สิทธิหลักประกันสุขภาพฯ : สิทธิที่ผู้ป่วยเข้าไม่ถึง (จบ)
ภาค 4 การกำจัดยุงลายในบ้านผู้ป่วยของศูนย์บริการสาธารณสุขเขตฯ กับฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตฯ
 
     เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 เวลาประมาณ 10.00 น. มีเจ้าหน้าที่จากศูนย์บริการสาธารณสุข 50 เขตบึงกุ่ม ได้รับแจ้งว่า บ้านฉันมีผู้ป่วยไข้เลือดออก จึงเข้ามาขอตรวจลูกน้ำยุงลายในบ้าน โดยโทรแจ้งปุ๊บ ก็มีรถตู้ของศูนย์ 50 มาโผล่หน้าบ้านเลย ซักพักก็มีรถปิ๊กอัปของเขตฯ มาจอดต่อท้ายอีก 1 คัน
    เจ้าหน้าที่ขอเข้ามาตรวจแหล่งเพาะยุงลายในบริเวณบ้าน และตักทรายอะเบทหยอดในทุกที่ที่มีน้ำ โดยไม่ถามฉันก่อนว่า จะใช้น้ำนั้นทำอะไรและหยอดได้หรือไม่ !
    เมื่อฉันถามถึงอันตรายของทรายอะเบท ถ้ามีสัตว์กินเข้าไป ?
    เจ้าหน้าที่ก็ตอบไม่ชัดเจนว่า “สัตว์กินน้ำที่ใส่ทรายฯ ได้ แต่ไม่ควรกิน”
    ฉันจึงต้องยกชามใส่น้ำให้นกและแมวจรเก็บชั่วคราว เหลือแต่กระถางต้นผักตบชวาที่ยกคนเดียวไม่ไหว (ฉันชำกิ่งผักชีลาวไว้ในน้ำ กำลังจะนำลงดิน เจ้าหน้าที่ก็หยอดทรายอะเบทลงไป ไม่นานผักชีลาวที่รากงอกแล้วก็เฉาตาย  20)
    จากนั้นเจ้าหน้าที่ผู้หญิง (น่าจะเป็นพยาบาล) แจ้งว่าจะฉีดพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย
   ฉันปฏิเสธว่า “ยังไม่พร้อมค่ะ เพราะผลเลือดยังไม่ปกติ ค่าตับยังสูงอยู่” ขอให้มาฉีดภายหลัง แต่เจ้าหน้าที่ยืนยันว่าสารเคมีไม่อันตราย ฉันจึงยอมให้ฉีด
   โดยการฉีดพ่นสารเคมี เจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งข้อควรปฏิบัติและควรระวังใด ๆ ทั้งสิ้น แค่ให้ฉันเซ็นเอกสารโดยไม่บอกด้วยว่าเอกสารอะไร ฉันเองก็มองไม่เห็น เพราะไม่ได้ใส่แว่นสายตายาว แต่เข้าใจเองว่าคงเป็นเอกสารยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ได้มาปฏิบัติหน้าที่แล้ว
   ตอนนั้น ฉันอยู่บ้านคนเดียวและยังไม่แข็งแรง ไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องนี้ และคิดไม่ทันว่าควรปฏิบัติอย่างไร และคิดไม่ทันว่าต้องปิดแหล่งน้ำใช้ เก็บภาชนะ เสื้อผ้า เครื่องนอนของใช้ต่าง ๆ

สภาพหมอกควันด้านนอก
   
    เมื่อฉีดพ่นสารเคมี ปรากฏว่ามีสารเคมีถูกพ่นเข้ามาเต็มภายในบ้าน ทั้งชั้นล่างและชั้นบน เนื่องจากเป็นบ้านแบบเปิด เก่ามาก หน้าต่างปิดไม่สนิท ชั้นบนมีช่องลมในห้องน้ำ หมอกควันสารเคมีฟุ้งเข้ามาตามช่อง ตามท่อระบายน้ำ จนเป็นควันขาวและเหม็นไปทั้งบ้าน
หมอกควันที่ฟุ้งขึ้นมาจากท่อระบายน้ำในห้องน้ำชั้นบน
  
