สักแต่ว่า ฟังดูดี แต่ไม่ง่ายอย่างที่คิด
ถ้าต้องการปฏิบัติธรรมให้ได้ผลอย่างรวดเร็วเป็นวิปัสสนา ตามที่มีอาจารย์บางท่านได้สอนไว้ ต้องอาศัยข้อธรรม "สักแต่ว่า".... ฟังแล้วมีความรู้สึกเหมือนจะง่ายๆ สบายๆ แถมลัดสั้นอีกต่างหาก

แต่ผลที่ได้เกิดขึ้นจริงจากการได้ยินได้ฟัง (คำสอน) มานั้น แล้วนำไปนึกคิดพิจารณา จนความรู้สึกนึกคิดที่ว่าตกผลึกเป็น "สัญญาอารมณ์" ผลที่ได้คือ "สักๆ แต่ว่า" คล้ายๆ ความรู้สึกที่เราเคยได้ยินได้ฟังมาบ่อยๆ ขอเพียงให้มันผ่านๆ ไปได้ อย่าไปสนใจในสิ่งที่รู้ ที่เห็น ที่ได้ยิน...ฯลฯ เพียงพูดให้เพราะๆ ด้วยคำว่า "สักแต่ว่า"

มีอาจารย์บางท่านสอนว่า "ตอนแรกจะรู้อารมณ์ทางตา ขณะต่อมารู้อารมณ์ทางใจ แต่การรู้อารมณ์ทางใจนั้น ก็ให้รู้ตามที่มันเป็น สักแต่ว่ารู้ ได้ทั้งนั้น" จากที่สอนดังกล่าว กลายเป็น "สักๆ แต่ว่า...รู้ตามที่มันเป็น" คือให้รับๆ อารมณ์ความรู้สึกนั้น (รูปที่เห็น) ไปก่อน แล้วค่อยรู้ทันตามแก้ในภายหลังโดยการไม่ยึดมั่นก็พอ นั่นจึงเป็นการเปลี่ยนอารมณ์ เป็นปฏิจจสมุปบาทฝ่ายเกิด

คำสอนนั้นเป็นไปไม่ได้เลย เพราะในขณะนั้น จิตได้เสวยอารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย อารมณ์ที่เข้ามานั้นเป็นธรรมารมณ์ทางใจไปเรียบร้อยแล้ว วิญญาณได้เกิดขึ้น รู้แจ้งในอารมณ์ทางอายตนะนั้นๆ ไปแล้ว ค่อยคิดมาตามแก้โดยไม่ให้ยึดมั่นในอารมณ์เหล่านั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะได้ยึดมั่นโดยเสวยอารมณ์เข้าไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เป็นเพียงการเปลี่ยนผ่านอารมณ์ให้พอพ้นๆ ไปเท่านั้น

แสดงว่าขณะนั้นจิตมีกำลังสติเป็นสมาธิ สงบตั้งมั่นไม่มากพอ จึงไม่สามารถสกัดกั้นยับยั้งอำนาจของกิเลสที่มากกว่าในขณะนั้น จึงกลายเป็น "สักๆ แต่ว่า" ไป เป็นการเปลี่ยนผ่านอารมณ์ ทำเป็นว่าไม่สนใจในอารมณ์นั้นๆ "สักๆ แต่ว่า" แทน ไม่ใช่ "สักแต่ว่า" แบบอย่างพระอริยเจ้าอรหันตขีณาสพที่เป็นอยู่

เพราะรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่เข้ามาประชิดทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ล้วนเป็นธรรมารมณ์ของใจทั้งสิ้น ถึงจะเข้ามาช่องทางไหน ใจเป็นตัวรู้แจ้งในธรรมารมณ์นั้น จึงเกิดวิญญาณขึ้นที่อายตนะภายในเหล่านั้น

