All Blog
"เกษตรฯ"อัพเกรดข้าวไทยด้วยเทคโนโลยี่และนวัตกรรม

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมหารือ "การพัฒนาข้าวไทยครบวงจรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ" ตามนโยบายเกษตร 4.0 ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

นายอลงกรณ์ กล่าวถึงการ Re-Engineering การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตข้าวการแปรรูปและการตลาดตลอดห่วงโซ่โดยระดมความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภายนอกกระทรวงเกษตร ภาคเอกชนและภาคเกษตรกรชาวนา แบบ Win Win situation “ร่วมมือกัน และเข้มแข็งไปด้วยกัน” ทำงานเชิงระบบต่อเนื่องเพื่อรักษาคุณภาพและยกระดับมาตรฐานข้าวไทย ในประเด็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวการปลูกและหลังการเก็บเกี่ยว 




 




 

 

เริ่มจากการพัฒนาพันธุ์ข้าวตามนโยบายตลาดนำการผลิต ทั้งพันธุ์คัดพันธุ์หลัก พันธุ์ขยาย และพันธุ์จำหน่าย การลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อไร่ การรักษาคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยว โดยใช้เทคโนโลยีการเกษตรและนวัตกรรม ผ่านเครือข่าย AIC จังหวัด เข้าร่วมในพื้นที่จังหวัด อำเภอ จนถึงชุมชน ศูนย์ข้าวชุมชนอาสาพร้อมด้วยการบริหารจัดการน้ำด้วยพลังงานหมุนเวียนเพื่อเพาะปลูกข้าวอย่างเป็นระบบ ทั้งการใช้น้ำใต้ดิน และน้ำจากระบบชลประทาน

นายอลงกรณ์ ยังเน้นเรื่องการผลิตข้าว GAP และข้าวอินทรีย์จับคู่กับ โรงสี GMP /Organic และได้เสนอการทำ Contract Farming ระหว่างโรงสี กับชาวนาโดยเฉพาะนาข้าวแปลงใหญ่ แปลงข้าวอินทรีย์ เพื่อสร้างความมั่นใจข้าวที่มีมาตรฐาน

พร้อมเชื่อมโยงตลาดข้าวกับ ตลาดกลางสินค้าเกษตรในพื้นที่ชุมชน เสริมตลาดออนไลน์ และ Platform เช่น ไปรษณีย์ไทย การขยายสินค้า ผ่านระบบ โลจิสติกส์ที่เป็นช่องทางการตลาดข้าว ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดใหม่ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางตลาดสินค้าฮาลาลที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงในตลาดสินค้าเกษตรอาหารโลก




 




Create Date : 22 กรกฎาคม 2564
Last Update : 22 กรกฎาคม 2564 17:51:43 น.
Counter : 442 Pageviews.

0 comment
เบรกโรคใบด่าง ! เกษตรฯสร้างแปลงเกษตรกรผลิตท่อนพันธุ์มันสะอาด
"กรมวิชาการเกษตร"ป้องปัญหาโรคใบด่างเกรงจะทำให้ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังสะอาดขาดแคลน รุดส่งมอบคู่มือเทคโนโลยีผลิตท่อนพันธุ์มันสำปะหลังสะอาดและมีคุณภาพเผยเทคโนโลยีดังกล่าวได้จากโครงการวิจัยพัฒนาและขยายผลเทคนิคการผลิตท่อนพันธุ์มันสำปะหลังสะอาดและมีคุณภาพในพื้นที่ 951 ไร่ ผลิตท่อนพันธุ์ได้ถึงกว่า 12 ล้านท่อน และสร้างแปลงเกษตรกรผลิตท่อนพันธุ์มันสำปะหลังสะอาด 1,371 ไร่ มอบให้กรมส่งเสริมการเกษตรขยายผลในโครงการที่ได้รับอนุมัติจาก ครม.ต่อไป

