All Blog
"ธ.ก.ส."-วว.เติมความรู้นวัตกรรมเพิ่มความเข้มแข็งเกษตรไทย
"ธ.ก.ส."จับมือสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย นำผลงานวิจัยการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการผลิต การแปรรูปผลผลิตและการตลาดให้เกษตรกรและผู้ประกอบการเกษตร จนได้มาตรฐานรับรองระดับสากลไปแล้วกว่า 30 รายพร้อมตั้งเป้าขยายผลในการ เสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้แก่ภาคเกษตรกรไทยต่อเนื่อง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและประธานกรรมการ ธ.ก.ส. เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “ว่าด้วยความร่วมมือด้านวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยี” ระหว่าง ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และนายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร







 







 
เพื่อนำผลงานวิจัยพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาบูรณาการให้เกิดความยั่งยืนแก่ภาคเกษตรทั้งด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาดที่เป็นมาตรฐานและต่อยอดสู่เกษตรกรรุ่นใหม่ในการนำไปใช้ประโยชน์และเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก

นายธนารัตน์  กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการบูรณาการในการพัฒนาสนับสนุนให้เกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ได้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาผนวกกับองค์ความรู้สมัยใหม่โดยนำผลงานวิจัยทั้งด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับปรุง พัฒนาการผลิต การแปรรูปผลผลิต และการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรอย่างตรงจุด

รวมถึงประยุกต์ต่อยอดสู่การจดทะเบียนสิทธิบัตร เพื่อยกระดับสินค้าเกษตรสู่มาตรฐานสากล นอกจากนี้ยังร่วมกันจัดฝึกอบรม ประชุมวิชาการ การเผยแพร่ประสบการณ์และการร่วมประชาสัมพันธ์ของทั้งสองหน่วยงาน เพื่อเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งปี 2561-2564 ที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ได้ร่วมมือกับวว.และ EXIM Bank เข้าไปเสริมสร้างศักยภาพแก่ผู้ประกอบการ (SMEs) จำนวน 30 ราย

อาทิ วิสาหกิจชุมชนกาแฟรัษฏา ผลิตชา กาแฟ สบู่กาแฟ กาแฟคั่ว วิสาหกิจชุมชนลองเลย ผลิตกาแฟอาราบิก้า วิสาหกิจชุมชนออมสินกะลา ผลิตภัณฑ์จากกะลา บริษัท แบมบุรีฟอร์ม จำกัด ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไผ่ และถ่านไม้ไผ่ บริษัทซันโฟรเช่น ฟรุ๊ต จำกัด ผลิตทุเรียนและมังคุด บริษัทบ้านขนมไทยอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผลิตขนมกล้วยหอมทองทอดกรอบ เป็นต้น







 







 
สามารถช่วยยกระดับคุณภาพการผลิตให้กับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และผู้ประกอบการด้านการเกษตรได้เป็นอย่างดี จึงวางเป้าหมายที่จะขยายแนวทางการดำเนินงานดังกล่าว เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันให้กับภาคเกษตรไทย ควบคู่กับการเติมทุนผ่านสินเชื่อนวัตกรรมดีมีเงินทุน สินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ เป็นต้น เพื่อขยายโอกาสและการผลิตที่นำไปสู่การสร้างงานสร้างรายได้ที่มั่นคงต่อไป

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เปิดเผยว่า วว. เป็นหน่วยงานหลักด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย ที่มีความพร้อม ความเชี่ยวชาญในการบูรณาการงานด้านสารชีวภัณฑ์อย่างครบวงจร มีความพร้อมในการให้บริการแก่เกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และ ผู้ประกอบการ มีผลการศึกษาวิจัยระดับภูมิภาคและ ระดับประเทศ

รวมถึงความพร้อมของห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานในการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ นอกจากนี้นักวิจัยและบุคลากรของ วว. ล้วนมีความรู้ ความสามารถ และความมุ่งมั่นที่จะนำองค์ความรู้และประสบการณ์ที่มี ผลักดันให้เกิดการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม โดยการร่วมมือในครั้งนี้ วว.มุ่งยกระดับเสริมสร้างความเข้มแข็งและต่อยอดยกระดับสินค้าเกษตรเพื่อให้ได้มาตรฐานสากลต่อไป





 





 



Create Date : 08 มิถุนายน 2565
Last Update : 8 มิถุนายน 2565 17:00:28 น.
Counter : 1226 Pageviews.

