Group Blog
 
All blogs
 

เวทนา





วันนี้มาฝังเข็มกระตุ้นไฟฟ้ารักษาเรื่องกระดูกทับเส้น เจอกับเวทนาที่แรงกล้า


เปิดโอกาสให้ได้เจริญสติปัฏฐาน 4


ตลอดระยะเวลาในการรักษา บางครั้งกายก็ชัดบางครั้งจิตก็ชัด

 แต่รวมแล้วเวทนาจะชัดกว่า และเจริญธรรมไปด้วย

ระหว่างนั้นคิดว่า ถ้าเรากำลังใกล้จะตายแล้วมีเวทนาแรง

เราจะมีกำลังสติ มองเห็นเวทนาแยกออกจากจิตได้ไหม

และถ้าเราเจริญสติปัฏฐาน ในช่วงทีเรากำลังจะตาย

เราจะพ้นจากอบายไหม


ทำให้นึกถึงคุณของบรมครูศาสดาเอกของโลก

รวมถึงคำสอนคุณครูบาจารย์ ทุกรูป/ท่าน.....


อาจารย์กำพล ทองบุญนุ่มที่สอนให้....แยกจิตออกจากความคิด


กราบหลวงพ่อเทียน ที่สอนให้.....แยกกายออกจากจิต


กราบหลวงพ่อปราโมทย์ ที่สอนให้.....เห็นสภาวะธรรมและกิเลสอย่างละเอียด


กราบหลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสีที่สอน......ภูมิของวิปัสสนา


กราบหลวงพ่อพระครูปรีชาธรรมวิธาน ที่สอน.....เรื่อง โพชฌงค์ 7 สัปปุริสธรรม 7


กราบหลวงปู่ดูลย์ที่ท่านสอนในเรื่อง.....อริยสัจแห่งจิต


รวมถึงครูบาจารย์ทั้งหลายที่ไม่ได้เอ่ยถึงด้วยคะ


_/_ _/_ _/_




 

Create Date : 29 สิงหาคม 2560    
Last Update : 29 สิงหาคม 2560 11:33:27 น.
Counter : 715 Pageviews.  

อย่าอุเบกขาแบบ...ควาย



ทุกครั้งที่เกิดปัญหา ผู้คนในสังคมไทยมักส่งเสียงเตือนกันอย่างคุ้นชินว่า "ช่างมันเถอะ" แต่ก่อนที่ใจของเราจะพูดคำว่า "ช่างเถอะ" ได้ ปฏิกิริยาภายในต้องเดินทางไปสู่การ "ยอม" เสียก่อน เพราะถ้ายอมได้จะปล่อยได้ จึงช่างมันได้


สังคมไทยมีมุมหนึ่งที่สดสวยและงดงาม ด้วยหัวใจที่พร้อมต่อการยอมและให้อภัยของคนในชาติ เป็นสังคมเปี่ยมสุข ที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม คนไทยส่วนใหญ่เกือบทั้งประเทศจึงสามารถยิ้มได้ ทุกที่ ทุกเวลา และทุกสถานการณ์ ด้วยค่านิยมพื้นฐานในสังคมไทย ที่บ่มเพาะ "การยอม" ตามคำสอน...อุเบกขา


อุเบกขาหรือการทำใจให้เป็นกลาง เป็นภาวะที่บังเกิดขึ้นภายในใจ เมื่อการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อการแก้ไขเดินทางต่อไปไม่ได้แน่แล้ว การปล่อยใจให้ยอมรับกับความจริงตรงหน้า อย่างมีใจเป็นกลาง จึงเป็นทางออกสุดท้ายในการแก้ปัญหาทุกชนิดในโลก


ปัญหาโลกแตกที่มักเริ่มต้นจากเรื่องข้างใน แล้วจึงลุกลามออกไปเป็นเรื่องข้างนอก


หลายเดือนก่อนหน้านี้...ฉันวนเวียนอยู่กับปัญหาของตัวเอง ปัญหาเรื่องงานที่แก้ไขให้สิ้นซากไม่ได้เสียที เพราะบุคคลที่เกี่ยวข้องยังไม่พร้อมที่จะเปลี่ยน


ฉันต้องวนเวียนอยู่กับความอึดอัด กับอาการชักเย่อของใจด้วยใจหนึ่ง...พร้อมที่จะออกไป "สู้" ตามอุปนิสัยพื้นฐานของตน แต่อีกใจหนึ่งก็อยากทำตามเสียงเรียกร้องของสังคมรอบด้านที่บอกให้ "ยอม"


ฉันควรจะสู้ หรือฉันควรจะยอม กลายเป็นคำถามที่สร้างความอึดอัดคับข้อง รบกวนความสุขด้านใน จนหัวใจไร้ความสงบ กระทั่งวันหนึ่ง...เมื่อได้อ่านบทธรรมของหลวงพ่อชา และเจอคำสอนในการแก้ปัญหาที่ว่า...จงอย่าอุเบกขาแบบควาย