นายสมบัติ  ตงเต๊า  รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า  ปัจจุบันการผลิตมันสำปะหลังของประเทศไทยได้เผชิญปัญหาการระบาดของโรคที่สำคัญ คือ โรคใบด่างมันสำปะหลังซึ่งมีสาเหตุจากเชื้อ Sri-Lankan Cassava Mosaic Virus รวมทั้งยังมีโรคสำคัญในพื้นที่ คือ โรคพุ่มแจ้สาเหตุจากเชื้อไฟโตพลาสมา  

โรคทั้งสองชนิดสามารถสร้างความเสียหายให้กับการผลิตมันสำปะหลังสูง 80-100 เปอร์เซ็นต์ โดยการแพร่กระจายของโรคผ่านทางท่อนพันธุ์ โดยสามารถเพิ่มขึ้นในอัตราส่วน 1:4-5 ในฤดูปลูกต่อไป  ทำให้แนวโน้มเพิ่มปัญหาการขาดแคลนท่อนพันธุ์มันสำปะหลังสะอาดและมีคุณภาพสูงขึ้นเรื่อย ๆ

กรมวิชาการเกษตรจึงอนุมัติให้สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน  ดำเนินโครงการวิจัยพัฒนาและขยายผลเทคนิคการผลิตท่อนพันธุ์มันสำปะหลังสะอาดและมีคุณภาพ ในปี 2563/64  


ภายในโครงการจะมี 2 กิจกรรม คือ การจัดทำคู่มือการผลิตท่อนพันธุ์มันสำปะหลังสะอาดและมีคุณภาพ จำนวน 10,000 เล่ม เป็นคำแนะนำให้เกษตรกรสามารถผลิตท่อนพันธุ์มันสะอาดไว้ปลูกเอง และได้ผลิตท่อนพันธุ์มันสำปะหลังสะอาดและมีคุณภาพ มากกว่า12 ล้านท่อน











 
ดร.ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กล่าวว่า คู่มือการผลิตท่อนพันธุ์มันสำปะหลังสะอาดและมีคุณภาพ มีสาระสำคัญ ประกอบด้วย ความสำคัญท่อนพันธุ์มันสำปะหลังสะอาดและมีคุณภาพ ลักษณะคุณภาพท่อนพันธุ์มันสำปะหลังสะอาดและมีคุณภาพ

เทคโนโลยีการผลิตท่อนพันธุ์มันสำปะหลังสะอาดและมีคุณภาพ การควบคุมคุณภาพแปลงผลิตท่อนพันธุ์มันสำปะหลังสะอาดและมีคุณภาพ พันธุ์มันสำปะหลังและลักษณะประจำพันธุ์ ลักษณะผิดปกติของมันสำปะหลังจากการขาดธาตุอาหาร

ลักษณะผิดปกติของมันสำปะหลังจากการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช การสำรวจและตรวจวินิจฉัยโรคใบด่างมันสำปะหลังและโรคพุ่มแจ้ แมลงศัตรูสำคัญและการป้องกันกำจัด และการเพิ่มอัตราการขยายพันธุ์มันสำปะหลัง ซึ่ง ดร. วารีย์ ทองมี หัวหน้าโครงการวิจัยและทีมวิจัยในกรมวิชาการเกษตรทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ร่วมกันวิจัยพัฒนาขึ้น เพื่อเร่งควบคุมแก้ไขปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลังและลดผลกระทบต่อเกษตรกรให้น้อยลง

โครงการผลิตท่อนพันธุ์มันสำปะหลังสะอาดและมีคุณภาพ มีการพัฒนาเทคนิคการผลิตท่อนพันธุ์สะอาดในพื้นที่ 951 ไร่ ได้ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังสะอาดและมีคุณภาพ  12,591,260 ท่อน ซึ่งมีการนำไปใช้ประโยชน์ในภารกิจของกรม การจำหน่าย และสร้างแปลงเกษตรกรผลิตท่อนพันธุ์สะอาดกระจายให้เกษตรกรได้นำไปใช้ขยายผลต่อไปสำหรับปี 2564/2565 จำนวน 3,251,062 ท่อน

สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน ได้รวบรวมข้อมูลการกระจายท่อนพันธุ์มันสำปะหลังสะอาดและมีคุณภาพ จากโครงการนี้ โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจังหวัดต่าง ๆ ในสังกัดกรมวิชาการเกษตร ที่กระจายลงปลูกในแปลงเกษตรกรผลิตท่อนพันธุ์สะอาดไว้แล้ว ส่งมอบให้กรมส่งเสริมการเกษตรนำไปใช้ประโยชน์ในการขยายผลใน” โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลังแบบครอบคลุมพื้นที่” ถึงจำนวน 1,371 ไร่





 



Create Date : 22 กรกฎาคม 2564
Last Update : 22 กรกฎาคม 2564 17:02:53 น.
Counter : 509 Pageviews.

0 comment
"ธรรมนัส"จับมือส.ป.ก.-พด.เร่งขับเคลื่อนปลูกฟ้าทะลายโจร-กระชายขาวสู้โควิด
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายในการปลูกพืชสมุนไพร ฟ้าทะลายโจร  ว่า จากสถานการณ์ในปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัลโควิด-19 เป็นจำนวนมาก พืชสมุนไพรที่มีในประเทศไทยได้รับความสนใจหันมาใช้ประโยชน์โดยเฉพาะในช่วงนี้ ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมที่จะให้การสนับสนุนในการสำรวจพื้นที่การเพาะปลูก เช่น คุณภาพของดินและน้ำ รวมถึงสภาพภูมิอากาศ และพร้อมที่จะช่วยในการแนะนำความรู้ในการเพาะปลูก

จากสถานการณ์ในปัจจุบัน การแพร่ระบาดของไวรัลโควิด-19 นั้นรวดเร็วและมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้น สมุนไพรไทยโดยเฉพาะฟ้าทะลายโจร จึงเป็นหนึ่งในทางเลือกที่สามารถนำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ทางกระทรวงเกษตรฯ จึงสนับสนุนให้ทางสำนักงานการปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.)  ใช้ศูนย์ส่งเสริมและขยายพันธุ์ในเขตปฏิรูปที่ดิน จำนวน 5 ศูนย์ และศูนย์สมุนไพรแบบครบวงจรที่ อ.แม่มอก จ.ลำปาง ในการปลูกต้นกล้าฟ้าทะลายโจร  ขิง ข่า กระชายขาวและตะไคร้




 







 
ในแต่ละศูนย์จะผลิตต้นกล้าได้อย่างน้อย 100,000 กล้า พร้อมนำไปแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรกว่า 30,000 ราย และจะให้ทางกรมพัฒนาที่ดิน เข้าช่วยสนับสนุนในการให้ความรู้เกี่ยวการใช้ดินและน้ำ นำนวัตกรรมใหม่ๆ มาส่งเสริมในการผลิต และจะให้ทางกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เป็นผู้รับซื้อผลผลิตที่ได้ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ประชาชนต่อไป ” ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าว

ทั้งนี้ ฟ้าทะลายโจร ที่ใช้ในการรักษาโควิด-19 เพราะจากผลการวิจัยหลายแห่ง ได้ระบุถึงสรรพคุณในการป้องกันและรักษาโควิดได้ เนื่องจากมีสารสำคัญ คือ แอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) มีสรรพคุณสามารถลดความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการไม่หนักได้

ในขณะนี้ฟ้าทะลายโจรขาดตลาดอย่างมาก เพราะประชาชนเริ่มมั่นใจในตัวสมุนไพรมากขึ้น ดังนั้นนี่จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษา และนับเป็นโอกาสของเกษตรกรผู้ปลูกพืชสมุนไพรสามารถปลูกฟ้าทะลายโจรให้มีคุณภาพ มีสารสำคัญเพียงพอ เพื่อแปรรูปผลผลิตจำหน่ายเอง หรือจำหน่ายเป็นวัตถุดิบให้กับหน่วยงานที่จะนำไปแปรรูปเป็นยาเพื่อใช้ในการรักษาต่อไปได้




 





 



Create Date : 22 กรกฎาคม 2564
Last Update : 22 กรกฎาคม 2564 16:53:10 น.
Counter : 518 Pageviews.

