บันทึกเรื่อง "นมตำเรีย"




สมัยเด็กๆตอนม.ต้น ผมหัดปลูกต้นไม้ใหม่ ๆ  ตอนนั้น Hoya หรือ Wax plant กำลังฮิต ขายกันทั่วบ้านทั่วเมือง ราคาก็แพง แล้วก็มีอาจารย์อาวุโสท่านหนึ่งถามเราว่าปลูกต้นอะไร เราบอกว่า "โฮย่าครับ"

อ.ท่านคงงง ว่าต้นอะไรชื่อเหมือนร้านแว่น ท่านไม่รู้จัก เลยบอกท่านว่า มันชื่อไทยว่า นมตำเลีย

ท่านก็อ๋อขึ้นทันที แต่เรางงแทน เพราะคนทั่วไปที่ไม่เล่นต้นไม้ มักจะรู้จักแต่ชื่อ Hoya แต่ท่านกลับรู้จักชื่อไม้ป่าที่ไม่ได้ปลูกทั่วไปในกทม. แถมมีชื่อพิสดารอีก

.

พอโตขึ้นอีกนิด จึงพอจะเดาว่า ท่านคงอ่านวรรณคดีมามาก เพราะชื่อไม้เลื้อยนี้มีในหนังสือเก่าๆ ในวรรณกรรมไทยโบราณ พวกบทชมป่า มักจะกล่าวถึงไม้ต้นนี้คู่กับกล้วยไม้เสมอ ๆ


แต่เราก็สงสัยต่อไปว่า อะไรคือตำเลียหว่า ตำแล้วเลียหรอ ไม่ใช่ม้าง


บางเว็ปเพจ จะอธิบายว่า ที่เรียกว่า "นม" เพราะมันมียางสีขาวข้น ๆ ออกมา 


จนค้นในตำราทางพฤกษศาสตร์ เล่มไหนก็ไม่รู้ มาเจอว่า ไอ้ไม้ต้นนี้เรียกได้อีกหลายชื่อ คือ นมพิจิตร นมควาย และ "นมช้าง"


จึงเก็ทขึ้นมาได้ว่า ตำเลีย นั้น บางทีก็เขียนว่า "ตำเรีย" คงจะเพี้ยนมาจาก ดำไร หรือด็อมเร็ยในภาษาเขมร ที่แปลว่า ช้าง นั่นเอง ส่วนในวรรณกรรมไทย คำว่า ดำไรก็มีใช้เหมือนกัน


สรุปว่า กว่าจะรู้ความหมายชื่อของไม้ต้นนี้ ก็ผ่านมาหลายขั้นตอน หลายปีเลยกว่าจะจะแจ้งแทงตลอด ว่ามันคือดอกนมช้างนั่นเอง และคำว่า "นม" ก็มาจาก "เต้านม" ไม่ใช่ "น้ำนม" เพราะดอกมันกลม ๆ เหมือนเต้านมมากกว่าน้ำนม




รูปดอกนมตำเรีย (ที่มา : https://medthai.com/นมตำเลีย/)






Create Date : 11 มิถุนายน 2561
Last Update : 11 มิถุนายน 2561 16:19:31 น.
Counter : 1189 Pageviews.

1 comment
นิทานเรื่องรองเท้านารี: กล้วยไม้รูปรองเท้า


กล้วยไม้รองเท้านารี เป็นกล้วยไม้รากกึ่งดินที่พบกระจายทั่วไปทั้งโลก ทั้งเขตอบอุ่นและเขตร้อนแบบบ้านเรา แต่ก่อนทั้งหมดมีชื่อสกุลว่า Cypripedium ต่อมาก็ได้แยกออกไป กลายเป็นว่ากล้วยไม้ในเขตหนาวหรืออบอุ่นส่วนมาจะยังอยู่ในสกุล Cypripedium ส่วนกล้วยไม้ในเขตร้อนแยกสกุลออกไปเป็น Paphiopedilum ในกลางศตวรรษที่ 19 แต่เพิ่งจะมาแยกกันขาดก็ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 นี่เอง ส่วนจะเอาอวัยวะส่วนไหนมาจำแนกนั้น ต้องไปถามนักพฤกษศาสตร์กัน ส่วนที่จะเล่าในตอนนี้คงเป็นเรื่องของนิยายหรือปกรณัมเท่านั้น เป็น Mythology อ่านสนุกๆครับ
.
.