ท่านอาจารย์เน้นย้ำว่า อย่าใช้อุเบกขาแบบพร่ำเพรื่อผิดเวลา เช่น หากนั่งสมาธิอยู่กลางแจ้งแล้วเกิดฝนตก หน้าที่ของเราคือหลบ...ไม่ใช่ทน การแก้ปัญหาด้วยการวางอุเบกขานั่งตากฝน จึงไม่ใช่ทางออกของชีวิต เพราะเมื่อฝนตก เราอาจต้องเปียก แต่เราไม่จำเป็นต้องเปียก เพียงแค่เรา "ขยับ" การนั่งทนตากฝนเปียกปอนไม่ขยับเขยื้อน จึงไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่มีปัญญา หากแต่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของวิธีคิดแบบไทยๆ ที่เผลอวางอุเบกขา...แบบควาย


เกิดเป็นลำแสงเล็กๆ ที่วาบขึ้นด้านในหัวใจ เสมือนคนที่เดินหลงทางอยู่ในห้องมืดมาอย่างยาวนาน แค่เพียงได้หันมองมุมใหม่ จึงเห็นลำแสงส่องสว่างปรากฏขึ้นปลายทาง แม้จะเป็นเพียงจุดเล็กๆ แต่นั่นก็คือจุดเริ่มต้นที่แสนจะเป็นสุข ด้วยค้นพบแล้วว่า...อะไรคือเหตุแห่งความอึดอัดภายในของฉัน กับการไม่ยอมอุเบกขาแบบควาย


ด้วยเกิดมาเป็นสตรีไทยพันธุ์ประหลาด ที่สอบไม่ผ่านมาตรฐานวิธีคิดทั่วไปของคนในชาติ จึงเคยชินต่อการเลือกวิธีแก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิต ด้วยการสู้...มากกว่าถอย ความอึดอัด...จึงอยู่ตรงนี้


ด้วยคิดผิดบิดมุมไปเพียงนิดเดียว การดิ้นรนต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมของฉัน จึงกลายเป็นสงครามภายในที่ทำลายล้างตัวเอง


เพราะทางออกที่ใครๆ บอก ดูเหมือนมีเพียงการยอมแพ้ หรือไม่ก็ยอมจำนน หาใช่การ "ยอมรับ" ซึ่งเป็นความหมายโดยธรรม ตามหลักการอุเบกขาไม่


คำสอนของท่านหลวงพ่อชาประโยคนี้ จึงเตือนสติให้ฉันรู้ว่า เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ฉันต้องยุติสงครามภายในให้ได้ด้วยการ"ยอมรับ" ตามความเป็นจริงที่มันเป็น ว่าเราได้อดทนพยายามแก้ไขสิ่งนั้นมาอย่างยาวนาน...กว่าครึ่งปีแล้ว เป็นการ "ยอมรับ" ที่จะอยู่กับการไม่ได้ดั่งใจ จนเกิดคลื่นความสงบภายใน ด้วยใจที่เป็นกลาง


แต่นั่นไม่ได้แปลว่าฉันต้องหยุดทำหน้าที่ เพราะเมื่อฝนตก อุเบกขาภายในจะช่วยทำให้ใจไม่หงุดหงิด แต่การทำหน้าที่ภายนอกเพื่อการแก้ไข ยังคงต้องมีอยู่ จึงเกิดปัญญารู้ว่าควรขยับ ปัญหาความเปียกปอนที่กาย...จึงหายไป ปัญหาความหงุดหงิดใจภายใน...ก็ไม่มี พบคำตอบให้กับตัวเองว่า จงยอมรับสภาพของปัญหาที่มันลุกลามเกินการแก้ไขเถิด และไม่ต้องไปโกธรหรือเสียใจกับมัน เพียงดึงใจกลับมาสู่ความสงบและเยือกเย็นอย่างต่อเนื่อง


จึงเหลือเพียงการทำหน้าที่ภายนอก เพื่อเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงอย่างมีคุณภาพต่อไป มีเพียงการกระทำ...แต่ไม่มีผู้กระทำ ด้วยซาบซึ้งแล้วว่าจงยอมรับ...แต่อย่ายอมจำนน


ที่มา posttoday









 

Create Date : 26 เมษายน 2553    
Last Update : 26 เมษายน 2553 14:52:14 น.
Counter : 415 Pageviews.  

ติดครูบาอาจารย์



โดย พระอาจารย์สุเมโธ (สุเมโธภิกขุ)
วัดอมราวดี เมืองฮาร์ดฟอร์ด ประเทศอังกฤษ


อาตมาได้รับคำขอร้องให้พูดถึงเรื่องความนิยมชมชอบสิ่งหนึ่งมากกว่าอีกสิ่งหนึ่ง
คนเรานั้นมีนิสัยเลือกที่รักมักที่ชัง
คือนิยมขนบธรรมเนียมอย่างหนึ่งมากกว่าอีกอย่างหนึ่ง
หรือชอบอาจารย์ท่านหนึ่งมากกว่าอีกท่านหนึ่ง

ชอบมากถึงขนาดไม่สามารถจะรับฟังคำสอนจากอาจารย์ท่านอื่น
นี้เป็นเรื่องที่เราพอจะเข้าใจได้ เพราะถ้าเราชอบใครแล้ว
เราก็เปิดใจรับฟังคำสอนของผู้นั้น และปิดใจไม่ยอมรับฟังคำสอนคนอื่น

หลักของพระพุทธศาสนานั้น
สอนให้เราเคารพบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

เพื่อขจัดความหลงผิดที่ชอบไปแนบสนิทกับอาจารย์ผู้วิเศษ
พระสงฆ์นั้น ถ้าท่านปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบตามพระวินัย
ก็ควรแก่การเคารพสักการะ และควรแก่การรับปัจจัยไทยทาน