0 comment
"หนวดปลาหมึก"ไม้ฟอกอากาศ สินค้าทางเลือก-รายได้งาม
นายชัฐพล สายะพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันไม้ดอกไม้ประดับมีความสำคัญในหลายด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องสำอาง ยารักษาโรค รวมถึงธุรกิจด้านการท่องเที่ยว

ไม้ดอก ไม้ประดับบางชนิดยังสามารถดูดซับสารพิษในอากาศได้เป็นอย่างดี ซึ่งไม้ดอกไม้ประดับที่มีระดับการดูดสารพิษมากและมีการปลูกมากในประเทศไทย ได้แก่ ต้นหนวดปลาหมึก ยางอินเดีย บอสตันเฟิร์น พลูด่าง หมากเหลือง กล้วยไม้พันธุ์หวาย เป็นต้น นับว่าเป็นสินค้าทางเลือกที่มีอนาคต ตลาดมีความต้องการสูง และเป็นสินค้าทางเลือกหนึ่งที่มีศักยภาพในการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร





 






 
ปัจจุบันมีการปลูกไม้ดอกไม้ประดับอย่างแพร่หลายทั่วทุกภาคของประเทศ ซึ่งจังหวัดนครนายกเป็นแหล่งผลิตไม้ดอกไม้ประดับที่สำคัญอันดับ 9 ของประเทศประกอบกับจังหวัดนครนายกมีศักยภาพในด้านการท่องเที่ยวรวมถึงอยู่ติดกับกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจการค้าและประชาชนมีกำลังซื้อสูง โดยมีพื้นที่ปลูกไม้ดอกไม้ประดับที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร (ข้อมูล ณ วันที่ 1 กันยายน 2564) จำนวน 766 ไร่ เกษตรกรผู้ปลูก 377 ราย เกษตรกรมีการปลูกทั้งแบบรายเดี่ยวและ การรวมกลุ่มผลิตในรูปของกลุ่มเกษตรกร

สศท.6 ได้ดำเนินการศึกษาต้นทุนและผลตอบแทนไม้ประดับดูดสารพิษ จังหวัดนครนายก กรณีศึกษาต้นหนวดปลาหมึก ซึ่งเป็นไม้ดอกไม้ประดับที่มีคุณสมบัติในการดูดสารพิษในระดับมากและเกษตรกรในจังหวัดนครนายกมีการผลิตมาก จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 30 ราย ผลการศึกษาเบื้องต้น พบว่า มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 124,450 บาท/ไร่/รอบการผลิต (แบ่งเป็นต้นทุนการเพาะปลูก 73,990 บาท และต้นทุนการจำหน่าย 50,460 บาท) ในระยะเวลา 1 ปี สามารถปลูกได้ 2 รอบการผลิต





 





 
เกษตรกรนิยมปลูกในถุงดำขนาด 5 นิ้ว ในพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ประมาณ 10,000 ต้นเกษตรกรใช้กิ่งพันธุ์จากต้นแม่พันธุ์ของตนเองนำมาปักชำ ใช้ระยะเวลาการปลูก 2 – 6 เดือน เกษตรกร จะเริ่มจำหน่ายเมื่อมีอายุต้น 2 เดือน และบางส่วน จะนำมาเปลี่ยนขนาดถุงเป็น 8 นิ้ว และดูแลต่อเนื่องจนมีอายุ 6 เดือน จึงจะจำหน่าย

ราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ เดือนสิงหาคม 2564 ขนาดถุงดำ 5 นิ้ว อยู่ที่ 9 บาท/ต้น และขนาดถุงดำ 8 นิ้ว อยู่ที่ 32 บาท/ต้น เกษตรกรได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 196,122 บาท/ไร่/รอบการผลิต ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 71,672 บาท/ไร่/รอบการผลิตการจำหน่ายไม้ดอกไม้ประดับขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด เกษตรกรจึงมีการผลิตไม้ดอกไม้ประดับหลายชนิดและปริมาณการผลิตไม้ดอกไม้ประดับแต่ละชนิดในจำนวนไม่มาก





 






 
ด้านสถานการณ์ตลาด พบว่า ผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 50 จำหน่ายให้กับผู้ซื้อรายย่อยที่นำไปจัดสวนของตนเอง รองลงมา ร้อยละ 30 จำหน่ายให้กับนักจัดสวนและบริษัทรับจัดสวน และร้อยละ 20 จำหน่ายให้พ่อค้าจังหวัดใกล้เคียงและต่างจังหวัด ซึ่งมารับซื้อเพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย นอกจากนี้เกษตรกรบางรายมีการจำหน่ายทางออนไลน์ผ่าน Facebook ของของตนเอง และจัดส่งผ่านบริษัทขนส่งเอกชนในพื้นที่  
 
ผู้อำนวยการ สศท.6 กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดนครนายกได้มีการกำหนดแนวทางการพัฒนาไม้ดอกไม้ประดับ โดยมุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต (พันธุ์พืช การผลิต การดูแลรักษา) ลดต้นทุนการผลิต สนับสนุนการรวมกลุ่มเกษตรกร การบริหารจัดการผลผลิต รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีการตลาดและระบบขนส่ง เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด และการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างผู้ค้าและผู้ผลิต

เกษตรกรควรระมัดระวังในเรื่องวัสดุปลูก คือ ขี้เถ้าแกลบ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในการผลิต โดยขี้เถ้าแกลบที่ไม่ได้คุณภาพหรือมีการปนเปื้อนทำให้ต้นกล้าไม้ตายหรือเจริญเติบโตไม่ดี อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาดังกล่าว สามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการปรับเปลี่ยนการผลิต หรือเพิ่มชนิดสินค้าในการผลิตสำหรับเป็นรายได้เสริมให้กับเกษตรกร หากท่านใดสนใจผลการศึกษาเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ สศท.6 โทร 0 3835 1261 หรืออีเมล zone6@oae.go.th




 



 



Create Date : 07 กันยายน 2564
Last Update : 7 กันยายน 2564 16:34:39 น.
Counter : 1063 Pageviews.

0 comment
เตือนกินหมูดิบเสี่ยงหูดับ แนะนำปรุงสุกทุกครั้งก่อนกิน
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่าจากกรณีปรากฏข่าวที่มีผู้ป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคไข้หูดับในพื้นที่จังหวัดน่าน และพบว่าเกิดจากการรับประทานเมนูเนื้อสุกรที่ปรุงไม่สุกนั้น กรมปศุสัตว์ขอเตือนผู้บริโภคว่า ไข้หูดับ หรือโรคติดเชื้อสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส (S. suis) เกิดจากการที่ผู้บริโภคไทยบางส่วนยังเลือกรับประทานเนื้อสุกรหรือเลือดสุกรดิบหรือสุกๆดิบๆ

ทั้งนี้เช่น เมนูลาบ หลู้ ก้อย ไม่ว่าจะด้วยความชอบส่วนตัวหรือการบริโภคตามท้องถิ่นนิยม แต่โรคนี้สามารถเลี่ยงได้ง่ายๆด้วยการปรุงเมนูเหล่านี้ให้เนื้อสุกรสุกเสมอ เพราะการทานดิบๆ ไม่คุ้มเลยกับความเสี่ยงจากโรคไข้หูดับที่มีอันตรายถึงชีวิต 