ชื่อ รองเท้านารี คงไม่มีใครไปอุตริตั้งชื่อกล้วยไม้ได้ลิเกขนาดนี้ นอกจากมาจากคำแปลภาษาอังกฤษว่า Lady’s slipper อันแปลว่า รองเท้าของสตรี จริง ๆ ชื่อภาษาละตินของมันมาจาก Cypripedium หมาย Cypri หมายถึงชาวไซปรัส อันหมายถึง เทพีวีนัส ผู้เกิดบนเกาะไซปรัสนั่นเอง ส่วน Pedium หมายถึงรองเท้า ชื่อละตินของเขาจึงมีความหมายถึง รองเท้าของเทพีวีนัส เมื่อมีการแยกสกุลออกไปเป็นกล้วยไม้เขตร้อนที่มีหน้าตาเป็นรูปรองเท้าเหมือนกัน ก็ยังคงความหมายของชื่อไว้ แต่เปลี่ยนเป็น Paphiopedilum หมายถึง Paphios หมายถึงเมืองบนเกาะไซปรัสที่วีนัสถือกำเนิด (ซึ่งน่าตลกว่า ที่เกาะไซปรัส ไม่มีรองเท้านารีในสกุลนี้สักต้น) ในภาษาอังกฤษ บางทีก็เรียกต่อไปว่า Our lady’s slipper หมายถึงรองเท้าของพระแม่มารีย์ เชื่อกันว่า กล้วยไม้ชนิดนี้ขึ้นบนรอยเท้าของแม่พระ ขณะที่เสด็จไปเยี่ยมนางเอลิซาเบ็ธ ญาติของพระนางที่กำลังตั้งครรภ์นักบุญจอห์น เดอะ แบปติสท์ 
.


.
ส่วนภาษาไทยเรียกกล้วยไม้พวกนี้ว่า เอื้องอึ่งบ้าง เอื้องแมงภู่บ้าง เอื้องฝาหอยบ้าง มลายูเรียกบุหงากะสุตบ้าง อันแปลว่าดอกไม้รองเท้า แล้วก็มีชื่อไม่ครบทุกต้น ตามสไตล์ของพืชที่ใช้ประโยชน์ได้น้อย (เช่น กินไม่ได้ ทำยาไม่ดี) อย่างไรก็ตาม ในยุคเมโสโปเตเมียก็ใช้ประโยชน์จากพืชพวกนี้มาเป็นพันๆปีแล้ว ในอเมริกา พวกอินเดียนแดงใช้หัวของมันลดไข้ และแก้ปวดหัว ส่วนพวกชาวอาณานิคมใช้หัวบดชงกับน้ำแก้โรคนอนไม่หลับ เขาบอกว่ายาที่บดจากหัวของรองเท้านารี (ในเขตอบอุ่นจะลงหัว ต่างกับในเขตร้อนที่ไม่มีหัว) มีสีเหลืองๆน่าเกลียดและมีกลิ่นไม่ชวนพิศมัยเอาเสียเลย 
.


.
ในศตวรรษที่ 19 รองเท้านารีกลายเป็นยาที่รักษาได้หลายโรค และมีการแยกต้นเพศผู้เพศเมียด้วย (เหมือนต้นไม้บางอย่างในไทย) โรคที่รักษาได้ก็เช่น โรคฮิสทีเรียนของผู้หญิง โรคประสาท และอาการบ้าเสียสติ มีคำเตือนไม่ให้สัมผัสกับต้นของรองเท้านารี มิฉะนั้นจะเกิดอาการผิวหนังผิดปกติ และใช้เวลาเป็นปีกว่าจะหาย 
.
.

ตำนานของอินเดียนแดงเล่ากันว่า ในฤดูหนาวอันโหดร้าย มีโรคระบาดในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ร้ายแรงมากจนหมอประจำบ้านถึงแก่ความตาย หัวหน้าเผ่าก็จะจัดส่งคนนำสารไปขอยาจากหมู่บ้านอื่นๆที่อยู่ห่างไกล ปรากฏว่าคนนำสารเกิดป่วยลง ภรรยาของคนนำสารจึงอาสาออกไปนำยามาให้สามีและชาวบ้านแทน ในสมัยโบราณ การเดินทางแม้เป็นหน้าร้อนก็ยังลำบาก นี่เป็นฤดูหนาวที่หิมะตกหนัก เธอเดินฝ่าพายุหิมะออกไป
.
.

