สิทธิหลักประกันสุขภาพฯ : สิทธิที่ผู้ป่วยเข้าไม่ถึง (1)
ภาค 1 “หน่วยบริการปฐมภูมิ”

ปลายปี 2566 ฉันป่วย...
   ช่วงเที่ยงวันหนึ่ง เริ่มปัสสาวะบ่อย กลั้นไม่ค่อยอยู่ ฉี่ออกทีละนิด สีเหลืองอ่อน ใส ปวดบริเวณกระเบนเหน็บตลอดเวลา บ่ายมีไข้ต่ำ ๆ เวียนศีรษะจนต้องลงนอน  รับประทานอาหารมื้อเย็นไม่ค่อยลง ตอนกลางคืนนอนหลับไม่ได้เลย เพราะปวดหลังมาก ขยับท่าไหนก็ปวดทรมาน           
   รุ่งขึ้นตัดสินใจไปหาหมอที่คลินิก (หน่วยบริการปฐมภูมิ) ตามสิทธิ์  
หมอให้เจาะเลือดและตรวจปัสสาวะ นัดฟังผลอีก 5 วัน มีไข้ 37.8 ºC ซึ่งหมอวินิจฉัยว่าเป็น “ทางเดินปัสสาวะอักเสบ” ให้ยา BRUfen 400 mg. 10 เม็ด  ทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร, Norgesic 450 mg. 10 เม็ด ทานเหมือนกัน และครีมทาแก้ปวด 1 หลอด
    หลังทานยา อาการดีขึ้นเล็กน้อย ปัสสาวะห่างขึ้น กลางคืนหลับได้บ้าง แต่ยังปวดหลังมากอยู่ ลองเอาผ้าขนหนูพับ ๆ รองตรงก้นกบเวลานอน รู้สึกสบายขึ้น ไข้กลับตอนเช้ามืด เพราะอากาศเย็นลง เบื่ออาหาร ทานได้น้อยมาก
    หลังจากนั้น 3 วัน เริ่มแสบท้อง จามแล้วมีเลือดออกมากับน้ำมูกทุกครั้ง (ฉันมักจะจามเวลาอากาศเปลี่ยน)   
        
    ผ่านไป 5 วัน ฟังผลเลือดกับปัสสาวะ หมอ (ไม่ใช่คนเดิม) บอกปกติทุกอย่าง ยกเว้นค่าตับอักเสบสูง หมอให้รออีกสัปดาห์ นัดมาเจาะเลือดใหม่เพื่อดูค่าตับ ไม่ถามติดตามอาการ !! ไม่มียา ให้กลับได้เลย
    ฉันต้องออกปากเอง “ทานอะไรไม่ลงมา 6 วันแล้วค่ะ เริ่มแสบท้อง มีตัวช่วยมั้ยคะ?”
    หมอเลยสั่งเกลือแร่มาให้ 3 ซอง
    ขากลับฉันเดินกระย่องกระแย่งข้ามสะพานลอยไปรอรถเมล์จะกลับบ้านอีกฝั่งถนน ไม่นานเริ่มรู้สึกจะเป็นลม ต้องนั่งลงกับพื้นหน้าร้านค้าสักพัก   
   กลับถึงบ้านอาการแย่ลง ถ่ายอุจจาระเหลวสีดำ (เริ่มคิดแล้วว่ากระเพาะน่าจะเป็นแผล มีเลือดออก) น้ำมูกมีเลือดปน ข้างเข่าขวามีรอยจ้ำสีม่วงขึ้นเป็นจุดเล็ก ๆ 1 จุด มึนหัว มีวิ้ง ๆ บ้าง ดื่มน้ำเกลือแร่ที่หมอให้มา ก็ไม่ดีขึ้น ต้องนอนตลอด จนรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว
           
รุ่งเช้า ตี 5 ครึ่ง ฉันตัดสินใจนั่งแท็กซี่ไปโรงพยาบาลตามสิทธิ์ (ค่าแท็กซี่ 189 บาท)
...ฉันขอค้างเรื่องไว้ตรงนี้ก่อน...



คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ...
ตามกฎ คนไข้ต้องไปที่หน่วยปฐมภูมิเพื่อให้หมอออกใบส่งตัวก่อน แล้วถึงจะไปโรงพยาบาลได้
ตัวฉันอยู่เขตบึงกุ่ม ตอนลงทะเบียน ฉันเลือกหน่วยบริการใกล้บ้าน แต่อยู่ ๆ สปสช. เปลี่ยนให้ฉันไปใช้หน่วยปฐมภูมิในเขตบางกะปิ และโรงพยาบาลอยู่ในเขตราชเทวี (เคยพยายามเปลี่ยนกลับแล้ว แต่ “เต็ม”)

1. ทำไมไม่เลือกสถานพยาบาลที่ผู้ป่วยเดินทางได้สะดวก ?

ขณะที่ตัวฉันเองป่วยจนยืนแทบจะไม่อยู่ กลับไม่มีสิทธิ์เลือกสถานที่รักษาเอง ถูกไล่ให้กลับไปขอใบส่งตัวจากคลินิก ต้องขอร้องอ้อนวอนว่า “ไม่ไหวแล้วจริง ๆ ค่ะ”

2. สิทธิ์ที่บอกว่า “ฉุกเฉิน เข้าได้ทุกที่”  ความหมายของคำว่า “ฉุกเฉิน” ประเมินจากอะไร ?

3. กรณีที่หมอคลินิกไม่มีความสามารถเพียงพอจะประเมินได้ว่า คนไข้อาการแย่ลงหรืออาการหนักเกินความสามารถของหมอที่จะรักษาได้ และไม่ส่งต่อ คนไข้ต้องทำอย่างไร ?
(ฉันอ่านจากรีวิวหน่วยบริการปฐมภูมิบางแห่งใน กูเกิล แมป มีไม่น้อยเลยที่ประสบปัญหาทำนองนี้ และบางเคสคนไข้เสียชีวิต !)

นอกจากนี้ ฉันยังข้องใจว่า หากคนไข้หรือญาติมีความรู้ทางการแพทย์ สามารถวินิจฉัยโรคจากอาการเองได้ และทราบว่าจำเป็นต้องพบแพทย์เฉพาะทางและ/หรือใช้เครื่องมือพิเศษในการตรวจหาความผิดปกติของร่างกาย ซึ่งหน่วยบริการระดับปฐมภูมิไม่มี
ทำไมประชาชนถึงไม่ควรได้รับสิทธิกรณีนี้ ? - สิทธิในการตัดสินใจเลือกพบแพทย์เฉพาะทางที่โรงพยาบาลโดยตรง
แต่จะต้องเดินทางไปให้หน่วยปฐมภูมิออกใบส่งต่อก่อนทุกครั้ง ต้องเสียเวลาเดินทาง เพราะหน่วยบริการแต่ละที่ก็ไกลบ้านมาก เด็กต้องลาเรียน ผู้ใหญ่ต้องลางาน หยุดงาน เสียรายได้ เสียเวลารอคิวนาน และเสียโอกาสที่จะ “รักษาโรคได้อย่างทันท่วงที” กลายเป็นเพิ่มโอกาสในการตายให้มากขึ้นด้วยซ้ำ
 
เรื่องยังไม่จบเท่านี้ค่ะ มีภาคหน่วยบริการที่รับส่งต่ออีก
ลองเดาเล่น ๆ กันก่อนนะคะว่า อาการป่วยที่ฉันเป็น คือโรคอะไร ?
154 

 



Create Date : 05 เมษายน 2567
Last Update : 5 เมษายน 2567 17:26:24 น.
Counter : 128 Pageviews.

0 comments
(โหวต blog นี้) 
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

skywriter
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



ผู้หญิงธรรมดาๆ ที่ขี้เล่า ^^
New Comments