ดูจิตโดยไม่ผ่านสติสมาธิ ย่อมไม่เกิดปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริง
"ดูจิต" โดยไม่มีพื้นฐานสำคัญ คือ "สัมมาสมาธิ"
จะทำให้เกิดปัญญา เพื่อความหลุดพ้นได้หรือไม่?


ขอตอบว่า ไม่ได้ครับ เพราะย่อมไม่รู้เห็นตามความเป็นจริง
ถึงขบวนการที่ดำเนินไปอย่างแท้จริงในอริยสัจ ๔ อย่างแน่นอน


ดังมีพุทธวจนะกล่าวไว้ว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลายจงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด
ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ดังนี้"


นั่นคือ เมื่อจิตมีสติสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ในสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น และสามารถสลัด สำรอก ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ทั้งหลายออกไปได้

การดูจิตในสมัยนี้ หรือ นักดูจิตที่มีอย่างทุกวันนี้ ต้องจัดว่าเป็นคนดีในสายตาของสังคม ล้วนแล้วแต่ มีการดูจิตดูใจของตัวเองอยู่เป็นประจำ เพื่อ "สำรวมระมัดระวัง" การแสดงออก หรือที่เรียกว่าระมัดระวัง สำรวมเอาอาการของจิตที่อาจจะแสดงออกมาทางกายวาจาต่อสังคมไว้

ซึ่งบางท่านถึงกับทำได้เข้าตาเนียนมากๆ โดยเฉพาะต่อหน้าธารกำนัน จนเป็นที่เข้าใจผิดของผู้พบเห็นว่า บุคคลนั้นเป็นมีภูมิรู้ภูมิธรรมสูงยิ่ง

แต่แท้จริงแล้วหาใช่ไม่ ไม่เป็นไปอย่างตาเห็น เป็นเพียงความคุ้นชิน กับอารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้น จึงเก็บงำอาการเอาไว้ได้ เพราะจดจำอารมณ์เหล่านั้นได้อย่างแม่นยำ จนกลายเป็นถิรสัญญาไป

โดยความเป็นจริงแล้ว ทุกครั้งที่มีการกระทบอารมณ์เกิดขึ้น ล้วนทำให้จิตใจของบุคคลดังกล่าว ยังมีอาการการหวั่นไหวไปตามอารมณ์เหล่านั้น แต่ด้วยความคุ้นชิน หรือ กระด้างต่ออารมณ์เหล่านั้นแล้ว จึงทำเหมือนวางเฉย(เฉยโง่) เพราะถิรสัญญาจดจำอารมณ์ได้ จึงเก็บงำเอาไว้ได้อย่างรวดเร็ว

โดยเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิด ให้ไปคิดถึงอารมณ์อื่นแทนที่ เพื่อยับยั้งการแสดงอาการออกตามอารมณ์ที่กระทบเหล่านั้น ต้องจัดว่าเป็นสิ่งที่ดีในระดับหนึ่งในทางปฏิบัติธรรม และทางสังคม แต่เป็นการสะสมอารมณ์เหล่านั้นเอาไว้เป็นธรรมารมณ์ โดยที่ตัวเองก็ไม่รู้ตัวเลย

เมื่อถึงคราวอันสมควรมาประจวบเหมาะเข้าโดยไม่คาดหมาย ก็จะมีการแสดงอาการออกต่ออารมณ์นั้นอย่างรุนแรงกว่าปกติ สืบเนื่องมาจากมีการเก็บงำสะสมหมักดองไว้นาน

เมื่อได้พิจารณาอย่างถ่องแท้แล้ว การ"ดูจิต" ที่แอบอ้างสอนกันอยู่นั้น ไม่ใช่เป็นปัญญาทางธรรม ที่เกิดจากการสลัด สำรอกปล่อยวางอารมณ์ออกไปจากจิตได้ แต่เป็นเพียงการเปลี่ยนอารมณ์หนึ่งไปสู่อารมณ์หนึ่งเท่านั้น ยังเป็นเพียงปัญญาทางโลก

เป็นการฝึกฝนอบรมจิตของตน ให้จดจำอารมณ์ที่ไม่พึงปรารถนา เมื่อกระทบเข้าบ่อยๆ ย่อมจดจำๆได้อย่างแม่นยำเป็น "ถิรสัญญา" และมีเจตนาที่จะสำรวมระมัดระวังในกายวาจาใจที่จะแสดงออกมา เพื่อให้ดูดีในสายตาประชุมชน หรือ คนใกล้ชิดทั้งหลาย ไม่ใช่เป็นปัญญาทางธรรม ที่เกิดจากการสลัด สำรอก ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นออกไปได้

ในส่วนนี้ เรากล่าวได้ว่า เป็นเพียงปัญญาในทางโลกที่เกิดจาก "ถิรสัญญา" หรือที่เราท่านเรียกว่า เป็นแสดงมารยาทอันดีงาม จนน่าจดจำในสังคม ไม่ใช่เป็นการสร้างปัญญาทางธรรมให้เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนาเลย

เพราะการสร้างปัญญาทางธรรมให้เกิดขึ้นในทางพุทธศาสนานั้น เป็นปัญญาความสามารถที่ สลัด สำรอก ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในตนออกไปได้ จากอุปาทานขันธ์ ๕ (อารมณ์) คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเท่านั้น

เราๆท่านๆต้องยอมรับว่าในวันหนึ่งๆนั้น มีภาระหน้าที่ในเรื่องต้องใช้การนึกคิดพิจารณาเกือบทางวัน บางครั้งบางอารมณ์ที่ไม่ชอบเอามากๆ เราท่านก็พยายามที่จะสลัดออก หรือวางลงอย่างสุดความสามารถ จนกระทั่งเหนื่อยหน่ายและปล่อยวางไปเอง แต่ไม่นานอารมณ์ที่ว่านั้น ก็ย้อนกลับมาให้เอากลับมาคิดอีก จนกว่าจะเหนื่อยหน่ายไปเอง เป็นวัฏฏะวน จนอารมณ์จืดจางไปเองก็มี แล้วอารมณ์นั้น พร้อมที่จะย้อนกลับมาใหม่ได้ทุกเวลา

เมื่อเรามารู้จักพุทธศาสนา ที่เป็นหลักธรรมอันแท้จริง และเป็นรากฐานสำคัญแล้ว อันพระบรมศาสดาได้ทรงสั่งสอนให้รู้จักวิธีปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา (สัมมาสมาธิ) เพื่อให้สามารถที่จะสลัด สำรอก ปล่อยวางอารมณ์ทั้งหลายให้ออกไปจากจิตของตน โดยการเพ่งฌานในสัมมาสมาธิ

ดังมีกล่าวไว้มากมายหลายในพระสูตร เช่น ในอาเนญชสัปปายสูตร

ดูกรอานนท์ นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอทั้งหลายจงเพ่งฌาน อย่าประมาท
อย่าได้เป็นผู้เดือดร้อนในภายหลัง นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราแก่พวกเธอ ฯ


อีกพระสูตรชื่อว่า มหาจัตตารีสกสูตร กล่าวไว้อย่างชัดเจนเลยว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงสัมมาสมาธิของพระอริยะ
อันมีเหตุ มีองค์ประกอบแก่เธอทั้งหลาย

พวกเธอจงฟังสัมมาสมาธินั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่าชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ฯ

พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสมาธิของพระอริยะ
อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ (ปัญญา)
สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ (ศีล)
สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ (เป็นสมาธิ) เป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ประกอบแล้วด้วยองค์ ๗ เหล่านี้แล
เรียกว่า สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุบ้าง มีองค์ประกอบบ้าง ฯ



เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง (อริยสัจ ๔)
ดังกล่าวในพระพุทธวจนะข้างต้น ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ?


เมื่อจิตของเราท่านยังไม่สงบตั้งมั่น มีความฟุ้งกระจายเป็นธรรมดา เมื่อกระทบอารมณ์เข้าแล้ว ไม่ยึดเป็นไม่มี เมื่อได้ฝึกฝนอบรมจิตให้มีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวด้วยสัมมาสมาธิ จนกระทั่งเข้าสู่เจโตวิมุตติ ย่อมเข้าใจได้ดีว่า

จิตที่ส่งออกไปยึดอารมณ์ภายนอก ไม่ทุกข์เป็นไม่มี คือ "ทุกข์"

จิตที่ส่งออกนอกนั้นเป็นเหตุแห่งทุกข์ คือ "สมุทัย" นั่นเอง

เมื่อรู้เห็นเช่นนี้ย่อมน้อมจิตของตน ให้รู้อยู่เฉพาะที่ฐานที่ตั้งของสติได้นั้น คือ "มรรค"

จิตย่อมมีสติสงบตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้น คือ "นิโรธ"


เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง (ปัญญาวิมุตติ)
คือ รู้จักอริยสัจ ๔ ตามที่มีพุทธวจนะกล่าวรับรองไว้

พอสรุปได้ว่า ปัญญาทางธรรม ย่อมเกิดขึ้นได้เพราะการประกอบเท่านั้น
เมื่อไม่ประกอบ (ความเพียรเพ่ง) ย่อมไม่เกิดปัญญาทางธรรม

การประกอบที่ว่านั้น คือการฝึกฝนอบรม "สัมมาสมาธิ" ที่ประกอบควบคู่ไปด้วย สัมมาสติ และ สัมมาวายามะ จนชำนิชำนาญ คล่องแคล่ว เพียงแค่นึกน้อมจิตก็มีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ได้ในทันทีเหมือนกัน

สติ สมาธิ ปัญญา เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมเพรียงกันตามลำดับ
เพราะเป็นอัญญะมัญญะปัจจัย ซึ่งหมุนเนืองกันเองตลอดเวลา

การมีปัญญาทางธรรม โดยที่ไม่ผ่านการฝึกฝนอบรมสติ สมาธิมานั้น "ย่อมเป็นไปไม่ได้"
นั่นเป็นเพียงปัญญาทางโลกที่เกิดจากถิรสัญญาเท่านั้นเอง.



เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 25 กรกฎาคม 2552
Last Update : 19 มกราคม 2558 16:32:46 น.
Counter : 1120 Pageviews.

42 comments
  
พุทธสวัสดีค่ะ
โดย: ดีเจ..เมวิกา หน้าหวาน วันที่: 25 กรกฎาคม 2552 เวลา:23:56:54 น.
  
หน้าเวปดูดีมากขึ้นเลยครับ เมื่อรูปดอกบัวไปแล้ว
เข้ามาทักทายครับ ขอบคุณครับ
โดย: นมสิการ วันที่: 26 กรกฎาคม 2552 เวลา:0:09:23 น.
  
ขณะดูจิตที่ฟุ้งซ่าน..แล้วจิตเปลี่ยนไปจับอารมณ์อื่น
ความฟุ้งซ่านดับลง..จิตสงบแล้วมีสมาธิหรือไม่

เมื่อทีสมาธิมากขึ้นปัญญาย่อมแหลมคมขึ้นตาม

เมื่อปัญญามากขึ้นจิดย่อมเห็นสภาวะธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง
จิตที่ทิ้งอกุศลไปจับกุศลมากๆดีครับ
โดย: palmgang IP: 119.42.70.128 วันที่: 26 กรกฎาคม 2552 เวลา:15:00:23 น.
  
ท่านpalmgangครับ ขณะเปลี่ยนไปจับอารมณ์อื่นนั้น
ความฟุ้งซ่านเป็นการดับไปชั่วคราวนะครับ

เมื่อเปลี่ยนไปอารมณ์อื่นนั้น อารมณ์อื่นนั้นดับไปอีก
อารมณ์ฟุ้งซ่านเดิมก็กลับมาใหม่ได้ เพียงแค่จืดจางไปเท่านั้น

จิตเป็นสมาธิสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว(เจโตวิมุตติ)เป็นยังไง
ท่านเคยสัมผัสแล้วหรือครับ???

เมื่อยังไม่เคยรู้จักจิตที่อยู่ในสภาวะธรรมนั้น
จะเกิดปัญญาปล่อยวางอารมณ์ได้ยังไงครับ???

ที่ท่านพูดนั้นเป็นเพียงการเปลี่ยนจากอารมณ์หนึ่งไปสู่อีกอารมณ์หนึ่งเท่านั้น
ยังไม่ใช่เป็นปัญญาที่รู้เห็นตามความเป็นจริงครับ

ถึงเป็นการทิ้งอกุศลจิตนั้นก็เป็นการทิ้งชั่วคราวเท่านั้น
เมื่อเผลอสติ อกุศลจิตเหล่านั้นก็วนเวียนกลับเข้ามาใหม่อีกครับ

เพราะยังต้องอาศัยกุศลจิตเป็นที่พักพิงเท่านั้น(ติดดีในดี)
ไม่ใช่กุศลจิตที่เกิดจากปัจจุบันธรรมในขณะนั้นครับ...

ธรรมภูต
โดย: ในความฝันของใครสักคน วันที่: 26 กรกฎาคม 2552 เวลา:18:59:32 น.
  
ยินดีที่ได้สนทนาธรรม ..ขอออกตัวก่อนว่าไม่ได้มาเพื่อเอาแพ้เอาชนะ..สนทนาตามการสะสมมาของจิต

เจโตวิมุตจะเคยสัมผัสมาหรือไม่..ขอยกไว้

จิตจะเป็นสมาธิก็ต่อเมื่อนิวรณ์5ดับลง
เมื่อจิตฟุ้งซ่านสติระลึกรู้ ปัญญาเห็นความฟุ้งซ่านตามสภาพความเป็นจริงว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน
จิตคลายความยึดถือ ความฟุ้งซ่านดับลง จิตย่อมตั้งมั่น
ได้ สภาวธรรมทุกอย่างมีสามัญลักษณะที่เหมือนกัน
ไม่จำเป็นต้องเห็นหมดทุกอย่าง ธรรมที่เป็นอกุศลหรือกุศลย่อมแสดง ไตรลักษณ์เหมือนกัน เมื่อเห็นสามัญลักษณะซ้ำๆกันบ่อยๆจิตจะเบื่อหน่ายและปล่อยวางเอง

ปัญญาที่ปล่อยวางอารมณ์คือปัญญาที่เห็นไตรลักษณ์เท่านั้น

ปกติของคนธรรมดาทั่วไปก็มีสภาวะธรรมเกิดให้เห็นอยู่แล้ว
แต่ที่ยังไม่สามารถปล่อยวางได้เพราะปัญญายังไม่แก่กล้าพอ ยังอยู่ในขั้นการฟังหรือไม่ก็ขั้นเป็นไปเพื่อความสงบ
ซึ่งปัญญาในขั้นนี้ทำได้แค่เปลี่ยนอารมณ์
แต่ถ้าเป็นภาวนามยปัญญา ถึงจะปล่อยวางอารมณ์ได้
ปล่อยวางอารมณ์นะไม่ใช่ดับอารมณ์ เมื่อความฟุ้งซ่านเกิดแค่จิตไหวตัวสติเกิดระลึกรู้ จิตก็จะวางสภาวะนั้นทันที



โดย: palmgang IP: 119.42.101.63 วันที่: 26 กรกฎาคม 2552 เวลา:20:05:20 น.
  
"ดูจิตโดยไม่ผ่านสติสมาธิ ย่อมไม่ก่อให้เกิดปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริงได้"

อันนี้เห็นด้วย........แบบนี้
เมื่อสภาวะธรรมเกิดสติระลึกรู้ได้(เกืดสติ) จิตตั้งมั่นไม่ไหลไปไนอารมณ์(จิตเป็นสมาธิ)ปัญญาเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของสภาวะธรรม(เกิดปัญญา) จิตปล่อยวางสภาวะธรรม

ขบวนการนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

อธิบาย..จิตเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของสภาวะธรรมแล้วปล่อยวางนะ ..ไม่เกี่ยวกับการดับไปของสภาวะธรรม..ยังไงๆสภาวะธรรมมันต้องดับอยู่แล้ว ไม่ใช่สติไประลึกรู้แล้วมันดับนะ

ขอหยุดการสนทนากับคุณธรรมภูตแต่เพียงเท่านี้
กรรมใดหากล่วงเกินไปโดยไม่เจตนา ก็ขอขมาคุณธรรมภูตมานะที่นี้ด้วย
โดย: palmgang IP: 119.42.101.63 วันที่: 26 กรกฎาคม 2552 เวลา:21:01:59 น.
  
ท่านpalmgangครับ เจริญในธรรม...ที่ได้สนทนาด้วยครับ
โดยส่วนตัวแล้ว ยังมีคำถามอีกเล็กน้อยที่จะถามเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน
ไม่เป็นไรเผื่อท่านอื่นที่เข้ามาอ่านอาจจะตอบแทนก็ได้ครับ

จิตจะเป็นสมาธิก็ต่อเมื่อนิวรณ์๕ดับลง ขณะนั้นความฟุ้งดับไปแล้วนิครับ

ในขณะที่จิตฟุ้งซ่านอยู่นั้น สติปัญญายังไม่อาจเกิดขึ้นได้ง่ายๆใช่มั้ยครับ???
สติและปัญญา ท่านว่าตั้งลงตรงไหน ถ้าไม่ใช่ตั้งลงตรงจิตที่กำลังฟุ้งซ่าน

เมื่อขณะที่จิตฟุ้งซ่านอยู่นั้น ปัญหามีอยู่ว่าเราจะทำยังไงจิตจึงงจะหายฟุ้งซ่านได้
เราต้องนึกน้อมจิตกลับสู่ฐานที่ตั้งสติที่จุดลมกระทบที่อุปโลกน์ขึ้นมา
หรือ ที่ครูบาอาจารย์เรียกว่าฐานเดิม....สำเร็จให้ได้ก่อน

อันนั้นจะเป็นปัจจุบันธรรมที่แท้จริง
เป็นการฝึกฝนอบรมให้จิตรู้จักปล่อยวางอารมณ์ครับ

เมื่อฝึกฝนจนชำนาญคล่องแคล่วดีแล้ว
จิตเกิดการฟุ้งซ่านขึ้นมาเมื่อไหร่
เราก็มีฐานที่ตั้งของสติรองรับความฟุ้งซ่านนั้นได้ทันที

เพื่อน้อมนำจิตกลับมาสู่ปัจจุบันธรรมได้แล้ว
ความฟุ้งซ่านย่อมหายไปจากจิต
โดยไม่ต้องอาศัยอารมณ์กุศลอื่นๆ มาเพื่อเปลี่ยนอารมณ์เลยครับ

ธรรมภูต
โดย: ในความฝันของใครสักคน วันที่: 27 กรกฎาคม 2552 เวลา:7:54:37 น.
  
ตอนแรกว่าจะหยุดสนทนาด้วยเกรงว่าอาจทำให้ท่านขุ่นเคือง..เมื่อท่านต้องการสนทนาต่อก็ขอถอนคำพูด..

ลักษณะการแก้ความฟุ้งซ่านของท่านธรรมภูตเป็นไปในโดยการใช้สมถะ หรือเรียกว่าปัญญาเป็นไปเพื่อความสงบ..อาจทำได้หลายแบบเช่น

เมื่อความฟุ้งซ่านเกิด.สติระลึกได้....ปัญญาเกิด(แต่เป็นปัญญาที่เป็นไปเพื่อความสงบ) ก็จะดึงจิตเข้าสู่ฐานที่ตัวเองถนัดเช่น ลมหายใจ..กาย..กสิณ หรืออาจไปพิจารณาข้อธรรมก็ได้..เพื่อให้จิตตั้งมั่นเกิดสมาธิ..หรือหากผู้ที่ชำนาญในสมาธิก็สามารถน้อมจิตให้เป็นสมาธิได้เลย

วิธีดังกล่าว..ไม่ทำให้เกิดปัญญาเห็นความเป็นจริงของสภาวะธรรมได้(ปัญญาเห็นไตรลักษณ์) เพราะจิตไม่ได้สัมผัสกับสภาวะธรรมนั้นๆ การเห็นนั้นเห็นปัจจุบันธรรมจริงๆแต่เป็นการเห็นจิตที่เป็นสมาธิ ไม่ได้เห็นจิตฟุ้งซ่าน

มาถึงตรงนี้หากคุณธรรมภูตต้องการพิจารณาแบบวิปัสนาเพื่อให้เห็นสามัญญลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงก็สามารถทำได้

โดยการมาพิจารณาจิตที่ตั้งมั่นเป็นสมาธิ (หลังจากความฟุ้งซ่านดับไป) สังเกตุว่าจิตที่เป็นสมาธิก็ค่อยๆดับไปกลายเป็นจิตที่ไม่มีสมาธิ คือจิตไม่เที่ยงนั่นเอง

มาดูอีกวิธีหนึ่ง...วิธีนี้เราจะพิจารณาลงไปตรงๆที่สภาวะธรรมเลย..ไม่หนีอารมณ์ประเภทตายเป็นตาย

เมื่อความฟุ้งซ่านเกิดขึ้น..สติระลึกรู้..เราจะมาพิจารณาความฟุ้งซ่านเลย คือไม่หนี (โดยวิธีวิงไปหาลมหายใจหรือ ฯลฯ) ซึ่งจะเกิดทุกข์อย่างมาก ดูไปจนความฟุ้งซ่านจะค่อยๆคลายตัวดับไปเอง ...(อย่าดูด้วยความยากที่จะให้ความฟุ้งซ่านดับ)
เริ่มดูใหม่ๆกว่าจิตจะสงบอาจใช้เวลานานมาก ต้องใช้ความอดทนอย่างมาก

แต่เมื่อดูบ่อยๆสติปัญญาจะเกิดขึ้นเห็นว่าถ้าหากเข้าไปยึดสภาวะธรรมแล้วจะทุกข์มาก จิตจะค่อยๆปล่อยวางอารมณ์ไปเอง และจะปล่อยได้เร็วขึ้นตามกำลังปัญญาที่เกิดขึ้น
เหมือนเด็กที่หยิบถ่านไฟเล่น..ความร้อนจะทำให้รู้เองว่าไม่สมควรจับ

ตรงนี้ถ้าผู้ที่เคยเจริญสมาธิมาแบบคุณธรรมภูต..ถ้าหากว่าไม่สามารถจะทนดูสภาวะธรรมที่เป็นทุกข์นี้จนมันดับได้..ก็อาจจะใช้วิธีดึงจิตเข้าสู่ความสงบเป็นคราวๆเพื่อพักจิตก็ได้..มีกำลังแล้วค่อยสู้ต่อ.........