นี้เป็นมาตรฐานที่ดีกว่าการที่จะเจาะจงชอบรูปใดรูปหนึ่ง
ซึ่งมีบุคลิกภาพถูกใจเรามิใช่หรือ
บางครั้งเราอาจะเรียนรู้ได้ไม่น้อยจากผู้ที่เราไม่ใคร่จะถูกใจ

ธรรมชาติของมนุษย์นั้นจะพยายามปรับตัวให้ไปตามทางของผู้ที่มีจิตใจตรงกัน
ยกตัวอย่างเช่น ที่วัดหนองป่าพง ทุกคนจะรู้สึกว่ามันง่ายเหลือเกินที่จะเชื่อฟัง
และทำตามคำแนะนำท่านอาจารย์ชา เพราะทุกคนเคารพเลื่อมใสในตัวท่านมาก

บางครั้งอาจจะมีคนที่ไม่พอใจหรือขุ่นเคืองบ้าง
แต่ด้วยบารมีความดีของท่านอาจารย์ คนนั้นก็ยอมปล่อยวางความเย่อหยิ่งอวดดีลงได้

แต่ก็มีบางครั้งที่เราต้องเผชิญกับพระภิกษุอาวุโส ผู้ซึ่งเราไม่ชอบ
เพราะเห็นความบกพร่องในการปฏิบัติ อย่างไรก็ดีการฝึกตนให้อยู่ในพระวินัยนั้น

ทำให้เรารู้จักประพฤติปฏิบัติในทางที่เหมาะที่ควร ไม่ใจแคบ หรือก่อการวิวาท
หรือพกเอาความคิดอกุศลไว้ในใจ การฝึกตนอย่างนี้เป็นการฝึกที่ดีมาก
อาตมาคิดเอาเองว่า บางครั้งท่านอาจารย์จงใจส่งเราไปอยู่กับคนบางคน
เพื่อให้เราลดทิฏฐิลงบ้าง ให้สุกงอมขึ้นบ้าง
และให้การเรียนรู้การปฏิบัติที่ถูกที่ควร ไม่ทำตามอารมณ์ของเราเสมอไป

พวกเราแต่ละคน ย่อมมีบุคลิกภาพเป็นของตนเองของมันอย่างนั้น
ไม่ว่าจะเป็นลักษณะที่มีเสน่ห์น่าคบหรือเป็นคนน่าเบื่อ มันเป็นเรื่องช่วยไม่ได้
และนั่นก็ไม่ธรรมะ มันเป็นเรื่องของความนิยมชมชอบ

การปฏิบัติธรรมนั้น หมายถึงว่าเราไม่ยึดอยู่กับมิตรภาพ
หรือเสาะแสวงหาทางที่จะอยู่กับผู้ที่เราชอบพอเคารพนับถือ
แต่จะรักษาความสมดุลให้ได้ในทุกสภาวะ

ดังนั้น การฝึกตัวเราให้อยู่ในพระวินัย ก็คือการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบด้วย
กาย วาจา ใจ ไม่กล่าวร้าย ใจแคบ ดุดัน หรือโอ้อวด
อาตมาสังเกตเห็นคนในประเทศนี้เขาชอบเกาะแน่นกับอาจารย์ เขามีการพูดว่า

“ท่านนี้คืออาจารย์ของผม ผมจะไปหาอาจารย์อื่นอีกไม่ได้ เพราะผมจงรักภักดีต่อท่าน”

นี่เป็นความจงรักภักดีแบบอังกฤษแท้ จนบางครั้งก็ดูจะเกินไป
คือเราไปเกาะติดอยู่กับอุดมคติหรือตัวบุคคล มากกว่ายึดถือความจริง

สรณะของเรานั้น คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ถ้าท่านไม่ฟั่นเฟือนจนเกินไป ท่านก็คงไม่ยึดท่านอาจารย์ชาหรือองค์ดาไลลามะ
หรือพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเป็นสรณะ ท่านอาจจะพูดว่า

“อาจารย์สุเมโธเป็นอาจารย์ของผม ท่านธีระธรรมโมไม่ใช่
ผมเรียนจากท่านสุจิตโตเท่านั้น ไม่เรียนจากผู้อื่น”

อะไรทำนองนี้ การพูดเช่นนี้เป็นการสร้างปัญหามิใช่เหรอ หรือจะพูดว่า

“ผมนับถือศาสนาฝ่ายเถรวาท ไม่อาจจะเรียนรู้จากพระธิเบตหรือพระลัทธิเซ็น”

มันง่ายสำหรับเราที่จะฝักใฝ่ในลัทธิใดลัทธิหนึ่ง
เพราะถ้ามีอะไรแปลกไปจากที่เราเคยนับถือแล้ว

เราก็โทษว่าสิ่งนั้นไม่ถูกต้องไม่บริสุทธิ์ แต่ในสมาธิภาวนานั้น
เรามุ่งสู่สัจธรรม ความรู้แจ้งเห็นจริง ไม่ไปติดอยู่ในป่าทึบแห่งความเห็นแก่ตัว
ความทะนงยโส และความรักใคร่ชอบพอ

ไม่ฉลาดเลยที่จะไปเกาะแนบแน่นอยู่กับอาจารย์ท่านใดท่านหนึ่ง
จนถึงขนาดไม่ยอมเรียนรู้จากอาจารย์ท่านอื่นๆ