   ฉันถูกรมยาฆ่ายุงจนแสบจมูก ริมฝีปากล่างบวมและชา ปวดศีรษะเป็นเวลานานข้ามวัน
   รุ่งเช้าหน้าบวมเล็กน้อยจนดันขาแว่นนูนออกมา แสบตา โพรงจมูกบวมและปวด
   จึงร้องเรียนไปยังสำนักอนามัย โทร 0 2203 2872
   เจ้าหน้าที่ที่รับเรื่องแย้งว่า “การพ่นยาเป็นหน้าที่ของเขต ไม่เกี่ยวกับสาธารณสุข”
   ฉันยืนยันว่า คนที่บอกให้พ่นยาเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
   มีการโต้เถียงกันพอประมาณ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่ฟังให้จบประโยคและจับประเด็นไม่ถูก แต่สุดท้ายปลายสายรับเรื่องจะไปประสานไปทางศูนย์ 50
 
   วันจันทร์ 9 โมง หัวหน้าพยาบาลศูนย์ 50 โทรมาหาฉัน พูดด้วยน้ำเสียงสุภาพนอบน้อม รับฟังปัญหาอย่างดี แสดงความสำนึกผิด และขอโทษ (พูดจาดีมาก ทั้งที่น่าจะอาวุโสกว่าฉัน)
    ทางหัวหน้าทีมสอบถามเจ้าหน้าที่มาก่อนแล้ว ได้ความว่า พวกเขาทำงานร่วมกันกับเขต วันนั้นเขาไม่ได้นัดกัน แต่บังเอิญมาพบกันหน้าบ้านฉัน เพราะข้างบ้านโทรแจ้งให้เขตมาพ่นยากำจัดยุงลาย บ้านเขาก็มีผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออกเหมือนกัน ซึ่งขณะนั้นผู้ป่วยนอนอยู่ที่โรงพยาบาล
    ปัญหาที่เกิดขึ้นในส่วนของเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 50 บึงกุ่ม คือ ฉันปฏิเสธแล้วว่าสภาพร่างกายยังไม่พร้อม แต่พยาบาลประมาท ไม่ใส่ใจ และไม่ระมัดระวังเรื่องความปลอดภัย อาจจะไม่มีความรู้มากพอด้วย
    ฉันถามหัวหน้าพยาบาลว่า ถ้าอย่างนั้นฉันควรแจ้งปัญหาทางเขตด้วยมั้ย ?
    หัวหน้าแนะนำให้แจ้งไปยังผู้อำนวยการเขต
 
    ฉันส่งเรื่องร้องเรียนในลักษณะหนังสือราชการ แล้วส่งไปทางเพจสำนักงานเขตบึงกุ่ม แอดมินส่งเรื่องต่อไปให้ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล
    อีก 10 วันต่อมา แอดมินได้ส่งภาพถ่ายหนังสือราชการผลการดำเนินงานมาให้ฉัน ดังภาพประกอบ ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมฯ ก็ไม่ยอมรับผิด ไม่คิดจะปรับปรุงแก้ไขวิธีการทำงานให้ถูกต้องปลอดภัยต่อชีวิตของผู้ใดเลย ซ้ำยังแจ้งเท็จต่อบุคลากรระดับสูงว่าได้แจ้งเจ้าของบ้านล่วงหน้าแล้ว
   ทั้งนี้ ไม่มีการแสดงคำขอโทษใด ๆ จากผู้เกี่ยวข้องของเขตบึงกุ่มกลับมา
 