ขณะที่ดูความฟุ้งซ่าน..ความฟุ้งซ่านก็เป็นปัจจุบันธรรมเหมือนกันครับ

วิธีแรก...เป็นการปล่อยวางอารมณ์ด้วยกำลังสมาธิ
วิธีที่2..เป็นการปล่อยวางด้วยปัญญาเห็นไตรลักษณ์.อันเป็นปัญญาสูงสุดทางพุทธศาสนา

ผมได้ลองปฎิบติมาแล้วทั้ง 2 วิธี ..ไม่ต้องบอกนะครับว่า
ปัจจุบันผมเลือกวิธีไหน
โดย: palmgang IP: 119.42.70.251 วันที่: 27 กรกฎาคม 2552 เวลา:10:58:14 น.
  
ท่านครับ ท่านกำลังสับสนในหัวข้อธรรมอยู่หรือเปล่าครับ
ความที่จิตฟุ้งซ่านเป็นยังไงมีใครบ้างครับที่ไม่เคยรู้จัก ทุกผู้คนล้วนรู้จักทั้งนั้น

เมื่อขณะที่จิตฟุ้งซ่านเราทำให้สงบโดยรวดเร็วโดยกำลังสมาธิได้ไม่ดีหรือครับ
ไม่ใช่เป็นการหนีนะครับเป็นการละเหตุแห่งความที่จิตฟุ้งซ่านได้อย่างรวดเร็ว
เพราะเห็นพระไตรลักษณ์ที่เกิดขึ้นที่จิต
ความฟุ้งซ่านเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป
สู่ความสงบได้ โดยไม่ต้องกดข่มให้สงบครับ

แต่วิธีที่ท่านว่าของท่านว่าเป็นวิธีที่ดีนั้น เป็นการต่อสู้กับอารมณ์ฟุ้งซ่านตรงๆไม่หลบ ไม่หลีก
ลองพิจารณาด้วยความรอบคอบสิครับว่าใช่วิธีการกดข่มมั้ย?
เป็นการกดข่มเสียมากกว่าเป็นการปล่อยวางเพราะเกิดสติปัญญานะครับ

ในขณะที่ฟุ้งซ่านอยู่นั้น ต้องพยายามต่อสู้กับอารมณ์เพื่อกดข่มอารมณ์ฟุ้งซ่านให้อยู่
โดยเฉพาะอารมณ์ร้ายๆที่คิดทำร้ายคนอื่น ยิ่งต้องกดข่มหนักเข้าไปอีก
มิฉะนั้นได้เตลิดออกไปที่สู่เหตุที่ทำให้ฟุ้งซ่าน แทนที่จะละหรือเปล่าวางเหตุมาสู่ความสงบ
สติปัญญาที่เกิดขึ้นในขณะที่กดข่มสำเร็จนั้น
เป็นสติปัญญาที่เกิดขึ้นจากความเหนื่อยหน่ายต่ออารมณ์ความฟุ้งซ่านที่กว่าจะกดข่มลงได้
จึงเกิดการดูเฉยๆ(อารมณ์เฉยๆ)ต่ออารมณ์นั้น ไม่ใช่เพราะปล่อยวางเป็นครับ

เมื่อฝึกฝนวิธีที่๒นานวันเข้า ย่อมรู้จักอารมณ์ฟุ้งซ่านดังกล่าวเร็วขึ้นเพราะความคุ้นชิน
ก็เกิดสัญญาจดจำอารมณ์นั้นได้ ทำให้กระด้างต่ออารมณ์(เฉยๆ)นั้น
ไม่รู้จักวิธีปล่อยวางได้แต่เปลี่ยนอารมณ์เท่านั้น หมุนเวียนเป็นว้ฎฎะ
เมื่ออารมณ์เก่าจืดจางไปอารมณ์ใหม่ก็เข้ามาแทนที่ เป็นวัฎฎะอยู่แบบนี้
เพราะไม่รูจักปล่อยวางอารมณ์นั่นเอง

มีคำถามนะครับ ที่ท่านพูดมานั้นไม่ใช่ปัจจุบันธรรมนะครับ
เป็นเพียงเหตุการณ์ปัจจุบันเท่านั้น เดี๋ยวเดียวก็เปลี่ยนเป็นอดีตซะแล้ว
ท่านรู้จักปัจจุบันธรรมที่แท้จริงมั้ยครับ???

จิตที่เป็นสมาธิไม่ดับไปง่ายๆหรอกครับ
โดยเฉพาะสัมมาสมาธิได้แล้วได้เลย เพราะมีสติกำกับอยู่ตลอดเวลา
เพียงแค่น้อมจิตก็ตั้งมั่นแล้วครับ

ที่ว่าเกิดดับๆนั้นใช่อารมณ์ความฟุ้งซ่านเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปใช่มั้ยครับ???
ถึงเกิดขึ้นมาใหม่อีกก็รู้? ดับไปอีกก็รู้ใช่มั้ยครับ? ตกลงที่เกิดดับอะไรเกิดดับครับ???

ผมถึงได้ถามยังไงหละครับว่ารู้จักเจโตวิมุตติหรือเคยสัมผัสจากการปฏิบัติมาหรือยัง???
ถ้ายังก็อย่าเพิ่งรีบด่วนสรุปอะไรเร็วนัก เพราะเร็วนักมักสะดุด จะตามแก้ลำบากครับ

ผมได้ลองปฎิบัติมาแล้วทั้ง ๒วิธี ..โดยเฉพาะวิธีที่๒นั้น ไม่น้อยกว่า๑๕ปีครับ
ไม่ต้องบอกนะครับว่า.....ปัจจุบันผมเลือกวิธีไหน

ธรรมภูต
โดย: ในความฝันของใครสักคน วันที่: 27 กรกฎาคม 2552 เวลา:22:18:18 น.
  
สวัสดีครับอาจารย์ธรรมภูติ

ได้ติดตามผลงานของอาจารย์จากใน //www.palungjit.com มาซักพักแล้วล่ะครับได้ความรู้เพิ่มเติมเรื่องการปฏิบัติกรรมฐานมาไม่น้อยเลยครับ

อยากให้อาจารย์เขียนเรื่อง "ปัญญาอบรมสมาธิ" หน่อยนะครับเพราะผมเห็นว่าเรื่องนี้ตอบโจทย์คนที่มีจริตฟุ้งซ่านและช่างคิดได้ตรงประเด็นและยังอยู่ในแนวทางที่ถูกต้องครับ หลวงพ่อสงบ มนัสสันโตท่านเคยเทศนาไว่ประมาณว่า "ถึงทีสุดเมื่อใช้ปัญญาอบรมจิตจนได้ที่แล้วแล้วจิตของเราก็จะรวมใหญ่เป็นสมาธิได้เหมือนกับสมาธิอบรมปัญญาแต่ให้จำไว้นะว่าที่เราทำมาทั้งหมดนี้สุดท้ายก็เป็นสมถะทั้งหมดเพราะมันยังเป็นโลกียะปัญญา ต้องออกมาพิจารณากาย, เวทนา, จิตหรือธรรมนั่นแหละถึงจะเป็นวิปัสนา,เป็นโลกุตรปัญญา"

ขอแสดงความนับถือครับ

IRONMAIDEN
โดย: Ironmaiden IP: 210.19.133.120 วันที่: 30 กรกฎาคม 2552 เวลา:19:31:25 น.
  
สวัสดีครับท่านIRONMAIDEN
ตามที่หลวงพ่อสงบ ท่านกล่าวมานั้นถูกต้องแล้วครับ
ผมขอยกไว้นะครับ เพราะท่านตอบไว้ดีแล้ว

ที่จะพูดต่อไปนี้เป็นความเข้าใจของผมเองล้วนๆ จากการที่ปฏิบัติมา
ในเบื้องแรกนั้น เราต้องอบรมจิตที่ซัดส่ายวุ่นวายให้หยุดสงบนิ่งให้ได้ก่อน
ด้วยองค์กรรมฐานภาวนาจนจิตสงบเป็นสมาธิตั้งมั่นไม่หวั่นไหว

ในขณะนั้นจิตจะมีกำลังสติและปัญญาควบคู่กันไปครับ
เพียรประคองจิตให้นิ่งๆอยู่ณ.ฐานเดิมนั้น เมื่อได้เวลาจิตก็จะรวมใหญ่เองครับ

ไม่ว่าปัญญานำสมาธิหรือสมาธินำปัญญานั้น เป็นเพียงความเข้าใจของผู้ปฏิบัติเท่านั้น
เพราะในขณะที่เราปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาถึงจุดนั้น สติ สมาธิ ปัญญาเสมอกันครับ
เมื่อสมาธิกล้าแข็งอยู่นั้น สติปัญญาก็คมกล้า เป็นอัญญะมัญญะปัจจัยซึ่งกันและกันเกื้อหนุนกัน

เมื่อได้แล้ว ปัญหาอยู่ที่ว่าต้องฝึกฝนให้จนชำนาญในการเข้าออกสภาวะนั้นอย่างรวดเร็ว
เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่สำหรับผู้ที่เคยเข้าสู่สภาวะจิตรวมใหญ่ โดยมากจำทางเข้าสู่สภาวะนั้นไม่ได้

นี่หละครับที่ท่านพระอาจารย์หลวงพ่อสงบ ท่านว่าเป็นเพียงโลกียปัญญาเท่านั้น
เพราะเพียงแค่ทำได้ครั้งสองครั้งโดยที่จดจำสภาวะนั้น ยังไม่ได้แม่นยำเลย
ยังเข้าสู่โลกุตรปัญญาไม่ได้
ต้องเข้าออกสู่สภาวะนั้นได้อย่างรวดเร็วเพียงแค่นึกน้อมก็ตั้งมั่นแล้วครับ

เมื่อคล่องแคล่วจนชำนาญเป็นวสีแล้ว เอาผลที่ได้มาใช้ประโยชน์
โดยพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรมที่เป็นภายนอก และทั้งภายในและภายนอกร่วมกัน
เป็นการเข้าสู่ปัญญาวิมุตติอย่างแท้จริงครับ

เมื่อพิจารณาอารมณ์ที่มากับกาย เวทนา จิต ธรรม
จิตผู้รู้อยู่เห็นอยู่ถึงความหวั่นไหวต่ออารมณ์ภายนอกที่ประทับใจหรือ
อารมณ์ที่เป็นอนุสัยนอนเนื่องสันดานผุดขึ้นมาปรากฏให้เห็น

จิตก็เกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัดในอารมณ์ทั้งหลายที่เกิดสืบเนื่องจากขันธ์๕ที่นอนเนื่องอยู๋
เมื่อเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นที่พึ่งไม่ได้
ก็นำจิตสู่ความสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวซะทุกครั้งที่กระทบอารมณ์ครับ

ธรรมภูต
โดย: ในความฝันของใครสักคน วันที่: 31 กรกฎาคม 2552 เวลา:8:10:50 น.
  
ขอบคุณอาจารย์ธรรมภูติมากครับที่กรุณาเล่าประสบการณ์ในการปฏิบัติให้ผมและผู้สนใจท่านอื่นๆได้ศึกษาครับ ตัวผมเองยังไม่ได้ไปถึงไหนเลยครับจิตแค่เฉียดๆรวมเล็กก็ยังไม่เคยได้ครับ แต่อย่างน้อยหลังจากที่ผมได้รับอุบายวิธีการปฏิบัติจากหลวงพ่อสงบมาผมก็แน่ใจว่าตอนนี้ผมอยู่ที่ไหน? กำลังทำอะไรอยู่? และจะไปไหนต่อ?

ประสบการณ์ของท่านอาจารย์ที่ได้เล่ามาเหมือนกับเรื่อง "ตทังคปหาน" กับเรื่อง "สมุจเฉปหาน" ที่หลวงพ่อสงบท่านได้เทศนาไว้ประมาณว่า "ตทังคปหานน่ะมันยังไม่ใช่ของจริง, มันเป็นโลกียปัญญาถ้าเราไม่รู้คิดว่ามันเป็นของจริงแล้วนอนใจไม่พิจารณาต่อล่ะก็เดี๋ยวมันก็เสื่อมคราวนี้ล่ะเอ๋ยเอากลับคืนยากยิ่งกว่าตอนปฏิบัติใหม่ๆอีกนะ เราต้องพิจารณามันซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่ต้องสนใจว่าเป็นร้อย, เป็นพันครั้งมันจะเป็นตามแต่วาสนาบารมีและอินทรีย์ของแต่ละคน เมื่อทุกอย่างมันลงตัวได้ที่แล้วคราวนี้มันจะรวมกันเป็นมรรคสมังคีแล้วตทังคปหานที่เป็นของปลอมเป็นโลกียปัญญามันจะกลายเป็นสมุจเฉปหานเป็นโลกุตรปัญญาตัดกิเลส, ตัดสังโยชน์ให้ขาดกระเด็นออกจากจิตของเรา"

ขอแสดงความนับถือครับ

IRONMAIDEN
โดย: IRONMAIDEN IP: 210.19.133.120 วันที่: 31 กรกฎาคม 2552 เวลา:18:48:12 น.
  
ท่านIRONMAIDENครับ

ท่านพระอาจรย์หลวงพ่อสงบนั้น ท่านเป็นพระแท้ที่ควรเข้าหา
ถึงพูดจาไม่ไพเราะเสนาะหู แต่ธรรมะที่ท่านพูดนั้น
เป็นการปหานกิเลสที่ทำให้เราลังเลอยู่นั้นกระจ่างแจ้งที่จิตเราได้
ว่าอันไหนถูก อันไหนผิด ไม่ติดคิด

เป็นการเปิดธรรมทัศน์ ในการปฏิบัติภาวนาของเราๆท่านๆให้ยิ่งๆขึ้นครับ

มีอะไรที่เกี่ยวกับครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบมาเล่าสู่กันฟังบ้างนะครับ

ธรรมภูต
โดย: ในความฝันของใครสักคน วันที่: 2 สิงหาคม 2552 เวลา:20:28:29 น.
  
อาจารย์ธรรมภูติครับ

หลวงพ่อสงบเป็นพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่ผมตามหามาตลอดชีวิตเลยล่ะครับ ตั้งแต่ผมเริ่มปฏิบัติธรรม คำถามและข้อสงสัยต่างๆมากมายในใจยังไม่เคยได้รับคำตอบที่กระจ่างเลยครับ ผมเคยหลงไปเป็นลูกศิษย์นิกร, ยันตระ, ภาวนาพุทโธมาก่อนเสียเวลาไปนานเกือบลงเหวลงห้วยไปตั้งหลายครั้งกว่าจะหลุดออกมาพบกับทางสว่าง

คงเป็นบุญกุศลของผมที่ได้สร้างมาบ้างทำให้ได้รู้จักชื่อของหลวงพ่อสงบจากกลุ่มลูกศิษย์ของท่านในงานทอดผ้าป่าสร้างสถานีวิทยุหลวงตามหาบัวที่วัดป่าภูริทัติเมื่อปี 2551 ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์และท่านอื่นๆครับมันเป็นเรื่องที่น่าขายหน้าและน่าเสียดายมากที่ผมไม่เคยรู้จักหลวงพ่อสงบเลยทั้งๆที่ตัวผมเองก็เป็นคน อ.โพธารามบ้านเดียวกับหลวงพ่อสงบแท้ๆ แต่ไม่เคยได้รู้จักและได้ฟังธรรมจากท่านเลยทั้งๆที่หลวงพ่อท่านมาสร้างวัดไว้ตั้งแต่ก่อนปี 2538 แต่เมื่อผมได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับท่านมาก็รีบไปหาท่านทันทีเลยครับ ตอนแรกๆที่ได้ฟังธรรมจากท่านก็คิดว่าท่านคงดุมาก แต่เมื่อได้สมทนาธรรมกับท่านสิ่งที่ผมสัมผัสได้ก็คือ "ความเมตตาที่มากมายมหาศาล" ท่านไม่ดุไม่ว่าอะไรทั้งสิ้นกับคำถามโง่ๆของผม ท่านตอบอธิบายให้ผมฟังอย่างละเอียดตามกำลังปัญญาของผมจนกระจ่างใจถึงคำถามที่ค้างคาในใจมาตลอดทั้งชีวิต ผมชอบหลวงพ่อสงบตรงที่ท่านแสดงธรรมด้วยความเชื่อมั่นและท่านกล้าหาญที่จะชี้ว่าสิ่งใดผิดและสิ่งใดถูกซึ่งผมแทบจะไม่เคยได้พบครูบาอาจารย์ที่ท่านอาจหาญเช่นนี้มาก่อนเลยนอกจากอาจารย์ของท่านคือหลวงตามหาบัวกับหลวงปู่เจี๊ยะ

เรื่องการพูดเสียงดังและถ้อยคำที่แข็งกระด้างของหลวงพ่อสงบนี่ท่านอื่นๆอาจจะรู้สึกอึดอัดบ้างแต่สำหรับผมแล้วขออนุญาตเรียนให้ทราบว่านี่เป็นลักษณะของคน อ.โพธาราม จ.ราชบุรีครับ ครอบครัวของผม, ญาติพี่น้องของผมตลอดจนคนในหมู่บ้านและหลายๆตำบลใน อ.โพธารามพูดจากันแบบหลวงพ่อสงบทั้งนั้นแหละครับ ต. บ้านเลือกที่เป็นบ้านเกิดของหลวงพ่อสงบนี่เป็นแดนเสือแดนนักเลงมาแต่โบราณแล้วครับ ถ้าท่านใดเข้าใจในเรื่องนี้แล้วเลือกที่จะเก็บเกี่ยวเอาธรรมะหลวงพ่อสงบแล้ท่านก็จะได้สมความปรารถนาแน่นอนครับ

ส่วนตัวผมเองถ้าจะนับจริงๆแล้วก็เพิ่งปฏิบัติได้ถูกต้องจริงจังเมื่อปี 2551 ที่ผ่านมานีเองครับหลังจากได้รับการสั่งสอนและอุบายธรรมจากหลวงพ่อสงบ ประสบการณ์อะไรก็ยังไม่มีและความก้าวหน้าอะไรก็ยังไม่ได้คงจะไม่สามารถให้คำแนะนำอะไรกับท่านอื่นๆได้หรอกครับ ก็คงมีแต่แนะนำให้ไปหาพ่อแม่ครูบาอาจารย์เพื่อสนทนาธรรมกับท่านโดยตรง หลวงพ่อสงบท่านชอบที่จะให้ผู้ปฏิบัติธรรมไปสนทนาธรรมกับท่านโดยตรงครับ ท่านว่าไว้ประมาณนี้ "คุยกันต่อหน้าแบบนี้นะ ธรรมะที่ได้ก็เป็นธรรมะสดๆร้อนๆ ไม่ใช่ของแห้งๆ ที่พวกโยมได้มาคุยกันต่อหน้ากับเรานี่นะ เราจะได้ตอบปัญหาให้เฉพาะแต่ละคน ล้านคนก็ล้านอย่างนะเราจะทำแกงส้มอย่างเดียวให้คนล้านคนกินแล้วถูกปากทุกคนเป็นไปไม่ได้หรอก บางคนมันก็ชอบต้มยำ, แกงป่า, แกงเผ็ดไม่เหมือนกัน ธรรมะนี่ก็เหมือนกันของใครก็ของมันนะเอาเรื่องของคนอื่นไปทำใช้กับตัวเองมันก็จะไม่ได้ผลเหมือนกับเจ้าของเรื่องนะ ให้พากันตั้งใจปฏิบัติสงสัยอะไรติดขัดอะไรก็ให้เข้ามาถามเราตอนนี้เรายังมีแรงตอบให้ได้อยู่ให้รีบๆกันเข้านะ"

ขอแสดงความนับถือครับ

IRONMAIDEN
โดย: IRONMAIDEN IP: 210.19.133.120 วันที่: 3 สิงหาคม 2552 เวลา:21:24:48 น.
  
ครับท่านIRONMAIDEN

ผมเองก็เพิ่งได้ยินชื่อเสียงพระอาจารย์หลวงพ่อสงบ เมื่อไม่นานมานี้เช่นกันครับ
ต้องขออนุโทนา สาธุฯที่ท่านเล่าถึงอุปนิสัยของพระอาจารย์หลวงพ่อให้ฟัง

ทำให้ผมยิ่งต้องการเข้าไปพบและสนทนากับพระอาจารย์ลพ.ครับ
เดิมนั้นผมได้สอบถามเรื่องเส้นทางที่จะไปเข้าพบพระอาจารย์ลพ.
จากเพื่อนสหธรรมมิกอยู่เหมือนกัน
ยิ่งฟังท่านยิ่งทำให้อยากไปกราบพระอาจารย์สักครั้ง คงเร็วๆนี้ครับ

ท่านพอจะบอกเส้นทางที่สะดวกที่สุด ทางไหนดีครับ
ระหว่างเข้าไปทางโพธารามหรือทางสามแยกกระจับครับ
และพระอาจารย์จะอยู่ทุกวันหรือเปล่าครับ?
คาดว่าจะไปในวันอาทิตย์ในเร็วๆวันนี้ครับ

ธรรมภูต
โดย: ในความฝันของใครสักคน วันที่: 5 สิงหาคม 2552 เวลา:20:08:20 น.
  