0 comment
เดินหน้าโครงการ“ติดเครื่องหมายเครื่องมือประมง”แก้ปัญหาขยะทะเล
"กรมประมง"จับมือประมงพาณิชย์ เดินหน้าโครงการ“ติดเครื่องหมายเครื่องมือประมง” แก้ปัญหาขยะทะเล  เอาผิดคนทิ้งเครื่องมือประมงกลางทะเล หวังลดอัตราการตายของสัตว์ทะเล

นายมีศักดิ์  ภักดีคง  อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่าล่าสุดกรมประมง ร่วมกับ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เตรียมนำร่อง โครงการ “ติดเครื่องหมายเครื่องมือประมง” (Fishing Gear marking) เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นจากเครื่องมือประมงที่สูญหาย หรือ ถูกทิ้งกลางทะเล และปล่อยให้เป็นขยะสร้างมลภาวะในท้องทะเล

โดยอนาคตเครื่องมือประมงจะถูกระบุตัวตนและสามารถตรวจสอบความเป็นเจ้าของเครื่องมือประมงได้อย่างชัดเจน ช่วยให้สามารถติดตามแหล่งที่มาของเครื่องมือประมง นำไปสู่การทำประมงอย่างรับผิดชอบได้ ​ ที่ผ่านมาได้เกิดปัญหาความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ รวมทั้งปัญหาขยะทะเลได้ส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล อย่างมาก

นายเฉลิมชัย  ศรีอ่อน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึง ได้มอบหมายให้กรมประมงเร่งขับเคลื่อนนโยบายสำคัญด้านการบริหารจัดการประมงอย่างยั่งยืน  กรมประมงจึงเร่งดำเนินการจัดระเบียบประมงด้านต่างๆ เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากร

มุ่งเน้นเพื่อการประกอบอาชีพที่มั่นคง และกรมประมง ร่วมกับสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ทั้ง 22 จังหวัด ได้มีแนวคิดร่วมกันที่จะดำเนินการ “ติดเครื่องหมายเครื่องมือประมง” (Fishing Gear marking) เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นจากเครื่องมือประมงที่สูญหาย ก่อให้เกิดขยะสร้างมลภาวะในท้องทะเล

โดยการติด marking ที่เครื่องมือประมง จะทำให้สามารถตรวจสอบความเป็นเจ้าของเครื่องมือประมงได้ สามารถติดตามแหล่งที่มาของเครื่องมือ เพื่อจะ นำไปสู่การทำประมงอย่างรับผิดชอบ ซึ่งพี่น้องชาวประมง เห็นด้วยกับแนวการดำเนินการดังกล่าวนี้ด้วย





 





 
กรมประมงได้มีการศึกษาทดลอง การติดเครื่องหมายเครื่องมือประมง ตั้งแต่เมื่อ ปี 2560 แล้ว และได้ทำทดลองศึกษา ชนิด วัสดุ และรูปแบบของเครื่องหมายที่มีความแข็งแรง ทนทาน ที่เหมาะสมเพื่อใช้สำหรับติดตั้งบนเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพสูง 8 ชนิดเครื่องมือ พบว่า อุปกรณ์ดังกล่าว มีความแข็งแรง เหมาะสม และไม่เป็นอุปสรรคในการทำประมง  

นอกจากเรื่องของการติดเครื่องหมายบนเครื่องมือประมงแล้ว ที่ผ่านมากรมประมงร่วมกับพี่น้องชาวประมง ได้ดำเนินกิจกรรมที่มีจิตสำนึกรับผิดชอบในสิ่งแวดล้อมหลายโครงการ เช่น โครงการ “ขยะคืนฝั่ง ทะเลสวยด้วยมือเรา” ชาวประมงจะนำขยะในทะเล และขยะที่อยู่บนเรือ คืนกลับขึ้นมาบนฝั่ง มีการจดบันทึกรายงานจำนวนขยะที่เก็บมาแต่ละครั้ง