ส่วนจิตที่ได้รับการฝึกฝนอบรมมาดีแล้ว ตามรูปแบบที่พระพุทธองค์ได้ทรงวางหลักเกณฑ์ไว้ จิตย่อมหลุดพ้นจากธรรมารมณ์ทั้งหลาย เพราะไม่มีความพอใจรักใคร่ในสิ่งเหล่านั้น ได้ละวางความยึดมั่นถือมั่นลงแต่ต้น เป็นเพียง "สักแต่ว่ารู้" อย่างแท้จริง

มีพระพุทธพจน์ทรงตรัสรับรองไว้ดังนี้

"แต่เพราะใจไม่เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของธรรมารมณ์
ธรรมารมณ์ก็ไม่เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของใจ
ความพอใจรักใคร่เกิดขึ้น
เพราะอาศัยใจและธรรมารมณ์ทั้งสองนั้น
เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในใจและธรรมารมณ์นั้น
เพราะฉะนั้น การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์

เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ จึงปรากฏ...ฯลฯ

พระมนัสของพระผู้มีพระภาคมีอยู่แท้
พระองค์ก็ทรงรู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยพระมนัส
แต่พระองค์ไม่มีความพอใจรักใคร่
พระองค์ทรงมีจิตหลุดพ้นแล้ว" (โกฏฐิกสูตร)



มาพิจารณาถึงความแตกต่างระหว่าง "สักแต่ว่ารู้" กับ "สักๆ แต่ว่ารู้" ที่เกิดขึ้นมานั้น เป็นการสอนเพื่อต้องการเอาใจคนฟัง ทำให้คนฟังรู้สึกผ่อนคลาย สบายๆ ง่ายๆ และลัดสั้นในการปฏิบัติธรรม

โดยเน้นไปทางปัญญาวิปัสสนาที่เกิดจากความรู้สึกนึกคิด ที่คิดจนความคิดตกผลึก โดยมองข้ามปัญญาญาณที่เกิดจากกำลังสติเป็นสมาธิ สงบตั้งมั่น ที่สามารถละ วางอารมณ์ได้จริงๆ ส่วนปัญญาที่เกิดจากความรู้สึกนึกคิดนั้นคือ "สัญญา" ทำบ่อยๆ จนก้าวหน้ากลายเป็น "ถิรสัญญา"

การสอนนั้นเน้นให้เห็นว่าการทำสมาธิ "เป็นเพียงรูปแบบ" เท่านั้น จะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ ให้ทำเพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็พอไม่ได้ให้ความสำคัญ ทั้งที่หมวดแห่งสมาธิในอริยมรรคนั้น เป็นหนึ่งในสิกขา ๓ ที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

พระพุทธองค์ได้ทรงวางหลักเกณฑ์ในเรื่องสมาธิไว้มากมายหลายพระสูตร ไม่ใช่เป็นเพียงรูปแบบเท่านั้น แต่เป็นรูปแบบเฉพาะที่มีในพระพุทธศาสนา เป็นพื้นฐานสำคัญของการปฏิบัติธรรม อันควรต้องเจริญ ต้องกระทำให้มาก เจริญให้ยิ่งๆ ขึ้นไป จนเกิดความชำนาญคล่องแคล่วเป็น "วสี" ทำจิตให้เป็นสมาธิได้ในชั่วลัดนิ้วมือเดียว

ดูอย่างการฝึกฝนอบรมวิชาการต่อสู้ต่างๆ ที่มีอยู่ ต้องมีการฝึกฝนรูปแบบพื้นฐานการต่อสู้อย่างต่อเนื่องเนืองๆ จนเกิดความชำนาญคล่องแคล่ว เป็นอัตโนมัติ มีทั้งป้อง ปัด รุก รับ ส่วนความชำนาญคล่องแคล่วที่ได้มานั้น ไม่ต้องอาศัยความจำ (สัญญา) อีกแล้วในการต่อสู้ เป็นอัตโนมัติเมื่อเผชิญหน้ากับศัตรูคู่ต่อสู้ มีการโต้ตอบโดยทันควัน สามารถเอาชนะศัตรูคู่ต่อสู้พาตัวเองรอดมาได้