อาจารย์ธรรมภูติครับ

ลองเข้าไปดูที่นี่ครับ //board.palungjit.com/f63/ผู้ใดเคยไปกราบพระอาจารย์สงบ-มนัสสันโต-ที่ราชบุรีบ้างครับ-179097.html ผมไปโพสต์แผนที่ของวัดป่าสันติพุทธารามเอาไว้นะครับ หรือไปที่นี่ก็ได้ครับ //www.luangphor.org/index.php?lay=show&ac=article&Ntype=12&Id=538824474 ให้อาจารย์ธรรมภูติเข้ามาจากแยกบางแพครับถ้ามาจากกรุงเทพฯไม่ต้องขึ้นสะพานข้ามแยกครับให้ไปเลี้ยวขวาใต้สะพานเข้าไปทางตัวอำเภอโพธารามครับแล้วเข้าไปตามแผนที่ที่ผมลิงค์ไว้ให้นะครับ แผนที่ที่มีลายมือเขียนเอาไว้ผมเป็นคนเขียนขึ้นมาเพิ่มเติมจากแผนที่ต้นฉบับที่ได้มาจากลูกศิษย์หลวงพ่อสงบกลุ่มการไฟฟ้าฝ่ายผลิตน่ะครับและผมก็ไปโพสต์เอาไว้เพราะผมไปหาวัดของหลวงพ่อไม่เจอ! วัดป่าสันติพุทธารามไม่มีป้ายชื่อวัดครับหลวงพ่อสงบท่านตั้งใจให้เหมือนกับวัดป่าบ้านตาด ตอนที่ผมไปหาท่านครั้งแรกพอถามท่านเรื่องนี้ท่านก็ตอบมาเป็นคติธรรมประมาณว่า “มาวัดน่ะ ก็คือวัดใจของเราเองว่าจะมีศรัทธาและความมุ่งมั่นที่จะมาไหม? ถ้าหาวัดไม่เจอ แค่นี้ก็ท้อแท้แล้วกลับบ้านไปนะแสดงว่าเรามันยังใช้ไม่ได้ใจยังไม่ถึงแล้วจะเอาอะไรที่ไหนไปสู้กับกิเลสที่มันท่วมหัวใจเราได้ล่ะ?” ผมได้ฟังแล้วก็ชอบใจมากเลยครับไม่เสียแรงที่มีความมุ่งมั่นที่จะมาหาท่านเพื่อเป็นลูกศิษย์เลยครับ

ผมเคยไปหาท่านเมื่อเดือน สิงหาปีที่แล้ว 2551 ครับ (ปีนี้ผมทำงานอยู่ประเทศมาเลเซียตลอดทั้งปีครับ) ช่วงนั้นหลวงพ่ออยู่วัดตลอดครับเพราะเป็นช่วงเข้าพรรษา ถ้าอาจารย์จะไปใส่บาตรหลวงพ่อก็ต้องไปถึงวัดก่อน 6 โมงเช้านะครับ ท่านจะมีเทศนาช่วงเช้าหลังฉันภัตตาหารแล้วก็จะมีเทศนาช่วงเย็นตอนประมาณ 6 โมงเย็นหรือ 1 ทุ่มครับ แต่ช่วงประมาณบ่าย 3-4 โมงเย็นจะเป็นช่วงที่ไม่มีคนอยู่พลุกพล่านครับหลวงพ่อท่านจะมานั่งพักผ่อนที่ศาลา ผมไปสนทนาธรรมกับท่านก็ช่วงเวลานี้ละครับไม่มีใครเลยมีแต่ผมคนเดียว (มีพ่อแม่และญาติผมบ้างแต่พวกเขาก็นั่นฟังผมคุยกับหลวงพ่ออย่างเดียวล่ะครับเพราะเขาบอกว่าผมคุยอะไรกับหลวงพ่อก็ไม่รู้พวกเขาฟังไม่เข้าใจ ^_^) แต่ปีนี้ผมไม่แน่ใจนะครับว่าช่วงเวลาบ่าย 3-4 โมงเย็นจะยังเป็นเวลาเงียบๆอยู่รึเปล่าครับเพราะตอนนี้ชื่อของหลวงพ่อกำลังดังระเบิดใน PANTIP ห้องศาสนาเลยทำให้ใครๆสนใจอยากไปสนทนาธรรมกับหลวงพ่อล่ะครับ หลวงพ่อท่านจะแจกซีดีรวมเทศนาของท่านให้กับทุกคนที่ไปสนทนาธรรมกับท่านนะครับถ้ายังไม่จุใจก็ขอเพิ่มจากท่านได้เลยครับท่านมีเยอะเลยครับ เทศนาบทนึงก็ประมาณ 1 ชั่วโมงล่ะซีดีแผ่นนึงมีประมาณ 6-10 พระธรรมเทศนาฟังกันได้ทั้งวันเลยล่ะครับผมแนะนำว่าให้นำซีดีเปล่าไปถวายท่านด้วยนะครับท่านจะได้ให้ลูกศิษย์ไร้ท์เอาไว้แจกคนอื่นๆน่ะครับ ถ้าท่านอาจารย์ธรรมภูติอยากฟังแบบ on-line ตอนนี้ฟังได้ที่นี่ครับ //www.santi-tham.com/th/topic5.php แต่ที่ผมได้ข่าวมาภายในปีนี้เว็ปไซด์ของป่าสันติพุทธารามจะเสร็จเรียบร้อยแล้วครับเราคงได้ฟังธรรมเทนาสดๆจากหลวงพ่อสงบทุกวันล่ะครับ

ในนามของคนโพธารามก็ขอยินดีต้อนรับท่านอาจารย์ธรรมภูติที่จะมาเยือนนะครับขากลับก็แวะซื้อกุนเชียงกับตุ๊กตาด้วยนะครับเป็นสินค้าโอท็อปขึ้นชื่อของ อ.โพธาราม ถ้าอาจารย์ธรรมภูติกลับออกจากวัดป่าสันติพุทธารามในช่วงใกล้ๆพระอาทิตย์ตกดิน ผมแนะนำให้ไปดูฝูงค้างคาวที่ออกจากถ้ำไปหากินที่วัดเขาช่องพรานนะครับอยู่ติดกับถนนเลยครับอยู่เส้นทางเดียวกับที่จะไปวัดวัดป่าสันติพุทธารามครับ

ขอแสดงความนับถือ ครับ

IRONMAIDEN
โดย: IRONMAIDEN IP: 210.19.133.120 วันที่: 6 สิงหาคม 2552 เวลา:19:28:23 น.
  
ครับท่านIRONMAIDEN

ต้องขอขอบคุณในความเอื้อเฟิ้อข้อมูลต่างๆให้ครับ
ผมเองเคยไปแค่ตัวตลาดโพธารามเท่านั้น
รู้เพียงว่า สมัยก่อนเส้นทางที่เชื่อมระหว่างอำเภอต่ออำเภอนั้น
เดินทางลำบากมากครับ ปัจจุบันคงสะดวกมากขึ้น
ต้องถือว่าเป็นความโชคดีครับ

เมื่อสมัยก่อนที่ผมไปวัดสังฆทานที่พระอาจารย์หลวงพ่อสนองท่านอยู่นั้น
ยังเป็นเส้นทางเดินเท้าที่จะเข้าถึง รถยนต์เข้าไปไม่ได้
อาศัยเรือโดยสาร ลงที่ท่าน้ำ ที่เหลือเดินอย่างเดียว
ผ่านสวนของชาวบ้านกว่าถึงวัดใช้เวลา๒๐-๒๕นาทีครับ
แต่สมัยนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก การเดินทางสะดวก รถเข้าถึง

อย่างที่พระอาจารย์หลวงพ่อสงบท่านพูดก็ถูกแหละครับ
ถ้าต้องการหาพระแท้นั้น ต้องตั้งใจจริงที่จะได้พบ
เพียงเพราะแค่หาวัดไม่พบก็ถอยเสียแล้ว

เวลานั่งปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาสู้กับกิเลสนั้น
มีอุปสรรคมากมายในขณะปฏิบัติทั้งทางกายและทางจิตที่รุมเร้าอยู่ จะไหวหรือ

ยังดีครับที่มีพระสายปฏิบัติอยู่ใกล้กรุงเทพครับ
ติดขัดการปฏิบัติยังมีที่พึ่งที่จะช่วยแก้กรรมฐานให้

เพราะปัจจุบันนี้ เรื่องปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนานั้น
เป็นเรื่องที่คนส่วนหนึ่งเข้าใจผิดว่าไม่มีความจำเป็นเท่าไหร่

สืบเนื่องจากการถูกสั่งสอนมาแบบผิดๆ
โดยไม่คำนึงถึงพระพุทธวจนะและปฏิปทาของครูบาอาจารย์แต่เก่าก่อน

ยังดีที่มีพระอาจารย์หลวงพ่อสงบ ท่านออกมาชี้ทางสว่างให้กับคนหลงทางเหล่านั้น
แต่ก็มีพวกที่ยึดเกาะตัวบุคคลที่เชื่อและศรัทธาโดยไม่ยอมรับฟังเลยครับ

พวกเราต้องช่วยกันเผยแผ่พระแท้พระดีให้ประชาชนได้รู้จัก
พระศาสนาจะได้ไม่หมดไปครับ


ธรรมภูต
โดย: ในความฝันของใครสักคน วันที่: 7 สิงหาคม 2552 เวลา:8:43:24 น.
  
อาจารย์ธรรมภูติครับ

ขอขอบคุณอาจารย์ด้วยเช่นกันครับที่กรุณานำธรรมะมาแสดงเป็นธรรมทานให้ผมได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมครับ เรื่องการนำเสนอพระธรรมเทศนาของหลวงพ่อสงบให้ผู้คนทั่วไปได้รู้จักและได้ไปสนทนาธรรมกับท่านเป็นสิ่งที่ผมทำเพื่อเป็นการตอบแทนที่คณะลูกศิษย์ของหลวงพ่อสงบสายการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้มอบแผนที่ของวัดป่าสันติพุทธารามกับซีดีรวมเทศนาของท่านให้ผมได้รู้จักกับธรรมะของท่านเป็นครั้งแรกและทำให้ผมได้พบกับพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่ผมเสาะแสวงหามานานผมก็อยากให้คนอื่นๆได้มีโอกาสเหมือนกับผมเช่นกันครับ

ส่วนเรื่องที่เป็นที่ถกเถียงกันอยู่ทุกวันนี้ผมเองไม่มีความรู้และความสามารถอะไรไปถกกับใครๆเขาได้หรอกครับ ผมในวันนี้มีแต่การปฏิบัติอย่างเชื่องๆตามที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ได้สั่งสอนกันมาครับว่า เอาแต่ “พุทโธ” อย่างเดียวระลึกไว้ตลอดเวลาจะนั่ง, จะยืน, จะเดิน, จะทำอะไรก็ให้อยู่กับพุทโธเข้าไว้ไม่ต้องไม่อยากได้โน่นได้นี่ทำแต่ “พุทโธ” ไว้สุดท้ายก็จะได้ดีเอง เพียงแต่ทุกวันนี้ผมยังขี้เกียจอยู่มากครับก็เลยยังไมได้อะไรแต่ก็จะพยายามขยันให้มากกว่านี้ครับ

ผมมีข้อสังเกตอยู่อย่างนึงคือว่าทุกวันนี้ดูเหมือนคนเราจะมีความอดทนต่อความยากลำบากน้อยลงนะครับ อะไรที่คนรุ่นปู่ย่าตายายเคยทำได้ผลสำเร็จแต่ต้องใช้ความพยายามและความอดทนมหาศาล พวกเราสมัยนี้ก็ไม่อยากทำตามพวกท่านเหล่านั้นกลับไปหาวิธีลัดวิธีสั้นที่มันง่ายๆสบายๆไม่ลำบากซึ่งสุดท้ายมันก็ได้ไม่จริงไม่แท้เหมือนพวกท่านเหล่านั้น เรื่องของการปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกันครับพระสงฆ์รุ่นพ่อแม่ครูบาอาจารย์หลวงปู่มั่นหรือหลวงปู่ต่างๆที่เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีวิชาอาคมขลังหรืออภิญญา (เช่นหลวงเดิม, หลวงพ่อจง, หลวงพ่อปาน, หลวงพ่อเงิน, หลวงพ่อเนียม, หลวงพ่อแช่ม ฯลฯ) ท่านเหล่านั้นทุ่มเททั้งชีวิตเข้าแลกเพื่อให้ได้อรรถได้ธรรมหรืออภิญญาและได้สร้างแบบอย่างให้คนรุ่นหลังได้เดินตาม ใช่ครับวิธีของท่านมันลำบาก, ไม่สะดวกและได้ผลที่เป็นรูปธรรมช้า แต่! พวกท่านเหล่านั้นได้รับผลสำเร็จจริงๆจนเป็นประจักษ์พยานมาจนถึงทุกวันนี้ ถ้าพวกเราต้องการปฏิบัติเพื่อให้ได้ผลเช่นเดียวกับท่าน เดินตามรอยเท้าของท่านเหล่านั้นไปเลยครับ ถ้ายังสงสัยหรือยังลังเลอยู่ รอก่อนครับหาข้อมูลและลองตรวจสอบก่อนให้มีความเชื่อมั่นเกิน 70% แล้วค่อยออกเดินครับเพราะเมื่อเดินไปแล้วต้องวางความสงสัยทั้งหมดทิ้งไว้แล้วทุ่มเทความมุ่งมั่นทั้งหมดทำตามแนวทางที่ท่านสั่งสอนและต้องคอยสอบถามกับพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่ท่านเคยเดินไปก่อนหน้าเราเพื่อให้แน่ใจว่าเรายังอยู่ในเส้นทางของท่านไม่หลงทางออกไป โดยส่วนตัวของผมแล้วผมเชื่อมั่นในเส้นทางของพ่อแม่ครูบาอาจารย์สายหลวงปู่มั่นครับว่าถ้าผมเดินตามรอยเท้าของท่านโดยที่มีอิทธิบาท 4 บริบูรณ์และมีกัลยาณมิตรอย่างหลวงพ่อสงบคอยให้คำแนะนำและการอบรมสั่งสอนแล้วภายในช่วงชีวิตของผมนี้ผลสำเร็จต้องเกิดขึ้นกับผมอย่างแน่นอนครับ

ปล. ผมยังขาดอิทธิบาท 4 อยู่อีกมากครับแต่ก็จะพยายามทำให้มากขึ้นกว่านี้ครับ

ขอแสดงความนับถือ ครับ

IRONMAIDEN
โดย: IRONMAIDEN IP: 210.19.133.120 วันที่: 7 สิงหาคม 2552 เวลา:22:07:47 น.
  
ครับท่าน IRONMAIDEN ขออนุโมทนาในสิ่งที่ทำอยู่ครับ
ได้พยายามช่วยกันเผยแผ่ของแท้ของจริงให้ขจรขจายออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ครับ

เพราะปัจจุบันนี้ พระในสายปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ เริ่มน้อยลงไปเรื่อยๆ
เพราะธรรมะเป็นของลึกซึ้ง ต้องอาศัยองค์แห่งความเพียรอย่างมากๆ(อิทธิบาท๔) ในการเข้าที่จะเข้าถึงธรรมะครับ

เมื่อลองอ่านประวัติท่านพระอาจารย์ทั้งหลายในสายพระอาจารย์ใหญ่มั่น แล้ว
เราจะรู้ได้เลยว่าความเพียรที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ของเรายังไม่ได้เสี้ยวหนึ่งของท่านทั้งหลายเหล่านั้นเลยครับ

การภาวนากรรมฐานนั้นเป็นของแปลกอย่างหนึ่งคือ
ถ้าทำแบบทำๆหยุดๆ เช่นทำหลายวันติดต่อกัน แล้วมาหยุดซะ
พอกลับมาทำใหม่ก็เหมือนเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ทุกครั้งที่เราหยุดทอดเวลาไป
เราจะจดจำสภาวะของจิตไม่ได้ ทำให้ต้องเริ่มต้นใหม่อยู่เรื่อย ไม่ก้าวหน้าครับ

ในการภาวนากรรมฐานนั้น เราต้องทำติดต่อกันทุกวัน อย่างน้อยที่สุดสักวันละ๒ครั้ง
เช้าตอนตื่นนอนเพื่อทบทวนของเมื่อคืนที่เราภาวนากรรมฐานมา
และก่อนนอนของทุกวัน ถ้าเป็นไปได้ในช่วงใหม่ๆอย่างน้อยครั้ง๔๕นาทีถึง๑ชม.
พยายามทำให้ต่อเนื่องทุกวันครับ

ผมเองทุกวันนี้(ไม่น้อยกว่า๑๕ปี)ยังไม่เคยทิ้งภาวนากรรมฐานเลยสักวันครับ
แม้ได้ฐานที่ตั้งของสติแล้วก็ตาม ก็ยังทำเพื่อทวบทวนให้เกิดความคล่องแคล่วชำนาญในการเข้าสู่ความสงบครับ
ก็ยังต้องอาศัยความเพียรอยู่ดี เพราะปรกติมนุษย์เราชอบไหลลงสู่ที่ต่ำ(ขี้เกียจ)ครับ
ใหม่ๆก็ต้องฝืนกิเลสในตนเองครับ แต่พอเป็นอนุสัยแล้วก็จะทำไปเพราะเป็นหน้าที่ๆต้องทำมากกว่าครับ

แต่ทุกวันนี้ที่มีปัญหาอยู่นั้นเพราะมีการสอนที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริง
ที่มีพุทธวจนะและพ่อแม่ครูบาอาจารย์ในสายปฏิบัติที่ท่านสอนไว้
โดยแอบอิงเอาคำสอนบางส่วน เพื่อมาสนับสนุนความถูกต้องให้กับตนเองเท่านั้น
ไม่คำนึงว่าจะทำให้พุทธศาสนาหมดไป

ผมว่าท่านIRONMAIDEN ก็พอทราบว่าปัจจุบันนี้สอนแต่วิปัสสนาเท่านั้น
โดยอ้างว่าการภาวนากรรมฐานนั้นทำให้เนิ่นช้าและไม่เกิดปัญญา

เป็นการเข้าใจแบบผิดๆของฝ่ายที่ศึกษาอภิธรรมมา
และก็มีพระภิกษุบางท่านก็พยายามเอาอภิธรรมที่ตนเองเรียนรู้มาแอบอ้างว่า
ครูบาอาจารย์ในสายปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา รับรองที่ท่านเรียนรู้มาเป็นสิ่งถูกต้อง
ทั้งๆที่ขัดกันกับคำสอนของครูบาอาจารย์เอง ก็ไม่นำพา

จึงทำให้คนรุ่นใหม่ที่สนใจพุทธศาสนานั้น เกียจคร้านในการภาวนากรรมฐาน
หันมามาเอาง่ายเข้าว่า แถมยังติดดีในดี
มองแนวทางปฏิบัติของท่านอื่นที่ต่างจากที่ตนเองรู้มานั้น ผิดหมด
มีแต่ที่ตนเองรู้เท่านั้นจึงจะถูก โดยไม่ฟังเสียงใครเลยครับ

น่าเป็นห่วงพุทธศาสนาจริงๆครับ


ธรรมภูต
โดย: ในความฝันของใครสักคน วันที่: 9 สิงหาคม 2552 เวลา:11:05:43 น.
  