จากการดำเนินกิจกรรมที่ผ่านมา สามารถนำขยะคืนฝั่งได้มากถึง จำนวน 191,968 กิโลกรัม โครงการทะเลปลอดอวน (Net Free Seas) เป็นความร่วมมือของชาวประมงกับกรมประมงและมูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) โดยการนำเศษอวนเอ็นจากเรือประมง กลับมารีไซเคิล แปรสภาพใช้ประโยชน์ และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน เพื่อช่วยแก้ปัญหาขยะที่เกิดจากเศษอวนประมง

ปัจจุบันเศษขยะจากอวนสามารถแปรสภาพเป็นของใช้ต่างๆ เช่น ที่เปิดขวด ที่รองแก้ว พรมปูพื้น ฯลฯ และสามารถสร้างรายได้ให้ชาวประมง สามารถลดขยะที่เกิดจากเศษอวนได้มากถึง 14,000 กิโลกรัม 

ขณะเดียวกันยังมี กิจกรรม “คืนชีวิตสู่ทะเล ปล่อยปูไข่นอกกระดองคืนธรรมชาติ” โดยชาวประมงร่วมกันปล่อยปูไข่นอกกระดองที่ติดอวนขึ้นมาคืนกลับสู่ทะเลเพื่อให้แพร่ขยายพันธุ์ต่อไป จากการดำเนินกิจกรรมที่ผ่านมา ชาวประมงได้มีการปล่อยปูไข่นอกกระดองคืนกลับสู่ทะเลได้แล้วกว่า 35,000 ตัว ซึ่งแม่ปู 1 ตัว สามารถออกไข่ได้สูงถึง 300,000 – 500,000 ฟอง ซึ่งสามารถเพิ่มประชากรปูได้อย่างมหาศาล ส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์และเกิดความยั่งยืนของทรัพยากรปูทะเลในน่านน้ำทะเลไทย 





 
 



Create Date : 22 กรกฎาคม 2564
Last Update : 22 กรกฎาคม 2564 16:30:13 น.
Counter : 495 Pageviews.

0 comment
เดินหน้า“กัญชง”เชิงพาณิชย์ต่อยอด 10 คลัสเตอร์อุตสาหกรรม
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งให้เร่งดำเนินนโยบายพืชอนาคตพืชเศรษฐกิจในทุกมิติในยุคโควิด19 ล่าสุดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก.

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ได้ผนึกความร่วมมือกับมูลนิธิเพื่อสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สพว. ยกระดับภาคเกษตรพัฒนากัญชงเชิงพาณิชย์สู่คลัสเตอร์อุตสาหกรรม

โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการการทำงานและการใช้ทรัพยากรร่วมกันของทั้ง สวก. สวพส. และ สพว. ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการศึกษาวิจัยและพัฒนาต่อยอดงานวิจัยด้านกัญชงอย่างครบวงจร และร่วมกันนำองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยไปต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงนโยบาย เชิงสาธารณะ และเชิงพาณิชย์

ตลอดจนถ่ายทอดเทคโนโลยีและส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานได้มีการดำเนินงานในการวิจัยพัฒนาและส่งเสริมในเรื่องของกัญชงมาอย่างต่อเนื่อง

กัญชงสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน เช่น ช่อดอก เมล็ด เปลือก ลำต้น และราก ในการแปรรูปสร้างมูลค่าอย่างน้อยใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มเวชภัณฑ์ยา, กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์, กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเครื่องดื่มและอาหารเสริม (Super Food), กลุ่มผลิตภัณฑ์กระดาษ, กลุ่มผลิตภัณฑ์สิ่งทอเสื้อผ้า, กลุ่มผลิตภัณฑ์นิรภัย, กลุ่มก่อสร้างและวัสดุภัณฑ์, กลุ่มผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์, กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ และกลุ่มผลิตภัณฑ์เทคโนโลยี่ เช่น ซูเปอร์คาพาซิเตอร์ (Super Capacitor) เป็นต้น