วันต่อมาก็มีเสียงร้องเรียกออกจากชายป่า พบว่าหญิงสาวนอนหมดสติอยู่กับตะกร้ายา รอยเท้าของเธอเป็นสีแดงชุ่มด้วยเลือดจากอาการหิมะกัดเท้า ทุกคนรีบพาเธอกลับมาปฐมพยาบาลและนำหนังกวางอุ่นๆมาหุ้มเท้าให้เธอ ต่อมาไม่นาน รอยเท้าเปื้อนเลือดของหญิงสาวก็เกิดต้นไม้เล็กๆมีดอกสวยงามหน้าตาเหมือนรองเท้าขึ้น (บางเรื่องก็เล่าว่า เกิดจากผ้าพันแผลของเธอ รายละเอียดของสีกล้วยไม้ก็แตกต่างกันออกไป สีเหลืองบ้าง สีชมพูบ้าง) 
.
.
.
ส่วนชาวอาณานิคมในอเมริกากลับมองรองเท้านารีเป็นสัญลักษณ์ของความโศกเศร้า เกียรติยศที่อยู่ห่างไกล ความโดดเดี่ยว ความตายในที่ห่างไกลจากบ้านเกิดเมืองนอน เพราะมันมักจะผลิดอกบนหลุมศพรกร้างที่ไร้ญาติ มีคำเปรียบเปรยว่า บนหลุมศพร้าง ดอกไวโอเล็ตบานในเดือนพฤษภาคม ส่วนดอกรองเท้านารีก็ขึ้นต่อจากนั้นในฤดูร้อน






Create Date : 09 มิถุนายน 2560
Last Update : 10 มิถุนายน 2560 9:35:09 น.
Counter : 1329 Pageviews.

0 comment
ตำนานวานิลา กล้วยไม้ที่กินได้



ใคร ๆ ก็ต้องเคยกินวานิลา กลิ่นนี้เป็นกลิ่นพื้นฐานของโลกที่ใช้ในอาหารหวานคาวหลายประเภท แม้ว่าจะไม่มีถิ่นกำเนิดในเมืองไทย แต่เรากลับคุ้นเคยกับกลิ่นประหลาดนวลๆ นี้ ยิ่งกว่ากลิ่นไทยๆอย่างดอกนมแมวหรือควันเทียนชะมดเช็ดเสียอีก พอเราโตมาอีกหน่อยนึงถึงได้เรียนรู้ว่า ไอ้กลิ่นที่เรากินๆกันนั้นมันเป็นกลิ่นสังเคราะห์ เพราะถ้าเอามาจากฝักวานิลาจริงๆมันแพงระยับ เกือบฝักละ 60 บาท และต้องผ่านกระบวนการหมักบ่มวุ่นวายหลายเดือน ว่าจะได้กลิ่นมาใช้ และสักพักนึงเราก็จะเริ่มเรียนรู้ต่อไปว่า วานิลามันเป็นดอกกล้วยไม้ แถมเป็นกล้วยไม้ที่ประหลาดกว่าชาวบ้าน คือเป็นไม้เลื้อยที่เลื้อยไปได้ไกลหลายสิบเมตร กล้วยไม้บ้าอะไรเลื้อยได้ พืชในวงศ์กล้วยไม้ที่เลื้อยได้มีน้อยแสนน้อย
.

.
วานิลาเป็นพืชที่กระจายตัวทั่วไปทั้งในเอเซีย อาฟริกาและอเมริกาใต้ แต่วานิลาที่นำมาใช้ในการค้าหลักๆก็คือ Vanilla planifolia (แปลว่าวานิลาใบแบน) หรือ วานิลาเม็กซิโก หรือวานิลาบูร์บง วานิลาชนิดนี้เป็นพืชท้องถิ่นที่พบในอเมริกากลางทางตะวันออกเฉียงใต้  มีการใช้ประโยชน์จากวานิลามาตั้งแต่ยุคก่อนที่สเปนจะย่ำเท้าเข้ามาในอเมริกากลางเสียอีก ชาวพื้นเมืองทั้งพวกมายา แอสแทกและโตโตแน็ก ใช้วานิลาให้กลิ่นหอม ใช้ผสมโกโก้ ใช้เป็นยา และใช้เป็นเครื่องแลกเปลี่ยนบรรณาการ ชาวยุโรปรู้จักวานิลาผ่านการล่าอาณานิคม ได้นำฝักของมันกลับไปยุโรปตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 16 และตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ก็มีการนำพืชชนิดนี้ออกไปยังดินแดนเอเซียและแอฟริกา เพื่อปลูกสำหรับการค้า
.