อาจารย์ธรรมภูติครับ

ขอบคุณครับที่อนุโมทนาให้กับผม เรื่องสภาวะของการปฏิบัติธรรมที่ต้องทำให้ต่อเนื่องกันนั้นเป็นความจริงทุกประการเลยครับ สมัยก่อนผมนั่งสมาธิแค่วันละครั้งและครั้งละ 15 นาทีเท่านั้น (ผมใช้อานาปานสติ + พุทโธครับ) ซึ่งมันไม่ได้อะไรเลยนอกจากความฟุ้งซ่านวุ่นวายของความคิดต่างๆทั้งสัญญาความจำในอดีตและความอยากในอนาคตและเมื่อนั่งสมาธิต่อไปอีกซักพักจิตก็จะตกภวังค์หลับลงไปทำให้ผมต้องเลิกนั่งสมาธิเป็นอยู่อย่างนี้ถึง 10 ปีเลยครับจนกระทั่งผมได้ไปสนทนาธรรมกับหลวงพ่อสงบก็ได้เรียนถามท่านดังนี้ครับ

1. การนั่งหลับ (ตกภวังค์) เมื่อนั่งสมาธิไปได้ซักพัก

IRONMAIDEN : “ทำไมเวลาผมทำอานาปานสติกำหนดลมหายใจเข้าพร้อมบริกรรม “พุท” แล้วลมหายใจออกพร้อมบริกรรม “โธ” ผมถึงได้หลับทุกครั้งล่ะครับ”
หลวงพ่อสงบ : “ก็เรามันจับปลาสองมือนะซิ ไหนจะต้องคอยดูลมหายใจว่ามันเข้าหรือออกและต้องคอยบริกรรมพุทโธอีก สติมันก็เลยตามอะไรไม่ทันซักอย่างต่อไปนะให้เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งจะเอา “อานาปานสติ” หรือ “พุทโธ” ให้สติของเราระลึกอยู่กับลมหายใจหรืออยู่กับพุทโธอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ทำทั้งสองอย่างไปพร้อมๆกันมันไม่ถูกนะ”
IRONMAIDEN : “ถ้ามันไม่ถูกอย่างนี้แล้ว แล้วทำไมครูบาอาจารย์ท่านสอนอย่างนี้ละครับ”
หลวงพ่อสงบ : “ก็ท่านต้องการให้เราได้เริ่มก้าวเดินนะซิ ถ้าไม่ทำอะไรแล้วจะมีอะไรมาคุยกับเราอย่างนี้เหรอ? ท่านต้องการให้เราได้มีตุ๊กตาขึ้นมาซักตัวหนึ่งก่อนถึงมันจะแขนขาดขาขาดหน้าตาบิดเบี้ยวก็เถอะนะแต่เราก็เริ่มมีผลงานบ้างแล้วท่านจะได้ช่วยดูให้ว่าตุ๊กตาของเราต้องปรับปรุงแก้ไขอะไรบ้าง อันนี้เป็นอุบายของครูบาอาจารย์ท่านเราอย่าไปเพ่งโทษอะไรท่านเลย”
IRONMAIDEN : “แล้วหลวงพ่อเคยเป็นอย่างนี้บ้างรึเปล่าครับ”
หลวงพ่อสงบ : “โอ้ย! เราเจอมาเยอะแล้ว! เราเคยตกภวังค์นั่งหลับไปทีละ 6-7 ชั่วโมงมาแล้วนะ กว่าจะแก้ได้แทบตายเลยล่ะ หลวงตา (มหาบัว) ท่านว่าธาตุขันธ์มันกล้าแข็งเกินไปจนทับจิต บางทีเราก็กินข้าวแค่ปั้นข้าวเหนียววันละคำเท่านั้นนะแต่ก็ยังไม่พอ เรานะอดข้าวเพื่อให้ร่างกาย (ธาตุขันธ์) มันอ่อนลงอยู่ทีละถึง 2-3 อาทิตย์หลายครั้งด้วยนะกว่าจะเอามันลงได้อันนี้แก้ทางกาย ส่วนทางจิตนี่หลวงปู่เจี๊ยะท่านให้บริกรรม
“พุทโธ” เร็วๆให้รัวเป็นปืนกลเลยนะจิตมันจะได้ตื่นตัวไม่ง่วงนอน”

2. ความฟุ้งซ่านในขณะนั่งสมาธิ

IRONMAIDEN : “หลวงพ่อครับ เวลาที่ผมนั่งสมาธิทีไรจิตใจมันฟุ้งซ่านมากครับผมไม่ได้ตั้งใจคิดอะไรเลยแต่มันก็เกิดมีความทรงจำเก่าๆผุดขึ้นมาหรือเป็นเรื่องราวที่ผมอยากจะทำในอนาคต ผมพยายามที่จะไม่คิดไม่สนใจมันแต่มันก็หยุดแถมหลังจากนั่งสมาธิแล้วผมยังปวดหัวต่ออีกอันนี้ผมจะแก้ยังไงดีครับ”
หลวงพ่อสงบ : “เราก็บริกรรม “พุทโธ” ไปให้สติของเราเกาะกับพุทโธเอาไว้เหมือนตุ๊กแกเกาะฝา ส่วนความคิดกับความจำนะก็ให้รู้ว่ามันมีอยู่นะแต่อย่าไปพอใจเพลินเพลินกับมันให้อยู่แต่กับ “พุทโธ” เอาไว้เมื่อเราชำนาญมากขึ้นจิตของเรามันจะเกาะแต่กับ “พุทโธ” อย่างเดียวจนจิตเรารวมใหญ่เข้ามาแล้วไอ้ความคิดกับความจำทั้งหลายมันก็จะไม่มากวนเราอีก แต่ถ้ามันไม่ถูกจริตกับเรานะให้ทำ “ปัญญาอบรมสมาธิ” ตั้งสติ เอาไว้แล้วใช้ความคิดไล่ตามความคิดที่มันโผล่ขึ้นมาไปให้ใช้เหตุใช้ผลถามมันเข้าไป ไอ้พวกนี้น่ะมันไม่มีเหตุมีผลอะไรหรอกพอโดนเหตุผลไล่เข้าไปมันก็ยอมแพ้แล้วก็หายไป ถ้ามันมาใหม่ก็ทำไปเหมือนเดิมนั่นแหละ บางทีมันก็เจ้าเล่ห์นะไม่ยอมโผล่หัวออกมาเลยเราไม่ต้องไปเรียกมันหรอกนะ ให้เราเอาธรรมะข้อใดข้อหนึ่งที่ถูกใจเรามาคิดใคร่ครวญกลับไปกลับมาให้สติอยู่แต่กับความคิดอันนั้นไม่ไปอยู่กับความคิดอันอื่นแล้วสุดท้ายความคิดทั้งหมดก็จะหายไปจนเหลือแต่จิตรวมใหญ่เหมือนกับบริกรรม “พุทโธ” นั่นแหละ แต่ให้เราจำไว้ให้ดีนะว่าที่เราทำมาทั้งหมดนี่ยังเป็นแค่ “สมถะกรรมฐาน” นะยังไม่ใช่ “วิปัสสนากรรมฐาน” นี่เป็นแค่ก้าวแรกเท่านั้นเรายังต้องฟัดกับกิเลสอีกมากมายมหาศาลนะ”

ทั้ง 2 เรื่องนี่แหละครับที่เป็นคำถามคาใจผมมาตลอดและหลวงพ่อสงบท่านเป็นผู้ที่แก้ไขให้ซึ่งเป็นพระคุณกับผมอย่างยิ่งเลยล่ะครับ

เรื่องวิปัสสนาสายตรงที่กล่าวกันว่าใช้แค่ขณิกสมาธิก็ทำวิปัสสนาจนได้มรรคผลนิพพานนี่ ผมเองเคยไปถามปัญหากับพระที่ท่านเป็นวิปัสสนาจารย์ของแนวทางนี้ (ก่อนได้ไปพบกับหลวงพ่อสงบครับ) อย่างซื่อๆว่า “พระอาจารย์ครับขณิกสมาธิจะมีกำลังพอสำหรับการบรรลุธรรมหรือครับเพราะผมเคยได้ยินมาว่าสัมมาสมาธิในมรรค 8 นี่ต้องเป็นอัปปนาสมาธิคือตั้งแต่รูปฌาน 1-4?” ท่านก็เงียบไปไม่ได้ตอบอะไรกลับมาท่านแค่บอกว่าให้ลองทำไปก่อนล่ะกันนะแล้วค่อยว่ากันทีหลังซึ่งทำให้ผมยิ่งไม่แน่ใจเข้าไปอีกว่า “แค่ขณิกสมาธิก็ทำวิปัสสนาจนได้มรรคผลนิพพาน?”

จนกระทั่งผมได้ฟังพระธรรมเทศนาจากหลวงพ่อสงบแล้วทำให้ผมมั่นใจเกือบจะ 100% ว่าสิ่งที่ถูกต้องคืออะไรแล้วผมยังได้มีโอกาสไปสนทนาธรรมกับพระอาจารย์คึกฤทธิ์ โสตถิพโลที่วัดนาป่าพงซึ่งผมก็ได้เรียนถามท่านและท่านก็ได้เมตตาตอบมาอย่างนี้ครับ

IRONMAIDEN : “หลวงพ่อครับ ที่เขาว่ากันมาว่าแค่ขณิกสมาธิก็ทำวิปัสสนาจนได้มรรคผลนิพพานนี่หลวงพ่อคิดว่าถูกต้องไหมครับ”
พระอาจารย์คึกฤทธิ์ : “เราไปฟังคำพูดระดับสาวกทำไม? ทำไมไม่ดูพุทธพจน์ว่าท่านกล่าวไว้ว่าอย่างไรล่ะ? พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ชัดเจนแล้วว่าสัมมาสมาธิต้องเป็นรูปฌาน 1-4 แล้วมีพุทธพจน์ตรงไหนที่บอกไว้ว่าสัมมาสมาธิคือขณิกสมาธิ? ไอ้ที่เรามาเรียกกันว่า ขณิกสมาธิ, อุปจารสมาธิ, อัปปนาสมาธิน่ะเป็นคำพูดของสาวกนะไม่ใช่คำพูดของพระพุทธเจ้า”
IRONMAIDEN : “หลวงพ่อครับงั้นที่เขาทำกันอยู่ก็ไม่ถูกนะซิครับ”
พระอาจารย์คึกฤทธิ์ : “ถ้าถูกแล้วจะมาขัดกับพุทธพจน์อย่างนี้หรือ? พระพุทธเจ้าให้กรรมฐาน 40 วิธีเพื่อให้เราได้ทำจิตได้เป็นสัมมาสมาธิก่อนจะก้าวต่อไปทำวิปัสสนานะ พระองค์แนะนำว่า “อานาปานสติ” นี่เป็นที่รวมของทั้งสัมมาสมาธิและสัมมาสตินะถ้าพูดกับตามแบบที่เรารู้จักกันในปัจจุบันตามสาวกภาษิตก็คือ “อานาปานสติ” เป็นทั้ง “สมถะ” และ “วิปัสสนา” พระพุทธเจ้าท่านอธิบายเอาไว้อย่างละเอียดแล้วทั้งใน “อานาปานสติสูตร” และ “มหาสติปัฏฐานสูตร” พวกเรานะมัวแต่สนใจกับสาวกภาษิตจนหลงลืมพุทธพจน์ไปทั้งที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอาไว้ดีแล้วไม่ต้องไปคิดค้นด้นเดาอะไรเพียงแต่ให้ปฏิบัติตามพุทธพจน์อย่างซื่อสัตย์และมีอิทธิบาท 4 ให้บริบูรณ์ก็เพียงพอแล้ว”

ป.ล. กราบขอบพระคุณพระอาจารย์คึกฤทธิ์ โสตถิพโลที่เมตตาอบรมสั่งสอนครับแต่ “อานาปานสติ” ไม่ถูกจริตกับผมครับ ผมจึงเลือกใช้ “พุทธานุสติ-พุทโธ” เป็นวิหารธรรมครับแต่ข้อคิดเรื่อง “พุทธพจน์” กับ “สาวกภาษิต” นี่เป็นประโยชน์มากครับในการวินิจฉัยธรรมะที่แต่ละสำนักเผยแพร่กันออกมาว่าอันไหน “ของจริง” และอันไหน “ของปลอม” ครับ

ส่วนเรื่อง “ของจริง” และ “ของปลอม” นี่หลวงพ่อสงบท่านได้ให้ข้อสังเกตไว้นะครับว่า “ใครอ้าปากพูดเรื่องนิพพานว่าเป็นยังงั้นเป็นยังงี้นั่นแหละของปลอมโกหกทั้งเพ ถ้านิพพานอธิบายได้นะพระพุทธเจ้าท่านพูดไปนานแล้วไม่ต้องรอให้เรามาพูดหรอกแต่ทำไปท่านไม่พูดละ? ท่านแค่เปรียบเทียบอุปมาอุปมัยให้พวกเราได้พอรู้เท่านั้นแหละเพราะนิพพานมันอธิบายเป็นภาษาคนไม่ได้นะซิเหมือนกับเราได้ไปกินแกงอร่อยๆอีกบ้านนึงแล้วกลับมาเล่าให้คนที่บ้านเราฟังว่าแกงที่บ้านนั้นอร่อยยังนั้นอร่อยอย่างนี้ถามว่าไอ้คนที่ฟังเรามันรู้ว่าอร่อยยังไงเหมือนเราไหม? หลวงตา (มหาบัว) ท่านถึงได้ประกาศออกมาเลยว่านิพพานก็คือนิพพานยังไงล่ะต้องไปให้ถึงเองแล้วจะรู้ว่านิพพานเป็นยังไง”

อันนี้หลังจากผมได้ฟังมาแล้วก็ลองไปค้นดูเทศนาของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ต่างๆว่าเป็นยังไง (เท่าที่ผมมีอยู่ในมือและพอหาได้ซึ่งนับว่าน้อยนิดมากครับถ้าท่านอาจารย์ธรรมภูติมีข้อมูลอะไรที่ไม่ตรงรบกวนช่วยแย้งด้วยครับ) ซึ่งผลออกมาตรงกันก็คือ “พ่อแม่ครูบาอาจารย์ทุกท่านไม่เคยกล่าวเลยว่านิพพานเป็นอย่างไรมีแต่ทุกท่านสั่งสอนว่าจะไปนิพพานต้องทำอย่างไร? และขณะที่ไปนิพพานจะต้องเจอกับอุปสรรคอะไรบ้าง? และต้องแก้ไขอย่างไร?” ครับ

ขอแสดงความนับถือครับ

IRONMAIDEN





โดย: IRONMAIDEN IP: 210.19.133.120 วันที่: 9 สิงหาคม 2552 เวลา:17:29:36 น.
  

อนุโมทนา สาธุฯ ในความเพียรพยายาม
ที่ท่านไม่คิดทอดธุระ ในการค้นหาความจริง ด้วยเหตุด้วยผล
โดยไม่ยึดติดตัวบุคคลครับ

เรื่องการฝึกภาวนากรรมฐานนั้น เริ่มแรกผมเองก็ลองผิดลองถูกโดยฝึกฝนเอง
จากการอ่านประวัติเจ้าคุณนรฯและสมเด็จพุทธาจารย์โตครับ ก็ทำบ้างไม่ทำบ้างแหละครับ
ไม่ได้ประโยชน์ที่จะนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน มีดีที่มีศรัทธาเท่านั้น

ต่อมาเมื่อได้บวชที่วัดไร่ขิง แต่ไปถือปฏิบัติที่วัดสังฆทานโดยมีหลวงพ่อสนองเป็นอาจารย์
ก็ปฏิบัติตามระเบียบวัด เช้าตี๔.๓๐ตื่นนอนสวดมนต์นั่งสมาธิ ฉันวันละครั้ง สำรวมในบาตร
ฉันเสร็จทำกิจเสร็จ ก็นั่งสมาธิต่อที่กุฏิ

องค์ไหนเพียรมาก ก็ปฏิบัติมาก ส่วนผมนั้น ด้วยความที่เป็นคนชอบคิด
เพียงแค่ต่อสู้กับความคิดอย่างเดียวก็ย่ำแย่อยู่แล้วครับ ได้บ้างไม่ได้บ้าง

ตอนสึกใหม่ๆก็ยังปฏิบัติบ้าง พอนานวันไปก็โดนกลืนหายไปด้วยภาระกิจทางโลกครับ
ทิ้งแบบถาวร กลับมาจริงจังอีกครั้ง เมื่อมีปัญหารุมเร้ามากๆ ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย
ก็หันมาภาวนากรรมฐานอย่างจริงจัง ใช้องค์ภาวนา "พุทโธ"
โดยได้รับคำแนะนำจากครูบาอาจารย์ว่าให้อุปโลกน์ฐานที่ตั้งของสติ
ให้เอาจุดที่ลมกระทบชัดเจนที่สุด(แต่ละคนมีฐานที่ตั้งแตกต่างกันครับเฉพาะตนเท่านั้น)
แล้วให้ระลึกอยู่ตรงนั้น โดยดูลมหายใจเข้าก็รู้ว่า "พุท" ลมหายใจออกก็รู้ว่า "โธ"
อย่าตามลม ให้เพ่งรู้อยู่ที่จุดฐานที่ตั้งแห่งสติ(จุดลมกระทบ)

แต่เที่ยวนี้ผมตั้งใจจริงเพราะถูกครูบาอาจารย์ตำหนิว่า "เหลวไหลนะ"
ทำให้มุเต็มที่ ได้ผลครับ จับองค์กรรมฐานได้แนบแน่นครับ
และจำฐานที่ตั้งของสติได้(แต่ยังไม่ถึงกลับคล่องแคล่วครับ)

จากนั้นมาก็มีปัญหาใหม่ก็ขึ้นมาให้แก้อีกครับ เรื่อง"ถีนมิทธะ"
เป็นเรื่องใหญ่มากทีเดียวครับ สำหรับผม
ปรึกษาครูบาอาจารย์ ท่านก็บอกว่าให้ผ่านให้ได้ โดยบอกวิธีแก้
โดยกลับมาทำลมให้หยาบขึ้นจากเดิมจนกว่าจะหายง่วงแล้ว ค่อยกลับสู่ลมละเอียดใหม่

ผมลองปฏิบัติตามก็ได้ผลบ้างบางครั้งเท่านั้น ครั้งไหนที่ผ่านได้นั้นเกิดปิติ
ห้องทั้งห้องสว่างโพลงเหมือนเปิดไฟทิ้งไว้ทั้งๆปิดไฟมืดตื้อ
แต่นับว่ายังไม่ผ่านเพราะว่าพอสว่างโพลงขึ้นมานั้น
ผมประคองได้ชั่วประเดี๋ยวประด๋าวเท่านั้น ก็กลับเข้าสู่สภาพเดิมอีกครับ

ผมถึงกลับต้องหาวิธีแก้โดย ก่อนนั่งสมาธินั้น ลงนอนให้เต็มที่ก่อนสัก๑-๒ชม.
พอตื่นขึ้นมาก็ลงมือภาวนา พอจิตสงบปุ๊บ ก็จะตกภวังค์ เข้าสู่สภาวะเดิมๆอีก
เป็นแบบนี้อยู่นานหลายเดือนครับ จนที่สุด มาพิจารณาแก้โดยงดอาหารมื้อเย็นครับ
ปรากฏว่าดีขึ้นโดยลำดับ งดมื้อเย็นเพียงปีแรกน้ำหนักหายไป๑๔กิโลครับ

เมื่อปัญหาง่วงเหงาหาวนอนหมดไป ปัญหาใหม่ก็ตามมาครับ เวทนา
ขณะนั่งภาวนากรรมฐาน เวทนาทีเกิดขึ้นที่กายก็ตามมากระทบมาถึงจิตใจเป็นอย่างมากๆ
จนต้องถามครูบาอาจารย์ท่านก็บอกเช่นเคยว่า ต้องผ่านให้ได้
โดยชี้แนะว่า ต้องเพียรประคองจิตอย่าให้หลุดจากฐานเดิมออกไปรับเวทนาสิ
ตั้งสติให้ดีๆคอยดึงจิตไว้ ก็กลับมาปฏิบัติตามอีกก็ยังไม่ผ่านติดอยู่นานครับ

งานนี้(หลายเดือน) จนกระทั่งต้องดิ้นรนไปถามผู้ที่เราคิดว่ารู้
คำตอบที่ได้ง่ายมากคือ ก็เปลี่ยนอิริยาบทสิ
ในเมื่อมันเป็นทุกข์ก็เปลี่ยนอิริยาบทซะ โง่อยู่ทำไม???
ฟังดูแล้วก็มีความรู้สึกแปลกๆเช่นกัน มาคิดดูเองอีกทีว่าแบบนี้ใครๆก็ทำได้นิ
แล้วมานั่งภาวนากรรมฐานเพื่ออะไร??? เพื่ออบรมจิตใช้มั้ย??? ใช่

เอ้บากหน้ากลับไปถามครูบาอาจารย์ดีกว่า(อายนะครับที่ทำมาตั้งนานแล้ว ยังไม่ผ่านเลยครับ)
พอเจอะหน้าท่านอาจารย์ก็ทักทันทีว่าต้องผ่านให้ได้นะตรงนี้สำคัญมาก จำเป็นต้องผ่านให้ได้
จึงเชื่อมั่นในพุทธศาสนาว่า แยกจิตออกจากอารมณ์ได้จริงครับ

พอกลับมา ผมก็มุเต็มกำลังครับ จนมีอยู่วันหนึ่ง ผมตั้งมั่นเอามากว่า ต้องเอาให้ได้
พอเริ่มก็ประคองจิตให้ตั้งมั่นอยู่ที่ฐานโดยไม่ให้แลบออกนอกฐานเลยครับ
เพราะนึกถึงครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ที่ท่านก็ต้องผ่านเรื่องนี้มาเช่นกัน ทำให้มีกำลังใจอย่างมาก

เมื่อได้เวลาอันควรที่ประมาณ๔๕นาที อาการเวทนาก็ปรากฏชัดเจน
แต่เที่ยวนี้แปลกแฮะ อาการเวทนาที่เกิดขึ้นที่กายนั้นไม่กระทบจิตเลย
พอดีใจ จิตก็ไหวตัว ก็ออกอาการนิดๆเช่นกัน แต่ก็ต่อสู้กับอาการนั้น
ถือว่าผ่านได้แต่ยังไม่๑๐๐ เปอร์เซนต์ครับ

ผมเล่าเพลินเล่ามาเสียยืดยาว ลืมบอกไปว่า ครูบาอาจารย์ท่านสั่งไว้ว่า
ในช่วงเวลาที่ลงมีภาวนากรรมฐานจริงจังนั้น ควรงดอ่านหนังสือธรรมะทั้งหลายโดยเด็ดขาดครับ
เพราะจะทำให้การภาวนาของเรามีผลที่ได้ออกมาบิดเบี้ยวจากความเป็นจริง
สืบเนื่องจากการอ่านที่เป็นสัญญาฝังแน่นอยู่ ผลที่ออกมาเป็นไปตามตำราเปะๆเลย
ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากสัญญาเท่านั้นครับ
ผมเพิ่งมาอ่านพระไตรปิฎก(เฉพาะพระสูตรเท่านั้น) เมื่อประมาณ๒-๓ปีนี้เองครับ

เจริญในธรรมครับ

ธรรมภูต
โดย: ในความฝันของใครสักคน วันที่: 10 สิงหาคม 2552 เวลา:19:49:48 น.
  