จึงเป็นโอกาสของประเทศไทยและเกษตรกรของเราที่จะมีพืชเศรษฐกิจฐานรากใหม่เป็นพืชแห่งอนาคต เช่นเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาผ่านกฎหมายฟาร์มบิลล์ (Farm bill2018) ปลดล็อคกัญชงสร้างงานสร้างอาชีพใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น ในขณะที่จีน อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอีกหลายประเทศทั่วโลกก็ส่งเสริมสนับสนุนกัญชงจนกล่าวได้ว่าเป็นเฮมพ์อีโคโนมีพืชเศรษฐกิจแสนล้านของไทยและของโลก





 






 
ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า สวก. เป็นหน่วยงานบริหารจัดการทุนวิจัยด้านการเกษตรของประเทศ ได้รับมอบหมายให้บริหารจัดการโครงการวิจัยด้านสมุนไพรไทย ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557– ปัจจุบัน เป็นจำนวนกว่า 240 โครงการ งบประมาณกว่า 500 ล้านบาท เพื่อวิจัยและพัฒนาต่อยอดสมุนไพรไทยในด้านการรักษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ

รวมทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่มีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมและภาคเศรษฐกิจต่างๆ ตลอดจนขับเคลื่อนงานอย่างเป็นระบบและครบวงจร ทำให้เกิดความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งผลการวิจัยที่ได้ต้องมีเป้าหมายผลผลิตและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

โดย สวก. ดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล และนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการสนับสนุนกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและประเทศ

มีบทบาทในฐานะผู้สนับสนุนทุนวิจัยและบริหารจัดการองค์ความรู้ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร รวมถึงการให้ทุนวิจัยด้านกัญชงเพื่อสร้างเศรษฐกิจ ทั้งในเชิงนโยบาย เชิงสาธารณะ และเชิงพาณิชย์ ที่ผ่านมา สวก. ได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่มหาวิทยาลัยนเรศวร ในโครงการการวิจัยและพัฒนากัญชง เพื่อการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ประกอบด้วย การทดลองปลูกกัญชงในโรงเรือนระบบปิด การศึกษาวิจัยข้อมูลด้านประสิทธิภาพ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชง

สำหรับความร่วมมือในขั้นแรก สวก. จะสนับสนุนทุนเพื่อพัฒนาการเก็บข้อมูลต้นทุนตลอดห่วงโซ่การผลิตกัญชง ตั้งแต่การปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งที่ผ่านมา สวพส. และ สพว. ได้มีการดำเนินงานร่วมกันมาในระยะหนึ่งแล้ว แต่ประสบปัญหาในด้านต้นทุนการเก็บผลผลิตที่สูง เนื่องจากต้องใช้แรงงานคนในการเก็บเกี่ยวผลผลิต  ด้วยเหตุนี้ สวก. จึงจะสนับสนุนทุนวิจัย

เพื่อพัฒนาเครื่องมือ/เครื่องทุ่นแรงในการเก็บเกี่ยว ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการลดต้นทุนและลดเวลาในการดำเนินงาน รวมถึงการสนับสนุนทุนวิจัยด้านการวิเคราะห์ปริมาณสาร CBD THC ที่เหมาะสมของกัญชงในการทำเป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพ





 






 
สวก. ได้หารือกับ ISMED ในการรวบรวมข้อมูลในทุกๆ ด้านของกัญชง เพื่อจัดเป็นฐานข้อมูลด้านกัญชงของประเทศต่อไป ด้วยความร่วมมือในครั้งนี้ สวก. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะเป็นประโยชน์ในการสนับสนุนการพัฒนากัญชงให้สามารถพัฒนา ต่อยอดไปสู่ภาคอุตสาหกรรมของประเทศต่อไปได้

นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กล่าวว่า สวพส. ร่วมกับ มูลนิธิโครงการหลวง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้วิจัยและพัฒนากัญชง (Hemp) เพื่อให้เป็นพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูง มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี พ.ศ.2549 จนถึงปัจจุบัน

ผลการวิจัยและพัฒนาทำให้มีข้อมูลและองค์ความรู้ที่นำมาสู่แก้ไขกฎหมาย เพื่อส่งเสริมกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ โดยอาศัยความร่วมมือของหลายภาคส่วน และผลการวิจัยและพัฒนาจำนวนไม่น้อย นับจากปี พ.ศ. 2549 จนถึงปัจจุบัน กว่า 15 ปี  