เนื้อความส่วนหนึ่งในจม.ที่ส่งให้เขต
            “จึงขอร้องเรียนให้หน่วยงานดังกล่าวปรับปรุงระบบการทำงาน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นหลัก ดังนี้
๑. ควรแจ้งเจ้าของบ้านล่วงหน้าว่าจะเข้ามาทำอะไร
๒. แจ้งข้อควรปฏิบัติเมื่อมีการฉีดพ่นสารเคมี เช่น ให้เก็บของใช้ ซีลบ้าน ปิดแหล่งน้ำใช้  ฯลฯ
๓. ตรวจสอบสภาพที่อยู่อาศัยก่อนว่าปิดมิดชิดหรือไม่ มีพื้นที่เพาะปลูกผักผลไม้แบบไร้สารพิษหรือไม่
๔. ควรสอบถามก่อนว่า ภายในบ้านมีผู้ป่วย เด็กเล็ก คนชรา หรือสัตว์เลี้ยงหรือไม่ ควรย้ายให้ไปอยู่ที่อื่นชั่วคราวก่อน เพราะไม่ใช่ทุกคนจะมีสภาพร่างกายที่ทนต่อสารเคมีได้ (เจ้าหน้าที่ที่พ่นสารเคมียังใส่ชุดป้องกันเลย) หากผู้อยู่อาศัยแพ้สารเคมีมีอาการรุนแรง อาจทำให้ระบบหายใจล้มเหลวจนเสียชีวิตได้
๕. ควรบอกวิธีถอนพิษ เมื่อสัมผัสหรือได้รับสารเคมี และบอกวิธีกำจัดสารตกค้างตามพื้น ตามแหล่งเพาะปลูก
    ทั้งนี้ ดิฉันได้แจ้งหัวหน้าพยาบาลของศูนย์บริการสาธารณสุข ๕๐ เขตบึงกุ่มแล้ว จึงทราบว่า ๒ หน่วยงานแยกกันไป แล้วบังเอิญมาพบกันที่บ้านดิฉัน (ดิฉันเข้าใจว่ามาจากศูนย์ ๕๐ ทั้งหมด) หัวหน้าพยาบาลยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ของศูนย์ ๕๐ บกพร่องเรื่องการสื่อสาร แต่ดิฉันเห็นว่า เจ้าหน้าที่ของเขต ก็ควรสื่อสารกับเจ้าของบ้านในส่วนหน้าที่ความรับผิดชอบของตนด้วย โดยระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก  
    จึงร้องเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะดังกล่าว”

 
           
   ทั้งนี้ ฉันเห็นว่า ประชาชนมีสิทธิที่จะรับรู้ข้อปฏิบัติในการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย ที่ถูกต้องและปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินก่อน มีสิทธิที่จะปฏิเสธ และหากเกิดข้อผิดพลาด ก็มีสิทธิที่จะได้รับการดูแลเยียวยา รวมถึงได้รับคำขอโทษจากผู้เกี่ยวข้อง


42



Create Date : 08 เมษายน 2567
Last Update : 16 เมษายน 2567 21:12:06 น.
Counter : 165 Pageviews.
0 comment
(โหวต blog นี้) 
สิทธิหลักประกันสุขภาพฯ : สิทธิที่ผู้ป่วยเข้าไม่ถึง (3)
ภาค 3 “ข้อบกพร่องด้านระบบการให้ข้อมูลของ สปสช. และการสื่อสารกับผู้ใช้สิทธิ”
 
ความจริงปัญหาเรื่องการเข้ารักษาในโรงพยาบาลและข้อมูลสิทธิการรักษานี้ ฉันได้แจ้งทาง สปสช. แล้ว แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ซ้ำร้ายเจ้าหน้าที่ยังพูดเท็จด้วย (ยังเก็บไฟล์เสียงสนทนาไว้นะคะ ไม่ได้กล่าวหา) ก็เลยคิดว่า มาแชร์ข้อมูลนี้ไว้ที่นี่ดีกว่า
           
...ของคนอื่นเป็นอย่างนี้ไหมคะ ?
ตอนที่เราลงทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพหรือบัตรทอง เราได้เลือกคลินิกปฐมภูมิกับโรงพยาบาลเอง 2 แห่ง โดยฉันเลือกจากคลินิกและโรงพยาบาลที่พอจะเดินทางได้สะดวก นั่งรถเมล์ทอดเดียวถึง
     
   ฉันเปลี่ยนหน่วยบริการแค่ 2 ครั้ง ให้ใกล้สถานที่ทำงาน เมื่อลาออกก็กลับมาเลือกที่ไม่ไกลบ้านมาก ไปมาสะดวก แต่พอสมัครประกันสังคมมาตรา 40 สปสช. ก็เปลี่ยนทั้งคลินิกปฐมภูมิและโรงพยาบาลที่รับส่งต่อไปอยู่นอกเขต เดินทางลำบากมากสำหรับคนไม่มีรถส่วนตัว รายได้น้อย แถมบ้านยังอยู่ในซอยลึกและเปลี่ยว มืด