แตกต่างไปจากบุคคลที่ไม่เคยฝึกฝนรูปแบบพื้นฐานการต่อสู้มาก่อนอย่างจริงจังด้วยตนเอง ได้แต่จดจำรู้สึกนึกคิดเอา โดยอาศัยความเชื่อว่าตนเองนั้นเป็นผู้มีปัญญา เมื่อเจอศัตรูคู่ต่อสู้ผู้สามารถเข้า จะรอดมาได้หรือ? ก็ได้แต่ "สักๆ แต่ว่า" พอผ่านๆ ได้เท่านั้น

ฉันใดก็ฉันนั้น การฝึกฝนเต็มรูปแบบที่เป็นพื้นฐานสำคัญใน "หมวดสมาธิ" แห่งองค์อริยมรรค ๘ อันมี "สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ" จิตรวมลงเป็น "สมาธิ"

สัมมาวายามะ
มีความเพียร "ป้อง" กันอกุศลที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิด
มีความเพียร "ปัด" ทิ้งอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ให้หมดไป
มีความเพียร "รุก" เข้าสู่ฐานที่ตั้งของสติอย่างตั้งมั่น คงที่เนืองๆ (สร้างกุศล)
มีความเพียร "รับ" จิตที่มีสติเป็นสมาธิ สงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว (สร้างกุศลยิ่งๆ ขึ้น)

สัมมาสติ ต้องเจริญให้มาก กระทำให้มาก เจริญให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ระลึกรู้ลงที่ กาย เวทนา จิต และธรรม ส่วนลมหายใจ คำภาวนาต่างๆ นั้น เป็นกายสังขารปรุงแต่งจิต อันเป็นองค์ภาวนา เมื่อระลึกรู้ชัดจนคล่องแคล่วชำนาญเป็นวสี ขบวนการ "ป้อง ปัด รุก รับ" เป็นไปโดยอัตโนมัติ ด้วยจิตมีสติเป็น สัมมาสมาธิ สงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว มีกำลังในการปล่อย วาง ลด ละ อวิชชา ตัณหา อุปาทานออกไป

ยังมีอาจารย์บางท่านได้สอนว่า ต้องถอนจากกำลังสมาธิออกมาพิจารณาปัจจัยแวดล้อมด้วย จึงจะเกิด "ปัญญา" ไม่เนิ่นช้าในทางปฏิบัติธรรมกรรมฐาน ยังเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปบ้าง เพราะสภาวธรรมที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ที่พระพุทธองค์ได้ทรงวางหลักตรัสไว้ดีแล้วใน "มหาสติปัฏฐาน ๔"

เมื่อมาพิจารณาตริตรองเพื่อให้รู้เห็นตามความเป็นจริง (วิปัสสนา) บุคคลใดที่มีกำลังสมาธิจนจิตสงบตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวได้นั้น ต้องนับว่าเป็นบุคคลที่มีบุญเก่าหนุนนำ โชคดีเป็นอย่างมาก ที่มีกำลังสมาธิจนจิตสงบตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวเป็นกำลังพื้นฐานที่ดี

ควรน้อมนำเอาพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสสอนไว้ มาพิจารณาเพื่อทำให้เกิด "ปัญญา" รู้ชัดว่า อะไรควรปล่อย วาง ลด ละ นั่นคือการไม่นิ่งชุ่มแช่อยู่กับความสงบตั้งมั่น ที่เรียกว่า "พิจารณากายในกายเป็นภายใน" เพียงอย่างเดียว เช่นการสงบนิ่งชุ่มแช่ในสมาธิ หรือเดินจงกรมเท่านั้น

ต้องขยับออกมาจากการสงบนิ่ง ชุ่มแช่อยู่ในสมาธิ เพื่อ "พิจารณากายในกายเป็นภายนอกบ้าง" เพื่อเป็นการทำงานทางจิตในชีวิตประจำวัน แต่ยังคงต้องรักษาความมีสติเป็นสมาธิสงบตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวนั้นให้คงที่