แล้วก็มีอาจารย์บางท่านชอบสนับสนุนให้เกิดท่าทีดังที่กล่าวแล้ว คือท่านจะบอกว่า

“เมื่อยอมรับเราเป็นอาจารย์ของเธอแล้ว จะไปหาอาจารย์อื่นอีกไม่ได้
หรือจะไปเรียนวิธีปฏิบัติอย่างอื่นก็ไม่

มีอาจารย์จำนวนไม่น้อยที่มัดตัวเราให้ติดอยู่กับท่านด้วยวิธีนี้
แต่ละท่านก็มีเหตุผลที่ดีของท่านเหมือนกัน

ไม่ช้าก็ย้ายไปอยู่กับอีกท่านหนึ่งย้ายไปเรื่อยๆ
แล้วก็ไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยสักอย่างเดียว

แต่อาตมาคิดว่าปัญหานั้นไม่สำคัญ อยู่ที่ชอบ จ่ายตลาด
แต่สำคัญตรงที่ไปติดอาจารย์ท่านใดท่านหนึ่ง
หรือติดวิธีปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งจนถึงขนาดปฏิเสธอย่างอื่นหมด
การทำเช่นนั้นเป็นแยกลัทธิ แยกนิกาย จนไม่รู้จักปัญหา ไม่อาจจะเรียนรู้สิ่งอื่นใด

นอกเหนือไปจากที่เคยได้ยินได้ฟังมา ทำให้เราตกอยู่ในที่แคบแล้วเกิดความกลัว
คือกลัวจะไปได้ยิน ได้ฟังคำสอนของอาจารย์อื่นแล้วเกิดความสงสัยลังเลใจ
กลายเป็นคนขาดความจงรักภักดีต่อขนบธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติอยู่

การดำเนินทางพระพุทธศาสนานั้นคือการพัฒนาปัญญา
ความจงรักภักดีและการอุทิศกายใจเป็นเครื่องช่วยก็จริงอยู่
แต่ถ้ามันจบอยู่ในตัวเองของมันเองตรงนั้นมันก็กลายเป็นเครื่องกีดขวาง

คำว่า “ปัญญา” ในที่นี้ หมายถึงว่าเราต้องใช้ความฉลาดในการทำสมาธิภาวนาของเรา
เราจะใช้ความฉลาดอย่างไรก็โดยให้รู้จักลักษณะเฉพาะของความอวดดี ความหยิ่งยโส
ตลอดจนความยึดมั่นถือมั่นในความคิดเห็นของเรา

ในโลกธรรม ในขนบธรรมเนียม และตัวครูบาอาจารย์
ที่กล่าวเช่นนี้มิได้หมายความว่า ให้เราคิดว่าเราไม่ควรยึดมั่นในสิ่งใด
หรือให้เราละทิ้งสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด เช่นนั้นไม่ใช่ความฉลาด

เพราะปัญญาในที่นี้ คือความสามารถที่จะเฝ้าสังเกตความยึดมั่นถือมั่นนั้น
และทำความรู้ความเข้าใจ แล้วก็ปล่อยวางไป
ไม่ไปยึดอยู่กับความนึกคิดว่าจะไม่ยึดมั่นถือมั่น
เพราะการยึดอยู่กับความนึกคิดเช่นนั้น ก็เป็นการยึดมั่นถือมั่นอีกเช่นกัน

ทีนี้ถ้าให้เข้าใจว่าการยึดเหนี่ยวก็ยังมีประโยชน์อยู่บ้าง
ก่อนที่เราจะหัดเดินเราก็ต้องหัดคืบก่อน
คงไม่มีมารดาคนใดบอกลูกน้อยของตนว่า
“อย่ามัวตะเกียกตะกายอยู่อย่างนั้น ลุกขึ้นเดินเลย”

หรือพูดว่า “ลูกกินนมแม่ ลูกจึงต้องเกาะ และพึ่งแม่ไปตลอดชีวิต”

ทารกน้อยย่อมต้องการแม่และต้องพึ่งแม่เป็นธรรมดา
ถ้ามารดามีความมุ่งหมายจะให้ลูกยึดเกาะและพึ่งเธอตลอดไป
เช่นนั้นไม่ใช่ความฉลาด แต่ถ้าเรายอมให้คนมาพึ่งเรา
หรือยึดเหนี่ยวอยู่กับเราเพื่อจะให้กำลังใจแก่เขา
จนเขามีกำลังแข็งแรงเองแล้วเขาก็จากเราไป
เช่นนั้นเป็นความรัก ความเมตตาใช่ไหม

กฎและระเบียบต่างๆ เป็นเรื่องที่เราจะต้องนำมาปฏิบัติให้เหมาะสม
กับกาละเทศะด้วยความพินิจพิเคราะห์อย่างฉลาดและเรียนรู้จากการปฏิบัตินั้น
ไม่ใช่จะไปก่อให้เกิดความนึกคิดว่าเราจะไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด
ฐานะของพระภิกษุสงฆ์นั้นจะอยู่ได้ก็ต้องพึ่งคนอื่น
เราจะต้องพึ่งปัจจัยสี่ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่พักอาศัย และยารักษาโรค
เราไม่มีเงินทองจะจับจ่ายใช้สอย ไม่มีทางจะหุงหาอาหารเอง
ไม่อาจจะปลูกข้าวเลี้ยงท้องตนเองได้
เราต้องพึ่งความเมตตาของผู้อื่นในสิ่งจำเป็นเพื่อดำรงชีวิต มีคนเขาพูดว่า