   สิทธิที่ฉันเพิ่งรู้หลังรับเอกสาร “ข้อมูลรายละเอียดบุคคล สปสช.” จากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสิทธิของโรงพยาบาลตอนไปรักษาไข้เลือดออก คือ เราสามารถใช้หน่วยบริการได้ 3 แห่ง ได้แก่
1. หน่วยบริการประจำ 
2. หน่วยบริการปฐมภูมิ 
3. หน่วยบริการที่รับการส่งต่อ

ฉันถามคนรู้จัก พวกเขาก็รู้ว่าตัวเองรักษาฟรีได้ 2 แห่ง ??
โทรไปสอบถาม 1330 เรื่องนี้ เจ้าหน้าที่แนะนำให้ “แอดไลน์ @nhso จะขึ้น 3 แห่งค่ะ”
แต่พอทำ ก็ลิงก์ต่อไปที่เว็บไซต์ ซึ่งขึ้นข้อมูล 2 แห่งอยู่ดี
(ตามภาพประกอบ) 
เพื่อนบอก “ต้องโทรถาม เขาจะบอก 3 แห่ง”

ฉันโทรไปร้องเรียน บอกด้วยว่าที่ จนท.แนะนำ มันก็ลิงก์ไปที่เว็บไซต์อยู่ดี ซึ่งตอนนี้เข้าไม่ได้ด้วย
เจ้าหน้าที่แถเอาตัวรอดว่า “อ๋อ ทางเรากำลังปิดปรับปรุงระบบ IT อยู่ค่ะ”
ฉันรู้ว่าเธอโกหก เพราะปกติสัญญาณอินเทอร์เน็ตของฉันไม่ค่อยดีอยู่แล้ว มักมีปัญหาเข้าเว็บในครั้งแรกไม่ได้ ถ้าลองอีกถึงจะเข้าได้
แล้วนี่ก็ผ่านมาเกือบ 3 เดือนแล้ว เข้าไปดูล่าสุด ฉันยังไม่เห็นเขาปรับปรุงอะไรเลย



ผลของการที่เราไม่รู้สิทธิการรักษาของตัวเองนั้น ทำให้ฉันเสียโอกาสในชีวิต เพราะหน่วยบริการประจำอยู่ใกล้กว่าหน่วยบริการปฐมภูมิ ที่ฉันไปเป็นลมเสียอีก !

ที่สำคัญกว่านั้น คือ เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนแต่ละคน ล้วนจับประเด็นปัญหาไม่ได้ มีปัญหาเรื่องการสื่อสาร
โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รายที่ 2 ที่โทรมาถามว่าฉันประเมินการให้บริการต่ำ มีข้อผิดพลาดตรงไหน ? ก็เป็นเจ้าหน้าที่ที่พูดเสียงเหินขึ้นท้ายประโยคเหมือนคอลเซ็นเตอร์บางบริษัท แถมอ่านชื่อ-นามสกุลของฉันที่เขียนเป็นภาษาไทยไม่ออก เลยอ่านจากภาษาอังกฤษ ซึ่งไม่มีเสียงวรรณยุกต์ ทำให้ผิดความหมาย จนฉันต้องทวนถามว่าโทรมาจากไหนนะคะ ? เพราะระแวงว่าเป็นมิจฉาชีพ  118

...อยากให้อบรมการพูดและการฟังจับประเด็นให้เจ้าหน้าที่ที่รับเรื่องร้องเรียนใหม่จังค่ะ
รวมทั้ง แสดงข้อมูลสถานที่รักษาใน e-service ให้ครบถ้วนทั้งสามที่ด้วย

101

 



Create Date : 07 เมษายน 2567
Last Update : 7 เมษายน 2567 11:36:55 น.
Counter : 91 Pageviews.
0 comment
(โหวต blog นี้) 
สิทธิหลักประกันสุขภาพฯ : สิทธิที่ผู้ป่วยเข้าไม่ถึง (2)
ภาค 2 “หน่วยบริการที่รับส่งต่อ”
 