อาจารย์ธรรมภูติครับ

ขอบคุณมากครับที่อาจารย์นำประสบการณ์ในการปฏิบัติธรรมมาเล่าสู่กันฟังนะครับ ผมต้องกราบขออภัยอาจารย์ธรรมภูติด้วยนะครับที่ตัวผมเองไม่มีประสบการณ์อะไรมาเล่าให้อาจารย์และผู้สนใจท่านอื่นได้รู้เพราะว่าผมเองเพิ่งจะเริ่มเดินเข้าที่เข้าทางตามรอยเท้าของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ได้มาแค่ไม่ถึง 1 ปีครับ (จะครบ 1 ปีที่ผมได้พบกับหลวงพ่อสงบวันที่ 30 ส.ค. นี้ครับเมื่อปี 2551) ยังไม่ได้ผ่านขั้นตอนอะไรเลยครับแค่ยังต้องก้มหน้าก้มตาทำสมถะกรรมฐานให้ “จิตรวมใหญ่” ให้สำเร็จให้ได้ก่อนครับ ประสบการณ์ที่พอจะมีบ้างผมก็ได้บอกไปแล้วในบทสนทนาธรรมของผมกับหลวงพ่อสงบ มนัสสันโตและพระอาจารย์คึกฤทธิ์ โสตถิพโลครับ

แต่ก็ขอเล่าประสบการณ์ที่พอมีเหลืออยู่บ้างนะครับคือหลังจากที่ผมได้รับการสั่งสอนจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์ทั้งสองท่าน ผมได้ตัดสินใจเลือก “พุทธานุสติ-พุทโธ” เป็นวิหารธรรมและใช้ “ปัญญาอบรมสมาธิ” เป็นผู้ช่วย ผลที่ได้มาครั้งแรกก็คือผมสามารถแก้อาการ “ตกภวังค์” ไปได้และทำให้ผมนั่งสมาธิได้ไปจนถึง 30 นาทีครับ (ทุกทีจะนั่งสมาธิได้ไม่เกิน 15 นาทีก็จะตกภวังค์จนต้องเลิกครับ) ส่วนความฟุ้งซ่านต่างๆที่เคยเกิดขึ้นมันก็มีเหมือนเดิมครับแต่จิตที่เคยกระโดดเข้าไปเกาะความคิดต่างๆทันทีเริ่มที่จะหยุดมองดูความคิดต่างๆแบบเฉยๆบ้างแล้วครับเพราะว่ามี “พุทโธ” ให้จิตเกาะอยู่เป็นวิหารธรรมแล้วครับ

ผมสังเกตตัวเองได้ว่าช่วงที่ผมทำอานาปานสติอย่างเดียวผมเกิดอาการ “กายสงบแต่จิตไม่สงบ” ครับคือกายเริ่มสงบนิ่งลมหายใจช้าลงและแผ่วลงแต่จิตกลับฟุ้งซ่านเตลิดเปิดเปิงไปกับความคิดต่างๆสวนทางกับกายที่เริ่มสงบนิ่งผลก็คือ “หลับอย่างสนิท” ครับ ผมก็เลยลองบริกรรม “พุทโธ” ให้เร็วหรือช้าตามอาการของจิตครับ ถ้าจิตกระเพื่อมมากก็ยิงพุทโธรัวเป็นปืนกลเหมือนที่หลวงปู่เจี๊ยะท่านว่าไว้แต่พอจิตเริ่มสงบตัวลงก็บริกรรมพุทโธให้ช้าลงเช่นกันครับแต่ก็ไม่ปล่อยให้ช้าไปตามจิตเหมือนกันเพราะผมเคยพลาดจน “หลับอย่างสนิท” มาแล้ว ผมก็แค่บริกรรมพุทโธให้ช้าลงแต่ก็สม่ำเสมออย่างต่อเนื่องครับ หลวงพ่อสงบท่านสอนต่อไปว่า “บริกรรมพุทโธให้ต่อเนื่องไปนะอย่าหยุดเด็ดขาดให้ทำไปเรื่อยๆจนกระทั่งจิตของเราอยากจะนึกพุทโธแต่ก็ทำยังไงก็นึกพุทโธไม่ได้นั่นแหละจิตของเราถึงจะเริ่มเข้าสู่รวมใหญ่นะให้ประคองเอาไว้ให้ดีอย่าไปทักหรือสงสัยอยากรู้อะไรนะ” หลวงพ่อสงบท่านว่าส่วนต่อจากนี้ไปถึงจะเริ่มเป็นงานทางปัญญา (วิปัสสนา) ครับ คำสอนตรงนี้ผมเองจำไม่ค่อยได้ซักเท่าไหร่ครับเพราะเป็นส่วนที่ผมยังไปไม่ถึงก็เลยยังไม่ได้สนใจมากนักครับตอนนี้เวลานี้ผมต้องทำสมาธิให้ได้รวมใหญ่เสียก่อนครับและผมต้องเอาตุ๊กตาตัวที่ 2 ที่สมบูรณ์ขึ้นกว่าตุ๊กตาตัวแรกเมื่อปีที่แล้วไปให้หลวงพ่อสงบดูให้ได้ครับเมื่อผมกลับเมืองไทยแล้ว (ประมาณปลายเดือน ธ.ค. 2552)

ส่วนเรื่อง “ปัญญาอบรมสมาธิ” นี่ผมใช้แต่ตอนที่ดำเนินชีวิตประจำวันช่วงไม่ได้นั่งสมาธิน่ะครับยกตัวอย่างเช่น บางเวลาผมคิดถึงแฟนว่าตอนนี้เขากำลังทำอะไรอยู่ (ผมอยู่มาเลเซียส่วนเขาอยู่เมืองไทย) ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็จะเอาสัญญาเวลาความทรงว่าวันอย่างนี้เวลาอย่างนี้ (เช่นวันอาทิตย์) เขาคงไปเที่ยวห้างฯไปซื้อของบ้างและความวิตกกังวลก็จะเข้ามาสร้างเรื่องต่อไปว่าเขาไปคนเดียวหรือไปกับเพื่อน? ถ้าไม่ใช่เพื่อนแต่เป็นกิ๊กล่ะ? แล้วความคิดก็จะทำงานสร้างภาพทันทีให้เห็นว่าแฟนเรากำลังไปเที่ยวห้างกับกิ๊กแล้วปล่อยให้เรานั่งเหงาอยู่ที่มาเลเซียคนเดียวจากนั้นก็จะเกิดอารมณ์โกรธพลุ่งพล่านไปกับความคิดที่ปรุงแต่งขึ้นมาเองจนต้องโทรศัพท์กลับไปหาเขา ถ้าเขาไม่รับสายก็คิดจินตนาการต่อไปว่า “ไปดูหนังอยู่กับกิ๊กรึเปล่า?” หรือถ้าเขารับสายก็มีคำถามอีกว่า “อยู่กับใครน่ะ?” ยิ่งถ้าเก็บอารมณ์ไม่อยู่ด้วยล่ะก้อมีได้ทะเลาะกันแล้วก็มานั่งเป็นทุกข์เพราะความคิดฟุ้งซ่านตัวเดียวแท้ๆ แต่หลังจากที่ผมลองใช้ “ปัญญาอบรมสมาธิ” แล้วเมื่อเกิดความคิดถึงแฟนว่าตอนนี้เขากำลังทำอะไรอยู่? ก็ใช้ “สติผู้รู้” คอยจับดูความคิดอันนี้อยู่ถ้าไม่มีความคิดอะไรต่อยอดออกไปอีกก็จบเท่านี้ แต่ถ้ามีต่อเช่น “ถ้าเขาไปเที่ยวเป็นกิ๊กล่ะ?” ผมก็ใช้การสร้าง “ความคิดที่มีสติควบคุม” ถามตัวเองกลับไปว่า “ถ้าเขาไปกับกิ๊กจริงๆแล้วตัวเราจะทำอะไรได้?” ซึ่งคำตอบก็คือ “ทำอะไรไม่ได้นอกจากรอเวลากลับเมืองไทยเพื่อไปถามเขาเท่านั้นเอง” และถ้าความคิดยังมีต่อไปอีกว่า “ถ้าเขามีกิ๊กจริงๆและเราจะเจ็บปวดขนาดไหน” ผมก็ตอบตัวเองไปว่า “เจ็บปวดซิแต่เราเจ็บปวดเพราะอะไร? เพราะใจเราไปยึดมั่นว่าเขาเป็นของๆเราใช่ไหม? และใจของเขาต้องซื่อสัตย์ต่อเราคนเดียวใช่ไหม? ทำไมไปยึดอย่างนั้นล่ะขนาดใจของเราแท้ๆเรายังบังคับให้ใจของเราคิดและรู้สึกอย่างที่ต้องการได้ไหม? ไม่ได้เลยใช่ไหมล่ะแล้วใจของคนอื่นเราจะไปทำอะไรเขาได้ล่ะ” เมื่อ “จิต” ได้คำตอบตามความเป็นจริงแล้วความสงสัยก็จะจางลงและยอมรับตามนั้นความคิดฟุ้งซ่านในเรื่องนี้ก็จะหายไป ส่วนเรื่องใหม่ที่เข้ามาก็ใช้วิธีแบบเดียวกันนี่แหละครับตั้งคำถามใส่มันเข้าไปแล้วก็ใช้ “สติผู้รู้” หาคำตอบป้อนให้มันเมื่อมันได้กินคำตอบจาก “ความคิดที่มีสติควบคุม” จิตก็จะสงบลงได้ครับและถ้ามีความคิดหลายๆเรื่องๆเข้ามาพร้อมกันให้จัดลำดับความสำคัญตามน้ำหนักที่มากระทบจิตของเราน่ะครับเรื่องไหนที่เข้ามาทำให้จิตของเราสั่นสะเทือนได้มากให้เอาเรื่องนั้นมาคิดก่อนให้จบแล้วค่อยเอาเรื่องอื่นๆมาคิดตามลำดับครับ

ส่วนขั้นต่อไปผมคงต้องผจญกับด่าน “เวทนา” เหมือนกับท่านอาจารย์ธรรมภูติล่ะครับ พ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็น “ของจริง” ทุกท่านนั้นท่านสั่งสอนเอาไว้เลยครับ “ให้อดทนสู้กับเวทนาเข้าไว้ไม่ต้องกลัวถ้ามันจะตายก็ให้มันตายไปเลย ตั้งสติเอาไว้ให้พิจารณาดูซิว่ากายมันปวดแล้วจิตมันปวดด้วยมั้ย? มันปวดที่ตัวจิตมันเองเรอะ? จิตมันไปปวดกับกายด้วยที่ไหนกันที่มันปวดเพราะจิตมันไปยึดว่ากายมันเป็นตัวของจิตมันถึงได้ปวดตามไปด้วยนะ พิจารณามัน, ดูมันให้เห็นนะว่ากายมันก็ส่วนกายและจิตมันก็ส่วนจิตนะให้พิจารณามันเข้าไปจนจิตมันเกิดปัญญารู้เห็นว่ากายไม่ใช่จิตและจิตไม่ใช่กายนะ” ผมว่าเรื่องง่วงเรื่องฟุ้งซ่านว่าลำบากแล้วเรื่องฟัดกับเวทนานี่ยากกว่าชนิดคนละมิติเลยครับผมเองตอนนี้นั่งสมาธิได้แค่ครั้งละ 30 นาทีก็ยอมแล้วครับแต่ตั้งใจว่าจะพยายามสู้กับเวทนาให้มากกว่านี้

เรื่องการศึกษาพระไตรปิฎกนี่ผมขอยอมแพ้ครับตอนนี้ผมแค่ได้ตรวจสอบคำสอนของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ทั้งส่วนต้น, ส่วนกลางและส่วนปลายกับพระไตรปิฎกแล้วพบว่า “เข้ากันได้สนิทไม่มีขาดไม่มีเกินครับ” ซึ่งทำให้ผมแน่ใจในเส้นทางสายนี้แล้วดังนั้นผมก็มีหน้าที่คือปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพ่อแม่ครูบาอาจารย์อย่างซื่อสัตย์และเชื่อมั่นครับ

ขอแสดงความนับถือครับ

IRONMAIDEN
โดย: IRONMAIDEN IP: 10.1.1.147, 211.25.130.94 วันที่: 11 สิงหาคม 2552 เวลา:20:13:28 น.
  
สวัสดีครับท่านIRONMAIDEN

ผมขออนุโมทนาในความตั้งใจจริง เพื่อจะเข้าให้ถึงสภาวะจิตรวมใหญ่นะครับ
อันนี้เป็นสภาวะจิต(ธรรม)ที่สำคัญมากนะครับ
ต้องพยายามจดจำสภาวะจิตขณะที่เรากำลังภาวนากรรมฐานให้ดีนะครับ
มีสภาพเป็นอย่างไรในขณะนั้นๆ
เนื่องเพราะ สติ สมาธิ ปัญญา ทั้ง๓สิ่งนี้นั้น เป็นอัญญะมัญญะปัจจัยซึ่งกันและกันครับ
ทำงานควบคู่กันไปทำให้เราแยกออกยาก อย่าไปมัวเสียเวลาแยกอยู่นะครับ
เมื่อเราจับตัวใดได้และรู้ชัดเจนที่สุด ก็เกาะอันนั้นไว้ครับ

อย่างที่ท่านใช้องค์ภาวนาพุทโธเป็นตัวหน่วงให้เกิดสติได้ชัดเจน ก็เอาอันนั้น
อย่าเปลี่ยนบ่อยนะครับ เพราะจะเป็นการเริ่มต้นใหม่ทุกครั้งที่เปลี่ยน
ขณะนั้นทั้งสมาธิและปัญญาก็ทำงานร่วมอยู่ด้วย แต่สติเด่นช้ดที่สุด
สภาวะพวกนี้ต้องจดจำและทบทวนให้แม่นยำครับ
เมื่อถึงเวลาอันควรมาถึง(จิตรวมใหญ่)
เราจะได้ไม่เกิดอาการสงสัยหรือทักจิตที่อยู่ในสภาวะนั้นครับ
ทำให้จิตไหวตัวคงอยู่ในสภาวะนั้นได้ไม่นานเท่าที่ควรครับ

ผมเคยสนทนามากับหลายท่านแล้วครับ เป็นเช่นเดียวกันเกือบหมด
คือเวลาจิตรวมใหญ่จะเกิดอาการสงสัยแปลกใจ เพราะไม่เคยเกิดสภาวะนี้มาก่อน
ทำให้จิตมีอาการไหวตัวออกจากสภาวะนั้นได้ง่ายครับ
พอครั้งต่อไปจะเข้าไปใหม่ เข้าได้ลำบากเพราะจำทางเดินของจิตไม่ได้นั่นเอง

ฉะนั้นเมื่อเข้าได้แล้วให้ประคองไว้ให้ดีก่อนนะครับ ก่อนจะออกจากสภาวะนั้น
อย่าลืมฝึกเข้า-ออก เพื่อเป็นการทบทวนการเข้า-ออกสภาวะนั้นให้แม่นยำ
เพื่อในครั้งต่อไปจะได้เข้าได้อย่างรวดเร็วครับ

ผมเองก็ประสบปัญหานี้เช่นกันครับ เมื่อได้แล้วกลับจำทางไม่ได้ครับ
ทำให้การเข้าในครั้งต่อไปยากครับ

ส่วนเรื่องปัญญานำสตินั้น
ตามความเข้าใจของผมเองนั้นเป็นการฝึกการทำงานทางจิตในขั้นที่๒ครับ
งานขั้นแรกนั้นทำงานทางจิตเพื่อพิจารณากายในกายเป็นภายในให้สำเร็จ
คือทำให้จิตรวมใหญ่ได้สำเร็จและคล่องแคล่วชำนาญครับ

จากนั้นเป็นการพิจารณากายในกายเป็นภายนอกครับ ที่ท่านทำอยู่นั้นแหละครับ
เมื่อมีอารมณ์อะไรเข้ามา จิตมีสติระลึกรู้ไม่ให้อารมณ์เหล่านั้น
มาครอบงำความคิดเราให้เสียคุณภาพไปตามอารมณ์เหล่านั้น
ทำให้มีปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริงอย่างที่ท่านเล่ามาครับ
ไม่คล้อยไปตามอารมณ์ที่มาชักจูง
ยิ่งถ้าเราทำงานทางจิตขั้นแรกได้สำเร็จสมบูรณ์นั้น(ยากนะครับ)
เราจะมีพลังของสติ สมาธิ ปัญญาที่กล้าแข็งมาก
อารมณ์ต่างๆภายนอกจะมาทำให้จิตเสียคุณภาพไปนั้นยากครับ
นอกจากพวกกิเลสที่ละเอียดจริงๆเท่านั้น

ขั้นสุดท้ายนั้นเป็นขั้นที่๓ครับ เป็นการพิจารณากายในกายทั้งภายในและภายนอกครับ
ธรรมมารมณ์ที่ผุดขึ้นมาณ.ภายในและธรรมมารมณ์ที่เป็นภายนอกต้องพิจารณาทั้งคู่ครับ

ผมเองก็พูดออกมาเสียไกลเลย
แค่งานขั้นแรกที่จะทำให้สำเร็จสมบูรณ์นั้น ยังไม่ไช่เรื่องง่ายๆเลยครับ
ก็มีแต่ครูบาอาจารย์เท่านั้นที่ท่านทำงานขั้นแรกสำเร็จแล้ว
อย่าเพิ่งเสียกำลังใจไปนะครับ เอาครูบาอาจารย์เป็นแบบอย่างครับ
ท่านสู้ยิบตากับกิเลส จนผ่านงานทางจิตขั้นแรกไปได้แล้ว

งานทางจิตทั้ง๓ขั้น ทุกท่านที่ฝึกอบรมภาวนากรรมฐานนั้น
ล้วนต้องเคยสัมผัสงานทั้ง๓ขั้นมาแล้ว เพียงต่างกันที่ผลที่ได้รับครับ
ส่วนใหญ่แล้วยังอยู่ในขั้นหัดเดิน เมื่อเจออุปสรรคมักจะสะดุด
ยังไม่คล่องแคล่วชำนาญพอที่จะกระโดดข้ามครับ ยังต้องอาศัยความเพียร
และครูบาอาจารย์ที่ท่านเดินกระโดดได้คล่องแคล่วชำนาญแล้วคอยชี้แนะครับ....

ธรรมภูต
โดย: ในความฝันของใครสักคน วันที่: 12 สิงหาคม 2552 เวลา:22:30:42 น.
  
เคยปฏิบัติแบบดูจิตมาเป็นปีๆ พอได้เจอลพ.สงบ ล้มกระดานทิ้งเลย อัดพุทโธๆๆๆๆๆๆ ไม่นานก็ได้เรื่อง ไปภาวนาที่วัดทุกเดือนค่ะติดต่อกันได้ 3 เดือนแล้ว ก้าวหน้ามากๆ อยากให้คนที่ยังหลงผิดอยู่ได้ฟังธรรมแท้ๆ จากท่าน ซึ่งหาได้ยากเย็น
โดย: พุทโธ IP: 124.122.163.51 วันที่: 17 สิงหาคม 2552 เวลา:14:05:22 น.
  