“ทำไมไม่ปลูกผักปลูกข้าวเลี้ยงตนเองล่ะ ยืนอยู่บนขาตนเองสิ ไม่ต้องไปพึ่งคนอื่น”

ที่ว่านั้นคือค่านิยมอันเป็นที่น่ายกย่องในสังคมเราใช่ไหม
คือเลี้ยงตนเอง เป็นอิสระ ไม่เป็นหนี้บุญคุณใคร ไม่ต้องพึ่งผู้ใด
แต่กฎเกณฑ์เหล่านี้พระสมณโคดมได้ทรงบัญญัติไว้
ไม่ใช่อาตมาเป็นผู้กำหนดขึ้น ถ้าอาตมาเป็นผู้กำหนดก็อาจจะเป็นอีกแบบหนึ่ง
มันเป็นการดีมิใช่หรือที่เราเลี้ยงตัวเองได้ มีสวนครัวเล็กๆ ของอาตมา
มีเงินทุนไว้ใช้สอยสักก้อนหนึ่ง และมีกระท่อมน้อยเป็นของอาตมาเอง

เมื่ออาตมาบวช อาตมาไม่รู้ว่าจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง
ต่อมาจึงรู้ว่า จะต้องพึ่งผู้อื่นในทุกสิ่งทุกอย่าง
ครอบครัวของอาตมาเป็นคนผิวขาว ชนชั้นกลาง เชื้อสายแองโกล-แซกซอน
ยึดมั่นในปรัชญายืนอยู่บนขาตนเอง เป็นอิสระ ไม่พึ่งใคร
อย่างนี้ในอเมริกาเขาเรียกว่า “ดับเบิลยู. เอ.เอส.พี.”

หมายความว่าผิวขาว แองโกล-แซกซอน และเป็นโปรเตสแตนท์
ไม่เหมือนคนยุโรปบางประเภทที่ติดแม่แจ
ท่านเป็นอิสระสิ้นเชิงจากพ่อแม่ ไม่อยู่ใต้อาณัติใคร
ไม่มีโป๊ป ถ้านับกับในสังคมแล้ว ท่านก็เป็นชนชั้นยอด
แต่แล้วอาตมาก็มาอยู่ในเมืองพระพุทธศาสนา บวชเป็นสามเณรเมื่ออายุสามสิบสองปี

ในประเทศไทยนั้น เด็กผู้ชายเขาบรรพชาเป็นสามเณร ลองนึกภาพดูซิ
ตัวสูงโย่งถึงหกฟุตสองนิ้ว อายุก็ปาเข้าไปถึงสามสิบสองปี แต่ต้องมานั่ง
และฉันอาหารทุกมื้อกับพวกเด็กเล็กๆ มันน่ากระอักกระอ่วนขวยเขินเพียงใด
อาตมาต้องพึ่งคนอื่นในเรื่องอาหารและทุกสิ่งทุกอย่าง
เงินทองจะจับจ่ายใช้สอยก็ไม่มี อาตมาจึงคิดในใจว่า

“เอ...นี่มันเพื่ออะไรกัน คุณค่าของมันอยู่ที่ไหน
พระพุทธประสงค์นั้นคืออะไร ทำไมท่านจึงทรงทำเช่นนี้
ทำไมจึงไม่ทำตามค่านิยมแบบของโยมพ่อโยมแม่ของอาตมา”

แต่แล้วอาตมาจึงได้เริ่มหยั่งรู้ถึงคุณค่าของความจำเป็นและ
ความงดงามในการที่พึ่งผู้อื่นในทางที่ถูกต้อง และยอมรับการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
การเรียนรู้ที่จะต้องพึ่งคนอื่นเขาอีกนั้น ต้องอ่อนน้อมถ่อมตนไม่น้อยมิใช่หรือ
คนถือตัวและหยิ่งยโสเท่านั้นที่จะคิดว่า ฉันไม่ต้องการเป็นหนี้บุญคุณของใคร ณ ที่นี้
เราอ่อนน้อมถ่อมตน เรียนรู้การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
เราต้องพึ่งอนาคาริก แม่ชี พระภิกษุ และชาวบ้าน
แม้อาตมาจะเป็นพระอาวุโส อาตมาก็ยังต้องพึ่งท่านทั้งหลายอยู่
ให้พิจารณาอย่างนี้อยู่เสมอในชีวิตของเรา มันเป็นการพึ่งพาอาศัยที่ตั้ง
อยู่บนฐานของระเบียบข้อปฏิบัติ ในวัตถุที่เป็นของโลก
และด้วยความรัก ความเมตตา ไว้เนื้อเชื่อใจกัน
ในสังคม หรือองค์การ หรือกลุ่มใดก็ตาม ท่านอย่าไปหวังว่าจะมีความดีพร้อมไปหมด
หรือว่ามันจะจบในตัวของมันเอง ถ้าหวังมากเท่าใด ก็จะผิดหวังมากเท่านั้น
อาจารย์ท่านใดที่ท่านไปยึดเกาะอยู่ สักวันหนึ่งอาจจะทำให้ท่านผิดหวังในบางเรื่องก็ได้
กล่าวคือ แม้ท่านจะเป็นอาจารย์ผู้วิเศษ วันหนึ่งท่านก็จะต้องตาย
หรือมิฉะนั้น ท่านอาจจะลาจากสมณเพศ ไปแต่งงานกับเด็กอายุสิบหกปี...
หรือจะทำอย่างอื่นใดก็ได้ เมื่ออาตมายังเป็นพระหนุ่มอยู่ นั่งเฉยๆ ก็เลยคิดไปว่า
เอ เราจะทำอย่างไรล่ะ ถ้าอยู่ๆ ท่านอาจารย์ชาเกิดเอะอะขึ้นมาว่า

“พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องน่าขันสิ้นดี ฉันไม่อยากจะยุ่งด้วยแล้ว
จะสึกออกไปแต่งงานกับเศรษฐีนีดีกว่า”

หรือว่าถ้าท่านอาจารย์พุทธทาสท่านเอ่ยขึ้นว่า

“ไอ้การศึกษาพุทธศาสนาตลอดเวลาที่แล้วมานั้น
มันเป็นเรื่องเหลวไหล เสียเวลาเปล่าๆ ฉันไปเป็นชาวคริสต์ดีกว่า”

แล้วอาตมาจะทำอย่างไร และในขณะนี้ถ้าท่านสุจิตโต ท่านธีระธรรมโม
ตลอดจนบรรดาท่านทั้งหลายพากันหนีจากที่นี่ไปกันหมด แล้วอาตมาจะทำอย่างไร

ความเป็นพระภิกษุของอาตมาต้องขึ้นอยู่กับการสนับสนุนจากทุกๆ คนที่อยู่รอบๆ อาตมา
หรือขึ้นอยู่กับคำประกาศของท่านอาจารย์ชา และองค์ดาไลลามะเช่นนั้นหรือ
การบำเพ็ญเพียรภาวนาของอาตมาต้องอาศัยการสนับสนุนค้ำจุนจากผู้อื่น
และให้ท่านเหล่านั้นต้องดำรงความดีงามไว้ตามที่อาตมาคาดหวังไว้อย่างนั้นหรือ
ถ้าเป็นเช่นนั้นมันก็ย่อมสลายได้ง่าย ใช่หรือไม่

เมื่ออาตมามาบวชใหม่ๆ เคยนึกอยู่เสมอว่า จะต้องมั่นใจในความรู้สึกลึกซึ้งของตนเอง
ไม่ต้องพึ่งพาใคร และในโอกาสที่จะปลดเปลื้องความคิดผิดๆ ก็มีอยู่
แต่อาตมาไปยึดอยู่กับความนึกคิดเช่นนั้น
แทนที่จะปล่อยให้การพึ่งพาอาศัยกันเป็นไปตามทางที่ถูกที่ควร
เพราะฉะนั้น ในการดำเนินชีวิตของท่านทั้งหลายให้ตั้งคำถามตนเองว่า
ที่มาบวชครั้งนี้ จะบวชเป็นพระหรือเป็นชีก็ตาม
เป็นเพราะอาศัยอาตมาสนับสนุนหรือว่าหวังรางวัลอะไรในภายหน้า
หรือว่าใจของท่านมุ่งที่จะรู้สภาพตามความเป็นจริงของความจริงแท้ (สัจธรรม)
ขอท่านทั้งหลายตั้งมั่นอยู่ในระเบียบวินัย เพียรพยายามปฏิบัติต่อไปจนถึงที่สุด
แม้ว่าจะเริ่มรู้จักปลดเปลื้องความคิดผิดๆ ใดบ้างก็อย่าได้ละความเพียร

อาตมาจำได้เมื่อครั้งอยู่วัดหนองป่าพง บางขณะรู้สึกเบื่อหน่าย
มองพระเณรอื่นๆ ในแง่ที่ไม่ดี มิใช่ท่านเหล่านั้นประพฤติมิชอบ
แต่เป็นเพราะใจอาตมาหดหู่เองจึงมองสิ่งต่างๆ ในแง่ที่ไม่เป็นมงคล
ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องคอยเฝ้าสังเกตความรู้สึกเช่นนั้น

“เพราะผู้ที่อดทนต่อสิ่งที่ทนได้ยากเท่านั้น จะสามารถทนต่อสิ่งทั้งปวงได้”

เหตุนั้น การที่เรามาอยู่กันที่นี่ ไม่ใช่มามองหา “อาจารย์ของฉัน”
แต่ตั้งใจตั้งเรียนรู้ เรียนจากหนู จากยุง
จากอาจารย์ที่เราเคารพนับถือ และจากคนทุกๆ คน

เมื่อปีกลายอาตมากลับไปประเทศไทยเพื่อไปเยี่ยมท่านอาจารย์ชา
ไปพบว่าอาจารย์ป่วยหนัก แทนที่จะเห็นลักษณะกระฉับกระเฉง
ใยดี มีอารมณ์ขัน น่ารักน่านับถือ อย่างที่อาตมาเคยรู้จักก่อน
กลับกลายเป็นเหมือนก้อนเนื้อหนึ่งตั้งอยู่เฉยๆ อย่างนั้น แล้วอาตมาอาจคิดไปว่า