“หน่วยบริการที่รับส่งต่อ” ที่ฉันได้รับเป็นโรงพยาบาลรัฐ ที่เป็นสถานที่ฝึกอบรมแพทย์ฝึกหัด ซึ่งมีจำนวนคนไข้มหาศาล
   เมื่อไปถึง แน่นอนว่า เจ้าหน้าที่ที่ตรวจสอบสิทธิตำหนิฉันด้วยน้ำเสียงกระด้าง สีหน้าแววตาไม่พอใจสุด ๆ
   แกพรินต์เอกสาร “ข้อมูลรายละเอียดบุคคล สปสช.” ส่งให้ฉันดู บอกว่า “ครั้งหน้าไปศูนย์บริการสาธารณสุข...หรือที่นี่นะ (เอาปากกาแดงติ๊กหลังชื่อหน่วยบริการปฐมภูมิกับหน่วยบริการประจำ) ไม่ต้องมาที่นี่ ตัดสิทธิ์แล้ว” แล้วให้ฉันเซ็นยินยอมว่าจะรับสิทธิการรักษาที่นั่นแค่ครั้งเดียว! (แบบนี้ก็ได้เหรอ?)
   ฉันรับเอกสารข้อมูลบุคคลมาแบบงง ๆ เพราะยังไม่เคยใช้บริการตามสิทธิประกันสังคม และไม่รู้จักศูนย์บริการสาธารณสุข
   จากนั้น ไปคัดกรองหน้าห้องตรวจประกันสังคม พบหมอคนที่ 1 ฉันนำผลเลือดจากคลินิกให้ดู เล่าอาการ หมอให้ขึ้นเตียง นอนคว่ำ หมอกดหลังบริเวณกระเบนเหน็บ ยังวิเคราะห์ไม่ออก เลยให้ไปเจาะเลือดอีกครั้ง รอผลประมาณชั่วโมงครึ่ง (เร็วกว่าคลินิกหลายเท่าตัว)
    ฉันนั่งรอหมอหน้าห้องตรวจเดิม จามแล้วน้ำมูกปนเลือดไหลออกมา คงเพราะพักเที่ยง คนไข้ที่นั่งรอเหลือไม่กี่คน แอร์เลยเย็นจนฉันไข้ขึ้น
    หมออ่านผลเลือด บอกว่า ค่าตับอักเสบสูงขึ้น ค่าเกล็ดเลือดต่ำลงมาก (ฉันคิด ‘แน่สิ กินอะไรไม่ได้ จะเอาอะไรมาสร้างเลือด’) หมอไม่แน่ใจว่าฉันเป็นอะไร เลยส่งไปหาหมอเฉพาะทาง 
    ตอนนั้นบ่าย 2 โมงแล้ว พยาบาลที่อยู่ตรงโถงหน้าลิฟต์ บอกฉันว่า “คิวเต็มแล้ว บอกเจ้าหน้าที่ให้นัดเช้าพรุ่งนี้นะ”
    แต่พอฉันบอกเจ้าหน้าที่ห้องตรวจอายุรกรรมเฉพาะโรคตามนั้น กลับถูกดุว่า “ค่าเลือดคุณไม่ดีเลยนะ จะรอถึงพรุ่งนี้ไหวเหรอ?” (อ้าวเหรอ!)
    ฉันรีบบอก “ไม่รอค่ะ ตรวจวันนี้เลย”

    หมอเฉพาะทางดูผลเลือดเปรียบเทียบกับครั้งแรก ไล่ทามไลน์  แล้วลงความเห็นว่า “น่าจะเป็นไข้เลือดออก” แม้จะไม่มีจุดแดงขึ้นตามตัว แต่ค่าเลือดทุกอย่างดีหมด ยกเว้นเกล็ดเลือดต่ำลงกว่าวันที่ตรวจวันแรกมาก และค่าตับอักเสบยังสูงอยู่
   หมอห้ามกินยาอะไร ห้ามกินสมุนไพร ดื่มน้ำเยอะ ๆ ส่วนที่กินอาหารไม่ลง ก็ปล่อยไปก่อน ไม่ต้องฝืนกิน นัดเจาะเลือดอีกครั้ง 2 วันข้างหน้า