อาจารย์ธรรมภูติครับ

ขอบคุณอาจารย์มากครับสำคัญข้อแนะนำและเทคนิคต่างๆในระหว่างการเดินทางไปให้ถึง “จิตรวมใหญ่” เรื่องท้อแท้ในการปฏิบัตินี่สำหรับผมในวันนี้ไม่มีเหลือแล้วครับเพราะว่าผมรู้ตัวเองดีว่ายังใช้ความพยายามและความสามารถไม่ถึง 1 ใน 10 ที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ทั้งหลายท่านได้ทุ่มเทปฏิบัติกันมาและพ่อแม่ครูบาอาจาารย์ทั้ง 2 ท่านคือหลวงพ่อสงบกับพระอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ได้ให้กำลังกับผมว่า “วิธีการที่เราได้ตั้งใจทำมาแล้วและจะทำต่อไปน่ะเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ให้เราน่ะมีความขยันและความอดทนให้ยิ่งกว่านี้นะที่สำคัญต้องทำอิทธิบาท 4 ให้บริบูรณ์ด้วย อย่าขี้เกียจขี้คร้านเห็นแก่ความสะดวกสบายนะโบราณท่านว่าไว้นะ ทางเตียนจะเวียนลงนรกแต่ทางรกน่ะจะวกขึ้นสวรรค์ให้ตั้งใจปฏิบัตินะ”

ผมเพิ่งได้ฟังเทศนาของพระอาจารย์คึกฤทธิ์ โสตถิพโลมาไม่กี่วันมีเรื่องนึงที่ท่านกล่าวไว้ได้ “โดน” ใจผมมากเลยครับท่านกล่าวไว้ประมาณว่า “พระพุทธเจ้าท่านกล่าวไว้หลายครั้งนะว่าให้พุทธบริษัทหมั่นฝึกฝนในการละนันทิความยินดีพอใจในรูปและนามเพราะว่านันทิจะทำให้จิตของเราเกิดความพอใจในผัสสะต่างๆและจิตก็จะสร้างภพอันนำไปสู่ชาติ, ชราและมรณะในที่สุด ผู้ใดที่ละนันทิได้ผู้นั้นย่อมได้ชื่อว่าตัดห่วงโซ่แห่งปฏิจจสมุบาทอันนำไปสู่การสร้างภพ, ชาติ, ชราและมรณะ” ผมกลับมานั่งทบทวนดูสาเหตุแห่งความฟุ้งซ่านในจิตใจของผมแล้วผมพบว่า 20% เป็นเรื่องของการนึกถึงสิ่งที่ผ่านมาว่าเราทำอะไรไปแล้วบ้างและในอนาคตมีอะไรที่เราจะต้องทำอีก ส่วนที่เหลืออีก 80% ก็คือ “ความพึงพอใจในความคิดและความเพ้อฝันครับ! ” ผมเพิ่งสังเกตได้ว่าตัวเองมีความพอใจเพลิดเพลินในการใช้ความคิดปรุงแต่งสร้างเรื่องราวต่างๆเหมือนนักเขียนนวนิยาย เวลามีเรื่องอะไรจากภายนอกเข้ามากระทบอายตนะต่างๆจิตของผมก็จะสร้างเรื่องราวต่างๆพลิกแพลงพิสดารให้จิตดูราวกับอ่านนิยายมันๆหรือได้ดูหนังสนุกๆ พอกระบวนการสร้างความคิดเรื่องหนึ่งๆจบลงผมก็จะหาเรื่องใหม่มาคิดให้เป็นนิยายเรื่องใหม่ทันทีเพื่อให้จิตยังคงมีความเพลิดเพลินต่อไปครับ

จากข้อสังเกตที่ได้มาทำให้ผมรู้ถึงสาเหตุของ “ความฟุ้งซ่าน” ที่เกิดขึ้นในจิตใจของผมดังนั้นในการ “ดับเหตุ” ผมได้ประยุกต์ใช้คำสอนของหลวงพ่อสงบกับพระอาจารย์คึกฤทธิ์มาปฏิบัติดังนี้ครับ

1. ดำรงสติเฉพาะหน้าให้มีความรู้สึกตัวเสมอว่า “ตอนนี้เราเป็นอย่างไร?”, “กำลังทำอะไรอยู่?” และ “จะทำอะไรต่อไป”
2. ถ้าหากไม่มีกิจการอะไรที่จะต้องใช้ความคิดอย่างมากหรือติดต่อกับใครให้กำหนดจิตอยู่กับคำบริกรรม “พุทโธ” เป็น “สมาธิอบรมปัญญา” เป็นวิหารธรรมของจิตแต่ถ้าต้องมีการใช้ความคิดที่สลับซับซ้อนหรือติดต่อกับคนอื่นให้ปฏิบัติตามข้อที่ 1
3. เมื่อจิตได้ไปกระทบหรือสัมผัสกับต่างๆแล้วเอากลับมาผสมรวมกับสังขารทั้ง 5 ในจิตและเตรียมจะสร้างเรื่องต่างๆให้จิตเพลิดเพลินเหมือนเดิมให้ปฏิบัติทั้งข้อ 1 และข้อ 2 พร้อมๆกันโดยที่ข้อ 2 จะเป็นเสาหลักในการยึดจิตเอาไว้ไม่ให้ออกไปเพลิดเพลินและข้อที่ 1 เป็นการตั้งหลักสำหรับข้อที่ 4 ต่อไป
4. ใช้ “ปัญญาอบรมสมาธิ” เป็นอาวุธสุดท้ายในการทำลายกระบวนการสร้างความเพลิดเพลินทั้งหลายโดยการ “ยิงคำถามที่เป็นเหตุเป็นผลและข้อเท็จจริง” ให้จิตตอบตัวเองซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้วความปรุงแต่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดมันไม่มีมีเหตุมีผลใดๆทั้งสิ้นและมันก็เป็นของไม่จริง, ของปลอมดังนั้นมันจึงไม่สามารถไปต้อสู้กับ “คำถามที่เป็นเหตุเป็นผลและข้อเท็จจริง” ที่เราสร้างขึ้นจากสติ, สมาธิและปัญญาของเราได้ สุดท้ายแล้วมันก็จะสลายหายไป

อันนี้เป็นหลักการที่ผมได้สรุปขึ้นมาครับซึ่งผมเองก็ยังทำไม่ได้ 100% เหมือนกันครับแต่ก็พอเป็นหลักเป็นเกณฑ์ได้บ้างครับ

สวัสดีครับคุณ “พุทโธ” ผมในฐานะลูกศิษย์หลวงพ่อสงบเหมือนกันและในฐานะชาวโพธารามขอยินดีต้อนรับนะครับ ^_^ ถ้าคุณพุทโธได้อ่านความเห็นของผมในตอนต้นๆก็จะทราบถึงที่มาของลักษณะนิสัยของหลวงพ่อสงบอย่างที่พวกเราได้เห็นกันอยู่นะครับถ้ามีเพื่อนๆคนใดสงสัยก็บอกเขาไปตามนี้นะครับ

ส่วนเรื่องที่อยากให้ท่านอื่นๆได้ฟังธรรมของหลวงพ่อสงบบ้างผมก็ขออนุโมทนาด้วยนะครับแต่ก็อีกนั่นแหละครับหลวงพ่อสงบท่านก็เคยพูดถึง “สายบุญสายกรรม” สายใครก็สายมันล่ะครับผมเจอหลายคนแล้วครับทั้งๆที่มีโอกาสฟังเทศนาของท่านทางซีดีและยังอุตสาห์ได้ไปสนทนากับท่านถึงวัดกลับไม่ได้อรรถได้ธรรมอะไรจากท่านเลยครับหนำซ้ำยังขนบาปขนเวรใส่ตัวเองและคนอื่นๆอีกด้วยผมรู้แล้วก็ “เศร้าใจ” แต่ก็ทำอะไรไม่ได้เหมือนกันครับก็ต้องปล่อยไปตามเวรตามกรรมของเขาละครับ

เรื่องการดูจิตนี่ผมเองก็เคยฝึกมาบ้างเหมือนกันครับ (ผมเคยฝึกทั้งกสิณไฟ, ธรรมกายและอานาปานสติมาก่อนครับแต่มีข้อติดขัดเรื่องการตกภวังค์กับเรื่องความฟุ้งซ่านที่ไม่มีใครแก้ให้ผมได้มานานจนกระทั่งหลวงพ่อสงบท่านมาแก้ให้ได้เมื่อปีที่แล้วครับ) ทำตอนแรกๆนี่ได้ผลทันตาเลยนะครับคือจิตสงบตัวลง, ความโกรธและความฟุ้งซ่านลดลงครับ แต่! มันเสื่อมครับ! คือในที่สุดความโกรธที่เราคิดว่ามันหายไปที่จริงมันแอบสะสมตัวอยู่พอได้จังหวะมันก็ระเบิดออกมาความฟุ้งซ่านก็เหมือนกันครับมันแอบอยู่เงียบๆพอได้เวลาก็พาจิตเตลิดไปกับความเพลิดเพลินที่จิตไม่ได้เจอมานานอยู่เป็นอาทิตย์ๆ กว่าจะหาสาเหตุได้ก็แทบแย่เลยครับก็คือการดูจิตเป็นการบังคับจิตไม่ให้ไปรับรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้นโดยให้จิตเฝ้ามองดูจนอารมณ์นั้นมันคลายตัวไปแล้วคิดว่าว่าอารมณ์นั้นๆมันหายไป ใช่ครับ!มันหายไปก็จริง แต่!พลังงานของมันยังคงสะสมอยู่ในจิตไม่หายไปไหนพอได้ปริมาณมากพอมันก็ระเบิดออกมาทีนึงครับ แต่พอผมได้มาพบหลวงพ่อสงบและได้ฟังธรรมและสนทนาธรรมกับท่านผมถึงได้รู้ถึงข้อผิดพลาดว่าทำไมถึงเป็นอย่างนี้? (ที่ผมเคยเล่าเรื่องปัญหา 2 ข้อที่ค้างคาใจมานานนั้นมันเป็นปัญหาที่ผมแก้ไม่ตกมานานและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับผมครับส่วนเรื่องนี้ตอนแรกๆผมคิดว่าเป็นแค่ความผิดพลาดทางเทคนิคแต่ที่จริงแล้วเป็นเรื่องใหญ่พอๆหรือใหญ่กว่าปัญหา 2 ข้อแรกซะอีกครับ) และท่านก็ได้เมตตาให้ทางแก้ไขมาครับคือ “พุทโธ-สมาธิอบรมปัญญา” กับ “การใช้ปัญญาใคร่ครวญ-ปัญญาอบรมสมาธิ” ครับ ในคราวหน้าผมจะมาเล่าถึง “การพิชิตความโกรธและความพยาบาทด้วยปัญญาอบรมสมาธิ” นะครับ

ขออนุโมทนาในความก้าวหน้าทางธรรมของคุณพุทโธและอาจารย์ธรรมภูติครับและขอให้ผลจากการตั้งใจในการปฏิบัติของท่านทั้ง 2 และการมีกัลยาณมิตรที่ประเสริฐเช่นหลวงพ่อสงบจงเกื้อหนุนให้ประสบความสำเร็จในการทำลายภพชาติด้วยครับ ^_^

ขอแสดงความนับถือครับ

IRONMAIDEN
โดย: IRONMAIDEN IP: 210.19.133.124 วันที่: 17 สิงหาคม 2552 เวลา:20:57:15 น.
  
อนุโมทนากับทุกท่านครับ
โดย: ^ - ^ IP: 58.9.197.29 วันที่: 19 สิงหาคม 2552 เวลา:17:13:45 น.
  
ครับท่านIRONMAIDEN
ผมขออนุโมทนาและยินดีด้วยครับ ที่มีจิตใจที่อาจหาญแน่วแน่ต่อทางเดินที่ถูกที่ควร
ผมมีเหตุผลมากมายที่จะเป็นห่วงเพราะเท่าที่ผ่านมานั้น ผมเห็นคนที่ไม่มีเจตจำนงค์ที่มุ่งมั่น
เมื่อทำไปนิดทำไปหน่อยก็เกิดอาการท้อแท้ พอเจอใครที่แนะนำให้ด้วยวิธีลัดสั้น
และไม่ต้องนั่งหลับตาหลังขดหลังแข็งแบบที่ทำอยู่ ก็จะคล้อยตามไปได้ง่ายๆ
โดยไม่เคยย้อนกลับมาดูตนเองบ้างเลยว่า
ที่ภาวนาพุทโธไม่ได้ผลนั้นเป็นเพราะตนเองขาดเจตจำนงค์ที่มุ่งมั่น

แต่กลับไปโทษว่า ไม่ถูกกับจริตบ้างหละ เป็นเพียงสมถะนายิกเท่านั้น
ทั้งที่ตนเองก็ไม่เคยทำให้จิตสงบได้เลยแม้สักครั้ง ไม่ต้องพูดถึง "จิตรวมใหญ่"
การภาวนา "พุทโธ" แท้จริงแล้วเป็นการฝึกฝนย้อนกลับมาดูตนเอง(จิต)

ซึ่งนักภาวนา "พุทโธ" ทุกท่านต้องเข้าถึงให้ได้
ไม่มียกเว้น แม้ครูบาอาจารย์ท่านก็ผ่านมาแล้วทุกองค์

ทุกครั้งที่พบครูบาอาจารย์ท่านจะเน้นย้ำเสมอว่า
ที่ต้องการรู้ต้องการฟัง เราก็รู้เราก็ฟังท่านมาหมดแล้ว
ที่เหลืออยู่เป็นหน้าที่ของตนเองจะต้องลงมือทำ(ภาวนา)ด้วยความเพียร
ที่ผมห่วงก็เรื่องนี้แหละครับว่า การปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาจะหมดไปจากศาสนาพุทธ

ดูตัวอย่างได้ง่ายๆ เท่าที่เราเห็น คนที่เริ่มต้นศึกษาพุทธศาสนาใหม่ๆนั้น ๙ใน๑๐คน
ที่ถูกชักจูงให้ดูจิตทั้งนั้น ทั้งที่ฟังไม่รู้เรื่องก็เถอะ แต่เมื่อเห็นคนเข้าหามาก ก็คิดว่าต้องดีไว้ก่อน
อีกทั้งท่านผู้สอน ท่านก็พูดได้ไพเราะนุ่นนวลชวนหลงไหลได้ปลื้มยิ่ง จากการโปรปากานดา

ผิดกับครูบาอาจารย์ในสายปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา
ที่จะหาพูดจาไพเราะเพาะพริ้งได้น้อยมาก

ผมถึงอยากให้พวกเราเหล่านักปฏิบัติ ได้ช่วยกันชี้ให้เห็นว่า ถึงลำบากในตอนต้นมือนั้น
พอเมื่อเข้าถึงได้แล้ว เราจะเห็นคุณค่าที่แท้จริงในพุทธศาสนา
ที่สอนให้รู้จักเรื่องจิต(พุทโธ)กับอารมณ์เท่านั้น

การดูจิตให้เป็นนั้น ต้องภาวนาให้รู้จักจิตตนเองให้ได้เสียก่อน
เมื่อรู้จักจิตที่สงบตั้งมั่นไม้หวั่นไหวได้แล้ว ย่อมมีข้อเปรียบเทียบ
ระหว่างจิตที่ชอบยึดอารมณ์ กับจิตที่ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว

พอนำมาใช้กับชีวิตประจำวันในการดูจิต เราย่อมรู้ว่าอันไหนจิต อันไหนเป็นอาการของจิต...

ความเพียรมีผล ความพยายามมีผล

เจริญในธรรมครับ


ธรรมภูต
โดย: ในความฝันของใครสักคน วันที่: 20 สิงหาคม 2552 เวลา:10:55:43 น.
  
อาจารย์ธรรมภูติครับ

ขอขอบคุณในความห่วงใยนะครับ ^_^ ผมมีความเชื่อส่วนตัวที่ว่า “ของดีไม่มีทางได้มาง่ายๆและของที่ได้มาง่ายย่อมมีเบื้องหลังที่ไม่ชอบมาพากลเสมอ” ตัวอย่างก็เช่นการสร้างความร่ำรวยล่ะครับใครที่ไม่ “ประหยัด, ขยัน, ซื่อสัตย์, และอดทน” แล้วจู่ๆมีเงินมีทองขึ้นมามากมายแสดงว่าเงินที่ได้มานั้นไม่ชอบมาพากลแน่นอนล่ะครับอย่างดีก็ถูกหวยหรือได้มรดกมาอย่างไม่ดีก็ทำมิจฉาอาชีวะล่ะครับซึ่งความรวยแบบนี้มันไม่ยั่งยืนหรอกครับไม่นานก็ล้มละลายกลับไมยากจนเท่าๆหรือมากกว่าเดิมเสียอีก ผมได้เห็นตัวอย่างตั้งแต่เด็กๆมานักต่อนักแล้วล่ะครับ

การปฏิบัติธรรมก็เช่นกันถ้าได้ศึกษาพุทธประวัติมาบ้างก็จะรู้ว่าเจ้าชายสิทธัตถะท่านต้องทั้งลำบาก, อุตสาหะและอดทนแสวงหาโมกขธรรมมาขนาดไหนกว่าจะมาถึงคืนเพ็ญ 15 ค่ำเดือน 6 และท่านได้ใช้ความเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่นขนาดไหนในยามแรกของราตรีนั้นดังในพุทธปณิธานของพระองค์ที่ว่า "แม้เลือดเนื้อในกายของเราทั้งหมด จักแห้งเหือดหายไปเหลือแต่หนัง เอ็น กระดูก ก็ตามที หากยังไม่บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว เราจะไม่ยอมลุกขึ้นเป็นอันขาด" ลองดูซิครับพระบรมครูผู้เป็นเลิศด้วยปัญญาบารมีแห่งพระปัญญาธิกะมหาโพธิสัตว์ ท่านยังต้องทุ่มเทอธิฐานพระบารมีทั้งหมด 4 อสงไขยกับอีก 100,000 มหากัปเพื่อการตรัสรู้แล้วพวกเราที่เป็นสัตว์กิเลสหนาปัญญาทึบจะทำอะไรง่ายๆสบายๆแล้วจะได้บรรลุมรรคผลหรือครับ? ถ้าเป็นตัวอย่างใกล้ๆอย่างยุคกึ่งพุทธกาลนี้ พ.ศ. 2400 – 2500 บ้างลองดูพ่อแม่ครูบาอาจารย์สายหลวงปู่เสาร์และหลวงปู่มั่นทั้งหลายรวมทั้งพระเกจิอาจารย์ต่างๆที่ผู้คนต่างให้ความเคารพนับถือนั้น ท่านเหล่านั้นล้วนแต่ต้องใช้ความอุตสาหะและความอดทนอย่างยิ่งยวดในการฝึกฝนอบรมตนเอง พวกท่านต้องไปฝึกฝนในป่าช้า, ป่ารกชัฏที่เต็มไปด้วยสัตว์ร้ายและต้องอดทนต่อความอดอยากหิวโหย, โรคภัยไข้เจ็บและความทารุณของธรรมชาติและพวกท่านต้องเดิมพันด้วยชีวิตเพื่อการบรรลุธรรมทั้งนั้นไม่มีท่านไหนทำง่ายๆสบายๆแล้วได้อรรถได้ธรรมหรอกครับ ตอนแรกๆนี่ผมไม่ได้สนใจในพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่เป็นพระกรรมฐานจริงๆอย่างหลวงปู่มั่นหรอกครับแต่ผมสนใจพระเกจิอาจารย์ที่มีอภิญญาและอาคมขลังอย่างหลวงพ่อเดิม, หลวงพ่อปาน, หลวงพ่อแช่ม, หลวงพ่อจงอย่างนี้ผมอ่านประวัติของแต่ละท่านในช่วงที่เรียนวิชาและฝึกฝนตนเองโดยการออกธุดงค์นี่ โอ้ย! น่าตื่นเต้นและน่าทึ่งมากที่ท่านเหล่านั้นสามารถผ่านมาได้ทำให้ผมสนใจไปศึกษาประวัติของพ่อแม่ครูบาอาจารย์สายหลวงปู่มั่นที่ท่านได้ไปธุดงค์ในที่ต่างๆ สมัยก่อนผมชอบหาคาถาที่เขาว่ากันว่าขลังมาสวดเป็นประจำครับเช่น “คาถามงกุฎพระพุทธเจ้า”, “คาถาพระพุทธเจ้าพิชิตมาร”, “คาถาพญายม” แต่พอได้รู้ประวัติของของพ่อแม่ครูบาอาจารย์สายหลวงปู่มั่นที่ท่านเอาชนะทั้งคนร้าย, สัตว์ร้าย, วิญญาณร้าย, ธรรมชาติร้ายๆตลอดจนกิเลสอันเลวร้ายในจิตใจได้นั้น พวกท่านมีแค่คาถาเดียวเท่านั้นคือ “พุทโธ” ครับ! ทำให้ผมประทับใจและเชื่อมั่นในอานุภาพของคำบริกรรม “พุทโธ” มาตั้งแต่ด็กๆจนถึงทุกวันนี้ครับ

ที่เล่ามาซะยืดยาวนี่ก็เป็นเรื่องส่วนตัวเล็กๆน้อยๆครับคือว่าเล่าสู่กันฟังสนุกๆนะครับ อย่างที่เล่าในความเห็นที่แล้วตอนที่ยังวัยรุ่นผมเคยลองฝึกกสิณไฟด้วยตัวเองเพราะอยากได้อภิญญา! แต่คงเป็นเพราะผมไม่มีวาสนาทางด้านนี้หรืออย่างไรซักอย่างพอเริ่มฝึกไปซักพักเกิดมีคำถามกับตัวเองว่า “ถ้าได้อภิญญาแล้วจะเอาไปทำอะไรต่อ?” ซึ่งสิ่งที่ผมรู้สึกขึ้นมาในใจทันทีก็คือ “ไม่มีเรื่องที่เป็นกุศลเลยมีแต่เรื่องสนองกิเลสตัณหาของตัวเองทั้งนั้น” และเมื่อได้ศึกษาประวัติของพระอภิญญาต่างๆทั้งพระเกจิอาจารย์และพระกรรมฐานท่านเหล่านั้นไม่เคยใช้อภิญญาไปในเรื่องของตัวเองเลยมีแต่ใช้เพื่อช่วยเหลือคนและพระพุทธศาสนาเท่านั้น ผมลองกลับมาวิเคราะห์ตัวเองดูแล้วเห็นว่าตัวเองเป็นคนค่อนข้างเห็นแก่ตัวมากและไม่ค่อยมีจิตใจคิดจะช่วยเหลืออะไรใครเท่าไหร่นักดังนั้นเมื่อผมได้อภิญญามาก็จะไม่เป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น ผมก็เลยเลิกฝึกกสิณไฟแล้วหันไปหาวิธีอื่นแทนครับ ในครั้งนั้นผมเองยังไม่ได้คิดว่าจะปฏิบัติธรรมเพื่อการรื้อภพชาติอะไรทั้งนั้นครับแต่ผมทำสมาธิภาวนาเพราะว่าเป็นการทำบุญที่สูงสุดครับ! ตอนนั้นผมคิดแค่ว่าทำบุญมากๆแล้วชีวิตในปัจจุบันจะสบายพอตายไปแล้วก็จะได้ไปเสวยสุขในสวรรค์ต่อพอหมดบุญก็จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์เพื่อทำบุญใหม่วนเวียนอยู่อย่างนี้ในตอนนั้นผมคิดอย่างนี้จริงๆ! ยังนึกดีใจที่ในยังไม่ตายในตอนนั้นมิฉะนั้นคงจะเป็นมิจฉาทิฐิติดในจิตของผมข้ามภพข้ามชาติไปอีกนานแน่นอนครับ