เมื่อมีอารมณ์ รัก ชอบ ชัง (ความพอใจรักใคร่) มากระทบจิต ให้ใช้ขณะแห่งสมาธิ (ขณิกสมาธิ) ที่มีกำลังมากพอนั้น มาปล่อย วาง ลด ละในทันที เป็นเพียง "สักแต่ว่า" ของพระอริยเจ้าอรหันตขีณาสพ ที่หมดความรักใคร่พอใจ ใน รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ ที่เป็นธรรมารมณ์ของใจทั้งสิ้น เป็นการตัดวงจรของปฏิจจสมุปบาทลง ซึ่งมีพระพุทธพจน์ตรัสรับรองไว้

มาดูกันว่าท่านพระอรหันต์นั้น ท่าน "สักแต่ว่ารู้" ด้วยสภาพธรรมตามความเป็นจริงอย่างไร? เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้รับกลิ่น ฯลฯ รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่นที่ได้รับ ไม่เป็นเครื่องเกาะเกี่ยวของตา หู จมูก ฯลฯ

ธรรมารมณ์ที่เข้ามาตามช่องทางดังกล่าว ไม่สามารถเกาะเกี่ยวเป็นอารมณ์ของใจได้ เพราะจิตไม่มีความพอใจรักใคร่ คือจิตไม่เสวยอารมณ์เหล่านั้น ตาเห็นรูปก็ "สักแต่ว่าเห็น" ไม่มีอารมณ์ที่ตา ปล่อยให้เป็นเรื่องของอายตนะภายใน-ภายนอก ทำหน้าที่กันและกันไปเอง ที่เรียกว่า "รู้อยู่ที่รู้ ไม่ได้รู้อยู่ที่เรื่อง"

แต่อาจารย์บางท่านกับสอนว่า "เวลาจิตเสวยอารมณ์ แต่ถ้าพระอรหันต์นะ สักแต่ว่าเสวยไปงั้นแหละ" คือแบบ "สักๆ แต่ว่า" หรืองั้นๆ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย ขึ้นชื่อว่า "เสวยอารมณ์" บอกได้ว่าเกิดการยึดมั่น หรือรับอารมณ์กิเลสนั้นไปเรียบร้อยแล้ว เพราะในทางธรรม คำว่า เสวยอารมณ์ คือเวทนา (เวทนา ในภาษาธรรม หมายถึง การเสวยอารมณ์ ที่เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเฉยๆ)

พระอรหันตขีณาสพท่านอยู่กับอารมณ์ได้อย่างไร? เมื่อท่านยังต้องอยู่กับโลก ซึ่งเรื่องในโลกล้วนเป็นอารมณ์ของจิตทั้งสิ้น ท่านมองโลก เป็นเพียงธาตุ เป็นสภาวธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยเท่านั้น สภาวธรรมเหล่านั้นอาจเป็นอารมณ์กิเลสของสามัญชนคนทั่วไปได้ แต่ไม่ใช่ของ "พระอรหันตขีณาสพ" ท่านไม่เสวยอารมณ์ใดๆ อีกแล้ว เป็น "วิราคะธรรม" คือธรรมที่แยกแล้ว

พระอรหันตขีณาสพนั้น ท่านยังต้องแบกรับปกิณณกทุกข์ ที่เกิดจากร่างกายมีชีวิตินทรีย์ ที่เรียกว่า "ขันธ์ ๕" ในอนัตตลักขณสูตร พระพุทธองค์ทรงตรัสรับรองไว้ชัดเจนว่า

"อริยสาวกผู้ได้ฟังแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัญญา
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสังขารทั้งหลาย
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณ

เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมสิ้นกำหนัด
เพราะสิ้นกำหนัด จิตก็พ้น
เมื่อจิตพ้นแล้ว ก็รู้ว่าพ้นแล้ว

อริยสาวกนั้นทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว
กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

ครั้งนั้น มีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖ องค์ ดังนี้"
สาธุ


เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
ธรรมภูต






Create Date : 22 กุมภาพันธ์ 2559
Last Update : 9 กุมภาพันธ์ 2560 13:58:25 น.
Counter : 719 Pageviews.

0 comments

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์