ฉันกลับมาหาข้อมูล “ไข้เลือดออก” ในอินเทอร์เน็ต  แล้วก็ต้องตกใจเมื่อพบว่า “เป็นไข้เลือดออก ห้ามกินยาไอบูโพรเฟน เพราะจะทำให้เลือดออกมากขึ้น !! ”
...นี่เองสาเหตุที่ทำให้ถ่ายสีดำและมีเลือดออกทางจมูก แล้วหลังจากหมอพลิกแขนหาจุดแดง ถึงได้ขึ้นเป็นรอยช้ำจ้ำ ๆ ตามแขนขา

วันที่ 2 ของการไปโรงพยาบาล แม้จะมีใบนัดเจาะเลือดเพื่อติดตามอาการ ก็ไม่มีสิทธิที่จะรับการรักษาฟรี ซึ่งฉันทราบตั้งแต่วันแรกแล้ว แต่ก็ไม่ได้ไปขอใบส่งต่อจากคลินิก แอบหวังนิด ๆ ว่า ถ้าเป็นการรักษาต่อเนื่อง เขาอาจจะยอม แต่เขาตัดสิทธิจริง และฉันต้องจ่ายเงินเอง
   ผลเลือดดีขึ้นมากจนหมอแปลกใจ ถามว่า “เริ่มกินอาหารได้แล้วใช่มั้ย?”
   “ยังกินได้นิดหน่อยค่ะ”
...ไม่กล้าบอกว่า พอรู้ว่าป่วยเป็นอะไรก็สบายใจขึ้น แรงมา (ทีแรกฉันคิดว่าเป็นมะเร็งตับ 555) เริ่มทำงานบ้าน ออกไปตากแดด โยคะเบา ๆ ดื่มน้ำมะเขือเทศกับน้ำบีตรูต เพราะเคยได้ยินว่าผักผลไม้สีแดงช่วยบำรุงเลือดได้
   หมอคอนเฟิร์ม “ไข้เลือดออกแน่นอน” นัดเจาะเลือดอีก 1 สัปดาห์ ยังให้ระวังตัว อย่าเพิ่งทำอะไรโลดโผน อย่าทำให้เลือดออก

   หลังจากนั้น อาการของฉันก็ดีขึ้นตามลำดับ เริ่มรู้จักความรู้สึก “หิว” และกินอาหารได้ปกติ

   สัปดาห์ต่อมา ผลเลือดดีขึ้น แต่ค่าตับ ค่าเกล็ดเลือด ยังไม่ปกติ แถมค่าเม็ดเลือดขาวต่ำ
...หมอไม่นัดอีก บอกว่า “จะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง” และยังเตือนไม่ให้กินสมุนไพรอยู่

 
คำถามที่เกิดขึ้น ณ หน่วยบริการที่รับส่งต่อ...
1. เจ้าหน้าที่ตรวจสอบสิทธิของโรงพยาบาล มีอำนาจเข้าไปเปลี่ยนแปลงและบันทึกข้อมูลใหม่ใน “ข้อมูลรายละเอียดบุคคล สปสช.” ของคนไข้ได้หรือ? ซ้ำยังสั่งให้ครั้งหน้าไปรักษาที่อื่น โดยไม่ให้คำแนะนำที่เหมาะสม (และสุภาพ)

2. จากที่ฉันถูกพยาบาลดุว่า “ค่าเลือดคุณไม่ดีเลยนะ จะรอถึงพรุ่งนี้ไหวเหรอ?” แสดงว่าอาการเข้าข่ายฉุกเฉินได้ไหม? อยากให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณาเคสลักษณะนี้ด้วย เนื่องจากจริง ๆ แล้วอาการของฉันหนักขึ้นจากการที่หมอหน่วยปฐมภูมิวินิจฉัยโรคไม่ได้และให้ยาอันตรายมากิน !

3. กรณีที่แพทย์นัดติดตามอาการ และผู้ป่วยยังไม่แข็งแรงพอที่จะเดินทางไปขอใบส่งตัวจากหน่วยปฐมภูมิได้ ไม่มีญาติหรือใครไปแทน ควรมีข้อยกเว้น ให้ได้รับสิทธิรักษาต่อเนื่องฟรีในสถานพยาบาลนั้นโดยอัตโนมัติ

(ฉันขอไม่กล่าวถึงปัญหาจากการปรับการบริหารจัดการที่เริ่มใช้เมื่อ 1 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมานะคะ เนื่องจากยังไม่มีประสบการณ์โดยตรง แต่ก็เห็นผลกระทบในข่าว)

...ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า เวลาคิดกฎระเบียบ คณะกรรมการอิงจากปัญหาที่คนไข้ประสบจริงหรือเปล่า?