 






 
ทั้งนี้เชื้อ S. suis หากสุกรมีภาวะภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลงเช่นช่วงรอยต่อปลายฝนต้นหนาวหรือในสุกรที่อายุน้อยหรือสุกรที่ไม่ร่างกายแข็งแรงอาจทำให้เชื้อนี้ฉวยโอกาสเข้าสู่ร่างกายสุกรได้ ซึ่งโดยปกติจะแฝงตัวตามต่อมน้ำเหลือง เช่น ต่อมทอนซิล หรืออาจเข้าสู่กระแสเลือด ในบางตัวอาจแสดงภาวะป่วยออกมาได้ ซึ่งหากผู้บริโภครับประทานเนื้อสุกรที่ปนเปื้อนเชื้อนี้แล้วปรุงไม่สุกจะก่ออัตรายในการเป็นไข้หูดับได้

กรมปศุสัตว์จึงขอเตือนผู้บริโภคไม่ควรซื้อเนื้อสุกรที่มีกลิ่นคาว สีแดงจัด สีคล้ำ มีฝีหนอง มีเม็ดสาคู หากเป็นเนื้อก้อนใหญ่เช่นสันคอควรหั่นตรวจสอบก่อนซื้อทุกครั้ง ส่วนการบริโภคเนื้อสัตว์ทุกชนิด ไม่ใช่เพียงเนื้อสุกรเท่านั้น ต้องเน้นการทำสดใหม่ โดยปรุงให้สุกทุกครั้ง ที่อุณหภูมิตั้งแต่ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป เป็นเวลาอย่างน้อย 10 นาที ซึ่งสามารถฆ่าเชื้อต่างๆ ได้ ทั้งเชื้อ S. suis หรือ COVID-19

เน้นย้ำให้เลิกรับประทานเนื้อสัตว์ดิบหรือสุกๆ ดิบๆ ก็จะลดความเสี่ยงจากโรคต่างๆได้มากมาย แนะนำว่าหากมีแผลที่มืออาจสวมถุงมือเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเนื้อสัตว์หรือเลือดสัตว์โดยตรงทำให้ลดโอกาสติดเชื้อเข้าทางบาดแผลได้ ไม่ใช้เขียงของดิบและของสุกร่วมกัน และหากรับประทานอาหารปิ้งย่าง หมูกระทะ ควรทำให้สุกก่อนทุกครั้ง แยกอุปกรณ์ ที่ใช้หยิบเนื้อสุกและดิบออกจากกัน




 





​​​​​​​
 
 



Create Date : 07 กันยายน 2564
Last Update : 7 กันยายน 2564 16:05:45 น.
Counter : 513 Pageviews.

0 comment
“เฉลิมชัย”แจงประมูลยางโปร่งใส
“เฉลิมชัย”แจงชัด ประมูลยางโปร่งใส สุจริตไม่ผิดกฎหมาย มอบ“ประภัตร”แจงแนวทางการป้องกันโรคลัมปี สกิน

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล พร้อมแสดงวิทัศน์ กรณีการระบายยางพารา ณ รัฐสภา ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มีการดำเนินงานที่ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับ

กระบวนการทั้งหมด จนไปสู่การประมูลในครั้งที่ 3 และมีการเซ็นสัญญา จะต้องผ่านคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย หรือเรียกว่า บอร์ด กยท. อีกทั้งยังมีองค์กรที่เกี่ยวข้อง คือ คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมี รมต.กระทรวงเกษตรฯ เป็นรองประธาน โดยในการประชุมทุกครั้งจะต้องมีองค์ประชุมครบถึงจะดำเนินการได้





 