อาจารย์ธรรมภูติครับ ผมหลงอยู่ในความคิดแบบนั้นมากว่า 20 ปีเลยล่ะครับการทำสมาธิของผมก็สักแต่ทำไปเป็นพิธีเท่านั้นไม่ได้จริงจังเพื่อเป็นการรื้อภพรื้อชาติแต่อย่างใดกลับเป็นการสร้างภพสร้างชาติให้กับตัวเองแน่นหนามากขึ้นโดยการติดใน “ความสุขที่เป็นกุศล” ยิ่งตอนช่วงที่ผมกำลังรักกันดีแฟนคนก่อนด้วยแล้วช่วงนั้นเป็นช่วงที่มัวเมาในชีวิตอย่างที่สุดครับ! คิดแต่หาความสุขให้กับตัวเองและคิดว่าทุกอย่างมันจะเป็นอย่างนี้ตลอดไป! แต่แล้วกฏไตรลักษณ์ก็มาให้สติกับผมครับเพราะแฟนคนก่อนของผมเธอขอจากไปเพราะทนนิสัยโมโหร้ายและอาฆาตพยาบาทของผมต่อไปไม่ไหวแล้ว! ทุกอย่างในชีวิตของผมพังทลายหายวับเป็นอากาศไปในทันที! มีแต่ความสับสนวุ่นวายในจิตใจ, ทั้งรักทั้งเกลียด, ทั้งอาฆาตพยาบาท, ทั้งอาลัยอาวรณ์ทั้งไม่เข้าใจในตัวเองและผู้คนอื่นๆผมเป็นอยู่อย่างนี้เกือบ 2 ปีจนกระทั่งได้ข่าวว่าเขาไปมีแฟนใหม่แล้วผมกลับรู้สึกเจ็บปวด, อาลัยอาวรณ์และโกรธแค้นอย่างสุดขีดโชคดีครับที่ตอนนั้นผมทำงานอยู่ต่างประเทศและไม่สามารถกลับประเทศไทยได้มิฉะนั้นผมอาจจะไปก่อเวรก่อกรรมอันใหญ่ได้ครับ ผมไม่รู้จะทำยังไงพอกลับมาถึงที่พักก็ทรุดตัวลงนั่งคิดย้อนถามตัวเอง ตรงนี้ล่ะครับที่ผมได้รับประสบการณ์จาก “ปัญญาอมรมสมาธิ” เป็นครั้งโดยไม่รู้ว่าสิ่งนี้คืออะไรครับเพิ่งจะมารู้ตอนที่ได้รับความเมมตาสั่งสอนมาจากหลวงพ่อสงบ ผมถามตัวเองไปว่า “เออ! ทำไมเราถึงได้เจ็บปวดขนาดนี้?” แล้วคำตอบที่เกิดขึ้นในใจก็ว่ามา “ก็เราคิดว่าเขาเป็นของเรานะซิ” แล้วผมก็ถามต่อไปว่า “อ้าว! ก็เขาเลิกกับเราตั้งนานแล้วนี่นาแล้วทำไมยังคิดอย่างนี้อยู่อีกล่ะ” คำตอบถัดมา “ไม่รู้ซิ! เขาเคยเป็นของเราแล้วยังไงก็ต้องเป็นของเรา” คำถามถัดไป “จริงหรือ? ถ้าเขาเป็นของเราจริงๆแล้วเราก็ต้องบังคับได้, สั่งได้ซิแล้วนี่ยังไงกันเราไปทำยังงั้นได้หรือ” คำตอบต่อมา “อืมม์! มันก็จริงนะขนาดตัวเราเองยังสั่งใจของเราให้ลืมยังไม่ได้เลยแล้วจะมีปัญญาอะไรไปสั่งใจของคนอื่นเขาได้ล่ะ” พอได้คำตอบนี้จิตใจของผมก็สงบลงและค่อยๆเย็นลงครับ นี่แหละคือผลของ “ปัญญาอมรมสมาธิ” ครั้งแรกในชีวิตและเมื่อใจสงบลงผมก็ย้อนกลับมาดูตัวเองว่าทำไมเธอถึงได้จากผมไปทั้งๆที่เธอก็รักผมมาก ตอนก่อนหน้านั้นผมไม่ยอมรับในเหตุผลของเธอเลยครับเพราะผมไม่เคยคิดว่าตัวเองทำอะไรผิดเลยทุกอย่างที่ทำนั้นถูกต้องหมดในสายตาของผมเองแต่พอได้มองย้อนกลับไปในขณะที่เพิ่งได้รับความสงบจาก “ปัญญาอมรมสมาธิ” ผมกลับเห็นด้วยกับเธอเลยว่า “เออ! เรานี่มันก็เลวอย่างที่เธอว่าจริงๆด้วย” เมื่อผมยอมรับความผิดของตัวเองได้แล้วดังนั้นผมจึงเห็นว่ามันไม่ถูกต้องที่ไปโกรธแค้นเธออย่างนั้นแล้วสุดท้ายผมก็ให้อภัยเธอครับสำหรับเรื่องที่เธอเลิกกับผมและผมก็อวยชัยให้พรกับเธอให้เธอมีความสุขกับแฟนคนใหม่ของเธอครับ

ต้องขอโทษอาจารย์ธรรมภูติด้วยครับที่เล่าเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมให้ฟังแต่มันเป็น “จุดเปลี่ยน” ที่สำคัญในชีวิตของผมเลยครับเพราะผมเพิ่งจะได้รับรู้ข้อเท็จที่สำคัญ 2 เรื่อง เรื่องแรกก็คือความทุกข์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์ไม่ว่าจะยากดีมีจนหรือมีบุญมีบาปขนาดไหนก็ตามก็คือ “การพลัดพรากจากคนที่เรารัก” และเรื่องที่สองก็คือการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะสงสารนี่ไม่มีทางที่เราจะหลีกพ้น “การพลัดพรากจากคนที่เรารัก” ไปได้เลยสมกับคำของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ว่าไว้ว่า “น้ำตาที่หลั่งไหลออกของเธอเหล่าเพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจนั่นแหละมากกว่าส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง 4 เสียอีก” ดังนั้นหลังจากที่ผมได้กล่าวคำให้อภัยและอวยพรเธอแล้วผมถึงได้ออกแสวงหาพ่อแม่ครูบาอาจารย์ทีสามารถให้การสั่งสอนเพื่อการพ้นจากวัฏฏสงสารนี้ได้จนได้มาพบกับหลวงพ่อสงบ มนัสสันโตล่ะครับ ถึงตอนนี้ผมยังข้องเกี่ยวในกามโลกีย์เพราะยังมีแฟนอยู่ (คนปัจจุบัน) แต่ผมก็มีสติไม่มัวเมาเหมือนครั้งก่อนแล้วล่ะครับเพราะผมตระหนักดีถึงความไม่เที่ยงของสรรพสิ่งโดยเฉพาะ “ใจของมนุษย์” และผมก็พร้อมให้ “อภัยทาน” กับเธอคนนี้ตลอดเวลาเพราะผมรู้ดีว่าเป้าหมายสูงสุดในการมีชีวิตอยู่ของผมคืออะไร? และผมต้องทำอย่างไรต่อไป?

ส่วนเรื่องอุปนิสัยของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ผู้เป็นของจริงนี่นะครับ ผมเองก็ไม่รู้จะอธิบายยังไงให้คน “ใจบอด” ฟังเหมือนกันล่ะครับเพราะเขาอยากจะฟังแต่ “สิ่งที่เข้าได้กับกิเลส” ของเขาเท่านั้นไม่มีหรอกครับที่จะน้อมเอามาพิจารณาถึงแก่นสารและข้อเท็จจริงที่ท่านเหล่านั้น “เมตตา” มอบให้หรอกครับ ยิ่งทำได้ลำบากและต้องใช้ความพยายามมากนี่ไม่เอากันแล้วล่ะครับ ผมเองก็ได้แต่ปล่อยเขาไปตามบุญตามกรรมของเขาแหละครับส่วนผมเองก็ต้องตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติตามคำสอนของพ่อแม่ครูบาอาจารย์อย่างซื่อๆตรงไปตรงมาได้ก็คือได้, ไม่ได้ก็คือไม่ได้ครับ และอีกอย่างที่ผมเชื่อมั่นในวิธี “ลำบากลำบน” ของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ก็มาจากคำสอนของหลวงพ่อสงบที่ท่านเคยกล่าวไว้ว่า “ธรรมะน่ะจะได้มาตามสมควรแก่เหตุนะ ถ้าเราทำเหตุที่ถูกต้องคือทำให้ครบทั้งศีลจะศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ศีล 227, สมาธิไม่ว่าจะเป็นสมาธิอบรมปัญญาหรือปัญญาอบรมสมาธิและปัญญาจากการทำสติปัฏฐานเราก็ต้องได้อรรถได้ธรรมสมควรตามเหตุและปัจจัยนะ ไอ้ที่นั่งเฉยๆดูๆแล้วว่าว่างๆสบายๆน่ะจะมาทึกทักเอาว่าได้อรรถได้ธรรมอย่างโน้นอย่างนี้น่ะ ไม่มีทาง, เป็นไปไม่ได้หรอก”

ขอแสดงความนับถือครับ

IRONMAIDEN
โดย: IRONMAIDEN IP: 210.19.133.124 วันที่: 20 สิงหาคม 2552 เวลา:21:36:23 น.
  
สวัสดีค่ะ คุณ iron...ขออนุโมทนาค่ะ

พอดีมีพี่ที่นับถือเค้ายกบล็อก สมาชิกผู้ทรงเกียรติ ให้
ก็เลยตั้งใจว่า อยากจะลง ธรรมะของหลวงพ่อสงบ น่ะค่ะ

แต่เนื่องจากไม่มีข้อมูลใดๆเลย
เคยเห็นแต่เป็นซีดี ก็ไม่ว่างโหลดมาฟัง

เห็นคุณคุยเกี่ยวกับหลวงพ่อสงบเยอะดีจังเลย
ก็อยากจะรบกวนช่วยแนะนำ หาข้อมูล ให้ด้วย เพื่อลงบล็อกน่ะค่ะ
หวังว่าจะได้รับความกรุณาจากคุณนะคะ

มีความตั้งใจจะไปกราบท่านแหละ แต่ยังหาวันที่ลงตัวยังไม่ได้

ถ้ายังไงก็อีเมล์ไปให้ข้อมูลคุณธรรมภูตละกัน (เห็นมีอีเมล์ใน profile)
แล้วจะค่อยประสานติดต่อคุณธรรมภูตอีกทีนะคะ

ขอบคุณค่ะ

ปล.ครอบครัวเราก็เคยอยู่โพธารามค่ะ
เดี๋ยวนี้ไม่ได้อยู่แล้ว แต่พี่ๆเค้าจะแวะไปกันบ่อย
สุสานพ่อแม่ก็อยู่ที่โพธารามค่ะ
โดย: สมาชิกผู้ทรงเกียรติ วันที่: 20 สิงหาคม 2552 เวลา:21:58:48 น.
  
สวัสดีครับคุณสมาชิกผู้ทรงเกียรติ

ผมตอบไปแล้วในหัวข้อ "เมื่อจิตเกิด-ดับ การดูจิตจะเป็นไปตามความเป็นจริงได้อย่างไร???" นะครับ ขอบคุณมากนะครับที่ให้เกียรติคุยกับผมและก็ยินดีมากด้วยครับที่เป็นชาวโพธารามเหมือนกัน ^_^

ขอแสดงความนับถือครับ

IRONMAIDEN

โดย: IRONMAIDEN IP: 210.19.133.124 วันที่: 20 สิงหาคม 2552 เวลา:22:44:01 น.
  
สวัสดีครับทุกท่าน
ผมขอสรุป เรื่อง "สติ สมาธิ ปัญญา เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นพร้อมเพรียงกัน
เพราะเป็นอัญญะมัญญะปัจจัยซึ่งกันและกัน"

การแสดงหน้าที่ของ สติ สมาธิ ปัญญานั้น
ในขณะใดที่ปัญญาทำหน้าที่อยู่ ก็ต้องมี สติในสมาธิ(จิตตั้งมั่น)เป็นองค์ประกอบ
ขณะใดที่กำลังภาวนาเพื่อให้จิตตั้งมั่นอยู่นั้น ก็ต้องมีสติและปัญญาเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย

ปัญญาที่ไม่มีองค์ประกอบของสติในสมาธิประกอบอยู่ ย่อมเป็นปัญญาแบบโลกๆเท่านั้น
ส่วนสมาธิที่ขาดสติและปัญญา ย่อมเป็นสมาธิที่ทำจิตให้สงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวไม่ได้หรอกครับ

ธรรมภูต
โดย: ในความฝันของใครสักคน วันที่: 23 สิงหาคม 2552 เวลา:21:23:24 น.
  
^_^ คุณต้นหอมครับรบกวนช่วยปริ้นท์ไปให้หลวงพ่อสงบท่านช่วยพิจารณาด้วยนะครับ


กราบเรียนพ่อแม่ครูบาอาจารย์หลวงพ่อสงบ มนัสสันโตที่นับถือเป็นอย่างยิ่งครับ

ผม, ลูกศิษย์คนบ้านสิงห์ อ.โพธาราม จ. ราชบุรีที่เคยพาพ่อกับป้ามาหาหลวงพ่อเมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ. 2551) ตอนเดือนสิงหาคมและเดือนตุลาคม ตอนนี้ผมกำลังทำงานอยู่ที่ประเทศมาเลเซียครับ ก็ได้รับการอนุเคราะห์จากเพื่อนๆธรรมใน internet ในการนำผลการปฏิบัติที่ได้ตั้งใจทำหลังจากที่ได้รับอุบายคำแนะนำและข้อปฏิบัติจากหลวงพ่อ รบกวนหลวงพ่อช่วยพิจารณาด้วยนะครับสิ่งใดเป็นสิ่งผิดเป็นมิจฉาทิฐิหรือเป็นมิจฉาสมาธิขอกราบเรียนหลวงช่วยชี้แนะและแนะนำสิ่งที่เป็นสัมมาให้ผมด้วยนะครับ

หลังจากได้รับได้รับอุบายคำแนะนำและข้อปฏิบัติจากหลวงพ่อมาแล้ว ผมได้ปฏิบัติทั้ง 2 วิธีคือทั้ง “สมาธิอบรมปัญญา” และ “ปัญญาอบรมสมาธิ” โดยมีรายละเอียดของวิธีการที่ปฏิบัติและผลที่ได้ดังนี้ครับ

1. สมาธิอบรมปัญญา

วิธีการปฏิบัติ
เมื่อผมนั่งสมาธิในเวลาตื่นนอนตอนเช้าและก่อนเข้านอน ผมใช้คำบริกรรม “พุทโธ” ในการกำหนดสติให้จิตอยู่กับคำบริกรรมโดยที่ถ้าหากว่า “จิตกำลังฟุ้งซ่านกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือหลายๆเรื่อง” ผมจะกำหนด “พุทโธ” ให้เร็วขึ้นตามการกระเพื่อมของจิตจนกระทั่งเมื่อจิตค่อยๆสงบตัวลงผมก็ผ่อนความเร็วของคำบริกรรมพุทโธให้ช้าลงจนพอประมาณไม่ช้าไปจนกระทั่งจิตหลุดหายออกไปกับความคิดและสัญญา ผมพยายามจับความรู้สึกการที่คิดถึงคำบริกรรม “พุทโธ” ให้ชัดเจนเหมือนกับการ “จับแขนจับขาตัวเอง” เพราะผมสังเกตว่าเมื่อบริกรรม “พุทโธ” ไปเรื่อยๆจิตจะเริ่ม “ง่วงและซึม” และค่อยๆถอยออกไปจากพุทโธโดยที่ผมไม่รู้ตัวบางที่ก็นานจนคิดเรื่องต่างๆจบไปเป็นเรื่องๆก็มีครับ พอลองจับความสึกที่กำลังถึงคำบริกรรมให้ชัดขึ้นรู้สึกจิตมันกระชุ่มกระชวยตื่นตัวขึ้นมาทันทีครับ

ส่วนเมื่อจิตของผมเริ่มจะไปรับรู้สัญญาความทรงจำในอดีตและจินตนาการเรื่องที่อยากจะทำและอยากให้เป็นไปในอนาคตที่ผุดขึ้นมาเหมือนกับเป็นภาพยนตร์ (ไม่ชัดในความรู้สึกครับแต่ก็รู้ว่าเรื่องอะไร) ผมก็จะเร่งคำบริกรรมให้เร็วขึ้นและพยายาม “ตีกรอบ” ให้จิตรับรู้แต่คำบริกรรมพุทโธ ในช่วงแรกจิตดูเหมือนว่ามันจะรับรู้ทั้ง 2 อย่างในเวลาเดียวกัน ผมก็พยายามให้มันเลือก “กินพุทโธ” ให้มากกว่าจนกระทั่งในที่สุด “ภาพอันนั้น” ก็สงบตัวลงแต่หลายครั้งก็ไม่สำเร็จครับเพราะผมมีช่องเผลอในการบริกรรมและที่สำคัญผมมักจะ “รู้สึกยินดีกับภาพอันนั้น” ทำให้มีหลายครั้งที่จิตหลุดออกไปคลุกเคล้ากับ “ภาพอันนั้น” เป็นเวลานานกว่าที่ผมจะรู้สึกตัวแล้วตามจิตกลับมาอยู่กับพุทโธได้ครับ

ผลที่ได้
จิตของผมเริ่มที่จะเกาะกับคำบริกรรม “พุทโธ” ได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อสมัยก่อนที่มาได้รับคำชี้แนะจากหลวงพ่อครับ และอาการ “ตกภวังค์นั่งหลับ” ก็ไม่เกิดขึ้นอีกหลังจากที่ผมเลือกใช้คำบริกรรม “พุทโธ” เพียงอย่างเดียวไม่ทำไปพร้อมๆกับ “อานาปานสติ” ตามที่หลวงพ่อเคยแนะนำไว้ซึ่งได้ผลดีมากครับ และตอนนี้ผมก็พยายามงดอาหารเย็นลงโดยที่แต่ละอาทิตย์ผมจะกินข้าวเย็นไม่เกิน 3 วันซึ่งทำให้การนั่งสมาธิทั้งในตอนก่อนนอนและตอนตื่นนอนรู้สึกสบายดีขึ้นไม่อึดอัดกายและจิตใจปลอดโปร่งขึ้นครับ ตอนนี้ผมพยายามที่จะเพิ่มเวลาในการนั่งสมาธิจากครั้งละ 20 นาทีไปเป็นครั้งละ 30-40 นาทีครับ

ปัญหาที่เกิดขึ้นและการแก้ไข
ผมมักจะรู้สึก “ยินดีพอใจ” กับ “ภาพอันนั้น” เป็นอย่างมากครับอาจจะเป็นเพราะโดนส่วนตัวของผมแล้วผมมักจะมีความพอใจเพลิดเพลินในการใช้ความคิดปรุงแต่งสร้างเรื่องราวต่างๆเหมือนนักเขียนนวนิยาย เวลามีเรื่องอะไรจากภายนอกเข้ามากระทบอายตนะต่างๆจิตของผมก็จะสร้างเรื่องราวต่างๆพลิกแพลงพิสดารให้จิตดูราวกับอ่านนิยายมันๆหรือได้ดูหนังสนุกๆ พอกระบวนการสร้างความคิดเรื่องหนึ่งๆจบลงผมก็จะหาเรื่องใหม่มาคิดให้เป็นนิยายเรื่องใหม่ทันทีเพื่อให้จิตยังคงมีความเพลิดเพลินต่อไปครับ ซึ่งผมพยายามแก้ไขโดยการพยายามใช้ “สติ” เข้าไปบังคับ “จิต” ให้ละความพอใจในอารมณ์นั้นและป้อน “พุทโธ” ให้จิตกินเป็นอาหารแทนซึ่งตอนนี้ผมยังทำไม่ได้ผลเท่าที่ควรแต่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้นครับแต่น่าจะนานซักหน่อยครับ

2. ปัญญาอบรมสมาธิ

สำหรับเรื่อง “ปัญญาอบรมสมาธิ” นั้นผมมีความเข้าใจว่าปัญญาอบรมสมาธิก็คือการที่เราใช้ความคิดใคร่ครวญหาเหตุหาผลในความคิดที่เกิดขึ้นมาโดยที่ขณะที่กำลังใช้ความคิดอยู่นั้นตัวเราต้องมีสติรู้ตัวอยู่เสมอว่า “ตอนนี้เราอยู่ที่ไหน?”, “กำลังทำอะไรอยู่?” และ “จะไปไหนต่อ” ไม่ปล่อยความคิดให้กระจัดกระจายจนกระทั่งจิตของเราได้รับคำตอบที่เป็นเหตุเป็นผลตามข้อเท็จจริงจนยอมรับโดยที่ไม่มีข้อโต้แย้งนั่นคือครบวงรอบของการใช้ปัญญาอบรมสมาธิและถ้ามีความคิดอันใหม่เข้ามาอีกก็ทำเหมือนเดิม ถ้ามีความคิดหลายๆอย่างเข้ามาพร้อมๆกันให้เลือกเอาความคิดที่มีผลกระทบกับจิตของเรามากที่สุดมาพิจารณาก่อนแล้วค่อยไปพิจารณาความคิดที่เหลือโดยเราสามารถทำได้ทีละความคิดเท่านั้นห้ามทำมากกว่าหนึ่งความคิดในเวลาเดียวกันเพราะจิตของเราจะฟุ้งซ่านได้