Create Date : 06 เมษายน 2567
Last Update : 6 เมษายน 2567 11:06:20 น.
Counter : 116 Pageviews.
0 comment
(โหวต blog นี้) 
สิทธิหลักประกันสุขภาพฯ : สิทธิที่ผู้ป่วยเข้าไม่ถึง (1)
ภาค 1 “หน่วยบริการปฐมภูมิ”

ปลายปี 2566 ฉันป่วย...
   ช่วงเที่ยงวันหนึ่ง เริ่มปัสสาวะบ่อย กลั้นไม่ค่อยอยู่ ฉี่ออกทีละนิด สีเหลืองอ่อน ใส ปวดบริเวณกระเบนเหน็บตลอดเวลา บ่ายมีไข้ต่ำ ๆ เวียนศีรษะจนต้องลงนอน  รับประทานอาหารมื้อเย็นไม่ค่อยลง ตอนกลางคืนนอนหลับไม่ได้เลย เพราะปวดหลังมาก ขยับท่าไหนก็ปวดทรมาน           
   รุ่งขึ้นตัดสินใจไปหาหมอที่คลินิก (หน่วยบริการปฐมภูมิ) ตามสิทธิ์  
หมอให้เจาะเลือดและตรวจปัสสาวะ นัดฟังผลอีก 5 วัน มีไข้ 37.8 ºC ซึ่งหมอวินิจฉัยว่าเป็น “ทางเดินปัสสาวะอักเสบ” ให้ยา BRUfen 400 mg. 10 เม็ด  ทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร, Norgesic 450 mg. 10 เม็ด ทานเหมือนกัน และครีมทาแก้ปวด 1 หลอด
    หลังทานยา อาการดีขึ้นเล็กน้อย ปัสสาวะห่างขึ้น กลางคืนหลับได้บ้าง แต่ยังปวดหลังมากอยู่ ลองเอาผ้าขนหนูพับ ๆ รองตรงก้นกบเวลานอน รู้สึกสบายขึ้น ไข้กลับตอนเช้ามืด เพราะอากาศเย็นลง เบื่ออาหาร ทานได้น้อยมาก
    หลังจากนั้น 3 วัน เริ่มแสบท้อง จามแล้วมีเลือดออกมากับน้ำมูกทุกครั้ง (ฉันมักจะจามเวลาอากาศเปลี่ยน)   
        
    ผ่านไป 5 วัน ฟังผลเลือดกับปัสสาวะ หมอ (ไม่ใช่คนเดิม) บอกปกติทุกอย่าง ยกเว้นค่าตับอักเสบสูง หมอให้รออีกสัปดาห์ นัดมาเจาะเลือดใหม่เพื่อดูค่าตับ ไม่ถามติดตามอาการ !! ไม่มียา ให้กลับได้เลย
    ฉันต้องออกปากเอง “ทานอะไรไม่ลงมา 6 วันแล้วค่ะ เริ่มแสบท้อง มีตัวช่วยมั้ยคะ?”
    หมอเลยสั่งเกลือแร่มาให้ 3 ซอง
    ขากลับฉันเดินกระย่องกระแย่งข้ามสะพานลอยไปรอรถเมล์จะกลับบ้านอีกฝั่งถนน ไม่นานเริ่มรู้สึกจะเป็นลม ต้องนั่งลงกับพื้นหน้าร้านค้าสักพัก   
   กลับถึงบ้านอาการแย่ลง ถ่ายอุจจาระเหลวสีดำ (เริ่มคิดแล้วว่ากระเพาะน่าจะเป็นแผล มีเลือดออก) น้ำมูกมีเลือดปน ข้างเข่าขวามีรอยจ้ำสีม่วงขึ้นเป็นจุดเล็ก ๆ 1 จุด มึนหัว มีวิ้ง ๆ บ้าง ดื่มน้ำเกลือแร่ที่หมอให้มา ก็ไม่ดีขึ้น ต้องนอนตลอด จนรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว
           
รุ่งเช้า ตี 5 ครึ่ง ฉันตัดสินใจนั่งแท็กซี่ไปโรงพยาบาลตามสิทธิ์ (ค่าแท็กซี่ 189 บาท)
...ฉันขอค้างเรื่องไว้ตรงนี้ก่อน...



คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ...
ตามกฎ คนไข้ต้องไปที่หน่วยปฐมภูมิเพื่อให้หมอออกใบส่งตัวก่อน แล้วถึงจะไปโรงพยาบาลได้
ตัวฉันอยู่เขตบึงกุ่ม ตอนลงทะเบียน ฉันเลือกหน่วยบริการใกล้บ้าน แต่อยู่ ๆ สปสช. เปลี่ยนให้ฉันไปใช้หน่วยปฐมภูมิในเขตบางกะปิ และโรงพยาบาลอยู่ในเขตราชเทวี (เคยพยายามเปลี่ยนกลับแล้ว แต่ “เต็ม”)

1. ทำไมไม่เลือกสถานพยาบาลที่ผู้ป่วยเดินทางได้สะดวก ?

ขณะที่ตัวฉันเองป่วยจนยืนแทบจะไม่อยู่ กลับไม่มีสิทธิ์เลือกสถานที่รักษาเอง ถูกไล่ให้กลับไปขอใบส่งตัวจากคลินิก ต้องขอร้องอ้อนวอนว่า “ไม่ไหวแล้วจริง ๆ ค่ะ”

2. สิทธิ์ที่บอกว่า “ฉุกเฉิน เข้าได้ทุกที่”  ความหมายของคำว่า “ฉุกเฉิน” ประเมินจากอะไร ?

3. กรณีที่หมอคลินิกไม่มีความสามารถเพียงพอจะประเมินได้ว่า คนไข้อาการแย่ลงหรืออาการหนักเกินความสามารถของหมอที่จะรักษาได้ และไม่ส่งต่อ คนไข้ต้องทำอย่างไร ?
(ฉันอ่านจากรีวิวหน่วยบริการปฐมภูมิบางแห่งใน กูเกิล แมป มีไม่น้อยเลยที่ประสบปัญหาทำนองนี้ และบางเคสคนไข้เสียชีวิต !)

นอกจากนี้ ฉันยังข้องใจว่า หากคนไข้หรือญาติมีความรู้ทางการแพทย์ สามารถวินิจฉัยโรคจากอาการเองได้ และทราบว่าจำเป็นต้องพบแพทย์เฉพาะทางและ/หรือใช้เครื่องมือพิเศษในการตรวจหาความผิดปกติของร่างกาย ซึ่งหน่วยบริการระดับปฐมภูมิไม่มี
ทำไมประชาชนถึงไม่ควรได้รับสิทธิกรณีนี้ ? - สิทธิในการตัดสินใจเลือกพบแพทย์เฉพาะทางที่โรงพยาบาลโดยตรง
แต่จะต้องเดินทางไปให้หน่วยปฐมภูมิออกใบส่งต่อก่อนทุกครั้ง ต้องเสียเวลาเดินทาง เพราะหน่วยบริการแต่ละที่ก็ไกลบ้านมาก เด็กต้องลาเรียน ผู้ใหญ่ต้องลางาน หยุดงาน เสียรายได้ เสียเวลารอคิวนาน และเสียโอกาสที่จะ “รักษาโรคได้อย่างทันท่วงที” กลายเป็นเพิ่มโอกาสในการตายให้มากขึ้นด้วยซ้ำ
 
เรื่องยังไม่จบเท่านี้ค่ะ มีภาคหน่วยบริการที่รับส่งต่ออีก
ลองเดาเล่น ๆ กันก่อนนะคะว่า อาการป่วยที่ฉันเป็น คือโรคอะไร ?
154 

 



Create Date : 05 เมษายน 2567
Last Update : 5 เมษายน 2567 17:26:24 น.
Counter : 94 Pageviews.
0 comment
(โหวต blog นี้) 

skywriter
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



ผู้หญิงธรรมดาๆ ที่ขี้เล่า ^^
New Comments