.
ชาวโตโตแน็กถือว่าวานิลาเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ มีนิทานเล่าประกอบเรื่องนี้ ชาวโปรตุเกสจดจำเอาไว้ได้ ตำนานเล่าว่าที่เชิงเขาใกล้หมู่บ้าน Papantha มีวัดของเทพเจ้า Tonacayohua เป็นเทพีแห่งการเก็บเกี่ยวผลผลิตและอาหาร ในสมัยของกษัตริย์ Teniztli ที่ 3 พระองค์มีพระราชธิดาองค์หนึ่งหนึ่งชื่อ Tzacopontizza เมื่อทรงเจริญวัยก็แอบหลงรักเจ้าชายชื่อ Zkazan-Oxga แต่ความรักของทั้งคู่ผิดธรรมเนียมประเพณี วันหนึ่งเจ้าหญิงหนีตามเจ้าชายออกไป โดยมอมเหล้าพระราชบิดาเสีย ทั้งคู่ถูกติดตามไล่ล่า และถูกสังหารด้วยลูกธนูจนตายทั้งคู่ พวกพระนำร่างของทั้งสองมายังวัด และควักหัวใจสดๆออกมา จากนั้นก็โยนร่างลงไปในหุบเหว 



เมื่อเลือดของทั้งสองกระเด็นลงพื้นดิน ก็เกิดเป็นต้นไม้ใหญ่เติบโตแผ่กิ่งก้านให้ร่มเงา จากนั้นก็เริ่มมีกล้วยไม้งอกงามบนกิ่งก้านและแตกกอขยายพันธุ์เลื้อยไปตามลำต้นของต้นไม้นั้น จนมีลักษณะเหมือนหญิงสาวอยู่ในอ้อมกอดของคู่รัก วันดีคืนดี กล้วยไม้นั้นก็ออกดอกสะพรั่งส่งกลิ่นหอม และติดฝักที่เมื่อแตกออกแล้วส่งกลิ่นหอมยิ่งกว่า จนบรรดาพระและชาวนาตามกลิ่นมาอย่างพิศวงใจ ไม่มีใครจำเรื่องของคู่รักทั้งสองได้ และไม่มีใครคาดคิดว่าโลหิตของทั้งสองคนจะกลายเป็นกล้วยไม้ที่ส่งกลิ่นแปลกประหลาด พวกเขาให้ชื่อมันว่า Caxinxanath แปลว่า ต้นไม้ลึกลับ ใช้เป็นเครื่องสังเวยเทพเจ้าในวัด


ตำนานเรื่องคู่รักที่ไม่สมหวังแบบนี้ ก็มีในกล้วยไม้เอื้องแซะหอมของบ้านเรา หรือเอื้องผึ้งกับต้นจันผาก็คล้ายๆกัน 
.
.
วานิลาเป็นกล้วยไม้สกุลเดียวที่มนุษย์ผลิตขึ้นมาเพื่อเป็นอาหารอย่างจริงจัง พวกล่าอาณานิคมนำฝักวานิลาจากอเมริกากลับไปยังยุโรปตั้งแต่ปี 1510 และนำต้นไปยุโรปตั้งแต่ปี 1739 แต่ต้นตัวอย่างก็ตายลงในที่สุดเพราะทนอากาศหนาวไม่ได้ จนกระทั่งปี 1753 ถึงได้มีตัวอย่างรอดในอังกฤษ และนำไปเพาะเลี้ยงในโรงเรือนปรับสภาพในสวนพฤกษศาสตร์ Likgeในบรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยม .
.

.
ในช่วงเวลานั้น การผสมเกสรดอกกล้วยไม้ถือเป็นปริศนาประการหนึ่งของมนุษยชาติ ด้วยโครงสร้างทางกายภาพของกล้วยไม้ที่ผิดแปลกไปจากพืชชนิดอื่นๆที่ไม่สามารถสังเกตรังไข่และเกสรได้อย่างชัดเจน ทำให้นักธรรมชาติวิทยาต้องมะงุมมะงาหราอยู่กับการศึกษาเพื่อจะผสมเกสรกล้วยไม้ให้สำเร็จ 


ชาวดัทช์ได้นำวานิลาจากเขตร้อนโลกใหม่เข้าไปเพาะพันธุ์ในสวนพฤกษศาสตร์ที่อินโดนีเซีย พบว่ามันสามารถออกดอกได้หลายหน มีรายงานว่าในปี 1835 V.albida และ V.aphylla (เถางูเขียว) ติดฝักที่อินโดนีเซีย แต่น่าสนใจว่า มีเฉพาะ V.planifolia ที่เป็นไม้เศรษฐกิจให้ฝักหอมเท่านั้นที่มีการวาดภาพดอกและฝักเอาไว้อย่างเรียบร้อย (แต่ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า วานิลา แพลนนิโฟเลีย ไม่ใช่ไม้เอเซียเหมือนสองชนิดแรกที่พบทางมลายูและอินโดนีเซีย จึงอาจจะเป็นที่ตื่นตาตื่นใจมากกว่าจนต้องบันทึกไว้)
.
.
ที่เบลเยี่ยมนี้เอง วานิลาจากเม็กซิโกก็ได้รับการประคบประหงมจนออกดอก และผสมเกสรติดฝักด้วยมือมนุษย์ได้ในปี 1836 โดย Professor Charles Morren ซึ่งก็ต้องรออีกปีหนึ่งฝักจึงจะแตก เขาทุ่มเทให้กับการศึกษากายภาพของกล้วยไม้จนได้รับรางวัลมากมาย และตีพิมพ์งานออกมาทั้งในภาษาฝรั่งเศสและละติน ในการบรรยายครั้งหนึ่งที่ฝรั่งเศส Morren ยังนำเถาวานิลาที่ติดฝัก 3 ฝักไปแสดงด้วย ในช่วงเวลาเดียวกัน ก็มีรายงานความสำเร็จของการผสมเกสรวานิลาที่สวนพฤกษศาสตร์ที่ปาดัว ประเทศอิตาลี 
.

ส่วนฝรั่งเศสอ้างว่านักพฤกษศาสตร์ชื่อ Neuman ผสมเกสรติดตั้งแต่ปี 1830 (ก่อนMorren จะประสบความสำเร็จเสียอีก) แต่ก็มีคนคัดค้านว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะการผสมเกสรดอกกล้วยไม้จนติดฝักในยุคนั้นถือเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ นิวแมนไม่น่าจะรออีกตั้ง 8 ปีกว่าจะตีพิมพ์ผลงาน และกว่าองค์ความรู้เรื่องนี้จะถูกนำไปใช้งานในอาณานิคมของฝรั่งเศสแถบมหาสมุทรอินเดียก็กินเวลาเกือบ 10 ปี เช่นเดียวกัน ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้
.
.
มีเรื่องโรแมนติคหน่อยๆว่าทาสหนุ่มผิวดำชื่อ Edmond Albius ผู้ไร้การศึกษา สามารถผสมเกสรวานิลาจนติดได้ในระหว่างปี 1841 -1848 แต่เรื่องนี้ก็เป็นแค่เรื่องเมาท์เท่านั้น ไม่มีมูลความจริงเท่าไรนัก ทั้งยังล่าช้ากว่า Morren ตั้งหลายปี


อย่างไรก็ตาม ในศตวรรษที่ 17 ชาวโตโตแน็กเมือง Papantha แห่งเวราครูซ เป็นผู้ส่งออกวานิลารายเดียวของโลกเป็นเวลากว่า 100 ปี และด้วยคุณภาพที่ไม่เหมือนใคร ทำให้ได้รับเหรียญทองในการประกวดวานิลาเม็กซิกันในปารีสเมื่อปี 1889 และในชิคาโกในปี 1892 ทำให้เมือง Papantha ได้รับสมญาว่าเมืองที่ทำให้ทั้งโลกหอมหวล อย่างไรก็ดี ในยุคแรกๆนั้น ผลผลิตวานิลาได้มาจากการเก็บของป่า ซึ่งฝักของมันได้รับการผสมเกสรโดยผึ้งป่าที่พบเฉพาะในเขตร้อนของโลกใหม่เท่านั้น 
.
.
การผูกขาดวานิลาจากเม็กซิโกนั้นตกต่ำลงหลังจากค้นพบการผสมเกสรจากมือมนุษย์ ในเบลเยี่ยมเมื่อปี 1836 ทำให้หลายๆประเทศกลายเป็นผู้ผลิตวานิลาได้ และในปี 1870 อาณานิคมของฝรั่งเศสในมาดากัสการ์ก็ผลิตวานิลาแซงหน้าเม็กซิโก ไปได้ จนกลายเป็นผู้ผลิตระดับแนวหน้าได้ในที่สุด
 .
.
แม้ว่าเม็กซิโกจะสูญเสียความเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ไปแล้ว แต่ก็ยังเป็นศูนย์กลางของแหล่งกำเนิดและความหลากหลายทางพันธุกรรมของกล้วยไม้ชนิดนี้ ยังมีการผลิตวานิลาอย่างต่อเนื่องจากถึงทุกวันนี้ ทั้งหมดทำโดยชาวโตโตแน็ค ผู้ยึดเอาวานิลาเป็นอาชีพหลัก ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมพวกเขาที่มีการนำเส้นใยมาทอผ้าอีกด้วย โดยท้องถิ่นที่จะปลูก จะต้องมีภูมิอากาศร้อนชื้น และอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 700 เมตร มีอุณหภูมิประมาณ 24 องศาเซลเซียส และมีความชื้นสัมพัทธ์ 80 เปอร์เซนต์ มีปริมาณน้ำฝน 1200 -1300 มม. ในหน้าหนาวก็จะต้องมีลมเหนืออ่อนๆ พัดมาถึง เชื่อกันว่าทำให้วานิลาออกดอก 

(ภาพล่าง ดอกวานิลาใบแบบที่เขียนในปี 1891)


.



Create Date : 09 มิถุนายน 2560
Last Update : 9 มิถุนายน 2560 12:44:07 น.
Counter : 883 Pageviews.

0 comment
ประวัติกล้วยไม้ลูกผสม (2)




ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงเวลาที่ชาวยุโรปกำลังตื่นเต้นกับการหัดผสมเกสรพืช โดยเฉพาะกล้วยไม้ หลังจากมะงุมมะงาหราอยู่กับวนิลามาเป็นร้อยๆปี กว่าจะทำให้มันติดฝักได้ มิต้องพูดถึงการผสมข้ามสปีชีย์ ดังนั้นเมื่อกล้วยไม้ลูกผสมชนิดแรกถูกผสมออกมาโดยจอห์น โดมินี ในปี 1856 นั่นทำให้ Lindley บิดาแห่งวงการกล้วยไม้ถึงกับอุทานว่า "พวกคุณจะทำให้นักพฤกษศาสตร์เป็นบ้า"
.
.
มีคนตีความคำอุทานของ Lindley ออกมาว่า มันเจื
ออคติของนักพฤกษศาสตร์ในยุคก่อนดาร์วิน ที่มักรังเกียจเดียดฉันท์ "ลูกผสม" ต่างๆ บ้าคลั่งพันธุ์แท้ และแกล้งทำเป็นมองไม่เห็น แม้ว่าจะเป็นลูกผสมตามธรรมชาติก็ตาม (อาจจะเช่นเดียวกับการเหยียดพวกเลือดผสมตามอาณานิคมด้วย) กว่าชาวยุโรปจะหันมาให้ความสำคัญกับการผสมข้ามสายพันธุ์ก็เมื่อกระแสของทฤษฎีชาร์ล ดาร์วินแพร่ขยายออกไปแล้ว สังเกตว่า ดาร์วินผลิตงานชิ้นแรกของเขาคือ On the origin of speciesในปี 1859 หลังจากกล้วยไม้ลูกผสมถูกผลิตออกมาเพียง 3 ปี และกว่ากระแสของเขาจะดังก็อีกสักพัก ถ้าหากว่ากล้วยไม้ไม่ใช่สิ่งที่ผสมได้ยากเย็นนักหนา ก็คงมีสถานะไม่ต่างกับบรรดาลูกครึ่ง Mestizo ตามประเทศอาณานิคม
.
.
หลังจากโดมินีผลิตกล้วยไม้ลูกผสมต้นแรกออกมาแล้วคือ Calanthe x Dominy เขาก็จัดการผสมเกสรรองเท้านารีเขตร้อน
จนได้ลูกผสมตัวแรกของโลก คือ Paphiopedilum x Harrisiana เป็นลูกของ Paph. barbatum x Paph. villosum หรือญาติๆของรองเท้านารีม่วงสงขลากับรองเท้านารีอินทนนท์

กล้วยไม้ต้นนี้ผสมจนติดฝักเมื่อปี 1864 และออกดอกครั้งแรกในปี 1869 (ใช้เวลาเพาะ 3 ปี ออกดอกในปีที่ 2 ในรัชกาลที่ 5) แต่คราวนี้ H. G. Reichenbach ผู้โด่งดังในวงการกล้วยไม้ แทน Lindley ที่ได้ล่วงลับไป ได้ตั้งชื่อให้เป็นเกียรติแก่ John Harris ศัลยแพทย์ผู้เป็นเพื่อนของโดมินี และให้ความช่วยเหลือในการผสมพันธุ์รองเท้านารีลูกผสมชนิดแรกของโลก


(รูปล่าง กล้วยไม้รองเท้านารีลูกผสมชนิดแรกของโลก Paphiopedilum x Harrisiana) 






Create Date : 07 มิถุนายน 2560
Last Update : 7 มิถุนายน 2560 0:16:03 น.
Counter : 781 Pageviews.

2 comment
ประวัติกล้วยไม้ลูกผสม




นักวิทยาศาสตร์ใช้เวลากว่า100 ปี ในการเรียนรู้โครงสร้างทางกายภาพของดอกกล้วยไม้ และกว่าจะเรียนรู้ว่าจะทำให้กล้วยไม้ติดฝักได้ ก็กินเวลาพอๆกัน มนุษย์สนใจเรื่องการผสมพันธุ์กล้วยไม้มากว่า 150 ปีแล้ว แต่กว่าจะได้ลูกผสมต้นแรกก็นานเหลือเกิน

.
.
ชายชื่อ Georgius Everhardus Rumphius พ่อค้าตาบอดแห่งเกาะอัมบน ในอินโดนีเซีย เป็นคนแรกที่บรรยายถึงลักษณะของฝักกล้วยไม้เอาไว้ก่อนนักพฤกษศาสตร์เสียอีก และแม้ว่าชาวยุโรปจะรู้จักกับตัวอย่างของฝักกล้วยไม้ แต่ก็ยังไม่มีใครทำให้มันติดฝักได้
.
Rumphius เป็นนักธรรมชาติวิทยาคนแรกที่สังเกตและบรรยายรังไข่ของกล้วยไม้เอาไว้ในปี 1701 ในหอพรรณไม้ในเกาะอัมบนนั้นเอง ซึ่งกว่าจะตีพิมพ์ในอัมสเตอร์ดัมก็ปาเข้าไปปี 1750 เขาได้ใช้ตัวอย่างจาก Pecteilis susannae หรือ นางอั้วตีนกบ เขาบรรยายว่าเกสรสีทองที่คล้ายๆกับดอกลิลลี่นั้น ซ่อนไว้ในอับเรณูที่คล้ายๆกับหมวก เขายังได้สังเกตหน้าที่ของเกสรและบรรยายลักษณะฝักของมันไว้ด้วย บางคนตั้งข้อสังเกตว่า รัมฟิอัสน่าจะได้ลองผสมเกสรเพื่อทดสอบสมมติฐานของเขาเอง แต่ก็ไม่มีใครทราบผลว่าเป็นอย่างไรบ้าง
.
.

หลังจากนั้นก็เริ่มมีการพยายามที่จะผสมพันธุ์กล้วยไม้สกุลวานิลา ที่เก็บมาจากอินโดนีเซีย เรื่องนี้่อาจจะมีแรงขับดันมาจากการที่เป็นกล้วยไม้ที่ให้กลิ่นหอมแบบเครื่องเทศก็เป็นได้ วนิลาต้นแรกถูกส่งไปอังกฤษตั้งแต่ปี 1739 แต่ก็ยังไม่มีใครทำให้มันติดฝักได้ มีนิทานโรแมนติกเล่าว่า ทาสหนุ่มผิวดำคนหนึ่งที่เป็นคนค้นพบการผสมเกสรวนิลาในปี 1841 หากแต่แท้จริงแล้ว นักพฤกษศาสตร์หลายคนมีการตีพิมพ์เรื่องวนิลาไว้เต็มไปหมด แต่จุดประสงค์หลักก็คือต้องการกลิ่นจากฝักของมัน หาใช่ชนิดพันธุ์ใหม่หรือพันธุ์ผสมไม่ นักธรรมชาติวิทยาหลายคนหันไปทดลองผสมฝักวนิลาเป็นงานอดิเรก
.
.