เริ่มจากการพัฒนาพันธุ์เพื่อให้มีสารเสพติดต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด การพัฒนาวิธีการเพาะปลูก การแก้กฎหมาย และสร้างการตลาด เพื่อให้สามารถปลูกเป็นอาชีพได้จริง ในช่วงแรก มุ่งการใช้ประโยชน์จากเส้นใยสำหรับในครัวเรือน ต่อมาขยายการศึกษาวิจัยสู่การใช้ประโยชน์จากแกน ลำต้น เมล็ด และเส้นใยในเชิงอุตสาหกรรม และนำไปสู่การศึกษาวิจัยที่มุ่งการใช้ประโยชน์ครอบคลุมทุกส่วน ทั้งเส้นใย เมล็ด และช่อดอก สำหรับอาหาร เวชสำอาง และการแพทย์

โดยมีผลงานที่สำคัญคือ ระยะที่ 1 (ปี พ.ศ.2549-2554) ปรับปรุงและขึ้นทะเบียนพันธุ์ ระยะที่ 2 (ปี พ.ศ.2555-2559) วิจัยและพัฒนาตามแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการปลูกเฮมพ์เป็นพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูง และระยะที่ 3 (ปี พ.ศ.2560-ปัจจุบัน) ศึกษาวิจัยเพื่อปรับปรุงพันธุ์และพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะปลูก ในการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ประโยชน์

นายธนนนทน์ พรายจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย กัญชงมีความสำคัญต่อการพัฒนายกระดับอุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve ซึ่งภาคเอกชนไทยมีความต้องการใช้กัญชงเป็นวัตถุดิบเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มในระดับอุตสาหกรรมมานานแล้ว






 






 
ขณะที่ภาคการเกษตรต้องการปลูกพืชกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และพืชมูลค่าต่ำอื่น ๆ  รวมถึงปัจจุบันกฎหมายกำลังเปิดกว้างเพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถลงทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชงออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ได้หลากหลายและคล่องตัวมากขึ้น

ที่ผ่านมา สพว. มีองค์ความรู้และประสบการณ์ในการศึกษาและพัฒนาพืชกัญชงมาไม่น้อยกว่า 9 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน โดยการร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ สวพส. และการสนับสนุนงบประมาณจากหลายหน่วยงาน โดยมีประสบการณ์ครอบคลุมทั้งด้านสถานการณ์การตลาด การผลิต กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

รวมถึงแนวทางการใช้ประโยชน์จากส่วนต่างๆ ของกัญชง การพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความสอดคล้องกับกระบวนการผลิตในระดับอุตสาหกรรมของภาคเอกชนไทย การขยายขนาดการผลิต (Scaleup) ไปสู่ระดับอุตสาหกรรม คลัสเตอร์กัญชง การบริหารจัดการซัพพลายเชน และการศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางธุรกิจในการต่อยอดผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์


สำหรับการลงทุนในระดับกลางน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมถึงการเชื่อมโยงให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปกัญชง จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านในสาขาต่างๆ  เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้สามารถยกระดับเทคโนโลยีในระดับกลางน้ำ

เพื่อให้ได้วัตถุดิบเข้าสู่อุตสาหกรรมปลายน้ำในสาขาต่างๆ ซึ่งจะเป็นส่วนแก้โจทย์ที่สำคัญให้กับภาคอุตสาหกรรมกัญชงของประเทศไทย และตอบสนองการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy)  ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 สำหรับการถ่ายทอดสดการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว สามารถรับชมได้ทาง https://www.facebook.com/ardathai




 



Create Date : 21 กรกฎาคม 2564
Last Update : 21 กรกฎาคม 2564 17:47:16 น.
Counter : 517 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  94  95  96  97  98  99  100  101  102  103  104  105  106  107  108  109  110  111  112  113  114  115  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments