ทุกข์ที่เกิดซ้ำ เพราะใจมันพร่ำเพ้อ หาหัวใจให้เจอก็เป็นสุข.. Don't worry.. Be happy..
Group Blog
 
All Blogs
 
ชินคันเซน รถด่วนทะลุอนาคต ตอนที่ 2

มาต่อแล้วกับตอนที่ 2 วันนี้จะมาว่าให้จบ Series ชินคันเซนทุกรุ่นทุกแบบ ที่มีกัน (ถ้าผมไม่อู้ซ่ะก่อนนะ)

ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาชมและทักทาย


ไม่ให้เสียเวลา ไปกันต่อเลย






ก่อนไปต่อ ขอสรุปเส้นทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือให้เห็นภาพกันก่อน เด๋วพูดถึง โทโฮะคุ โจเอ็ทสี อาคิตะ หรือ ยามางาตะ จะได้ไม่งง


JR East รับผิดชอบการเดินรถชินคันเซน 5 สาย


สายแรก Tohoku (โทโฮะคุ) Shinkansen วิ่งจาก โตเกียว ไป ฮาชิโนเฮะ (632 กม.) แบ่งขบวนรถออกเป็น 3 แบบ ตามระยะทาง และจำนวนสถา่ีีนีที่แวะจอด

-Hayate (ฮายาเทะ) วิ่งตรงยาวจากโตเกียว ไปถึง ฮาชิโนเฮะ

-Yamabiko วิ่งจากโตเกียว ไปถึง เซนได หรือ โมริโอคะ
แยกย่อยเป็น รถชั้นเดียว ชื่อ ยามะบิโกะ กับ รถ 2 ชั้น ชื่อ Max Yamabiko

-Nasuno วิ่งจากโตเกียว ไปแค่ไม่เกินสถานี Koriyama ก่อนถึงเมือง Fukushima
แยกย่อยเป็น รถชั้นเดียว ชื่อ นาซุโนะ กับ รถ 2 ชั้น ชื่อ Max Nasuno



สายที่สอง Joetsu (โจเอะซึ) Shinkansen วิ่งจาก โตเกียว ไป นิอิงาตะ (334 กม.) มีรถอยู่ 2 แบบ

-Toki วิ่งจากโตเกียว ไป นิอิงาตะ
แยกย่อยเป็น รถชั้นเดียว ชื่อ โทคิ กับ รถ 2 ชั้น ชื่อ Max Toki

-Tanigawa วิ่งจากโตเกียว ไปสุดแค่เมืองตากอากาศเล่นสกี Yuzawa
แยกย่อยเป็น รถชั้นเดียว ชื่อ ทานิงาว่า กับ รถ 2 ชั้น ชื่อ Max Tanigawa


สาย ที่สาม Hokuriku หรือ เรียกอีกชื่อว่า Nagano Shinkansen วิ่งจาก โตเกียว ไป นางาโน่ (222 กม.) มีรถประเภทเดียว ชื่อ Asama (อาซามะ)


สายที่สี่ Yamagata Shinkansen วิ่งจาก โตเกียว ผ่าน ยามางาตะ สุดสายที่ Shinjo (421 กม.) มีรถวิ่งประเภทเดียว ชื่อ Tsubasa (สึบาสะ)


สายที่ห้า Akita Shinkansen วิ่งจาก โตเกียว ไป อาคิตะ (662 กม.) มีรถวิ่งประเภทเดียวเหมือนกัน ชื่อ Komachi (โคมะฉิ)





ตอนที่แล้ว เล่าไปตั้งแต่ 000 series ไล่ไปจนถึง 800 series
ยังไม่ได้เล่า Series 200 กับ 400

เพราะ 2 ตระกูลนี้ใช้อยู่ในเส้นทางชินคันเซนสายอีสาน (ตอนเหนือของเกาะฮอนชู) ในการดูแลของ JR East

สมัย ที่ JR East ยังไม่เกิด การรถไฟญี่ปุ่น พัฒนา 000 Series กับ 100 Series ไว้สำหรับสายโทะไคโดและซันโย เป็นรุ่นที่เหมาะใช้วิ่งตามที่ราบ

ต่อมาเมื่อปี 2525 การรถไฟญี่ปุ่นเดิม (JNR) เปิดเส้นทางใหม่ ที่ส่วนใหญ่จะวิ่งผ่านหุบเขาสูง และ ในหน้าหนาวจะเจอหิมะตกหนัก 2 เส้น คือ Tohoku และ Joetsu Shinkansen

รถไฟที่จะใช้วิ่งได้ ต้องสร้างให้อึดกว่าปกติ


200 Series จึงเกิดขึ้นมา สำหรับใช้งานหนัก ไต่เขา ลุยอากาศหนาวโดยเฉพาะ

เริ่มเปิดสายการผลิตตั้งแต่ปี 2523 จนถึง 2529
ผลิตออกมาจำนวนพอ ๆ กับ 100 Series ที่ใช้วิ่งพื้นราบถึง 66 ขบวน
แต่ขบวนนึงมีแค่ 12 ตู้ ไม่ใช่ 16 ตู้ เหมือนกับรุ่นปกติ เดี๋ยวไต่เขาไม่ไหว

รุ่นแรก ๆ ก็เอาโครงสร้างและรูปแบบก็มาจาก 000 Series นั่นแหละ หน้าตาเลยคล้ายกันอย่างกับฝาแฝด

แต่เปลี่ยนตัวถังจากเหล็ก เป็น อลูมินัม อัลลอย เพื่อให้ตัวเบาขึ้น
เปลี่ยนมอเตอร์ไฟฟ้ากำลังแรง ๆ ใส่เข้าไปแทนลูกเดิม
เพิ่มฉนวนป้องกันอากาศหนาวและหิมะให้กับอุปกรณ์ที่ติดอยู่ใต้ท้องรถ และ อุปกรณ์ป้องกันหิมะตกใส่ช่องดูดอากาศที่หลังคารถ

ภายนอกก็ทาสีเขียวคาดเอาไว้ ให้ดูต่างจาก 000 Series ที่ทาลายคาดเป็นสีน้ำเงิน


ความเร็วสุงสุดทำได้ถึง 240 กม./ชม. แต่วิ่งจริง ต้องไต่เขาเป็นระยะ ๆ แค่ 200 เท่าชื่อรุ่น ก็หรูแล้ว





ความแตกต่างที่เห็นได้ชัด ๆ ของชินคันเซนแบบปกติ (000 Series) กับแบบไต่เขา (200 Series) นอกจากสีตัวรถที่ทาไม่เหมือนกันแล้ว

เค้าให้สังเกตตรงชายขอบด้านล่างที่บริเวณหน้ารถครับ

000 Series จะเรียบ ๆ

แต่ 200 Series จะดัดเหล็กจับจีบเป็นครีบรูปโค้ง เหมือนพานไถ เอาไว้กวาดหิมะบนรางรถไฟ





เมื่อมีการผลิต 100 Series ออกมาแล้ว
ก็เลยผลิต 200 Series รุ่นปรับปรุง โดยไม่เปลี่ยนชื่อรุ่นตามมาบ้าง
ใช้โครงสร้างตาม 100 Series อีกนั่นแหละ

ข้อแตกต่างให้สังเกตยังเหมือนเดิม คือ ตรงชายชอบหน้ารถ จะทำเป็นครีบพานไถ ไว้กวาดหิมะเหมือนกัน

200 Series ยุคแรก เลยมีหน้าตาหลากหลายมาก มีทั้งที่เป็นฝาแฝดของ 000 และ 100 Series

ยังมีเหลือใช้มาถึงตอนนี้เลยนะ





รูป 200 Series สีเขียวดั้งเดิม ที่พี่ฟ้า Skybox ไปเจอที่ญี่ปุ่น เมื่อปีก่อนนู้น เอามารวมไว้ให้อยู่ใน ชุดเดียวกัน





ท่าทางพี่ฟ้าแกจะชอบรถไฟญี่ปุ่นมากเหมือนกัน ขนาดห้องคนขับ ยังแอบสอดกล้องเข้าไปถ่าย

ขอบคุณสำหรับภาพสวย ๆ นะครับท่านพี่





แม้ว่าสายการผลิต 200 Series จะหยุดลงไปเมื่อปี 2529
แต่ทาง JR East ก็ยังใช้วิ่งมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุับัน

จนถึงปี 2540 ทาง JR East เห็นว่าสภาพ 200 Series ดูจะเก่าเกินกระป๋องนมผุแล้ว เลยจับมาแต่งหน้าทาปากใหม่
ปรับตัวถัง เปลี่ยนอุปกรณ์บางตัว
เปลี่ยนสี ไปเป็น 2 Tone ขาว-น้ำเงิน
เหมือนกับขบวนรถสกุล E Series ตัวอื่นๆ ของ JR East
แล้วเรียกว่า 200 Series รุ่นขัดใหม่ (Refurbishment) หรือ K Sets


ตอนนี้ตามข้อมูลที่มี เห็นว่าใช้วิ่งในสายโทโฮะคุ ขบวนยามาบิโกะ และ นาซุโนะ กับสายโจเอะซึ ขบวนโทคิ และ ทานิงาว่า


หน้าตาอ้วนกลมหน้ารักเหมือนโดราเอมอน แบบนี้...





ตัวนี้เป็น K Sets ที่ใช้งานอยู่ ณ บัดเดี่ยวนี้

ลองนั่งมาเมื่อเดือนมีนาคม ปี 51
ช่างญี่ปุ่นเซียนมาก สามารถรักษาสภาพให้ดูเหมือนใหม่ได้ตลอด 10 ปีได้ไงเนี้ยะ...

ใครอยากนั่ง ต้องรีบหน่อยนะ

JR East มีแผนจะปลดระวาง 200 Series ทุกรุ่น ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นขัดใหม่ทั้งหมดภายในในปี 2556

ใครไปญี่ปุ่น แล้วเจอตัวเป็น ๆ รีบถ่ายรูปไว้ก็ดี เพราะอีกไม่กี่ปี ทั้่ง 100 และ 200 Series ก็จะตามรุ่นพี่ซีรีย์ 000 เข้าพิพิธภัณฑ์กันหมดแล้ว





ส่วน 400 Series เริ่มพัฒนาและผลิตเมื่อปี 2533
ตามแผนการของ JR East ที่กำลังสร้างรางรถไฟสาย Yamagata Shinkansen

เป็นชินคันเซนสายรอง ที่แยกจาก Tohoku Shinkansen ตรงเมืองฟุคุชิม่า ผ่านยามางาตะ ไปสุดสายที่เมืองชินโจ

รุ่นนี้เอามาใช้เป็นชินคันเซนสายยามากาตะ ให้ชื่อขบวนรถว่า Tsubasa

หน้าตาเหมือนหัวเครื่องบินขับไล่ไอพ่น
ผลิตออกมาแค่ 12 ขบวน โดย 1 ขบวนมี 7 ตู้

ความ เร็วสูงสุดทำได้ถึง 240 กม./ชม. บนพื้นราบ แต่วิ่งจริงบนเส้นทางไต่เขาพันโค้ง จากเมืองฟุคุชิม่า ถึง ยามางาตะ ได้แค่ไม่เกิน 130 กม./ชม.





400 Series มีชื่อเล่นอีกชื่อว่า Mini-Shinkansen

เนื่องจากมีขนาดมิติตัวรถ เท่ากับขบวนรถไฟญี่ปุ่นทั่วไป
แต่ฐานล้อจะกว้าง 1.435 เมตร ตามมาตรฐานรางรถไฟชินคันเซ็น

ดูเผิน ๆ เลยเป็นรถล้อใหญ่ ตัวเล็ก

ที่ ต้องทำรถให้ตัวเล็กเพราะทางรถไฟชินคันเซนสายนี้ ช่วงที่แยกออกจากเมืองฟุคุชิม่า ถึง ชินโจ ดัดแปลงเพิ่มจากรางรถไฟปกติ (รู้สึกจะเป็นรางรถไฟสายโออุ) ซึ่งทำให้เสาไฟ สะพาน ชานชลา อุโมงค์ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ของรางรถไฟ ยังใช้ของรถไฟปกติ

คือรางรถไฟแถวนั้น ใช้วิ่งทั้งชินคันเซน และ รถไฟปกติ (มีรางซ้อนกัน 3 เส้น)

ศัทพ์เทคนิคในวงการรถไฟเค้าเรียกว่า เขตบรรทุก (Loading Gauge) ในสายยามางาตะมันเล็ก ไม่พอให้ชินคันเซนขนาดปกติวิ่งเข้าไปได้ เลยต้องย่อขนาดตัวถังรถลงมาเท่าขนาดรถไฟปกติ


หมายเหตุอารมณ์ดี:
Loading Gauge ของ ชินคันเซน กว้าง 3.8 เมตร
ของรถไฟญี่ปุ่นปกติรู้สึกจะกว้างแค่ประมาณ 3 เมตร
รถไฟไทย กว้าง 2.92 เมตร
รถไฟฟ้า BTS กว้าง 3.2 เมตร
ส่วนรถไฟใต้ดิน จะกว้างน้อยกว่าแค่ 3.12 เมตร เพราะยิ่งกว้างยิ่งต้องเจาะอุโมงค์ขนาดใหญ่ ค่าก่อสร้างจะแพง





โลโก้ของ 400 Series รุ่นแรก

เหลี่ยม ๆ แข็ง ๆ ชืด ๆ ตามแนวนิยมของหัวหน้าแผนกออกแบบในยุคนั้น




ภายในรุ่น 400

ออกมานานแล้ว เลยดูเก่า ๆ เบาะก็ยังไม่ใช่ผ้าสังเคราะห์ เป็นแนวบุผ้านุ่ม ๆ เหมือนกำมะหยี่ตามสมัยนิยม





ใครอยากเห็น อยากนั่ง 400 Series ตัวเป็น ๆ ต้องรีบแล้วนะ
เพราะตั้งแต่ต้นปีหน้า 2552 เป็นต้นไป JR East จะทยอยปลดระวางรุ่นนี้เสียเร้ว...
เพราะใช้มาครบอายุ 15 ปี และยังไม่เห็นมีแผนจะเอามา ปัดฝุ่น หรือ ขัดใหม่ เหมือนกับ 200 Series เสียด้วย


รถ Tsubasa สายยามางาตะ ตอนนี้ เริ่มนำรุ่น E3 Series ออกมาใช้แทนแล้วตั้งแต่ปี 2550 และจะทยอยเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ภายในปีหน้า

เดี๋ยวตอนพูดถึงชินคันเซนตระกูล E-Series จะเอารูปรุ่น E3 มาให้ดูนะ

ตอนนี้ขอพูดถึงเรื่องชินคันเซนจูบปากกันก่อน

ใครไปสถานีโตเกียว ตรงชานชลาชินคันเซน สายโทโฮะคุ จะเห็นภาพแบบนี้เป็นเรื่องปกติ

คู่แรก ทางซ้ายมือ เป็น E3 Series ชื่อ โคมาฉิ (สายอาคิตะ) จุ๊บกันกับ E2 Series ชื่อ ฮายาเตะ (สายโทโฮะคุ)

ส่วนคู่ที่สอง ทางขวามือ เป็น 400 Series สายยามางาตะ ชื่อ สึบาสะ จุ๊บกันกับ E4 Series สายโทโฮะคุ ชื่อ แม็คซ์ ยามาบิโกะ




ที่ชินคันเซนสายอีสาน ต้องจูบกัน แล้ววิ่งจากโตเกียวเป็นคู่ ๆ ไม่ใช่เพราะชานชลาจอดรถไม่พอนะครับ

แต่เป็นเพราะรางไม่พอต่างหาก

เอาตัวอย่างกรณีสายยามางาตะกันก่อน

เพราะชินคันเซนสายยามางาตะ เป็นเส้นทางย่อยที่แตกออกจากสายโทโฮคุ ต้นทางจากโตเกียวมีรางคู่เดียว แต่วิ่งกันหลายสาย

เพื่อให้สามารถบริการเส้นทางได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
รถไฟสายยามางาตะ เลยต้องเอาไปจุ๊บกับสายโทโฮคุ แล้วควงกันวิ่งออกจากโตเกียว ถึง ฟุคุชิม่า

พอถึงสถานีฟุคุชิม่าแล้วค่อยแยกทางกัน ต่างคนต่างไปทางของตัวเอง แล้วเที่ยวกลับค่อยกลับมาจุ๊บกันที่เมืองเดิม

รถ แม็กซ์ ยามาบิโกะทุกขบวน เลยถูกกำหนดให้ต้องพ่วงรถ สึบาสะ ติดไปด้วยกันทุกครั้ง เมื่อออกจากโตเกียว

รูปนี้เป็น 400 Series ชื่อขบวน สึบาสะ จุ๊บกับ E4 Series ชื่อขบวน แม็กซ์ ยามาบิโกะ





แล้ว 600 Series มันหายไปไหน???
ใครลักพาตัวไป!!!

600 Series หน้าตาแบบนี้.. แต่ไม่ได้ใช้ชื่อนี้ครับ





เจ้ายักษ์สีหวานเหมือนไอติมคันนี้ ใช้ชื่อว่า E1 Series Max

เริ่ม ผลิตมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 หลังจากที่ JR East เลิกผลิต 400 Series รุ่นหัวเครื่องบินขับไล่ มาได้ 2 ปี พร้อม ๆ กับที่ JR West กำลังซุ่มผลิต 500 Series รุ่นหนอนอวกาศ

สมัยแรกที่ยังเป็นแบบร่าง ใช้ชื่อว่า 600 Series

แต่หลังจากการแปรรูปเป็นเอกชนของ JNR เป็น JR เมื่อปี 2530
ทาง JR East ที่มีชินคันเซนอยู่ในมือมากสายที่สุด และไม่ได้พัฒนาตัวรถร่วมกับบริษัทอื่น เลยแอบเท่ห์

ขอเปลี่ยนชื่อรุ่นจาก 600 Series เป็น E1 Series ซ่ะ


คงอยากสร้างเอกลักษณ์ให้ต่างจากซีรีย์เลข 3 ตัว ของ JR อีก 3 บริษัท





คำว่า Max ย่อจากคำว่า Multi Amenity Express
คือ ชินคันเซนที่ทำที่นั่ง 2 ชั้นทั้งขบวน

เหมือนรถเมล์ที่ลอนดอน

คิดขึ้นเพื่อเพิ่มความจุของผู้โดยสารต่อขบวนในช่วงเวลาเร่งด่วน
แล้วยังสามารถดัดแปลงตู้ชั้นล่าง เป็นห้องโดยสารส่วนตัว (Compartment) หรือ ตู้เสบียงก็ได้ แล้วแต่จะทำ

ชินคันเซนแบบ Max มีชื่อทางเทคนิคอีกอย่างว่า DDS หรือ Double-Decker Shinkansen

โลโก้ E1 Series Max สมัยแรกออกแบบให้ เรียบ ๆ เขียว ๆ ตามสีบริษัท
ตั้งใจให้ตัดกับสีพื้นของรถ ที่เป็นสี 2 Tone ขาวสลับเทาคาดด้วยเขียว





สมัย แรก ๆ ชินคันเซนมีตู้นั่ง 2 ชั้นให้บริการเหมือนกัน แต่ไม่ได้เป็น 2 ชั้นทั้งหมด ทั้งขบวนมีแค่ 2-4 ตู้ โดยใช้รถรุ่น 100 Series ต่อตู้ 2 ชั้นเพิ่มเข้าไป แล้วเรียกชื่อขบวนว่า Grand Hikari วิ่งให้บริการระหว่าง โตเกียว กับ ฟุคุโอคะ

พึ่งเลิกให้บริการไปเมื่อเดือน พ.ย. 2545 นี่เอง






E1 Series ผลิตออกมาแค่ 6 ขบวน (ขบวนละ 12 ตู้) แค่ 2 ปี ก็หยุดผลิต

ตอนนี้เอามาใช้วิ่งเสริมในเส้นทาง Joetsu Shinkansen จาก โตเกียว ไป นิอิงาตะ โดยใช้ชื่อขบวนว่า Max Toki กับ Max Tanigawa

ถ้าไปมองหา E1 สีฟ้า คงจะหาไม่เจอแล้ว
เพราะเมื่อปี 2546 ทาง JR East ได้เอา E1 Series มาทำสีและปรับปรุงภายในใหม่หมด

ทาสี 2 Tone ขาวนวลตัดกับน้ำเงินเข้ม ให้เหมือนกับชินคันเซนสายอื่น ๆ ของ JR East แล้วแอบหวานด้วยแถบสีชมพูตรงกลาง

เบาะนั่ง ก็เปลี่ยนเอาเบาะที่ใช้ในรุ่น E4 มาติดแทน ให้นั่งสบายก้นมากขึ้น





ทาสีใหม่ แล้วดูสวยสง่าไปอีกแบบ เพราะสีเดิมดูเหมือนรถของเล่นที่ยังประกอบไม่เสร็จยังไงก็ไม่รุ

ลืมบอกข้อมูลทางเทคนิคไป

แม้ว่าโครงสร้างจะทำจากเหล็ก และรูปร่างจะใหญ่โตเหมือนตอหม้อทางด่วนขนาดนี้ แต่ก็ทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 240 กม./ชม. เชียวนะ
แต่วิ่งจริง น่าจะอยู่ที่ 150-200 นิด ๆ ซ่ะมากกว่า เพราะพอเลย สถานี Takasaki ไป ก็วิ่งขึ้นเขาตลอด


สูงจากพื้น 4 เมตรครึ่ง ความยาวประมาณตู้ละ 25 เมตร (ตู้ที่เป็นหัวขบวนยาว 26 เมตร)

1 ขบวนมี 12 ตู้ จุผู้โดยสารได้ 1,235 คน...





ไม่ได้เปลี่ยนแค่สีรถอย่างเดียว

โลโก้ Max ก็มีการปรับโฉมใหม่ตามไปด้วย

เพิ่มขีดให้เหมือนเงาสะท้อน ดูมีความเคลื่อนไหว
พร้อมนกสีชมพูอีก 1 ตัว

นกที่เห็นในโลโก้ คือ นกโทคิ หรือ นกช้อน (Ibis) เพราะช่วงแรก ใช้เป็นขบวน Max Toki ของ โจเอทสึ ชินคันเซน เลยต้องมีโทคิมาบินร่อนอยู่ด้า่นบนด้วย





ขบวนต่อไป E2 Series

เป็นรถชั้นเดียวแบบปกติ ผลิตขึ้นมาครั้งแรกเมื่อปี 2538 และมีการปรับปรุงเป็นรุ่นย่อย ๆ ยาวไปอีก 10 ปี จนถึงปี 2548 ถึงจะหยุดผลิต

ตอนแรก สร้างขึ้นเพื่อใช้วิ่งขึ้นเขาไปจังหวัดนางาโน่ แทน 200 Series ที่แก่แล้ว วิ่งขึ้นเขาช่วงต่อขยายจาก Takasaki ถึง Nagano ไม่ค่อยไหว

ต้องใช้รุ่นใหม่ มอเตอร์แรงๆ น้ำหนักเบา ๆ ไปสู้

ต่อมาประมาณซักเดือน ธ.ค. ปี 2545 ก็ปรับปรุงเป็นรุ่นย่อย เอามาวิ่งเพิ่มในสาย โทโฮะคุ จาก โตเกียว ไป ฟุคุชิม่า เซนได โมริโอกะ และ ฮาชิโนเฮะ ในชื่อขบวน ฮายาเตะ , ยามาบิโกะ หรือ อาซามะ แล้วแต่จะจัดการกัน


ความต่างอยู่ที่ E2 Series ที่วิ่งอยู่ในสาย Nagano Shinkansen ที่เป็นต้นตำหรับแท้ ๆ จะทาสีที่แถบคาดกลางตู้ ด้วยสีแดงเลือดหมู 1 ขบวนมี แค่ 8 ตู้





ส่วน E2 Series ที่ใช้วิ่งอยู่ใน Tohoku Shinkansen ชื่อขบวน ฮายาเทะ (Hayate) จะทาสีแถบคาดกลางตู้ เป็นสีชมพู

1 ขบวนจะยาวว่าสายนางาโน่ ชินคันเซนหน่อย เพิ่มเป็น 10 ตู้ต่อขบวน เพราะไม่ได้วิ่งขึ้นเขามากเท่า

รุ่นล่าสุดก่อนเลิกผลิต คือ E2-1000 Series





โลโก้ แต่ละสายก็จะทำไม่เหมือนกัน

ยุคแรก E2 ขบวน Asama (นางาโน่ ชินคันเซน)
จะออกแบบเป็นรูปลายเส้นพริ้วไหว
สลับสีด้วยเฉดอ่อน ๆ ละมุนละไมละม่อม ราวกับสายลมพริ้วผ่านใบหน้า





ส่วน E2 ที่วิ่งในสาย Tohoku Shinkansen (ฮายาเทะ) จะทำโลโก้เป็นรูป แถบวงกลมซ้อนกัน 5 วง

ทำเก๋ เฉือนให้เป็นรอยแหว่ง คล้ายโลโก้ แอปเปิ้ลโดนแทะ ของ Mac
ไล่เฉดสีจากชมพู มาเหลือง ตบท้ายด้วยเขียวจาง ๆ

คงกะให้นึกถึงชินคันเซนตอนวิ่งฉิวฝ่าสายลม
เพราะ Hayate แปลว่า ลม


แต่ผมเห็นโลโก้อันนี้แล้ว คิดถึงแต่ ตัวแพ็คแมนวิ่งกลับหลัง นะ
(บอกกันซ่ะรู้อายุเลย อิอิ)






E2 Series สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 315 กม./ชม. เฉพาะตอนทดสอบ

แต่วิ่งจริงในสายนางาโน่ จะไม่เกิน 260 กม./ชม. เด๋วตกเขาตาย
ส่วนสายโทโฮะคุ วิ่งเรียบทะเล จะวิ่งได้เร็วกว่านิดหน่อย ให้ไม่เกิน 275 กม./ชม.

คงอยากวิ่งเร็วกว่านี้ แต่สภาพราง เทคโนโลยีระบบเบรค และ การทรงตัวคงยังไม่ล้ำพอ กับการใช้งานจริงตอนนี้


รูปหายากจากมุมสูงของ E2 ขบวน อาซามะ จาก Nagano Shinkansen
กล้าฟันธงเพราะขบวนนี้มีแค่ 8 ตู้ และ คาดแถบสีแดง




คันต่อไป เจ้าหน้าดำ E3 Series
โชว์ตัวอย่างให้ดูไปแว้บ ๆ แล้ว ตอนพูดถึง 400 Series

เป็น Mini-shinkansen รุ่นใหม่ที่พัฒนาต่อจาก 400 Series รุ่นหัวเครื่องบินขับไล่


ย้อนความกันนิดนึง....

มินิชินคันเซน คือ ชินคันเซน ตัวเล็ก ฐานล้อกว้าง ที่ใช้วิ่งในสาย Yamagata กับ Akita Shinkansen

เนื่อง จากรางรถไฟทั้ง 2 เส้นทาง สร้างขยายขนาดจากรางรถไฟ(ญี่ปุ่น)สายปกติที่กว้างแค่ 1.067 เมตร มาเป็น 1.435 เมตร ตามมาตรฐานชินคันเซน โดยออกแบบให้รถไฟปกติ กับรถไฟชินคันเซนวิ่งในรางเดียวกัน

พวก เสา สะพาน อุโมงค์ ชานชลา ป้ายสัญญาณ จึงไม่ได้ขยายขนาดตามไปด้วย ใช้ Facilities พวกนี้ร่วมกับรถไฟสายปกติเหมือนเดิม

ก็เลยต้องสร้างเป็นรถไฟชินคันเซนขนาดตัวรถเท่ากับรถไฟปกติ

(หมายเหตุ: ชินคันเซนเป็นรถไฟความเร็วสูง ต้องใช้ฐานล้อกว้าง ๆ เพราะฐานล้อรถไฟปกติแค่ 1 เมตรกว่า ๆ วิ่งที่ความเร็วสูงเกิน 200 กม./ชม. ไม่ได้)


E3 รุ่นแรก ๆ ที่ผลิตช่วงปี 2538 ถึง 40 กว่า ๆ ไฟหน้าจะติดอยู่เหนือกระจกห้องคนขับ เจาะช่องใส่ไฟหรี่ ไว้แค่ช่องเดียว




รูปเมื่อกี้ อาจดูไม่ชัด ว่าไฟหน้า E3 (รุ่นแรก ๆ) อยู่ตรงไหน

ต้องดูรูปข้างล่างนี้ ตอนวิ่งเปิดไฟ




สมัยแรกมีแค่ 5 ตู้ต่อขบวน
แต่ ที่เห็นต่อเป็นสายยาวยืดอยู่ด้านหลัง คือ E2 Series ขบวน ฮายาเทะ (โทโฮะคุ ชินคันเซน) ที่ต้องพ่วงกันไปด้วยทุกครั้งก่อนออกจากโตเกียว

เพราะอาคิตะ ชินคันเซน (ขบวนโคมาฉิ) ที่ใช้ E3 นี้
จะใช้รางช่วงระหว่างโตเกียว ถึง โมริโอกะ ร่วมกับรางของ โทโฮะคุ ชินคันเซน เลยต้องพ่วงกันไป

ปกติโทโฮคุ ชินคันเซน จะมีวิ่งออกจากโตเกียวถี่ยิบถึงวันละร้อยกว่าเที่ยว (10 นาที ออก 1 ขบวน) รางแทบไม่พอใช้อยู่แล้ว


เอารูปเส้นทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือของ JR East มาให้ดูอีกที กันงง

สายยามางาตะ กับ อาคิตะ ชินคันเซน เป็นเส้นทางสายรอง ที่สร้างจากการขยายรางรถไฟสายปกติ ที่เรียกว่า มินิชินคันเซน
แยกแตกแขนงจากรางรถไฟสาย โทโฮะคุ ชินคันเซน

แต่สายโจเอะสึ กับ นางาโน่ ชินคันเซน เป็นทางสายหลัก ที่สร้างใหม่ต่างหาก แยกรางจาก โทโฮะคุ ชินคันเซน เลยไม่ต้องพ่วงกับใคร




E3 Series รุ่นหลังปี 40 ( E3-1000 กับ E3-2000 ) นอกจากอุปกรณ์และสมรรถนะที่เพิ่มขึ้น ยังแต่งหน้าตาให้หล่อขึ้นอีกเล็กน้อย

ย้ายไฟทั้งไฟหน้า ไฟหรี่ มาไว้ตรงช่องใต้กระจกห้องคนขับ อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม 2 อัน เหมือนรูจมูกเรืองแสง

ทำความเร็วสูงสุดได้ 275 กม./ชม. วิ่งเร็วขนาดนี้ได้เฉพาะช่วงที่เกาะอยู่กับ โทโฮะคุ ชินคันเซน

แต่ พอถึงสถานีที่ต้องแยกร่าง ไปวิ่งจริงในเส้นทางของตัวเอง ทั้ง ยามางาตะ และ อาคิตะ จะเหลือความเร็วสูงสุดแค่ไม่เกิน 130 กม./ชม. เท่ากับความเร็วรถไฟปกติของญี่ปุ่น เพราะสภาพความมั่นคงของสิ่งก่อสร้างและวัสดุที่อยู่รอบราง มันไม่ปลอดภัยพอให้วิ่งเร็วกว่านี้





รถ Tsubasa สายยามางาตะ ตอนนี้ เริ่มนำรุ่น E3 Series ออกมาใช้แทนแล้วตั้งแต่ปี 2550 และจะทยอยเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ภายในปีหน้า

รุ่นใหม่สวยมั้ยครับ?





Yamagata Shinkansen ออกแบบโลโก้ประจำสายไว้ด้วย

เป็นรูปปีก และ คำว่า Tsubasa สีเขียวเหลือง รองพื้นด้วย ดำ-เทา ติดอยู่ข้างตัวรถรุ่น E3 Series ที่เอามาใช้แทน 400 Series


ชอบ++++




ส่วนโลโก้ของ Akita Shinkansen บนสีข้าง E3 Series

จะชื่อ โคมาฉิ (แปลว่า สาวสวย)

จำลอง ลายเส้นปลายภู่กันของตัวอักษรญี่ปุ่น คำว่า โคมาฉิ เล่นกับสี น้ำเงิน แดง และ น้ำตาลอ่อน

ง่าย เก๋ แต่ผมว่าเล่นสีมากไปหน่อย

คาดว่าคนออกแบบคงอยากให้จิตนาการเห็นเป็น สาวสวยที่เปี่ยมด้วยสีสรรวัยแรกแย้ม

ผมชอบโลโก้อักษรสีเดียวของ สึบาเมะ (Kyushu Shinkansen) มากกว่า

มองแล้วเห็นเป็นภาพสาว(บ้านนอก)ญี่ปุ่น สวมยูคาตะสีน้ำเงิน ปล่อยผมยาวสลวย ยืนตากผ้าอยู่หน้าบ้าน แล้วหันมายิ้มพร้อมแสงอาทิตย์ยามอรุณเป็นฉากหลัง


คิดเป็นตุเป็นตะไปนู่น.....





เอารูป E3 สายยามางาตะ (สึบาสะ) มาให้ดูแบบเต็มคัน


ครึ่งบนเป็นสีเงินเมทาลิค ครึ่งล่างเป็นสีเทาอ่อน คาดด้วยแถบสีเขียว พร้อมโลโก้รูปปีก (สึบาสะ) สีเขียว





แถมด้วยรูป E3 Series อาคิตะ ชินคันเซน ขบวน โคมาฉิ (คันทางขวามือ)
ที่พ่วงกับ E2 Series โทโฮะคุ ชินคันเซน ขบวน ฮายาเทะ (คันทางซ้าย)

จอดจุ๊บกัน มาให้ดูชัดชัด




ที่บอกว่า E3 Series ขนาดความกว้างของตัวรถจะเล็กกว่าชินคันเซนทั่วไป

กว้างแค่ประมาณ 2.9 เมตร เท่าขนาดรถไฟปกติของญี่ปุ่น
แต่ชินคันเซนทั่วไป ตู้จะกว้างประมาณ 3.4 เมตร

แล้วถ้ามันมาจอดในชานชลาของชินคันเซน
จะเกิดอะไรขึ้น???

ก็จะเกิดช่องว่างระหว่างตัวรถ กับชานชลาแบบนี้ครับ....
เอามาเทียบกับ E2 ให้ดู ซึ่ง E2 จอดแล้วแนบกับชานชลาพอดี
ไม่ต้องคอย Please mind the gap between train and platform... เหมือนที่ได้ยินบ่อย ๆ จากรถไฟฟ้าบ้านเรา

ถ้าปล่อยไว้เฉย ๆ ผู้โดยสารมีเดินตกชานชลาหัวทิ่มแน่





เพื่อป้องกันผู้โดยสาร E3 Series เดินตกชานชลา

เลยต้องออกแบบให้มีสะพานเหล็กขนาดเล็ก อยู่ใต้ประตูรถ
พนักงานขับรถจะเปิดให้กางออกมารับกับปากประตู เฉพาะตอนรถจอดเทียบชานชลาชินคันเซนปกติ

ตอนรถวิ่งก็พับเก็บ แนบกับตัวรถไว้ ตามรูป

เรื่องคิดมาก คิดลึก เพื่อความสะดวกและความปลอดภัยของลูกค้า นี่ของถนัดของคนญี่ปุ่นเค้าอยู่แล้ว




ภายในห้องโดยสาร E3
เบาะจะมีแค่ 4 ตัวต่อแถว เหมือนกับรถไฟปกติ

แต่การตกแต่งภายในดูทันสมัยขึ้ันมากมาย





ถึงคิวเจ้ายักษ์ E4 Series Max แล้ว

เห็นชื่อ Max ก็แน่นอน ต้องเป็นรถ 2 ชั้น เริ่มผลิตเมื่อปี 2540 หยุดผลิตไปเมื่อปี 2546 นี่เอง

รุ่น นี้พัฒนาต่อจาก E1 เพิ่มความทันสมัยของมอเตอร์ และ ระบบการควบคุมรถ รวมถึงการเกลารูปร่างให้มีส่วนโค้งส่วนเว้า ดูลู่ลมมีแอโรไดนามิคเพิ่มขึ้น

ความเร็วสูงสุดยังคงทำได้เท่ากับ E1 คือ 240 กม./ชม. แต่อัตราเร่งดีกว่า

เพราะ ตัวยักษ์ขนาดนี้ ทำมาเพื่อใช้บรรทุกคนให้ได้มาก ๆ ระหว่างเมืองใหญ่ 2 เมือง ช่วงเวลาเร่งด่วน ในเส้นทางที่ไกลไม่มาก (สายโทโฮะคุ สุดทางแค่เซนได) เลยไม่จำเป็นต้องวิ่งเร็วปรูดปร๊าดมากนัก

มวลมันเยอะ เด๋วจะเบรคไม่อยู่เอา

ตอนนี้ใช้วิ่งในหลายเส้นทาง ทั้ง Tohoku , Joetsu และ Nagano Shinkansen ที่มีคนใช้บริการกันหนาแน่

สังเกตง่าย ๆ ว่ารถขบวนไหนเป็นแบบ 2 ชั้น ก็จะมีคำว่า Max นำหน้า เช่น Max Yamabiko , Max Nasuno, Max Toki, Max Tanigawa


ล่าสุดที่เปิดตัวเมื่อปี 2544 เป็น Max Asama
แต่ขบวนนี้มีวิ่งเป็นบางช่วง เฉพาะฤดูท่องเที่ยวเท่านั้น





ดูรูป E4 แล้วเหมือนว่าจะคันเล็ก ๆ

แต่ตัวจริงใหญ่หยั่งกะต่อหม้อทางด่วนเลยครับ
ตัวรถสูง 4 เมตรครึ่ง กว้างเกือบ 3 เมตรครึ่ง ยาว 25 เมตร

พอจอดเทียบสถานี ชั้นล่างจะอยู่ต่ำกว่าระดับพื้นชานชลา
เลยเหมือนรถมันคันไม่ใหญ่


ใครนั่งอยู่ชั้นล่าง พอรถเทียบชานชลา วิวจะเป็นระดับพื้นพอดี
สาว ๆ ใส่กระโปรงสั้น ๆ อย่าไปยืนติดขอบชานชลาชินคันเซนนะจ๊ะ
ขอเตือน!!!





เอารูปมุมมองจากตู้นั่งชั้นล่างของ E4 ที่คุณหมอ MedicinePath ถ่ายมาแปะในกระทู้ผม มาให้ดูกันชัด ๆ ว่ามันเป็นระดับเดียวกับพื้นชานชลาเลย




เบาะให้ห้องโดยสารชั้นปกติ ชั้นบนจะเป็นสีม่วง มีแถวละ 5 ตัว
ส่วนGreen Car มีแค่แถวละ 2 ตัว

แต่ในตู้ที่เป็น Non-reserved Seat ชั้นบน เบาะจะเล็กหน่อย วางอัดกันแถวละ 6 ตัว และปรับเอนไม่ได้

ก็เน้นจุคนให้เยอะ และนั่งกันไม่ไกลนี่

1 ขบวน จะมี 8 ตู้ จุผู้โดยสารได้ 817 คน
ช่วงเวลาเร่งด่วน ถ้าที่นั่งไม่พอกับความต้องการ (แต่ชินคันเซนห้ามตีตั๋วยืน) ก็จะเอา E4 Series 2 ขบวนมาต่อกันได้
กลายเป็น 16 ตู้ จุได้ 2 เท่าเห็นเห็น

ถ้าทำตู้เยอะเหมือน E1 ที่มี 12 ตู้ต่อขบวน ช่วงเวลาที่ไม่เร่งด่วน คนนั่งจะโหรงเหรง เปลืองไฟ เปลืองเที่ยว


ลืม บอกไปว่า รถไฟญี่ปุ่นเค้าจะล็อคจำนวนตู้ต่อขบวนเอาไว้แน่นอนตายตัว ถ้าจะเพิ่ม ลด จำนวนตู้ ถ้าไม่ประกอบมาจากโรงงาน หรือศูนย์ซ่อม ก็ต้องเอารถอีกขบวนมาต่อกันเพื่อเพิ่มความจุ

ไม่ได้ให้ต่อเพิ่มตู้ได้เรื่อย ๆ เหมือนรถไฟแบบที่ใช้หัวรถจักรอย่างบ้านเรา




เบาะชั้นล่างเป็นสีออกน้ำตาล จะได้แยกออกว่าเดินอยู่ชั้นไหน




โลโก้ของ E4 ก็ทำคล้ายกับของ E1
เปลี่ยนแต่สี เป็นโทนน้ำเงิน-เหลือง แล้วปล่อยนกโทคิบินเข้าป่าไป

เพราะไม่ได้ใช้วิ่งกับขบวน Max Toki อย่างเดียวแล้ว




ว้า.. จบไม่ทันจนได้


ขอไปต่อสัปดาห์หน้านะครับ
หมดชุด E Series แล้ว

สัปดาห์หน้า จะแนะนำชินคันเซนรุ่นส่งออกไปขายต่างประทศ
และชินคันเซนที่กำลังวิจัย จะผลิตออกใช้ในอนาคต

รวมถึงรถรางแม่เหล็กไฟฟ้า Maglev


สัปดาห์หน้าเจอกันครับ


Create Date : 02 พฤษภาคม 2552
Last Update : 2 พฤษภาคม 2552 17:56:33 น. 2 comments
Counter : 6217 Pageviews.

 
เมื่อไหร่เมืองไทยจะมีแบบนี้มั้งน้า ท่าจะฝันแล้วช้าน


โดย: แม่หญิงไฮเทค (patthanid ) วันที่: 2 พฤษภาคม 2552 เวลา:22:41:27 น.  

 
โห ละเอียดจริงๆ ถ้าเพื่อนผมที่เคยทำงานรถไฟสงสัยเห็นข้อมูลแบบนี้นี่ระริกระรี้แหงๆ


โดย: หลั่มหมั่นเหม่ง วันที่: 3 พฤษภาคม 2552 เวลา:16:18:03 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

NumAromDee
Location :
นนทบุรี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




แค่หนุ่มใหญ่(โรค)จิตอ่อนไหว
ไปตามสายลม เสียงเพลง
ที่ผันแปรได้ตามสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย

ใครที่คิดว่าผมมีสาระ และวิชาการ อาจผิดหวังได้

แต่ถ้าอยากได้ความเรื่อยเปื่อย เจื้อยแจ้ว และหวังดี ที่เซเว่นใกล้บ้านคุณไม่มีขายให้

ก็เข้ามาสนทนาธรรมกันได้เร้ยยยย


ขอบคุณทุกคนที่เข้ามาเยี่ยมชม Blog ของผมน๊า....


ใครที่เขียนอีเมล์ หลังไมค์ หรือ ส่งจดหมายน้อยมาทักทายหรือถามเรื่องญี่ปุ่น ถ้าผมตอบช้า ไม่ได้หมายความว่าหยิ่งหรือไม่สนใจ

แต่..

ข้อความและจดหมายมันเข้ามาเยอะมากเลยคร้าบบบบ ผมมีเวลาตอบที่จำกัดเสียด้วย อาจจะช้าหรือโดนดองกันไปหลายท่าน ขออภัยด้วยเน้อออออออ
Friends' blogs
[Add NumAromDee's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.