วิธีการปฏิบัติ
เมื่อเวลาที่ผมใช้ชีวิตประจำวันปกตินั้นผมใช้หลักปฏิบัติดังนี้ครับ

2.1 ดำรงสติเฉพาะหน้าให้มีความรู้สึกตัวเสมอว่า “ตอนนี้เราเป็นอย่างไร?”, “กำลังทำอะไรอยู่?” และ “จะทำอะไรต่อไป”
2.2 ถ้าหากไม่มีกิจการอะไรที่จะต้องใช้ความคิดอย่างมากหรือติดต่อกับใครให้กำหนดจิตอยู่กับคำบริกรรม “พุทโธ” เป็น “สมาธิอบรมปัญญา” เป็นวิหารธรรมของจิตแต่ถ้าต้องมีการใช้ความคิดที่สลับซับซ้อนหรือติดต่อกับคนอื่นให้ปฏิบัติตามข้อที่ 2.1
2.3 เมื่อจิตได้ไปกระทบหรือสัมผัสกับต่างๆแล้วเอากลับมาผสมรวมกับสังขารทั้ง 5 ในจิตและเตรียมจะสร้างเรื่องต่างๆให้จิตเพลิดเพลินเหมือนเดิมให้ปฏิบัติทั้งข้อ 2.1 และข้อ 2.2 พร้อมๆกันโดยที่ข้อ 2.2 จะเป็นเสาหลักในการยึดจิตเอาไว้ไม่ให้ออกไปเพลิดเพลินและข้อที่ 2.1 เป็นการตั้งหลักสำหรับข้อที่ 2.4 ต่อไป
2.4 ใช้ “ปัญญาอบรมสมาธิ” เป็นอาวุธสุดท้ายในการทำลายกระบวนการสร้างความเพลิดเพลินทั้งหลายโดยการ “ยิงคำถามที่เป็นเหตุเป็นผลและข้อเท็จจริง” ให้จิตตอบตัวเองซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้วความปรุงแต่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดมันไม่มีมีเหตุมีผลใดๆทั้งสิ้นและมันก็เป็นของไม่จริง, ของปลอมดังนั้นมันจึงไม่สามารถไปต้อสู้กับ “คำถามที่เป็นเหตุเป็นผลและข้อเท็จจริง” ที่เราสร้างขึ้นจากสติ, สมาธิและปัญญาของเราได้ สุดท้ายแล้วมันก็จะสลายหายไป

ผลที่ได้
จิตของผมจะสงบตัวลงได้หลังจากที่ได้รับคำตอบที่เป็นเหตุเป็นผลตามข้อเท็จจริงจากการใคร่ครวญอย่างมีสติครับและทำให้การคิดวิเคราะห์และการตัดสินใจต่างๆดีขึ้นอย่างมากผมคิดว่าเพราะผมคิดแค่เฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งแค่เรื่องเดียวในการตัดสินใจแต่ละครั้งทำให้กระบวนการคิดทำงานอย่างมีประสิทธิภาพครับ

ปัญหาที่เกิดขึ้นและการแก้ไข
ผมไม่สามารถเอาปัญญาอบรมสมาธิไปใช้ในระหว่างนั่งสมาธิได้ครับเพราะว่าเมื่อใช้ความคิดในขณะนั่งสมาธินั้นจิตมันโลดโผนกระโจนออกไปกับความคิดอย่างรุนแรงมากจนสติรั้งไว้ไม่อยู่ต้องหยุดคิดใคร่ครวญแล้วใช้สมาธิอบรมปัญญาบริกรรมพุทโธแทนถึงจะค่อยๆดึงเอาจิตกลับมาอยู่ที่ฐานได้ครับ

ผมมีประสบการณ์บางอย่างที่น่าจะเป็นปัญญาอบรมสมาธิครับคือเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้วผมได้เลิกรากับแฟนคนก่อนของผมเธอขอจากไปเพราะทนนิสัยโมโหร้ายและอาฆาตพยาบาทของผมต่อไปไม่ไหว ตัวของผมเองในตอนนั้นมีแต่ความสับสนวุ่นวายในจิตใจ, ทั้งรักทั้งเกลียด, ทั้งอาฆาตพยาบาท, ทั้งอาลัยอาวรณ์ทั้งไม่เข้าใจในตัวเองและผู้คนอื่นๆผมเป็นอยู่อย่างนี้ต่อมาเกือบ 2 ปีจนกระทั่งได้ข่าวว่าเขาไปมีแฟนใหม่แล้วผมรู้สึกเจ็บปวด, อาลัยอาวรณ์และโกรธแค้นอย่างสุดขีดโชคดีครับที่ตอนนั้นผมทำงานอยู่ต่างประเทศและไม่สามารถกลับประเทศไทยได้มิฉะนั้นผมอาจจะไปก่อเวรก่อกรรมอันใหญ่ได้ครับ ผมไม่รู้จะทำยังไงพอกลับมาถึงที่พักก็ทรุดตัวลงนั่งคิดย้อนถามตัวเอง ตรงนี้ล่ะครับที่ผมได้รับประสบการณ์ที่คิดว่าน่าจะเป็น “ปัญญาอมรมสมาธิ” เป็นครั้งแรกโดยไม่รู้ว่าสิ่งนี้คืออะไรครับ ผมถามตัวเองไปว่า “เออ! ทำไมเราถึงได้เจ็บปวดขนาดนี้?” แล้วคำตอบที่เกิดขึ้นในใจก็ว่ามา “ก็เราคิดว่าเขาเป็นของเรานะซิ” แล้วผมก็ถามต่อไปว่า “อ้าว! ก็เขาเลิกกับเราตั้งนานแล้วนี่นาแล้วทำไมยังคิดอย่างนี้อยู่อีกล่ะ” คำตอบถัดมา “ไม่รู้ซิ! เขาเคยเป็นของเราแล้วยังไงก็ต้องเป็นของเรา” คำถามถัดไป “จริงหรือ? ถ้าเขาเป็นของเราจริงๆแล้วเราก็ต้องบังคับเขาได้, สั่งได้ซิแล้วนี่ยังไงกันเราไปทำยังงั้นกับเขาได้หรือ” คำตอบต่อมา “อืมม์! มันก็จริงนะขนาดตัวเราเองยังสั่งใจของเราให้ลืมเขายังไม่ได้เลยแล้วจะมีปัญญาอะไรไปสั่งใจของคนอื่นเขาได้ล่ะ” พอได้คำตอบนี้จิตใจของผมก็สงบลงและค่อยๆเย็นลงครับและเมื่อใจสงบลงผมก็ย้อนกลับมาดูตัวเองว่าทำไมเธอถึงได้จากผมไปทั้งๆที่เธอก็รักผมมาก ตอนก่อนหน้านั้นผมไม่ยอมรับในเหตุผลของเธอเลยครับเพราะผมไม่เคยคิดว่าตัวเองทำอะไรผิดเลยทุกอย่างที่ทำนั้นถูกต้องหมดในสายตาของผมเองแต่พอได้มองย้อนกลับไปในขณะที่เพิ่งได้รับความสงบในใจ ผมกลับเห็นด้วยกับเธอเลยว่า “เออ! เรานี่มันก็เลวอย่างที่เธอว่าจริงๆด้วย” เมื่อผมยอมรับความผิดของตัวเองได้แล้วดังนั้นผมจึงเห็นว่ามันไม่ถูกต้องที่ไปโกรธแค้นเธออย่างนั้นแล้วสุดท้ายผมก็ให้อภัยเธอครับสำหรับเรื่องที่เธอเลิกกับผมและผมก็อวยชัยให้พรกับเธอให้เธอมีความสุขกับแฟนคนใหม่ของเธอครับ

3. สรุป

ผมกำลังปฏิบัติทั้ง “สมาธิอบรมปัญญา” และ “ปัญญาอบรมสมาธิ” สลับกันไปมาตามแต่เหตุการณ์และผลที่ได้ซึ่งเป้าหมายเฉพาะหน้าของผมคือการทำให้ “จิตรวมใหญ่” ให้ได้ตามที่หลวงพ่อสอนก่อนนะครับเมื่อสามารถทำจิตให้รวมใหญ่จนชำนาญเป็นวสีแล้วผมถึงจะออกไปพิจารณากาย, เวทนาหรือจิตตามแต่กำลังและวาสนาของผมครับในเวลานี้ผมยังไม่สนใจจะพิจารณาอะไรทั้งสิ้นเพราะรู้ตัวดีว่ายังไม่สามารถทำใจให้สงบได้นิวรณ์ทั้ง 5 ยังปกคลุมเต็มหัวใจอยู่ไม่มีทางเลยที่จิตจะเห็นสภาวธรรมต่างๆตามความเป็นจริงได้ครับ

ขอแสดงความนับถือและความเคารพหลวงพ่อเป็นอย่างสูงยิ่งครับ

ลูกศิษย์คนบ้านสิงห์

โดย: IROMAIDEN IP: 210.19.133.124 วันที่: 24 สิงหาคม 2552 เวลา:21:09:22 น.
  
รับทราบค่า ยินดีเป็นอย่างยิ่งเลย
รอหน่อยน้า ไม่นานค่ะ
โดย: ต้นหอม IP: 202.176.92.42 วันที่: 25 สิงหาคม 2552 เวลา:6:32:43 น.
  
^_^ ขอบคุณคุณต้นหอมเป็นอย่างมากครับ

นานเป็นอาทิตย์เป็นเดือนผมก็รอได้ครับ เพราะผมเสียเวลาท่องเที่ยวอยู่ในวัฏฏสงสารมานานจนกระดูกกองเท่าภูเขาและน้ำตาท่วมเท่ามหาสมุทรยังเสียไปได้กับเวลาแค่เล็กน้อยที่จะได้รับคำชี้แนะจากผู้รู้จริงอย่างหลวงพ่อสงบให้เห็นทางหลุดพ้นจากการเดินทางอันทุกข์ยากแสนยาวนานแค่นี้สบายมากครับ

ขอแสดงความนับถือครับ

IRONMAIDEN
โดย: IRONMAIDEN IP: 210.19.133.124 วันที่: 25 สิงหาคม 2552 เวลา:18:34:19 น.
  
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
-เมื่อสติสัมปชัญญะมีอยู่ หิริและโอตตัปปะชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยสติและสัมปชัญญะ
-เมื่อหิริและโอตตัปปะมีอยู่ อินทรียสังวรชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยหิริและโอตตัปปะ
-เมื่ออินทรียสังวรมีอยู่ ศีลชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยอินทรียสังวร เมื่อศีลมีอยู่ สัมมาสมาธิชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล
-เมื่อสัมมาสมาธิมีอยู่ ยถาภูตญาณทัสนะชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยสัมมาสมาธิ
-เมื่อยถาภูตญาณทัสนะมีอยู่ นิพพิทาวิราคะชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยยถาภูตญาณทัสนะ
-เมื่อนิพพิทาวิราคะมีอยู่ วิมุตติญาณทัสนะชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์ ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยนิพพิทาวิราคะ
-เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีกิ่งและใบสมบูรณ์แม้กะเทาะของต้นไม้นั้นก็ย่อมบริบูรณ์ แม้เปลือก แม้กะพี้ แม้แก่นของต้นไม้นั้นก็ย่อมบริบูรณ์ ฉะนั้น ฯ


มีสติก็มีศีล มีสติก็มีสมาธิ มีสติก็มีปัญญา

ดูจิตเขาฝึกสติกัน พอมีสติแล้ว แยกแยะจิตที่เป็นสมถะ กับจิตที่เป็นวิปัสสนาออกแล้ว จึงไปทำสมถะได้ บางท่านทำฌาณกันเสียด้วย ดังนั้นไม่ใช่พวกดูจิตแถวชลบุรีเขาไม่ทำสมถะกันนะครับ

ใครที่ว่าพวกดูจิตไม่ทำสมาธิเลย เรียนให้ทราบว่าไปฟังดูใหม่ พวกที่ว่าไม่ต้องทำสมาธินั้นพวกฟังไม่ได้สรรพครับ พระท่านนั้นบอกชัดเจนว่าถึงเวลาก็ต้องทำ ทิ้งไม่ได้

ยืมพื้นที่เรียนไปถึงพวกดูจิตแบบเลอะเลือน ไม่ทำสมาธิ ไม่ถือศีลให้ทราบว่า หลวงพ่อไม่ได้สอนแบบนั้น ฟังให้ได้สรรพซะก่อน
โดย: ยืมพื้นที่ IP: 161.200.255.162 วันที่: 28 สิงหาคม 2552 เวลา:14:55:56 น.
  
สมาธิที่ศีลอบรมแล้ว ย่อมให้ผลใหญ่ ให้อานิสงส์ใหญ่
ปัญญาที่สมาธิอบรมแล้ว ย่อมให้ผลใหญ่ ให้อานิสงส์ใหญ่
จิตที่ปัญญาอบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากเครื่องเศร้าหมองเสียได้

ศีล สมาธิ ปัญญา จะทำงานร่วมกันที่จิต เพื่อให้มรรคสมังคี
ชนิดที่ว่า จิตอยู่ที่ไหน สติอยู่ที่นั่น
สติอยู่ที่ไหน สมาธิอยู่ที่นั่น
สมาธิอยู่ที่ไหน ปัญญาอยู่ที่นั่น
ปัญญาอยู่ที่ไหน ศีลอยู่ที่นั่น

ศีล สมาธิ ปัญญา ทำงานร่วมกัน กลมเกลียวกัน
เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่จิต

ยืมพื้นที่เรียนไปถึงพวกดูอาการของจิต แต่ไม่เคยรู้จักจิตที่แท้จริง
ขอขอบคุณ
โดย: สมาชิกผู้ทรงเกียรติ วันที่: 28 สิงหาคม 2552 เวลา:19:44:35 น.
  
ท่านยืมพื้นที่ครับ
ผมไม่แปลกใจเลยครับว่า ท่านและท่านอาจารย์ชอบยืมทุกอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อภาพพจน์
เพื่อเอาไว้สร้างภาพเท่านั้นครับ ส่วนการภาวนา "พุทโธ"
ไม่ต้องยืมก็ได้ ยกให้เอาไปทำเลย ไม่มีสงวนลิขสิทธิ์

ท่านบอกว่า "ดูจิตเขาฝึกสติกัน พอมีสติแล้ว แยกแยะจิตที่เป็นสมถะ กับจิตที่เป็นวิปัสสนาออกแล้ว"
โปรดตอบคำถามผมด้วยนะครับ จะได้รู้ว่าพวกท่านได้ฝึกอบรมสมาธิกรรมฐานภาวนากันจริงมั้ย???

การดูจิตเขาฝึกสติ....สติตั้งลงที่ไหนครับ???
ทำไมต้องแยกแยะจิตที่เป็นสมถะและจิตที่เป็นวิปัสสนา???
จิตที่เป็นสมถะนั้น แตกแต่ง/เหมือนกันกับจิตที่เป็นวิปัสสนาหรือไม่???
ถ้าแตกต่าง แตกต่างกันตรงไหน???
ถ้าเหมือนกัน เหมือนกันยังไง???

ท่านยืมพื้นที่อย่าลืมตอบนะครับ เห็นพวกดูจิตที่ติดคิดแถวที่ท่านว่า ไม่ชอบรับความจริงกัน
ที่เข้ามาแก้ต่างก็เพื่อให้ดูดีขึ้นเท่านั้น จริงมั้ยครับ ที่ท่านอาจารย์ชอบพูดว่าการเพ่งฌานนั้น
ทำให้ติดภพบ้างละ ทำให้ติดสุขบ้างละ ทำให้เนิ่นช้าบ้างละ

ผมขอถามว่าท่านและท่านอาจารย์ เคยแยกจิตให้เป็นอิสระจากขันธ์๕หรือยัง???

ผมว่าท่านเองนั้นแหละที่เลอะเลือน ไม่มีใครบอกสักหน่อยว่า ไม่ทำสมาธิ ไม่ถือศีล
เพียงแต่ท่านอาจารย์ไม่รู้จักสมาธิที่แท้จริงนั้น ภาวนาไปเพื่ออะไร? ก็ไม่รู้และที่สำคัญอย่างยิ่ง
คือไม่รู้จักสภาวะจิตรวมใหญ่และเข้าถึงได้เป็นยังไง?(แยกกายแยกจิตไม่เป็น)
ก็ได้แต่คิดเองเออเองว่า สมาธิไม่มีอะไรไปกว่าสภาวะจิตสงบเท่านั้น......

เชื่อผมเถอะ เมื่อรู้ตัวว่าหลงทาง เอาแบบอย่างท่านที่มาเล่าให้ฟังในนี้เถิดครับ
กลับตัวกลับใจซะแต่ตอนนี้ ยังแก้ไขทันครับ...ท่านจะได้รู้เห็นตามความเป็นจริงไม่เลอะเลือน......

ธรรมภูต

โดย: ในความฝันของใครสักคน วันที่: 29 สิงหาคม 2552 เวลา:10:22:22 น.
  
ใช่ ก็แค่ให้ทำบ้าง เน้นว่าบ้าง ประมาณว่าพอเป็นพิธี ในรูปแบบ ห้านาที สิบนาที บางคนก็บอกไม่ต้องทำ เพราะเค้าติดสมาธิ ถ้าติดก็ทำไมไม่บอกให้ทำให้ถูกเล่า แต่ดันบอกว่าให้เลิกทำไปเลย... มั่นใจจริงนะ

แสดงให้เห็นเลยว่าไม่เคยเห็นความสำคัญของสมาธิ บอกให้ทำไปงั้นเอง เพราะเกรงว่าจะเป็นการแหกคอกเกินไป...สติปัญญาแบบโลกๆ นี่น่ะ่เหรอ จะเอาไปประหารกิเลส

แต่ในที่สุด ดำก็ต้องเป็นดำ ขาวก็ต้องเป็นขาว

ออกมาแก้ต่างกันอยู่ร่ำไป เฮ้่อ...กรรมของสัตว์โลก
โดย: คนเคยซวย IP: 124.122.164.93 วันที่: 31 สิงหาคม 2552 เวลา:11:47:19 น.
  
ช่วงที่เริ่มเผยแพร่แนวทางดูจิต ผุ้สอนไม่เคยบอกเลยว่าการดูจิตเป็นการฝึกสติ แต่ย้ำนักย้ำหนาว่า "สติเป็นอนัตตาบังตับไม่ได้ ฝึกฝนไม่ได้ ไม่ต้องไปหาวิธีฝึกมันนะ สติมันเกิดขึ้นเอง เรามีหน้าที่ตามรุ้ตามดุเฉยๆ อย่าแทรกแซง"

แต่ถ้าพูดอย่างนี้จริงๆ ตามที่เล่ามา ก็แสดงว่าได้ปรับแต่งคำสอนแล้ว ผู้เรียนไม่เอะใจบ้างเหรอ ธรรมะทำไมดิ้นได้ ของแท้ที่ถูกต้องถูกธรรมไม่มีการแก้ไขค่ะ เพราะรู้แล้วรู้เลย

แต่ถึงจะมาพูดใหม่ว่าการดูจิตเป็นการฝึกสติ ก็ยังผิดอยู่ดีแหละ มีวิธีการฝึกสติที่ถูกต้องตรงทางและง่ายกว่าการดูจิตตั้งเยอะแยะทำไมไม่สอนน้อ

โดย: ต้นหอม IP: 202.176.92.116 วันที่: 31 สิงหาคม 2552 เวลา:15:02:47 น.
  
พุ้งซ้าน เอาเวลาไปปฏิบัติบ้างนะ
โดย: มีสติ IP: 10.130.100.189, 119.42.96.19 วันที่: 14 มกราคม 2553 เวลา:15:36:58 น.
  

พุ้งซ้าน เอาเวลาไปปฏิบัติบ้างนะ

โดย: มีสติ IP: 10.130.100.189, 119.42.96.19 วันที่: 14 มกราคม 2553 เวลา:15:36:58 น.
+++++++++++
ท่านไม่มีสติครับ ท่านตาถั่วมืดมัวไปหรือยังไง???
ที่เค้าคุยกันอยู่ก็เรื่องการปฏิบัติทั้งนั้น

ถ้าท่านอ่านไม่เข้าใจ เพราะทิฐิที่ฟุ้งซ่านอยู่เป็นนิด ติดอาการของจิตอยู่หละก็
มีหลายคนในนี้ที่ชี้แนะให้ได้
จะได้ไม่ปฏิบัติไปแบบคนตาบอดเดินคลำทางมั่วไปหมดนะ

ธรรมภุต
โดย: ในความฝันของใครสักคน วันที่: 15 มกราคม 2553 เวลา:10:09:30 น.
  
ปฏิบัติธรรมวัดผลอย่างไร องค์ท่านพระประยุทธ์ ปยุตโต

1.มีความมั่นใจ มั่นใจในกุศลธรรมต่างๆมากขึ้น
2.มี ศีล ขึ้นไหม (ความสงบ/ปกติของ กาย วาจา ใจ)
3.มี สุตะ มากขึ้นไหม
4.มีความลดละกิเลสได้มากขึ้นไหม
5.มีปัญญา (ตัวคุมทั้งหมด) รู้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงมากเพียงใด
---------หากปฏิบัติจริงแล้ว-----------
ลักษณะของจิตที่เดินถูกทาง
1.ปราโมทย์ แช่มชื่น ร่าเริง เบิกบานใจ
2.ปีติ อิ่มใจ ปลาบปลื้มใจ ใจฟูขึ้น
3.ปัสสัทธิ รู้สึกผ่อนคลายกายใจ ใจเรียบรื่นระงับลง เย็นสบาย
4.สุข ความสุข คล่องใจ โปร่งใจ ไม่มีความติดขัด บีบคั้น
5.สมาธิ ความมีตั้งใจมั่น สงบ อยู่ตัว อยู่กับงานที่ทำหรือเรื่องที่เกี่ยวข้อง ไม่วอกแวก ฟุ้งซ่าน
แค่ข้อที่ 1 ก็ถูกทางแล้ว หวังลุถึงสันติบรมธรรมที่เป็นจุดหมาย(คาถาธรรมบทที่ 376,381)

---------------ให้ทุกคนที่สนใจ เก็บไว้ได้น่ะครับ------
ผมก็แค่คนเริ่มเดิน แต่ก็มั่นใจจะถึง เมื่อไหร่เมื่อนั้นครับ
โดย: ผู้ร่วมเดินทาง เชียงใหม่ IP: 61.19.65.208 วันที่: 30 กรกฎาคม 2553 เวลา:10:35:29 น.

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์