อมฉันไม่อาจไปในพระนครพาราณสี เพราะชาวพระนครทั้งหมด เป็นศัตรูของหม่อมฉัน จักด่าบริภาษหม่อมฉันว่า กินมารดาของเขา กินบิดาของเขา ดังนี้เป็นต้น แล้วจักพากันจับหม่อมฉันโดยตั้งข้อหาว่า เป็นโจร จักปลงชีวิตหม่อมฉันด้วยท่อนไม้หรือก้อนดิน ไม้ ค้อน หอก หรือขวาน ส่วนหม่อมฉันรับศีลในสำนักของพระองค์แล้ว หม่อมฉันไม่อาจจะฆ่าเขา แม้เพราะเหตุแห่งชีวิตเพราะฉะนั้น หม่อมฉันจึงไม่ไป หม่อมฉันเมื่อเว้นจากเนื้อมนุษย์เสียแล้ว ก็คงจะอยู่ไม่ได้นานสักเท่าไร เจ้าโปริสาทกล่าวดังนี้แล้ว ก็ร้องไห้ทูลว่า เชิญพระองค์เสด็จเถิด
ครั้งนั้นพระมหาสัตว์ทรงลูบหลังเจ้าโปริสาท ตรัสว่า พระสหายเจ้าโปริสาทเอ๋ย หม่อมฉันชื่อสุตโสม คนหยาบช้าสาหัสเช่นพระองค์ยังฝึกได้ คนชาวพระนครพาราณสีจะเป็นไรไปเล่า หม่อมฉันจักให้พระองค์เสด็จเป็นพระราชา ในพระนครพาราณสีนั้นอีก เมื่อไม่อาจสามารถ ก็จักแบ่งราชสมบัติของหม่อมฉันออกเป็นสองส่วน ถวายพระองค์ส่วนหนึ่ง เมื่อเจ้าโปริสาททูลว่า แม้ในพระนครของพระองค์ ศัตรูของหม่อมฉันก็ยังมีอยู่เหมือนกัน แล้วทรงดำริว่า เจ้าโปริสาทนี้ทำตามถ้อยคำของเรา นับว่าเราทำกิจที่คนอื่นทำได้ยากนัก เราจะให้เธออยู่ในพระราชอิสริยยศตามเดิม โดยอุบายวิธีบางอย่าง เมื่อจะทรงพรรณนาถึงสมบัติของพระนคร เพื่อปลอบโยนเจ้าโปริสาทให้เกิดความพอใจ จึงได้ตรัสว่า
พระองค์เคยเสวยพระกระยาหารอันโอชารสล้วนแต่เนื้อสัตว์ ๔ เท้า และนกอันพวกห้องเครื่องผู้ฉลาดปรุงทำให้สุกเป็นอย่างดี ดุจท้าวโกสีย์จอมเทวดาเสวยสุธาโภชน์ ฉะนั้น ไฉนจะทิ้งไว้ ชอบใจอยู่ในป่าแต่พระองค์เดียว.
นางกษัตริย์ล้วนแต่เอวบางร่างเล็กสะโอดสะองประดับประดาด้วยผ้าและเครื่องอาภรณ์ชั้นดี เคยแวดล้อมบำเรอพระองค์ให้ชื่นบาน ดุจเทพอัปสรแวดล้อมพระอินทร์ ณ เมืองสวรรค์ ไฉนจะทิ้งไว้ชอบใจอยู่ในป่าแต่พระองค์เดียว.
พระแท่นที่บรรทมพนักแดง โดยมากปูลาดด้วยผ้าโกเชาว์ ล้วนลาดด้วยเครื่องลาดที่งดงาม ประดับด้วยเครื่องอลังการน่าตระการตา พระองค์เคยบรรทมเป็นสุข ในท่ามกลางพระแท่นที่บรรทมเช่นนั้น ไฉนจะทิ้งไว้เล่า ชอบใจอยู่ในป่าแต่พระองค์เดียว.
เวลาพลบค่ำ มีการฟ้อนรำส่งสำเนียงเสียงตะโพนสำทับ ดนตรีรับประสานเสียง ล้วนแต่สตรีไม่มีบุรุษเจือปน การขับการประโคมก็ล้วนแต่ไพเราะเสนาะโสต ไฉนจะทิ้งไว้ ชอบใจอยู่ในป่าแต่พระองค์เดียว.
พระราชอุทยานนามว่า มิคาชินวัน บริบูรณ์ด้วยบุปผชาตินานาพรรณ พระนครนั้นประกอบด้วยพระราชอุทยานเช่นนี้ น่ายินดีเพลิดเพลินเจริญใจ ทั้งมั่งคั่งด้วยม้า รถ คชสาร ไฉนจะทิ้งไว้เล่า ชอบใจอยู่ในป่าแต่พระองค์เดียว.


Create Date : 29 สิงหาคม 2554
Last Update : 29 สิงหาคม 2554 13:38:49 น. 0 comments
Counter : 493 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.