 
ได้เน้นย้ำถึงแนวทางการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวว่า 1) การยางแห่งประเทศไทยจะต้องดูช่วงเวลาที่เหมาะสมในการระบายยางพารา เพื่อไม่ให้กระทบราคายางในตลาด 2) เกษตรกรต้องได้รับประโยชน์ 3) ต้องรักษาผลประโยชน์ภาครัฐ เพราะเป็นเงินภาษีของพี่น้องประชาชน และ 4) ต้องทำโดยสุจริตโปร่งใสตรวจสอบได้ และถูกต้องตามระเบียบและกฎหมาย ที่เน้นย้ำที่สุดคือห้ามทุจริตคอรัปชั่นโดยเด็ดขาด

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้แทนขึ้นชี้แจงประเด็นวัคซีนป้องการโรคลัมปี สกิน ในโค กระบือ รวมถึงแนวทางการป้องกันโรคดังกล่าว ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เข้าช่วยเหลือพี่น้องเกษตรอย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ ยังมีมาตรการชดเชยให้กับพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ตามระเบียบของกระทรวงการคลัง





 


 



Create Date : 04 กันยายน 2564
Last Update : 4 กันยายน 2564 15:27:22 น.
Counter : 615 Pageviews.

0 comment
“ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค”-“มูลนิธิรักษ์ไทย”ผนึกกำลังเดินหน้าอนุรักษ์-ฟื้นฟูป่าต้นน้ำต่อเนื่อ
“ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค” ร่วมกับ “มูลนิธิรักษ์ไทย” ผนึกกำลังคนต้นน้ำเดินหน้าอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3

ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์สินค้าของซันโทรี่และเป๊ปซี่โคในประเทศไทย ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำ เพราะ “น้ำ” สำคัญยิ่งต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ และถือเป็นหัวใจหลักในการดำเนินธุรกิจของเรา บริษัทฯ จึงมุ่งมั่นดำเนินโครงการเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรน้ำภายใต้พันธสัญญา “มิซุ โตะ อิคิรุ (Mizu To Ikiru)” หรือ “การอยู่ร่วมกับน้ำ”   ผ่านความร่วมมือกับ มูลนิธิรักษ์ไทย และชุมชนในพื้นที่ป่าต้นน้ำ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เดินหน้าสานต่อโครงการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำอย่างยั่งยืน ขยายผลต่อเนื่องเป็นปีที่ 3





 





 
“ป่าต้นน้ำ” นอกจากจะเป็นแหล่งกักเก็บน้ำตามธรรมชาติที่ช่วยรักษาความชุ่มชื้นและป้องกันความเสียหายของผืนป่าและหน้าดินแล้ว  ยังถือเป็นจุดกำเนิดของสายน้ำที่หล่อเลี้ยงสรรพชีวิตน้อยใหญ่ตลอดทั้งระบบนิเวศ

ด้วยเหตุนี้ ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย จึงได้ผนึกกำลังร่วมกับ มูลนิธิรักษ์ไทย รณรงค์อนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ผ่านโครงการใน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ โดยตั้งเป้าหมายอย่างต่อเนื่องที่จะฟื้นฟูระบบนิเวศของ  ลุ่มน้ำแม่ศึก ซึ่งเป็นต้นน้ำที่สำคัญของแม่น้ำแม่แจ่มและแม่น้ำปิง อันเป็นหนึ่งในต้นกำเนิดของแม่น้ำเจ้าพระยาที่หล่อเลี้ยงชีวิตของคนไทยมาช้านาน





 





 
ที่ผ่านมาพบว่าพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ศึกได้รับความเสียหายจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวโดยเฉพาะการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งผลให้เกิดการชะล้างหน้าดินและสภาพผืนป่ากลายเป็นภูเขาหัวโล้น อย่างไรก็ตาม ด้วยความมุ่งมั่นของ ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย นับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ได้ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือของคนในพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

โดยสนับสนุนชุมชนพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแม่ศึกสร้างฝายชะลอน้ำและซ่อมแซมฝายที่มีอยู่เดิมรวมทั้งสิ้น 1,639 ฝาย เพื่อช่วยลดการชะล้างพังทลายของดินและเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับป่าต้นน้ำ และสนับสนุนการปลูกหญ้าแฝกเพื่อฟื้นฟูดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ซึ่งปลูกไปได้มากกว่า 95 ไร่