“โธ่เอ๊ย ท่านอาจารย์ที่เคารพของผม ไม่น่าเป็นอย่างนี้ไปได้
ผมอยากจะให้ท่านอาจารย์กลับคืนสู่สภาพท่านอาจารย์ชาผู้ที่ผมเคยพบเห็น
เคยนั่งอยู่แทบเท้าฟังคำสั่งสอนของท่าน”

หรือท่านอาจจะพูดว่า

“ยังจำคำสอนอันฉลาดแหลมคมของท่านอาจารย์ได้ไหม”

เมื่อมีใครมาคุยว่าอาจารย์ของเขาสอนอย่างนี้
ท่านก็มานั่งเปรียบเทียบว่าอาจารย์ของใครจะฉลาดแยบคายกว่ากัน
แล้วเมื่ออาจารย์ของท่านนั่งนิ่งเป็นก้อนเนื้ออยู่เฉยๆ เช่นนั้น ท่านก็จะพูดว่า

“โอ ผมเลือกอาจารย์ผิดไปเสียแล้ว”

เจ้าความอยากที่จะได้อาจารย์ผู้ดีเลิศ
ผู้ไม่เคยทำให้ท่านผิดหวังนั่นแหละคือ “ความทุกข์” ใช่ไหม

จุดสำคัญในคำสอนทางพระพุทธศาสนาคือ
ให้สามารถเรียนรู้จากอาจารย์ ทั้งที่ท่านยังมีชีวิตอยู่หรือที่ได้สิ้นไป

หากว่าท่านอาจารย์ชาท่านสิ้นไป
เราก็ยังสามารถเรียนรู้จากท่านได้ ก็โดยเพ่งดูที่ศพของท่านซิ
มีใครที่นี่สักกี่คนที่สมัครใจจะมองดูศพของคนที่เรารัก
คนที่เราอยากจะเก็บเอาลักษณะอันแข็งแรงกระชุ่มกระชวย
ไว้ในความทรงจำของเราตลอดไป


ดูตัวอย่างโยมมารดาของอาตมา ท่านเก็บรูปถ่ายของอาตมาไว้ตอนนั้นอายุ ๑๗ ปี
เพิ่งจบจากโรงเรียนมัธยม แต่งชุดโก้ผูกไทเก๋ หวีผมเรียบแปล้ หล่อไม่เบา
รูปถ่ายนี้ยังแขวนอยู่ในห้องของโยมแม่

ก็ถ้าอาตมาตายและเปื่อยเน่าไป หนอนเข้าไปไชในลูกตา
แล้วมีคนถ่ายภาพส่งไปให้โยมแม่ !
และเมื่อเอาภาพไปเปรียบกับภาพของอาตมาเมื่ออายุ ๑๗ ปีแล้ว
มันจะโหดร้ายทารุณสักปานใดสำหรับท่าน
และนี่ก็เช่นเดียวกันกับเราระลึกถึงภาพท่านอาจารย์ชาเมื่อ ๕-๖ ปีก่อน
แล้วมาเห็นท่านตามที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ในฐานะที่เป็นนักปฏิบัติ บุคคลย่อมสามารถจะใช้ประสบการณ์ในชีวิตของตน
เป็นบทเรียนให้ศึกษาและไตร่ตรอง มิใช่จะคอยเรียกร้องให้อาจารย์ หรือบุตรธิดา
หรือมารดา หรืออะไรก็แล้วแต่ ยังคงสภาพดีพร้อมดังเดิมตลอดไป
เราเรียกร้องเช่นนั้นก็เพราะเรามิได้มองให้รู้อย่างแท้จริง
ไปยึดภาพพจน์หรืออุดมคติอย่างใดอย่างหนึ่ง
โดยไม่สอบถามและศึกษาให้เกิดความรู้ขึ้นมา

สำหรับนักปฏิบัติแล้ว ถ้าเราพร้อมที่จะเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะเป็นครูของเรา
ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จหรือความล้มเหลว ความทรงจำอันสวยงามหรือไม่งาม
ที่ยังมีชีวิตอยู่หรือสิ้นไปแล้วก็ตาม ทีนี้เราเรียนรู้อะไรล่ะ
เรียนรู้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวง เหล่านี้ล้วนเป็นเห็นเพียงสภาวะของจิตเท่านั้น
เราปรุงแต่งขึ้นมาเองแล้วไปยึดเอาไว้
แล้วสิ่งที่เรายึดนั่นแหละจะทำให้เราสิ้นมานะและตายในที่สุด
เพราะฉะนั้น ให้เราเรียนรู้อย่างนั้น เมื่อรู้แล้วก็ปล่อยวางไป
เรายอมให้ชีวิตเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ
และมองมันอยู่ให้สิ่งที่เกิดปัจจัยปรุงแต่งนำเราไปสู่สภาวะที่ไม่มีการปรุงแต่ง
แม้แต่ความกำสรวลโศกเศร้าของเรา ก็ให้เป็นเครื่องนำไปสู่ความว่าง
ความเป็นอิสระหลุดพ้น จะทำให้อย่างนั้น
เราจะต้องอ่อนน้อมตน และอดทนอย่างยิ่งทีเดียว

ถ้าเราไม่มีอะไรจะให้เราเลือกมาก ชีวิตของเราบางครั้งก็จะเรียบง่าย
ถ้าท่านมีอาจารย์เก่งๆ หลายท่านด้วยกัน
ได้ฟังคำสอนอันฉลาดแหลมคมจากท่านเหล่านั้น
บางครั้งอาจทำให้ท่านงุนงงคว้าอะไรไม่ถูก
อย่างไรก็ดี นักปราชญ์ผู้ฉลาดเลิศทั้งหลายในโลกนี้
ก็คือสภาวะของจิตเราเท่านั้น องค์ดาไลลามะก็ดี
ท่านอาจารย์ชาก็ดี ท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านเจ้าคุณปัญญานันทะ
โป๊ป อาชบิชอบแห่งแคนเตอร์เบอรี่ มากาเร็ต แธ็ตเชอร์ นายแรแกน ฯลฯ
มิใช่อะไรอื่น ล้วนเป็นสภาวะของจิตเราทั้งนั้น เราชอบ เราไม่ชอบ
เราลำเอียง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องปรุงแต่ง ท่านฟังอาตมาบอก
ท่านก็เชื่อได้ง่ายๆ เพราะมันง่ายกว่าที่ท่านจะไปค้นหาเอาเอง
แต่การเชื่อตามที่อาตมาบอก มิใช่การหล่อเลี้ยงตัวท่าน
ปัญญาเท่านั้นเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงตัวเรา
ท่านต้องใช้ด้วยตัวท่านเอง มิใช่เพียงเชื่ออาตมา

วิถีแห่งพุทธธรรมเป็นอย่างนี้ คือเป็นทางที่พวกเราแต่ละคน
จะได้รู้สภาพความเป็นจริงของความจริงแท้ (สัจธรรม)
เราย้อนหลับมาสู่ตัวเราอีกครั้งหนึ่ง มองดูและไตร่ตรองในชีวิตของเราเอง
แทนที่จะไปติดตรึงแนบแน่นอยู่กับสิ่งจะทำให้เราเขวไปในทางตรงกันข้าม

ที่อาตมาพูดในคืนนี้ โปรดนำไปพิจารณาไตร่ตรองให้ดีอย่าเพิ่งเชื่อหรือไม่เชื่อ
ถ้าท่านมีความคิดเห็นเป็นอย่างอื่นก็ไม่เป็นไรดอก
ขอให้มองดูความคิดเห็นนั้นว่าเป็นสภาวะของจิตของท่าน แล้วเรียนรู้จากมัน


ที่มา : “ติดครูบาอาจารย์” ใน จิตตวิเวก : ธรรมะจากจิตอันสงบ รวมธรรมบรรยายของพระอาจารย์สุเมโธ วัดอมราวดี ประเทศอังกฤษ
นายแพทย์วิเชียร สืบแสง แปลจาก Cittaviveka : Teaching from the the silent mind. ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๒๖, หน้า ๙๙-๑๑๑.
//www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13106










 

Create Date : 09 เมษายน 2553    
Last Update : 26 เมษายน 2553 14:58:43 น.
Counter : 432 Pageviews.  

ธรรมะเตือนใจ





ฟังธรรมะจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์มาหลายรูป แต่ละรูปท่านก็ลงแนวทางเดียวกันหมด เพื่อให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ทุกวันนี้พอใจกับการเจริญในธรรม
ไม่ขอโต้แย้งกับใครเรื่องธรรม ฟังพระท่านเทศน์สอนมา ท่านก็ไม่เคยสอนให้มาเถียงกันเรื่องแนวทางปฏิบัติเพราะไม่ได้ทำให้เราพ้นทุกข์
-----------------------------------------------------------------------
โลกร้อนอย่าไปร้อนตามโลก

อยู่เหนือสิ่งมากระทบ

ทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เหมือนเครื่องทดสอบจิตใจ
ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป

พระอาจารย์ครรชิต สุทธิจิตโต วัดป่าภูไม้ฮาว

กิเลสอย่างละเอียด

ยึดครูบาอาจารย์
ยึดแนวทาง
ติดความว่าง

หลวงปู่ดู่




 

Create Date : 06 มกราคม 2553    
Last Update : 28 เมษายน 2553 6:46:11 น.
Counter : 558 Pageviews.  

ปัญหากับปัญญา





ได้ไปฟังพระเทศน์มา ท่านว่าปัญหาที่เกิดทุกวันนี้ก็เพราะความรู้สึกชอบใจและไม่ชอบใจ พระท่านสอนให้สำรวมอินทรีย์ เรียกว่าอินทรีย์สังวรศีล คือการสำรวมที่ใจ ท่านจึงให้มีปัญญาให้จิตทิ้งอารมณ์ให้เร็วที่สุดเร็วเท่ากับการกระพริบตา ตาเห็นรูปให้ดูที่ความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ หูได้ยินเสียงให้ดูที่ความรู้สึกชอบไม่ชอบ

ทุกสิ่งทีผ่านเข้ามาในชีวิต ให้ถือซะว่าเป็นแบบทดสอบจิตทดสอบใจ
ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป มันก็เท่านั้น ไม่มีอะไร

พระอาจารย์ครรชิต สุทธิจิตโต วัดป่าภูไม้ฮาว







 

Create Date : 20 พฤศจิกายน 2552    
Last Update : 8 กุมภาพันธ์ 2554 14:08:47 น.
Counter : 566 Pageviews.  

1  2  

vj01
Location :
กรุงเทพฯ Tokelau

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]













ยังกิญจิ สะมุทะยะธัมมัง สัพพันตัง นิโรธะธัมมันติ


สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา


สิ่งใดสิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา





Friends' blogs
[Add vj01's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.