ที่นี้มาถึงกล้วยไม้ลูกผสมต้นแรกของโลก ที่ผสมโดยมนุษย์ คือ Calanthe Domini คาลันเทเป็นกล้วยไม้ดินในสกุลเอื้องน้ำต้น โดยพ่อและแม่ของมันคือ Calanthe masuca × Calanthe triplicate สำเร็จในปี 2399 หรือราวรัชกาลที่ 4 ตั้งชื่อตามผู้ผสมคือ John Dominy ชาวอังกฤษ ผู้เป็นลูกจ้างของ H. J. Veitch นักธุรกิจและพ่อค้ากล้วยไม้ ผู้ขายและรวบรวมพันธุ์กล้วยไม้จากทั่วโลก และ John Harris ซึ่งเป็นศัลยแพทย์และสนใจงานทางด้านนี้ เขาเป็นคนสอนให้โดมินีรู้จักโครงสร้างต่างๆของดอกกล้วยไม้ จนนำไปต่อยอดได้
.

โดมีนี เริ่มด้วยการลองผสมพันธุ์ไม้เขตร้อนยอดฮิตอย่าง Cattltya nossiae Parker กับ Laelia purpurata ในปี 1852 แต่กว่าลูกไม้ชนิดนี้จะออกดอกก็ปาเข้าไป 17 ปี จึงยังจดทะเบียนไม่ได้ แม้ว่าจะผสมก่อนก็ตาม
.
.

จนกระทั่งในปี 1854 (อาจจะเป็น 1852 มากกว่า) โดมินีก็ผสมพันธุ์คาลันเท Calanthe masuca × Calanthe triplicate จนติดฝักและได้ลูกผสมที่ออกดอกในเดือนตุลาคม ปี 1856 ในเดือนเดียวกัน ตัวอย่างลูกผสมชนิดแรกก็ถูกนำส่งให้ John Lindley ผู้ได้รับสมญาว่าบิดาแห่งกล้วยไม้วิทยา (ที่มักจะพบชื่อเขาต่อท้ายชื่อวิทยาศาสตร์ของกล้วยไม้ต่างๆ)
.

Lindley ถึงกับออกปากกะเขาว่า "พวกคุณจะทำให้นักพฤกษศาสตร์เป็นบ้า" แล้วก็อาจจะเป็นแบบนั้นจริง เพราะจอห์น โดมินีผลิตลูกผสมกล้วยไม้ออกมาอีก 25 ชนิดจนเขาเกษียณอายุในปี 1880 และต่อมาก็เริ่มมีธรรมเนียมการตั้งชื่อลูกผสมตามชื่อคนผสม คือ Calanthe x sedeni
.

หลังจากคาลันเท โดมินี แล้ว ก็มีกล้วยไม้ลูกผสมสกุลแคทลียาตามมาในปี 1859 และในปี 1864 เขาก็ผลิตกล้วยไม้รองเท้านารีลูกผสมออกมา ในชื่อ Cypripedium Harrisianum (C x barbato-villosum) ตามชื่อดร.จอห์น แฮริส แม้ว่าจะนำออกแสดงต่อหน้าสาธารณชน แต่กล้วยไม้ทั้งหมดก็ยังคงเพาะปลูกไว้เฉพาะในโรงเรือนของVeitch เท่านั้น
.
.
การผลิตกล้วยไม้ลูกผสมในยุคที่ยังไม่มีแล็ปเป็นอะไรที่ยากมาก ๆ เพราะทราบกันดีว่า กล้วยไม้ที่เพาะเมล็ดตามธรรมชาติมีอัตรางอกที่น้อยมาก ๆ บางทีก็แทบไม่งอกเลยถ้าสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม เพราะเมล็ดกล้วยไม้ไม่มีอาหารสะสมไว้เลย ต้องอาศัยเชื้อราจากแหล่งกำเนิด
.
.
ดังนั้น ลูกผสมชนิดแรกของโดมินีจึงถือเป็นการสะเทือนวงการพฤกษศาสตร์ หลังจากหมดศตวรรษที่ 19 มีกล้วยไม้ลูกผสมออกมากว่า 1000 ชนิด จนกระทั่งทุกวันนี้ประมาณกันว่ามีกล้วยไม้ลูกผสมกว่า 200000 ชนิด ซึ่งเพิ่มขึ้นทุกๆปีราวๆปีละ 2000 ชนิด
.
.
เมืองไทยน่าจะมีพิพิธภัณฑ์ที่เก็บกล้วยไม้ลูกผสมบ้างนะ








Create Date : 06 มิถุนายน 2560
Last Update : 6 มิถุนายน 2560 23:18:50 น.
Counter : 902 Pageviews.

0 comment
1  2  

ปลาทองสยองเมือง
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 23 คน [?]



New Comments