อีกทั้งร่วมกับชุมชนปลูกต้นไม้เพิ่มเติมในพื้นที่แม่ศึกจำนวน 588 ไร่ และสร้างแนวกันไฟธรรมชาติมีความยาวรวมกว่า 40 กิโลเมตร เพื่อเป็นแนวตั้งรับในการดับไฟป่า พร้อมกันนี้ ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ยังได้สนับสนุนงบประมาณสร้างระบบน้ำประปาภูเขาให้ 5 หมู่บ้าน และ 1 โรงเรียน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ให้เข้าถึงแหล่งน้ำสะอาด










 
นายอชิต โจชิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย มุ่งมั่นสานต่อพันธสัญญา“มิซุ โตะ อิคิรุ (Mizu To Ikiru)” หรือ “การอยู่ร่วมกับน้ำ” สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการดำเนินธุรกิจอย่างรู้คุณค่าของน้ำ และดำเนินโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในองค์รวมนับตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ในรูปแบบต่างๆ และในหลากหลายพื้นที่ โดยโครงการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำถือเป็นหนึ่งในโครงการที่เราให้ความสำคัญและผลักดันอย่างต่อเนื่องตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

ในปี 2564 เราได้สนับสนุนชุมชนแม่ศึกสร้างฝายเพิ่มเติมไปแล้วกว่า 197 ฝาย ปลูกหญ้าแฝกอีก 19 ไร่ และพัฒนาระบบน้ำสะอาดให้กับ 1 หมู่บ้าน ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินโครงการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ และจะขยายผลโครงการไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ต่อไป เพื่อเป็นการตอกย้ำวิสัยทัศน์องค์กร “เติบโตอย่างยั่งยืน” (Growing for Good)”




 





 
นางสาวสุพรทิพย์ ช่วงรังษี กรรมการมูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวว่า “มูลนิธิรักษ์ไทยมีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับบริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด ในการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำมาตั้งแต่ปี 2562  ในขณะเดียวกันมูลนิธิฯ เอง ตระหนักดีว่าการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำจะไม่สามารถส่งผลต่อระบบนิเวศอย่างยั่งยืนได้ หากปราศจากความร่วมมือของคนในพื้นที่




 





 
จึงได้ทำงานร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่แม่ศึกมากกว่า 15,500 คน เพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำในพื้นที่ดังกล่าวซึ่งถือว่าเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่พวกเขาได้พึ่งพา มูลนิธิฯ เชื่อมั่นว่าความร่วมมือของคนในพื้นที่ ความเสียสละ ความเข้มแข็ง และความสามัคคีจะนำไปสู่การอนุรักษ์ป่าต้นน้ำที่ยั่งยืน”

"ป่าต้นน้ำ เป็นหัวใจสำคัญของเรา เพราะเป็นแหล่งอาหารของคน เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ และเป็นต้นกำเนิดของน้ำ ป่าอยู่ได้ เราอยู่รอด ดีใจมากที่ทาง ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย เห็นถึงความสำคัญตรงนี้ ชาวบ้านกว่า 95 ครัวเรือน ได้รับประโยชน์จากกิจกรรมในโครงการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำของทางบริษัทฯ ผ่านการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งช่วยสร้างความเข้าใจและทำให้พวกเราเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์และส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อไป" นายดวงจันทร์ ธรรมชาติมณี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 12 ตำบลแม่ศึก เน้นย้ำถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ






 
 
 



Create Date : 01 กันยายน 2564
Last Update : 1 กันยายน 2564 16:54:42 น.
Counter : 476 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  94  95  96  97  98  99  100  101  102  103  104  105  106  107  108  109  110  111  112  113  114  115  

สมาชิกหมายเลข 3402302
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



contact >> parwnation@gmail.com
hello welcome
contact =>>parwnation@gmail.com
New Comments